กุ่มน้ำ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกุ่มน้ำ 39 ข้อ !

กุ่มน้ํา

กุ่มน้ำ ชื่อสามัญ Crataeva

กุ่มน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Crateva religiosa G.Forst. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Crataeva magna (Lour.) DC.[1]) จัดอยู่ในวงศ์กุ่ม (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE)

สมุนไพรกุ่มน้ำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เหาะเถาะ (กาญจนบุรี), อำเภอ (สุพรรณบุรี, ภาคตะวันตกเฉียงใต้), ผักกุ่ม ก่าม ผักก่าม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), รอถะ (ละว้า-เชียงใหม่, ภาคเหนือ), กุ่มน้ำ (ภาคกลาง), ด่อด้า (ปะหล่อง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของกุ่มน้ำ

  • ต้นกุ่มน้ำ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 5-20 เมตร[1] เปลือกต้นค่อนข้างเรียบ มีสีเทา จะผลัดใบร่วงหมดทั้งต้นเมื่อออกดอก มักพบได้ตามริมแม่น้ำ ข้างลำธาร หรือที่ชื้นแฉะ ในป่าเบญจพรรณ[2] หรือพบได้ตามริมน้ำลำธารในป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบที่มีความสูงระดับ 30-700 เมตรกุ่มน้ำ[1] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ และการตอนกิ่ง[6]

ต้นกุ่มน้ํา

ต้นกุ่มน้ำลำต้นกุ่มน้ำ

  • ใบกุ่มน้ำ มีใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ แผ่นใบค่อนข้างหนา สีเขียวเป็นมัน ด้านล่างใบมีสีอ่อนกว่าด้านบน มีใบย่อย 3 ใบ ก้านใบประกอบมีความประมาณ 4-14 เซนติเมตร หูใบเล็ก ร่วงได้ง่าย ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปใบหอกหรือขอบขนาน มีความกว้างประมาณ 1.5-6.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4.5-18 เซนติเมตร ปลายค่อย ๆ เรียวแหลม มีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร โคนสอบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างโคนใบจะเบี้ยวเล็กน้อย ใบย่อยไม่มีก้าน หรือถ้ามีก็ยาวไม่เกิน 5 มิลลิเมตร ใบกุ่มน้ำมีเส้นแขนงของใบข้างละประมาณ 9-20 เส้น และอาจมีถึงข้างละ 22 เส้น เส้นใบสามารถมองเห็นได้ชัดจากด้านล่าง เมื่อใบแห้งจะมีสีค่อนข้างแดง[1]

ใบกุ่มน้ำ

  • ดอกกุ่มน้ำ ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะถี่ ออกตามยอด หนึ่งช่อมีหลายดอก ก้านดอกยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม กว้างประมาณ 2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร กลีบดอกกุ่มน้ำมีสีขาว แล้วจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ใบมีลักษณะค่อนข้างกลมถึงรี มีความกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ส่วนก้านชูอับเรณูจะมีความประมาณ 3.5-6.5 เซนติเมตร และอับเรณูจะยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ก้านชูเกสรตัวเมียจะยาวประมาณ 3.5-8 เซนติเมตร ดอกมีรังไข่เป็นรูปรีหรือรูปทรงกระบอก มีอยู่ 1 ช่อง[1] มักออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน[2]

ดอกกุ่มน้ำ

รูปกุ่มน้ำ

ดอกกุ่มน้ํา

  • ลูกกุ่มน้ำ หรือ ผลกุ่มน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปกลมรี มีเปลือกหนา ผลหรือเปลือกผลมีสีนวลหรือสีเหลืองอมเทา เมื่อสุกจะเป็นสีเทา ผลแก่ผิวจะเรียบ ผลกว้างประมาณ 1.5-4.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ก้านผลยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร ก้านหนาประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ด้านในผลมีเมล็ดมาก[1]

ผลกุ่มน้ำลูกกุ่มน้ำ

  • เมล็ดกุ่มน้ำ มีลักษณะเป็นรูปเกือกม้า มีขนาดกว้างและยาวเท่า ๆ กัน คือประมาณ 6-9 มิลลิเมตร และเมล็ดมีสีน้ำตาลเข้ม[1]

สรรพคุณของกุ่มน้ำ

  1. เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาบำรุงร่างกาย (เปลือกต้น)[2]
  2. แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยบำรุงกำลัง (แก่น)[2]
  3. รากและเปลือกต้นกุ่มน้ำใช้เป็นยาบำรุงกำลังของสตรีได้[6]
  4. รากใช้แช่น้ำกิน เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก, ใบ)[2]
  5. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ)[2],[4]
  1. ช่วยแก้กษัย แก้ในกองลม หรือต้มเป็นยาตัดลมในลำไส้ (เปลือกต้น)[2]
  2. แก้ลมขึ้นเบื้องสูง (ใบ)[2]
  3. ช่วยแก้ไข้[1] (ผล, ใบ)[2] (เปลือกต้น)[2],[5]
  4. เปลือกต้นใช้เป็นยาช่วยแก้อาเจียน (เปลือกต้น)[2],[4]
  5. ดอกกุ่มบกมีรสเย็น ช่วยแก้อาการเจ็บในตา (ดอก)[2]
  6. ช่วยแก้ลมทำให้เรอ (เปลือกต้น)[2]
  7. ใบมีรสหอมขม ช่วยขับเหงื่อ (ใบ[1],[2], เปลือกต้น[2])
  8. ช่วยแก้อาการเจ็บตา (ดอก)[1]
  9. ช่วยแก้อาการเจ็บในลำคอ (ดอก)[1],[2]
  10. ช่วยแก้อาการสะอึก (ใบ)[1],[2] หรือจะใช้เปลือกต้นผสมกับเปลือกกุ่มบก เปลือกทองหลางใบมน ใช้ต้มเป็นน้ำดื่มแก้อาการก็ได้ (เปลือกต้น)[2]
  11. รากช่วยแก้อาการปวดท้อง (ราก)[3]
  12. เปลือกต้นมีรสขมหอม ช่วยขับผายลม หรือใช้เป็นยาขับลม ด้วยการใช้เปลือกต้นกุ่มน้ำผสมกับเปลือกกุ่มบก เปลือกทองหลางใบมน แล้วนำมาต้มน้ำดื่ม (เปลือกต้น, ใบ)[2]
  13. ใบกุ่มน้ำใช้เป็นยาระบาย (ใบ[2],[4], เปลือกต้น[5])
  14. ช่วยขับพยาธิ (ใบ[2], เปลือกต้น[5])
  15. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ใบ[1], กระพี้[2])
  16. ช่วยแก้ริดสีดวงผอมแห้ง (เปลือกต้น)[2]
  17. แก่นมีรสร้อน ช่วยแก้นิ่ว (แก่น)[1],[2]
  18. ช่วยขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (เปลือกต้น)[2]
  19. ช่วยขับน้ำดี (เปลือกต้น)[2]
  20. ช่วยขับน้ำเหลืองเสียในร่างกาย (เปลือกต้น)[2]
  21. รากช่วยขับหนอง (ราก)[1]
  22. เปลือกต้นใช้เป็นยาช่วยระงับพิษที่ผิวหนัง (เปลือกต้น)[2],[5]
  23. ช่วยแก้อาการครั่นเนื้อครั่นตัว (ดอก)[2]
  24. ช่วยแก้อาการปวดเส้น (ใบ)[2]
  25. แก่นกุ่มบกใช้ต้มดื่มช่วยแก้อาการปวดเมื่อยได้ (แก่น)[2]
  26. เปลือกต้นใช้ทำเป็นยาลูกกลอน ช่วยแก้อัมพฤกษ์ อัมพาตได้ (เปลือกต้น)[2]
  27. ใบกุ่มน้ำแก้โรคไขข้ออักเสบ แก้อัมพาต (ใบ)[2]
  28. ใบใช้เป็นยาทาภายนอก เป็นยาถูนวดให้เลือดมาเลี้ยงทั่วบริเวณที่นวด (ใบ)[7]

คำแนะนำในการใช้สมุนไพรกุ่มน้ำ

  • กุ่มน้ํา กิ่งและใบมีสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ซึ่งเป็นพิษ ไม่ควรใช้รับประทานสด ๆ แต่ควรทำให้สุกก่อน ด้วยการนำมาดองหรือต้มเพื่อกำจัดพิษก่อนนำมารับประทาน[2]
  • ใบแก่มีพิษ มีฤทธิ์ต่อระบบการไหลเวียนโลหิต ทำให้อาเจียน มึนงง ไม่รู้สึกตัว มีอาการหายใจลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย กระตุก ชักก่อนจะหมดสติ หากได้รับในปริมาณมาก อาจเกิดอาการรุนแรงได้ภายใน 10-15 นาที แต่ถ้าหากใช้ในปริมาณเล็กน้อยจะมีสรรพคุณเป็นยาระบาย[6]

ประโยชน์ของกุ่มน้ำ

  1. ยอดอ่อนใช้ปรุงเป็นอาหารไว้รับประทานได้ ด้วยการนำมาดองน้ำเกลือตากแดด ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน แล้วค่อยนำไปปรุงเป็นอาหาร ด้วยวิธีการแกงหรือการผัดก็ได้[2] หรือจะใช้ดอกและใบอ่อนนำไปดองหรือต้ม ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก[5] หรือจะไปปรุงเป็นอาหาร เช่น ทำอ่อม คล้ายกับแกงขี้เหล็กก็ได้[6]
  2. เนื่องจากใบและดอกกุ่มน้ำมีความสวย จึงสามารถใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ โดยเหมาะสำหรับบ้านเรือนที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง และทนต่อน้ำท่วมขังได้ดี[5]
  3. ต้นกุ่มน้ำเป็นไม้โตเร็ว มีรากลึกและแผ่กว้าง เหมาะสำหรับปลูกไว้ตามริมตลิ่งชายน้ำในแนวสูงกว่าระดับน้ำปกติในช่วงฤดูฝน หรือปลูกไว้ตามริมห้วยในพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำสายหลัก จะสามารถช่วยลดการกัดเซาะริมตลิ่งได้เป็นอย่างดี และยังทนทานต่อน้ำท่วมขังอีกด้วย[6]
  4. นอกจากปลูกต้นกุ่มไว้รับประทานเป็นอาหารและใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ต้นกุ่มยังจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันในอดีต ด้วยเชื่อว่าจะทำให้ครอบครัวมีฐานะ มีเงินเป็นกลุ่มเป็นก้อนเหมือนชื่อของต้นกุ่ม[3]
  5. ไม้กุ่มน้ำเป็นไม้เนื้ออ่อน จึงสามารถนำมาใช้ในงานแกะสลักต่าง ๆ ได้ เช่น เครื่องดนตรี เป็นต้น[6]
  6. ลำต้นกุ่มน้ำสามารถนำมาใช้ทำเป็นไหข้าวได้ (คนเมือง)[7]

คุณค่าทางโภชนาการของผักกุ่มดอง ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 88 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 15.7 กรัมกุ่มน้ำ
  • โปรตีน 3.4 กรัม
  • เส้นใย 4.9 กรัม
  • ไขมัน 1.3 กรัม
  • น้ำ 73.4 กรัม
  • วิตามินเอ 6,083 หน่วยสากล
  • วิตามินบี 1 0.08 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.25 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 1.5 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 5 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 124 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 5.3 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัม

ข้อมูลจาก : กองโภชนาการ กรมอนามัย. 2530. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม. 48 หน้า.[8]

เอกสารอ้างอิง
  1. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [6 ต.ค. 2013].
  2. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [6 ต.ค. 2013].
  3. ๑๐๘ พรรณไม้ไทย.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com.  [6 ต.ค. 2013].
  4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [6 ต.ค. 2013].
  5. ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [6 ต.ค. 2013].
  6. เกษตรอินทรีย์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: kasetintree.com.  [6 ต.ค. 2013].
  7. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [6 ต.ค. 2013].
  8. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: smc.ssk.ac.th.  [6 ต.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), www.flickr.com (by SierraSunrise, Kris Kupsch, dinesh_valke, The Boran Man, Kuttan Photography)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด