ขี้ครอก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นขี้ครอก 15 ข้อ !

ขี้ครอก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นขี้ครอก 15 ข้อ !

ขี้ครอก

ขี้ครอก ชื่อสามัญ Caesar weed, Hibiscus burr, Jute africain[5]

ขี้ครอก ชื่อวิทยาศาสตร์ Urena lobata L. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)[1],[2]

สมุนไพรขี้ครอก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ชบาป่า (น่าน), ขี้หมู (นครราชสีมา), ขมงดง (สุโขทัย), ปอเส้ง (ปัตตานี), หญ้าผมยุ่ง หญ้าอียู ขี้คาก (ภาคเหนือ, ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ขี้ครอก (ภาคกลาง), ปอเส็ง เส็ง เส้ง ปูลู (ภาคใต้), หญ้าหัวยุ่ง (ชาน-แม่ฮ่องสอน), บอเทอ ปะเทาะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ปูลุ (มลายู-นราธิวาส), ทอมทัก (ลั้วะ), ซัวโบ๋เท้า (จีน), ตี้เถาฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3],[5]

ลักษณะของขี้ครอก

  • ต้นขี้ครอก จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สูงได้ประมาณ 0.5-2 เมตร เปลือกเหนียว ลำต้นเป็นสีเขียวแกมเทา ตามลำต้นและกิ่งก้านมีขนลักษณะเป็นรูปดาวปกคลุมทั่วไป[1],[5] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ชอบความชื้นปานกลางและแสงแดดแบบเต็มวัน มักขึ้นตามป่าราบและที่ลุ่มรกร้างทั่วไป และมีปลูกมากตามสวนยาจีนทั่วไป[2]

ต้นขี้ครอก

  • ใบขี้ครอก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบที่อยู่บริเวณโคนต้นจะมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดกว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ปลายแยกออกเป็นแฉกตื้น ๆ 3 แฉก โคนใบกลมหรือเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ส่วนใบที่อยู่บริเวณกึ่งกลางของลำต้นจะมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 3-6.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร และใบที่อยู่ส่วนยอดหรือใกล้ยอดจะเป็นรูปกลมยาวถึงรูปใบหอก มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนมีขนนุ่ม ส่วนด้านล่างมีขนรูปดาวสีขาวอมเทา ท้องใบด้านล่างจะมีสีอ่อนกว่าหลังด้านบนใบ มีเส้นใบ 3-7 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร มีขนรูปดาวสีขาวอมเทา หูใบคล้ายเส้นด้าย ยาวได้ประมาณ 2 มิลลิเมตร หลุดร่วงได้ง่าย[1],[3],[4]

รูปต้นขี้ครอก

ใบขี้ครอก

  • ดอกขี้ครอก ออกดอกเดี่ยวรูปไข่กลม ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร หรือออกเป็นกระจุกตามซอกใบประมาณ 2-3 ดอก ริ้วประดับติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีขนาดสั้นกว่าริ้วประดับ ทั้งกลีบเลี้ยงและริ้วประดับจะมีขนรูปดาวขึ้นปกคลุม ส่วนกลีบดอกเป็นสีชมพูมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ด้านนอกมีขนรูปดาวขึ้นปกคลุม ตรงกลางดอกเป็นสีชมพูเข้มถึงสีแดง ตรงกลางมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 15 มิลลิเมตร เกลี้ยง อับเรณูมีจำนวนมากติดรอบหลอด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ อยู่ภายในหลอดเกสรเพศผู้ มีอยู่ 5 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีไข่อ่อน 1 หน่วย และมีเกสรเพศเมียเป็นรูปทรงกระบอก ก้านเรียวเล็ก ยาวพ้นหลอดเกสรเพศผู้ แตกเป็น 10 แฉก มีขนแข็งขึ้นประปราย เมื่อดอกบานจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร มีขน[1],[3],[4],[5]

สมุนไพรขี้ครอก

ดอกขี้ครอก

  • ผลขี้ครอก ผลมีลักษณะกลมหรือรูปกลมแป้น มีขนรูปดาวขึ้นปกคลุม ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวผลมีหนามแข็งสั้นหัวลูกศรและมีน้ำเหนียวติด เมื่อผลแห้งจะแตกออกได้เป็นพู 5 พู แต่ละพูจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไตสีน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร[1],[3],[4],[5] สำหรับวิธีการป้องกันและกำจัดจะใช้วิธีการเขตกรรม โดยการถากหรือตัดให้สั้นลงเพื่อไม่ให้ออกดอก หรือขุดทิ้ง และใช้สารเคมีต่าง ๆ เช่น โดเรมี, อามีทรีน, ทัชดาวน์, ไกลโพเซต 16 เป็นต้น[5]

ผลขี้ครอก

ผลขี้ครอก

เมล็ดขี้ครอก

สรรพคุณของขี้ครอก

  1. รากขี้ครอกใช้รับประทานเป็นยาเย็น มีสรรพคุณเป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ทั้งปวง (ราก)[1],[2],[3]
  2. ใช้เป็นยากระจายเลือดลม (ต้น, ราก, ใบ)[3]
  3. ใช้เป็นยาแก้ไข้หวัดตัวร้อน รักษาอาการไอเป็นเลือด (ต้น, ราก,ใบ)[3]
  4. ตำรายาไทยจะใช้ใบขี้ครอก นำมาต้มกับน้ำจิบแก้ไอ ขับเสมหะ ดับพิษเสมหะ (ใบ)[1],[2],[3]
    ใช้เป็นยาแก้บิด รักษาโรคบิดเฉียบพลัน ด้วยการใช้รากสด 500 กรัม นำมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นแว่น ๆ ต้มกับน้ำ 1,000 ซีซี โดยต้มจนเหลือน้ำ 500 ซีซี ใช้แบ่งรับประทาน ในเด็กอายุ 1-3 ขวบ ให้รับประทานวันละ 80 ซีซี เด็กอายุ 4-9 ปี ให้รับประทานวันละ 200 ซีซี ส่วนเด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป ให้รับประทานวันละ 250 ซีซี โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง (ราก)[3]
  1. ต้นและใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ต้นและใบ, ทั้งต้น)[1],[2]
  2. ใช้เป็นยาแก้นิ่ว (ต้น, ราก, ใบ)[3]
  3. ใช้เป็นยาแก้มุตกิด ตกขาวของสตรี (ต้น, ราก, ใบ)[3]
  4. ตำรายาพื้นบ้านจะใช้รากขี้ครอกผสมกับสมุนไพรอื่น เช่น รากพญาดง ในปริมาณเท่ากัน นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มเคี่ยว ใช้ดื่มแก้หนองใน (ราก)[1]
  5. ต้นและใบใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไตพิการ แก้พิษน้ำเหลืองเสีย (ต้นและใบ, ทั้งต้น)[1],[2],[3]
  6. ทั้งต้นใช้ตำพอกเป็นยาห้ามเลือด ช่วยสมานแผลสด (ทั้งต้น)[3]
  7. ทั้งต้นใช้ตำพอกแก้ฟกช้ำดำเขียว แก้ฝี แก้ฝีเท้านม แก้พิษงู (ทั้งต้น)[3]
  8. ใช้เป็นยาขับลมชื้นในร่างกาย (ต้น, ราก, ใบ)[3]
  9. ใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายเนื่องจากลมชื้นเข้าแทรก (ต้น, ราก, ใบ)[3]
  10. รากใช้เป็นยาพอกแก้โรคปวดข้อ (ราก)[4]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [3] รากแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม ใบและต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม ส่วนทั้งต้นสดนำมาตำพอกบริเวณที่ต้องการ โดยใช้ประมาณ 30-60 กรัมต่อหนึ่งครั้ง[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของขี้ครอก

  • สารที่พบ ได้แก่ สารพวก Phenols, Amino acid, Glucolin 21.92% และในเมล็ดพบน้ำมัน 13-14%[3]
  • สารสกัดจากทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตและลดไข้ในสัตว์ทดลอง[1]
  • สารสกัดจากราก ผล และใบขี้ครอก มีฤทธิ์ต้านการเจริญของเชื้อรา[1]
  • สารสกัดจากเมล็ดขี้ครอกด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ต้านการเจริญของเชื้อราได้ดีมาก[1],[4]

ประโยชน์ของขี้ครอก

  • ชาวลั้วะจะใช้ลำต้นของขี้ครอกนำมาทำเป็นไม้กวาด[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ขี้ครอก”.  หน้า 220.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ขี้ครอก”.  หน้า 137-138.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ขี้ครอก”.  หน้า 136.
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ขี้ครอก”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7 (ก่องกานดา ชยามฤต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [01 ก.พ. 2015].
  5. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  (ไพร มัทธวรัตน์).  “ขี้ครอก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : clgc.rdi.ku.ac.th.  [01 ก.พ. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Suede Chen, techieoldfox, SierraSunrise, Jerry Oldenettel, Đức Trọng Nghiêm, Nieminski, Nelindah, Prof Dr Kamarudin Mat-Salleh)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด