กำจาย สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกำจาย 10 ข้อ !

กำจาย สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกำจาย 10 ข้อ !

กำจาย

กำจาย ชื่อสามัญ Teri Pods

กำจาย ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia digyna Rottler จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1]

สมุนไพรกำจาย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระจาย ขี้คาก (แพร่), มะหนามจาย (ตาก), หนามหัน (จันทบุรี), หนามแดง (ตราด), จิงจ่าย งาย ฮายปูน (นครศรีธรรมราช), ฮาย (สงขลา), งาย (ปัตตานี), ขี้แรด (ภาคกลาง), ฮาย ฮายปูน (ภาคใต้), มะเบ๋น (เงี้ยว-ภาคเหนือ), ตาฉู่แม สื่อกีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของกำจาย

  • ต้นกำจาย จัดเป็นพรรณไม้พุ่มรอเลื้อย มีความสูงได้ประมาณ 2.5-10 เมตร ลำต้นและก้านใบมีหนามแหลมแข็งและโค้งคล้ายหนามกุหลาบ ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้นขึ้นปกคลุม[1] ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและตามชายป่าทั่วทุกภาคของประเทศไทย พบได้มากที่จังหวัดเชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, แพร่, เลย, ขอนแก่น, นครราชสีมา, กาญจนบุรี, ราชบุรี, กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี, ปราจีนบุรี, จันทบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช และปัตตานี ส่วนในต่างประเทศมีเขตการกระจายพันธุ์ในจีนตอนใต้ อินเดีย เนปาล ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และในมาเลเซีย[2],[3]
  • ใบกำจาย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ก้านใบประกอบยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 8-12 คู่ ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบเบี้ยว ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวสด ก้านใบย่อยมีขนาดสั้นมาก ใบอ่อนมีขนนุ่ม แต่พอใบแก่จะร่วงหมด หูใบเรียวแคบ ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ร่วงได้ง่าย[1],[2],[3]
  • ดอกกำจาย ออกดอกเป็นช่อกระจะ โดยจะออกตามง่ามใบและที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีเหลืองสด มีขนาดไม่เท่ากัน แต่ละกลีบค่อนข้างกลม ปลายหยักเว้า เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ แต่ละกลีบมีขนาดไม่เท่ากัน กลีบด้านนอกจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบชั้นอื่น โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูมีขนเป็นปุย รังไข่เกลี้ยงหรือมีขนขึ้นประปราย มีออวุล 3-4 เม็ด สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่จะออกดอกมากในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม เมื่อออกดอกดกเต็มต้นจะมีความสวยงามอร่ามน่าชมยิ่งนัก[1],[2],[3]
  • ผลกำจาย ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน ลักษณะของฝักเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ตรงกลางป่องเล็กน้อย ปลายเป็นจะงอย ขอบเป็นสัน ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร ก้านสั้น ฝักดิบเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ และไม่แตกอ้า เมล็ดมีประมาณ 2-3 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดกว้างประมาณ 9 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 12 มิลลิเมตร ออกผลในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม[1],[2],[3]

ต้นกำจาย

สรรพคุณของกำจาย

  1. ตำรายาไทยจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (ราก)[1],[2],[3]
  2. ผลหรือฝักใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วงได้ดีมาก (ผล)[2],[3]
  3. รากใช้ปรุงเป็นยาขับประจำเดือนของสตรี (ราก)[1],[2]
  4. ตำรายาพื้นบ้านภาคอีสานจะใช้รากกำจายผสมกับรากมะขามป้อม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กามโรค (ราก)[1]
  5. ทั้งต้นใช้ต้มให้สัตว์เลี้ยงกินเป็นยาแก้พิษงู (ทั้งต้น)[1]
  6. รากใช้ตำพอกเป็นยาถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ขับพิษงู ช่วยดับพิษ แก้ปวดฝีทุกชนิด และช่วยดับพิษฝี (ราก)[1],[2]
  7. รากใช้ตำพอกเป็นยารักษาแผลสด แผลเรื้อรัง และแผลเปื่อยได้เด็ดขาดนัก (ราก)[1]
  8. ผลหรือฝักสดของต้นกำจายมีรสฝาด นำมาตำให้ละเอียดห่อด้วยผ้าขาวบางคั้นเอาน้ำมาใช้ชะล้างแผลสด ห้ามเลือด สมานแผล ทำให้แผลหายเร็ว และรอยแผลเป็นไม่มี (ผลสด)[2],[3]

ประโยชน์ของกำจาย

  1. ส่วนใหญ่จะไม่นิยมปลูกต้นกำจายไว้ตามบ้าน เนื่องจากต้นกำจายเป็นไม้ที่มีหนามแหลมและเป็นไม้เถาเลื้อย แต่จะมีปลูกไว้เพื่อใช้ประโยชน์ทางยาตามสวนยาแผนไทย และปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนาในชนบททั่วไป ซึ่งในสมัยก่อนจะถือว่า “กําจาย” นั้น เป็นสุดยอดยาสมุนไพรชนิดหนึ่งเลยทีเดียว[2]
  2. น้ำฝาดที่ได้จากผลหรือฝักสามารถนำมาใช้ในการย้อมผ้า แห และอวนได้[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “กำจาย (Kamchai)”.  หน้า 48.
  2. ไทยรัฐออนไลน์.  “กำจาย ฝักมีประโยชน์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th.  [16 มิ.ย. 2015].
  3. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กำจาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [16 มิ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Navida Pok)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด