ขี้หนอน
ขี้หนอน ชื่อวิทยาศาสตร์ Zollingeria dongnaiensis Pierre จัดอยู่ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)[1],[2]
สมุนไพรขี้หนอน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้มอด (ขอนแก่น, นครราชสีมา)[1]
ลักษณะของขี้หนอน
- ต้นขี้หนอน จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 20 เมตร เรือนยอดเป็นรูปไข่หรือเป็นพุ่มกลม โปร่ง เปลือกต้นด้านนอกเป็นสีเทาดำ เรียบ แตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ มีรูระบายอากาศสีน้ำตาลทั่วไป ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีขาว ตามลำต้นหรือกิ่งไม้จะมีหนามยาว ๆ อยู่ประปราย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในป่าผลัดใบ ชายป่า ที่รกร้างและด้านหลังชายหาด ที่ความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลปานกลางถึง 375 มิลลิเมตร[1],[2]
- ใบขี้หนอน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงเวียนสลับ มีประมาณ 5-8 คู่ ใบย่อยออกเรียงตรงข้ามกัน หรือเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือสอบ โคนใบเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-16 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนสั้นนุ่ม แผ่นใบห่อเข้าเล็กน้อย เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 7-9 เส้น ส่วนก้านใบย่อยยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร[2]
- ดอกขี้หนอน ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงตามซอกใบค่อนไปทางปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ และเป็นแบบแยกเพศ กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวมี 5 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงประมาณพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม[2] ดอกมีพิษถ้ากินเข้าไปจะทำให้ตายได้[1]
- ผลขี้หนอน ผลเป็นผลแห้ง มีปีกยาว 3 ปีก เรียงตามยาว ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลจะแก่ในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม[2]
สรรพคุณของขี้หนอน
- ด่างไม้ใช้เป็นยาแก้โรคกระษัย (ด่างไม้)[2]
- เปลือกใช้เป็นยาแก้ไข้ ดับพิษร้อน แก้หวัดคัดจมูก ด้วยการนำเปลือกมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาแช่กับน้ำตีให้เป็นฟองสีขาว แล้วใช้ฟองนั้นสุมหรือพอกศีรษะเด็ก (เปลือกต้น)[1],[2]
- ใช้เป็นยาแก้หวัด คัดจมูก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
- เปลือกใช้ผสมเป็นยาเขียวแก้ร้อนใน (เปลือก)[4]
- ใบใช้เป็นยาแก้ร้อน (ใบ)[2]
- ด่างไม้ใช้เป็นยาแก้นิ่ว ขับปัสสาวะ (ด่างไม้)[2]
- ใช้เป็นยาขับมุตกิดของสตรี (ด่างไม้)[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของขี้หนอน
- ขี้หนอนมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ไม่พบความเป็นพิษ เมื่อให้สารสกัดจากใบด้วยเอทานอลและน้ำในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนัง[2]
- สมุนไพรชนิดนี้มีความเป็นพิษเช่นเดียวกับมะคำดีควาย คือ เป็นพิษต่อสัตว์เลือดอุ่น ถ้ากิน Saponin จะทำให้อาเจียนและท้องร่วง ถ้านำมาฉีดเข้าเส้นเลือดจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก (ศาสตราจารย์พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ)
ประโยชน์ของขี้หนอน
- ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก[5]
- ฟองที่ได้จากเปลือกนั้นสามารถนำมาล้างเครื่องเพชรได้เช่นเดียวกับมะคำดีควาย[1] และยังสามารถนำมาใช้ซักผ้าได้อีกด้วย[3]
- ผลใช้ทำเป็นเครื่องประดับ[3]
- ในด้านการเป็นไม้ประดับ ต้นขี้หนอนจัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีพุ่มใบหนา เรือนยอดค่อนข้างกลม สามารถปลูกเพื่อให้ร่มเงาได้ดี เมื่อผลัดใบแล้วจะออกดอกขาวบานสะพรั่ง ปลูกได้ง่ายและโตเร็ว ใช้พื้นที่ปลูกเพียง 3×3 เมตร[2]
- ในด้านการเป็นไม้ฟืนหรือถ่านไม้ เป็นฟืนที่ให้ความร้อน 4,543 แคลอรี/กรัม เป็นถ่านไม้ที่ให้ความร้อนถึง 6,989 แคลอรี/กรัม[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ขี้หนอน”. หน้า 138.
- การสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี). “ขี้หนอน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : inven.dnp9.com/inven/. [31 ม.ค. 2015].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ขี้หนอน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [31 ม.ค. 2015].
- ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ขี้หนอน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.goldenjubilee-king50.com. [31 ม.ค. 2015].
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ขี้หนอน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [31 ม.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.biogang.net (by sundab), www.the-than.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)