จักรนารายณ์
จักรนารายณ์ ชื่อสามัญ Purple passion vine, Purple velvel plant[11]
จักรนารายณ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Gynura divaricata (L.) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gynura ovalis DC.[1], Gynura auriculata Cass.[11]) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[3]
หมายเหตุ : บางข้อมูลระบุว่าเป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gynura procumbens (Lour.) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gynura sarmentosa (Blume) DC.)
สมุนไพรจักรนารายณ์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แปะตำปึง, แป๊ะตำปึง (ไทลื้อ), แปะตังปึง, แป๊ะตังปึง, แปะตังปุง ,ผักพันปี, กิมกอยมอเช่า, จินฉี่เหมาเยี่ย, ว่านกอบ ใบเบก (คนเมือง), ชั่วจ่อ (ม้ง), เชียตอเอี๊ยะ งู่ปุ่ยไฉ่ (จีน), ไป๋ตงเฟิง ไป๋เป้ยซันชิ (จีนกลาง), จักรนารายณ์ (ไทย) เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[5],[7],[12]
ลักษณะของจักรนารายณ์
- ต้นจักรนารายณ์ หรือ ต้นแปะตําปึง มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศจีน[7] โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุได้หลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร ลำต้นและกิ่งก้านเป็นทรงกลมโตประมาณเท่านิ้วก้อยและเป็นสีม่วงแดง ทั้งต้นมีขนขึ้นปกคลุม รากอยู่ใต้ดินเป็นหัวเหง้าและแตกเป็นรากฝอย ขยายพันธุ์ด้วยการตัดกิ่งปักชำ พืชชนิดนี้ไม่ชอบอยู่ในที่ร่มมากนัก ชอบแสงแดดพอสมควร เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ชอบน้ำ แต่อย่าให้มีที่รองน้ำที่ก้นกระถาง เพราะรากจะเน่าได้[1],[2],[4]
- ใบจักรนารายณ์ หรือ ใบแปะตำปึง ใบจะอยู่กับลำต้นที่แทงขึ้นจากราก ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่มน ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบหยัก ใบมีความยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 8 เซนติเมตร แผ่นใบหนาและนุ่มคล้ายกำมะหยี่ หลังใบเป็นสีเขียวส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีม่วงแดงหรือสีขาวออกหม่น ๆ มีก้านใบสั้น[1],[2] และมีข้อมูลระบุว่าจักรนารายณ์มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดใบกลมและชนิดใบยาว โดยชนิดใบกลม จะเรียกว่า “แปะตําปึง” ลักษณะของใบหนา มีขนหนานุ่มคล้ายกำมะหยี่ทั้งสองด้าน ใบเป็นสีเขียวอ่อน เส้นใบด้านหลังลึกเช่นเดียวกับเส้นกลางใบ แต่ด้านท้องใบกลับนูน ชนิดนี้กิ่งก้านเป็นสีเขียวปนสีแดง เปราะและหักง่าย ส่วนอีกชนิดคือชนิดใบยาว จะเรียกว่า “จินฉี่เหมาเยี่ย” ชนิดนี้ลักษณะของใบจะค่อนข้างยาวและแหลมกว่า ผิวใบค่อนข้างเรียบ มีขนน้อย[9]
- ดอกจักรนารายณ์ ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอดลำต้น ในช่อหนึ่งจะมีดอกหลายดอก กลีบดอกมีลักษณะเป็นเส้นฝอยกลมจำนวนมาก มีสีเหลืองสดคล้ายดอกดาวเรือง แต่จะมีขนาดเล็กกว่าดอกดาวเรือง และมีสีเหลือง โดยยาวได้ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้านอยู่ในกลีบดอก ส่วนเกสรเพศเมียเป็นเส้นยืดออกมาภายนอกและมีผลติดอยู่ในดอก[1],[2]
- ผลจักรนารายณ์ ผลสุกเป็นสีน้ำตาล[1]
สรรพคุณของจักรนารายณ์
- ยอดอ่อนใช้เป็นส่วนผสมในการต้มไก่กระดูกดำ ใช้รับประทานเป็นยาบำรุงร่างกาย (ยอดอ่อน)[12]
- ราก ก้าน และใบ มีรสหวานชุ่ม เค็มและเผ็ดเล็กน้อย ใช้เป็นยาเย็นมีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ และม้าม มีสรรพคุณช่วยทำให้เลือดเย็น ช่วยกระจายโลหิต แก้เส้นเลือดอุดตันและแก้อาการตกเลือด (ราก, ก้าน, ใบ)[1]
- ช่วยฟอกโลหิต ทำให้ระบบโลหิตและน้ำเหลืองดีขึ้น (ใบ)[5],[10]
- ช่วยล้างพิษภายในออกทางอุจจาระ ปัสสาวะ และทางตา (ใบ)[5],[10]
- ใช้รักษาโรคเบาหวาน ด้วยการรับประทานใบสดก่อนอาหารประมาณ 2-5 ใบในช่วงตีห้าถึงเจ็ดโมงเช้า (จะได้ผลดีเพราะเป็นช่วงที่ลำไส้เริ่มทำงาน) และให้รับประทานอีกครั้งในช่วงหลังอาหารเย็นประมาณ 2-3 ชั่วโมง หรือใช้กินก่อนนอนทุกวัน โดยให้ทำเช่นนี้ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ แล้วหยุดดูอาการอีก 2-3 วัน แล้วจึงรับประทานต่อเพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ลดลงเร็วเกินไป (ปริมาณการใช้ของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้รับประทานและขนาดของใบที่ใช้ สำหรับผู้ที่เริ่มรับประทานให้ทดลองรับประทานแต่น้อย ๆ ก่อนแล้วค่อย ๆ ดูอาการ และควรรับประทานแบบระมัดระวัง เพราะยังไม่มีผลการวิจัยรองรับอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลระบุว่าจักรนารายณ์ใบยาวจะลดระดับน้ำตาลในเลือดได้มากกว่าชนิดใบกลม)[9]
- ใบใช้รับประทานสดร่วมกับลาบ ช่วยแก้โรคความดันโลหิตสูง (ใบ)[12]
- ช่วยทำให้ระบบหายใจดีขึ้น ไม่เหนื่อยไม่หอบ (ใบ)[5],[10]
- ช่วยแก้อาการร้อนใน (ใบ)[4]
- ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ (ราก, ก้าน, ใบ)[1]
- ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด (ราก, ก้าน, ใบ)[1]
- ช่วยรักษาโรคตา ตาต้อ ตาอักเสบ ตามัว ด้วยการใช้ใบสดล้างให้สะอาด นำมาบด ขยี้ หรือโขลกให้แหลกในครกสะอาด แล้วนำมาพอกตาข้างที่มีอาการประมาณ 30 นาที (เข้าใจว่าพอกตรงเปลือกตา) แล้วล้างออกด้วยน้ำ โดยให้พอกทั้งเช้าและเย็น อาการของตาจะดีขึ้น ดวงตาจะสว่างขึ้น โดยสมุนไพรจักรนารายณ์ที่ปลูกเองไม่ควรใช้ยาฆ่าแมลง หรือถ้ามีการใช้ปุ๋ยก็ควรทิ้งไว้อย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนเก็บใบใช้ในการพอกตา (ใบ)[9],[10]
- ช่วยแก้อาการปวดเหงือก ปวดฟัน ปากเป็นผล หรือลำคออักเสบ ให้รับประทานใบสดเป็นยาในช่วงกลางคืนหลังการแปรงฟัน โดยค่อย ๆ รับประทานใบยา เคี้ยวและอมทิ้งไว้สักระยะหนึ่งแล้วค่อยกลืนลงไป เมื่อตื่นมาตอนเช้าอาการปวดจะหายไป อีกทั้งยังช่วยให้ขับถ่ายได้โล่งสบายยิ่งขึ้นอีกด้วย (ใบ)[10]
- ใช้รักษาหลอดลมอักเสบ วัณโรคในปอด (ราก, ก้าน, ใบ)[1]
- ใช้แก้อาการไอ คออักเสบ ด้วยการใช้ใบและก้านประมาณ 10 กรัม ใส่ไข่และน้ำตาลเล็กน้อย ใช้รับประทาน (ใบและก้าน)[1]
- ใบอ่อนและยอดอ่อน ใช้รับประทานเป็นประจำ จะช่วยรักษาหรือป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งมดลูกได้ (ใบอ่อน, ยอดอ่อน)[12]
- ช่วยขับลมที่แน่นภายในช่องท้อง ด้วยการใช้ใบสดนำมารับประทานในขณะที่มีอาการ (ใบ)[5],[10]
- ช่วยรักษาโรคกระเพาะหรือมีอาการปวดท้อง ก็ให้ใช้ใบนำมากินเดี๋ยวนั้น สักพักอาการปวดก็จะหายไป (ใบ)[9],[10]
- ใช้รักษาริดสีดวงทวารหนัก ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำให้ได้พอเหมาะ แล้วนำมายัดใส่ทวารหนัก จะทำให้แผลและริดสีดวงหายเร็วขึ้น ติ่งที่โผล่ออกมาจะยุบ และเลือดที่ออกก็จะหยุด (ใบ)[9],[10]
- ช่วยรักษาโรคเริม (ใบ)[5],[8]
- ช่วยแก้งูสวัด ด้วยการนำใบมาตำกับน้ำตาลทรายแดง เพื่อให้จับตัวกันเป็นก้อน ๆ และไม่หลุดได้ง่าย แล้วนำมาพอกตรงรอยแผลทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที หรือจะนำใบมาคั้นเอาแต่น้ำใช้ทาสด ๆ หรือใช้ตำพอกเลยก็ได้ (ใบ)[8],[9],[10]
- ใช้เป็นยาใส่แผลสดเพื่อห้ามเลือด (ราก, ก้าน, ใบ)[1]
- ช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (ราก, ก้าน, ใบ)[1]
- ช่วยสมานบาดแผล รักษาแผลภายนอกได้ (เข้าใจว่าคือส่วนของใบ)[5]
- ใบนำมาขยี้ทาชโลมให้ทั่วบริเวณที่มีอาการคัน จะช่วยแก้ผดผื่นคัน บรรเทาอาการคันได้ (ใบ)[4],[5],[8]
- ช่วยแก้ฝีบวม ฝีร้อน ฝีภายนอก แก้อาการปวดฝี ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำให้แหลกแล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น หรือจะใช้ใบสดนำมาตำผสมกับเหล้าแล้วนำมาใช้พอกก็ได้เช่นกัน (ใบสด)[1],[3],[4],[8]
- ช่วยบรรเทาอาการอักเสบเนื่องจากเริมและงูสวัด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าคือส่วนของใบ)[5]
- ใบสดนำมาตำให้แหลกผสมกับสุราขาว ใช้สำลีชุบให้เปียกแล้วนำไปปิดบริเวณที่มีอาการปวดหรืออักเสบ แก้ปวดหัวลำมะลอก หรือใช้พอกแก้พิษอักเสบทุกชนิด พิษหัวลำมาลอก แก้พิษตะขาบ พิษจากแมลงป่อง พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย โดยยานี้เมื่อพอกแล้วจะรู้สึกเย็นสบาย และให้พอกประมาณวันละ 2-3 ครั้ง จะเป็นยาดับพิษและดูดถอนพิษได้ดี (ใบสด)[2],[3],[4],[6],[8]
- ช่วยแก้อาการฟกช้ำบวม ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำ แล้วนำมาผสมกับเหล้า คั่วให้ร้อน แล้วนำมาใช้เป็นยาพอก หรือจะใช้ใบสดนำมาตำผสมกับเหล้าแล้วนำมาใช้พอกเลยก็ได้ (ใบสด)[1],[3],[4],[8]
- หากเป็นมะเร็งให้ใช้ใบนำมารับประทานเป็นผักทุกวัน เช่น การนำมาจิ้มกับน้ำพริก และให้กินก่อนนอนอีก 5-7 ใบ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 6 เดือน จะช่วยทำให้มะเร็งมีขนาดเล็กลง (ใบ)[9]
- มีข้อมูลระบุว่าสมุนไพรจักรนารายณ์เป็นสมุนไพรครอบจักรวาล เพราะรักษาได้หลายโรคหลายอาการ โดยมีผู้รับรองว่าโรคที่ใช้สมุนไพรชนิดนี้รักษาหายมาแล้ว ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคโลหิตจาง ช่วยฟอกโลหิต ช่วยล้างสารพิษในร่างกาย ไทรอยด์ โรคมะเร็งทุกชนิด โรคหัวใจ โรคภูมิแพ้ หอบหืด ตาเป็นต้อ ตาอักเสบ หรือโรคตาต่าง ๆ แก้อาการปวดเหงือก ปวดฟัน ช่วยขับลม โรคกระเพาะอาหาร ขับนิ่ว ริดสีดวงทวารหนัก อาการปวดประจำเดือนของสตรี เนื้องอกต่าง ๆ ในไต งูสวัด แผลสะเก็ดเงิน แผลอักเสบ แผลฝีหนองทั่วไป โรคผิวหนังทั่วไป เกาต์ อาการปวดเส้นปวดหลัง ช่วยทำให้กินได้นอนหลับ และสำหรับคนทั่วไปหรือผู้ที่เป็นโรคเอดส์รับประทานแล้วจะมีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น (ใบ)[4],[10]
วิธีใช้สมุนไพรจักรนารายณ์
- ใช้ภายใน ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ประมาณ 5-10 ใบ นำมาต้มกับน้ำรับประทานหรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา หรือถ้าเป็นยาแห้งให้นำมาบดเป็นผง หรือนำไปดองกับเหล้าโรงใช้รับประทานเป็นยาก็ได้[1] หากเป็นใบสด ให้นำมาล้างให้สะอาด ซับน้ำให้แห้ง แล้วนำมาเคี้ยวกินสด ๆ หรือนำไปใช้ประกอบอาหารรับประทาน หรือจะนำมาผึ่งให้แห้งแล้วนำมาบดหรือตำคั้นเอาแต่น้ำไปนึ่งจนสุก ปล่อยให้เย็นเก็บใส่ขวด ใส่ตู้เย็นไว้จะเก็บได้นาน แต่ที่ได้ผลดีที่สุดก็คือให้กินใบสดประมาณ 3-5 ใบก่อนเข้านอน[4]
- ใช้ภายนอก ให้ใช้ใบสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น โดยให้เลือกใบสดนำมาล้างให้สะอาด[1]
- ในวงศ์จักรนารายณ์ ยังมีสายพันธุ์อีกหลายชนิด เช่น Gynura ovalis DC. และ Gynura Sarmentora DC. แต่ชาวบ้านได้นำมาใช้ทดแทนกัน[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของจักรนารายณ์
- มีการศึกษาด้านพฤกษเคมีและคุณสมบัติทางชีวภาพ พบว่าสารสกัดเอทานอลมีคุณสมบัติในการต้านไวรัสเฮอร์ปีส์ (Herpes) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม โดยสารที่แสดงฤทธิ์ต้านไวรัสชนิดนี้คือสารผสมของกรดคาฟีออยควินิก (3, 5- และ 4, 5-di -O-caffeoyl quinic acids) และจากการศึกษาร่วมกับการศึกษาในสัตว์ทดลองก็ไม่พบว่าสมุนไพรจักรนารายณ์มีพิษแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีศักยภาพเป็นยาทาภายนอกที่ช่วยบรรเทาอาการอักเสบหรือระคายเคืองที่ผิวหนังซึ่งเกิดจากการแพ้ แมลงสัตว์กัดต่อย และโรคเริม[6]
- สมุนไพรจักรนารายณ์ยังมีฤทธิ์ต้านไวรัสเริมในหลอดทดลอง ซึ่งสารกลุ่มที่แสดงฤทธิ์ดังกล่าว ได้แก่ กลุ่ม 1, 2-bis-dodecanoyl-3-alpha-D-glucopyranosyl-sn-glycerol, dicaffeoyl quinic acids, sitosteryl- และ stigmasteryl glucosides จึงได้มีการทดลองใช้เจลต้านอักเสบที่มีสารสกัดจากจักรนารายณ์เป็นตัวยาในผู้ป่วยที่เป็นเริมที่ริมฝีปาก โดยพบว่าปริมาณไวรัสมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับยาหลอก[8]
- มีการศึกษาในหลอดทดลองและในหนูทดลองระบุว่า จักรนารายณ์สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ยังไม่ได้มีการศึกษาในคน[7]
- งานวิจัยสมุนไพรจักรนารายณ์ได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 โดยพบว่า สารสกัดแอลกอฮอล์จากส่วนเหนือดินของจักรนารายณ์มีคุณสมบัติต้านการอักเสบในสัตว์ทดลอง และยังพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์หลายชนิด ได้แก่ Kaempferol ในรูปอิสระและไกลโคไซด์, Quercetin ในรูปอิสระและไกลโคไซด์ โดยฟลาโวนอยด์เป็นสารที่อาจแสดงฤทธิ์ต้านอักเสบ จึงได้มีการทดลองใช้เจลต้านอักเสบที่มีสารสกัดจากจักรนารายณ์ 2.5% เป็นตัวยา ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด ซึ่งมักจะมีอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ โดยพบว่าสามารถช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของอาการได้อย่างมีนัยสำคัญ[8]
ประโยชน์ของต้นจักรนารายณ์
- ใบสดสามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักสดหรือนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริก หรือใช้ประกอบอาหารได้ เช่น ทำแกงจืด ผัดน้ำมัน ผัดเต้าเจี้ยว หรือใช้เป็นเครื่องเคียงกับขนมจีน ลาบ แหนม ส้มตำ หรือสลัดผัก เป็นต้น[4],[5],[12]
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรจักรนารายณ์
- สำหรับผู้ที่ธาตุไฟอ่อน ร่างกายอ่อนแอและมีไข้ ไม่ควรรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1]
- อาหารที่แสลงกับสมุนไพรจักรนารายณ์ ได้แก่ เนื้อ กุ้ง ปู ปลาทู ปลาหมึก ปลาร้า หูฉลาม ข้าวเหนียว กะปิ หน่อไม้ แตงกวา เผือก หัวผักกาด สาเก ของดอง ชาหรือกาแฟ แอลกอฮอล์ เป็นต้น จึงไม่ควรรับประทานร่วมกัน แต่หากจำเป็นต้องรับประทาน ก็ให้รับประทานสมุนไพรจักรนารายณ์ก่อนหรือหลังประมาณ 2 ชั่วโมง[9]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “จักรนารายณ์”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 178.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “จักรนารายณ์”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 222.
- สวนพฤษศาสตร์สายยาไทย. “จักรนารายณ์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [23 ก.พ. 2014].
- ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดนครราชสีมา (พืชสวน), กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “แปะตำปึง”. (สุภาวดี ภูมิมาลี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.aopdh06.doae.go.th. [23 ก.พ. 2014].
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานีน้อมรับพระราชดำริ, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “แป๊ะตำปึง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: rspg.svc.ac.th. [23 ก.พ. 2014].
- Clearing House Mechanism of Department of Agriculture (CHM of DOA). “แป๊ะตำปึง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: chm.doa.go.th. [23 ก.พ. 2014].
- ศูนย์เบาหวานศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “ทานต้นแป๊ะตำปึง ลดน้ำตาลได้หรือไม่”. (ศูนย์เบาหวานศิริราช). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.si.mahidol.ac.th/sdc/. [23 ก.พ. 2014].
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “แป๊ะตำปึง”. (รองศาสตราจารย์ ดร.วีณา จิรัจฉริยากูล ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/. [23 ก.พ. 2014].
- หนังสือพิมพ์เดลินิวส์. (28 ม.ค. 2548), โดยทอม แม่โจ้ และผู้มีประสบการณ์ในการใช้.
- GotoKnow. “ต้นแปะตําปึงหรือจักรนารายณ์”. (รุจิดา สุขใส). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org. [23 ก.พ. 2014].
- สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล . “แป๊ะตำปึง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [23 ก.พ. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “แป๊ะตำปึง”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [23 ก.พ. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Nelindah, G’s Garden, Click Cluck, drillerbryan, UmmAbdrahmaan @AllahuYasser!, Vietnam Plants & The USA. plants)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)