การบูร
การบูร ชื่อสามัญ Camphor, Gum camphor, Formosan camphor, Laurel camphor
การบูร ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum camphora (L.) J.Presl[1],[5],[6] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Camphora officinarum Nees, Laurus camphora L.[1]) จัดอยู่ในวงศ์อบเชย (LAURACEAE)[1],[4]
สมุนไพรการบูร มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า การะบูน การบูร (ภาคกลาง), อบเชยญวน (ไทย), พรมเส็ง (เงี้ยว), เจียโล่ (จีนแต้จิ๋ว), จางมู่ จางหน่าว (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[4],[6]
ลักษณะของการบูร
- ต้นการบูร เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน อินโดนีเซีย อินเดีย อียิปต์ แอฟริกาใต้ จาไมกา บราซิล สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นทรงพุ่มกว้างและทึบ มีความสูงของต้นได้ถึง 30 เมตร ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1.5 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล ผิวหยาบ ส่วนเปลือกกิ่งเป็นสีเขียวหรือเป็นสีน้ำตาลอ่อน ลำต้นและกิ่งเรียบไม่มีขน ส่วนเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลปนแดง เมื่อนำมากลั่นแล้วจะได้ “การบูร” ทุกส่วนมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะที่ส่วนที่ของรากและโคนต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปักชำ[1],[8]
- ใบการบูร ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปรีแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบป้านหรือกลม ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5.5-15 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างเหนียว หลังใบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอมเทาหรือนวล ไม่มีขน เส้นใบขึ้นตรงมาจากโคนใบประมาณ 3-8 มิลลิเมตร แล้วแยกออกเป็นเส้น 3 เส้น ตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกนั้นมีต่อม 2 ต่อม และตามเส้นกลางใบอาจมีต่อมเกิดขึ้นตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกไป ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ไม่มีขน ที่ตาใบมีเกล็ดซ้อนเหลื่อมกันอยู่ โดยเกล็ดชั้นนอกจะเล็กกว่าเกล็ดชั้นในตามลำดับ และเมื่อนำใบมาขยี้จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นการบูร[1]
- ดอกการบูร ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาวอมสีเหลืองหรืออมสีเขียว ก้านดอกย่อยมีขนาดสั้นมาก ดอกรวมมีกลีบ 6 กลีบ เรียงเป็นวง 2 วง วงละ 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปรี ปลายมน ด้านนอกเกลี้ยง ส่วนด้านในมีขนละเอียด ดอกมีเกสรเพศผู้ 9 ก้าน เรียงเป็นวง 3 วง วงละ 3 ก้าน ส่วนอับเรณูของวงที่1 และ 2 หันหน้าเข้าด้านใน ที่ก้านเกสรมีขน ส่วนวงที่ 3 จะหันหน้าออกทางด้านนอก ที่ก้านเกสรค่อนข้างใหญ่ มีต่อม 2 ต่อม อยู่ใกล้กับก้าน ลักษณะของต่อมเป็นรูปไข่กว้างและมีก้าน อับเรณูจะมีช่องเปิด 4 ช่อง เรียงกันเป็นแถว 2 แถว แถวละ 2 ช่อง มีลิ้นเปิดทั้ง 4 ช่อง ส่วนเกสรเพศผู้เป็นหมันมี 3 ก้าน อยู่ด้านในสุด ลักษณะเป็นรูปร่างคล้ายหัวลูกศร มีแต่ขนและไม่มีต่อม ส่วนรังไข่เป็นรูปไข่ ไม่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ไม่มีขน ปลายเกสรเพศเมียมีลักษณะกลม ส่วนใบประดับมีลักษณะเรียวยาว ร่วงได้ง่าย และมีขนอ่อนนุ่ม โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม[1]
- ผลการบูร ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือกลม และเป็นผลแบบมีเนื้อ ผลเป็นสีเขียวเข้มมีขนาดยาวประมาณ 6-10 มิลลิเมตร เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ผลมีฐานดอกซึ่งเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นแป้นรองรับผล ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด[1]
- การบูร คือผลึกที่แทรกอยู่ในเนื้อไม้ของต้นการบูร ที่มีอยู่ทั่วไปทั้งต้น โดยมักจะอยู่ตามรอยแตกของเนื้อไม้ และมีมากที่สุดในแก่นของราก รองลงมาคือส่วนแก่นของต้น ซึ่งส่วนที่อยู่ใกล้กับโคนต้นจะมีการบูรมากกว่าส่วนที่อยู่เหนือขึ้นมา ส่วนในใบและยอดอ่อนมีการบูรอยู่น้อย โดยในใบอ่อนจะมีน้อยกว่าใบแก่ ซึ่งผงการบูรนั้นจะมีลักษณะเป็นเกล็ดกลม ๆ ขนาดเล็ก เป็นสีขาวและแห้ง อาจจับกันเป็นก้อนร่วน ๆ และแตกง่าย เมื่อทิ้งไว้ในอากาศจะระเหิดไปหมด โดยจะมีรสปร่าเมา[2][4]
สรรพคุณของการบูร
- ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (การบูร, เนื้อไม้)[1],[2],[3],[4],[5] ช่วยแก้ธาตุพิการ (การบูร)[9] ช่วยคุมธาตุ (เมล็ดใน, เปลือกต้น)[9]
- การบูรมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจและเป็นยากระตุ้นหัวใจ (การบูร)[1],[2]
- ใช้เป็นยาระงับประสาท (การบูร)[1],[2]
- ช่วยแก้เลือดลม (การบูร)[1],[2],[3],[4] รากและกิ่งเป็นยาช่วยทำให้เลือดลมไหลเวียนดี (รากและกิ่ง)[6]
- ช่วยแก้โรคตา (การบูร)[1],[2],[3],[4]
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน (การบูร)[7]
- ช่วยในการขับเหงื่อ (การบูร, เนื้อไม้)[1],[2],[3],[4],[5]
- ช่วยแก้ไข้หวัด (การบูร)[1],[2]
- ช่วยแก้อาการไอ (การบูร)[9]
- ช่วยขับเสมหะ ทำลายเสมหะ (การบูร, เนื้อไม้)[1],[2],[3],[4],[5]
- ช่วยขับความชื้นในร่างกาย (การบูร)[7], ช่วยขับลมชื้น (รากและกิ่ง)[6]
- ช่วยขับผายลม แก้อาการจุกแน่นเฟ้อ เมื่อนำเกล็ดการบูรมารับประทานเพียงเล็กน้อย จะช่วยขับลมได้ แต่หากใช้ในปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน (การบูร, เนื้อไม้)[1],[2],[4],[5],[7] เมล็ดมีสรรพคุณแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (เมล็ด)[6] ส่วนรากและกิ่งมีสรรพคุณแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ลมขึ้น จุกเสียดแน่นหน้าอก (รากและกิ่ง)[6]
- ช่วยแก้กระเพาะหรือลำไส้อักเสบ (เมล็ด)[6]
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง ท้องร่วง (การบูร, เนื้อไม้)[1],[2],[3],[4],[5] แก้ปวดท้อง ปวดกระเพาะ (การบูร)[7] แก้อาการปวดท้อง (รากและกิ่ง)[6] ส่วนเมล็ดในมีรสฝาด เป็นยาแก้บิด ปวดเบ่ง ท้องร่วง (เมล็ดใน)[9]
- เมล็ดใช้เป็นยาแก้อาการปวดท้องน้อย (เมล็ด)[6]
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย อันเนื่องมาจากกระเพาะหรือลำไส้เย็นชื้น (การบูร)[7]
- ช่วยฆ่าพยาธิในท้อง ใช้ทะลวงทวารบริเวณใบหน้า (การบูร)[7]
- ช่วยบำรุงกำหนัด (การบูร)[1],[2],[3],[4]
- ช่วยขับน้ำเหลือง (การบูร)[1],[2],[3],[4]
- เปลือกต้นมีรสฝาด เป็นยาสมานแผล (เปลือกต้น)[9]
- ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (การบูร)[1],[2],[3],[4],[5]
- เปลือกต้นและใบใช้เป็นยารักษาแผลเรื้อรังเน่าเปื่อยบริเวณผิวหนัง (เปลือกต้นและใบ)[6]
- ช่วยรักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง โดยเกล็ดการบูรสามารถใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง หรือใช้แก้อาการคันตามผิวหนังได้ (การบูร)[1],[2],[5],[7] รักษากลากเกลื้อน (การบูร)[7], แก้ผดผื่นคัน (เปลือกต้นและใบ)[6]
- การบูรเป็นยาช่วยระงับเชื้ออย่างอ่อน (การบูร)[1],[2]
- การบูรมีรสเผ็ดร้อนเป็นยาแก้ปวด (การบูร)[7]
- การบูรใช้เป็นทาถูนวดแก้อาการปวด แก้เคล็ดขัดยอก เคล็ดบวม ข้อเท้าแพลง ข้อบวมเป็นพิษ แก้อาการปวดตามข้อ แก้ปวดเส้นประสาท ปวดขัดตามเส้นประสาท (การบูร)[1],[2],[3],[4],[5] รากและกิ่งช่วยแก้อาการปวดเมื่อตามร่างกาย ปวดเมื่อยตามข้อมือและเท้า แก้เคล็ดขัดยอก (รากและกิ่ง)[6]
- ช่วยแก้อาการชักบางประเภท แก้กระตุก เส้นสะดุ้ง (การบูร)[1],[2],[3],[4]
- การบูรเมื่อนำมาผสมเป็นขี้ผึ้งจะเป็นยาร้อน ใช้เป็นยาทาแก้เพื่อถอนพิษอักเสบเรื้อรัง ปวดยอกตามกล้ามเนื้อ สะบักจม ทรวงอก ปวดร้าวตามเส้นเอ็น และโรคปวดผิวหนัง (การบูร)[1],[2],[3],[4]
หมายเหตุ : การใช้ตาม [6] ถ้าเป็นเปลือกต้นให้ใช้ภายนอกตามความต้องการ ส่วนรากและกิ่งใช้แบบเป็นยาแห้งครั้งละ 15-30 กรัม[6] และการใช้เกล็ดการบูรตาม [7] ให้ใช้ครั้งละ 2-5 มิลลิกรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ถ้าใช้ภายนอกให้นำมาแช่กับเหล้าใช้เป็นยาทาบริเวณที่ต้องการ[7]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของการบูร
- เนื้อไม้ของต้นการบูรเมื่อนำมากลั่นด้วยไอน้ำ จะได้การบูรและน้ำมันหอมระเหยรวมกันประมาณ 1% ซึ่งประกอบด้วย acetaldehyde, betelphenol, caryophyllen, cineole, eugenol, limonene, linalool, orthodene, p-cymol, และ salvene[1]
- รากของต้นการบูรมีน้ำมันหอมระเหย 3% ซึ่งประกอบไปด้วย azulene, cadinene, camphene, camphor, carvacrol, cineol, citronellol, citronellic acid, fenochen, limonene, phellandene, pinene, piperiton, piperonylic acid, safrole และ terpineol ส่วนใบของต้นการบูรพบ camphor และ camperol[1]
- ราก กิ่ง และใบ พบน้ำมันระเหยโดยเฉลี่ยประมาณ 3-6% โดยในน้ำมันระเหยจะมีสารการบูรอยู่ประมาณ 10-50% และพบว่าต้นการบูรยิ่งมีอายุมากเท่าไหร่ จะพบว่ามีสารการบูรมากตามไปด้วย โดยพบสาร Azulene, Bisabolone, Cadinene, Camphorene, Carvacrol, Safrol เป็นต้น[6]
- การบูรมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ฆ่าแมลง สร้างภูมิคุ้มกัน และลดระดับคอเลสเตอรอล[2]
- เมื่อนำเกล็ดการบูรมาทาผิวหน้าจะทำให้รู้สึกแสบร้อน และหากนำมาผสมกับเกล็ดสะระแหน่จะช่วยเพิ่มความรู้สึกเย็น[7]
- เกล็ดการบูรมีประสิทธิภาพในการช่วยกระตุ้นประสาทส่วนกลาง และกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจเกิดการบีบตัวและเต้นเร็วมากขึ้น ส่งผลทำให้การหายใจถี่ขึ้น[7]
ประโยชน์ของการบูร
- น้ำมันการบูรจะช่วยกระตุ้นความรู้สึกและทำให้จิตใจโล่งและปลอดโปร่ง ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะและทำให้ตื่นตัว ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ เมารถ เมาเรือ[8]
- ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่[2]
- ช่วยแก้รอยผิวหนังแตกในช่วงฤดูหนาว[2],[3],[4]
- กิ่งก้านและใบสามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นอาหารและขนมได้ เช่น ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเนื้อสัตว์ ไส้กรอก เบคอน ข้าวหมกไก่ ลูกกวาด แยม เยลลี่ เครื่องดื่มโคคาโคลา เหล้า หรือใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องพะโล้ เครื่องแกงมัสมั่น ผงกะหรี่ คุกกี้ ขนมเค้ก ฯลฯ ใช้แต่งกลิ่นยาและใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารประเภทผักดอง ซอส เป็นต้น[8]
- การบูรเมื่อนำมาวางในห้องหรือตู้เสื้อผ้าจะสามารถช่วยไล่ยุงและแมลง และยังนำมาผสมเป็นตัวดับกลิ่นอับในรองเท้าได้อีกด้วย[2],[8]
- ใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาหอมต่าง ๆ เช่น ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ ยาประสะไพล ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู ยามันทธาตุ ยาไฟประลัยกัลป์ ยาประสะเจตพังคี ยาธรณีสัณฑะฆาต ยาธาตุอบเชย หรือนำมาใช้ทำน้ำมันไพล ลูกประคบ พิมเสนน้ำ[2],[9]
ข้อควรระวังในการใช้การบูร
- สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน[6] และผู้ที่มีปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด เป็นโรคริดสีดวงทวาร อุจจาระแข็งแห้งไม่ควรรับประทาน[8]
- ห้ามใช้น้ำมันการบูรที่มีสีเหลืองและสีน้ำตาล เพราะมีความเป็นพิษ[8]
- เมื่อรับประทานการบูร 0.5-1 กรัม จะมีผลทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ และภายในมีอาการแสบร้อนและอาจเกิดอาการเพ้อได้[7]
- ถ้ารับประทานการบูร 2 กรัมขึ้นไปจะเกิดอันตรายทำให้อัตราการเต้นของหัวใจอ่อนลง[7]
- หากรับประทานการบูร 7 กรัมขึ้นไปจะเป็นอันตรายถึงชีวิต[7]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “การบูร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [12 เม.ย. 2014].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “การบูร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [12 เม.ย. 2014].
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “การบูร”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 73.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “การะบูน , การบูร”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 60-62.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “การบูร Camphor Tree”. หน้า 82.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “การบูรต้น”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 72.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “เกล็ดการบูร (Camphor)”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 74.
- ไทยเกษตรศาสตร์. “พันธุ์ไม้หอมที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [12 เม.ย. 2014].
- ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.kmitl.ac.th. [12 เม.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by John Tann, 潘立傑 LiChieh Pan, 翁明毅, sclereid0309, Foggy Forest, Kenneth A. Wilson), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)