ข้าวเม่านก
ข้าวเม่านก ชื่อวิทยาศาสตร์ Tadehagi triquetrum (L.) H.Ohashi (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Desmodium triquetrum (L.) DC.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2],[3]
สมุนไพรข้าวเม่านก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะแฮะนก (เชียงใหม่), หญ้าคอตุง (ลำปาง), ขี้กะตืด ขี้กะตืดแป (เลย), คอกิ่ว (ภาคกลาง), บอกบ่อ หญ้าใบเลี่ยม (ลั้วะ), ตุ๊ดต๊กงล (ขมุ), หน่อเจ๊าะบิ๊ค่อ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)[1],[2], หญ้าคอตุงตัวเมีย[3], ตานคอม้า, ปอบหนอน, หนอนหน่าย, หนอนกิ่ว[5] เป็นต้น
ลักษณะของข้าวเม่านก
- ต้นข้าวเม่านก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีความสูงได้ประมาณ 15-50 เซนติเมตร กิ่งก้านมีลักษณะเป็นสันสามเหลี่ยม แตกกิ่งก้านสาขามาก ยอดและกิ่งอ่อนเป็นสีแดงมัน มีหูใบเป็นสีเงินหรือสีเทาทั้งสองข้าง เมื่อแก่เป็นสีชา ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พบขึ้นในป่าทั่วไป ตามไหล่เขาบริเวณทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งทั่วทุกภาคที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-1,000 เมตร ชอบขึ้นบริเวณที่รกร้าง หรือริมทาง พบแพร่กระจายพันธุ์ในประเทศศรีลังกา อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และออสเตรเลียตอนเหนือ[1],[3],[5]
- ใบข้าวเม่านก ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อยใบเดียว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปใบหอก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนเรียบ ส่วนด้านล่างมีขน ก้านใบแผ่เป็นปีก[1]
- ดอกข้าวเม่านก ออกดอกเป็นช่อกระจะ รูปทรงกระบอก โดยจะออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเป็นสีม่วง ลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว ออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม[1],[2]
- ผลข้าวเม่านก ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนยาว ลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนาน คอดเป็นข้อ ๆ ประมาณ 6-8 ข้อ มีขนรูปตะขอขึ้นปกคลุมประปราย ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ส่วนผลแห้งเป็นสีน้ำตาล ผลแก่จะหลุดออกเป็นข้อ ๆ ข้อละ 1 เมล็ด ส่วนหัวมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ส่วนท้ายมีรยางค์ 1 เส้น ลักษณะโค้งงอ ขอบผลเว้าตื้นหนึ่งหรือสองด้าน[1],[3]
สรรพคุณของข้าวเม่านก
- ชาวเขาเผ่าอีก้อ กะเหรี่ยง แม้ว และมูเซอ จะใช้ทั้งต้นและรากนำมาต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกินเป็นยาบำรุงร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลีย รวมถึงอาการปวดหลัง (ทั้งต้นและราก)[1],[5]
- ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้เกิดเรี่ยวแรงแข็งขัน ช่วยทำให้เลือดสะอาด แข็งแรง เลือดลมเดินได้สะดวก จึงช่วยแก้อาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ช่วยให้เรี่ยวแรงฟื้นคืนกลับมา เนื่องจากการไม่มีแรงมักจะเกิดเพราะเลือดลมเดินไม่สะดวก สามารถใช้เป็นยาบำรุงตัวเดียวหรือใช้เข้ากับยาตัวอื่นก็ได้ โดยตำรับยาบำรุง “ยาแฮงสามม้า” จะใช้รากของม้าสามต๋อน ม้าแม่ก่ำ และตานคอม้า (ข้าวเม่านก) นำมาต้มกินหรือดองกับเหล้ากินเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกายให้แข็งแรง ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย และบำรุงเลือดลม (ราก)[5]
- ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยบำรุงประสาท (ใบ)[3]
- ใช้เป็นยาเย็นแก้ไข้ แก้ร้อนใน ด้วยการนำกิ่งมาใส่กับผักหวานบ้านก้านตรง ใช้ต้มกินเป็นยาเย็นแก้ร้อนใน หรือใช้ใบชงกับน้ำร้อนกินก็ได้ (กิ่ง, ใบ)[5]
- รากอัคคีทวารใช้ผสมกับรากข้าวเม่านก ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ราก)[4]
- ทั้งต้นนำมาต้มเคี่ยว ใช้ดื่มวันละ 1 แก้ว เป็นประจำทุกวัน จะช่วยแก้อาการไอเรื้อรังและวัณโรคได้ (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยารักษาเด็กน้อยเป็นหวัด ไซนัสอักเสบ น้ำมูกไหล ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาแช่กับน้ำกิน (ทั้งต้น)[5]
- ใช้เป็นยารักษาอาการเหม็นในหูและโพรงจมูก ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มกิน โดยให้กินไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะหาย (ทั้งต้น)[5]
- ใช้เป็นยารักษาวัณโรคปอด รักษาปอดไม่ดี ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มกิน โดยกินครั้งละ 1 ถ้วย เช้าและเย็น หรือกินผงจากใบแห้งกับน้ำอุ่นครั้งละ 1 กรัม เช้าและเย็นจนกว่าจะหาย (ทั้งต้น,ใบแห้ง)[5]
- ทั้งต้นและรากใช้ต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกินเป็นยาแก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหาร (ทั้งต้นและราก)[1]
- ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำเป็นยาแก้อาการเจ็บท้อง ท้องอืด มีลมในท้อง (ราก)[2]
- ชาวขมุจะใช้รากข้าวเม่านกร่วมกับขี้อ้น มะแฟนข้าว หงอนไก่ และดูลอย นำมาต้มกับน้ำเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (ราก)[2]
- ชาวไทลื้อจะใช้ใบและลำต้นข้าวเม่านกนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาฆ่าพยาธิ แต่จะต้องดื่มติดต่อกันทุกวันอย่างน้อย 1 เดือน (ใบและลำต้น)[2]
- ทั้งต้นและรากใช้ต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกินเป็นยาขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (ทั้งต้นและราก)[1],[5] บ้างใช้ใบเพสลาดของข้าวเม่านกนำมาคลุกกับน้ำยำกินเป็นยาขับปัสสาวะ (ใบ)[5]
- ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (ใบ)[3]
- ทั้งต้นและรากใช้ต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกินเป็นยาแก้โรคตับ ตับอักเสบ และดีซ่าน (ทั้งต้นและราก)[1]
- ทั้งต้นใช้ต้มกินเป็นยาบำรุงไต (ทั้งต้น)[5]
- ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคตานซาง แก้อาการผอมเหลือง (ใบ)[3] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า การใช้เป็นยาแก้ซาง แก้เด็กผมจ่อยไม่แข็งแรง พุงใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ให้นำทั้งต้นมาต้มกับน้ำอาบ โดยก่อนอาบให้กิน 3 อึก (ทั้งต้น)[5]
- ใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้พิษเบื่อพยาธิ (ใบ)[3]
- ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค พยาธิ ฆ่าแมลง ฆ่าหนอน รักษาอาการเจอพิษจากยาฆ่าแมลง พ่ออนุ พ่อหมายาไทยจะใช้ข้าวเม่านกเป็นยาฆ่าเชื้อโรคอันตรายที่มาจากภายนอก แต่จะไม่ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในร่างกายเรา[5]
- ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังและแผลทุกชนิด ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มเคี่ยว 10 แก้ว ให้เหลือ 1 แก้ว แล้วนำมาใช้ทาแผล (ทั้งต้น)[5]
- ใช้เป็นยารักษารังแคหรือการติดเชื้อบนหนังศีรษะ ด้วยการใช้ใบแห้งของข้าวเม่านกกับใบแห้งของกระดังงา นำมาแช่น้ำมันงาแท้ ใช้เป็นน้ำมันทาผมหมักไว้ประมาณ 30 นาที แล้วจึงสระออก หรือจะทาทิ้งไว้เลยก็ได้ (ใบ)[5]
- ตำรายาพื้นบ้านจะใช้รากข้าวเม่านกนำมาต้มกับน้ำดื่มหรืออาบแก้อาการปวดบวม (ราก)[1]
- ชาวลั้วะและชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดหลังปวดเอว (ราก)[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของข้าวเม่านก
- จากการศึกษาวิจัยพบว่า ตานคอม้าหรือข้าวเม่านกมีสารพวก condensed tannins จึงมีคุณสมบัติในการช่วยสมานแผลและฆ่าเชื้อโรค นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการกันบูดได้อีกด้วย[5]
- เมื่อปี พ.ศ.2553 มีรายงานการศึกษาที่พบว่า สมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ phosphodiesterase เช่นเดียวกับต้นเครือเขาแกบ การพบฤทธิ์ดังกล่าวนับเป็นแนวทางใหม่ในการพัฒนายารักษาโรคหัวใจ โรคหอบหืด รักษาอาการซึมเศร้า ปรับระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ไปจนถึงช่วยบรรเทาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ[5]
ประโยชน์ของข้าวเม่านก
- ใบเพสลาดของข้าวเม่านกสามารถใช้เป็นผัก โดยนำมาคลุกกับน้ำยำกินเพื่อลดความร้อนในร่างกายได้[5]
- ใบสดใช้ตำพอกหรือนำมาบดใส่แผลวัวควาย ฆ่าหนอนในแผลวัว และรักษาแผลมีหนองได้[3],[5]
- ใบสดนำมาหั่นผสมยาเส้นและปูนขาวมวนบุหรี่สูบ[3]
- ใบสดใช้ปิดปากไหหมักปลา เพื่อป้องกันแมลงวันมาวางไข่[3] เมื่อนำข้าวเม่านกมารูดใบออกแล้วนำไปวางบนปลาร้าที่มีหนอน หนอนจะหนี ตัวที่หนีไม่ได้จะละลาย[5]
- หมอยาพื้นบ้านจะใช้ข้าวเม่านกเข้า “ยาหม้อใหญ่” ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาสรรพโรค โดยนำสมุนไพรเกือบ 100 ร้อยชนิดมาต้มรวมกัน ซึ่งพ่อหมอ “ประกาศ ใจทัศน์” เชื่อว่ายาต้มของท่านจะไม่บูด เพราะใส่ต้นข้าวเม่านกลงไปด้วย ซึ่งนอกจากจะใช้กันบูดได้แล้ว ข้าวเม่านกในยาหม้อใหญ่ยังมีบทบาทเป็นยาแก้กษัย แก้อาการปวดเมื่อยได้อีกด้วย ซึ่งจากการศึกษาในปัจจุบันก็พบด้วยว่าสารสกัดจากสมุนไพรชนิดนี้มีประสิทธิภาพดีในการช่วยกันบูด[5]
- พ่อหมอเมืองเลยมีตำรับการทำธูปไล่แมลงจากสมุนไพรชนิดนี้ด้วย[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ข้าวเม่านก”. หน้า 207.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ข้าวเม่านก, หญ้าคอตุง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [27 มี.ค. 2015].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ข้าวเม่านก”. อ้างอิงใน : หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสร และคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [27 มี.ค. 2015].
- หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 504, วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2554. (ผศ. วรรณา กัลยาณะวงศ์ ณ อยุธยา). “สมุนไพรใกล้บ้าน”.
- กลุ่มรักษ์เขาใหญ่. “ตานคอม้า… ยอดยาม้า ฆ่าเชื้อโรค”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rakkhaoyai.com. [27 มี.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, judymonkey17, Ahmad Fuad Morad, 翁明毅)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)