ค่าความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ (urine pH หรือ pH) คืออะไร ?

ค่าความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ (urine pH หรือ pH) คืออะไร ?

ค่า pH ในปัสสาวะ

ค่าความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ หรือ ค่าพีเอชในปัสสาวะ (ภาษาอังกฤษ : pH ย่อมาจาก Potential of Hydrogen ion) คือ การตรวจหาว่าตัวอย่างปัสสาวะนั้นมีความเป็นกรดหรือด่างมากน้อยเพียงใด และช่วยประเมินการทำงานของไตในการควบคุมความเป็นกรดเป็นด่างของเลือดและน้ำภายนอกเซลล์

โดยทั่วไปปัสสาวะจะค่อนข้างมีความเป็นกรดอยู่เล็กน้อย (pH ประมาณ 6.0) แต่ก็อาจมีค่าเป็นกลางหรือเป็นด่างเล็กน้อยก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ดื่ม ประเภทอาหาร และยาที่บริโภค โดยช่วงอ้างอิงของค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของปัสสาวะนั้นจะอยู่ที่ 4.6 – 8.0 ส่วนสาเหตุที่ทำให้ปัสสาวะปกติมีความเป็นกรดเล็กน้อยนั้นก็เนื่องมาจากร่างกายขับไฮโดรเจนไออน (H+ ion) ออกมาทางน้ำปัสสาวะเพื่อรักษาสมดุลของกรดเป็นด่างในร่างกายนั่นเอง

ค่า pH ปกติ

ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ

  • ค่าความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะที่ปกติ เท่ากับ 4.6 – 8.0 (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6.0)

ผลตรวจค่าพีเอชของปัสสาวะ
IMAGE SOURCE : aomy12.blogspot.com

ค่า pH ที่ต่ำกว่าปกติ

ค่าความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะที่ต่ำกว่าปกติ (ปัสสาวะมีความเป็นกรดสูง) อาจเกิดได้จาก

  • การบริโภคโปรตีน (เนื้อสัตว์) มากจนเกินไป รวมถึงอาหารที่มีความเป็นกรด เช่น แครนเบอร์รี่ (Cranberry)
  • ภาวะขาดน้ำรุนแรง (Dehydration) หรือท้องเสียรุนแรง (Diarrhea)
  • ภาวะอดอาหาร (Starvation) หรือโรคขาดอาหาร
  • การดื่มแอลกอฮอล์มาก
  • การกินยาบางชนิด เช่น การกินยาแอสไพรินเกินขนาด
  • ภาวะเลือดเป็นกรดจากระบบเมตาบอลิก (Metabolic acidosis)
  • ภาวะเลือดเป็นกรดจากระบบหายใจ (Respiratory acidosis)
  • โรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ (Uncontrolled diabetes mellitus)
  • การติดเชื้อ
  • โรคระบบทางเดินหายใจรุนแรงที่ผู้ป่วยหายใจไม่สะดวกจนก่อการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด เช่น โรคถุงลมปอดโป่งพอง

ค่า pH ที่สูงกว่าปกติ

ค่าความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะที่สูงกว่าปกติ (ปัสสาวะมีความเป็นด่างสูง) อาจเกิดได้จาก

  • การกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ (Low carbohydrate) และการกินผักมาก ๆ เช่น คนที่กินเจ คนที่เป็นมังสวิรัติ (Vegetarian) รวมถึงการบริโภคอาหารที่มีซิเตรต (Citrate) สูง อย่างผลไม้กลุ่มซิตรัส (Citrus fruit) เช่น ส้ม ส้มโอ มะนาว จะทำให้ปัสสาวะมีความเป็นด่างมากขึ้น
  • อาการอาเจียนรุนแรง
  • โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
  • โรคท่อปัสสาวะอักเสบ
  • การติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ (Bacterial urinary tract infection)
  • ทางเดินปัสสาวะอุดตัน (Urinary tract obstruction)
  • โรคท่อหน่วยไตมีความผิดปกติในการขับกรด (Renal tubular acidosis) โดยหากเป็นชนิด Type I (Distal) คือ ท่อหน่วยไตไม่สามารถขับไฮโดนเจนไออน (H+ ion) ได้ เลือดจะมีความเป็นกรดรุนแรง แต่ปัสสาวะจะมีความเป็นด่าง (แต่หากเป็นชนิด Type II (Proximal) คือ ท่อหน่วยไตไม่สามารถดูดซึมไบคาร์บอเนต (HCO3-) กลับเข้าสู่กระแสเลือด เลือดจะมีความเป็นกรดและปัสสาวะจะมีความเป็นด่างในช่วงแรก แต่ในระยะต่อมาปัสสาวะอาจจะเป็นกรดได้)
  • การมีภาวะหรือปัญหาทางอารมณ์จิตใจที่ส่งผลให้เกิดอาการหายใจคล้ายอาการหอบจากโรคหืด หรือที่เรียกว่าโรคหอบจากอารมณ์ หรือโรคหายใจเกิน (Hyperventilation syndrome)
  • การได้รับยาบางชนิด หรือได้รับพิษจากยากลุ่มซาลิซิเลต (Salicylate poisoning)

ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของปัสสาวะจะนอกจากจะใช้บ่งชี้ความผิดปกติของภาวะร่างกายและอาหารที่กินได้แล้ว ค่านี้ยังมีความสำคัญในเรื่องการทำให้เกิดนิ่วด้วย เพราะสารเคมีในปัสสาวะบางอย่างจะตกตะกอนเป็นผลึก (Crystal) และสะสมจนเกิดเป็นนิ่วได้ดีในสภาวะที่ปัสสาวะมีความเป็นกรดเป็นด่างอย่างเหมาะสม เช่น ผลึกแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate), แคลเซียมฟอสเฟต (Calcium phosphate), แมกนีเซียม-แอมโมเนียม ฟอสเฟต (Magnesium-ammonium phosphate) และนิ่วเขากวาง (Staghorn calculi) จะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อปัสสาวะมีความเป็นด่าง (Alkaline) ส่วนผลึกกรดยูริก (Uric) และนิ่วซิสทีน (Cystine calculi) จะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อปัสสาวะมีความเป็นกรด (Acidic)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด