คันทรง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นคันทรง 20 ข้อ ! (ผักก้านตรง)

คันทรง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นคันทรง 20 ข้อ ! (ผักก้านตรง)

คันทรง

คันทรง ชื่อวิทยาศาสตร์ Colubrina asiatica (L.) Brongn.[1] จัดอยู่ในวงศ์พุทรา (RHAMNACEAE)[1]

สมุนไพรคันทรง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ก้านตรง (สุรินทร์), ก้านถึง ก้านเถิ่ง ก้านเถิง ผักก้านเถิง (ภาคเหนือ), คันซง คันซุง คันชุง คันทรง (ภาคกลาง), กะทรง ทรง (ภาคใต้), เพลโพเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ผักหวานต้น (ลั้วะ), ก้านเถง ผักก้านตรง ผักก้านถึง ผักคันทรง เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[5],[6]

ลักษณะของคันทรง

  • ต้นคันทรง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลางกึ่งไม้เลื้อย ลำต้นตั้งตรงและมีความสูงของต้นประมาณ 2-3 เมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 1-9 เมตร แตกกิ่งก้านมากตั้งแต่โคนต้น กิ่งก้านมีขนาดเล็กกลมสีเขียว กิ่งก้านสีเขียวเข้มเป็นมัน เปลือกต้นเป็นสีเทา มีรอยแตกเป็นร่องตื้น ๆ ถี่ ๆ และตามลำต้นจะมีตาที่ทิ้งใบเป็นตุ่มห่าง ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและวิธีการปักชำลำต้น มักขึ้นเองตามป่าราบ ป่าดงดิบ ป่าละเมาะ หรือที่รกร้างข้างทางทั่วไป โดยจะพบได้มากทางภาคเหนือ บ้างว่าพบได้มากตามชายทะเลหรือชายหาดหินปูน[1],[4],[6]

ต้นคันทรง

รูปคันทรง

  • ใบคันทรง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ รูปไข่กว้าง หรือรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือแหลม ส่วนขอบใบหยักมนแกมจักเป็นฟันเลื่อยละเอียด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร แผ่นใบบาง หลังใบเรียบเป็นมันและเป็นสีเขียวเข้มกว่าท้องใบ ส่วนท้องใบเรียบมีขนที่เส้นใบ ผิวใบทั้งสองด้านมันเงา โดยมีเส้นใบ 3 เส้นออกจากโคนใบ เส้นใบข้างอีก 3-4 เส้นออกจากเส้นกลางใบ ก้านใบยาวประมาณ 1-1.6 เซนติเมตร มีหูใบขนาดเล็กยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร[1],[4],[6]

ใบคันทรง

  • ดอกคันทรง ออกดอกเป็นช่อกระจุกเล็ก ๆ ตามซอกใบตามกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านเรียงเป็นแถวเป็นช่อเล็ก ๆ ในแต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 8-14 ดอก ดอกย่อยมีขนาดเล็ก เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองอ่อนปนเขียว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ในดอกย่อยจะประกอบไปด้วยดอกสมบูรณ์เพศประมาณ 2-3 ดอก และดอกเพศผู้อีกหลายดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปจาน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้าน กลีบดอกเป็นสีเหลืองแกมเขียวมี 5 กลีบ ปลายกลีบดอกแหลม ส่วนโคนกลีบดอกติดกันที่ฐานดอก จานรองสีเหลืองส้ม มีรังไข่ประมาณ 2-3 ห้องหลอมรวมกับจานรอง ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวสดมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนก้านดอกสั้น มีความยาวประมาณ 0.2-0.3 เซนติเมตร โดยจะออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม[1],[4],[6]

ดอกคันทรง

ดอกก้านตรง

  • ผลคันทรง ผลเป็นผลเดี่ยว ลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือกลมแป้น ที่ขั้วผลมีวงกลีบเลี้ยงสีเขียวติดอยู่ เรียงห้อยลงเป็นแถว ๆ ตามกิ่ง ปลายผลเว้าเข้าแบ่งออกเป็นพู 3 พู ผลเป็นสีเขียวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อผลแก่ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-0.9 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน มีก้านผลที่ยาวประมาณ 0.4-0.6 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวน 3 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะแบนและเป็นสีดำหรือเป็นสีน้ำตาลเทา มีขนาด 0.5-0.6 x 0.4-0.5 เซนติเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม[1],[4],[5],[6]

ลูกคันทรงผลคันทรง

สรรพคุณของคันทรง

  1. ใบมีรสขม ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ)[6]
  2. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (น้ำมันจากเมล็ด)[6]
  3. รากมีสรรพคุณเป็นยาเย็น ช่วยแก้พิษร้อนถอนพิษไข้ โดยนิยมใช้รากคันทรงร่วมกับรากย่านางและรากผักหวานบ้าน เพื่อใช้เป็นยาหลักในตำรับยาแก้ไข้ แก้ไข้พิษ ไข้ออกตุ่มต่าง ๆ ส่วนน้ำมันจากเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ด้วยเช่นกัน (ราก, น้ำมันจากเมล็ด)[6],[7]
  4. รากนำมาฝนกับน้ำมะพร้าวใช้กินแก้ตานขโมยในเด็ก (โรคพยาธิในเด็กอายุระหว่าง 5-13 ปี เป็นโรคที่ทำให้เด็กมีอาการซูบผอม อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย) (ราก)[3],[6]
  5. รากใช้ดินแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ราก)[3],[6]
  1. ทั้งใบและผลมีสารซาโปนิน มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน การบริโภคมากเกินไปอาจทำให้เกิดอันตรายได้ และสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานทั้งใบและผล (ผล, ใบ)[6]
  2. ในประเทศมาเลเซียจะใช้ต้นนำมาต้มรับประทานเพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคกระเพาะอาหาร (ต้น)[6]
  3. ผลทำให้แท้งบุตร สำหรับสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานทั้งผลและใบ (ผล)[6]
  4. รากใช้ฝนกับน้ำมะพร้าวกินเป็นยาแก้บวม (ราก)[3],[6]
  5. เปลือกต้น ราก หรือใบมีรสฝาดเฝื่อน ช่วยแก้อาการบวมน้ำ (ใบ, เปลือกต้น, ราก)[1]
  6. เปลือกต้นและใบใช้ต้มอาบ จะช่วยแก้อาการบวมทั้งตัวเนื่องจากไตและหัวใจพิการ (เปลือกต้นและใบ)[1],[2],[4],[6],[7]
  7. ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (ใบ, เปลือกต้น, ราก)[1],[4],[6]
  8. ใบนำมาปรุงเป็นยาต้มใช้ทาบรรเทาอาการระคายเคืองที่ผิว อาการแพ้ ผื่นคัน โรคผิวหนังอักเสบ ฝี และช่วยรักษาโรคผิวหนังได้บางชนิด (ใบ)[6]
  9. เปลือกต้นและใบใช้ต้มกับน้ำอาบจะช่วยแก้เม็ดผื่นคันตามตัว (เปลือกต้นและใบ)[3],[6]
  10. ช่วยแก้อาการชา ช่วยบรรเทาอาการปวด แก้อาการปวดตามร่างกาย (น้ำมันจากเมล็ด)[6]
  11. เปลือกต้นและใบใช้ต้มอาบ ช่วยแก้อาการเหน็บชา (เปลือกต้นและใบ)[1],[2],[4],[6]
  12. น้ำมันจากเมล็ดคันทรงใช้รักษาโรคข้อรูมาติกได้ (น้ำมันจากเมล็ด)[6]

ประโยชน์ของคันทรง

  • ใบอ่อนและยอดอ่อนนำมานึ่งหรือต้มให้สุก ใช้รับประทานเป็นผักจิ้มร่วมกับน้ำพริก น้ำพริกปลาร้า ตาแดง หรือใช้เป็นผักรองห่อหมก และยังนำมาใส่ในแกงแคร่วมกับผักอื่น ๆ ใช้ทำแกงกับปลาย่าง ใส่ในแกงขนุน ใช้ทำแกงผักคันทรงกุ้งสด นำมาทำแกงส้ม แกงเลี้ยง หรือนำมาผัดกับน้ำมัน[4],[5],[7]
  • ชาวฮาวายจะใช้ใบแทนสบู่ (ไม่ได้ระบุว่าใช้อย่างไร)[6]
  • ผลใช้เป็นยาเบื่อปลา[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “คันทรง (Khan Song)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 78.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “คัดเค้า”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 179.
  3. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “คันทรง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [17 ก.พ. 2014].
  4. หนังสือผักพื้นบ้านภาคเหนือ.  “ผักคันทรง”.  (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 2542)
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “คันทรง, ก้านเถง, ผักก้านถึง”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [17 ก.พ. 2014].
  6. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “คันทรง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [17 ก.พ. 2014].
  7. วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี.  “ผักก้านตรง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: rspg.svc.ac.th.  [17 ก.พ. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, S. glenum, Ahmad Fuad Morad, aussieplants, D.Eickhoff, J. B. Friday, Lauren Gutierrez)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด