27 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นคนทา ! (ต้นโกทา)

27 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นคนทา ! (ต้นโกทา)

คนทา

คนทา ชื่อวิทยาศาสตร์ Harrisonia perforata (Blanco) Merr.[2] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)

สมุนไพรคนทา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้ตำตา (เชียงใหม่), หนามกะแท่ง (เลย), โกทา หนามโกทา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), จี้ จี้หนาม หนามจี้ สีเตาะ[1],[3] สีเดาะ[2] (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), คนทา (ภาคกลาง), กะลันทา สีฟัน สีฟันคนทา สีฟันคนตาย (ทั่วไป), มีซี[1],[3] มีชี[2] (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2],[3],[11]

ลักษณะของคนทา

  • ต้นคนทา จัดเป็นพรรณไม้พุ่มแกมเถาหรือเป็นไม้พุ่มเลื้อยทอดเกาะเกี่ยวขึ้นไป มีความสูงได้ประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นจะมีขนาดโตเท่ากับต้นหมาก เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล และมีหนามแหลมและสั้นตลอดทั้งลำต้นและตามกิ่งก้าน พรรณไม้ชนิดนี้มีเขตกระจายพันธุ์ตั้งแต่จีนตอนใต้ลงไปถึงมาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยมักพบขึ้นทั่วไปในป่าตามธรรมชาติ ทนความแห้งแล้งได้ดี พบมากในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทางภาคเหนือ โดยจะพบได้ตามที่โล่งในป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ และป่าเขาหินปูน ที่ระดับความสูงใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึง 900 เมตร และสามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการใช้เมล็ด[1],[2],[7],[10]

ต้นคนทา

ลำต้นคนทา

  • ใบคนทา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 11-15 ใบ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี ปลายใบมนถึงแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเป็นหยักแบบห่าง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีแดง ก้านใบร่วมเป็นปีกแผ่ขยายออกแคบ ๆ และใบมีรสขม[1],[2]

ใบคนทา

  • ดอกคนทา ออกดอกเป็นช่อ ดอกย่อยมีขนาดประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ภายในมีแป้นดอก ดอกย่อยด้านนอกเป็นสีแดงแกมม่วง ส่วนด้านในเป็นสีนวล กลีบดอกและกลีบดอกมีกลีบอย่างละ 4-5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน[2],[3]

ดอกคนทา

รูปคนทารูปดอกคนทา
  • ผลคนทา ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม เบี้ยว และฉ่ำน้ำ ผิวผลเรียบเนียนคล้ายแผ่นหนัง ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน เนื้อผลค่อนข้างแข็ง ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยว เมล็ดแข็งเป็นสีน้ำตาล มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร[1],[2],[3]

ผลคนทา

สรรพคุณของคนทา

  1. ต้นเป็นยาฟอกโลหิต (ต้น)[5]
  2. ช่วยขับโลหิต (ราก)[5]
  3. เปลือกต้นหรือรากมีรสเฝื่อนขม ใช้ต้มกินเป็นยาแก้ไข้ รักษาอาการไข้เพื่อเส้น ไข้เหนือ ไข้จับสั่น ไข้ตักศิลา ไข้พิษ ไข้กาฬ ดับพิษหัวไข้ กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ทุกชนิด (เปลือกต้น, ราก)[1],[2],[3],[4],[7],[8] ส่วนเปลือกรากมีสรรพคุณแก้ไข้ และต้นมีสรรพคุณแก้ไข้ได้ทุกชนิด (ต้น, เปลือกราก)[5]
  4. ช่วยป้องกันอหิวาตกโรค (เปลือกราก)[5]
  5. ทั้งต้นมีรสเฝื่อนขม ช่วยแก้กระหายน้ำ (ทั้งต้น)[2]
  6. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ต้น, ราก)[5],[8]
  7. ใช้แก้ตาเจ็บ (ราก)[5]
  8. เปลือกต้นนำมาทุบแล้วอมจะช่วยลดอาการปวดฟันได้ (เปลือกต้น)[6]
  9. ช่วยขับลม (ราก)[5]
  10. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (ทั้งต้น)[11]
  1. เปลือกต้นหรือรากใช้ต้มเป็นยากินรักษาอาการท้องร่วง (เปลือกต้น, ราก)[1],[2],[3],[5],[7] ส่วนต้นและเปลือกรากก็ช่วยแก้ท้องร่วงได้เช่นกัน (ต้น, เปลือกราก)[5]
  2. ช่วยแก้บิด (ต้น, เปลือกต้น, ราก, เปลือกราก)[5],[8]
  3. เปลือกต้นหรือรากต้มกินเป็นยาแก้โรคทางเดินลำไส้ (เปลือกต้น, ราก)[1],[2],[3],[5],[7] ส่วนเปลือกรากก็ช่วยรักษาลำไส้เช่นกัน (เปลือกราก)[5],[8]
  4. ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (ราก)[5]
  5. ช่วยสมานบาดแผล (ราก)[5]
  6. ดอกใช้แก้พิษจากแมลงกัดต่อย แก้พิษจากการถูกแตนต่อย (ดอก)[5],[8]
  7. ช่วยแก้อาการบวม บวมพอง (ราก)[5]
  8. ใบช่วยแก้อาการปวด (ใบ[5],[8], ราก[8])
  9. รากช่วยแก้อาการปวดเมื่อย (ราก)[5]
  10. รากคนทาจัดอยู่ในตำรับ “ยาห้าราก” หรือตำรับยา “เบญจโลกวิเชียร” ซึ่งเป็นตำรับยาที่ใช้รากไม้สมุนไพร 5 ชนิด เป็นสูตรผสมหลัก ได้แก่ รากคนทา รากย่านาง รากมะเดื่ออุทุมพร รากไม้เท้ายายม่อม และรากชิงชี่ โดยเป็นตำรับยาแผนโบราณในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่มีสรรพคุณลดไข้แก้อาการปวดได้เช่นเดียวกับยาพาราเซตามอล และเป็นตำรับยาที่ไม่มีอันตรายต่อตับหลังการใช้ในระยะยาว[9]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของคนทา

  • สารสำคัญที่พบได้แก่ Heteropeucenin, 5 –methoxy: 7-methylether; Heteropeucenin-7-methyl ether; obacunone; perforatic acid; perforatin A; perforatin B; ?-sitosteral[5]
  • มีการทดลองในสัตว์พบว่าสารสกัดจากรากและกิ่งของต้นคนทามีฤทธิ์ในการต้านฮิสตามีนซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้[4],[5]
  • สารสกัดของใบและกิ่งคนทามีฤทธิ์ในการต้านเชื้อมาลาเรียในหลอดทดลอง[4],[5],[7]
  • คนทามีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ reverse transriptase[5]

ประโยชน์ของคนทา

  1. กิ่งก้านมีรสเฝื่อนขม สามารถนำมาใช้แปรงฟัน หรือสีฟันเพื่อรักษาฟันได้ ด้วยการนำกิ่งขนาดนิ้วก้อยที่ยาวประมาณ 1 คืบ นำมาลอกเปลือกออกปลายด้านหนึ่งแล้วทุบให้เป็นเส้นฝอย ๆ และอาจช่วยทำให้เส้นดีขึ้นด้วยการใช้มีดผ่าออกเป็นแนวยาว ๆ แล้วนำปลายฝอยนี้ไปถูกับไม้ระแนงที่เตรียมไว้อีกทีหนึ่ง เพื่อทำให้ปลายฝอยฟูเป็นขนแปรงที่นุ่มขึ้น ส่วนปลายของอีกด้านหนึ่งก็เหลาให้แหลม ใช้ทำเป็นไม้จิ้มฟันหรือใช้เขี่ยเศษอาหารได้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งตามประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสานจะใช้หนามคนทาทำแปรงสีฟัน เพื่อไปถวายให้พระสงฆ์ในช่วงที่มีการถวายพุ่มเทียนพรรษา และพระสงฆ์สายธรรมยุตในวัดป่าของทางภาคอีสาน ยังนิยมใช้แปรงสีฟันจากกิ่งของต้นคนทากันอยู่ (กิ่งก้าน)[2],[11]
  2. เปลือกต้นใช้ยาแก้ตาเจ็บสำหรับสัตว์พาหนะ (เปลือกต้น)[5]
  3. ผลอ่อนนำไปหมดไฟหรือนำไปต้มแล้วทุบพอแตก นำมาใช้ทาเท้าก่อนทำนาจะช่วยป้องกันน้ำกัดเท้าในฤดูทำนาได้ (คนเมือง)[6]
  4. ผลคนทาสดยังสามารถนำมาสกัดน้ำสีที่ใช้สำหรับย้อมผ้า โดยผลคนทา 15 กิโลกรัมจะสามารถย้อมสีเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม โดยสีที่ให้คือสีเทาม่วง[10]
  5. เนื้อไม้มีความเหนียว ไม่หักง่าย และมีความยืดหยุ่น จึงนำไปใช้ทำเป็นคานหาบน้ำได้[6]
  6. เนื้อไม้ใช้สำหรับทำเป็นฟืนในพิธีกวนข้าวทิพย์ (คนเมือง)[6]
  7. นิยมปลูกต้นคนทาไว้ในสวนหรือตามวัดบางแห่ง เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำยา[1]

แปรงสีฟันคนทา

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “คนทา”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 158.
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “คนทา (Khontha)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 72.
  3. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  “คนทา”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  หน้า 83.
  4. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  “คนทา”.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  หน้า 117.
  5. สมุนไพรในร้านยาโบราณ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  “คนทา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.msu.ac.th.  [13 ก.พ. 2014].
  6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “กะลันทา, สีฟัน, ไม้หนาม, คนทา, สีฟันคนทา”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [13 ก.พ. 2014].
  7. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3
  8. ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร, กรมวิชาการเกษตร.  “คนทา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doa.go.th/hrc/chumphon/.  [13 ก.พ. 2014].
  9. GotoKnow.  “ยาห้าราก ( แก้วห้าดวง เบญจโลกะวิเชียร ) ยาเย็น แก้ไข้ร้อน ในเด็ก ผู้ใหญ่”.  (นพ.วีรพัฒน์ เงาธรรมทรรศน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org.  [13 ก.พ. 2014].
  10. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม.  “คนทา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th.  [13 ก.พ. 2014].
  11. มูลนิธิสุขภาพไทย.  “หนามโกทา รักษาฟัน”., “Herbal tooth brush รักษาฟัน และฝึกสติ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org.  [13 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by viengsamone, Hai Le), เว็บไซต์ pharmacy.mahidol.ac.th, เว็บไซต์ thaihof.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด