ครรภ์เป็นพิษ อาการ สาเหตุ การรักษาโรคครรภ์เป็นพิษ 7 วิธี !!

ครรภ์เป็นพิษ อาการ สาเหตุ การรักษาโรคครรภ์เป็นพิษ 7 วิธี !!

ครรภ์เป็นพิษ

ครรภ์เป็นพิษ หรือ โรคพิษแห่งครรภ์ (Toxemia of pregnancy) คือ ภาวะผิดปกติที่พบได้ในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมักจะมีอาการเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 5-6 เดือน หรือมากกว่า 20 สัปดาห์ขึ้นไป จนกระทั่งถึงหลังการคลอดอีกประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ระยะที่พบได้บ่อยมักจะเป็นในช่วงเดือนที่ 8 หรือสัปดาห์ที่ 34-35 ขึ้นไปครับ ซึ่งจะมีอาการหลัก ๆ 3 อาการร่วมกัน ได้แก่ อาการบวม ความดันโลหิตสูง และตรวจพบสารไข่ขาวในปัสสาวะ ซึ่งถ้ามีอาการ 2 ใน 3 อย่างก็ถือว่าเป็นโรคนี้แล้ว ไม่จำเป็นต้องครบทั้ง 3 อย่าง (บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะ มึน ตามัว และอาเจียนร่วมด้วย)

ภาวะครรภ์เป็นพิษ ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและพบได้บ่อย ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 3-5 ของผู้หญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด ในประเทศที่เจริญแล้ว โรคนี้เป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้คุณแม่เสียชีวิต แต่ก็พบได้น้อยมากครับ ส่วนในบ้านเรานั้นเป็นอันดับ 3 คือ พบได้ไม่บ่อยมากนักและพบได้บ้างตามต่างจังหวัด สาเหตุคงเป็นเพราะคุณแม่บางส่วนยังไม่ค่อยตระหนักถึงความสำคัญของการฝากครรภ์ รวมทั้งการขาดแคลนบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ ส่วนสาเหตุหลัก ๆ ของการเสียชีวิตจะมาจากการตกเลือดและการอักเสบเสียมากกว่าครับ และเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างมากที่โรคนี้ยังไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและอันตรายที่เกิดกับแม่และลูกลงได้ครับ ถ้าตรวจพบตั้งแต่เริ่มเป็นและได้รับการรักษาพร้อมกับคำแนะนำในการปฏิบัติตัว การตั้งครรภ์ก็ยังสามารถดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติ และหลังจากคลอดแล้วโรคนี้ก็จะค่อย ๆ หายไปเองภายในเวลาอันรวดเร็ว

ในปัจจุบันนี้ในทางการแพทย์จะไม่ใช้คำว่า “ครรภ์เป็นพิษ” กันแล้วครับ แต่มักจะใช้คำว่า “ความดันโลหิตสูงในสตรีตั้งครรภ์” หรือ “ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์” (Hypertensive disorders of pregnancy หรือ Pregnancy Induced Hypertensive) กันเสียมากกว่า แต่สำหรับประชาชนทั่วไปการอธิบายด้วยการใช้คำว่า “ครรภ์เป็นพิษ” จะดูเข้าใจง่ายกว่าครับ

โดยภาวะครรภ์เป็นพิษนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น โรคพิษแห่งครรภ์ระยะก่อนชัก (Pre-eclampsia – พรีอีแคลมป์เชีย) ซึ่งผู้ป่วยจะมีเพียงอาการบวม ความดันโลหิตสูง และมีสารไข่ขาวในปัสสาวะ และโรคพิษแห่งครรภ์ระยะชัก (Eclampsia – อีแคลมป์เชีย) ที่ผู้ป่วยจะมีอาการชักหรือหมดสติ อาจเป็นอันตรายจนเสียชีวิตได้ ซึ่งผู้ป่วยจะมีโอกาสเป็นโรคพิษแห่งครรภ์ระยะชักได้ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ที่เป็นโรคครรภ์แห่งพิษระยะก่อนชัก

มาถึงตรงนี้คุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจสงสัยว่า อาการบวมแค่ไหนถึงจะเรียกว่าผิดปกติ ? ก็ขออธิบายตามนี้ครับว่า ถ้าคุณแม่มีอาการบวมบริเวณหลังเท้าไม่มากนักก็ถือว่ายังปกติครับ ซึ่งอาการบวมลักษณะนี้มักจะเกิดจากอาการเดินหรือยืนเป็นเวลานาน ๆ แต่ถ้าคุณแม่มีอาการบวมขึ้นมาเหนือตาตุ่ม โดยเฉพาะตั้งแต่หน้าแข้งขึ้นมาแบบนี้ก็ต้องระวังกันแล้วล่ะครับ และถ้ามีอาการบวมที่มือหรือตามใบหน้าด้วยแล้วก็จะถือว่าผิดปกติมาก คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนการนัดหมายในทันที เพื่อตรวจดูว่ามีความดันโลหิตสูงหรือสารไข่ขาวในปัสสาวะหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าคุณแม่มีอาการนิ้วมือบวม หน้าบวม หรือบวมทั้งตัว และเกิดร่วมกับอาการปวดศีรษะหรือตาพร่ามัวในระยะ 2-3 เดือนใกล้คลอด จะเป็นอาการของโรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ที่เรียกว่า “ครรภ์เป็นพิษ” แต่ในปัจจุบันทางการแพทย์จะไม่นับอาการบวมเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคครรภ์เป็นพิษแล้วครับ เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักจะมีอาการบวมอยู่แล้ว เว้นแต่ในกรณีที่พบว่ามีอาการบวมมาก ก็นับเป็นสัญญาณอันตรายเตือนให้ระวังว่ามีความดันโลหิตสูงและสารไข่ขาวในปัสสาวะออกมา

ในส่วนของความดันโลหิตก็ถือเป็นอีกภาวะแทรกซ้อนสำคัญและพบได้บ่อยในสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้โดยการวัดความดันโลหิตช่วงบน หรือค่าแรกวัดได้ ≥ 140 มม.ปรอท และช่วงล่างหรือค่าหลังวัดได้ ≥ 90 มม.ปรอท นอกจากความดันโลหิตสูงแล้วจะพบสารไข่ขาวในปัสสาวะด้วย

สำหรับสารไข่ขาวในปัสสาวะที่พูดถึงนี้ก็คือ โปรตีนอัลบูมิน (Albumin) ที่เป็นสารประเภทเดียวกับไข่ขาว ตามปกติแล้วในคนปกติจะไม่พบสารนี้ในปัสสาวะ ยกเว้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตบางชนิดเท่านั้น สำหรับหญิงตั้งครรภ์ถ้าตรวจพบสารนี้ในปัสสาวะมากกว่า 300 มิลลิกรัมในปัสสาวะที่เกิน 24 ชั่วโมง หรือถ้าตรวจปัสสาวะโดยใช้แถบตรวจจุ่มดูแล้วพบว่าโปรตีนเท่ากับ 1+ หรือมากกว่าก็แสดงว่ามีความผิดปกติแล้วครับ

สาเหตุครรภ์เป็นพิษ

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคครรภ์เป็นพิษที่แน่ชัด คือ ยังไม่รู้เกิดจากอะไรกันแน่หรือมีพิษอะไรเกิดขึ้น แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันหรือฮอร์โมนต่อมไร้ท่อบางตัวหรือเกิดจากกรรมพันธุ์ เนื่องจากอาการต่าง ๆ ของภาวะครรภ์เป็นพิษจะหายไปในเกือบจะทันทีเมื่อทารกและรกคลอดออกมา ซึ่งสันนิษฐานว่า เกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างโปรตีนบางตัวที่ถูกสร้างขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์และทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือด ร่างกายจึงไม่สามารถสร้างหลอดเลือดไปเลี้ยงรกได้เพียงพอ บางส่วนของรกจึงเกิดการขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เนื้อเยื่อรกบางส่วนตายไป และมีการปล่อยสารที่ส่งผลให้เลือดทั่วร่างกายของสตรีตั้งครรภ์หดตัว

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ

  • หญิงที่ตั้งครรภ์แรก หรือตั้งครรภ์แรกกับคู่สมรสใหม่
  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมีอายุมากกว่า 35 ปี
  • หญิงตั้งครรภ์ที่อ้วนเกินไปหรือมีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 ขึ้นไป
  • หญิงตั้งครรภ์แฝด
  • หญิงครรภ์ไข่ปลาอุก
  • หญิงที่เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษในครรภ์ครั้งก่อน รวมถึงหญิงที่มีญาติพี่น้องสายตรง เช่น มารดา พี่สาวหรือน้องสาวในท้องเดียวกัน ที่เคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษนี้มาก่อนด้วย
  • หญิงที่มีโรคประจำตัวก่อนการตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคลูปัส (Systemic Lupus Erythematosus) โรคเอสแอลอี และไมเกรน
  • หญิงที่มีระยะห่างของการตั้งครรภ์ห่างจากครรภ์ก่อนมากกว่า 10 ปี

สิ่งที่ตรวจพบของครรภ์เป็นพิษ

  • มีความดันโลหิตช่วงบน (ซิสโตลี) ≥ 140 มม.ปรอท หรือช่วงล่าง (ไดแอสโตลี) ≥ 90 มม.ปรอท (140/90 มม.ปรอท) โดยการวัดในท่านั่ง วัด 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 6 ชั่วโมง แต่ถ้าช่วงบน ≥ 160 มม.ปรอท หรือช่วงล่าง ≥ 110 มม.ปรอท จะถือว่ามีอาการรุนแรง
  • อาจตรวจพบภาวะซีด จ้ำเขียว มีเลือดออก
  • เท้าบวม กดแล้วมีรอยบุ๋ม
  • ตรวจปัสสาวะพบสารไข่ขาวจากแผ่นทดสอบหาโปรตีน ≥ 1+ หรือ 2+ (น้อยกว่า 2 กรัมต่อวัน) ถ้ายิ่งมีมากขนาด 3+ หรือ 4+ (มากกว่า 2 กรัมต่อวัน) จะถือว่ายิ่งรุนแรง (Severe pre-eclampsia) แต่บางสถาบันจะใช้เกณฑ์การวินิจฉัยตาม The American College of Obstetricians and gynecologists (ACOG) คือ ต้องพบโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 5 กรัมต่อวัน
  • การตรวจเลือดอาจพบเอนไซม์ตับ (AST, ALT) และสารบียูเอ็นรวมทั้งครีอะตินีนขึ้นสูง
  • นอกจากนี้ยังอาจตรวจพบรีเฟล็กซ์ของข้อไว (Hyperreflexia) หรือภาวะปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) เมื่อใช้เครื่องฟังปอดจะได้ยินเสียงกรอบแกรบ (Crepitation)

อาการครรภ์เป็นพิษ

  • ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ โดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย หน้าผาก (รับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น), สายตาพร่ามัว หรือมองเห็นแสงเป็นจุด ๆ หรือเห็นเป็นแสงวูบวาบร่วมด้วย หรืออาจตาบอดชั่วขณะ, คลื่นไส้อาเจียน (แม้ว่าจะเป็นอาการแพ้ท้องโดยทั่วไป ถ้าหากมีอาการอื่นในนี้ร่วมด้วยก็ควรรีบไปพบแพทย์), ปวดหรือจุกเสียดแน่นบริเวณหน้าอกหรือใต้ลิ้นปี่, มีอาการบวมตามมือ ข้อมือ ตามเท้า และใบหน้า, มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากเกินไปอย่างรวดเร็ว (เกินสัปดาห์ละ 1 กิโลกรัม), รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง, ขนาดของมดลูกอาจเล็กกว่าปกติและท้องไม่ค่อยโตขึ้นตามอายุครรภ์ (เกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงมดลูกลดลง), ความดันโลหิตสูงขึ้น, ปัสสาวะออกน้อย, พบโปรตีนในปัสสาวะหรือไข่ขาว และหากมีอาการรุนแรงอาจจะมีอาการชักกระตุกทั้งตัว เกิดเลือดออกในสมองได้ด้วย ถ้าคุณแม่พบว่ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
  • โรคนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงในระบบไหลเวียนโลหิต เมื่อความดันโลหิตสูงขึ้น ผู้ป่วยจะมีการขับน้ำออกจากเส้นเลือดเพื่อลดความดัน น้ำที่ออกมาก็จะอยู่ตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการบวมน้ำ ในขณะเดียวกันในเส้นเลือดเมื่อมีน้ำน้อยลง จะทำให้เลือดข้นมากขึ้น ปริมาณเลือดที่ไหลเวียนในร่างกายจึงลดลง ส่งผลทำให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกได้น้อยลง ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมาก ลูกในครรภ์จะมีอันตรายจากการขาดเลือดและออกซิเจน ทำให้ลูกเจริญเติบโตช้าหรือตัวเล็กกว่าปกติและมีโอกาสเสียชีวิตได้ (การขาดเลือดไปเลี้ยงจะทำให้เนื้อเยื่อรกบางส่วนตาย จนเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดด้วย) ในขณะเดียวกันเส้นเลือดที่เลี้ยงอวัยวะอื่น ๆ ของคุณแม่จะหดรัดตัวด้วย ทำให้อวัยวะเหล่านั้นมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เกิดอาการชัก สมองขาดเลือด ไตวาย และมีน้ำคั่งมากในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ร่วมกับมีเลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ถ้ารักษาไม่ทัน อาจทำให้คุณแม่เสียชีวิตหรือพิการได้
  • ในรายที่เป็นโรคพิษแห่งครรภ์ระยะก่อนชักในระยะรุนแรง จะพบความดันโลหิตสูงเกิน 160/110 มม.ปรอท ผู้ป่วยอาจมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก เอนไซม์ตับขึ้นสูง มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำหรือเลือดออกง่าย อาจมีอาการปวดตรงลิ้นปี่รุนแรง เนื่องจากมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มตับ ส่วนในรายที่เป็นโรคพิษแห่งครรภ์ระยะชัก ผู้ป่วยจะมีอาการชักหรือหมดสติ ซึ่งอาจจะเกิดก่อนคลอด ในขณะคลอด หรือภายใน 1 สัปดาห์หลังการคลอดก็ได้ ถ้าคุณแม่มีอาการรุนแรงขึ้นและมีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา แล้วไม่สนใจและไม่ไปพบแพทย์ตามนัด ก็อาจจะเกิดอันตรายรุนแรงขึ้นได้ คือ คุณแม่จะมีอาการชักหรือลูกในครรภ์ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร บางรายลูกอาจจะเสียชีวิตไปเลยก็ได้
  • ภาวะแทรกซ้อนของครรภ์เป็นพิษ ที่อาจเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น คุณแม่มีเลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ จากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, มีภาวะน้ำท่วมปอด, ตาบอดชั่วคราวหรือถาวร, เกิดอาการชัก และเสียชีวิต (มักเกิดจากการมีเลือดออกในสมองจากหลอดเลือดในสมองแตก) ในบางรายอาจพบว่ามีภาวะไตวายเฉียบพลันหรือตับอักเสบแทรกซ้อน (ดีซ่าน) ส่วนในรายที่ครรภ์เป็นพิษชนิดร้ายแรง (Eclampsia) พบว่าจะมีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 10-15 ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับลูกก็มีเช่นกัน เช่น ทารกในครรภ์มีภาวะเจริญเติบโตช้า, มีภาวะน้ำคร่ำน้อย (ส่งผลให้ทารกถูกกดเบียดทับจากน้ำหนักของคุณแม่ ทำให้ทารกมีการเจริญเติบโตผิดปกติ), มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด, มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดมากกว่าปกติ, ทารกที่คลอดออกมาตัวเล็ก, หัวใจทารกเต้นช้าจากการขาดออกซิเจน และทารกเสียชีวิตในครรภ์

อาการครรภ์เป็นพิษ

คำแนะนำ : คุณแม่สามารถสังเกตตัวเองได้ว่า มีอาการบวมมากหรือมีอาการผิดปกติหรือไม่ด้วยวิธีการง่าย ๆ เช่น รู้สึกว่ารองเท้าที่เคยใส่สบาย ๆ เป็นประจำในระยะตั้งครรภ์กลับคับมากขึ้นผิดปกติ, แหวนที่ใส่อยู่ไม่สามารถถอดออกได้หรือถ้าไม่ได้ใส่แหวนอยู่เป็นประจำ พอกลับมาใส่อีกก็ใส่ไม่ได้แล้ว, เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วพบว่าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 1 กิโลกรัม ก็ขอให้ระวังว่าอาจจะเป็นอาการเริ่มต้นของการเกิดโรคครรภ์เป็นพิษก็ได้ เพราะโดยปกติแล้วน้ำหนักตัวของคุณแม่ควรเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละครึ่งกิโลฯ, มีอาการปวดศีรษะมาก ตาพร่ามัว แน่นหน้าอก หรือแน่นบริเวณลิ้นปี่ร่วมด้วย ก็ให้รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นอาการที่บ่งบอกว่าเข้าขั้นอันตรายแล้ว และคุณแม่อาจจะชักหรือหมดสติได้

ระดับความรุนแรงของครรภ์เป็นพิษ

  1. ครรภ์เป็นพิษที่ไม่รุนแรง (Mild pre-eclampsia) ผู้ป่วยจะมีความดันโลหิตขึ้นสูงกว่า 140/90 มม.ปรอท แต่ไม่เกิน 160/110 มม.ปรอท มีอาการบวมปานกลาง และตรวจพบสารไข่ขาวในปัสสาวะปริมาณไม่มาก (มีโปรตีนในปัสสาวะน้อยกว่า 2 กรัมต่อวัน หรือ 1-2 บวก ในปัสสาวะที่เก็บ 24 ชั่วโมง) ไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น เกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย และทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า
  2. ครรภ์เป็นพิษที่รุนแรงมาก (Severe pre-eclampsia) ผู้ป่วยจะมีความดันโลหิตขึ้นสูงกว่า 160/110 มม.ปรอท มีอาการบวมที่รุนแรง และตรวจพบสารไข่ขาวในปัสสาวะปริมาณมาก (เกิน 2 กรัมต่อวัน หรือ 3-4 บวก ในปัสสาวะที่เก็บ 24 ชั่วโมง), มีอาการปวดศีรษะมาก, ตาพร่ามัว, เกล็ดเลือดต่ำ (ต่ำกว่า 100,000 ต่อ มม.), มีภาวะเม็ดเลือดแตก, มีอาการจุกเสียดแน่นบริเวณหนาอก บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นมีน้ำคั่งอยู่ในปอดหรือมีเลือดออกในสมอง, มีเอนไซม์ที่ตับสูง, มีพยาธิที่ตับ เซลล์ตับถูกทำลาย, ไตวาย, มีพยาธิสภาพที่หลอดเลือดและหัวใจ, มีแนวโน้มจะเกิดภาวะ Eclampsia และ HELLP syndrome ได้ในระยะต่อมา และทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า
  3. ครรภ์เป็นพิษที่เกิดอาการชัก (Eclampsia) เป็นระยะที่รุนแรงที่สุดและมักเกิดตามหลังครรภ์เป็นพิษรุนแรงที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีและทันท่วงที ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการชัก เกร็ง หรือหมดสติ ทั้งนี้อาการชักจะต้องไม่มีสาเหตุมาจากภาวะอื่น ๆ เช่น ลมบ้าหมู โรคทางสมอง ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก ๆ อาจมีเลือดออกในสมองร่วมด้วย ภาวะครรภ์เป็นพิษระยะนี้มีความรุนแรงมาก หากเกิดขึ้นแล้วอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้

วิธีรักษาครรภ์เป็นพิษ

1) หากคุณแม่มีอาการดังกล่าวควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเลือดและปัสสาวะ ในรายที่เป็นไม่มากก็ไม่จำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล แต่ต้องมีการติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าครรภ์เป็นพิษไม่รุนแรง (Mild pre-eclampsia) และมีโปรตีนในปัสสาวะ แพทย์มักจะให้นอนโรงพยาบาล แล้วจะทำการรักษาด้วยการควบคุมอาหาร ให้นอนพักในท่านอนตะแคงซ้าย นับเด็กดิ้น ทำ Non stress test และทำอัลตราซาวนด์เพื่อประเมินการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หรืออาจทำการเจาะน้ำคร่ำเพื่อประเมินความสมบูรณ์ของปอดทารก ฯลฯ ถ้าพบว่าคุณแม่มีอาการดีขึ้น ไม่พบโปรตีนในปัสสาวะ ความดันโลหิตลดลง และไม่พบว่ามีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ แพทย์จะให้กลับบ้านได้ โดยแพทย์จะให้คำแนะนำในการดูแลตัวเอง ดังนี้

  • ให้นอนพักอยู่ที่บ้านอย่างเต็มที่ในท่านอนตะแคงตลอดทั้งวันแทน และไม่ให้เดินมาก (แต่ถ้าคุณแม่นอนไม่หลับหรือกลางวันไม่สามารถนอนพักได้ แพทย์จะสั่งยานอนหลับหรือยากล่อมประสาทเพื่อให้คุณแม่พักผ่อนได้อย่างเพียงพอ เพราะการนอนพักจะช่วยให้เลือดเกิดการไหลเวียนไปยังสมอง หัวใจ ตับ ไต และรกได้ดี ทำให้อาการของโรคอาจทุเลาลง ที่เห็นได้ชัดเจนคืออาการบวมจะลดลง)
  • แนะนำให้ควบคุมอาหารเค็มให้อยู่ในระดับปานกลาง โดยควบคุมไม่ให้เกิน 6 กรัมต่อวัน และรับประทานอาหารที่มีโปรตีนมากขึ้นประมาณ 80-100 กรัมต่อวัน
  • ห้ามมีเพศสัมพันธ์ เพราะการมีเพศสัมพันธ์จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น เลือดสูบฉีดจากหัวใจมีมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นตามไปด้วย
  • ให้ชั่งน้ำหนักทุกวัน ถ้าน้ำหนักเพิ่มขึ้น 1.4 กิโลกรัม ภายใน 24 ชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้น 1.8 กิโลกรัมภายใน 3 วัน ควรไปพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอจนถึงวันนัด
  • ให้วัดความดันโลหิตที่สถานพยาบาลใกล้บ้านหรือที่บ้าน ในกรณีที่มีเครื่องวัดความดันโลหิตไว้ใช้เอง
  • ให้ตรวจนับการดิ้นของทารก โดยนับเมื่อประมาณ 1 ชั่วโมงหลังอาหาร รวมกัน 3 ครั้ง ซึ่งจะต้องมากกว่าวันละ 10 ครั้ง)
  • ให้สังเกตการหดรัดตัวของมดลูก ถ้ามดลูกหดรัดตัว 3 ครั้งใน 10 นาที และแต่ละครั้งหดรัดตัวนานประมาณ 30 วินาที ซึ่งแสดงถึงอาการของการคลอดก่อนกำหนด ควรรีบไปพบแพทย์
  • ให้สังเกตภาวะ Mild pre-eclampsia ที่รุนแรงขึ้น ได้แก่ การสังเกตอาการบวมที่มือและใบหน้า หลังจากตื่นนอนมีอาการบวมบริเวณก้นกบ, มีอาการปวดศีรษะรุนแรงมากขึ้น, มองเห็นภาพซ้อนหรือเห็นภาพไม่ชัด, มีอาการปวดบริเวณชายโครงขวาหรือปวดใต้ลิ้นปี่, คลื่นไส้อาเจียน, มีเลือดออกบริเวณเหงือก, ปัสสาวะออกน้อยลง และการรับรู้วัน เวลา สถานที่ลดลง ถ้าพบอาการดังกล่าว ควรรีบไปแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอจนถึงวันนัด

หลังจากให้คำแนะนำดังกล่าวแล้ว แพทย์จะนัดมาตรวจอีกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือทุก ๆ 2 วัน เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคและตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์ หรืออาจส่งพยาบาลไปเยี่ยมที่บ้านเพื่อช่วยประเมินอาการทุกวัน แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีความดันช่วงบน ≥ 140 มม.ปรอท หรือช่วงล่าง ≥ 90 มม.ปรอท หรือมีปัญหาที่ไม่สามารถติดตามผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาที่โรงพยาบาล เพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดและให้ผู้ป่วยได้นอนพักอย่างเต็มที่ พร้อมกับตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจดูสารไข่ขาวในปัสสาวะ ตรวจรีเฟล็กซ์ของข้อ ฟังเสียงหัวใจทารกบ่อย ๆ และตรวจเลือดทุก ๆ 1-2 วัน เพื่อดูจำนวนเกล็ดเลือด อิเล็กโทรไลต์ บียูเอ็น ครีอะตินีน และเอนไซม์ตับ (แม้ว่าคุณแม่จะรู้สึกว่าตัวเองสบายดีและไม่อยากอยู่ในโรงพยาบาลก็ตาม แต่เพื่อความปลอดภัยก็ควรจะอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลจะดีกว่านะครับ) เมื่ออาการบวมน้อยลงก็สามารถกลับบ้านได้ และคุณหมอจะนัดมาตรวจติดตามต่อไป

2) ในกรณีที่คุณแม่เป็นโรคครรภ์เป็นพิษที่ไม่รุนแรงและอายุครรภ์ครบกำหนดแล้ว (37 สัปดาห์ขึ้นไป) แพทย์จะให้ทำคลอดเพื่อหยุดกระบวนการของโรค โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของปากมดลูกและขนาดของทารก รวมถึงความต้องการของคุณแม่ หากทารกมีขนาดไม่ใหญ่มากนักและอยู่ในท่าที่เหมาะสม ปากมดลูกก็อยู่สภาวะที่สามารถกระตุ้นได้ แพทย์จะให้ยากระตุ้นให้ปากมดลูกเปิดและเกิดการเจ็บครรภ์เพื่อให้คลอดเองตามธรรมชาติ แต่หากสภาวะต่าง ๆ ไม่เหมาะสมก็อาจจำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัดทำคลอด

3) ในกรณีที่พบว่ามีอาการรุนแรง (Severe pre-eclampsia) หรือมีความดันช่วงบนและล่างวัดได้ ≥ 160/110 มม.ปรอท ในการรักษา แพทย์จะให้นอนพักในท่านอนตะแคงตลอดเวลา ควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด และดูแลให้ได้รับยาต้านการชัก ได้แก่

  • ฉีดยาลดความดันโลหิต เช่น ไฮดราลาซีน (Hydralazine) 5-10 มิลลิกรัม เข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยส่งเสริมการไหลเวียนของไตให้ดีขึ้นและป้องกันหลอดเลือดในสมองแตกและควบคุมให้ความดันโลหิตช่วงล่างอยู่ระหว่าง 90-100 มม.ปรอท เพราะถ้าลดต่ำกว่านี้อาจทำให้รกขาดเลือดไปเลี้ยงได้ (ห้ามใช้ยาลดความดันโลหิตกลุ่มยาต้านเอช เพราะอาจจะทำให้ทารกพิการและคุณแม่ไตวายได้ และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาขับปัสสาวะโดยไม่จำเป็น เพราะอาจจะทำให้เลือดไปเลี้ยงรกได้ไม่ดีพอ ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัสสาวะออกน้อยเนื่องจากไตวาย ก็อาจจะให้ฟูโรซีไมด์ (Furosemide) ได้) มีการติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์โดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์เป็นระยะ
  • ฉีดแมกนีเซียมซัลเฟต (Magnesium sulfate) เพื่อช่วยป้องกันอาการชักและมีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต
  • ฉีดยานอนหลับ เช่น ไดอะซีแพม (Diazepam) เพื่อป้องกันอาการชัก หลังจากฉีดควรสังเกตการหายใจด้วย เพราะผลข้างเคียงของยาอาจทำให้คุณแม่หยุดหายใจได้

หลังจากนั้นแพทย์จะพิจารณาการทำคลอด หรือการเร่งคลอดเพื่อหยุดกระบวนการของโรคด้วย ซึ่งมักทำในรายที่เป็น Pre-eclampsia ที่รุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก ถ้ากระตุ้นให้เจ็บครรภ์ล้มเหลว แพทย์อาจตัดสินใจให้ผ่าตัดคลอดทารกออกทางหน้าท้อง ดังนี้

  • ในกรณีที่คุณแม่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 34 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ทำการคลอดภายหลังให้การรักษา 4-6 ชั่วโมง โดยอาจทำคลอดแบบธรรมชาติหรือผ่าตัดทำคลอด
  • ในกรณีที่คุณแม่มีอายุครรภ์ 32-33 สัปดาห์ ต้องมีการประเมินสุขภาพของคุณแม่และทารก เฝ้าระวังการดำเนินโรคและภาวะแทรกซ้อนอย่างใกล้ชิด และอาจพิจารณาการให้คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เพื่อเร่งความพร้อมของปอดทารกและทำคลอดภายหลังให้การรักษาประมาณ 48 ชั่วโมง
  • ในกรณีที่คุณแม่มีอายุครรภ์ 24-31 สัปดาห์ ต้องมีการประเมินสุขภาพของคุณแม่และทารก เฝ้าระวังการดำเนินโรคและภาวะแทรกซ้อนอย่างใกล้ชิด และอาจพิจารณาการให้คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เพื่อเร่งความพร้อมของปอดทารก และอาจให้ดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของการคลอดก่อนกำหนดให้น้อยลง พร้อมกับมีการเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิดในหอผู้ป่วยหนัก

ภายหลังการคลอด อาการต่าง ๆ ของครรภ์เป็นพิษจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ยังมีโอกาสชักได้อยู่ในระยะ 24 ชั่วโมงหลังคลอด หากความดันโลหิตสูงควรระวังภาวะชัก ส่วนสารไข่ขาวในปัสสาวะและอาการบวมจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์ และความดันโลหิตจะกลับมาเป็นปกติภายใน 2 สัปดาห์

4) ในรายที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรง (Eclampsia) โดยปกติถ้าหญิงตั้งครรภ์ได้รับแมกนีเซียมซัลเฟตตั้งแต่เริ่มแรกมักไม่ค่อยเกิดอาการชัก อย่างไรก็ตาม ถ้าพบว่ามีอาการชักแพทย์จะให้ฉีดยาแมกนีเซียมซัลเฟต 4-6 กรัม เข้าเส้นเลือดดำช้า ๆ อย่างน้อย 5 นาที ถ้ายังไม่ได้ผลแพทย์จะฉีดไดอะซีแพม 5-10 มิลลิกรัม เข้าทางหลอดเลือดดำ หรืออาจให้ยาอื่น ๆ แทน เช่น Phenobarbital, Dilantin ในระหว่างการชัก ถ้าชักในระยะที่ทารกอยู่ในครรภ์จะทำให้หัวใจของทารกเต้นช้าลง แพทย์จะสังเกตการเต้นของหัวใจทารกทุก 15 นาที ให้ออกซิเจน 8-12 ลิตรต่อนาที และตรวจภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด สังเกตการเกิดภาวะปอดบวมน้ำ ภาวะไตวาย ตลอดจนอาการแสดงของเลือดออกในสมอง และจะรีบทำการคลอดภายหลังควบคุมภาวะชักได้ดีแล้วประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังการคลอดยังมีความจำเป็นต้องได้รับยากันชักอยู่ต่อไปจนครบ 24 ชั่วโมง หากมีความดันโลหิตสูงเกิน 160/110 มม.ปรอท อาจจำเป็นต้องได้รับยาลดความดันโลหิตด้วย และอาจจำเป็นต้องวัดความดันโลหิตเป็นระยะ ๆ ทุก ๆ 1-2 วัน อย่างน้อยประมาณ 2 สัปดาห์ ต่อจากนั้นอาจวัดความดันทุก 1 สัปดาห์ ต่อไปอีกอย่างน้อยประมาณ 6-12 สัปดาห์หลังคลอด หรือจนกว่าจะหยุดยาลดความดันโลหิตหรือตามที่แพทย์แนะนำ ซึ่งในระหว่างนี้คุณแม่สามารถให้นมลูกได้ตามปกติ เพราะยากันชักจะไม่มีผลต่อทารก (ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์)

โดยทั่วไปแล้วอาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังการคลอด แต่หากเกิน 12 สัปดาห์ไปแล้วยังคงมีความดันโลหิตสูงอยู่ สันนิษฐานว่า คุณแม่อาจเป็นโรคความดันโลหิตสูงชนิดเรื้อรังก็เป็นได้ คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างต่อเนื่องตามนัดต่อไป

วิธีป้องกันครรภ์เป็นพิษ

ในปัจจุบันแม้จะยังไม่มีวิธีใดที่สามารถป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้ 100% แต่เมื่อคุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ก็สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดได้ด้วยวิธีการเหล่านี้

  1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพยายามยกขาสูงเมื่อมีโอกาส เช่น ในขณะนั่งหรือนอน
  3. ดื่มน้ำให้มากขึ้น หรือเท่ากับ 8 แก้วต่อวัน
  4. ลดการรับประทานอาหารที่มีรสจัด (โดยเฉพาะรสเค็มจัด) หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารผัดด้วยน้ำมันหรืออาหารทอด เพิ่มอาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ตับ นม ไข่
  5. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง
  6. เสริมอาหารที่มีแคลเซียม แคลเซียมสามารถช่วยป้องกันความดันโลหิตสูงและอาการแทรกซ้อนจากภาวะครรภ์เป็นพิษได้ เพราะการได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ (โดยปกติแล้วร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์จะสูญเสียแคลเซียมวันละ 250 มิลลิกรัมไปในช่วงที่มีอายุครรภ์ 6-7 เดือน) รวมทั้งยังช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดในผู้หญิงที่มีประวัติหรือมีความเสี่ยงสูงในเรื่องของโรคความดันโลหิต ดังนั้นคุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพอในแต่ละวัน
  7. ฝากครรภ์ในทันทีเมื่อเริ่มรู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ พร้อมกับปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดหรือลดความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษให้น้อยลง

คำแนะนำเรื่องครรภ์เป็นพิษ

  • ในระหว่างการฝากครรภ์นั้น แนะนำว่า คุณแม่ควรสังเกตว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ เช่น มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง, ตาพร่ามัวหรือมองเห็นแสงวูบวาบ, มีอาการจุกแน่นใต้ลิ้นปี่, มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก, น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีอาการบวมตามใบหน้า มือ เท้า และข้อเท้า หากพบว่ามีอาการดังกล่าวก็ควรรีบมาพบแพทย์ก่อนวันนัด
  • โรคครรภ์เป็นพิษนี้ ถ้ามีการตรวจพบตั้งแต่เริ่มเป็นก็สามารถให้การดูแลรักษาให้ปลอดภัยได้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ดังนั้นคุณแม่จึงควรไปฝากครรภ์ตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์ หมั่นชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต และตรวจปัสสาวะ หากพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
  • คุณแม่ที่เริ่มมีภาวะครรภ์เป็นพิษ จะต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกต้องโดยทันที ซึ่งแพทย์จะตรวจติดตามการทำงานของไตและให้คุณแม่พักผ่อนให้มากที่สุด เพื่อให้ความดันโลหิตลดลง
  • เมื่อรู้ว่าครรภ์เป็นพิษ คุณแม่ควรงดทำงานหนักหรือเดินช็อปปิ้ง ให้นอนพักผ่อนอยู่บ้านให้มาก ๆ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และงดมีเพศสัมพันธ์อย่างเด็ดขาด เพราะการมีเพศสัมพันธ์จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น เลือดสูบฉีดจากหัวใจมีมากขึ้นส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นตามไปด้วย
  • สำหรับคุณแม่ที่มีครรภ์เป็นพิษในชนิดที่ไม่รุนแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่หากพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้รีบมาโรงพยาบาลฉุกเฉินในทันที คือ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว จุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่, ความดันโลหิตสูงวัดได้ ≥ 160/110 มม.ปรอท, ทารกดิ้นน้อยกว่าวันละ 10 ครั้ง, มีอาการน้ำเดินหรือมีน้ำผิดปกติไหลออกทางช่องคลอด
  • คุณแม่ที่มีอาการรุนแรง แม้จะได้รับการรักษาเป็นอย่างดีก็ยังไม่ดีขึ้นแต่กลับเป็นหนักมากกว่าเดิม หรือเข้าโรงพยาบาลเมื่อมีอาการรุนแรงมากแล้ว คือ ความดันโลหิตสูงมาก บวมมาก และมีสารไข่ขาวในปัสสาวะมาก แพทย์จะต้องพิจารณาให้ทำคลอดก่อนกำหนด ถ้าปล่อยไว้ลูกน้อยอาจเสียชีวิตหรือคุณแม่เองก็อาจเกิดอาการชักได้ เพราะถ้าชักแล้วอาจจะมีเลือดออกในสมองและเป็นอัมพาตได้ หรือบางรายอาจเสียชีวิตไปเลยก็มี หากครรภ์ใกล้ถึงกำหนดคลอดหรือมากกว่า 34 สัปดาห์ขึ้นไป แพทย์จะหาวิธีการทำคลอดเด็กด้วยการใช้ยากระตุ้น แต่ถ้าไม่ได้ผลอาจจะต้องผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง
  • คุณแม่ที่เคยเป็นโรคครรภ์เป็นพิษมาแล้วครั้งหนึ่ง จะมีโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษได้อีกในการตั้งครรภ์ครั้งถัดไปมากขึ้นกว่าคนปกติทั่วไป ดังนั้นเมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นอีกครั้ง คุณแม่ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์และแจ้งให้หมอทราบถึงประวัตินี้ด้วย เพื่อเฝ้าระวังโรคนี้อย่างใกล้ชิด
  • ในกรณีที่พบว่าครรภ์เป็นพิษในระยะแรก คือ ช่วงก่อนอายุครรภ์ได้ 5 เดือน ให้สงสัยว่าอาจเป็นครรภ์ไข่ปลาอุก
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ครรภ์เป็นพิษ/โรคพิษแห่งครรภ์ (Toxemia of pregnancy)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 902-903.
  2. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  “ครรภ์เป็นพิษ (toxemia of pregnancy)”.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ).  หน้า 185-188.
  3. หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ.  “ภาวะครรภ์เป็นพิษ”.  (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์).  หน้า 164-165.
  4. เอกสารประกอบการสอนรายวิชาการพยาบาลมารดา ทารกและการผดุงครรภ์ 2.  “การพยาบาลสตรีที่มีภาวะแทรกซ้อนเนื่องจากการตั้งครรภ์ (Hyperemesis gravidarum, PIH)”.  (อ.อรพนิต ภูวงษ์ไกร).

ภาพประกอบ : americanpregnancy.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด