ข้าวสารป่า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นข้าวสารป่า 14 ข้อ !

ข้าวสารป่า

ข้าวสารป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Pavetta tomentosa Roxb. ex Sm. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pavetta indica var. tomentosa (Roxb. ex Sm.) Hook.f.) จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]

สมุนไพรข้าวสารป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เข็มแพะ (เชียงใหม่), กระดูกงูเหลือม เข็มขาว (สุรินทร์), เข็มป่า เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของข้าวสารป่า

  • ต้นข้าวสารป่า จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก เรือนยอดแผ่กว้างระเกะระกะหรือเป็นพุ่มกลมโปร่ง ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงได้ประมาณ 1-5 เมตร ตามกิ่งเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม ส่วนกิ่งอ่อนกลวงและมีขนขึ้นปกคลุมทั่วไป เปลือกต้นด้านนอกเป็นสีน้ำตาลเข้มปนดำ มีปุ่มปมตามลำต้น เป็นสะเก็ดแตกอ้าเล็กน้อย พบขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขา ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-700 เมตร ส่วนในต่างประเทศพบในอินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และในคาบสมุทรมลายู จะออกดอกและเป็นผลในช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม[1],[2]

ต้นข้าวสารป่า

  • ใบข้าวสารป่า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวหม่น ผิวด้านบนมีขนสั้นนุ่มขึ้นประปราย ส่วนด้านล่างมีขนสั้นนุ่มขึ้นหนาแน่น เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 8-15 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีขน มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม หลุดร่วงได้ง่าย มีขนาดกว้างประมาณ 5-6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-7 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนสั้น ส่วนด้านในเกลี้ยง กิ่งก้านค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม มีตุ่มพองสีเข้มบนผิวใบด้านล่าง ซึ่งมีแบคทีเรียที่ช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้[1]

ใบข้าวสารป่า

  • ดอกข้าวสารป่า ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนง ดูคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกดอกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งหรือเหนือรอยแผลใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นหอมเป็นสีขาว ช่อดอกมีลักษณะกลมแบบหลวม ๆ มีขนาดประมาณ 10-15 เซนติเมตร ดอกย่อยนั้นมีจำนวนมาก ก้านดอกย่อยยาวได้ประมาณ 5-10 มิลลิเมตร มีขน กลีบดอกเป็นสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปแตร หลอดแคบ หลอดมีขนาดยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร ผิวด้านนอกเกลี้ยง ส่วนด้านในมีขนขึ้นหนาแน่นที่ปลายยอด แยกเป็นกลีบ 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร กลีบดอกบิดซ้อนในดอกตูม ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน ติดที่ปลายหลอดกลีบดอก สลับกับแฉกกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร อับเรณูบิดเป็นเกลียว เชื่อมติดกับปากหลอดกลีบ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบมี 2 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียยาวและเรียวมาก โดยจะยาวอย่างน้อย 2 เท่าของหลอดกลีบ โคนเกลี้ยง ปลายมีขนสั้น ๆ ยื่นยาวโผล่พ้นหลอดกลีบดอกมาก จานฐานดอกมีลักษณะเป็นรูปวงแหวน ส่วนกลีบเลี้ยง โคนจะเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ผิวด้านนอกมีขน ปลายหลอดแยกเป็น 4 กลีบ สั้น ๆ[1]

ดอกข้าวสารป่า

  • ผลข้าวสารป่า มีลักษณะคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง กลม มีพู 2 พู มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 มิลลิเมตร สีเขียวเป็นมัน เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ มีชั้นกลีบเลี้ยงกลม ๆ ด้านบน เนื้อผลบาง ภายในจะมีเมล็ด 2 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาล ด้านหนึ่งโค้ง อีกด้านหนึ่งแบน[1]

ผลข้าวสารป่า

ผลสุกข้าวสารป่า

สรรพคุณของข้าวสารป่า

  1. ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากหรือลำต้นข้าวสารป่านำไปผสมกับสมุนไพรอื่น ๆ อีกหลายชนิด ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้มะเร็ง (รากหรือลำต้น)[1]
  2. ดอกมีรสฝาดเย็น ใช้เป็นยาแก้ตาแดงตาแฉะ (ดอก)[1]
  3. เปลือกต้นมีรสเมาเบื่อ ใช้ตำคั้นเอาน้ำหยอดหูฆ่าแมลงคาในหู (เปลือกต้น)[1]
  4. ผลมีรสเมาเบื่อ ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงงอกในจมูก (ผล)[1]
  5. ใบมีรสเมาเบื่อใช้เป็นยารักษาโรคในจมูก (ใบ)[1]
  6. ใบใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการไข้ บ้างว่าใช้ใบสดนำมาบดเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[1]
  7. รากมีรสเฝื่อนใช้เป็นยาแก้เสมหะในท้องและในทรวงอก (ราก)[1]
  8. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มกินเป็นยาแก้บิด (ราก)[1]
  9. ใบใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ (ใบ)[1]
  10. ใบและรากใช้เป็นยารักษาริดสีดวงทวาร (ใบและราก)[1]
  11. รากนำมาใช้กับหญิงคลอดบุตรช้ากว่ากำหนด (ราก)[1]
  12. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยเพิ่มน้ำนมของสตรี (ราก)[1]
  13. ใบและรากใช้เป็นยาพอกฝี แก้หิด (ใบและราก)[1]

ประโยชน์ของข้าวสารป่า

  • มีบ้างที่นำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ดอกมีลักษณะสวยงามและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ข้าวสารป่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [14 มี.ค. 2015].
  2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “ข้าวสารป่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [14 มี.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by satish nikam), biodiversity.forest.go.th, www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด