ข้าวสารค่าง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นข้าวสารค่าง !

ข้าวสารค่าง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นข้าวสารค่าง !

ข้าวสารค่าง

ข้าวสารค่าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Cardiopteris quinqueloba (Hassk.) Hassk. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cardiopteris javanica Blume, Cardiopteris lobata Wall. ex Benn. & R.Br.) จัดอยู่ในวงศ์ CARDIOPTERIDACEAE[1]

สมุนไพรข้าวสารค่าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตุ๊กตู่ (เชียงใหม่), อีบี้ (สุโขทัย), อีหวี่ (ปราจีนบุรี), ผักแต๋นแต้ (ลพบุรี), ผักแตนแต้ หวี่หวี่ (สระบุรี), ตุ๊กตู่ (ชลบุรี), ขะล๊านข่าง (ชุมพร) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของข้าวสารค่าง

  • ต้นข้าวสารค่าง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกเลื้อยพัน ทุกส่วนของต้นเมื่อฉีกขาดจะมีน้ำยางสีขาว ลำต้นมีลักษณะกลมหรือค่อนข้างแบน แตกกิ่งก้านมากและทอดยาวได้ประมาณ 2-5 เมตร มีเขตการกระจายพันธุ์จากเอเชียใต้ถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นบริเวณป่าผลัดใบ ป่าไผ่ และตามที่รกร้าง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงระดับ 600 เมตร ส่วนบริเวณที่พบในพื้นที่อุทยานฯ คือ ตามพื้นป่าราบทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณปากทางเดินขึ้นเขากำแพง[1],[2]

ต้นข้าวสารค่าง

  • ใบข้าวสารค่าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้นหรือเป็นเกลียว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบหรือเว้าเป็นแฉกประมาณ 4-9 แฉก แฉกกลางปลายแหลม ส่วนแฉกข้างปลายแหลมหรือมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-12 เซนติเมตร[1],[2]

ใบข้าวสารค่าง

  • ดอกข้าวสารค่าง ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตามซอกใบ ขนาดยาวประมาณ 4-9 เซนติเมตร มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมากเรียงออกด้านเดียว ซึ่งจะทำให้ช่อดอกโน้มไปข้างหนึ่งและมักจะม้วนงอ มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกเพศผู้อยู่ในต้นเดียวกัน ส่วนกลีบดอกนั้นเป็นสีขาว โดยดอกสมบูรณ์เพศนั้นจะมีดอกเป็นรูปหลอดรูปกรวย ปลายแยกเป็น 4-5 แฉก มีเกสรเพศผู้ 4-5 อัน ติดอยู่ใกล้ปากหลอดดอกและสลับกับกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 1 ช่อง ปลายเกสรเพศเมียแยกออกเป็น 2 แฉก ไม่เท่ากันและติดคงทนที่ผล ส่วนดอกเพศผู้จะคล้ายกับดอกสมบูรณ์เพศ แต่จะไม่มีเกสรเพศเมียและก้านดอกย่อย ดอกจะออกในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน[1],[2]

ดอกข้าวสารค่าง

  • ผลข้าวสารค่าง ผลเป็นผลสด สีเขียว ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ หรือรูปไข่กลับแกมรีลักษณะแบน ขอบแผ่เป็นครีบตามยาว มีปีก 2 ปีก มีเส้นแขนงละเอียดเรียงขนานกัน ขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ปลายผลเว้าตื้น และที่ปลายสุดเป็นติ่งของยอดเกสรเพศเมียที่ยังคงความเขียวอยู่ได้นานและปรากฏให้เห็นเด่นชัด ภายในผลมีเมล็ดเดียว ออกผลในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม[1],[2]

ข้าวสารค่าง

สรรพคุณของข้าวสารค่าง

  • ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบข้าวสารค่างนำมาตำผสมกับเหง้าไพลและมันหมูห่อใบตอง หมกไฟ ใช้ประคบรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา (ใบ)[1],[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ข้าวสารค่าง”.  หน้า 60.
  2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “ข้าวสารค่าง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [16 มี.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Đức Trọng Nghiêm), biodiversity.forest.go.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด