งิ้ว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นงิ้ว 52 ข้อ ! (งิ้วบ้าน, งิ้วแดง)

งิ้ว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นงิ้ว 52 ข้อ ! (งิ้วบ้าน, งิ้วแดง)

งิ้วแดง

งิ้ว ชื่อสามัญ Cotton tree, Kapok tree, Red cotton tree, Silk cotton, Shving brush

งิ้ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Bombax ceiba L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bombax malabaricum DC., Gossampinus malabarica Merr.)[12] จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย BOMBACOIDEAE

สมุนไพรงิ้ว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า งิ้วบ้าน (ทั่วไป), งิ้วแดง (กาญจนบุรี), งิ้วปง งิ้วปกแดง สะเน้มระกา (ชอง-จันทบุรี), งิ้วป่า, งิ้วปงแดง, งิ้วหนาม, นุ่นนาง, ตอเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ปั้งพัวะ (ม้ง), บักมี้ (จีน) เป็นต้น[1],[2],[3],[7],[10],[12]

ชนิดของต้นงิ้ว

ต้นงิ้ว หรือ งิ้วป่า จัดเป็นพืชในสกุล Bombax ในประเทศมีรายงานว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด[14] ได้แก่

  • ชนิดที่ 1 “งิ้ว” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombax ceiba L. (กล่าวในบทความนี้)[14]
  • ชนิดที่ 2 “งิ้วป่าดอกแดง” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombax insigne Wall.[14]
  • ชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombax anceps Pierre และยังสามารถแยกออกได้อีก 2 ชนิดย่อย ได้แก่[14]
    • งิ้วป่า” (งิ้วป่าดอกขาว) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombax anceps Pierre var. anceps* (ชื่อวิทยาศาสตร์ไม่แน่ชัด)[14]
    • ง้าว” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bombax anceps var. cambodiense (Pierre) Robyns[14]

ต้นงิ้วแดง

ลักษณะของต้นงิ้ว

  • ต้นงิ้ว จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกว้างถึงขนาดใหญ่ ลักษณะของต้นเป็นรูปทรงพุ่มเป็นรูปไข่ มีความสูงของลำต้นประมาณ 15-25 เมตร (บ้างว่าสูงประมาณ 25-30 เมตร) และความกว้างของทรงพุ่มประมาณ 15 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรงและมีหนามอยู่ทั่วลำต้นและกิ่ง เห็นข้อปล้องไม่ชัดเจน ต้นอ่อนจะเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อแก่จะเป็นสีเขียวเข้ม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด โดยจะพบขึ้นในที่ราบและตามป่าเบญจพรรณ ตามเชิงเขาและไหล่เขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-600 เมตร ซึ่งในปัจจุบันต้นงิ้วจะหาดูได้ยากมาก จะมีปลูกเฉพาะถิ่นทางภาคเหนือไม่กี่ที่เท่านั้น[1],[2],[3],[12]

งิ้วบ้านงิ้ว 

ต้นงิ้ว

  • ใบงิ้ว ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อยประมาณ 3-7 ใบเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีถึงรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 นิ้ว และยาวประมาณ 6-10 นิ้ว ใบสีเขียวไม่มีขน แผ่นใบค่อนข้างหนาและเกลี้ยง ก้านช่อใบยาว โคนก้านบวมเล็กน้อย[1],[2],[12]

ใบงิ้ว

  • ดอกงิ้ว ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามปลายกิ่งหรือตามปลายยอด ดอกมีขนาดใหญ่สีชมพูแกมเลือดหมู สีแดง สีแสด และมีที่เป็นสีทองแต่หาได้ยาก ดอกมีกลิ่นหอมเอียน ออกดอกเป็นกระจุกหรือเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 3-5 ดอก ฐานรองดอกเป็นรูปถ้วยแข็ง ๆ หรือเป็นกลีบเลี้ยงติดกัน ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบขนาดเล็ก สีเขียวอ่อน ส่วนกลีบดอกมีขนาดใหญ่และหนา มี 5 กลีบเป็นรูปขอบขนาน เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร ปลายกลีบจะแผ่ออกและม้วนกลับมาทางขั้วของดอก หลุดร่วงได้ง่าย ดอกมีเกสรตัวผู้เป็นเส้นยาวจำนวนมาก เรียงกระจายเป็นวงรอบ สีขาวปนสีชมพู ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 ก้าน สีชมพู บริเวณปลายเป็นจุดสีเข้มมีความเหนียว ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ[1],[2] โดยจะออกดอกในช่วงระหว่างเดือนมกราคมต่อเนื่องเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และจะทิ้งใบก่อนมีดอก[3]

ต้นงิ้วบ้าน

ดอกงิ้ว

ดอกงิ้วแดง

  • ผลงิ้ว หรือ ฝักงิ้ว ผลมีลักษณะยาวรีคล้ายฝักรูปทรงกระบอก ที่ปลายทั้งสองข้างของผลจะแหลม ผลเมื่ออ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล เปลือกของผลแข็ง มีความยาวประมาณ 6-8 นิ้ว และเมื่อแก่จัดจะแตกอ้าออกตามรอยประสาน ในผลมีเส้นหรือปุยสีขาวและมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ลักษณะเป็นรูปทรงกลมสีดำ และถูกห่อหุ้มด้วยปุยฝ้ายสีขาว ๆ สามารถปลิวไปตามลมได้ไกล[1],[2],[12]

ฝักงิ้ว

ผลงิ้ว

เมล็ดงิ้ว

สารเคมีที่พบ : เปลือกต้นมีสารที่สกัดด้วยน้ำอยู่ 9.92% ในใบมี condensed tannins ส่วนรากมีโปรตีน, แป้ง, ไขมัน, arabinose, galactose, gum และ tannins ส่วนเปลือก ราก จะมีพวกเกลือแร่ ไขมัน โปรตีน แป้ง และความชื้นอยู่ 7.5% ในเมล็ดมีน้ำมันประมาณ 24-25% และในยางมีเกลือแร่ 8.9%[12]

สรรพคุณต้นงิ้ว

  1. รากใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ราก)[4],[6],[11],[13]
  2. ยางใช้เป็นยาบำรุงโลหิต (ยาง)[13]
  3. ช่วยแก้โรคมะเร็ง (เมล็ด)[13]
  4. เปลือกต้นช่วยบำรุงระบบการไหลเวียนของโลหิต (เปลือกต้น)[4],[12]
  5. ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการใช้เปลือกต้นงิ้วแดง 1 กิโลกรัม นำมาล้างให้สะอาดและหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปใส่ในหม้อต้มยาสมุนไพร เติมน้ำสะอาดลงไป 5 ลิตรและต้มจนเดือด แล้วให้รินเอาแต่น้ำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 มิลลิเมตร) วันละ 2 ครั้งทุกเช้าและเย็น (น้ำงิ้วที่ได้จะมีสีแดงเหมือนน้ำกระเจี๊ยบ) (เปลือกต้น)[4]
  6. ดอกแห้งใช้ทำเป็นยาแก้พิษไข้ได้ดีมาก (ดอก)[3],[6] ส่วนหนามมีสรรพคุณแก้ไข้ ลดความร้อน ดับพิษร้อน (หนาม)[11],[13] ช่วยแก้ไข้พิษ ไข้กาฬ (หนาม)[13]
  7. ช่วยระงับประสาท (ดอก)[11],[13]
  8. ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ดอก)[6]
  9. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาทำให้อาเจียนถอนพิษ (ราก[3],[4],[13], เปลือกต้น[11],[13])
  10. ช่วยรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมในคออักเสบ (ใบ)[11],[13]
  1. ช่วยแก้ต่อมน้ำลายอักเสบ (ใบ)[13]
  2. ช่วยรักษากระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง (เปลือกต้น[4],[6],[12], ราก[12])
  3. ช่วยแก้อาการท้องเสีย ลงท้อง (เปลือกต้น[11],[13], ราก[13], ดอก[13], ผล[13]) บรรเทาอาการท้องเดิน (เปลือกต้น, ดอก)[4]
  4. เปลือกต้นช่วยแก้บิด (เปลือกต้น[4],[12],[13], ดอก[6], ยาง[13]) แก้บิดมูกเลือด (ดอก)[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าดอกแดงจะใช้แก้บิดเลือด (บิดถ่ายเป็นเลือด) ให้นำดอกมาต้มเป็นน้ำชาผสมกับน้ำตาลทรายแดง ใช้ดื่มตอนท้องว่างวันละ 3 ครั้ง ส่วนดอกเหลืองจะใช้แก้บิดมูก ให้ใช้ดอกเหลืองหรือส้มที่เป็นดอกแห้ง เข้าใจว่าใช้ต้มเป็นน้ำชาดื่ม[12]
  5. ช่วยแก้อาการท้องร่วง โดยใช้ดอกตากแห้งนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ยางจากต้น[3],[13], เปลือกต้น[6], ดอก[6],[7],[12])
  6. ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร (ราก, เปลือกราก)[4],[6],[7],[12]
  7. ช่วยแก้ตัวพยาธิ (ราก, เปลือกต้น, ดอก, ผล)[13]
  8. ช่วยขับปัสสาวะ (ดอก[4], ราก[11],[13])
  9. เมล็ดใช้เป็นยาร่วมกับพิมเสน ใช้รักษาโรคหนองในเรื้อรัง (เมล็ด)[4]
  10. ช่วยแก้ระดูตกหนักหรือออกมากเกินไป (ยาง)[13]
  11. ช่วยแก้อาการตกโลหิต (เปลือกต้น[11], ราก[13], ดอก[13], ผล[13])
  12. ช่วยแก้ไตพิการ ไตชำรุด ไตอักเสบ ด้วยการใช้เปลือกต้นงิ้วแดงนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ตากแดดให้แห้ง นำมาต้มกินต่างน้ำทุกวัน (หรือจะเอาน้ำต้มจากเปลือกไปหมักเพื่อทำเอนไซม์ก็ได้) (เปลือกต้น)[8],[12]
  13. ผลอ่อนใช้บำบัดรักษาแผลเรื้อรังในไต (ผลอ่อน)[4]
  14. ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (ยาง)[13]
  15. ดอกและรากมีสรรพคุณช่วยห้ามเลือด (ดอก, ราก, เปลือกราก, ยาง)[4],[6],[7],[12] ส่วนเมล็ดมีสรรพคุณช่วยห้ามเลือดภายใน (ยาง)[13]
  16. รากของต้นอ่อนใช้พอกสมานแผล (เปลือกต้น, ราก, เปลือกราก)[4],[6],[7],[12] ช่วยฝากสมาน (ยาง)[13]
  17. ใบและยอดอ่อนใช้ตำพอกรักษาฝี (ใบ)[7] ส่วนรากช่วยแก้ฝีเปื่อยพัง (ราก, เปลือกต้น, ดอก, ผล)[13] หนามช่วยแก้ฝีประคำร้อย (หนาม)[13] และยังช่วยดับพิษฝี แก้พิษฝีต่าง ๆ (หนาม,ใบ)[13]
  18. ช่วยรักษาแผล ฝีหนอง (ดอก)[4],[6],[12] หากเป็นแผลที่มีหนอง ให้ใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำแล้วนำมาใช้ชะล้างทำความสะอาดแผล (เปลือกต้น)[12]
  19. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (เมล็ด)[13]
  20. ช่วยแก้อาการคัน (ดอก)[6],[13]
  21. ช่วยแก้หัวลำมะลอก (เม็ดที่ขึ้นตามตัวเป็นหนองพุพองมีพิษ), หัวดาวหัวเดือน (เม็ดตุ่มที่ผุดขึ้นตามตัว มีพิษมาก มักขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และนิ้วมือนิ้วเท้า) (ใบ)[13]
  22. ช่วยแก้พิษงูทุกชนิด (ราก,ใบ,ผล)[13]
  23. ดอกแห้งใช้ทำเป็นยาระงับอาการปวด (ดอก)[3],[11],[13]
  24. ใบแห้งหรือใบสดนำมาตำใช้ทาแก้อาการฟกช้ำ แก้บวม มีอาการอักเสบ (ใบ, ราก, ดอก, ผล)[3],[7],[11],[13] บรรเทาอาการฟกช้ำบวมจากการกระแทก ด้วยการใช้รากสดนำมาแช่เหล้า ใช้ถูทาหรือตำพอก (ดอก, เปลือกต้น, ราก, เปลือกราก)[4],[6],[11],[12]
  25. ใช้ทาแก้น้ำร้อนลวก (ดอก)[11],[13]
  26. ช่วยแก้อัมพาต เอ็นอักเสบ (เปลือกต้น)[4] ใช้แก้คนที่เป็นอัมพาตครึ่งตัว (เปลือกต้น)[12]
  27. ชาวโอรังอัสลีในรัฐเประของประเทศมาเลเซียใช้ใบสดนำมาแช่กับน้ำต้มอาบเพื่อใช้รักษาอาการปวดเมื่อย (ใบ)[5]
  28. เมล็ดใช้เป็นยากระตุ้นความต้องการทางเพศ (ยาง)[13]
  29. ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของงิ้วแดง มีฤทธิ์ในการต้านไทอะมีนและมีผลต่อลำไส้ของหนูตะเภา และช่วยยับยั้งเอดส์[13]

ประโยชน์ของงิ้ว

  1. เกสรตัวผู้จากดอกนำไปตากแห้ง ใช้โรยในขนมจีนน้ำเงี้ยวรับประทาน หรือจะใช้ปรุงเป็นแกงแคทางภาคเหนือก็อร่อยเช่นกัน[2],[3],[4],[10],[13] อีกทั้งยังมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก โดยมีธาตุแคลเซียมสูงถึง 429 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งสูงกว่านมที่มีแคลเซียมอยู่ประมาณ 123 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม[7]
  2. เกสรตัวผู้แห้งยังสามารถนำมาใช้แต่งสีของแกงส้มหรือแกงกะหรี่เพื่อช่วยเพิ่มสีสันให้น่ารับประทานมากขึ้นได้อีกด้วย[7]
  3. ดอกสดใช้ลวกจิ้มรับประทานกับน้ำพริกและแกงส้ม[13]
  4. ดอกใช้ผสมกับข้าวโพดทำเป็นขนมแผ่นรับประทานได้[12]
  5. ใบและยอดอ่อนใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงได้เป็นอย่างดี[12]
  6. รากอ่อนใช้เป็นยาและใช้เป็นอาหารเมื่อยามขาดแคลน ดอกและยางใช้ทำเป็นยารักษาโรค[12]
  7. ใช้ปลูกไม้ประดับในสนามกว้าง ๆ ทั่วไป ต้นงิ้วมีรูปทรงของลำต้นที่สวยงาม สูงเด่นดูสง่า เรือนยอดแผ่กว้างให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดี สามารถเพาะปลูกได้ง่าย เป็นไม้ผลัดใบทั้งต้นให้ดอกสีแดงหรือสีเหลืองทั้งต้น ดอกมีขนาดใหญ่ สีสันสดใสสวยงาม[13]
  8. ต้นงิ้วเป็นไม้เนื้ออ่อน สีขาวหรือเหลืองอ่อน เสี้ยนหยาบ ไม่ทนทานมากนัก ผุและเปื่อยได้ง่าย นิยมนำมาใช้ทำหีบและลังสำหรับใส่ของ ใช้ทำไม้อัด ไม้จิ้มฟัน ก้านไม้ขีด กล่องไม้ขีด ทำของเล่นเด็ก ใช้ทำเยื่อกระดาษก็ได้ ส่วนชาวกระเหรี่ยงแดงจะใช้เนื้อไม้สำหรับสร้างบ้าน หรือนำมาแปรรูปทำไม้แบบหรือไม้ต่อโลงศพ ปราสาทเผาศพ[1],[3],[10],[13]
  9. เปลือกต้นให้เส้นใย สามารถนำมาใช้ทำเชือกได้ โดยจะมีความเหนียวมากแต่จะแข็งและหยาบ จึงเหมาะที่จะใช้มัดของใหญ่ ๆ[1],[3],[12]
  10. ปุยนุ่นของฝักหรือผลแก่สามารถนำมาใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม ด้วยการนำมาใช้ยัดเบาะ ฟูก หมอน ฯลฯ[2],[12]
  11. ใช้ทำชนวนตู้เย็น เข้าใจว่าคือเส้นใยหรือยุ่ยจากฝัก[12]
  12. น้ำมันจากเมล็ดสามารถนำมาใช้ปรุงอาหาร ใช้ทำสบู่ได้[1]
  13. ชาวเหนือและชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะนำเปลือกงิ้วแดงมาทำสี โดยจะให้สีน้ำเงิน ใช้สำหรับย้อมสีจำพวกผ้าฝ้ายได้[13]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์.  “งิ้ว“.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [7 ม.ค. 2014].
  2. การดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนดาราพิทยาคม.  “งิ้ว, งิ้วบ้าน, งิ้วหนาม“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.drpk.ac.th.  [7 ม.ค. 2014].
  3. ไทยรัฐออนไลน์.  “งิ้ว เป็นอาหารมีสรรพคุณและประโยชน์“.  (นายเกษตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th.  [7 ม.ค. 2014].
  4. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.  “ต้นงิ้ว วัดห้วยหลาด อำเภอรัตภูมิ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th.  [7 ม.ค. 2014].
  5. Samuel, A.J.S.J., Kalusalingam, A., Chellappan, D.K., Gopinath, R., Radhamani, S., Husain, H. A., Muruganandham, V., Promwichit, P. 2010. Ethnomedical survey of plants used by the orang asli in kampong bawong, Perak, West Malaysia. Joutnal of Ethnobiology and Ethnomedicine. 6:5
  6. ลานธรรมจักร.  “ต้นงิ้ว วิมานฉิมพลีของนางกากี“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dhammajak.net.  [7 ม.ค. 2014].
  7. องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้.  “ดอกงิ้ว สมุนไพรไทย แคลเซียมสูง รักษาสารพัดโรค“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.fio.co.th/p/magazine_fio/files/5503.pdf‎.  [7 ม.ค. 2014].
  8. ภูมิปัญญาอภิวัฒน์.  “สมุนไพรเปลือกงิ้วต้มกินแก้ไตพิการ“.  (สมหวัง วิทยาปัญญานนท์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.budmgt.com.  [7 ม.ค. 2014].
  9. รักบ้านเกิด.  “การใช้งิ้วแดงรักษาโรคความดันโลหิตสูง“.  (บรรทม จิตรชม).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rakbankerd.com.  [7 ม.ค. 2014].
  10. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “Kapok tree“.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก:eherb.hrdi.or.th.  [7 ม.ค. 2014].
  11. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “งิ้วแดง“.  (ฉันท์ฐิตา ธีระวรรณ).  อ้างอิงใน: thrai.sci.ku.ac.th/node/1694.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [7 ม.ค. 2014].
  12. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย  (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
  13. สมุนไพรดอตคอม.  “งิ้วแดง“.  (manji).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.samunpri.com.  [7 ม.ค. 2014].
  14. คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ.  “มารู้จัก… ต้นงิ้ว กันเถอะ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: forensic.rpca.ac.th/pdf/bombax.pdf.  [7 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by andreas lambrianides, Carine.C, SierraSunrise, claying, Ali Tse, Michael J. Barritt,  ViC8518, flickr_10g, photocat001, dinesh_valke, Viejito, mingiweng)

หมายเหตุ : บทความนี้เกิดจากการรวบรวมข้อมูลจากหลาย ๆ แห่ง ซึ่งดูได้จากแหล่งอ้างอิงของข้อมูลที่มีตัวเลขกำกับอยู่ประกอบไปด้วย ท่านสามารถเชื่อหรือไม่เชื่อได้ตามวิจารณญาณของท่านเอง

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด