ควินิน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นควินิน 12 ข้อ !

ควินิน

ควินิน ชื่อสามัญ Quinine[2] อ่านได้หลายอย่าง คือ ควินนีน, ควินไนน์, ไควไนน์ (แต่ไม่อ่านว่า ไควนีน) ส่วนเยอรมันเขียนว่า Chinin และอ่านว่า คีนิน[4]

ควินิน ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinchona pubescens Vahl (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cinchona succirubra Pav. ex Klotzsch) (ควินินเปลือกแดง)[2], Cinchona calisaya Wedd. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cinchona ledgeriana (Howard) Bern.Moens ex Trimen) (ควินินเปลือกเหลือง)[2] จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]

สมุนไพรควินิน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ซิงโคนา (ทั่วไป), กิมโกยนับ กิมโกยเล็ก (จีน), จินจีเล่อ จินจีน่า (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของควินิน

  • ต้นควินิน จัดเป็นไม้ยืนต้นเขียวตลอดปี มีความสูงของต้นได้ประมาณ 8-30 เมตร ลำต้นตั้งตรงถึง 6 เมตร จึงมีการแตกกิ่งก้าน เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลค่อนข้างเรียบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้กิ่งชำหรือเมล็ด แต่ถ้าปลูกเป็นจำนวนมากจะนิยมใช้เมล็ดปลูก เจริญงอกงามได้ในพื้นที่ความสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 3,000-9,000 ฟุต มีถิ่นกำเนิดในบริเวณเทือกเขาแอนดีสของเอกวาดอร์และเปรู และต่อมาชาววิลันดาได้นำพันธุ์ไม้ชนิดนี้ไปปลูกในประเทศอินโดนีเซีย อังกฤษ อินเดีย และศรีลังกา[1],[2],[3]

ต้นควินิน

รูปควินิน

  • ใบควินิน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ออกหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปค่อนข้างกลม ปลายใบแหลมสั้น โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบยาวประมาณ 30 เซนติเมตร หลังใบเรียบ สีเขียวเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีเขียวอ่อนกว่า หรือเป็นสีเขียวอ่อนปนแดงเล็กน้อย มักมีสีแดงและมีขนสั้น ๆ ตามเส้นใบใหญ่ ก้านใบสั้นเป็นสีแดง มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ ใบอ่อนเป็นสีแดง[1],[2],[3]

ใบควินิน

  • ดอกควินิน ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกเป็นสีขาวหรือสีชมพู กลีบเลี้ยงดอกติดกันเป็นหลอดสั้น ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ กลีบดอกติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 2.4-3.6 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปสามเหลี่ยม ตามกลีบดอกมีขนสีขาว ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 5 อัน จะติดกับหลอดกลีบดอก ส่วนก้านเกสรเพศเมียมีอยู่ 1 อัน และยาวพันอยู่ติดกับหลอดดอก ส่วนปลายแยกเป็น 2 แฉก ภายในรังไข่นั้นแบ่งออกเป็น 2 ห้อง[1],[2],[3]

Quinine

ดอกควินิน

  • ผลควินิน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระสวย รูปกลมรี หรือรูปไข่ยาว มีความยาวประมาณ 2.5-3.2 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอมน้ำตาล พอแห้งแล้วจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในมีเมล็ดประมาณ 25 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดจะเป็นแผ่นบาง ๆ สีน้ำตาลแดง[1],[2]

ผลควินิน

ผลควินินแห้ง

เมล็ดควินิน

หมายเหตุ : นอกจากควินินชนิด Cinchona succirubra Pav. แล้ว ยังมีควินินอีก 2 ชนิด คือ ควินินชนิด Cinchona Ledgeriana Moens ซึ่งต้นจะมีลักษณะคล้ายกันแต่จะมีความสูงน้อยกว่า หรือสูงได้ประมาณ 10 เมตร ใบจะเป็นรูปไข่ยาวและแคบกว่าชนิดแรก ใบเรียบเป็นมันไม่มีขน ส่วนเปลือกต้นจะเป็นสีเหลือง และควินินชนิด Cinchona ofcinalis L. ซึ่งเป็นควินินชนิดที่พบได้ในประเทศจีน มีเปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล ซึ่งควินินทั้ง 3 ชนิดนี้สามารถนำมาใช้แทนกันได้[3]

สรรพคุณของควินิน

  1. ใช้เป็นยาขมช่วยเจริญอาหาร (เปลือกต้น)[2]
  2. เปลือกต้นมีรสเผ็ดขม เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (เปลือกต้น)[3]
  3. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย ด้วยการใช้เปลือกแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินหรือบดเป็นผงผสมกิน จะมีรสฝาด ส่วนอีกตำรับให้ใช้เปลือกแห้งประมาณ 3 กรัม (สำหรับคนแข็งแรงให้ใช้เปลือกต้น 6 กรัม) ผสมกับเปลือกอบเชยประมาณ 1.5 กรัม แล้วนำมาต้มกับน้ำกิน (เปลือกต้น)[1],[2],[3],[6]
  1. ใช้แก้อาการเมาค้าง ด้วยการใช้เปลือกต้นแห้งประมาณ 3 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (เปลือกต้น)[2],[3]
  2. ใช้เป็นยาแก้พิษสุราเรื้อรัง ด้วยการใช้เปลือกต้นประมาณ 5-8 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (เปลือกต้น)[3]
  3. ใช้เป็นยาแก้ปากเจ็บ คอเจ็บ ด้วยการใช้เปลือกต้นแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำแล้วใช้อมบ้วนปากกลั้วคอ 2 เวลา เช้าและเย็น (เปลือกต้น)[2]
  4. ใช้เป็นยารักษาหัวใจเต้นเร็ว (เปลือกต้น)[6]
  5. ใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย (เปลือกต้น)[3]

ขนาดและวิธีใช้ : ให้ใช้เปลือกต้นประมาณ 3-6 กรัม นำมาบดเป็นผงรับประทาน หรือใช้ประมาณ 3-8 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน[3]

ข้อห้ามใช้ : ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้กับคนที่เป็นไข้มาลาเรียที่มีอาการปัสสาวะเป็นเลือด หรือปัสสาวะเป็นสีดำ สตรีมีครรภ์ และคนที่เป็นโรคหัวใจขั้นรุนแรง[2],[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของควินิน

  • เปลือกต้น เปลือกราก และเมล็ด จะมีสารอัลคาลอยด์ประมาณ 26 ชนิด เรียกรวม ๆ ว่า Cinchona alkaloids พบสาร Quinine, Cinchonine, Cinchonidine, Quinovinm Quinidine, Quinic acid, Cinchotannic acid เป็นต้น โดยอัลคาลอยด์ที่มีฤทธิ์สำคัญที่สุดคือ ควินิน (Quinine) รองลงมา ได้แก่ Cinchonine, Cinchonidine, Quinidine ส่วน Tataquin ที่เป็นอัลคาลอยด์รวมจากเปลือกต้นจะประกอบด้วยอัลคาลอยด์ที่ตกผลึกได้ไม่น้อยกว่า 70% และมีควินินไม่น้อยกว่า 20% ในส่วนของใบนั้นจะมีอัลคาลอยด์รวมประมาณ 1%[2],[3]
  • ควินินมีฤทธิ์รักษาโรคไข้มาลาเรียและระงับอาการเจ็บไข้หนาวสั่นได้อย่างรวดเร็ว ในการฆ่าเชื้อมาลาเรียนั้นจะฆ่าได้เฉพาะเชื้อที่อยู่ในเลือดเท่านั้น แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อมาลาเรียที่อยู่ในตับได้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีฤทธิ์กดกล้ามเนื้อหัวใจ และทำให้กล้ามเนื้อมดลูกสตรีมีครรภ์หดตัว[2]
  • จากการทดลองไม่ว่าจะกับคนหรือหนู ก็พบว่าควินินมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมาลาเรียได้ดี แต่การรักษาไข้มาลาเรียของควินินนั้น พบว่าการรักษาโรคมาลาเรียที่แสดงอาการวันเว้นวัน จะดีกว่าการรักษาโรคมาลาเรียที่แสดงอาการ 3-4 วันแล้วหายไปแล้วก็กำเริบขึ้นมาใหม่ ถ้าจะใช้รักษาโรคมาลาเรียเพื่อให้หายขาดหรือเพื่อไม่ให้โรคระบาด ควรใช้สารที่สกัดจากเปลือกซึ่งจะมีฤทธิ์มากกว่า[3]
  • สารอัลคาลอยด์ควินินใช้บำบัดรักษาโรคมาลาเรียที่ปลอดภัยกว่าการใช้ยาสังเคราะห์ไม่เป็นพิษร้ายแรง แต่ถ้าใช้มากเกินขนาดจะทำให้เกิดอาการหูอื้อขั้นร้ายแรงถึงขนาดได้ยินเสียงกระดิ่งแบบประสาทหลอน ซึ่งเรียกอาการนี้ว่า ซิงโคนิซึ่ม (Cinchonism)[4]
  • สารอัลคาลอยด์ควินิดีน (Quinidine) มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจคลาย[4]
  • ควินินมีฤทธิ์ในการควบคุมการทำงานของเซลล์ที่กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้การบีบตัวของหัวใจช้าลง และในทางคลินิกนั้น จะใช้ควินินกินเป็นยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดปกติ[2]
  • จากการทดลองกับมดลูกของหนูตั้งครรภ์ พบว่าจะมีฤทธิ์กระตุ้นให้มดลูกของหนูบีบตัวเป็นจังหวะได้มากขึ้น[3]
  • ควินินมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และใช้เป็นยารักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย[2]

เปลือกควินิน

ประโยชน์ของควินิน

  1. ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบได้อร่อยดี[2]
  2. ในประเทศไทยได้มีการทำสวนป่าต้นควินินที่จังหวัดเชียงใหม่บนดอยสุเทพ และได้ตรวจพบปริมาณของอัลคาลอยด์ในเปลือกที่มีอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ เพราะต้นควินินชอบอยู่ในที่สูงจากระดับน้ำทะเลและมีฝนตกชุก เป็นพืชที่ชอบแดดรำไร ไม่ถูกแสงแดดมากเกินไป (ถ้าถูกแดดมากจะทำให้ปริมาณของสารควินินลดลง) ต้นที่มีอายุประมาณ 3-9 ปี จะให้ปริมาณของสารอัลคาลอยด์ในเปลือกสูง จึงนิยมโค่นกันในระยะนี้เพื่อขุดลากลอกเปลือกขณะยังสด ทำให้ชาวไทยได้ใช้ยาที่ได้จากธรรมชาติที่ปลอดภัยและไม่ต้องเสียดุลการค้าในการนำเข้ายาจากต่างประเทศมากนัก[2],[4]
  3. เปลือก นอกจากจะใช้ทำยาแล้วยังสามารถนำมาทำเหล้าหรือไวน์ที่มีรสขมได้อีกด้วย เช่น เหล้าเวอร์มุธ[4]
  4. ในปัจจุบันโลกมียารักษามาลาเรียที่ดีกว่าควินิน ทำให้การใช้ควินินเป็นยาบำบัดไข้มาลาเรียจึงลดลงไปมาก ถึงกระนั้นชาวอินเดียนบางคนก็ยังใช้ควินินเป็นยาบำรุง ยาทากันแดด และกันแมลงบ้าง[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “ควินิน (Khwi Nin)”.  หน้า 76.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ควินิน”.  หน้า 189-191.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ควินิน”.  หน้า 158.
  4. ไทยเกษตรศาสตร์.  “ควินิน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.  [23 ม.ค. 2015].
  5. ผู้จัดการออนไลน์.  ( สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท.).  “ประวัติความเป็นมาของควินิน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th.  [23 ม.ค. 2015].
  6. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “Cinchona succirubra Pav. ex Klotzsch”.  อ้างอิงใน : สยามไภษัชยพฤกษ์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [23 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ :  www.flickr.com (by Forest and Kim Starr, Vilseskogen, Enrique Braña, Juan Lazaro Toro Murillo), www.pharmacy.mahidol.ac.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด