ข้าวฟ่างสมุทรโคดม
ข้าวฟ่างสมุทรโคดม ชื่อสามัญ Negro Guinea Grass, Millet Grass, Sorghum เป็นต้น[1]
ข้าวฟ่างสมุทรโคดม ชื่อวิทยาศาสตร์ Sorghum bicolor (L.) Moench (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sorghum vulgare Pers.)[1] จัดอยู่ในวงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)[1]
สมุนไพรข้าวฟ่างสมุทรโคดม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เข้าฟ่างสมุทรโคดม (ชุมพร), ข้าวป้างนก ข้าวป้างหางช้าง (ภาคเหนือ), ข้าวป้างงก (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ข้าวฟ่าง จังหันมะพุด สมุทรโคดม (ภาคกลาง), เข้าป้างหางช้าง มกโคดม มุทโคดม (ภาคใต้), จังหันมะพูด (ไทย), ดั่วป้าง (ม้ง), เพล่เส่อแบ เป่เส่อแบล (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), เกาเลี้ยง ฮวงซู่ (จีน) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของข้าวฟ่างสมุทรโคดม
- ต้นข้าวฟ่างสมุทรโคดม จัดเป็นพรรณไม้จำพวกหญ้า ลำต้นมีลักษณะกลม สูงได้ประมาณ 3-4 เมตร ตามบริเวณข้อจะมีขนสั้นสีน้ำตาล ซึ่งมองเห็นได้ชัด ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด[1]
- ใบข้าวฟ่างสมุทรโคดม ใบออกสลับกัน ลักษณะของใบจะแคบเป็นเส้นยาวประมาณ 50 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 4 เซนติเมตร ปลายใบแหลมคม บริเวณท้องใบไม่มีขน แต่จะมีผงสีขาวนวล เส้นกลางใบจะแข็ง ส่วนขอบใบและหลังใบจะมีขนสั้น ๆ[1]
- ดอกข้าวฟ่างสมุทรโคดม ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอด มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร[1]
- ผลข้าวฟ่างสมุทรโคดม ผลมีลักษณะกลมเท่ากับเมล็ดพริกไทย โผล่พ้นออกมาจากเปลือก ผลแก่จะมีเนื้อแข็ง ผิวภายนอกผลเป็นมัน ส่วนเมล็ดจะเป็นสีน้ำตาลออกเทา และมีแป้งมาก[1]
สรรพคุณของข้าวฟ่างสมุทรโคดม
- ใช้เมล็ดแห้งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน จะมีรสชุ่ม มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงและให้พลังงาน (เมล็ด)[1]
- ใช้เป็นยารักษาโรคประสาท ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ด้วยการใช้รากข้าวฟ่างสมุทรโคดมแห้งประมาณ 30 กรัม ผสมกับเหง้าว่านน้ำเล็ก (Acorus gramineus soland.) 15 กรัม, หญ้าปล้องจีน (Juncus effuses L.) 15 กรัม, ใบไผ่ขมจีน (Pleioblastus amarus (Keng) Keng f.) 5 ใบ (จะใช้รากข้าวฟ่างสมุทรโคดมเพียงอย่างเดียวก็ได้) แล้วนำมาผสมกันต้มกับน้ำกิน (รากแห้ง)[1]
- ใช้เป็นยารักษาอาการไอ หอบ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 15 กรัม นำมาตุ๋นกับน้ำตาลแล้วใช้กรวดกิน (รากแห้ง)[1]
- รากสดใช้ต้มกับน้ำกินตอนอุ่น ๆ เป็นยาแก้เจ็บกระเพาะอาหาร หรือเจ็บปวดบริเวณหน้าอก (รากสด)[1]
- ใช้เป็นยารักษาโรคอหิวาตกโรค บิด ช่วยฝาดสมานลำไส้และกระเพาะอาหาร ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (เมล็ด)[1]
- ใช้รากแห้งประมาณ 15-30 กรัม ถ้าสดใช้ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำ จะมีรสชุ่ม มีสรรพคุณช่วยรักษาอาการปวดกระเพาะอาหาร และช่วยห้ามโลหิต (ราก)[1]
- ใช้รักษาระบบการย่อยอาหารไม่ดี ด้วยการใช้เมล็ดแห้งที่คัดเอาสิ่งเจือปนอื่น ๆ ทิ้งออกแล้ว นำมาคั่วจนเหลืองและมีกลิ่นหอม วางผึ่งให้เย็น ก่อนนำมากินควรบดประมาณครั้งละ 1.5-3 กรัม วันละ 3-4 ครั้ง ส่วนเด็กที่ระบบการย่อยอาหารไม่ดี ให้ใช้เมล็ดข้าวฟ่างสมุทรโคดมที่แห้งแล้วประมาณ 30 กรัม นำมาคั่วให้เหลืองและมีกลิ่นหอม และลูกพุทราคั่วจนเกรียมรวมกันบดเป็นผง ใช้กินวันละ 2 ครั้ง (เมล็ด)[1]
- ใช้เป็นยาช่วยขับปัสสาวะ ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 30-60 กรัม หรือรากแห้งประมาณ 15-30 กรัม (ถ้ารากสดใช้ประมาณ 30-60 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน (ราก, เมล็ด)[1]
- สตรีคลอดบุตรยาก (ช่วยในการเร่งคลอดทารก) ให้ใช้รากข้าวฟ่างสมุทรโคดมที่แห้งในที่ร่ม นำมาเผาให้เป็นเถ้าและบดให้เป็นผง ใช้ผสมกับเหล้ารับประทานครั้งละ 6 กรัม (รากแห้ง)[1]
- หากสตรีตกโลหิตหลังการคลอดบุตร ให้ใช้รากสดประมาณ 7 ต้น (ประมาณ 30-60 กรัม) ผสมกับน้ำตาลทรายแดงประมาณ 15 กรัม แล้วต้มกับน้ำกิน จะช่วยบรรเทาอาการตกเลือดลงได้ (รากสด)[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของข้าวฟ่างสมุทรโคดม
- ต้นอ่อน (ต้นสดและยอดอ่อน) จะมี cyanogenetic glycosides สัตว์ที่กินพืชชนิดนี้แบบสด ๆ อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ มี cyanogenetic glycosides มากในต้นอ่อน ข้าวฟ่างที่ปลอดภัยและสามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้จะเป็นข้าวฟ่างที่มีอายุประมาณ 80 วัน สัตว์ที่กินต้นสดจะมีอาการน้ำลายเป็นฟอง เดินโซเซ หัวตก หายใจถี่ สำรอกอาหาร และถึงตายได้ในที่สุด ถ้าสัตว์เริ่มมีอาการเป็นพิษ ให้ฉีดโซเดียมไนไตรท์และโซเดียมไทโอซัลเฟตเข้าหลอดเลือดดำก่อนที่จะเกิดอาการหนัก และเมื่อเมล็ดเริ่มงอก จะมีอัลคาลอยด์ hordwnine (B-P-hydroxy-phenethyl dimethyl amylamine, C10H15ON) 0.07% ซึ่งมีผลต่อการหายใจ ในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้เกิดอันตรายถึงตายได้ และในต้นอ่อนและยอดอ่อนยังมีสาร cadaverine, putrescine, P-hydroxyphenylformaldehyde, cyanogenetic glycosides และอื่น ๆ อีก[1]
- ผลข้าวฟ่างสมุทรโคดม จะมีเปลือกอยู่ประมาณ 7.3-9.3%, ไขมัน 7.8-12.1%, แป้ง 80.8-84.6% และสารจะมีสีที่เปลือกนอก โดยเปลือกผลจะมีสีแดงและสีน้ำตาลจำพวก phenolic pigments tannic acid 0.2-2.0% และ anthocyanogen จะมีรสขมเป็นพวก eriodictyol และ pelargonidin ส่วนเปลือกชั้นกลางจะมี apigenin-6-glucoside[1]
- เมล็ดมีความชื้นประมาณ 10.4-13.0%, น้ำตาล 1.2% (ส่วนมากจะเป็น sucrose 0.85%, fructose 0.09%, glucose 0.09%, raffinose, maltose 0.11%, stachyose เล็กน้อย), โปรตีน 9.73-10.29%, คาร์โบไฮเดรต 72.6% (ส่วนมากเป็นแป้ง pentosan และ cellulose), ไขมัน 2.80-3.18%, เถ้า 1.57-1.87%, แคลเซียม 51.4-127.3 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, ฟอสฟอรัส 148.6-204.0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, ธาตุเหล็ก 1.1-1.6 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, โปรตีน 10.4% มี albumin 1.3-7.7%, globulin 1.5-9.3% แต่ขาดกรดอะมิโนอย่าง lysine ส่วนเมล็ดอ่อนมี aspartic acid, lysine, glycine มากกว่าเมล็ดแก่ แต่จะมีปริมาณของ glutamic acid, proline, leucine น้อยกว่าเมล็ดแก่ เมล็ดจะมีไขมันประมาณ 2.8-3.2%, เป็นน้ำมัน 2.5%, wax 0.5% ส่วนที่เหลือนั้นจะเป็น bound lipids 0.140.28% ประกอบไปด้วย lysolecithin, lecithin, unsaponified matters 1.7-3.2% และในน้ำมันจะประกอบไปด้วย linoleic acid 40-55%, palmitic acid 6-10%, stearic acid 30.3-47%, linolenic acid 0-1% unsaponified matters นอกจากนี้ในเมล็ดยังมีวิตามินเอ 79 หน่วยสากล, Biotin 0.009-0.04 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, nicotinic acid 2.8 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, thiamine 0.37 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, pantothenic acid 0.46-1.48 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, riboflavin 0.28 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, pyridoxine 0.21-0.86 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, choline chloride 12.5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และมีสารที่มีฤทธิ์คล้าย gibberillin 12.5 ไมโครกรัม ต่อ 100 กรัม เมล็ดสีขาวจะมี carotenoids ประมาณ 1.5 ppm. และ P-coumaric acid น้ำเมล็ดมี lactic acid และ phytic acid[1]
ประโยชน์ของข้าวฟ่างสมุทรโคดม
- เมล็ดใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์[1]
- เมล็ดอาจนำมาหมักกับเหล้า จะได้เหล้าที่มีกลิ่นหอม หรืออาจนำมาใช้หุงเป็นอาหาร หรือทำเป็นขนมก็ได้ ด้วยการนำเมล็ดตากแห้งนำไปทอดให้พองแล้วใช้ทำเป็นขนม[1],[2]
- เมล็ดที่นำมาคั่วให้พองแล้วสามารถนำมารับประทานได้ (คั่วกินเหมือนข้าวตอก) หรืออาจนำเมล็ดที่คั่วจนพองนี้ไปย้อมสีต่าง ๆ และทำเป็นดอกไม้เทียม[1],[2]
ข้อห้ามในการใช้ข้าวฟ่างสมุทรโคดม
- สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1]
- เมล็ดที่มีเชื้อราจำพวก Rhizopus nigricans จะมีสารที่เป็นพิษ คือสาร alfatoxin เมื่อกินเข้าไปแล้วจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ร่างกายเสียน้ำมาก กระหายน้ำ ปัสสาวะมาก และเป็นตะคริว[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ข้าวฟ่างสมุทรโคดม”. หน้า 120-124.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “สมุทรโคดม, ข้าวฟ่าง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [31 มี.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ventilago, Scot Nelson, Adriano, carlos mancilla)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)