กาหลง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกาหลง 13 ข้อ !

กาหลง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกาหลง 13 ข้อ !

กาหลง

กาหลง ชื่อสามัญ Snowy orchid tree, Orchid tree[1],[2]

กาหลง ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia acuminata L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1],[2]

สมุนไพรกาหลง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เสี้ยวน้อย (เชียงใหม่), โยธิกา (นครศรีธรรมราช), กาแจ๊กูโด (มลายู-นราธิวาส), ส้มเสี้ยว (ภาคกลาง) เป็นต้น[1]

ลักษณะของกาหลง

  • ต้นกาหลง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในป่าเมืองร้อนของหลายประเทศตั้งแต่ไทย ลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 1-3 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม ส่วนกิ่งแก่ผิวค่อนข้างเกลี้ยงและไม่ค่อยมีขน ต้นกาหลงเป็นพันธุ์ไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตปานกลาง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี ชอบความชื้นปานกลางและชอบแสงแดดแบบเต็มวัน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนและการเพาะเมล็ด หากปลูกจากเมล็ดจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-4 ปีจึงจะออกดอกและติดฝัก[1],[3],[5]

ต้นกาหลง

รูปกาหลง

  • ใบกาหลง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีกว้าง ปลายใบเว้าลึกเข้ามาเกือบครึ่งใบ ทำให้ปลายแฉกสองข้างแหลม แยกเป็น 2 พู โคนใบมนเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 9-13 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อน มีเส้นใบออกจากโคนใบประมาณ 9-10 เส้น ปลายเส้นกลางใบมีติ่งเล็กแหลม เส้นใบสีเขียวสด หลังใบเรียบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขนละเอียดสีขาว ก้านใบยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ส่วนหูใบลักษณะเรียวแหลมยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ร่วงได้ง่าย และมีแท่งรยางค์เล็ก ๆ อยู่ระหว่างหูใบ[1],[3],[4] โดยปกติแล้วต้นกาหลงจะผลัดใบในช่วงฤดูหนาวและเริ่มแตกใบอ่อนในช่วงฤดูร้อน[5]

ใบกาหลง

  • ดอกกาหลง ออกดอกเป็นช่อกระจะแบบสั้น ๆ โดยจะออกบริเวณปลายกิ่งประมาณช่อละ 2-3 ดอก ก้านดอกยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ โคนก้านดอกมีใบประดับขนาดเล็กประมาณ 2-3 ใบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมเรียวแหลม ส่วนดอกมีลักษณะตูมเป็นรูปกระสวย ยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร ดอกมีกลีบสีขาว 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน มีลักษณะเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่กลับ ปลายกลีบมน โคนสอบ กว้างประมาณ 2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวมีกลีบ 5 กลีบติดกันคล้ายกาบ กว้างประมาณ 1-1.8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ปลายกลีบมีลักษณะเรียวแหลมและแยกเป็นพูเส้นสั้น ๆ 5 เส้น ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 ก้าน ก้านชูอับเรณูแต่ละก้านจะยาวไม่เท่ากัน มีขนาดตั้งแต่ 1.5-2.5 เซนติเมตร อับเรณูเป็นสีเหลืองสด ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร และมีเกสรเพศเมียอยู่ระหว่างกลางอีก 1 ก้าน มีขนาดใหญ่และยาวกว่าเกสรเพศผู้ ก้านชูเกสรเพศเมียจะยาวประมาณ 1 เซนติเมตร รังไข่รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยอดเกสรเพศเมียมีลักษณะเป็นแผ่นกลม สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี[1],[2],[3],[4],[5],[6]

รูปดอกกาหลง

ดอกกาหลง

  • ผลกาหลง ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน มีความกว้างของฝักประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร ขอบฝักเป็นสันหนา ส่วนปลายฝักและโคนฝักสอบแหลม ปลายฝักมีติ่งแหลม ยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร ขอบของฝักเป็นสันหนา ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และในแต่ละฝักจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 5-10 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็กและแบนหรือเป็นรูปขอบขนาน โดยฝักจะแก่ในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม[1],[2],[3],[4],[6]

ผลกาหลง

ฝักกาหลง

สรรพคุณของกาหลง

  1. ดอกมีรสสุขุม ช่วยลดความดันโลหิต (ดอก)[1],[3],[4],[5]
  2. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ดอก[1],[3],[4],[5], ราก[5])
  3. ใบใช้รักษาแผลในจมูก (ใบ)[5]
  4. ดอกช่วยแก้เลือดออกตามไรฟัน (ดอก)[1],[3],[4],[5] บ้างก็ว่าในส่วนของต้นก็มีสรรพคุณแก้ลักปิดลักเปิดเช่นกัน (ต้น)[5]
  5. ต้นและรากเป็นยาแก้เสมหะ (ต้น, ราก)[5]
  6. ดอกช่วยแก้เสมหะพิการ (ดอก)[1],[3],[4],[5]
  7. ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด (ดอก)[5]
  8. รากใช้ต้มเป็นยาดื่มช่วยแก้อาการไอ (ราก)[5]
  9. รากใช้เป็นยาแก้บิด (ราก)[5]
  10. ต้นกาหลงเป็นยาแก้โรคสตรี (ต้น)[5]

ประโยชน์ของกาหลง

  • ดอกสามารถใช้รับประทานได้ และชาวเขาจะนิยมใช้ยอดอ่อนมารับประทาน[6]
  • ต้นกาหลงนิยมนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับกลางแจ้งในบริเวณอาคารบ้านเรือน และใช้ปลูกตามที่สาธารณะ อาจจะเป็นต้นแบบเดี่ยว ๆ หรือใช้ปลูกเป็นกลุ่ม ๆ มีดอกสีขาวสวยงามและมีกลิ่นหอม สามารถออกดอกได้ตลอดปี อีกทั้งรูปร่างของใบและทรงพุ่มก็งดงาม สามารถจัดแต่งทรงพุ่มได้ง่าย ปลูกเลี้ยงได้สบาย ไม่ต้องการปุ๋ยมาก และขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด เพราะสามารถจับปุ๋ยจากอากาศได้เอง แต่ควรปลูกไม้พุ่มเตี้ยด้านหน้าเพื่อใช้บังโคนต้นที่เปิดโล่งอยู่ของต้นกาหลง[3],[5]
  • ชาวจีนมักปลูกต้นกาหลงไว้เป็นไม้ประจำบ้าน ด้วยเชื่อว่าต้นกาหลงเป็นไม้ที่ให้คุณแก่เจ้าของบ้าน[6]

ข้อควรระวังในการใช้

  • บริเวณใบและกิ่งของต้นกาหลง จะมีขนอ่อน ๆ ขึ้นอยู่ประปราย หากสัมผัสกับผิวหนังโดยตรงจะทำให้ระคายเคืองผิวหนังได้ (นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 151)
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “กาหลง (Kalong)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 47.
  2. ไขปริศนา พฤกษาพรรณ, ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “กาหลง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.il.mahidol.ac.th/e-media/plants/.  [04 ก.พ. 2014].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “กาหลง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [04 ก.พ. 2014].
  4. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กาหลง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [04 ก.พ. 2014].
  5. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 305 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  “กาหลง : มิใช่หลงเฉพาะเพียงกา”.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [04 ก.พ. 2014].
  6. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “กาหลง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [04 ก.พ. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by pk_82, SierraSunrise, Tony Rodd, thtungdl, Sh@ist@, plantscape (Ajinkya), aliend44)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด