คดสัง
คดสัง ชื่อวิทยาศาสตร์ Combretum trifoliatum Vent. จัดอยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE)[1]
สมุนไพรคดสัง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เบน เบ็น (ขอนแก่น, มหาสารคาม), เบนน้ำ (อุบลราชธานี), เปือย (นครพนม), ย่านตุด คดสัง (สุราษฎร์ธานี), หญ้ายอดคำ (ภาคเหนือ), กรด (ภาคกลาง), จุด ชุด สุด (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของคดสัง
- ต้นคดสัง จัดเป็นพรรณไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อย มีความสูงได้ประมาณ 3-5 เมตร ตามกิ่งอ่อนมีขนนุ่มสีน้ำตาลแกมเหลืองขึ้นปกคลุม เมื่อแก่ผิวจะเกลี้ยง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ชอบขึ้นบริเวณที่ชุ่มชื้น ตามสองฝั่งแม่น้ำ หรือที่ราบที่น้ำท่วมถึง มีเขตการกระจายพันธุ์จากอินเดียถึงอินโดนีเซีย ในประเทศไทยพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคใต้[1],[3]
- ใบคดสัง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกที่ข้อเดียวกัน 3-5 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลมมีติ่งสั้น โคนใบมนหรือค่อนข้างกลมเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-16 เซนติเมตร เนื้อใบหนามัน หรือค่อนข้างหนามัน ด้านบนค่อนข้างเกลี้ยง ส่วนด้านล่างมีตุ่มหูด หรือมีแถบของขนนุ่มสีน้ำตาลแกมเหลืองพาดขนานตามความยาวของเส้นกลางใบ เส้นใบมีประมาณ 6-8 คู่ ก้านใบยาวประมาณ 4-7 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลแดงหรือสีสนิมเหล็กและมีขนนุ่ม เมื่อแก่ผิวจะเกลี้ยงและเปลี่ยนเป็นสีดำ[1]
- ดอกคดสัง ออกดอกเป็นช่อกระจายที่ปลายยอดหรือออกตามง่ามใบ ช่อดอกยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงตอนล่างเชื่อมติดกันเป็นท่อ ยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร มีขนคล้ายเส้นไหมสีเทา ตอนบนแผ่ออกเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 0.2-0.4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีขนหนาแน่น กลีบดอกมี 5 กลีบ มีขนนุ่มหนาแน่น ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร อับเรณูยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ส่วนท่อเกสรเพศเมียยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร[1]
- ผลคดสัง ลักษณะของผลเป็นรูปรีแคบ มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร ผิวผลเกลี้ยง สีน้ำตาลดำเป็นมัน ไม่มีก้าน มีครีบปีกแข็ง 5 ปีก หรืออาจพบแบบ 4 หรือ 6 ปีกได้บ้าง โดยปีกจะมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ผลเมื่อแห้งจะแข็ง[1]
สรรพคุณของคดสัง
- ผลนำมาผสมกับเมล็ดข้าวโพด แล้วทำให้สุก นำมาปั้นเป็นยาลูกกลอนเอามาเคี้ยวเป็นยาบำรุงและรักษาเหงือก (ผล)[1],[2]
- ผลนำมาต้มเอาน้ำอมแก้ปากเปื่อยและเหงือกบวม (ผล)[2]
- ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคบิด (ทั้งต้น)[1],[2]
- เปลือกและรากใช้ฝนกับน้ำซาวข้าวกินเป็นยาสมานลำไส้ แก้บิด แก้ท้องร่วง (เปลือกและราก)[2]
- เปลือกและรากใช้ดองกับเหล้ากินเป็นยาแก้ปวดท้อง แก้อาการจุกเสียด (เปลือกและราก)[2]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาขับพยาธิ (ทั้งต้น)[1],[2]
- ผลใช้เป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือน (ผล)[2]
- รากใช้ปรุงเป็นยาชงรักษาอาการตกขาว และยังใช้ชำระล้างอวัยวะสืบพันธุ์ได้ด้วย (ราก)[1],[2]
- ยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้ลำต้นคดสังเข้ายากับแก่นมะขาม เบนน้ำ เพกา และจำปาขาว ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้นิ่วในไต (ลำต้น)[2]
- รากใช้ฝนทาแก้ฝีหนอง (ราก)[2]
ประโยชน์ของคดสัง
- รากใช้ชำระล้างอวัยวะสืบพันธุ์[1],[2]
- ยอดหรือใบอ่อนคดสังใช้รับประทานสดเป็นผักร่วมกับลาบ ก้อย[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “คดสัง”. หน้า 156-157.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “คดสัง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [24 ม.ค. 2015].
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “เบ็น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [24 ม.ค. 2015].
ภาพประกอบ : biodiversity.forest.go.th, www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)