ข้าวสาลี สรรพคุณและประโยชน์ของข้าวสาลี 14 ข้อ ! (Wheat)

ข้าวสาลี

ข้าวสาลี ชื่อสามัญ Bead Wheat, Common Wheat, Wheat[1]

ข้าวสาลี ชื่อวิทยาศาสตร์ Triticum aestivum L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Triticum vulgare Vill.) จัดอยู่ในวงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)[1]

ข้าวสาลี มีชื่อเรียกอื่นว่า “สาลี[1]

ลักษณะของข้าวสาลี

  • ต้นข้าวสาลี มีถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์อยู่ในตะวันออกกลาง ผู้ผลิตข้าวสาลีที่สำคัญของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา จีน และรัสเซีย ในประเทศไทยมีการปลูกบ้างบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือ แต่ส่วนใหญ่จะได้มาจากการนำเข้าเสียมากกว่า จัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุราว 1 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 40-150 เซนติเมตร แตกขึ้นเป็นกอแน่น ลำต้นเรียบ มีข้อและปล้องประมาณ 4-7 ปล้อง มีขนาดใหญ่ขึ้นจากโคนไปสู่ปลาย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการหว่านเมล็ด[1],[3]

ต้นข้าวสาลี

  • ใบข้าวสาลี ใบเป็นใบเดี่ยว ใบติดแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปแถบผอมยาว มีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร ใบเกลี้ยงหรือมีขน เขี้ยวใบเป็นแผ่น หูใบบาง[1],[3]

ใบข้าวสาลี

  • ดอกข้าวสาลี ออกดอกเป็นช่อ ชนิดดอกช่อเชิงลด เรียงเป็นสองแถว แกนกลางช่อหยักไปมา ยาวได้ประมาณ 5-15 เซนติเมตร ช่อดอกย่อยแบบ ซ้อนทับกันเป็นแถวด้านข้างของแกนช่อดอก ช่อดอกย่อยประกอบไปด้วยดอกย่อยประมาณ 3-9 ดอก ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ดอกจะมีรูปร่าง ขนาด และความหนาแน่นแตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์ ตรงปลายกาบช่อย่อยเป็นสัน 1 สัน เกิดจากเส้นใบยื่นเป็นปีกแหลม ส่วนกาบล่างมีรยางค์แข็งยาวได้ถึง 16 เซนติเมตร[1],[3]

ดอกข้าวสาลี

  • ผลข้าวสาลี ลักษณะของผลเป็นรูปไข่หรือรูปกระสวย มีร่องตามยาว สีน้ำตาลแดง เหลือง ขาว หรือมีสีปนกัน[1],[3] โดยส่วนที่นำมารับประทานจะมีอยู่ 3 ส่วน ได้แก่
    • เมล็ดข้าวสาลี (wheat kernel) จะประกอบไปด้วย เอนโดสเปิร์ม (endosperm), คาร์โบไฮเดรตที่เป็นสตาร์ช (starch) ซึ่งมี amylose และ amylopectin เป็นส่วนประกอบหลักอยู่รวมเป็นเม็ดสตาร์ช (starch granule)
    • รำข้าวสาลี (wheat bran) ซึ่งเป็นเปลือกห่อหุ้มเมล็ดไว้หลายชั้น เป็นชั้นของรำ (bran) ส่วนชั้นนอกสุดเป็นแกลบ (husk)
    • จมูกข้าวสาลี (wheat germ) ซึ่งเป็นแหล่งสะสมอาหารสำหรับต้นอ่อน

ผลข้าวสาลี

รูปต้นข้าวสาลี

เมล็ดข้าวสาลี

  • ต้นอ่อนข้าวสาลี (Wheatgrass) คือ ส่วนของเมล็ดที่นำมาเพาะประมาณ 7-8 วันจนเป็นต้นอ่อน (เช่นเดียวกับถั่วงอก) แล้วนำมาคั้นเป็นน้ำวีทกราสหรือน้ำต้นอ่อนข้าวสาลี โดยจะมีขายทั้งในรูปแบบคั้นสด ๆ แบบผงชงสำเร็จรูป และแบบที่นำมาแปรรูปเป็นสารสกัดบรรจุแคปซูลหรือแบบอัดเม็ด

ต้นข้าวสาลีอ่อน

พันธุ์ข้าวสาลี

  • ข้าวสาลีชนิดแข็ง (hard wheat)
    • Wheat Hard white – เป็นข้าวสาลีเมล็ดแข็ง สีอ่อน มีโปรตีนปานกลาง ใช้สำหรับการผลิตเป็นแป้งข้าวสาลีที่ใช้ทำขนมปังและใช้ผลิตเบียร์
    • Wheat Hard red spring – เป็นข้าวสาลีเมล็ดแข็ง สีน้ำตาล มีโปรตีนและกลูเตนสูง ใช้สำหรับการผลิตเป็นแป้งข้าวสาลี สำหรับใช้ทำขนมปังและขนมอบที่ขึ้นฟูด้วยยีสต์
    • Wheat Hard red winter – เป็นข้าวสาลีเมล็ดแข็ง สีน้ำตาล มีโปรตีนและกลูเตนสูง ใช้สำหรับการผลิตเป็นแป้งข้าวสาลี สำหรับใช้ทำขนมปังและขนมอบที่ขึ้นฟูด้วยยีสต์
    • Wheat Durum – เป็นข้าวสาลีที่มีเมล็ดแข็ง ใส สีอ่อน ใช้สำหรับการผลิตเป็นแป้งข้าวสาลีชนิดซาโมลินา (แป้งสำหรับผลิตพาสต้า)
  • ข้าวสาลีชนิดอ่อน (soft wheat)
    • Wheat Soft white – เป็นข้าวสาลีเมล็ดอ่อน สีอ่อน มีโปรตีนและกลูเตนต่ำมาก ใช้สำหรับการผลิตเป็นแป้งข้าวสาลี สำหรับใช้ทำพาย เพสตรี
    • Wheat Soft red winter – เป็นข้าวสาลีเมล็ดอ่อน สีน้ำตาล มีโปรตีนและกลูเตนต่ำ ใช้สำหรับการผลิตเป็นแป้งข้าวสาลี สำหรับใช้ทำขนมเค้ก พาย มัฟฟิน บิสกิต

สรรพคุณของข้าวสาลี

  1. ช่วยบำรุงเส้นประสาท และช่วยให้นอนหลับ[1]
  2. ช่วยบำรุงหัวใจ และป้องกันการเกิดโรคหัวใจ[1]
  3. ช่วยลดความดันโลหิตสูง ช่วยขยายหลอดเลือด[1]
  4. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคเบาหวาน[1]
  5. ช่วยลดระดับคอเลสเตรอลในเลือด ลดไขมันในเลือด[1]

วิธีการใช้ : การใช้ตาม [1], [2] ให้นำรำข้าวสาลีมาชงกับน้ำร้อนดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น หรือนำเมล็ดมาใช้ปรุงเป็นอาหารในรูปของธัญพืช[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของข้าวสาลี

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ aconiticc acid, adenine, alkyl resorcinol, allantoin, benzoxazin-3(4H)-one-glycoside castasterone, choline, diazepam, esgostan-3-one, ferulic acid, gibberllin A, gliadin, histidine, oleic acid, quercetin, triticum, wheat germ agglutinin[1]
  • ข้าวสาลีมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ยับยั้งการดูดซึมของกลูโคส ช่วยลดความดันโลหิต ขยายหลอดเลือด ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ลดไขมันในเลือด ช่วยบำรุงเส้นประสาท เป็นยาระบาย เพราะ wheat bran, wheat germ มีผลต่อการย่อยและการดูดซึมน้ำตาลในลำไส้ ทำให้ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[1]

รายงานผลการทดลองของข้าวสาลี

รำข้าวสาลี
เมล็ดข้าวสาลี

  • เมื่อปี ค.ศ.1992 ที่ประเทศอียิปต์ ได้ทำการทดลองใช้รำข้าวสาลี แคร์รอต และเมล็ดทานตะวันกับหนูทดลอง เพื่อดูว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดและระดับคอเลสเตอรอลได้หรือไม่ ผลการทดลองพบว่า รำข้าวสาลีสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.1992 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ข้าวสาลีสามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงได้[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.2003 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองให้อาหารในหนูทดลอง โดยอาหารจะประกอบไปด้วย oligosaccharide และสารสกัดจากใบของบาร์เลย์ ข้าวสาลี ข้าวเรย์ และข้าวโอ๊ต ผลการทดลองพบว่า สามารถช่วยทำให้ไขมันในเลือดของหนูทดลองลดลงได้[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.2003 ที่ประเทศบราซิล ได้ทำการศึกษาทดลองผลของเส้นใยไฟเบอร์ในข้าวสาลีในการช่วยลดความอ้วน โดยทำการทดลองกับหนูวิสตร้าจำนวน 48 ตัว ขนาดน้ำหนัก 160 gm. โดยแบ่งหนูทดลองออกเป็น 8 กลุ่มการทดลอง ใช้เวลาการทดลองนาน 63 วัน โดยกลุ่มที่ 1-6 จะให้สารไขมันคอเลสเตอรอล 1% และให้ข้าวโอ๊ตหรือข้าวสาลี 5%, 10%, 15% ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่ 7 จะให้สารอาหารคอเลสเตอรอล 1% และใยอาหาร 5% และกลุ่มที่ 8 คือกลุ่มควบคุม ภายหลังการทดลองพบว่าหนูกลุ่มที่ 1-3 มีค่าระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดลงทั้งหมด แต่กลุ่มที่ให้ข้าวโอ๊ต ค่า HDL-C (ไขมันดี) ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คงมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะกลุ่มที่ให้ข้าวสาลี[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.2005 ที่ประเทศจีน ได้ทำการศึกษาทดลองและได้พบว่า สารฟลาโวนอยด์ในข้าวสาลี สามารถช่วยลดค่าเอนไซม์ในตับและลดระดับไขมันในเลือดได้ โดยทำการศึกษาทดลองกับหนู หลังการทดลองพบว่าค่าคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ลดลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศอิหร่าน ได้ทำการทดลองผลในการลดระดับไขมันในเลือดของข้าวสาลี โดยทำการทดลองกับผู้ป่วยหญิงจำนวน 19 คน ที่มีอายุระหว่าง 35-65 ปี และมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือด 240-300 mg./dl. โดยให้ผู้ป่วยกินข้าวสาลีที่ทำในรูป cereal ขนาด 40 gm. ทุกวัน 4 สัปดาห์ ภายหลังการทดลองได้ทำการตรวจสุขภาพของผู้ป่วยดังกล่าว ไม่พบว่าน้ำหนักร่างกายและ body mass index แตกต่างกัน ใน 2 กลุ่มการทดลอง แต่พบว่าระดับคอเลสเตอรอลรวมลดลง 11% และระดับไขมันเลว (LDL-C) ลดลง 21% แต่ค่าไตรกลีเซอไรด์และค่าไขมันดี (HDL-C) ไม่เปลี่ยนแปลง[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.2007 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการศึกษาทดลองพบว่า อาหารเสริมในรูปของเครื่องดื่ม (Skim milk) ที่มีส่วนผสมของข้าวสาลี ข้าวเจ้า ข้าวโอ๊ต และ pcyllium husk powder พบว่าเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูงและผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก โดยนำมาบดให้โมเลกุลของข้าวต่าง ๆ เล็กลงในขนาด 65 meshes และผสมกับ psyllium husk powder ประมาณ 0.05-0.5%[1]
  • เมื่อปี ค.ศ.2007 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการศึกษาพบว่า เส้นบะหมี่หรือพาสต้า ซึ่งทำมาจากข้าวสาลี, ข้าวเจ้า, gluten, psyllium husk powder เมื่อนำผงดังกล่าวมาผสมกับน้ำแล้วผสมไข่นวดให้ได้ที่ ทำเป็นเส้น โดยผสม psyllium husk powder 0.01-0.5% และส่วนผสมของข้าวสาลี : ข้าวเจ้า : gluten = 3 : 1 : 1 เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและต้องการควบคุมน้ำหนัก[1]
  • มหาวิทยาลัยพอนดิเชอรี (Pondicherry University) ประเทศอินเดีย ได้ทำการศึกษาโดยให้ผู้ป่วยเบาหวานชายและหญิงกินจมูกข้าวสาลีวันละ 30 กรัม เป็นระยะเวลา 6 เดือน ผลการทดลองพบว่า ผู้ป่วยทุกคนมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างชัดเจน โดยระดับน้ำตาลก่อนอาหารลดลงเฉลี่ย 22 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และระดับน้ำตาลหลังอาหารลดลงเฉลี่ย 41 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร[7]
  • จากการศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของต้นอ่อนข้าวสาลีในอาสาสมัครที่ได้สารก่ออนุมูลอิสระ biphenol-A ผ่านทางสิ่งแวดล้อม เมื่อดื่มน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีวันละ 100 มิลลิลิตร เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ พบว่าปริมาณของสาร biphenol-A ในปัสสาวะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแนวโน้มการลดลงของสารก่ออนุมูลอิสระมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาที่ดื่ม[6]
  • มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์การเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดแดงของต้นอ่อนข้าวสาลีในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง โดยให้ผู้ป่วยรับประทานน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีวันละ 30-100 มิลลิลิตร หรือให้รับประทานสารสกัดจากต้นอ่อนข้าวสาลีวันละ 1,000 มิลลิกรัม ติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี ผลการทดลองพบว่า ปริมาณของฮีโมโกลบินในเลือดเพิ่มขึ้น ลดปริมาณการให้เม็ดเลือดแดงเข้มข้น และลดจำนวนครั้งในการถ่ายเป็นเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเด็กที่มีภาวะเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดเบต้า และในผู้ป่วย myelodysplastic syndrome (ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของไขกระดูก ส่งผลให้ไขกระดูกไม่สามารถทำหน้าที่สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดได้อย่างเพียงพอ และอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ในอนาคต)[6]
  • ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รับประทานน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีวันละ 60 มิลลิลิตร ตลอดระยะเวลาการที่ได้รับเคมีบำบัด ทั้ง 3 รอบ พบว่าสามารถช่วยป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจางได้ดี ปริมาณของฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่มีผลต่อการตอบสนองการได้รับการรักษาจากเคมีบำบัดในผู้ป่วย และยังมีการศึกษาอื่นในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งที่อวัยวะต่าง ๆ ที่ได้ดื่มน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน (วันละ 30 มิลลิลิตร) ก็พบว่าปริมาณของฮีโมโกลบิน เกล็ดเลือด และภูมิต้านทานในร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น[6]
  • เมื่อทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างต้นอ่อนข้าวสาลีและสาหร่ายสไปรูริน่า ซึ่งเป็นพืชที่อุดมไปด้วยคลอโรฟิลล์เช่นเดียวกัน พบว่าการรับประทานแคปซูลต้นอ่อนข้าวสาลี ในขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 1 เดือน สามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มวิตามินซี เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ superoxide dismutase และช่วยลดปริมาณ malondialdehyde ในเลือดของอาสาสมัครได้ดีกว่าการรับประทานสาหร่ายสไปรูริน่าในขนาดเท่ากัน[6]
  • น้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลียังช่วยบรรเทาอาการของโรคลำไส้อักเสบได้เป็นอย่างดี โดยพบว่า ผู้ป่วยที่รับประทานน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีวันละ 100 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 1 เดือน จะสามารถช่วยบรรเทาอาการโดยรวมของโรคให้ดีขึ้น และช่วยลดการเคลื่อนไหวของลำไส้และความถี่ในการถ่ายเป็นเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ[6]

ประโยชน์ของข้าวสาลี

  1. ใช้เป็นอาหารของมนุษย์ โดยมีคุณค่าทางอาหารสูงและมีกากอาหาร จึงช่วยในการขับถ่ายของลำไส้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี หรือจะนำเมล็ดมาเพาะให้งอก ใช้ประกอบอาหารเช่นเดียวกับถั่วงอก หรือนำเมล็ดมาทำข้าวนึ่ง แล้วนำไปทำเป็นอาหาร[4]
  2. ข้าวสาลีเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ผู้เป็นโรคกระเพาะ กระเพาะอาหารอักเสบ ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงระหว่างการพักฟื้น[1]
  3. ในปัจจุบันได้มีการนำข้าวสาลีมาแปรรูปทำเป็นน้ำคั้นต้นข้าวสาลีอ่อนและมอลต์ข้าวสาลี (การทำให้ข้าวสาลีงอกเป็นต้นอ่อนแล้วนำมาคั้นเอาน้ำ) ในต่างประเทศมีการใช้นำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีกันมานานแล้วสำหรับการทำความสะอาดระบบเลือด ช่วยทำให้ระบบการทำงานของร่างกายดีขึ้น ช่วยในการย่อยอาหาร ทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจน เนื่องจากในน้ำของต้นอ่อนข้าวสาลีจะมีคลอโรฟิลล์อยู่สูงถึง 70% ซึ่งคลอโรฟิลล์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ มีองค์ประกอบคล้ายกับเม็ดเลือดแดง จึงช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด ช่วยทำความสะอาดระบบหมุนเวียนโลหิต ช่วยลดการดูดซึมของสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีสารซาโปนินที่มีฤทธิ์กำจัดสารพิษออกจากร่างกาย มีแร่ธาตุที่มีประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 90 ชนิด ที่ช่วยเพิ่มความเป็นด่างให้แก่ร่างกายและมีความสามารถในการจับกรดที่เป็นพิษต่อร่างกาย มีกรดอะมิโนไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด และมีเอนไซม์ไม่ต่ำกว่า 30 ชนิด ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ในด้านการช่วยชะลอความแก่ เป็นต้น[5]
  4. น้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี (Wheatgrass juice) สามารถช่วยเพิ่มปริมาณของเม็ดเลือดแดงในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง ช่วยป้องกันอันตรายจากอนุมูลอิสระต่าง ๆ และยังช่วยรักษาอาการลำไส้อักเสบ โดยไม่พบความเป็นพิษหรือผลข้างเคียงใด ๆ ในขนาดรับประทานวันละ 30-100 มิลลิลิตร หรือในแคปซูลขนาด 1,000 มิลลิกรัม ในระช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์จนถึง 1 ปี แต่อย่างไรก็ตามควรจะระมัดระวังในการใช้กับเด็กอ่อนหรือสตรีมีครรภ์ เพราะยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัย อีกทั้งน้ำคั้นของต้นอ่อนก็มีกลิ่นเหม็นเขียวคล้ายกับหญ้า จึงอาจไปกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ที่ไม่ชอบกลิ่นดังกล่าวได้[6]
  5. จมูกข้าวสาลี (wheat germ) คือ ส่วนที่อยู่ตรงปลายเมล็ดข้าว เป็นแหล่งของสารอาหารสำคัญ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอกลาโฮมา (Oklahoma State University) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้ข้อมูลว่าจมูกข้าวสาลีมีโปรตีนสูงกว่าแป้งสาลีถึง 3 เท่า มีเกลือแร่สูงกว่า 6 เท่า และยังอุดมไปด้วยกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ อีกทั้งยังมีกรดโฟลิกและวิตามินสูง จนวารสาร Food Research International ได้ยกให้จมูกข้าวสาลีเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันโรคโลหิตจางในแม่และความพิการทางระบบประสาทของเด็กทารก โดยพบว่าจมูกข้าวสาลี 3 ช้อนโต๊ะ จะให้ปริมาณของกรดโฟลิกสูงถึง 20% ของความต้องการใน 1 วัน นอกจากนี้จมูกข้าวสาลียังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองแตก โรคต้อกระจก ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยลดความอ้วน และช่วยในการชะลอวัยได้อีกด้วย[7]
  6. รำข้าวสาลี (wheat bran) เป็นส่วนที่มีเส้นใยอาหารสูง เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะช่วยเพิ่มปริมาณของอุจจาระ อีกทั้งเส้นใยอาหารยังมีคุณสมบัติในการช่วยดูดน้ำได้ดีมาก จึงช่วยทำให้อุจจาระนุ่ม ขับถ่ายได้ง่าย ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้ในการผลิตอาหารเสริมสุขภาพและผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์จำพวกหมูและกุ้งอีกด้วย
  7. ฟางที่เหลือใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์กินหญ้า เช่น วัว ควาย หรือนำมาใช้ทำตุ๊กตาฟาง มุงหลังคา ทำไส้เบาะ เชื้อเพลิง วัสดุรองสิ่งของในการบรรจุหีบห่อ กระดานอัด ตลอดจนการนำไปใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ด เป็นต้น[4]
  8. ข้าวสาลีเป็นพืชอาหารที่มีความสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของประชากรโลก โดยผลิตผลและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแป้งข้าวสาลี ได้แก่ แป้งสาลี ขนมปัง ขนมเค้ก ขนมอบ ซาลาเปา คุ้กกี้ แครกเกอร์ เค้ก โดนัท โรตี พาย ปาท่องโก๋ บะหมี่ พาสต้า สปาเกตตี มักกะโรนี ฯลฯ และยังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกาว แอลกอฮอล์ น้ำมัน และกลูเตนอีกด้วย[3] ส่วนเมล็ดที่นำมาบดให้แตกด้วยโม่หินสามารถนำมาใช้ทำโจ๊ก ทำข้าวต้ม ถ้านำมาลวกน้ำเดือดประมาณ 20 นาที ก็นำมาทำยำสลัดและข้าวผัดได้ ส่วนข้าวสาลีต้มสุกทั้งเมล็ด สามารถนำมาใช้ทำขนมประเภทข้าวโพดคลุกและข้าวเหนียวเปียก หรือจะนำข้าวสาลีมานวดเป็นก้อน แล้วเอาไปล้างน้ำ ก็จะได้ “มี่กึง” (gluten) เมื่อเอาไปต้มสุกก็จะได้เนื้อเทียมซึ่งเป็นโปรตีนจากพืช ที่นำมาใช้ทำอาหารเจ เช่น แกงลูกชิ้น พะโล้ เป็นต้น[4]
  9. ส่วนประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ก็เช่น การนำมาใช้ทำแบะแซ (น้ำเชื่อมข้น) โดยการเพาะเมล็ดข้าวสาลีในกระบะไม้นาน 7 วัน แล้วเอาต้นกล้าอ่อนไปโขลกคั้นกรองเอาส่วนที่เป็นของเหลว แล้วนำไปเคี่ยวกับปลายข้าวเหนียว หมักไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วค่อยคั้นเอาน้ำเชื่อมข้นออกมา, ใช้เมล็ดสุกหมักกับส่าเพื่อกลั่นเป็นเหล้า, ใช้ทำซีอิ๊วและเต้าเจี้ยว ด้วยการใช้เมล็ดข้าวสาลีและเมล็ดถั่วเหลือง คั่วแล้วบดในอัตราส่วนเท่ากัน และหมักด้วยเชื้อ Aspergillus sojae, ใช้สำหรับทำเชื้อเห็ดบางประเภท โดยการผสมเมล็ดข้าวสาลีที่นึ่งสุกกับรำละเอียด เอาไปบรรจุในขวดแบน แล้วเขี่ยเชื้อจากอาหารวุ้นใส่[4]

รูปข้าวสาลี

คุณค่าทางโภชนาการของข้าวสาลี ต่อ 100 กรัม

Nutrient|Wheat Hard white|Wheat Hard red spring|Wheat Hard red winter|Wheat Durum|Wheat Soft white|Wheat Soft red winter|Wheat bran|Wheat germ|Wheat sprouted|Unit
พลังงาน|342|329|327|339|340|331|216|360|198|(kcal)
โปรตีน|11.31|15.40|12.61|13.68|10.69|10.35|15.55|23.15|7.49|(g)
ไขมัน|1.71|1.92|1.54|2.47|1.99|1.56|4.25|9.72|1.27|(g)
คาร์โบไฮเดรต|75.90|68.03|71.18|71.13|75.36|74.24|64.51|51.80|42.53|(g)
ใยอาหาร|12.2|12.2|12.2|-|12.7|12.5|42.8|13.2|1.1|(g)
น้ำ|9.57|12.76|13.10|10.94|10.42|12.17|9.89|11.12|47.75|(g)
น้ำตาล|0.41|0.41|0.41|-|0.41|0.41|0.41|-|-|(g)
วิตามินบี1|0.387|0.504|0.383|0.419|0.410|0.394|0.523|1.882|0.225|(mg)
วิตามินบี2|0.108|0.110|0.115|0.121|0.107|0.096|0.577|0.499|0.155|(mg)
วิตามินบี3|4.381|5.710|5.464|6.738|4.766|4.800|13.578|6.813|3.087|(mg)
วิตามินบี6|0.368|0.336|0.300|0.419|0.378|0.272|1.303|1.300|0.265|(mg)
วิตามินบี9|38|43|38|43|41|41|79|281|38|(µg)
วิตามินบี12|0|0|0|0|0|0|0|0|0|(µg)
วิตามินเอ|9|9|9|0|9|0|9|0|0|(IU)
วิตามินซี|0|0|0|0|0|0|0|0|2.6|(mg)
วิตามินอี|1.01|1.01|1.01|-|1.01|1.01|1.49|-|-|(mg)
วิตามินเค|1.9|1.9|1.9|-|1.9|0|1.9|-|-|(µg)
แคลเซียม|32|25|29|34|34|27|73|39|28|(mg)
ธาตุเหล็ก|4.56|3.60|3.19|3.52|5.37|3.21|10.57|6.26|2.14|(mg)
แมกนีเซียม|93|124|126|144|90|126|611|239|82|(mg)
ฟอสฟอรัส|355|332|288|508|402|493|1,013|842|200|(mg)
โพแทสเซียม|432|340|363|431|435|397|1,182|892|169|(mg)
โซเดียม|2|2|2|2|2|2|2|12|16|(mg)
สังกะสี|3.33|2.78|2.65|4.16|3.46|2.63|7.27|12.29|1.65|(mg)

ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ข้าวสาลี”  หน้า 64-65.
  2. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ข้าวสาลี”.  หน้า 60-61.
  3. กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ข้าวสาลี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.sc.mahidol.ac.th/wiki/.  [05 ก.ย. 2014].
  4. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.  “ประโยชน์ของข้าวสาลี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : kanchanapisek.or.th/kp6/.  [05 ก.ย. 2014].
  5. สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง.  (ธีรา มูลศรี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ).  “ข้าวสาลีไทย : อาหารเพื่อสุขภาพ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : smg.brrd.in.th.  [05 ก.ย. 2014].
  6. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  (กนกพร อะทะวงษา).  “น้ำวีทกราส… น้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th.  [05 ก.ย. 2014].
  7. นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 348.  “จมูกข้าวสาลีลดน้ำตาล ลดอ้วน ชะลอวัย”.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Anna_KKK, Joaquín Ramírez, –Tico–, firoze shakir photographerno1, wicstun_tomo, jt huang, Vilseskogen, twacar)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด