ค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ (Urine specific gravity หรือ Sp.Gr.)

ค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ (Urine specific gravity หรือ Sp.Gr.)

ความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ

ค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ (ภาษาอังกฤษ : Urine specific gravity หรือ Specific gravity หรือเรียกอย่างย่อ ๆ ว่า Sp.Gr. หรือ SG) คือ ค่าความหนาแน่นของน้ำปัสสาวะเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำบริสุทธิ์ในอัตราส่วนที่เท่ากัน (ถ้าปัสสาวะไม่มีสารเคมีใด ๆ ละลายอยู่เลย จะมีค่าความถ่วงจำเพาะ = 1.000 แต่ในความเป็นจริงนั้นเป็นไปได้ยากมาก) โดยค่านี้จะเปลี่ยนแปลงตามปริมาณน้ำที่ดื่ม ถ้าดื่มน้ำมากค่าก็จะต่ำ ถ้าดื่มน้ำน้อยหรือขาดน้ำค่านี้ก็จะสูงขึ้น (ปัสสาวะมีความเข้มข้นขึ้น)

การตรวจหาค่าความถ่วงจำเพาะเป็นการตรวจอย่างหนึ่งของการตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) ในส่วนของการตรวจวิเคราะห์ทางเคมี (Chemical examination) ซึ่งจะทำให้แพทย์ประเมินความเข้มข้นของปัสสาวะได้ (ปัสสาวะที่มีความเข้มข้นสูงก็จะมีโอกาสตรวจพบสารเคมีชนิดต่าง ๆ ได้มาก ส่วนปัสสาวะที่มีความเจือจางก็จะมีโอกาสตรวจพบสารเคมีต่าง ๆ ได้น้อย) และยังมีประโยชน์ต่อการวัดความสามารถของไตในการควบคุมความเข้นของปัสสาวะที่มีสารต่าง ๆ ซึ่งไตขับออกมา โดยเฉพาะยูเรีย โซเดียม คลอไรด์ ที่พบได้มากในปัสสาวะ หรือเป็นการตรวจวัดความสามารถในการดูดซึมกลับของท่อไต ซึ่งดูดซึมสารต่าง ๆ รวมทั้งน้ำ

นอกจากนี้ ในทางอาชีวอนามัย หากต้องมีการส่งตัวอย่างปัสสาวะนั้นไปทำการตรวจหาระดับของสารเคมีทางอุตสาหกรรมในร่างกายคนทำงาน หรือที่เรียกว่าการตรวจหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarker) การตรวจนี้ก็ถือว่ามีความสำคัญ เพราะตัวอย่างปัสสาวะที่จะนำไปตรวจหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพได้จะต้องมีค่าความถ่วงจำเพาะอยู่ในช่วงมากกว่า 1.010 และน้อยกว่า 1.030 เท่านั้น

ค่าปกติของ Sp.Gr.

ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ

  • ค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะที่ปกติ คือ 1.003 – 1.030 (โดยเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 1.010 – 1.025)

หมายเหตุ : ค่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทั้งวัน โดยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ดื่ม อาหารที่รับประทาน อุณหภูมิและการทำกิจกรรมต่าง ๆ และโดยปกติแล้วจะมีค่าสูงสุดในปัสสาวะที่ถ่ายครั้งในตอนเช้า ซึ่งมักจะสูงกว่า 1.020 (เพราะในเวลากลางคืนปัสสาวะจะมีปริมาตรน้อยกว่าตอนกลางวัน จึงมีความถ่วงจำเพาะมากกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ) ดังนั้น ปัสสาวะที่ถ่ายแต่ละครั้งจะมีค่าความถ่วงจำเพาะที่แตกต่างกันได้มากตั้งแต่ 1.003 – 1.030 แต่ในรายที่ตรวจพบค่าความถ่วงจำเพาะปัสสาวะที่คงที่ตลอดเวลา เช่น ตรวจเวลาไหนของวันก็ได้ไม่เกิน 1.005 นั่นอาจแสดงว่ากลไกการควบคุมความเข้มข้นของปัสสาวะของไตเสื่อมสมรรถภาพ

ค่า Sp.Gr. ที่ต่ำกว่าปกติ

ค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะที่ต่ำกว่าปกติ หมายถึง การมีสารต่าง ๆ ในปัสสาวะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณของน้ำปัสสาวะ (ปัสสาวะเจือจาง) โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • การดื่มน้ำมากเกินไป
  • โรคเบาจืด (Diabetes insipidus) เนื่องจากขาดฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone) จึงทำให้ไตไม่สามารถทำให้ปัสสาวะเข้มข้นได้
  • เบาจืดเนื่องจากไต (Nephrogenic diabetes insipidus)
  • โรคไตอักเสบ
  • โรคไตเรื้อรัง
  • ภาวะที่มีการทำลายของท่อหน่วยไตอย่างเฉียบพลัน (Acute tubular necrosis)
  • โรคกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)
  • ต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ (Adrenal insufficiency)
  • การใช้ยาขับปัสสาวะ (Diuretic use)

ค่า Sp.Gr ที่สูงกว่าปกติ

ค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะที่สูงกว่าปกติ หมายถึง ปัสสาวะมีความเข้มข้นจากการมีสารต่าง ๆ ในปัสสาวะสูงเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณของน้ำปัสสาวะ (ปัสสาวะเข้มข้น) โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) การดื่มน้ำน้อย หรือถูกจำกัดการดื่มน้ำ
  • ภาวะที่มีการสูญเสียน้ำ เช่น เหงื่อออกมาก มีไข้ อาเจียนรุนแรง หรือท้องร่วงท้องเสียรุนแรง
  • ภาวะมีน้ำตาลปะปนอยู่มากในปัสสาวะ (โรคเบาหวาน)
  • กลุ่มอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะหรือโรคไตเนฟโฟรติค (Nephrotic syndrome)
  • โรคหลอดเลือดไตตีบ
  • โรคหลอดเลือดฝอยที่ไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute glomerulonephritis)
  • ภาวะตับวาย (Liver failure)
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) ที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง
  • ภาวะช็อก (Shock)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด