ฝากครรภ์
การฝากครรภ์ เป็นสิ่งแรกที่คุณแม่ต้องนึกถึงและถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะการพบแพทย์ในระหว่างการตั้งครรภ์จะช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยได้ เพื่อให้ลูกที่คลอดออกมามีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ เมื่อต้องไปพบแพทย์ หากคุณพ่อไปด้วยก็จะช่วยให้การดูแลกันระหว่างการตั้งครรภ์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะคุณพ่อจะได้มีส่วนร่วมรับรู้วิธีการดูแลครรภ์และการตัดสินใจในเรื่องอื่น ๆ เช่น การเลือกวิธีคลอด โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะแนะนำขั้นตอนต่าง ๆ อย่างวิตามินที่ต้องรับประทาน การงดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การตรวจสุขภาพเป็นประจำ ฯลฯ อีกทั้งคำแนะนำของแพทย์ยังช่วยคลายปัญหาให้คุณแม่ได้อย่างเหมาะสม แทนที่จะไปฟังคนอื่นหรือจากที่คนอื่นแนะนำมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาการแพ้ท้อง การออกกำลังกาย ตลอดจนการทำอัลตราซาวนด์เพื่อดูความผิดปกติของทารก เพราะฉะนั้นการฝากครรภ์จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
ทำไมต้องไปฝากครรภ์
การฝากครรภ์ในบ้านเราเริ่มมีมาตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหาเถรตำแยได้เขียนตำราเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรไว้ตามความเชื่อที่ยึดถือกันในสมัยนั้นไว้ในหนังสือ “คัมภีร์ปฐมจินดา” ซึ่งถือว่าเป็นตำราสูติศาสตร์เล่มแรกของไทย โดย “หมอตำแย” นั้นก็คงจะมาจากชื่อมหาเถรตำแย (ภาษาราชการเรียกหมอตำแยว่า “ผดุงครรภ์โบราณ“) เมื่อมีหมอตำแยเกิดขึ้นแล้วก็มีการแนะนำหรือบอกต่อกันมาว่า ถ้าหากใครตั้งท้องก็ให้ไปฝากกับหมอตำแย หากมีอะไรเกิดขึ้นจะได้ไปตามหมอตำแยได้ตลอดเวลา ในอดีตคนไทยจึงฝากท้องไว้กับหมอตำแยเรื่อยมา แม้ในปัจจุบันตามต่างจังหวัดหรือในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ก็ยังใช้บริการหมอตำแยอยู่ เนื่องจากการฝากท้องนั้นไม่ต้องมีขั้นตอนอะไรมากมาย เพียงแค่บอกให้หมอตำแยทราบ เมื่อท้องแก่ถึงเวลาคลอดก็ให้คนไปตาม หมอตำแย่ก็จะมาตรวจท้องหรือฝืนท้องโกยท้องให้ครั้งหรือสองครั้ง
ส่วนการฝากครรภ์ในระบบสูติกรรมสมัยใหม่นั้นจะค่อนข้างมีหลายขั้นตอน คือเริ่มตั้งแต่การทำบัตรและไปตรวจเป็นระยะ ๆ ตามนัด ซึ่งจะเป็นการตรวจอย่างละเอียด เพราะถือว่าในทุกขั้นตอนนั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพของแม่และเด็กในครรภ์ทั้งสิ้น ส่วนการตรวจจะมากครั้งหรือน้อยครั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลแต่ละแห่ง ถ้าตรวจพบความผิดปกติแพทย์ก็จะนัดตรวจถี่ขึ้นครับ
สำหรับคำถามที่ว่า ทำไมคุณแม่ต้องไปฝากครรภ์ ? ทั้ง ๆ ที่ท้องก็ท้องเรา ถึงเวลาคลอดก็ค่อยไปคลอดไม่ได้หรือ ? บรรพบุรุษของเรามีลูกกันมาช้านานไม่เห็นต้องพึ่งพาการฝากครรภ์เลย ฯลฯ คำตอบสั้น ๆ เลยก็คือ สาเหตุที่ต้องไปฝากครรภ์นั้นก็เพื่อประโยชน์ของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์โดยตรงครับ ซึ่งดูได้ในหัวข้อถัดไปครับ
ประโยชน์ของการฝากครรภ์
- เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณแม่ โดยหวังจะทำให้คุณแม่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงที่สุด เพราะหมอจะให้คำแนะนำและตอบคำถามเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติในระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การปฏิบัติตน และอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นปัญหา ซึ่งคุณแม่สามารถสอบถามหรือให้คุณหมอตรวจได้ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ อย่างไร
- เพื่อตรวจสอบดูว่าการตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างปกติหรือไม่ เพราะหมอจะช่วยวินิจฉัยโรคบางอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยได้ เช่น ครรภ์เป็นพิษ โรคโลหิตจาง ซิฟิลิส ติดเชื้อเอดส์ ฯลฯ รวมทั้งตรวจดูว่าท่านอนของลูกน้อยในครรภ์ดูผิดปกติหรือไม่ ถ้าผิดปกติจะได้ป้องกันแก้ไข หรือถ้าพบว่าโลหิตจางก็ต้องหาสาเหตุและใช้ยาบำรุงเลือดให้เข้มข้นมากขึ้น เพื่อช่วยเตรียมการช่วยเหลือได้ทันท่วงที
- ช่วยป้องกันหรือลดอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นปกติและคลอดลูกได้ตามปกติมากที่สุด ถ้ามีโรคแทรกซ้อนหมอก็จะช่วยให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด ติดเชื้อน้อยที่สุด หรือเสียเลือดน้อยที่สุด เป็นต้น
- ช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ เพราะการฝากครรภ์นั้นสามารถช่วยลดอัตราการแท้งบุตร การคลอดลูกก่อนกำหนด ลูกเสียชีวิตในท้อง หรือคลอดลูกแล้วเสียชีวิตได้มาก และยังช่วยป้องกันการอักเสบติดเชื้อในตัวลูกน้อยได้อีกด้วย
- ช่วยดูแลทารกในครรภ์ ทำให้ลูกน้อยในครรภ์เติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง และมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม
ฝากครรภ์ที่ไหนดี
ถ้าจะถามว่าจะฝากครรภ์ที่ไหนที่ดีที่สุด ก็อยากจะแนะนำคุณแม่ว่าให้ฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลที่ใกล้และสะดวกที่สุด คือ ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงาน เผื่อถ้ามีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น จะได้ไปโรงพยาบาลได้สะดวกและรวดเร็วที่สุด หรือจะสอบถามจากญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ครอบครัว หรือผู้มีประสบการณ์ เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกสถานที่ฝากครรภ์ก็ได้ แต่ถ้าคุณแม่เคยรับการตรวจรักษาโรคบางอย่างมาก่อน อย่างโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคของต่อมไทรอยด์ หรือโรคอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องรักษาและตรวจติดตามหลายครั้ง ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลแห่งนั้นครับ เพราะแพทย์จะมีประวัติการรักษาอยู่แล้วว่าเราเป็นโรคอะไร ใช้ยาอะไรอยู่ แล้วจะมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์หรือไม่ เพราะสูติแพทย์เองก็ยังต้องปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางที่รักษาโรคของคุณแม่อยู่ ซึ่งถือเป็นการดูแลการตั้งครรภ์ของคุณแม่ร่วมกัน ผลที่ออกมาจึงดีที่สุด แต่ในกรณีที่สถานพยาบาลนั้นอยู่ไกลและไม่สะดวกไปฝากครรภ์ คุณแม่ก็ควรจะขอประวัติและผลการตรวจรักษาเพื่อไปมอบให้สูติแพทย์ที่คุณแม่จะไปฝากครรภ์ด้วย ส่วนคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาก่อนแล้วอาจจะฝากครรภ์กับคุณหมอสูติที่คุ้นเคยก็ได้
โดยการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลรัฐอาจทำให้คุณแม่ต้องรอตรวจนานกว่าปกติ เนื่องจากมีผู้ไปรับบริการเป็นจำนวนมาก คุณหมอที่ตรวจก็จะผลัดเปลี่ยนกันไป ไม่ใช่หมอคุณคนเดิม ทำให้คุณแม่อาจรู้สึกว่าไม่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลครับ เพราะประวัติการตรวจรักษาในแต่ละครั้งได้ถูกจดบันทึกไว้อย่างละเอียดแล้ว แต่ข้อดีของการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลของรัฐคือจะมีค่าใช้จ่ายไม่แพงมากนัก
สำหรับบางคุณแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลาหรือมีฐานะค่อนข้างดี การไปตรวจหรือฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้านก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะจะได้พบกับคุณหมอคนเดิมทุกครั้ง ทำให้คุณแม่มั่นใจได้ว่าตัวเองจะได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ ถ้าสามารถเลือกสถานพยาบาลที่ไม่แพงมากนักและอยู่ใกล้บ้านได้ก็จะดีมากครับ ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณพ่อและคุณแม่บวกกับสถานะของครอบครัวครับ แต่โดยรวมแล้วขีดความสามารถของโรงพยาบาลรัฐกับเอกชนก็ไม่ได้ต่างกันมากเท่าใดครับ จุดนี้เองคุณแม่ก็ต้องเลือกเอาระหว่างการเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อแลกกับความสะดวกสบาย หรือจะประหยัดค่าใช้ แต่สะดวกน้อยหน่อย เพื่อไปตรวจไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลรัฐ
ฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี
คุณแม่ควรไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดในทันทีที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ครับ อย่ารอจนใกล้ครบกำหนดแล้วจึงค่อยไปฝากครรภ์เป็นอันขาด ทางที่ดีที่สุดก็คือควรกันไว้ดีกว่าแก้ เพราะถ้าคุณแม่เกิดมีโรคแทรกซ้อนขึ้นมาในระหว่างนี้ก็อาจจะสายเกินแก้ได้ครับ
ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์
โรงพยาบาลวิภาราม|9,800 บ.|-
โรงพยาบาลเกษมราษฎร์|11,900 บ.|แบ่งชำระ 2 ครั้ง (7,000 บ. /4,900 บ.)
โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล|9,000-9,500 บ.|ผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิต 3 งวด (0%)
โรงพยาบาลบี แคร์ เมดิคอล เซ็นเตอร์|10,900-20,900 บ.|แบ่งชำระ 3 ครั้ง
โรงพยาบาลเจ้าพระยา|14,500 บ.|-
โรงพยาบาลเจ้าพระยา|15,900-28,500 บ.|ชำระรวมครั้งเดียว
กำลังสืบค้นข้อมูล…|-|-
คำค้นหา : ฝากครรภ์ ราคา, ฝากครรภ์โรงพยาบาลไหนดี, คลินิกฝากครรภ์
การเตรียมตัวก่อนไปฝากครรภ์
ก่อนไปฝากครรภ์หรือตรวจครรภ์ทุกครั้ง คุณแม่ควรเตรียมคำถามที่สงสัยหรือสิ่งที่เป็นกังวลว่าจะปฏิบัติตัวไม่ถูกไปถามหมอด้วย เพราะเวลาอยู่ต่อหน้าหมอ คุณแม่อาจนึกคำถามที่ควรจะถามไม่ออกก็ได้ การจดข้อสงสัยลงในกระดาษก็เป็นวิธีที่กันลืมได้ดี คุณแม่จะได้ไม่ต้องเสียเวลามานั่งนึกหรือลืมคำถามที่ควรจะถามไป ยิ่งในโรงพยาบาลรัฐซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนมากด้วยแล้ว คุณแม่ก็ยิ่งต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมมากกว่าปกติ ไม่ควรไปถามหรือทำตามคำแนะนำจากผู้อื่น หรือทำตามความเชื่อที่เคยปฏิบัติกันมา โดยสิ่งที่คุณแม่ควรจะถามหมอเมื่อไปฝากครรภ์ มีดังนี้
- กำหนดวันคลอดคือเมื่อไหร่ ? เพื่อที่คุณแม่จะได้เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมและเคลียร์นัดที่มีอยู่หรือไม่รับนัดในช่วงดังกล่าว
- อาหารการกิน ควรกินอะไร หรือห้ามกินอะไรเป็นพิเศษ ? จากการวิจัยพบว่า อาหารการกินของคุณแม่จะส่งผลโดยตรงต่อน้ำหนักและสุขภาพโดยรวมของลูกน้อย
- สามารถออกกำลังกายแบบใดได้บ้าง จำต้องออกกำลังกายหรือไม่ และควรเริ่มออกกำลังกายได้เมื่อใด ?
- ต้องเสริมกรดโฟลิกด้วยหรือไม่ อย่างไร ? เพราะกรดโฟลิกจะช่วยสร้างอวัยวะโดยเฉพาะบริเวณสันหลังของลูกน้อยให้สมบูรณ์
- ยาชนิดใดเป็นอันตรายต่อลูกบ้าง ยาที่รับประทานอยู่มีผลต่อลูกในครรภ์หรือเปล่า ? เพราะการรับประทานยาในขณะตั้งครรภ์นั้น คุณแม่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ก่อนใช้ยาอะไรก็ตามคุณแม่จะต้องสอบถามคุณหมอก่อนทุกครั้ง แม้ยาเหล่านั้นจะเป็นยาที่เคยใช้อยู่ประจำก็ตาม
- สิ่งที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงในระหว่างการตั้งครรภ์ ? เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อย เช่น ควันบุหรี่ เชื้อโรคจากแมว การติดเชื้อที่ทำให้แท้งบุตร พิษจากสารเคมี ฯลฯ
- จะต้องมาตรวจครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อไหร่ ? เพื่อเป็นการติดตามสุขภาพของแม่และลูกน้อยในครรภ์ คุณแม่จะต้องมาพบคุณหมออย่างสม่ำเสมอและตรงตามนัด
- จะต้องตรวจอะไรบ้าง ? เนื่องจากสุขภาพ อายุ โรคประจำตัว ฯลฯ ของคุณแม่แต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป คุณแม่ควรสอบถามคุณหมอให้แน่ชัดด้วยว่าจะต้องตรวจอะไรบ้าง อย่างไร และเมื่อใด
- ต้องตรวจอัลตราซาวนด์หรือไม่ ? แต่ส่วนใหญ่คุณหมอจะแนะนำให้ตรวจครรภ์ครับ เพื่อดูการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์และจะได้กำหนดอายุครรภ์ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น และเผื่อในกรณีที่จำเป็น เช่น คุณแม่มีความเสี่ยงสูง ตั้งครรภ์แฝด
- สิทธิที่คุณแม่ควรได้รับหรือสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ เช่น ค่าลดหย่อนในการตรวจครรภ์ การออกใบรับรองแพทย์เพื่อหยุดพักงาน ฯลฯ ควรบอกให้คุณหมอทราบด้วย
- มีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ หรือมีเพศสัมพันธ์อย่างไรให้ปลอดภัย ? คุณหมอจะให้คำแนะนำได้ครับ
- จะคลอดเองได้หรือไม่ ? หรือควรเลือกผ่าคลอดดี ? ข้อนี้คุณแม่ควรถามคำแนะนำจากหมอ เมื่อตัดสินใจแล้วก็ควรยืนยันแสดงความตั้งใจของตนเองให้ชัดเจน
นอกจากคำถามเบื้องต้นแล้วสิ่งที่คุณแม่ควรจะเตรียมก็คือประวัติทั่วไปเกี่ยวกับตัวคุณแม่ เพื่อจะช่วยทำให้การตรวจเป็นไปได้ง่ายและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ดังนี้
- สุขภาพโดยทั่วไปของคุณแม่ สภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของคุณแม่เป็นอย่างไร
- ประจำเดือนครั้งสุดท้าย คุณแม่ควรทราบว่าประจำเดือนครั้งสุดท้ายมาเมื่อไหร่ และการมาของรอบเดือนแต่ละเดือนว่ามาสม่ำเสมอหรือไม่ รวมถึงประวัติการคุมกำเนิด ว่าคุมกำเนิดด้วยวิธีใด คุมกำเนิดมานานเท่าไรแล้ว เป็นต้น
- อาการแพ้ท้อง หากคุณแม่มีอาการแพ้ท้อง ควรเล่าให้คุณหมอฟังด้วยว่ามีอาการมากน้อยเพียงใด
- ประวัติการตั้งครรภ์และการคลอด สิ่งที่หมออยากรู้คือการตั้งครรภ์ครั้งก่อนเป็นอย่างไร คุณแม่มีอาการแพ้ท้องมากหรือไม่ เคยมีการแท้งบุตรหรือเปล่า แท้งเองหรือเคยทำแท้ง ต้องขูดมดลูกหรือไม่ แล้วขูดมดลูกที่ไหน หลังคลอดบุตรมีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น มีอาการปวดท้อง เป็นไข้ หรือมีอาการอักเสบ การคลอดบุตรครั้งก่อนเป็นอย่างไร คลอดยากหรือไม่ เจ็บท้องนานแค่ไหน หมอต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอดหรือไม่ มีการตกเลือด รกคลอดยากจนหมอต้องล้วงรกออกหรือไม่ น้ำหนักของลูกตอนแรกคลอดคือเท่าไร เพราะถ้าลูกคนแรกตัวเล็กและคลอดได้ปกติ ถ้าที่คนสองตัวใหญ่ ก็อาจทำให้การคลอดลำบากมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
- ประวัติความเจ็บป่วยของคุณแม่และคนในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พี่ ป้า น้า อา ที่เป็นญาติโดยตรงของฝ่ายคุณแม่เอง เนื่องจากโรคและความเจ็บป่วยของญาติพี่น้องทางฝ่ายคุณแม่อาจมีผลต่อการตั้งครรภ์ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเลือด โรคทางพันธุกรรม การมีลูกแฝด ความพิการแต่กำเนิด ฯลฯ เพราะโรคเหล่านี้สามารถถ่ายทอดมาถึงคุณแม่และลูกน้อยได้ แต่โรคบางอย่างก็เป็นโรคติดต่อ เช่น วัณโรค ถ้าอยู่บ้านเดียวกันก็ต้องระวังการติดต่อให้มาก หรือถ้าคุณพ่อเป็นหรือเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็อาจจะติดต่อถึงคุณแม่และลูกน้อยได้เช่นกัน หรือถ้าคุณแม่เคยมีอาการเจ็บป่วยในอดีตก็ควรจะเล่าให้หมอฟังด้วย หากเคยเจ็บป่วยรุนแรงหรือเป็นโรคที่เจ็บป่วยในวัยเด็ก ถ้าได้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่เกิดกับพ่อแม่หรือญาติ หมอก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหานี้ส่งผลมาถึงลูกหรือจะได้ระวังก่อนที่จะมีปัญหาในการตั้งครรภ์เกิดขึ้น
- ประวัติการฉีดวัคซีน คุณแม่เคยมีการฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน ไวรัสตับอักเสบบี หรือบาดทะยักหรือไม่
- ประวัติการใช้ยา เมื่อตั้งครรภ์…การใช้ยาของคุณแม่เป็นอีกสิ่งที่ต้องระวังอย่างมาก เพราะยาบางอย่างอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ แม้จะเป็นยาแก้ไข้หวัดธรรมดา ยาแก้ปวด หรือยาเคยใช้อยู่ก็ตาม ถ้าหากคุณแม่กำลังใช้ยาใด ๆ รักษาโรคอยู่ก็ควรจะแจ้งให้หมอทราบด้วย เพราะหมออาจจะให้งดหรือลดยาที่รับประทานอยู่ลง ทางที่ดีคือหากคุณแม่เป็นโรคอะไรก็ควรจะปรึกษาหมอเป็นดีที่สุด อย่าไปซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ดขาด
- ประวัติการแพ้ยา ในระหว่างการคลอดจะต้องมีการใช้ยา หมอจะถามคุณแม่ว่าเคยแพ้ยาชาหรือไม่ หรือหมออาจจะถามว่า เคยถอนฟันหรือเปล่า ? เคยเป็นลมไหม ? ถ้าหากคุณแม่เคยแพ้ยาชา หมอก็จะหลีกเลี่ยงแล้วเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นแทน เช่น การดมยาสลบ หรือใช้ยาชาตัวอื่นที่ไม่แพ้ การแพ้ยาปกติแล้วไม่ว่าจะช่วงไหนก็ถือว่ามีอันตรายทั้งนั้น ถ้าเกิดแพ้ยาในขณะตั้งครรภ์ก็จะยิ่งเป็นอันตรายมากขึ้นเท่านั้น เพราะการรักษาจะทำได้ไม่เต็มที่ หมอไม่สามารถให้ยาบางอย่างได้ บางคนอาจจะเคยแพ้ยาปฏิชีวนะ ก็ต้องจดไว้ด้วยครับว่าแพ้ยาอะไร ชื่ออะไร เพราะถ้าหากได้รับยาเหล่านี้เข้าไปอีกก็อาจทำให้เป็นอันตรายได้ และต้องบอกหมอทุกครั้งถ้าหมอสั่งยาอื่นที่ไม่ใช่ยาบำรุงให้มา
- ประวัติอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนบริเวณอุ้งเชิงกรานและอวัยวะเพศ เช่น รถคว่ำทำให้กระดูกเชิงกรานแตกหรือบิดเบี้ยว (ส่งผลทำให้คลอดลูกยากหรือคลอดเองไม่ได้) ก็ควรจะแจ้งให้หมอทราบด้วยนะครับ
- ประวัติการผ่าตัด หากคุณแม่เคยได้รับการผ่าตัดมดลูก ปากมดลูก ช่องคลอด รวมถึงการผ่าคลอด ก็ต้องแจ้งให้หมอทราบด้วยนะครับ เพราะคุณหมอจะได้ระมัดระวังและดูแลในระหว่างการคลอดได้ เช่น ถ้าเคยผ่าตัดเนื้องอกของมดลูกหรือทำคลอดโดยการผ่าตัดมาแล้ว การคลอดครั้งต่อไปก็ต้องผ่าเช่นกัน หรือบางคนที่ไปแต่งเติมเสริมช่องคลอดที่เรียกว่า “ทำสาว” นั้น ในการคลอดก็ต้องใช้วิธีการผ่าตัดเช่นกัน เพราะถ้าปล่อยให้คลอดเองก็อาจจะเกิดการฉีกขาดได้มาก เป็นต้น
ฝากครรภ์ครั้งแรก
ขั้นตอนการฝากครรภ์ ก่อนจะตรวจครรภ์ คุณหมอจะต้องซักถามประวัติคร่าว ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น เช่น คุณแม่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ รอบเดือนมาสม่ำเสมอหรือไม่ เพื่อเป็นการคำนวณหาระยะเวลาการตั้งครรภ์ที่แน่นอน คุณแม่มีโรคประจำตัวหรือมีอาการผิดปกติอะไรหรือไม่ ยาที่คุณแม่ใช้อยู่เป็นประจำ ประวัติการแพ้ยา ถามเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ของบุคคลในครอบครัว ถามเกี่ยวกับประวัติการตั้งครรภ์และการคลอดที่ผ่านมา หลัก ๆ ก็จะถามประมาณนี้ครับ เมื่อได้ประวัติครบถ้วนแล้ว จึงถึงขั้นตอนการตรวจร่างกายต่อไป ก่อนไปฝากครรภ์จึงขอให้คุณแม่จดทบทวนประวัติต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้วให้ดี เพื่อจะได้บอกหมอได้ถูกโดยไม่ต้องเสียเวลามานั่งนึก
- ชั่งน้ำหนัก น้ำหนักเป็นตัวบ่งบอกถึงการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ทุกครั้งที่มาตรวจคุณแม่จะต้องชั่งน้ำหนักเสมอ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพียงใด มีความผิดปกติหรือไม่ คุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องมากจนทานอะไรไม่ได้เลยในช่วง 3 เดือนแรก จะทำให้น้ำหนักตัวลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้น หลังจากสามเดือนไปแล้ว น้ำหนักของคุณแม่ควรเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม หรือประมาณ 10-12 กิโลกรัมตลอดในช่วงการตั้งครรภ์ คุณแม่ที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ มีอาการบวมและความดันโลหิตสูง จะมีความเสี่ยงต่ออาการครรภ์เป็นพิษสูง จึงจำเป็นต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียดและตรวจอัลตราซาวนด์ถี่ขึ้นกว่าเดิม
- วัดส่วนสูง คุณแม่ที่มีรูปร่างเล็กหรือตัวเตี้ย โดยเฉพาะผู้ที่มีความสูงน้อยกว่า 140-145 เซนติเมตร อุ้งเชิงกรานมักจะมีขนาดเล็กและแคบ ขนาดของเด็กในครรภ์กับอุ้งเชิงกรานอาจไม่ได้สัดส่วน จึงทำให้คลอดเองได้ลำบาก เพราะทำให้ศีรษะของทารกไม่สามารถผ่านทางช่องคลอดออกมาได้ โอกาสที่จะต้องผ่าตัดทำคลอดก็มีมากขึ้นด้วย
- วัดความดันโลหิต ความดันโลหิตจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ค่า คือ ความดันช่วงหัวใจบีบตัวและความดันช่วงหัวใจคลายตัว คุณแม่ส่วนใหญ่จะมีความดันโลหิตอยู่ในระหว่าง 120/70 มิลลิเมตรปรอท แต่ในช่วงการตั้งครรภ์ประมาณ 7-8 เดือน ความดันโลหิตจะลดลงเล็กน้อย เพราะความต้านทานของเส้นเลือดในร่างกายจะลดลง ถ้าหากพบว่ามีความดันโลหิตสูง มีอาการบวม และมีไข่ขาวในปัสสาวะ คุณแม่จะมีความเสี่ยงต่ออาการครรภ์เป็นพิษสูงมากขึ้น หมอจะได้รีบรักษาได้ทันที แต่ถ้าความดันโลหิตต่ำไปก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากนัก เพราะจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว อย่างเวลาคุณแม่นอนราบบนเตียง มดลูกจะไปกดเส้นเลือดใหญ่ในท้อง จึงทำให้ความดันโลหิตต่ำ มีอาการใจสั่น หวิว ๆ คล้ายจะเป็นลม และเหงื่อออกมาก ก็แก้ไขด้วยวิธีการเปลี่ยนท่านอนโดยหันมานอนตะแคง คุณแม่ก็จะสบายยิ่งขึ้น
- ตรวจปัสสาวะ หมอจะเก็บปัสสาวะของคุณแม่มาตรวจดูว่ามีน้ำตาลและโปรตีน (พวกเดียวกับไข่ขาว albumin) ออกมาในปัสสาวะหรือไม่ ถ้าตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ อาจแสดงถึงการเป็นโรคเบาหวาน ก็จำเป็นต้องเจาะเลือดหาเบาหวานกันต่อไป โดยคุณหมอจะตรวจเลือดอย่างละเอียด หากชี้ชัดว่าเป็นเบาหวาน คุณแม่ก็จะได้รับฮอร์โมนอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดต่อไป แต่ถ้าผลการตรวจเลือดไม่พบว่าเป็นเบาหวาน คุณแม่อาจจะต้องตรวจน้ำตาลในปัสสาวะซ้ำอีกครั้งในการฝากครรภ์ครั้งต่อไป เพราะโรคเบาหวานบางครั้งก็อาจจะตรวจน้ำตาลในปัสสาวะเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ที่มากขึ้นก็ได้ หรือถ้ามีโปรตีนพวกไข่ขาวปนออกมา ก็อาจแสดงถึงอาการครรภ์เป็นพิษหรือการอักเสบในระบบทางเดินปัสสาวะ แต่ความผิดปกติเหล่านี้สามารถรักษาได้ครับ สำหรับการถ่ายปัสสาวะเพื่อนำมาตรวจนั้น คุณแม่ควรจะถ่ายทิ้งไปสักหน่อยก่อนแล้วจึงค่อยเก็บปัสสาวะที่ถ่ายออกมาในช่วงกลาง ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่ปนกับระดูขาวหรือน้ำจากช่องคลอด ซึ่งอาจจะทำให้ผลการตรวจผิดเพี้ยนไปได้
- ตรวจเลือด คุณหมอจะนำเลือดของคุณแม่ไปตรวจหาระดับความเข้มข้นของเลือด หมู่เลือด ABO และ Rh ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี เชื้อโรคเอดส์ และหาภูมิต้านทานต่อโรคหัดเยอรมัน (โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยเป็นหัดเยอรมันหรือไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน) โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ปกตินั้นควรจะมีระดับความเข้มข้นของเลือดลดต่ำลงเล็กน้อย เนื่องจากมีประมาณของน้ำในร่างกายสูงขึ้น ระดับความเข้มข้นของเลือดมีความสำคัญสำหรับคุณแม่มาก เพราะจะทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งให้ลูกในครรภ์ด้วย ถ้าตรวจพบว่ามีระดับความเข้มข้นของเลือดต่ำกว่า 10 กรัมต่อเดซิลิตร แสดงว่าคุณแม่อาจเป็นโรคเลือดบางชนิด โดยเฉพาะโรคเลือดทาลัสซีเมีย ซีดจากการขาดธาตุเหล็ก หรือโรคพยาธิปากขอ ในกรณีนี้คุณแม่ควรได้รับการตรวจอุจจาระและเลือดอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ส่วนคุณแม่ที่ติดเชื้อโรคซิฟิลิส คุณหมอจะรักษาด้วยการฉีดยาให้ทันที เพราะเชื้อชนิดนี้เป็นสาเหตุของการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด ทารกตายในครรภ์ หรือส่งผลให้มีความพิการตามมา และในกรณีที่ตรวจพบเชื้อไวรัสเอดส์ คุณหมอสามารถให้ยาแก่คุณแม่เพื่อลดการติดเชื้อไปยังลูกน้อยได้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า คุณแม่ที่ได้รับยารักษาโรคเอดส์ในระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกจะมีโอกาสติดเชื้อได้เพียง 8% เท่านั้น แต่ถ้าตรวจพบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี คุณหมอจะเตรียมวัคซีนไว้สำหรับฉีดป้องกันการติดเชื้อของลูกน้อยในทันทีที่คลอดบุตร
- ตรวจภายใน ในกรณีนี้คุณหมอจะทำการตรวจภายในเมื่อมีข้อบ่งชี้เท่านั้น โดยสงสัยว่าอาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับมดลูกหรือช่องคลอด เช่น คุณแม่มีอาการเจ็บครรภ์ มีมูกเลือด น้ำเดิน เพื่อเป็นการตรวจดูว่าปากมดลูกเปิดกว้างเท่าใด และทารกมีส่วนนำเป็นอะไร รวมทั้งประเมินขนาดอุ้งเชิงกรานของคุณแม่ว่าจะสามารถคลอดเองได้หรือไม่ ในโรงพยาบาลบางแห่งจะตรวจเช็กมะเร็งปากมดลูกให้ด้วยในขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ในระยะแรก แต่ส่วนใหญ่คุณแม่จะได้รับการตรวจหลังจากคลอดประมาณ 4-6 สัปดาห์
- ตรวจร่างกายทั่วไป คุณหมอจะทำการตรวจสภาพร่างกายทั่ว ๆ ไป โดยตรวจดูภาวะซีดหรือมีอาการอ่อนเพลียผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งตรวจหน้าท้องเพื่อหาความผิดปกติของตับ ไต ม้าม เนื้องอกอื่น ๆ ที่ผิดปกติในช่องท้อง ถ้าตรวจพบสิ่งใดหมอก็จะนัดให้คุณแม่มาตรวจครรภ์ถี่ขึ้นและอาจจำเป็นต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วย และคุณหมอจะตรวจร่างกายตามระบบต่าง ๆ ดังนี้
- ตรวจฟังเสียงหัวใจและปอด เป็นการตรวจดูการทำงานของหัวใจและปอดว่าปกติดีหรือไม่ โดยหมอจะใช้หูฟังเพื่อฟังเสียงหัวใจเต้นและฟังปอดว่าปกติหรือไม่ ถ้าหากพบว่ามีความผิดปกติจะได้ทำการรักษาต่อไป
- ตรวจฟัน ถ้าพบว่าฟันผุคุณแม่จะต้องรีบไปอุดฟันเสียก่อน เพราะถ้าปล่อยให้อักเสบเรื้อรังอาจจะทำให้อวัยวะอื่นมีการอักเสบในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอดได้
- ตรวจเต้านม หากคุณหมอตรวจพบว่าลานนมและหัวนมมีความผิดปกติทำให้คุณแม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ เช่น หัวนมแบนหรือบอด (มีลักษณะแบนหรือบุ๋มลงไป) คุณหมอก็จะได้ให้คำแนะนำในการเตรียมหัวนมเพื่อช่วยให้ลูกดูดนมได้ โดยให้คุณแม่ใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างแตะรอบ ๆ ระหว่างหัวนมกับลานนม แล้วกดนิ้วรูดแยกให้ห่างจากกันไปทางข้าง ๆ และตรง ๆ โดยให้ทำซ้ำ ๆ ในทิศทางต่างกันโดยรอบสัก 2-3 ครั้ง เพื่อให้หัวนมตั้งขึ้นมา ถ้าทำบ่อย ๆ ก็จะได้ผล หรืออีกวิธีให้คุณแม่ใช้นิ้วคีบหัวนมที่ยื่นออกมา บีบดึงออกมาตรง ๆ เบา ๆ 2-3 ครั้ง แล้วทำบ่อย ๆ ซึ่งอาจจะใช้เวลานานสักหน่อยกว่าหัวนมจะยืดออกมาพอที่เด็กจะดูดนมได้สะดวก
- ตรวจครรภ์ จะเป็นการตรวจดูขนาดหรือระดับของมดลูกว่ามีความสัมพันธ์กับอายุการตั้งครรภ์หรือไม่ มีก้อนเนื้อผิดปกติในท้องหรือเปล่า ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ คุณหมอก็จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวระหว่างการตั้งครรภ์และให้ยาบำรุงกลับไปรับประทาน ซึ่งจะประกอบด้วยวิตามินบีรวมและธาตุเหล็กเพื่อช่วยเสริมสร้างสุขภาพของแม่และลูกน้อยในครรภ์
- ตรวจขา เพื่อดูว่าคุณแม่มีเส้นเลือดขอดหรือไม่ โดยเส้นเลือดขอดมักจะเกิดกับผู้ที่เดินหรือยืนมาก ๆ หรือทำงานเกี่ยวกับการใช้ขา ซึ่งจะเกิดจากการที่เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก แต่สำหรับหญิงตั้งครรภ์นั้นจะเกิดเส้นเลือดขอดได้ง่ายขึ้น เพราะมดลูกที่ขยายตัวได้ขึ้นไปกดเส้นเลือดใหญ่ในช่วงท้อง ทำให้เลือดไหลกลับเข้าไปในหัวใจได้ไม่สะดวก ในช่วงแรกที่เริ่มมีอาการเส้นเลือดขอด คุณแม่มักจะมีอาการปวดตามเส้นเลือด ถ้าเป็นมาก ๆ ทางเดินของเลือดจะถูกอุดตัน ส่งผลให้ขาบวม ยิ่งถ้าก้อนเลือดที่อุดตันนั้นเกิดหลุดเข้าไปในกระแสเลือดด้วยแล้วยิ่งอันตรายเลยครับ
- ตรวจต่อมไทรอยด์ เพื่อตรวจดูว่าต่อมไทรอยด์มีขนาดโตกว่าปกติหรือไม่ เพราะโดยทั่วไปแล้วหญิงตั้งครรภ์จะมีต่อมไทรอยด์โตเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถ้าโตมาก อาจแสดงถึงต่อมไทรอยด์เป็นพิษก็ได้
สมุดฝากครรภ์
ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ คุณหมอจะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายของคุณแม่อย่างละเอียด โดยผลการตรวจทุกอย่างจะถูกบันทึกลงในสมุดฝากครรภ์หรือใบฝากครรภ์ซึ่งเปรียบเสมือนบัตรประจำตัวหรือบัตรประชาชนของทารกในครรภ์ คุณแม่ควรนำบัตรนี้ติดตัวไปด้วยเสมอ เมื่อต้องเดินทางไกล ๆ หากเกิดภาวะฉุกเฉินจนต้องเข้าโรงพยาบาล คุณหมอจะได้ดูแลรักษาคุณแม่ได้ถูกต้องตามข้อมูลที่บันทึกไว้ในสมุด แต่ถ้าคุณแม่ไม่มีสมุดฝากครรภ์พกติดตัวมาด้วย คุณหมอก็จะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับคุณแม่ ไม่ทราบว่าคุณแม่มีปัญหาอะไรหรือไม่ รักษามาอย่างไร และมีผลเลือดอย่างไร ซึ่งอาจทำให้คุณแม่ต้องเจาะเลือดใหม่และทำให้เสียเวลาได้
กำหนดวันคลอด
ปกติแล้วคุณแม่จะทราบกำหนดวันคลอดได้จากประจำเดือนครั้งสุดท้าย การจดบันทึกการมีประจำเดือนไว้เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ ตลอดอายุการตั้งครรภ์จนถึงวันคลอดจะอยู่ที่ประมาณ 280 วัน หรือประมาณ 40 สัปดาห์ โดยเริ่มนับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายของคุณแม่ ดังนั้นจึงมีสูตรคำนวณวันคลอดกันอย่างง่าย ๆ โดยนับจากวันแรกของรอบเดือนครั้งสุดท้าย แล้วนับย้อนเดือนที่มีประจำเดือนขึ้นไป 3 เดือน แล้วบวก 7 สมมติว่าคุณแม่มีรอบประจำเดือนทุก ๆ 28 วัน ประจำเดือนของคุณแม่มาครั้งล่าสุดวันที่ 1-5 มกราคม 2559 และประจำเดือนควรจะมาอีกครั้งในวันที่ 28-29 มกราคม 2558 ดังนั้นประจำเดือนครั้งสุดท้ายที่มาคือวันที่ 1 มกราคม (ไม่ใช่วันที่ 5 หรือ 28-29 มกราคม) กำหนดวันคลอดของคุณแม่จะตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม 2559 ซึ่งได้มาจากการนำวันที่ 1 ไปบวกกับ 7 แล้วนับถอยหลังจากเดือนมกราคมไปอีก 3 เดือน คือ ธันวาคม พฤศจิกายน และตุลาคม
แต่การนับวันคลอดด้วยวิธีนี้จะให้ผลอย่างแม่นยำในกรณีที่คุณแม่จำวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายได้ และหากคุณแม่มีรอบเดือนมาสม่ำเสมอทุก ๆ 28-30 วัน คุณแม่ส่วนใหญ่ก็มักจะคลอดก่อนวันที่กำหนดไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งก็จะตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม 2559 (โดยประมาณ) แต่ความจริงแล้วจะมีคุณแม่เพียง 5-6% เท่านั้นที่จะคลอดลูกได้ตรงกับกำหนดวันคลอดพอดี ในส่วนเรื่องของการกำหนดวันคลอด หรือการคำนวณอายุครรภ์ รวมถึงการตั้งครรภ์เกินกำหนดวันคลอด ผมจะขอกล่าวถึงอีกครั้งอย่างละเอียดในบทความถัดไปครับ
การนัดตรวจครรภ์ครั้งถัดไป
เมื่อคุณแม่ได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทราบกำหนดวันคลอดของลูกแล้ว หมอจะสั่งยาบำรุงให้และนัดมาตรวจครรภ์ครั้งถัดไป ซึ่งจะนัดถี่หรือห่างมากน้อยเพียงใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับระยะครรภ์และโรคหรือความผิดปกติที่ตรวจพบ ซึ่งโดยปกติแล้วในช่วง 7 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณหมอจะนัดให้คุณแม่มาตรวจครรภ์เดือนละ 1 ครั้ง และเมื่อย่างเข้าสู่เดือนที่ 8 คุณหมอก็จะนัดตรวจครรภ์ถี่ขึ้นเป็นทุก ๆ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และจะเพิ่มเป็นทุก ๆ 1 สัปดาห์ในช่วงเดือนที่ 9 หรือช่วง 1 เดือนก่อนคลอด แต่สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด ซึ่งในระหว่างการตั้งครรภ์จะมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า คุณหมอจะนัดให้มาตรวจถี่ขึ้นกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ตามปกติในช่วง 2 เดือนก่อนคลอด คราวนี้เรามาดูกันดีกว่าครับว่าการฝากครรภ์นั้นมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
บางคนอาจสงสัยว่าทำไมหมอต้องนัดตรวจครรภ์หลาย ๆ ครั้ง ในเมื่อสุขภาพของคุณแม่ก็ยังปกติดี บางคนไปตรวจเพียงครั้งเดียว พอเห็นว่าตัวเองไม่มีอะไรผิดปกติก็เลยไม่ไปอีกเลย แต่เชื่อไหมครับว่าความผิดปกติหลาย ๆ อย่างมักจะเกิดขึ้นหลังจากตั้งครรภ์ไปหลายเดือนแล้ว และบางอย่างคุณแม่ก็ไม่สามารถรับรู้เองได้ หรือบางทีไปให้หมอตรวจเพียงครั้งสองครั้ง หมอก็อาจจะยังวินิจฉัยไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นการตรวจครรภ์หลาย ๆ ครั้งจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอดบุตร เพราะคุณแม่อาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับการตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะถ้าตรวจพบหมอก็จะได้รักษาหรือหาทางแก้ไขได้ทันท่วงทีครับ อย่าไปคิดว่าพบหมอแล้วไม่เห็นจะมีอะไรเกิดขึ้นเลย เพราะการตรวจของหมอจะเป็นการป้องกันปัญหาไว้ก่อนที่จะเกิด หรืออย่างบางคนกลับคิดว่าหมอตรวจเพียงแค่ 2-3 นาทีเอง แล้วจะตรวจเจออะไร ตรงนี้ก็ขอให้เชื่อหมอเถอะครับว่าถ้าได้ตรวจอย่างสม่ำเสมอแล้วหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น หมอจะตรวจพบได้โดยไม่ยากเลย แต่ถ้าตรวจแล้วไม่มีความผิดปกติใด ๆ ก็ถือว่าโชคดีไปครับ
ส่วนในกรณีที่ไม่สามารถไปตรวจตามที่หมอนัดได้ อาจเป็นเพราะติดธุระสำคัญหรือมีเหตุจำเป็นอื่น ๆ ก็ให้รีบไปพบหมอในทันทีที่ว่าง อย่ารอให้เลยวันนัดเป็นเดือน ๆ เนื่องจากการนัดแต่ละครั้งเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการตรวจดูความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะมีตัวอย่างหลาย ๆ รายที่ไปฝากครรภ์กับหมอแล้วก็หายไปเลย มาเจออีกครั้งก็ตอนที่ญาติหามมาส่งโรงพยาบาลเพราะมีอาการชัก เนื่องจากครรภ์เป็นพิษ มีความดันโลหิตสูง ฯลฯ หรือคุณแม่บางรายที่มีเลือดจางมาก พอท้องแก่ขึ้นบวกกับทารกน้อยในครรภ์ที่ต้องการธาตุเหล็กมากขึ้นด้วย ก็ต้องดึงเอาเลือดของคุณแม่ ทำให้คุณแม่ขาดธาตุเหล็กและเกิดเลือดจางมากขึ้นกว่าเดิม ในกรณีเหล่านี้ถ้าได้ตรวจพบแต่เนิ่น ๆ หมอก็จะได้ให้คำแนะนำวิธีปฏิบัติตัวและยารักษาได้ถูก เป็นต้น
หลังจากฝากครรภ์ในครั้งแรกแล้ว การนัดตรวจครรภ์ครั้งต่อไป คุณหมอจะตรวจอะไรกันบ้าง แล้วคุณแม่ควรเตรียมตัวอย่างไร มาเริ่มกันเลยครับ
- ซักถามรายละเอียด เช่น คุณแม่กินอาหารได้ตามปกติหรือไม่ มีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียนหรือเปล่า ระบบขับถ่ายเป็นอย่างไร ปัสสาวะและอุจจาระได้ตามปกติหรือไม่ และดูสภาพร่างกายทั่วไปของคุณแม่ว่ามีอาการซีดจากโรคโลหิตจางหรือไม่ หรือเมื่อตั้งครรภ์ถึงระยะที่ลูกควรจะดิ้นแล้ว หมอก็ถามว่าคุณแม่เริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นแล้วหรือยัง (ถ้าประจำเดือนมาปกติ คุณแม่จะรู้สึกได้ว่าลูกดิ้นในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 18-20 ส่วนคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาแล้วจะรู้สึกได้ในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 16-18 ซึ่งคำตอบของคุณแม่จะทำให้คุณหมอทราบถึงการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ได้ ถ้าคุณแม่ไม่ทราบว่าตั้งครรภ์เมื่อไหร่ การที่ลูกดิ้นจะช่วยประมาณอายุครรภ์ได้) ฯลฯ
- ชั่งน้ำหนัก เพื่อดูว่าน้ำหนักของคุณแม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ในระยะแรกช่วงแพ้ท้องอาจจะไม่เป็นอะไร แต่ในช่วงหลังถ้าน้ำหนักตัวยังไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มน้อยไป ก็ต้องมาดูว่าผิดปกติหรือเปล่า โดยจะพิจารณาทั้งจากคุณแม่และลูกในครรภ์ ถ้าแม่ผอมลงแต่ท้องโตปกติก็ไม่มีปัญหาครับ แต่ถ้าแม่อ้วนขึ้นแล้วลูกกลับไม่โต ตรงนี้แหละมีปัญหาแน่นอน
- วัดความดันโลหิต คุณแม่จะต้องมีความดันโลหิตอยู่ในระดับปกติ เช่น 100/70 – 120/80 ถ้าความดันโลหิตสูงเกินไปก็อาจมีผลต่อคุณแม่และลูกในครรภ์ได้
- ตรวจปัสสาวะ จะเป็นการตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อหาน้ำตาลและโปรตีนในปัสสาวะตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เพราะถ้ามีสองตัวนี้ก็ต้องระวังเรื่องเบาหวาน อาการอักเสบ หรือครรภ์เป็นพิษ
- ตรวจการเจริญเติบโตของทารก จะเป็นการคลำหน้าท้องเพื่อดูขนาดของมดลูกและการเจริญเติบโตของทารกเทียบกับระยะของการตั้งครรภ์ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ทารกอยู่ในท่าใด ศีรษะหรือก้นเป็นส่วนนำ หรือศีรษะเข้าสู่อุ้งเชิงกรานแล้วหรือยัง โดยในระยะแรกจะไม่สามารถคลำดูขนาดของลูกในครรภ์ได้ เมื่อตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน มดลูกจะเจริญเติบโตจนพ้นกระดูกหัวหน่าวและคลำได้ชัดเจน และจะโตจนถึงระดับสะดือเมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 5 เดือน หรือ 20 สัปดาห์ และมดลูกจะโตขึ้นจนถึงระดับลิ้นปี่เมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 36 สัปดาห์ หลังจากนั้นท้องจะลดลงจนใกล้ครบกำหนดคลอด ศีรษะของทารกจะเคลื่อนลงสู่อุ้งเชิงกราน
- ตรวจภายใน ถ้าคุณแม่มีอาการตกขาว คันช่องคลอด หรือมีเลือดออก หมอก็จะทำการตรวจภายในเพื่อหาสาเหตุ แต่ถ้าปกติหมอก็จะตรวจภายในอีกครั้งในช่วงใกล้คลอดเพื่อดูว่ามีการอักเสบเกิดขึ้นหรือไม่ ขนาดของช่องเชิงกรานเป็นอย่างไร กว้างพอที่ลูกจะคลอดออกมาได้หรือไม่ แต่การตรวจระยะนี้คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลครับ เพราะไม่เจ็บอะไรเลย เนื่องจากมีเลือดมาหล่อเลี้ยงช่องคลอดมาก ทำให้ช่องคลอดนุ่ม และช่องคลอดก็เตรียมขยายตัวอยู่แล้ว เมื่อถึงกำหนดคลอดแล้วยังไม่คลอดหรือมีความจำเป็นจะต้องเร่งคลอดก่อนที่จะเจ็บท้องเอง หมอก็ต้องตรวจภายในดูว่าปากมดลูกเป็นอย่างไรเช่นกัน
- ตรวจเลือด นอกจากการตรวจเลือดครั้งแรกตอนฝากครรภ์แล้ว คุณหมอก็จะให้ตรวจเลือดซ้ำอีกครั้งเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 30-32 สัปดาห์ หรือประมาณ 7 เดือนเต็ม เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรผิดปกติ
- ตรวจอาการบวม บริเวณข้อมือ เท้า และลำตัว คุณแม่อาจมีโอกาสบวมได้ในช่วงเดือนหลัง ๆ ของการตั้งครรภ์ เนื่องจากมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นจนไปกดทับเส้นเลือดดำใหญ่ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดีหรือไหลเวียนกลับได้ไม่สะดวกจนเกิดอาการบวมขึ้นได้ และบางครั้งคุณแม่อาจมีอาการชาร่วมด้วย เพราะเส้นประสาทถูกเนื้อเยื่อที่บวมมากดรัดไว้
- ตรวจแอลฟา-ฟีโต โปรตีน (AFP) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์จะมีการสร้างไข่แดงสำหรับใช้เลี้ยงทารก เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นก็จะมีการสร้างที่ตับของทารกในครรภ์ เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นในครรภ์ ปริมาณของสารแอลฟา-ฟีโต โปรตีน จะเปลี่ยนแปลงไป ทำให้คุณหมอทราบถึงความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ โดยจะพบสารแอลฟา-ฟีโต โปรตีน สูงขึ้นในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด นับประจำเดือนคลาดเคลื่อน มีความเสี่ยงต่อการแท้ง และทารกมีความผิดปกติของไตหรือระบบทางเดินอาหาร ถ้าพบสารตัวนี้มากผิดปกติ คุณหมอจะตรวจอัลตราซาวนด์ ถ้าตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติ คุณหมอจะตรวจเลือดเพิ่มเติมหรือเจาะน้ำคร่ำเพื่อหาความผิดปกติต่อไป และสารแอลฟา-ฟีโต โปรตีน นี้ยังมีค่าแตกต่างกันตามช่วงอายุ โดยมากแล้วจะมีค่าไม่สูงมากนักในช่วงอายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ ถ้าตรวจพบสารนี้สูงกว่าปกติ 2-3 เท่า แสดงว่าอาจเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาทของทารกได้ เช่น ทารกหัวโตผิดปกติ กระดูกสันหลังไม่ปิด แต่ถ้าพบค่าของสารนี้ต่ำกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า ทารกอาจมีความผิดปกติของสมอง ซึ่งมักพบในรายที่เป็นเด็กดาวน์ หากพบว่าผิดปกติ คุณหมอจะทำการตรวจยืนยันด้วยการเจาะตรวจน้ำคร่ำอีกครั้ง
การตรวจพิเศษ
สำหรับคุณแม่บางคนที่มีโอกาสตั้งครรภ์ผิดปกติหรือมีความเสี่ยงสูง คุณหมอจะตัดสินใจให้ตรวจพิเศษ คุณแม่ควรซักถามเกี่ยวกับผลการตรวจและผลที่จะได้รับเพื่อตัดสินใจว่าจะตรวจพิเศษหรือไม่ ซึ่งการตรวจพิเศษก็มีดังต่อไปนี้
- การตรวจอัลตราซาวนด์ ปกติแล้วคุณแม่ที่มาฝากครรภ์จะต้องได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์อย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงอายุครรภ์ 4-5 เดือน เพื่อตรวจดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ แต่ในบางแห่งก็จะมีตรวจกันตั้งแต่เมื่อมาฝากครรภ์ครั้งแรกในช่วง 2-3 เดือน เพื่อเป็นการยืนยันอายุครรภ์ที่แน่นอน และตรวจหาความผิดปกติของการตั้งครรภ์ในระยะแรก เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก ตรวจดูในกรณีที่สงสัยว่าตั้งครรภ์แฝดหรือแท้งบุตร นอกจากนี้ประโยชน์ของการตรวจอัลตราซาวนด์ยังใช้เพื่อติดตามดูแลการเจริญเติบโตของทารก ทำให้คุณหมอสามารถตรวจดูความผิดปกติของทารก ดูอวัยวะต่าง ๆ และโครงสร้างของทารก ดูท่าของทารก ตำแหน่งและความสมบูรณ์ของรกเพื่อเปรียบเทียบกับอายุครรภ์ได้ รวมทั้งช่วยในการตรวจพิเศษอื่น ๆ อีก เช่น การตรวจน้ำคร่ำและเจาะตรวจเนื้อเยื่อรก ซึ่งจำเป็นต้องใช้อัลตราซาวนด์ตรวจหาตำแหน่งที่จะเจาะตรวจ เป็นต้น
- การเจาะตรวจน้ำคร่ำ เป็นการเจาะน้ำคร่ำที่อยู่ล้อมรอบตัวทารกออกมาตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซม เนื่องจากในถุงน้ำคร่ำจะมีเซลล์ผิวหนังของทารกหลุดลอกออกมาและลอยอยู่ทั่วไป โดยการเจาะน้ำคร่ำนั้นมักจะทำกันในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 16-18 สัปดาห์ โอกาสที่จะทำให้คุณแม่แท้งบุตรได้นั้นมีเพียง 0.5-1% เท่านั้น โดยคุณหมอจะแนะนำให้ตรวจในกรณีที่คุณแม่มีอายุเกิน 35 ปี หรือมีความเสี่ยงที่จะมีลูกซึ่งมีความผิดปกติทางโครโมโซมหรือปัญญาอ่อน, โรคบางอย่างที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมเฉพาะเพศได้ เช่น โรคเลือดฮีโมฟีเลีย ที่พบในทารกเพศชาย ซึ่งการตรวจน้ำคร่ำจะช่วยบอกเพศของทารกได้อย่างถูกต้อง, คุณแม่บางคนเคยมีลูกที่มีความผิดปกติของเอนไซม์ซึ่งถ่ายทอดทางพันธุกรรมก็สามารถตรวจยืนยันได้จากการเจาะตรวจน้ำคร่ำ เพื่อจะได้เตรียมการดูแลรักษาในช่วงแรกคลอด, กรณีที่คุณแม่ต้องคลอดก่อนกำหนดและหมอยังไม่แน่ใจว่าปอดของทารกทำงานสมบูรณ์ดีหรือไม่ การตรวจน้ำคร่ำเพื่อหาสารเคมีบางชนิดที่ช่วยในการทำงานของปอดจะบอกได้ว่าสมรรถภาพการทำงานของปอดเป็นอย่างไร และยังมีประโยชน์ในเรื่องที่ว่าหากตรวจพบสารประกอบน้ำดีอยู่ในน้ำคร่ำ ก็จะช่วยบอกได้ว่าทารกน่าจะมีปัญหาเรื่องของเลือดลูกกับเลือดแม่ไม่เข้ากัน เป็นต้น
- การตรวจเนื้อเยื่อรก จะเป็นการนำเนื้อเยื่อรกมาตรวจ เนื่องจากทารกและรกมีกำเนิดมาจากเซลล์กลุ่มเดียวกันในระยะแรก ๆ ของการแบ่งตัว โครโมโซมของรกและทารกจึงต้องเหมือนกันทุกประการ การนำเนื้อเยื่อมาตรวจจะสามารถบอกได้ถึงความผิดปกติของโครโมโซมในตัวทารก ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ 2-3 เดือนแรก แต่การตรวจเก็บเนื้อเยื่อทารกนั้น คุณแม่จะมีโอกาสแท้งบุตรได้ประมาณ 2% ซึ่งสูงกว่าวิธีการเจาะน้ำคร่ำ คุณแม่ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะรอให้อายุครรภ์มากขึ้น เพื่อตรวจเจาะน้ำคร่ำแทนการตรวจเนื้อเยื่อรก
- การเจาะเลือดจากสายสะดือ การเจาะเลือดจากสายสะดือนี้จะเป็นการเจาะเอาเลือดจากทารกโดยตรงออกมาเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของทารก คุณหมอจะตรวจด้วยวิธีนี้กับคุณแม่ที่ทารกในครรภ์มีภาวะซีดและโลหิตจาง รวมทั้งการถ่ายเลือดให้ทารกผ่านทางสายสะดือ ด้วยวิธีนี้คุณแม่จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้ประมาณ 1-2% โดยการเจาะเลือดจากสายสะดือทารกนั้นมักใช้ในกรณีที่คุณหมอจะตรวจเลือดทารกเมื่อสงสัยว่าทารกมีภาวะซีดจากการไม่เข้ากันของกลุ่มเลือดแม่และเลือดลูก เช่น ลูกมีกลุ่มเลือด Rh+ ส่วนแม่เป็น Rh- ซึ่งทำให้เกิดการทำลายของเม็ดเลือดแดงจนเกิดภาวะซีดในลูกได้ และการตรวจนี้จะทำให้ทราบถึงความรุนแรงของโรคและสามารถรักษาด้วยการให้เลือดกับลูกโดยตรง ซึ่งใช้วิธีเดียวกันกับการเจาะตรวจเลือด, ในกรณีที่คุณแม่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้ลูกที่มีความผิดปกติทางโครโมโซม และในกรณีที่สงสัยว่าลูกจะมีการติดเชื้อจากคุณแม่ในระหว่างการตั้งครรภ์ จากหัดเยอรมันหรือเชื้อในกลุ่มเริม ซึ่งการตรวจหาสารโปรตีนบางชนิดในเลือดก็สามารถรู้ได้ว่าทารกติดเชื้อหรือไม่
- การตรวจเลือด (Serum Screening) เป็นการตรวจคัดกรองหาระดับฮอร์โมน HCG, AFP และ Estriol ระดับฮอร์โมนทั้ง 3 ชนิดนี้เมื่อนำผลที่ได้มาร่วมกันพิจารณากับอายุของคุณแม่และอายุครรภ์ ก็จะสามารถบอกได้ว่าคุณแม่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ทารกที่มีความผิดปกติของฮอร์โมนเพียงใด แต่การตรวจด้วยวิธีนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ และไม่สามารถให้ผลที่แน่นอนได้ เนื่องจากเป็นการตรวจคัดกรองเท่านั้น คุณแม่จึงจำเป็นต้องตรวจด้วยวิธีพิเศษอื่น ๆ อีกครั้งตามความเหมาะสม ถ้าคุณหมอพบว่าคุณแม่มีความเสี่ยงสูง ก็จะแนะนำให้คุณแม่ตรวจพิเศษด้วยวิธีการเจาะตรวจน้ำคร่ำ เนื้อเยื่อรก หรือเลือดของทารกมากกว่า
- การตรวจวัดความหนาของผิวหนังบริเวณต้นคอทารก (Nuchel Translucency) จะตรวจได้เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ไปแล้วประมาณ 4-5 สัปดาห์ โดยจะเป็นการใช้อัลตราซาวนด์วัดความหนาของผิวหนังบริเวณต้นคอทารก ซึ่งโดยทั่วไปจะมีความหนาไม่เกิน 3 มิลลิเมตร แต่ถ้าพบว่าหนาเกิน 3 มิลลิเมตร จะบ่งบอกได้ว่าคุณทารกอาจมีความผิดปกติทางโครโมโซม และถ้าคุณแม่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป โอกาสเสี่ยงต่อการมีทารกที่ผิดปกติก็จะยิ่งสูงมากขึ้น คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่ตรวจพิเศษด้วยวิธีการเจาะน้ำคร่ำหรือเนื้อเยื่อรกต่อไป เพื่อให้ได้ผลที่แน่นอน
- การตรวจการเต้นของหัวใจทารก (Non-stress Test) เป็นการตรวจติดตามการเต้นของหัวใจทารก ทารกที่มีการเจริญเติบโตเป็นปกติและได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอตลอดการตั้งครรภ์ จะมีการตอบสนองที่ดีเมื่อได้รับการกระตุ้น คุณแม่จะทราบได้ว่าหัวใจลูกเต้นได้ดีเพียงใด โดยจะต้องติดเครื่องตรวจทางหน้าท้องเพื่อฟังการเต้นของหัวใจลูก ในขณะที่ลูกดิ้นหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นประมาณ 15 ครั้งต่อนาที นานติดต่อกัน 15 วินาที แต่ถ้าการเต้นของหัวใจลูกในครรภ์ช้าลง แสดงว่าลูกเริ่มมีสุขภาพไม่ดี มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในครรภ์สูง คุณหมอจะให้ตรวจพิเศษเพิ่มอีกและอาจพิจารณาให้คุณแม่ยุติการตั้งครรภ์
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือคัมภีร์เลี้ยงลูก วัยแรกเกิด-วัยรุ่นตอนปลาย. “การฝากครรภ์”. (นพ.เบนจามิน สป๊อก). หน้า 20.
- หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด. “การฝากครรภ์…ทำไมจึงต้องฝากกับหมอ”. (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ). หน้า 50-72.
- หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ. “ฝากครรภ์สำคัญอย่างไร”. (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์). หน้า 113-125.
ภาพประกอบ : Bigstock
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)