กินกุ้งน้อย
กินกุ้งน้อย ชื่อสามัญ Common spiderwort[3]
กินกุ้งน้อย ชื่อวิทยาศาสตร์ Murdannia nudiflora (L.) Brenan (ชนิดใบเล็ก), Murdannia malabaricum (L.) Santapan, Murdannia macrocarpa D.Y.Hong (ชนิดใบใหญ่) จัดอยู่ในวงศ์ผักปลาบ (COMMELINACEAE)[1],[2]
สมุนไพรกินกุ้งน้อย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักปลาบ (ทั่วไป), ผักปราบ (นครสวรรค์), กินกุ้งน้อย (เชียงใหม่), หญ้าเลินแดง (สุราษฎร์ธานี), หงเหมาเฉ่า สุ่ยจู่เฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของกินกุ้งน้อย
- ต้นกินกุ้งน้อย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุปีเดียว มีลำต้นกึ่งตั้งกึ่งเลื้อย แตกออกเป็นกอ ๆ เล็ก ๆ มีความสูงได้ประมาณ 5.5-50 เซนติเมตร ลำต้นมีเนื้ออ่อน มีขนาดเล็กเรียวทอดนอน บริเวณลำต้นจะแตกรากฝอยตามข้อ มีขนขึ้นทั่วไป ขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยเมล็ดและไหล เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีความชื้น ทนแล้งและทนน้ำท่วมขังได้ดี มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างขวางในเขตร้อนชื้นหรือกึ่งร้อนชื้นของโลก ส่วนในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ทั่วทุกภาค โดยมักพบขึ้นตามบริเวณพื้นที่ที่ชื้นทั่ว ๆ ไป ริมคูคลอง ในพื้นที่นา สนามหญ้าที่ค่อนข้างชื้นแฉะ และในดินทรายที่เป็นดินเค็ม ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงความสูงประมาณ 1,000 เมตร[1],[2],[3],[4]
- ใบกินกุ้งน้อย ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปหอกแคบ ปลายใบเรียวแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.3-1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 54.8-17.4 เซนติเมตร ผิวใบค่อนข้างเกลี้ยง หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบเป็นสีม่วง กาบใบมีขนขึ้นปกคลุม ยาวประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร[1],[2],[3]
- ดอกกินกุ้งน้อย ออกดอกเป็นกระจุกตามปลายยอดและซอกใบ ช่อดอกแตกแขนงเป็นช่อย่อย 2-3 ช่อ ในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 1-3 ดอก ดอกเป็นสีม่วงหรือสีฟ้าอ่อน ดอกมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบเลี้ยงเป็นสีม่วง ปลายกลีบเลี้ยงเป็นสีแดงเข้ม และมีกลีบดอก 3 กลีบ กลีบดอกมีสีม่วงสดกว่ากลีบเลี้ยง กลีบดอกจะมีขนาดเล็ก กว้างเพียง 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนตรงกลางดอกจะมีเกสรเพศผู้ 6 อัน ซึ่ง 4 อันเป็นหมันจะมีสีเหลืองสด และอีก 2 อันไม่เป็นหมันจะมีสีม่วง ก้านชูอับเรณูมีปุยขนยาวสีม่วง รังไข่มี 3 ช่อง ปลายก้านเกสรเพศเมียเป็นกระเปาะมี 2 พู ออกดอกในช่วงประมาณปลายฤดูฝน[1],[2],[3],[4]
- ผลกินกุ้งน้อย ผลมีลักษณะเป็นรูปรีคล้ายไข่ หรือค่อนข้างกลม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.5-5 มิลลิเมตร ผลเป็นสีเขียวอ่อน ปลายผลเป็นติ่งแหลม ผลแก่จะแห้งและแตกออกเป็น 3 พู ภายในผลมีเมล็ด 2 เมล็ด เมล็ดมีสีน้ำตาลเข้ม ผิวเมล็ดย่นหรือขรุขระเป็นร่องและเป็นหลุม ผลจะเริ่มแก่ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป[1],[2],[3],[4]
สรรพคุณของกินกุ้งน้อย
- ทั้งต้นมีรสจืด ชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและลำไส้ ใช้เป็นยาขับพิษ ขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ขับพิษร้อนในปอด แก้ไอเป็นเลือด (ทั้งต้น)[1]
- ในไต้หวันจะใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยาแก้ไข้ ลดไข้ (ลำต้น)[2] ส่วนในอินโดจีนจะใช้รากเป็นยาแก้ไข้ในเด็ก (ราก)[3]
- ใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ คออักเสบ หรือทอนซิลอักเสบ ด้วยการใช้ต้นสดนำมาคั้นเอาน้ำหรือต้มรับประทาน (ลำต้น)[1]
- ใช้รักษาฝีที่เต้านม ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น (ใบสด)[1]
- ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาลำไส้อักเสบเฉียบพลัน (ทั้งต้น)[1]
- ในนิวกินีจะใช้น้ำคั้นจากทั้งต้นนำมากินเป็นยาแก้โรคบิด และป้องกันการเป็นหมัน (ลำต้น, ทั้งต้น)[2],[4]
- ในอินโดจีนจะใช้รากเป็นยาแก้บิด แก้ปัสสาวะกะปริบกะปรอย (ราก)[4]
- ในมาเลเซียจะใบสดนำมาตำเอากากใช้พอกแผล พอกบาดแผลแก้ปวด (ใบสด)[2],[3],[4]
- ใช้ลำต้นนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำใช้ชะล้างบริเวณบาดแผล และใช้ล้างแผลที่เรื้อรัง (ลำต้น)[1],[2]
- ใบสดใช้ตำพอกบริเวณที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย (ใบสด)[1]
- ใบนำมาย่างไฟให้ร้อน แล้วนำมาถูตามจุดด่างที่เกิดเนื่องจากเชื้อรา (ใบสด)[2]
- ทั้งต้นใช้ต้มในน้ำมันเป็นยารักษาโรคเรื้อน (ลำต้น)[2],[3]
- ใช้เป็นยาลดอาการปวดบวม แก้ปวดบวม (ลำต้น)[1],[2],[4]
ขนาดและวิธีใช้ : ต้นสดให้ใช้ครั้งละ 20-40 กรัม ส่วนต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 12-20 กรัม[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกินกุ้งน้อย
- ทั้งต้นกินกุ้งน้อยมีสารอัลคาลอยด์ และ Coumarins[1]
ประโยชน์ของกินกุ้งน้อย
- ยอดใช้กินเป็นผัก[3],[4]
- เป็นแหล่งอาหารสัตว์ของโค กระบือ[3],[4]
โทษของกินกุ้งน้อย
- กินกุ้งน้อย จัดเป็นพืชที่ทนทั้งในสภาพน้ำท่วมขังและทนแล้งได้ดี เป็นวัชพืชที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง นอกจากนั้นยังเป็นที่อาศัยของศัตรูพืชปลูกหลายชนิด เช่น ไส้เดือนฝอยชนิด Meloidogyne sp., Pratylenchus pratensis (de Man) Filip., เชื้อราชนิด Pythium arrhenomanes Drechs. และเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคใบด่างในพืชพวกแตงและขึ้นฉ่าย[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “กินกุ้งน้อย”. หน้า 86.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “กินกุ้งน้อย”. หน้า 64-65.
- สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “กินกุ้งน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th. [15 มิ.ย. 2015].
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กินกุ้งน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [15 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Bob Upcavage, Dinesh Valke, Nelindah, scott.zona)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)