กำแพงเจ็ดชั้น สรรพคุณและประโยชน์กำแพงเจ็ดชั้น 30 ข้อ !

กำแพงเจ็ดชั้น สรรพคุณและประโยชน์กำแพงเจ็ดชั้น 30 ข้อ !

กำแพงเจ็ดชั้น

กำแพงเจ็ดชั้น ชื่อวิทยาศาสตร์ Salacia chinensis L. จัดอยู่ในวงศ์กระทงลาย (CELASTRACEAE)

สมุนไพรกำแพงเจ็ดชั้น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตะลุ่มนก (ราชุบรี), ตาไก้ ตาใกล้ (พิษณุโลก), ขอบกระด้ง พรองนก (อ่างทอง), กระดุมนก (ประจวบคีรีขันธ์), น้ำนอง มะต่อมไก่ (ภาคเหนือ), ขาวไก่ ตาไก่ ตากวาง เครือตากวาง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), หลุมนก (ภาคใต้), กลุมนก เป็นต้น[1],[2]

กำแพงเจ็ดชั้น สมุนไพรที่ขึ้นชื่อเรื่องการช่วยบำรุงโลหิตในร่างกาย (คนละชนิดกันกับต้น “ว่านกำแพงเจ็ดชั้น“) เป็นพันธุ์ไม้ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะอัตราการเกิดและการอยู่รอดมีความเสี่ยงต่อการถูกบุกรุกและทำลายมาก ในบางพื้นที่ของป่าตามชุมชนต่าง ๆ ก็มีจำนวนจำกัด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจในการเพาะและขยายพันธุ์เพื่อใช้ปลูกทดแทนในป่า และส่งเสริมให้มีการปลูกตามหัวไร่ปลายนาในชุมชนต่อไป

ลักษณะของกำแพงเจ็ดชั้น

  • ต้นกำแพงเจ็ดชั้น จัดเป็นไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อยเนื้อแข็ง มีความสูงของต้นประมาณ 2-6 เมตร เปลือกต้นเรียบ มีสีเทานวล ด้านในเนื้อไม้มีวงปีเป็นสีน้ำตาลแดงเข้มจำนวนหลายชั้นเห็นได้ชัดเจน เรียงซ้อนกันอยู่ประมาณ 7-9 ชั้น สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ตามป่าชายทะเล ตามป่าดิบริมแหล่งน้ำหรือที่โล่ง และป่าเบญจพรรณ ที่มีความระดับความสูงถึง 600 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด[1],[2],[3]

ต้นกำแพงเจ็ดชั้นสมุนไพรกำแพงเจ็ดชั้น
  • ใบกำแพงเจ็ดชั้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน สลับตั้งฉาก ลักษณะของแผ่นใบเป็นรูปวงรี หรือรูปวงรีกว้าง หรือรูปวงรีแกมใบหอก หรือรูปไข่ หรือรูปไข่หัวกลับ ใบกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือมน ส่วนโคนสอบ ขอบเป็นหยักหยาบ ๆ แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเรียบเป็นมัน มีสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบ เนื้อใบกรอบ ผิวด้านบนและด้านล่างของใบค่อนข้างหนาและเป็นมัน มีเส้นแขนงของใบประมาณ 4-10 คู่ และมีก้านใบยาวประมาณ 0.6-1.5 เซนติเมตร[1]

ใบกำแพงเจ็ดชั้น

  • ดอกกำแพงเจ็ดชั้น ออกดอกเป็นช่อ แบบเป็นกระจุกหรือช่อแยกเป็นแขนงสั้น ๆ ตามซอกใบหรือกิ่งก้าน ดอกมีขนาดเล็ก มีสีเหลืองหรือสีเขียวอมเหลือง ดอกมีกลีบ 5 กลีบ ปลายกลีบดอกมนและบิดเล็กน้อย แกนดอกนูนเป็นวงกลม มี 3-6 ดอกในแต่ละช่อ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่กว้างหรือรูปรี มีความยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีขนาดเล็กมาก ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายมนกลม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ที่ขอบเป็นชายครุย ส่วนจานฐานดอกเป็นรูปถ้วยลักษณะคล้ายถุง และมีปุ่มเล็ก ๆ อยู่ตามขอบ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร มีเกสรตัวผู้อยู่ 3 ก้าน ติดบนขอบจานของฐานดอก ก้านเกสรสั้น มีอับเรณูเป็นรูปส้อม ปลายเกสรชนกันเป็นยอดแหลม และยังมีรังไข่ซ่อนอยู่ในจานฐานดอก 3 ช่อง มีออวุล 2 เม็ดในแต่ละช่อง ก้านเกสรตัวเมียสั้น และก้านดอกมีความยาวประมาณ 6-10 มิลลิเมตร ออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม[1]

ดอกกำแพงเจ็ดชั้น

  • ผลกำแพงเจ็ดชั้น ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม เป็นรูปกระสวยกว้างหรือรูปรี ผิวเกลี้ยง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร โดยผลอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีแดงอมส้ม และภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะกลม มีขนาดใกล้เคียงกับผล ผลสามารถรับประทานได้[1]

ผลกำแพงเจ็ดชั้น

สรรพคุณของกำแพงเจ็ดชั้น

  1. ลำต้นกำแพงเจ็ดชั้นช่วยบำรุงโลหิต ด้วยการใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 1-2 ช้อนชา ช่วงเช้าและเย็น หรืออีกสูตรให้ใช้ผสมเข้ากับเครื่องยารากชะมวง รากตูมกาขาว และรากปอก่อน (ลำต้น) หรือจะใช้รากนำมาต้มหรือดองเป็นสุราไว้ดื่มก็ได้เช่นกัน (ราก)[1]
  2. ช่วยบำรุงกำลัง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[6]
  3. ช่วยฟอกโลหิต แก้โลหิตเป็นพิษทำให้ร้อน แก้โลหิตจาง ด้วยการใช้ต้นผสมเข้ายากับเปลือกต้นมะดูก (ต้น) หรือจะใช้รากนำมาต้มหรือดองสุราดื่ม ก็ช่วยดับพิษร้อนของโลหิตเช่นกัน (ราก)[1],[2]
  4. เถากำแพงเจ็ดชั้นช่วยบำรุงหัวใจ (เถา)[4],[5]
  5. รากใช้ต้มหรือดองกับสุราดื่มช่วยบำรุงน้ำเหลือง (ราก)[1],[5]
  6. ช่วยแก้อาการผอมแห้งแรงน้อย (ใช้ต้นผสมกับเปลือกต้นมะดูก)[1]
  7. ช่วยแก้เบาหวาน ด้วยการใช้ลำต้นผสมเข้ากับเครื่องยาแก่นสัก รากทองพันชั่ง หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู และหญ้าชันกาดทั้งต้น (ต้น) ส่วนในกัมพูชาจะใช้เถาของต้นกำแพงเจ็ดชั้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคเบาหวาน (เถา)[1]
  8. รากมีรสเมาเบื่อฝาด ใช้ต้มหรือดองกับสุราดื่ม ช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ (ราก)[1]
  9. รากช่วยรักษาโรคตา (ราก)[1]
  10. ต้นและเถาช่วยแก้ไข้ (ต้น, เถา)[5]
  1. ช่วยแก้ประดง (ใช้ต้นผสมกับเปลือกต้นมะดูก)[1], (เถา)[5]
  2. ช่วยแก้หืด ด้วยการใช้ลำต้นผสมเข้ากับเครื่องยาแก่นพลับพลา แก่นโมกหลวง แก่นจำปา ต้นสบู่ขาว ต้นคำรอก และต้นพลองเหมือด (ต้น)[1]
  3. ช่วยแก้เสมหะ (ต้น)[5]
  4. ลำต้นใช้ปรุงเป็นยาระบาย โดยใช้เข้ากับเครื่องยาคอแลน ตากวง ดูกไส พาสาน และยาปะดง (ลำต้น) หรืออีกสูตรให้ใช้ผสมเข้ากับเครื่องยารากชะมวง รากตูมกาขาว และรากปอด่อน (ต้น) หรือจะใช้รากและแก่นกำแพงเจ็ดชั้น นำมาต้มเป็นน้ำดื่มเป็นยาระบายก็ได้เช่นกัน (แก่น, ราก)[1]
  5. ช่วยขับผายลม (ใช้ต้นผสมกับเปลือกต้นมะดูก)[1],[2]
  6. ดอกช่วยแก้อาการบิดมูกเลือด (ดอก)[1],[5]
  7. ลำต้นใช้ปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ โดยใช้เข้ากับเครื่องยา แก่นตากวง แก่นตาไก้ แก่นตาน แก่นดูกไส และแก่นตานกกด (ลำต้น)[1],[5]
  8. ช่วยแก้มุตกิด ช่วยฟอกและขับระดูขาว ขับน้ำคาวปลาของสตรี ด้วยการใช้ต้นผสมเข้ายากับเปลือกต้นมะดูก หรือจะใช้ใบหรือรากกำแพงเจ็ดชั้นก็ได้เช่นกัน (ต้น, ใบ, ราก)[1],[2],[5]
  9. ในฟิลิปปินส์มีการใช้รากกำแพงเจ็ดชั้นเข้ากับยาแผนโบราณเพื่อช่วยบำบัดอาการปวดประจำเดือน (ราก)[3]
  10. ลำต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร โดยใช้เข้ากับเครื่องยา แก่นกระถิน ปูนขาว และว่านงวงช้าง แล้วนำมาต้ม (ลำต้น)[1]
  11. ช่วยแก้น้ำดีพิการ (ต้น)[5]
  12. เถาช่วยแก้ซางให้ตาเหลือง (เถา)[5]
  13. ช่วยรักษาโรคตับอักเสบ (ใช้ต้นผสมกับเปลือกต้นมะดูก)[1]
  14. หัวช่วยรักษาบาดแผลเรื้อรัง (หัว)[5]
  15. ช่วยรักษาตะมอยหรือตาเดือน (หัว)[5]
  16. ลำต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้ปวดเมื่อย โดยใช้เข้ากับเครื่องยา ตากวง ตาไก่ ขมิ้นเกลือ ดูกหิน ตับเจ่า และอ้อยดำ (ให้ใช้เฉพาะลำต้นของทุกต้นนำมาต้มน้ำดื่ม) หรือจะใช้ลำต้นนำมาต้มน้ำดื่ม หรือนำไปดองกับสุราก็ได้เช่นกัน (ต้น)[1]
  17. แก่นและรากใช้ต้มน้ำดื่มเป็นแก้เส้นเอ็นอักเสบ (แก่น, ราก)[1]
  18. ช่วยแก้อาการปวดตามข้อ แก้ไขข้อพิการ เข้าข้อ (ใช้ต้นผสมกับเปลือกต้นมะดูก)[1],[2]
  19. ในภูมิภาคอินโดจีนใช้เข้ายาพื้นบ้านเพื่อช่วยลดกำหนัดหรือความต้องการทางเพศ (ผล)[3]

สมุนไพรไทยกำแพงเจ็ดชั้น

ประโยชน์ของกำแพงเจ็ดชั้น

  • นอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ผลก็สามารถใช้รับประทานได้เช่นกัน (ผล)[1],[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [14 ต.ค. 2013].
  2. มูลนิธิสุขภาพไทย.  “กำแพงเจ็ดชั้น ไม้ชื่อแปลกช่วยบำรุงโลหิต“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org.  [14 ต.ค. 2013].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [14 ต.ค. 2013].
  4. กรมปศุสัตว์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dld.go.th.  [14 ต.ค. 2013].
  5. เดอะแดนดอตคอม.  “Gallery ดอกกำแพงเจ็ดชั้น“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com.  [14 ต.ค. 2013].
  6. ส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “การศึกษาความหลากหลายพรรณพืชสมุนไพร ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ จังหวัดชุมพร“.  (ชัยรัตน์ รัตนดำรงภิญโญ).

ภาพประกอบ : www.the-than.com, www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.flickr.com (by Russell Cumming)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด