คนทีสอทะเล สรรพคุณและประโยชน์ของต้นคนทีสอทะเล 12 ข้อ !

คนทีสอทะเล สรรพคุณและประโยชน์ของต้นคนทีสอทะเล 12 ข้อ !

คนทีสอทะเล

คนทีสอทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex trifolia subsp. litoralis Steenis (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Vitex rotundifolia L.f.)[4],[5] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)

สมุนไพรคนทีสอทะเล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า คนที (ประจวบคีรีขันธ์), กูนิง (มลายู-นราธิวาส), คนทิสอทะเล คนทิ เป็นต้น[1],[4]

ลักษณะของคนทีสอทะเล

  • ต้นคนทีสอทะเล มีถิ่นกำเนิดในเอเชียไปจนถึงประเทศออสเตรเลีย โดยจัดเป็นไม้เถาเลื้อยไปตามพื้นทรายริมทะเลที่มีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสีน้ำตาล เมื่ออายุมากจะมีสะเก็ดหลุดร่วงออกมา ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งมักโค้งงอลง ลักษณะโดยทั่วไปของต้นและดอกจะเหมือนกับต้นคนทีสอ แต่จะแตกต่างกันที่ใบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง ในประเทศไทยจะพบได้มากทางภาคใต้ โดยมักขึ้นทั่วไปตามป่าชายเลน ตามริมน้ำลำคลองใกล้ชายทะเล[1],[3],[4],[5]

รูปคนทีสอทะเล

ต้นคนทีสอทะเล

  • ใบคนทีสอทะเล ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับถี่บริเวณปลายยอด (ซึ่งจะแตกต่างจากใบของคนทีสอที่จะเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ) ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบและโคนใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ผิวใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา ใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบสีอ่อนจนถึงสีนวล[1],[3],[5]

ใบคนทีสอทะเล

  • ดอกคนทีสอทะเล ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงตามปลายกิ่งหรือปลายยอด ช่อดอกยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ในแต่ละช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ลักษณะของดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย กลีบดอกเป็นหลอดปลายแยกเป็นกลีบดอก 2 ส่วน ส่วนบนมีกลีบ 2 กลีบและส่วนล่างมีกลีบ 3 กลีบ ลักษณะคล้ายกลีบดอกผีเสื้อ กลีบดอกเป็นสีม่วง สีฟ้าอมม่วง หรือสีคราม ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 ก้าน ดอกจะทยอยบานจากโคนช่อเรื่อยไปจนถึงปลายช่อ เมื่อดอกบานเต็มที่แล้วจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณเกือบ 1 เซนติเมตร และเมื่อมีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามมาก โดยสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[3]

ดอกคนทีสอทะเล

รูปดอกคนทีสอทะเล

  • ผลคนทีสอทะเล ผลเป็นผลสดเดี่ยว มีลักษณะกลม ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงหุ้มไว้เกือบครึ่งผล ผลเป็นสีเขียวหรือสีม่วง ผลแห้ง ปลายผลมีติ่ง ภายในมีเมล็ด[1],[5]

ลูกคนทีสอทะเล

ผลคนทีสอทะเล

สรรพคุณของคนทีสอทะเล

  1. ใบใช้เป็นยาธาตุบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ)[1],[2]
  2. ใบ เถา และรากใช้เป็นยาขับเสมหะ (ใบ, เถา, ราก, ทั้งต้น)[1],[2],[4]
  3. ช่วยแก้ริดสีดวงในลำคอ (เถา)[2]
  4. เถาใช้เป็นยาแก้ลม (ทั้งต้น, เถา)[2],[4]
  5. เถาช่วยแก้ตัวพยาธิ (ทั้งต้น, เถา)[2],[4]
  6. รากใช้เป็นยาขับประจำเดือนของสตรี (ราก)[2]
  7. ตำรายาไทยจะใช้รากเป็นยารักษาโรคตับ (ราก)[1]
  8. ใบใช้ต้มกับน้ำอาบ ช่วยแก้โรคผิวหนังผื่นคัน หรือจะทำเป็นแชมพูสระผมหรือหมักผมก็ได้ จะช่วยฆ่าเชื้อรา กลากเกลื้อน ชันนะตุได้ดี หรือจะเอาใบไปดองกับแอลกอฮอล์แล้วกรองเอาแต่น้ำมาไว้ใช้เป็นยาหัวเชื้อ หรือจะนำใบไปสกัดกับน้ำกะทิเคี่ยวทิ้งไว้ประมาณ 6 ชั่วโมงจนได้น้ำมันคนที แล้วนำมาเก็บไว้เป็นหัวเชื้อน้ำมันสำหรับนวดตัว หรือจะเอาน้ำมันใบคนที 1 ส่วน ผสมกับน้ำมันมะรุมอีก 1 ส่วน ใช้เป็นยาหยอดเป็นยารักษาเล็บมือเล็บเท้าที่เป็นเชื้อรา เนื่องจากใบของคนทีสอจะมีกลิ่นหอมและมีน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราอยู่ด้วย (ใบ)[1],[2]
  9. ช่วยแก้อาการฟกช้ำบวม (ทั้งต้น,เถา)[2],[4]
  10. ผลใช้เป็นยารักษาโรคเอดส์ (ผล)[2]

ประโยชน์ของคนทีสอทะเล

  • เนื่องจากเวลาแตกต้นและกิ่งก้านมาก ๆ และเวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามมาก จึงนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ ซึ่งในปัจจุบันท่านสามารถหาซื้อมาปลูกได้ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร โดยจะนิยมนำมาปลูกลงในกระถาง ตั้งประดับไว้ในที่แจ้ง[3]
  • ทางภาคใต้นิยมใช้ใบของคนทีสอทะเลมาเป็นส่วนประกอบในการทำขนม โดยเป็นขนมพื้นเมืองเหนียว ๆ แต่ไม่ใช่กาละแม และเป็นสีเขียว ๆ มีรสชาติหวานอร่อยมาก เข้าใจว่าใช้ใบแห้งนำมาบดเป็นผงใช้ทำเป็นขนมคนทีสอ โดยนำใบแห้งไปผสมกับแป้งข้าวเหนียวและน้ำ แล้วนำไปนึ่งจนสุก นำมาหั่นเป็นชิ้น ๆ คลุกกับมะพร้าวขูด น้ำตาล และเกลือ[3],[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  “คนทีสอทะเล”.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  หน้า 208.
  2. ไทยโพสต์.  “คนที ดูแลสุขภาพผิวรับหน้าร้อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net.  [14 ก.พ. 2014].
  3. ไทยรัฐออนไลน์.  “คนทีสอทะเล ดอกสวย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th.  [14 ก.พ. 2014].
  4. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “คนทีสอทะเล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [14 ก.พ. 2014].
  5. หนังสือพรรณไม้ป่าชายหาด (มัณฑนา นวลเจริญ).  หน้า 27.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Wayne Cheng, Oriolus84, mingiweng, Ahmad Fuad Morad, judymonkey17, ktsugita)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด