งาขี้ม้อน
งาขี้ม้อน ชื่อสามัญ Perilla[1],[2],[6]
งาขี้ม้อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Perilla frutescens (L.) Britton (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ocimum frutescens L.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[1],[2],[6]
งาขี้ม้อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า งามน (แม่ฮ่องสอน), งาขี้ม้อน งาปุก (คนเมือง), แง (กาญจนบุรี), นอ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน, กะเหรี่ยงเชียงใหม่), น่อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ง้า (ลั้วะ), งาเจียง (ลาว), งาม้อน เป็นต้น[1],[2],[3],[5]
ลักษณะของงาขี้ม้อน
- ต้นงาขี้ม้อน จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุก มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขา ต้นมีกลิ่นหอม เป็นสันสี่เหลี่ยมมน ๆ และระหว่างเหลี่ยมเป็นร่องตามยาว มีขนยาวละเอียดสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น เมื่อโตเต็มที่โคนต้นจะเกลี้ยง โคนต้นและโคนกิ่งจะแข็ง[1],[2]
- ใบงาขี้ม้อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง หรือรูปกลม ปลายใบเรียวแหลมหรือแหลมเป็นติ่งยาว โคนใบกลม ป้าน หรือตัด ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีความกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวอ่อน ท้องใบมีสีอ่อนกว่าหลังใบ แผ่นใบมีขนนุ่มสีขาวทั้งสองด้าน ตามเส้นใบมีขนอยู่หนาแน่น ท้องใบมีต่อมน้ำมัน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 10-45 มิลลิเมตร และมีขนยาวขึ้นหนาแน่น[1],[2]
- ดอกงาขี้ม้อน ออกดอกเป็นช่อกระจะตามง่ามใบและที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ริ้วประดับดอกย่อยลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3.2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และไม่มีก้าน โคนริ้วประดับมีลักษณะกลมกว้าง ขอบเรียบ และมีขน ส่วนปลายเรียวแหลม ส่วนดอกย่อยจะมีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร มีขนสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น กลีบดอกเป็นสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอดทรงกระบอก ที่ปลายแยกเป็นปาก ยาวประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร ด้านนอกกลีบดอกมีขน ส่วนด้านในมีขนเรียงเป็นวงอยู่กึ่งกลางหลอด ปากบนปลายมีลักษณะเว้าเล็กน้อย ส่วนปากล่างมีหยัก 3 หยัก ปลายมนหยักกลางใหญ่กว่าหยักอื่น ๆ โดยเฉพาะหยักนี้ด้านในจะมีขน เมื่อดอกบานกลีบนี้จะกางออก ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน เรียงเป็นคู่ ๆ โดยคู่บนจะสั้นกว่าคู่ล่างเล็กน้อย ก้านเกสรมีลักษณะเกลี้ยง ส่วนอับเรณูมีพู 2 พู ด้านบนติดกัน ส่วนด้านล่างกางออก จานดอกเห็นได้ชัดเจน มีรังไข่ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตรและมีพูกลม ๆ 4 พู ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะยาวประมาณ 2.6-3 มิลลิเมตร ที่ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉกและไม่มีขน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก แฉกกลางด้านบนจะสั้นกว่าแฉกอื่น ๆ มีเส้นตามยาว 10 เส้น ด้านนอกมีขนและมีต่อมน้ำมัน ส่วนด้านในมีขนยาวเรียงเป็นวงรอบปากหลอด เมื่อดอกเจริญไปเป็นผลแล้ว กลีบเลี้ยงจะมีขนาดใหญ่ขึ้น[2]
- ผลงาขี้ม้อน ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ผลแข็งเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทาและมีลายเป็นรูปตาข่าย[2] ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม เมล็ดมีลักษณะกลม[1]
มีรายงานการสำรวจการปลูกงาขี้ม้อนทางภาคเหนือตอนบนพบว่า มีการปลูกกระจายทั่วไปในพื้นที่ดอนเชิงเขา ผลจากการสำรวจแหล่งปลูกทั้งหมด 10 แห่ง พบว่าต้นงาขี้ม้อนมีทั้งหมด 130 สายพันธุ์ ซึ่งมีทั้งเมล็ดขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ และมีสีที่ต่างกัน ตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลไหม้ สีเทาเข้ม สีเทาอ่อนไปจนถึงสีขาว โดยการปลูกงาขี้ม้อนทั่วไปจะปลูกกันในพื้นที่ดอนและอาศัยน้ำฝน[3]
สรรพคุณของงาขี้ม้อน
- เมล็ดหรือน้ำมันสกัดจากเมล็ดใช้กินเป็นยาชูกำลัง โดยใช้เมล็ดงาขี้ม้อน 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่มเช้าเย็น (น้ำมันจากเมล็ด[2], เมล็ด[6])
- เมล็ดช่วยลดไขมันในเลือด โดยใช้เมล็ดงาขี้ม้อน 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่มเช้า, เย็น (เมล็ด)[6]
- ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น ด้วยการใช้เมล็ดงาขี้ม้อน 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่มเช้า, เย็น (น้ำมันจากเมล็ด[2], เมล็ด[6])
- ใบและยอดอ่อนช่วยแก้อาการไอ แก้หวัด (ใบ, ยอดอ่อน)[2]
- ช่วยแก้อาการท้องผูก ด้วยการใช้เมล็ดงาขี้ม้อน 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่มเช้า, เย็น (น้ำมันจากเมล็ด[2], เมล็ด[6])
- ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบ, ยอดอ่อน)[2]
- น้ำมันจากเมล็ดนำมาทอดผสมกับเหง้าไพล ใช้เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (น้ำมันจากเมล็ด)[1]
- น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากใบสดช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอกได้ (น้ำมันหอมระเหยจากใบ)[3]
- เมล็ดนำมาบีบเอาน้ำมันใช้เป็นยาทานวด แก้อาการปวดขัดข้อกระดูก (เมล็ด)[1]
- เมล็ดนำมาตำใช้เป็นยาประคบแก้อาการข้อพลิก (เมล็ด)[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของงาขี้ม้อน
- สารสำคัญที่พบในงาขี้ม้อน ได้แก่ Anthocyanins, Aromadendrene, Campesterol, Bergamotene, Caryophyllene, Glucoside, Limonenem Linalool, Odimene, Perillene, Pinene, Pulegone, Sabinene, Sitosterol, Stigmasterol, Terpinolene เป็นต้น[6]
- สารสกัดทั้งต้นงาขี้ม้อนด้วยแอลกอฮอล์ทำให้หนูแท้ง[1]
- สารสกัดจากใบงาขี้ม้อนด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์เป็นยาระบายในสัตว์ทดลองและมีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์[1]
- ดอกงาขี้ม้อนมีสาร Flavonoids ที่ช่วยกำจัดกลิ่นที่ผมได้[1]
- น้ำมันงาขี้ม้อน มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้ดี[1]
- ในน้ำมันพบว่ามีสาร Dillapiol ซึ่งเป็นสารที่ช่วยเสริมฤทธิ์ของ Hexobarbital ทำให้สัตว์ทดลองนอนหลับนานขึ้น[1]
- ในน้ำมันยังพบว่ามีสาร Perilla ketone ซึ่งเป็นสารที่เป็นพิษต่อปอดในสัตว์ทดลอง จึงควรระมัดระวังในการใช้เป็นอาหารหรือเป็นอาหารของสัตว์เลี้ยง[1]
- งาขี้ม้อนมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ไวรัส ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย ช่วยเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ลดบวม และมีฤทธิ์ในการลดระดับคอเลสเตอรอล ลดไตรกลีเซอไรด์ (เข้าใจว่าคือส่วนของเมล็ด)[6]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง ด้วยสารสกัดทั้งต้นด้วย 50% เอทานอลที่ใช้ฉีดเข้าช่องท้องของหนูขาวมีค่าเท่ากับ 1 กรัมต่อกิโลกรัม[6]
- ในประเทศจีน (พ.ศ.2548) ได้ทำการศึกษาส่วนผสมของน้ำมันงาขี้ม้อน 0-50%, น้ำมันข้าว 0-95%, Edible oil 0-90%, ฟอสโฟไลปิด (Phospholipids) 0-200 gm./kg., แคโรทีน 0-100 ppm. และวิตามินอี 0-100 ppm. โดยน้ำมันทั้งหมดนี้สามารถช่วยทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้น ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และยังช่วยลดความอ้วนได้อีกด้วย[6]
- ในประเทศจีน (พ.ศ.2548) ได้มีการทดลองส่วนผสมต่าง ๆ เพื่อใช้ในการรักษาโรคไขมันในเลือด ด้วยการใช้น้ำมันงาขี้ม้อน หรือ Perilla oil 500 ส่วน, วิตามินซี 0.05 ส่วน, วิตามินอี 0.25 ส่วน แล้วนำส่วนผสมทั้งหมดบรรจุลงในแคปซูลและผ่านออกซิเจนและความชื้นในอากาศ แล้วนำแคปซูลดังกล่าวไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีระดับไขมันเลือดสูง และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยได้อีกด้วย เพราะ Docosahexacnoic acid ได้ถูกเปลี่ยนเป็น α-linolenic acid[6]
- ในประเทศสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2550) ได้มีการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจด้วยสาร Statin แต่ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน เนื่องจากผลข้างเคียงของยา การมีคอเลสเตอรอลในร่างกายมาก จะมีผลเสียต่อตับ ระบบประสาท กล้ามเนื้อ และทำให้ระบบต่าง ๆ เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ยังได้พบสาร Alpha-lipoic acid และสาร Corosolic acid ในงาขี้ม้อน และใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูง[6]
- น้ำมันงาขี้ม้อน มีโอเมกา3 สูงถึงร้อยละ 56 และเป็นโอเมกา 6 อีกร้อยละ 23 โดยมีข้อมูลที่ระบุว่างาขี้ม้อนเป็นพืชเพียงชนิดเดียวที่มีโอเมกา 3 และยังมีปริมาณของโอเมกา 3 มากกว่าน้ำมันปลาจากปลาทะเลน้ำลึกหลายเท่าตัว เพราะปลาแซลมอนอบขนาด 85.05 กรัมจะมีโอเมกา 3 เพียง 2 มิลลิกรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 2.35 เท่านั้น โดยจากการสุ่มตัวอย่างงาขี้ม้อนที่กำลังพัฒนาพันธุ์จำนวน 4 สายพันธุ์ ไปที่ห้องปฏิบัติการเพื่อทำการวิเคราะห์ปริมาณน้ำมัน พบว่ามีปริมาณน้ำมันรวม 43-44% และเป็นโอเมกา 3 11-15% ส่วนเมล็ดงาขี้ม้อนสีขาวขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำมันรวม 43.1% เป็นโอเมกา 3 15.01%, เมล็ดงาขี้ม้อนสีน้ำตาลเข้มขนาดเล็กมีปริมาณน้ำมันรวม 52.02% เป็นโอเมกา 3 11.08%, เมล็ดงาขี้ม้อนสีเทาอ่อนขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำมันรวมมากที่สุด 55.83% เป็นโอเมกา 3 12.73% ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแหล่งที่ปลูกหรือสายพันธุ์ที่ปลูก[3]
- สารสกัดสำคัญในกลุ่ม Polyphenol ที่ได้จากใบงาขี้ม้อนที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ Rosmarinic acid ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านการแพ้ได้ดี และได้พัฒนาเป็นเจลจากสารสกัดต้นงาขี้ม้อนเพื่อเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคผิวหนังอักเสบและโรคภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังมีสารสำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ Luteolin ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและยับยั้งเซลล์มะเร็ง[3]
- มีการใช้น้ำมันจากเมล็ดรูปแบบของน้ำสลัดหรือมายองเนส เพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้และอาการหอบหืดในผู้ใหญ่ โดยการรับประทาน้ำมันจากเมล็ดวันละ 10-20 กรัม เป็นระยะเวลา 2-4 สัปดาห์[7]
- ห้ามใช้น้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนกับหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และในผู้ที่แพ้งาขี้ม้อน[7]
ประโยชน์ของงาขี้ม้อน
- ใบงาขี้ม้อนสามารถใช้รับประทานเป็นผักสดได้ โดยนำมาห่อข้าว เนื้อย่าง หมูย่าง ห่ออาหารประเภทเมี่ยงปลา หรือใช้เป็นผักแนม หรือใช้รับประทานร่วมกับอาหารประเภทยำ ก็จะได้กลิ่นหอม รสซ่าคล้ายรสมินต์ และใช้ใส่ในซุปกระดูกหมู เป็นต้น
- เมล็ดนำไปคั่วแล้วตำ ใช้รับประทานโดยการนำไปคลุกกับข้าวเหนียว หรือจะนำเมล็ดไปคั่วใส่ในน้ำพริก หรือใช้ตำแล้วคลุกกับข้าวเหนียวรับประทาน หรือจะนำไปคั่วแล้วตำผสมกับข้าวเหนียวผสมเกลือ หรือใช้ทำขนมก็ได้ (เรียกว่าข้าวหนุกงา)[2]
- ใบงาขี้ม้อนเป็นอาหารราคาแพงของเกาหลี นอกจากจะสกัดเอาน้ำมันจากเมล็ดแล้วยังสามารถสกัดเอาน้ำมันจากใบสดได้อีกด้วย โดยน้ำมันที่สกัดได้จากใบสดสามารถใช้เป็นน้ำมันหอมระเหย (Volatile Oil) ที่เป็นสารประเภท Aldehyde ที่เรียกว่า Perilla aldehyde[3]
- ใบและยอดอ่อนใช้แต่งรสอาหารได้ และในญี่ปุ่นจะใช้เป็นสารแต่งรสชาติ Isomoer ของ Perrilla aldehyde ใช้เป็นสารแต่งกลิ่นอาหาร[2],[3]
- น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากใบงาขี้ม้อนสดมีราคาถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันกุหลาบ และยังมีประสิทธิภาพที่สามารถนำมาใช้ทดแทนน้ำมันหอมระเหยจากกุหลาบในอุตสาหกรรมเครื่องหอมอีกด้วย[3]
- น้ำมันหอมระเหยจากใบสดสามารถใช้ลดริ้วรอยบนใบหน้าและบำรุงผิวหน้าได้[3]
- น้ำมันสกัดจากเมล็ดสามารถนำมาใช้เป็นอาหารและใช้ทำยาได้[2],[3]
- น้ำมันงาขี้ม้อนเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยโอเมกา 3 และโอเมกา 6 ซึ่งช่วยบำรุงสมอง และยังเป็นพืชเพียงชนิดเดียวที่มีโอเมก้า และปริมาณของโอเมกา 3 มากกว่าน้ำมันปลาจากปลาทะเลน้ำลึกหลายเท่าตัว[3]
- งาขี้ม้อนอุดมไปด้วยวิตามินบี ธาตุฟอสฟอรัส และธาตุแคลเซียมสูงกว่าพืชผักทั่วไปหลายเท่านัก โดยมีปริมาณแคลเซียมประมาณ 410-485 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม (คนทั่วไปต้องการแคลเซียมวันละ 1,000 มิลลิกรัม)[3]
- งาขี้ม้อนยังมีสารเซซามอล (Sesamol) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็งและช่วยทำให้ร่างกายแก่ช้าลงอีกด้วย[3],[4]
- งาขี้ม้อนมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง โดยกรดชนิดนี้มีประโยชน์อยู่หลายอย่าง เช่น ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยควบคุมระดับคอเลสตอรอลไม่ให้มีมากจนเกินไป ช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดแข็งตัว ป้องกันโรคหัวใจและโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดบางชนิด และยังช่วยแก้อาการไม่สบายต่าง ๆ ที่เกิดจากระบบประสาท เช่น อาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เมื่อยสายตา อ่อนเปลี้ยเพลียแรง เป็นเหน็บชา มีอาการปวดเส้นตามตัว แขน หรือขา[3],[4]
- ปัจจุบันมีสินค้าแปรรูปจากงาขี้ม้อนหลายรูปแบบ เช่น ขนมงา งาคั่ว งาขี้ม้อนแผ่น ข้าวหลามงาขี้ม้อน คุกกี้งาขี้ม้อน ชางาขี้ม้อนป่น รวมไปถึงเครื่องสำอางบำรุงผิว เป็นต้น[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. “งาขี้ม้อน”. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 163.
- หนังสือสมุนไพรไทย ตอนที่ 6. “งาขี้ม้อน”. (ก่องกานดา ชยามฤต).
- จดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่การวิจัยและพัฒนาการเกษตร, กรมวิชาการเกษตร. “งาม้อนพืชวิเศษสุดให้โอเมก้า 3 ทดแทนปลาทะเลน้ำลึก”. (พรรณผกา รัตนโกศล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: it.doa.go.th/pibai/. [21 ก.พ. 2014].
- .อาหารพื้นบ้านล้านนา, กรมวิชาการเกษตร. “งาขี้ม้อน”. อ้างอิงใน: เว็บไซต์โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: library.cmu.ac.th/ntic/lannafood../. [21 ก.พ. 2014].
- สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร, กรมส่งเสริมการเกษตร. “งาขี้ม้อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.agriman.doae.go.th. [21 ก.พ. 2014].
- หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. “งาขี้ม้อน”. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). หน้า 78-79.
- หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “การใช้น้ำมันงาม้อนหรืองาหอม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [21 ก.พ. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Foggy Forest, mingiweng, Nemo’s great uncle, 帝都水果, 阿橋花譜 KHQ Flowers, Eric Hunt.)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)