ครีมกันแดด : รอบรู้เรื่อง “ครีมกันแดด” อย่างครบสูตร !

ครีมกันแดด : รอบรู้เรื่อง “ครีมกันแดด” อย่างครบสูตร !

ครีมกันแดด

เมื่อผิวของเราได้รับแสงแดด โดยเฉพาะแสงแดดที่แรงมากขึ้นทุก ๆ ปีในบ้านเรา เซลล์ผิวหนังก็จะสร้างเม็ดสีเมลานินเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำขึ้น และบางคนอาจเกิดปัญหาฝ้า กระ ตามมา ถ้าได้รับแสงแดดจัดมาก ๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการแดงหรืออาการถูกแดดเผาได้ นอกจากนี้รังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีในแสงแดดยังอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้อีกด้วย

ชนิดของรังสียูวี

แสงแดดที่แทรกชั้นบรรยากาศลงมาถึงโลกของเราได้นั้น จะมีรังสีแสงแดดที่มีผลต่อผิวหนังอย่างมาก ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ช่วงคลื่นใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ

  • ช่วงคลื่นระหว่าง 320-400 นาโนเมตร (คลื่นยาว) เราจะเรียกกันว่า รังสี UVA ซึ่งเป็นรังสีที่สามารถแทรกซอนถึงผิวชั้นลึก ๆ หรือผิวหนังชั้นล่างได้ ทำลายเนื้อเยื่อและดีเอ็นเอของเซลล์ผิว (สามารถทะลุผ่านเมฆและกระจกได้ด้วย) โดยเป็นตัวทำลายคอลลาเจนและความชุ่มชื้นของผิวหนัง ทำให้ผิวแห้งจนเกิดริ้วรอยลึกหรือผิวเหี่ยวย่น (++++), ทำให้เกิดฝ้า กระ (+++), มะเร็งผิวหนัง (++) และผิวหมองคล้ำ (+)
  • ช่วงคลื่นระหว่าง 290-320 นาโนเมตร (คลื่นกลาง) เราจะเรียกกันว่า รังสี UVB เป็นรังสีสามารถทะลุได้ถึงชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น จึงทำให้ผิวหนังแดงหรือผิวไหม้แดด ซึ่งเป็นตัวการหลักทำให้สีผิวของเราหมองคล้ำ หรือที่เราเรียกว่า “แดดเผา” (++++), เป็นมะเร็งผิวหนัง (+++), ทำให้เกิดริ้วรอย (++) และปัญหาฝ้า กระ (+)
  • ช่วงคลื่นระหว่าง 200-290 นาโนเมตร (คลื่นสั้น) เราจะเรียกกันว่า รังสี UVC ซึ่งในปัจจุบันยังส่องมาที่พื้นโลกได้ไม่มากนัก เพราะเกือบทั้งหมดถูกกรองไปแล้วโดยชั้นบรรยากาศโอโซนที่ห่อหุ้มโลกของเราอยู่ จึงทำให้ไม่มีผลิตภัณฑ์สำหรับการป้องกันรังสีชนิดนี้

ชนิดของรังสียูวี

ค่า PA ในการป้องกันรังสี UVA

PA หรือ Protection Grade of UVA เป็นค่าที่แสดงถึงคุณสมบัติในการปกป้องผิวจากรังสียูวีเอ (UVA) ส่วนเครื่องเครื่องหมาย + ที่ตามหลังนั้นคือค่าความสามารถในการปกป้องผิว โดยวัดเป็นเท่าของการเกิดผิวคล้ำดำ (Skin pigmentation) โดยค่า PA จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ระดับ ดังนี้

  • PA+ สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ 1-4 เท่าของผิวปกติ หรือป้องกันได้น้อย
  • PA++ สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ 4-8 เท่าของผิวปกติ หรือป้องกันได้ปานกลาง (ทำงานในร่ม)
  • PA+++ สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ 8-16 เท่า หรือป้องกันได้มาก (ทำงานกลางแดด)
  • PA++++ สามารถป้องกันรังสี UVA ได้ 16 เท่าขึ้นไป หรือป้องกันได้สูงมาก (ทำงานกลางแดดตลอดเวลา)

ค่าPA

ค่า PA เป็นค่าที่ประเทศญี่ปุ่นคิดขึ้น ไม่ใช่ค่าสากล ดังนั้นครีมกันแดดบางยี่ห้อของต่างประเทศจึงไม่ได้ระบุค่า PA มาให้ แต่จะบอกถึงสารที่ใส่มาซึ่งสามารถป้องกันรังสี UVA ได้ เช่น avobenzone, zinc oxide, titanium dioxide เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ค่า PA ก็ถือเป็นค่าที่มีความสำคัญไม่แพ้ค่า SPF เลยล่ะ เพราะมีผลการทดลองที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของประสิทธิภาพในการปกป้องผิวระหว่างการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF เพียงอย่างเดียว กับการทาครีมกันแดดที่มีทั้งค่า SPF และ PA ผลการทดลองพบว่า ครีมกันแดดที่มีทั้ง SPF และ PA สามารถช่วยปกป้องผิวไม่ให้คล้ำเสียได้มากกว่าครีมกันแดดที่มีค่า SPF เพียงอย่างเดียวอย่างเห็นได้ชัด (ระดับความไหม้ของผิวหนังต่างกันมาก)

ค่า SPF ในการป้องกันรังสี UVB

ค่าประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีบี (UVB) เราจะเรียกว่า SPF (Sun Protection Factor) แต่ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ “ค่า SPF ก็คือ ค่าความสามารถในการป้องกันรังสี UVB ไม่ให้เกิดอาการแดงของผิวหนัง” ซึ่งการจะคำนวณระยะเวลาในการป้องกันรังสี UVB จะต้องดูพื้นผิวของเราเป็นหลัก ซึ่งผิวแต่ละคนจะมีระยะเวลาในการป้องกันไม่เท่ากันอยู่แล้ว อย่างเช่น คนผิวขาวเมื่อตากแดดไปเพียง 10 นาที ผิวก็จะเริ่มแดง แต่อย่างคนทั่วไปที่มีผิวสองสีจะต้องใช้เวลาตากแดด 15 นาที ผิวถึงจะเริ่มแดง หรือถ้าเป็นคนผิวสีเข้มหรือผิวดำ ก็อาจจะต้องตากแดดนานถึง 30 นาที ผิวถึงจะเริ่มแดง เป็นต้น

ส่วนค่าตัวเลขหลัง SPF ที่ระบุไว้ อย่าง SPF 30 นั้นจะหมายถึง “การใช้ระยะเวลานานกว่า 30 เท่าของเวลาที่ทำให้ผิวแดงเมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่เรายังไม่ได้ทาครีมกันแดด” เช่น ถ้าเราอาบแดดในหน้าร้อนโดยไม่ได้ทาครีมกันแดดแล้วผิวจะเริ่มแดงในเวลา 10 นาที หมายความว่า SPF 30 จะสามารถป้องกันไม่ให้ผิวแดงได้นาน 300 นาที (5 ชั่วโมง) ดังนั้นหลังจาก 300 นาที ถ้าเรายังต้องโดนแสงแดดอยู่ ก็จำเป็นต้องทาครีมกันแดดซ้ำด้วยครับ แต่จากหลักการข้างต้นนี้เป็นเพียงการอธิบายถึงเวลาที่ต่อเนื่องเท่านั้น (เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย) ทำให้หลาย ๆ คนยังเข้าใจผิดคิดว่าหากถูกรังสียูวีในระยะเวลาที่น้อยกว่านี้ผิวคงไม่เป็นไร ! ทางที่ดีคุณควรคิดใหม่ว่า “แม้ปริมาณรังสียูวีที่ได้รับจะเป็นเพียงแค่ 1 ใน 15 ของระยะเวลาในการปกป้องจากครีมกันแดด แต่ก็ไม่ได้หมายความจะทำให้อิทธิพลจากรังสียูวีเป็นศูนย์

อีกทั้งตัวเลขเหล่านี้ก็เป็นตัวเลขที่ได้มาจากการคำนวณเท่าคร่าว ๆ นั้น เมื่อนำมาใช้จริง ๆ ก็อาจจะเกิดความคลาดเคลื่อนได้บ้างพอสมควร ด้วยสาเหตุหลายประการ โดยเฉพาะปริมาณของครีมกันแดดที่เราใช้ทา ซึ่งถ้าจะให้ได้รับการป้องกันของค่า SPF ตามที่ระบุไว้ในฉลาก เราก็ต้องทาครีมกันแดดมากถึง 2 มิลลิกรัมต่อเนื้อที่ผิวหนัง 1 ตารางเซนติเมตร แต่ในชีวิตจริงเรามักทากันไม่ถึงขนาดนั้นหรอกครับ ประสิทธิภาพที่บอกไว้ก็อาจจะลดลง 30-50% เช่น จากตัวเลข 5 ชั่ว ก็อาจจะเหลือแค่ 2-3 ชั่วโมง เป็นต้น

ค่าSPF

ในปัจจุบันนี้การวัดค่า SPF จากปริมาณแสงแดดที่น้อยที่สุดที่ทำให้เกิดอาการแดงที่ผิวหนัง จะเป็นการสังเกตด้วยตาเป็นหลัก จึงอาจทำให้ค่าที่วัดได้ไม่เที่ยงตรงเท่าที่ควร เพราะจากการศึกษาพบว่า ปริมาณแสงที่น้อยกว่านี้อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังและมีการทำลายเซลล์ของผิวหนังไปแล้ว ซึ่งในอนาคตอาจต้องมีการวัดการทำลายผิวหนังของแสงแดดอาการแดงที่เห็นได้ด้วยตา เช่น การดูลักษณะของเซลล์ผิวหนังที่เปลี่ยนไปจากการไหม้แดด, การดูลักษณะของเส้นใยอีลาสตินที่เปลี่ยนรูปร่าง, การลดลงของจำนวน Langerhans cell ซึ่งเป็นเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ค่า SPF ยิ่งสูงก็ยิ่งแสดงว่าครีมกันแดดนั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีได้มากขึ้นด้วย ดังนี้

  • SPF 2 ป้องกันแสงแดด UVB ได้ 50%
  • SPF 4 ป้องกันแสงแดด UVB ได้ 75%
  • SPF 6 ป้องกันแสงแดด UVB ได้ 80%
  • SPF 8 ป้องกันแสงแดด UVB ได้ 87.5%
  • SPF 10 ป้องกันแสงแดด UVB ได้ 80%
  • SPF 15 ป้องกันแสงแดด UVB ได้ 93.3%
  • SPF 20 ป้องกันแสงแดด UVB ได้ 95%
  • SPF 25 ป้องกันแสงแดด UVB ได้ 96%
  • SPF 30 ป้องกันแสงแดด UVB ได้ 96.7%
  • SPF 45 ป้องกันแสงแดด UVB ได้ 97.8%
  • SPF 50 ป้องกันแสงแดด UVB ได้ 98%

ประสิทธิภาพของค่าSPF

จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดที่ค่า SPF สูง ๆ นั้นแทบไม่มีความแตกต่างกันเลย ซึ่งอัตราการป้องกันแสงแดดจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง SPF 30 เท่านั้น และเมื่อเลยจากจุดนี้อัตราการป้องกันจะเพิ่มขึ้นอย่างเฉื่อยมาก ๆ ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องไปซื้อกันแดดที่ค่า SPF สูง ๆ มากเกินไปมาใช้

ประเภทของครีมกันแดด

  • ครีมกันแดดชนิดเคมี (Chemical sunscreen) เป็นครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่ทำหน้าที่ในการปกป้องแสงแดด ด้วยการดูดซับรังสีเข้าผิวหนังแล้วเปลี่ยนเป็นความร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้แสงผ่านลงในชั้นผิวหนังได้ (เนื้อครีมจะเป็นข้น ๆ น้ำนมเหมือนเนื้อครีมทั่วไป ซึมซับได้ง่าย) ซึ่งหลังจากโดนแดดสักพัก สารเคมีเหล่านี้ก็จะเสื่อมสภาพ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เราต้องทาครีมกันแดดทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง สารป้องกันแดดประเภทนี้บางชนิดจะดูดซับได้เฉพาะรังสี UVA หรือ UVB หรือทั้งสองอย่าง สารเคมีที่ใช้ผสมในครีมกันแดด คือ Panimate O, Bensophenone, Cinnamates, Antranilate, Homosalate และ Oxybenzene ซึ่งครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะกับคนที่มีผิวแพ้ง่าย
  • ครีมกันแดดชนิดกายภาพ (Physical sunscreen) จะมีส่วนผสมของสารที่สามารถสะท้อนรังสี UVA และ UVB ที่ตกกระทบให้ออกไปจากผิวหนังได้ ซึ่งสารในกลุ่มนี้จะมีผลระคายเคืองต่อผิวหนังน้อยกว่าสารในกลุ่มแรก แต่ข้อเสียของครีมกันแดดประเภทนี้คือจะไม่สามารถให้ค่า SPF ที่สูงได้ เนื้อครีมจะไม่ละเอียดมากนักหรืออาจเป็นขุยหน่อย ๆ คล้ายกับมีแป้งผสมเพราะเป็นเหมือนรองพื้นในตัวได้ด้วย และเมื่อนำมาทาบนผิวหนังแล้วจะทำให้ดูวอกหรือดูขาวมากจนเกินไป (เนื่องจากสารจะเคลือบบนผิวหนังชั้นบนเพื่อรอแสงมากระทบ จึงมีการดูดซึมสู่ผิวน้อย) อีกทั้งยังล้างออกได้ยากอีกด้วย
  • ครีมกันแดดชนิดผสม (Chemical-Physical sunscreen) เป็นแบบผสมที่ช่วยเสริมข้อดีและลดข้อด้อยในแต่ละส่วน นั่นคือ ลดการระคายเคืองต่อผิวหนังจากสารเคมี ลดความขาวเมื่อทาครีม และช่วยเสริมประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดร่วมกัน

ประเภทครีมกันแดด

สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับครีมกันแดด
  • ประโยชน์ของการครีมกันแดด เช่น ช่วยป้องกันผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีในแสงแดด ป้องกันการเกิดริ้วรอย ช่วยไม่ให้ผิวหนังเหี่ยวย่นหรือดูแก่ก่อนวัย ผิวแห้งกร้าน ป้องกันการเกิดฝ้า กระ ปัญหาผิวคล้ำเสีย และมะเร็งผิวหนัง
  • วิธีการป้องกันอันตรายจากแสงแดดได้ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด ๆ ในช่วงเวลาประมาณ 09.00-16.00 น. แต่ถ้าคุณต้องออกแดด นอกจากจะต้องทาครีมกันแดดแล้วก็ยังต้องป้องกันแสงแดดด้วยวิธีอื่น ๆ ด้วย เช่น กางร่ม (ไม่ควรใช้ร่มใส ๆ เพราะกันแสงแดดไม่ได้), ใส่หมวก, สวมแว่นแดด เพราะบริเวณรอบดวงตาเป็นส่วนที่บอบบางและมักจะไม่ได้รับการทาครีมกันแดด เพื่อป้องกันดวงตาไม่ให้เสื่อมก่อนวัย และเลือกใส่เสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติในป้องกันแสงแดด อย่างเช่นผ้าฝ้ายผสมโพลีเอสเตอร์ ซึ่งจะช่วยป้องกันรังสี UV ได้ถึง 80%
  • รังสีนอกจากจะตกกระทบโดยตรงแล้วยังมีการสะท้อนหรือหักเหอีกด้วย นั่นหมายความว่าการอยู่ในที่ร่ม อยู่บนถนน ยืนตามชายหาด หรือยืนอยู่บนหิมะ คุณก็ยังได้รับทั้งรังสีโดยตรงบวกกับการสะท้อนหักเหอีกด้วยเป็นทวีคูณ ดังนั้นในขณะที่มีแสงแดด แม้ว่าเราจะอยู่ในที่ร่มก็ต้องทาครีมกันแดดหรือเครื่องสำอางที่ผสมสารป้องกันแสงแดดอยู่เสมอ ยิ่งในหน้าหนาวก็ต้องระวังกันเป็นพิเศษด้วยล่ะ เพราะแสงแดดในหน้านี้จะมีความเข้มข้นสูงอย่าบอกใครเชียว
  • ไม่มีครีมกันแดดยี่ห้อใดที่ทาแล้วจะสามารถป้องกันรังสียูวีได้ 100% หรือป้องกันแสงแดดได้ตลอดทั้งวัน ดังนั้นการทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง จึงเป็นสิ่งจำเป็น
  • ช่วงเวลาที่คนประมาทกันมากคือ ช่วงแสงแดดในตอนเช้าและแสงแดดในช่วงพลบค่ำ เพราะแม้จะเป็นแสงแดดที่อ่อนแต่ก็ส่องเข้าหน้าได้พอดีเหมือนกัน คิดดูสิว่าแดดกระทบหน้าเข้าจัง ๆ จะเป็นยังไง ดังนั้น ไม่ว่าจะเช้าหรือเย็นแค่ไหนก็ควรจะทาครีมกันแดดด้วยเช่นกัน
  • รังสี UVA และ UVB จะมีมากที่สุดในช่วงเวลา 10.00-15.00 แต่ปริมาณของรังสี UVA จะมีตลอดทั้งวันแทบไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเช้าหรือเย็นก็ต้องระมัดวังให้ดี
  • ครีมกันแดดควรเริ่มใช้ตั้งแต่ตอนยังเด็ก ๆ เพราะถ้ามาเริ่มใช้ตอนโต ผิวของเราอาจจะมีปัญหาแล้วก็ได้
  • ใครที่คิดว่าอยู่บ้านไม่ต้องทาครีมกันแดดก็ได้ ? คุณคิดผิดแล้ว เพราะอย่าลืมว่าในบ้านยังมีแสงจากหลอดไฟนีออน แสงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ดังนั้นควรทาครีมกันแดดที่ค่า SPF น้อย ๆ ในทุกเช้าแม้จะอยู่ในบ้านก็ตาม
  • ครีมกันแดดในแป้งตลับผสมรองพื้นก็จำเป็นต้องทาซ้ำเหมือนครีมกันแดดทั่วไป
  • การทาครีมกันแดดมากเกินไปจะก่อให้เกิดปัญหาด้านความมัน ความเหนอะหนะไม่สบายตัว และอาจมองดูไม่สวยงาม ชนิดและปริมาณของสารป้องกันแสงแดดที่มีในผลิตภัณฑ์จะทำให้ค่า SPF ต่างกัน โดยครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงมักมีปัญหาในด้านความงาม (มีส่วนผสมของน้ำมันมาก ทำให้เหนียวเหนอะหนะ) และมีราคาแพงกว่า
  • เครื่องสำอางที่ผสมสารป้องกันแสงแดดนั้นจัดเป็น “เครื่องสำอางควบคุม” ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเครื่องสำอางเหล่านี้จะผสมสารป้องกันแสงแดดหลายชนิด เพื่อให้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีคุณสมบัติป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และ UVB
  • การชโลมเบบี้ออยล์ น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันอะไรก็ตาม ไม่ได้ช่วยป้องกันผิวไม่ให้เกรียมแดงได้เลย เพราะการชโลมน้ำมันแล้วไปตากแดดนั้นเป็นก็เหมือนกับเราเอาผิวหนังไปย่างอย่างไรอย่างนั้น

ประโยชน์ของครีมกันแดด

การเลือกซื้อครีมกันแดด

  • ครีมกันแดดที่ดีควรมีทั้งสารที่ช่วยป้องกันรังสี UVA และรังสี UVB เช่น สาร anthranilates ซึ่งพบได้บ่อยในครีมกันแดดทั่วไป ส่วนสารที่กันได้เฉพาะรังสี UVA คือ benzophenones และส่วนที่กันได้เฉพาะรังสี UVB คือ cinnamates, PABA, PABA derivatives
  • ถ้าทำงานในร่มเป็นหลักควรเลือกซื้อครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 มาใช้ (หรือน้อยกว่านี้ก็ได้สัก SPF 8-12) และมีค่า PA++ ก็พอครับ แต่ถ้าต้องทำงานออกแดดหรือจำเป็นต้องโดนแดดให้เลือกซื้อครีมกันแดดที่ค่า PA+++ มีค่า SPF 15-20 มาใช้ครับ แต่ถ้าทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ปั่นจักรยาน ก็ให้เลือกเป็น SPF 20-30, เล่นกีฬาทางทะเล ก็ให้เลือกเป็น SPF 50 แต่ถ้าต้องออกแดดกลางแจ้งเป็นเวลานานและมีแดดแรงมากก็ให้เลือกซื้อครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50+ ขึ้นไป แต่สำหรับคนเอเชียอย่างเรา ๆ ที่ไม่รู้จะเลือกอะไร ก็ให้เลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30-40 ก็น่าจะเพียงพอแล้วครับ เพราะใช้ได้ทุกงาน 🙂
  • การเลือกซื้อครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง ๆ ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นนัก เพียงแต่ขอให้ครีมกันแดดนั้นมีประสิทธิภาพจริงตามที่ระบุไว้ในฉลากก็พอ แต่อย่าลืมว่าจากการตรวจสอบครีมกันแดดบางยี่ห้อกลับพบว่ามีคุณสมบัติในการป้องกันด้อยกว่าในฉลากที่ระบุไว้
  • เครื่องสำอางป้องกันแสงแดดควรเป็นชนิดทนน้ำหรือทนเหงื่อ และควรทาก่อนออกอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ครีมกันแดดซึมซับเข้าสู่ผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น หากทาเสร็จปุ๊ปแล้วออกไปรับแดดทันทีหรือออกไปแล้วจึงค่อยทาจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
  • ถ้าจะลงเล่นน้ำควรเลือกซื้อครีมกันแดดที่กันน้ำได้และทาซ้ำบ่อย ๆ อย่าง Water resistant จะออกฤทธิ์กันแดดได้สูงสุด 40 นาที และ Waterproof จะออกฤทธิ์กันแดดได้สูงสุด 80 นาที เพราะฉะนั้นต้องทาซ้ำทุก ๆ 40-80 นาทีตามแต่ชนิด
  • ผิวของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน การเลือกซื้อครีมกันแดดมาใช้จึงต่างกันไปด้วย ถ้าเป็นคนผิวมันอยู่แล้วยังไปเลือกใช้ครีมกันแดดที่มันหรือมีค่า SPF สูง ๆ ก็จะยิ่งทำให้ไม่อยากทาครีมกันแดด และยังอาจทำให้เกิดสิวอุดตันได้ด้วย ดังนั้นการเลือกให้เหมาะกับสภาพผิวจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าผิวแห้งมากก็อย่าใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือถ้าเป็นคนผิวแพ้ง่าย ก็ยิ่งต้องเลือกมากหน่อยเป็นพิเศษ
  • คุณควรทดสอบการแพ้ครีมกันแดดก่อนใช้เสมอ ด้วยการนำครีมกันแดดมาทาใต้ท้องแขนทิ้งไว้ 15 นาที แล้วสังเกตว่ามีอาการบวมแดงหรือไม่ (แต่บางคนอาจใช้เวลานานกว่านั้นกว่าจะปรากฏอาการแพ้ ดังนั้นจึงต้องรอดูอาการถึง 1-3 วัน เพื่อความแน่ใจ) ถ้ามีอาการดังกล่าวแสดงว่าเราแพ้สารเคมีจากครีมกันแดดชนิดนั้น ๆ
  • ควรสังเกตวันหมดอายุของครีมกันแดดด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีกำหนดอายุประมาณ 2-3 ปี นับจากวันที่ผลิต และไม่ควรเก็บครีมกันแดดไว้ในที่ร้อน ๆ

การเลือกครีมกันแดด

การทาครีมกันแดด

  • ควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง ตั้งแต่ SPF 30 ขึ้นไป ในกรณีที่ต้องตากแดดเป็นเวลานานติดต่อกัน และให้ใช้ครีมกันแดดที่มี SPF ต่ำกว่าในกรณีที่โดนแสงแดดเป็นครั้งคราวระหว่างวัน
  • ควรทาครีมกันแดดทิ้งไว้ก่อนการออกแดดประมาณ 15 – 30 นาที และต้องทาซ้ำทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่ายังมีสารกันแดดทำหน้าที่ปกป้องผิวอยู่
  • ปริมาณของครีมกันแดดที่เป็นมาตรฐานของค่า SPF นั้น “ต้องทาครีมกันแดดปริมาณ 2 มิลลิกรัมต่อเนื้อที่ผิวหนัง 1 ตารางเซนติเมตร” แต่จากผลการวิจัยกลับพบว่า “คนส่วนใหญ่จะทาครีมกันแดดเพียง 0.5-1.5 มิลลิกรัมต่อเนื้อที่ผิวหนัง 1 ตารางเซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งจะได้ผลเพียงแค่ 20-50% ของค่า SPF ที่ระบุไว้” แต่ถ้าทาซ้ำ ๆ ในปริมาณที่พอดีจะได้ผลเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เท่า !
  • การทาครีมกันแดดสำหรับใบหน้าให้ใช้ในขนาดเท่าไข่มุกเม็ดใหญ่ 2 เม็ด หรือหากใช้โลชั่นให้ใช้ขนาดเหรียญ 10 และอย่าลืมทาใบหูด้วย เพราะใบหูเป็นส่วนที่ไหม้แดดได้ง่าย โดยวิธีการทาครีมกันแดดบนใบหน้าก็ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่เแต้มครีมกันแดดลงบนใบหน้าเล็กน้อยในตำแหน่ง 5 จุด คือ หน้าผาก 1 จุด, แก้ม 2 จุด, จมูก 1 จุด และคางอีก 1 จุด จากนั้นก็ค่อย ๆ เกลี่ยให้ทั่วหน้าอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้นิ้วกลางและนิ้วนางวนเป็นวงกลมบนใบหน้าเบา ๆ จนเนื้อครีมซึมเข้าสู่ผิวหน้าจนหมดไม่เห็นครีมสีขาว ๆ และให้ทาไปถึงลำคอและด้านหลังที่ไม่มีเสื้อปกปิดด้วย เพื่อป้องกันแสงแดดและไม่ทำให้หน้าลอยหรือหลอกมาก
  • นอกจากการทาหน้าและลำคอแล้ว การทาครีมกันแดดเคลือบริมฝีปากและบริเวณรอบ ๆ ตา ซึ่งเป็นส่วนที่บอบบางก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้ากังวลว่าทาครีมกันแดดแล้วริมฝีปากจะไม่สวย คุณอาจหาซื้อครีมกันแดดสำหรับทาริมฝีปากที่มีลักษณะคล้าย ๆ ลิปสติกที่ทาเคลือบให้ริมฝีปากชุ่มชื้นมาใช้ก็ได้
  • การทาครีมกันแดดบริเวณผิวหนังส่วนอื่นของร่างกาย เช่น แขน ขา ให้เลือกใช้ครีมกันแดดสำหรับทาตัวโดยเฉพาะ ซึ่งมักจะมีความมันและมีราคาที่ถูกกว่าครีมกันแดดสำหรับใบหน้า

การทาครีมกันแดด

ปัจจัยที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของครีมกันแดด
  • การทา นั้นต้องทาครีมกันแดดปริมาณ 2 มิลลิกรัมต่อเนื้อที่ผิวหนัง 1 ตารางเซนติเมตร หากทาบางเกินไปก็จะมีประสิทธิภาพที่ลดลงและป้องกันแสงแดดไม่ค่อยได้
  • การสวมใส่เสื้อผ้า แม้การสวมใส่เสื้อผ้าหนา ๆ จะช่วยป้องกันรังสีได้ดี แต่การสวมเสื้อผ้าทันทีหลังการทาครีมกันแดดจะทำให้ครีมไปติดอยู่ที่เสื้อผ้า จนทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดลดลงได้
  • เหงื่อออก การมีเหงื่อออกจะละลายครีมกันแดดออกไปกับเหงื่อได้
  • การว่ายน้ำหรือการถูกน้ำ ก็สามารถละลายเอาครีมกันแดดออกไปได้ด้วยเช่นกัน
  • ลมพัด ลมที่พัดก็มีส่วนพัดพาเอาครีมกันแดดที่ทาแล้วบนผิวหนังให้หลุดออกไปได้เช่นกัน
  • ทากันแดดแบบผิดวิธี ในขณะที่ตากแดดและทาครีมกันแดดซ้ำหลังจากว่ายน้ำ การใช้ครีมกันแดดจะต้องใช้เมื่อผิวแห้งสะอาดก่อน แล้วจึงลูบตัวยาให้เสมอ ๆ กันไปในทางเดียวกัน คือ ไม่ทาย้อนขึ้นย้อนลง เพราะจะเป็นเหมือนการถูไถ ทำให้ครีมกันแดดนี้หลุดออกไป

จากสาเหตุนี้เอง เมื่อนำครีมกันแดดมาใช้จริงจะพบว่ามีค่า SPF น้อยกว่าที่ระบุไว้เสมอ ทั้งนี้เป็นเพราะมีปัจจัยที่มีผลเกี่ยวข้องตามที่กล่าวมานั่นเอง

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด