ข่าต้น สรรพคุณและประโยชน์ของต้นข่าต้น 13 ข้อ ! (เทพทาโร)

ข่าต้น สรรพคุณและประโยชน์ของต้นข่าต้น 13 ข้อ ! (เทพทาโร)

ข่าต้น

ข่าต้น ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum porrectum (Roxb.) Kosterm. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cinnamomum parthenoxylon (Jack) Meisn.) จัดอยู่ในวงศ์อบเชย (LAURACEAE)[1],[2]

สมุนไพรข่าต้น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พลูต้นขาว (เชียงใหม่), เทพทาโร เทพธาโร (ปราจีนบุรี), กะเพาะต้น กระเพราต้น พลูต้น (สระบุรี), ข่าต้น (กรุงเทพฯ), ตะไคร้ต้น (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), จะไคหอม จะไคต้น จะไค้ต้น (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), จวง จวงหอม ไม้จวง (ภาคใต้), มือแดกะมางิง มือแดกะมาริง (มลายู-ปัตตานี), เซียงจาง หวางจาง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของข่าต้น

  • ต้นข่าต้น จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ บางต้นอาจสูงได้ถึง 25 เมตร เนื้อไม้จะฟ่ามเบาเป็นสีน้ำตาลอ่อน ๆ และมีกลิ่นหอมฉุน ร้อน ๆ คล้ายกลิ่นการบูรหรือคล้ายกลิ่นของเทพทาโร พบขึ้นทั่วไปตามป่าเชิงเขา มีมากตามเชิงเขาสระบาปและบ้านอ่างจังหวัดจันทบุรี และตามป่าจังหวัดปราจีนบุรี สระบุรี ซึ่งชาวบ้านในจังหวัดปราจีนบุรีจะเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า “เทพทาโร” (ออกเสียงว่า เทบ-พะ-ทา-โร) กลับกันกับจังหวัดอื่น ๆ[1]

ต้นข่าต้น

  • ใบข่าต้น ออกใบดกและหนาทึบเป็นไม้ร่มได้ดี[1] ใบเป็นใบประกอบ ออกเรียงสลับ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร มีเส้นใบคล้ายขนนก เรียงเป็นคู่ประมาณ 6-8 คู่ มีกิ่งขนาดเล็ก[2]

ใบข่าต้น

  • ดอกข่าต้น ดอกมีขนาดเล็ก ออกเป็นช่อคล้ายร่ม กลีบดอกมี 6 กลีบ กลีบดอกนั้นมีลักษณะเป็นรูปไข่ สีขาวอมเขียว ภายในดอกมีขนเล็กน้อย ดอกมีเกสรเพศผู้ 9 อัน[2]

ดอกข่าต้น

  • ผลข่าต้น ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมไข่กลับสีดำ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ตรงขั้วเมล็ดจะมีสีแดง รูปเป็นแบบลูกกลมสามเหลี่ยม[2]

ผลข่าต้น

ข้อควรรู้ : พรรณไม้ชนิดนี้จะมีลักษณะต่างกับต้นเทพทาโร คือ เทพทาโรนั้นจะมีเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อน มีจำหน่ายตามร้านสมุนไพรทั่วไป[1]

สรรพคุณของข่าต้น

  1. เนื้อไม้มีรสเผ็ด มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ (เนื้อไม้)[1]
  2. ตำรับยาแก้ไข้หวัด แก้ไอ อาการไอเรื้อรัง ตัวร้อน ออกหัดตัวร้อน ให้ใช้เมล็ดข่าต้นประมาณ 5-6 กรัม นำมาบดให้เป็นผงชงกับน้ำรับประทาน (เมล็ด)[2]
  3. เนื้อไม้ใช้ปรุงเป็นยาหอมลม รักษาท้องขึ้น อืดเฟ้อ จุกเสียด (เนื้อไม้)[1]
  1. ใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ (เนื้อไม้)[1]
  2. รากใช้ดองกับเหล้ารับประทานเป็นยาขับลมชื้นในร่างกาย (ราก)[2]
  3. ใช้เป็นยาแก้กระเพาะลำไส้อักเสบ ขับลมในกระเพาะลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดท้องน้อย (ใบ, ผล, ราก, เปลือก)[2]
  4. ตำรับยาแก้บิด จะใช้เมล็ดข่าต้นประมาณ 5-8 กรัม นำมาต้มกับใบยูคาลิปตัสประมาณ 6-8 กรัม รับประทาน (ตำรับยานี้มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอด้วย) (เมล็ด)[2]
  5. เนื้อไม้ใช้ปรุงร่วมกับสะค้านและต้นดาวเรือง นำมารับประทานเป็นยารักษาฝีลม (เนื้อไม้)[1]
  6. ใช้เป็นยาช่วยขับโลหิตและน้ำเหลือง (เนื้อไม้)[1]
  7. ใบมีประสิทธิภาพในการห้ามเลือดและช่วยสมานแผลสด (ใบ)[2]
  8. ใช้เป็นยาแก้ฟกช้ำ ไขข้ออักเสบ เนื่องจากมีลมชื้นเกาะติดภายใน ด้วยการใช้รากนำมาดองกับเหล้ารับประทาน (ราก)[2]
  9. ตำรับยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดเส้นเอ็น ให้ใช้รากข่าต้น 20 กรัม, เจตมูลเพลิง 15 กรัม, โกฐหัวบัว 20 กรัม, โกฐเชียง 15 กรัม และโกฐสอ 10 กรัม นำมาแช่กับเหล้ารับประทาน (ตำรับนี้ใช้เป็นยาขับลมชื้นในร่างกายได้เช่นเดียวกับการใช้รากเดี่ยว ๆ) (ราก)[2]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [2] ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-18 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของข่าต้น

  • ในใบข่าต้นพบน้ำมันระเหย 2.6-3.3% มีส่วนประกอบเช่น การบูร น้ำมันเขียว น้ำมันไพล น้ำมันสน เป็นต้น[2]
  • ในเมล็ด กิ่ง เปลือกต้น และรากข่าต้น พบน้ำมันระเหยประมาณ 2-4% ในน้ำมันระเหยพบ Safrale 60-95%, Eugenol (น้ำมันกานพลู), Cinnamic Aldehyde และ B-pinene Phellandrene[2]

ประโยชน์ของข่าต้น

  • ใช้ทำเป็นไม้ตีพริก เพื่อทำให้พริกมีกลิ่นหอม และใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ด้วย[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ข่าต้น”.  หน้า 104-105.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ข่าต้น”.  หน้า 122.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Paco Garin)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด