กุ่มบก สรรพคุณและประโยชน์ของกุ่มบก 36 ข้อ !

กุ่มบก

กุ่มบก ชื่อสามัญ Sacred barnar, Caper tree, Sacred garlic pear, Temple plant

กุ่มบก ชื่อวิทยาศาสตร์ Crateva adansonii subsp. trifoliata (Roxb.) Jacobs (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Crateva erythrocarpa Gagnep.) จัดอยู่ในวงศ์กุ่ม (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE)

สมุนไพรกุ่มบก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กุ่ม, ผักกุ่ม, กะงัน ก่าม ผักก่าม สะเบาถะงัน (ภาคอีสาน), เดิมถะงัน ทะงัน (เขมร) เป็นต้น

ต้นกุ่มบก ในภาษาบาลีจะเรียกว่า “ต้นกักกุธะ” หรือ “ต้นกกุธะ” ส่วนชาวฮินดูจะเรียกว่า “มารินา” ซึ่งตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงนำผ้าบังสุกุลที่ห่อศพนางมณพาสีในป่าช้าผีดิบ (อามกสุสาน) ไปซัก แล้วนำผ้าบังสุกุลดังกล่าวไปตากที่ต้นกุ่มบก โดยพฤกษเทวดาที่สถิตอยู่ ณ ต้นกุ่มบก ก็ได้น้อมกิ่งของต้นให้ต่ำลงเพื่อให้พระพุทธเจ้าทรงตากจีวร

ลักษณะของกุ่มบก

  • ต้นกุ่ม หรือ ต้นกุ่มบก กุ่มบกมีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตามเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 6-10 เมตร ลำต้นมีสีเทาหรือสีน้ำตาลอมเทา เปลือกต้นหนาค่อนข้างเรียบ มีเนื้อไม้หนาขาวปนเปลือง เนื้อละเอียด มักขึ้นตามที่ดอนและในป่าผลัดใบ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบต้นกุ่มได้มากทางภาคใต้และภาคกลาง เช่น จังหวัดกระบี่ ชุมพร พังงา และระนอง

ต้นกุ่ม

ต้นกุ่มบกลำต้นกุ่มบก

  • ใบกุ่มบก มีใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อยอยู่ 3 ใบ ก้านใบประกอบมีความยาวประมาณ 7-9 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี มีความกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7.5-11 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลมหรือแหลม ส่วนโคนใบแหลมหรือสอบแคบ ขอบใบเรียบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างโคนใบเบี้ยว แผ่นใบค่อนข้างหนา มีเส้นแขนงของใบข้างละ 4-5 เส้น ที่ก้านใบย่อยมีความยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร

ใบกุ่มบก

  • ดอกกุ่มบก ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะ ออกบริเวณตามง่ามใบใกล้กับปลายยอด ก้านดอกมีความยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงรูปรี มีความกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร เมื่อแห้งมักเป็นสีส้ม กลีบดอกมีสีขาวอมเขียวแล้วจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีชมพูอ่อน กลีบดอกเป็นรูปรี กว้างประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.2-1.8 เซนติเมตร ที่โคนกลีบดอกเป็นเส้นคล้ายก้าน ยาวประมาณ 3-7 มิลลิเมตร มีเกสรตัวผู้สีม่วงอยู่ประมาณ 15-22 อัน ส่วนก้านชูอับเรณูมีความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร และก้านชูเกสรตัวเมียมีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ส่วนรังไข่มีลักษณะค่อนข้างกลมหรือรี มี 1 ช่อง ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ และจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม

ดอกกุ่มบก

  • ผลกุ่มบก ผลมีลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร เปลือกมีจุดแต้มสีน้ำตาลอมแดง ผิวนอกแข็งและสาก เมื่อผลแก่เปลือกจะเรียบและมีสีน้ำตาล (ผลจะแก่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม) ส่วนก้านผลกว้างประมาณ 2-4 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-13 เซนติเมตร ด้านในผลมีเมล็ดจำนวนมาก

ผลกุ่ม

ลูกกุ่มบกผลกุ่มบก

  • เมล็ดกุ่มบก เมล็ดมีลักษณะคล้ายรูปเกือกม้าหรือรูปไต ผิวเรียบ ขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร

เมล็ดกุ่มบก

สมุนไพรกุ่มบก โดยทั่วไปแล้วคนไทยสมัยก่อนมักปลูกต้นกุ่มไว้เป็นอาหารและเป็นยาสมุนไพรรักษาโรค โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แก่ ผล, ใบ, ดอก, เปลือกต้น, กระพี้, แก่น, ราก และเปลือกราก นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าต้นกุ่มจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง เพราะมีความเชื่อว่าการปลูกต้นกุ่มเป็นไม้ประจำบ้านจะช่วยทำให้ครอบครัวมีฐานะมั่นคง เป็นกลุ่มเป็นก้อน เหมือนชื่อของต้นกุ่ม โดยจะนิยมปลูกไว้ทางทิศตะวันตกของบ้าน

สรรพคุณของกุ่มบก

  1. รากนำมาแช่น้ำ ใช้ทำเป็นยาช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก)
  2. รากกุ่มบกช่วยแก้มานกษัยอันเกิดแต่กองลม (ราก)
  3. เปลือกต้นมีรสร้อน ช่วยคุมธาตุในร่างกาย (เปลือกต้น)
  4. ช่วยบำรุงธาตุไฟในร่างกาย (เปลือกต้น)
  5. เปลือกต้นใช้เป็นยาระงับประสาทและยาบำรุง (เปลือกต้น)
  1. ใบต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงหัวใจ (ใบ, เปลือกต้น)
  2. ช่วยบำรุงเลือดในร่างกาย (แก่น)
  3. ดอกและยอดอ่อนนำมาดอง ใช้รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ดอก, ใบ, เปลือกต้น)
  4. ช่วยแก้ไข้ตัวร้อน (ใบ, ดอก, เปลือกต้น)
  5. ใบกุ่มบกช่วยขับเหงื่อ (ใบ)
  6. ใบกุ่มบกใช้แช่หรือดองกับน้ำกินช่วยแก้ลม (ใบ)
  7. กระพี้ช่วยทำให้ขี้แห้งออกมา (กระพี้)
  8. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เปลือกต้น)
  9. ช่วยแก้อาการสะอึก (เปลือกต้น)
  10. ดอกช่วยแก้อาการเจ็บคอ (ดอก)
  11. ช่วยขับลมในลำไส้ (ใบ,เปลือกต้น)
  12. ผลกุ่มใช้เป็นยาแก้อาการท้องผูกได้ (ผล)**
  13. กระตุ้นลำไส้ให้ช่วยในการย่อยอาหาร (เปลือกต้น)
  14. ใช้เป็นยาระบาย (เปลือกต้น)**
  15. เปลือกกุ่มบกช่วยแก้อาการปวดท้อง อาการปวดมวนท้อง แก้ลงท้อง (เปลือกต้น)
  16. ช่วยขับพยาธิ ฆ่าแม่พยาธิ เช่น พวกตะมอย (ใบ)
  17. แก่นช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร (แก่น)
  18. ช่วยในการขับปัสสาวะ รักษาโรคนิ่ว (เปลือกต้น)**
  19. ช่วยแก้โรคนิ่ว ขับนิ่ว (เปลือกต้น, แก่น)
  20. ช่วยขับน้ำดี (เปลือกต้น)
  21. ช่วยขับน้ำเหลือง (เปลือกต้น)**
  22. แก่นช่วยแก้ริดสีดวงทวารผอมเหลือง (แก่น)
  23. ช่วยแก้อาการบวม (เปลือกต้น)
  24. เปลือกใช้เป็นยาทาภายนอก ช่วยแก้โรคผิวหนัง (เปลือกต้น, ใบ)
  25. ใบนำมาตำใช้ทาแก้กลากเกลื้อน (ใบ)
  26. รากนำมาใช้ขับหนองได้ (ราก)
  27. ใบและเปลือกรากสามารถนำมาใช้ทาถูนวดเพื่อให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมาก ๆ ได้ (ใบ, เปลือกราก)
  28. เปลือกต้นนำมาใช้ในขณะที่ถูกงูกัด สามารถช่วยลดพิษของงูได้ (เปลือกต้น)**
  29. ใช้นำไปลนไฟให้ร้อน เอามาใช้ปิดหู จะช่วยบรรเทาอาการปวด อาการปวดศีรษะ และโรคบิดได้ (ใบ)**

** คือ ข้อมูลจากเว็บไซต์สมุนไพรดอทคอม ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลจากหน่วยงานอื่น ๆ และยังไม่มีแหล่งอ้างอิงชัดเจน

ประโยชน์ของกุ่มบก

  • ต้นกุ่มเป็นไม้เนื้ออ่อนโตเร็ว มีทรงพุ่มสวยงาม ใบและดอกมีความงดงามพอที่จะใช้ปลูกเป็นประดับได้
  • ในตำราการปลูกต้นไม้ของชาวไทยถือว่าต้นกุ่มเป็นไม้มงคล สามารถปลูกเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับผู้อยู่อาศัยในบ้านเรือนได้ โดยจะนิยมปลูกไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวบ้าน

แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 187 (เดชา ศิริภัทร), เว็บไซต์กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, เว็บไซต์เขื่อนภูมิพล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Hai Le, mingiweng, dinesh_valke), เว็บไซต์ bloggang.com (by รัณณา)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด