8 วิธีการนับวันไข่ตก (คํานวณวันไข่ตก) & การตกไข่ คือ ?

การตกไข่

การตกไข่ (Ovulation) หรือที่บางคนเรียกว่า “ไข่ตก” โดยปกติแล้วผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุประมาณ 12 ปีขึ้นไป จนถึงอายุประมาณ 50 ปี ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของร่างกายในแต่ละคน ส่วนวงรอบของประจำเดือน หรือที่เรียกว่า “รอบเดือน” ของผู้หญิงนั้นปกติจะใช้เวลารอบละ 28 วัน แต่อาจจะสั้นหรือนานกว่านี้ก็ได้ (ปกติจะบวกลบไม่เกิน 7 วัน เช่น บางคนรอบเดือนสั้นมาทุก 21 วัน ในขณะที่บางคนรอบเดือนยาวมาทุก 35 วัน) โดยจะเริ่มนับวันแรกของรอบเดือนตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือนมา

ในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ คือ “ไข่” ซึ่งไข่ใบนี้นี่แหละครับที่จะสร้างชีวิตน้อย ๆ ให้เติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ โดยไข่ทั้งหมดจะถูกเก็บสะสมอยู่ในรังไข่ทั้งสองข้าง ซึ่งมีติดตัวมาตั้งแต่ยังเป็นทารกในครรภ์แล้วครับ เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ 5 เดือน ทารกเพศหญิงจะมีไข่เก็บไว้สูงถึง 6-7 ล้านฟอง และจะค่อย ๆ สลายตัวไปเหลือเพียง 2 ล้านฟองในวัยแรกเกิด จากนั้นจะลดลงเรื่อย ๆ จนเข้าสู่วัยสาวอยู่ที่ประมาณ 2-5 แสนฟอง แต่ทั้งนี้จะมีไข่ที่มีผลทำให้ตั้งครรภ์ได้เพียง 400-500 ฟองเท่านั้น เพราะการตกไข่แต่ละครั้งจะมีไข่เพียงฟองเดียวที่สมบูรณ์แล้วเท่านั้นที่พร้อมจะให้อสุจิเข้ามาผสมได้ (ขนาดของไข่ที่เติบโตสมบูรณ์ คือ 0.133 มม.)

ขั้นตอนการตกไข่นั้นจะมีฮอร์โมนที่เป็นตัวควบคุมการตกไข่ของฝ่ายหญิง คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน, โปรเจสเตอโรน, แอลเอช (LH – Luteinozing Hormone) และเอฟเอสเอช (FSH – Follicle Stimulating Hormone) ฟองไข่จะเจริญเติบโตอยู่ภายในรังไข่ โดยเริ่มตั้งแต่ประมาณวันที่ 5 ของรอบเดือน (นับจากวันแรกที่ประจำเดือนมา) ไข่ภายในถุงรังไข่ (Ovarian Follicle) จะค่อย ๆ เติบโต ฮอร์โมน FSH จะทำหน้าที่สร้างไข่และทำให้ไข่เติบโตพร้อมกันประมาณ 15-20 ฟอง จากนั้นฮอร์โมนเอสโตรเจนและ LH จะช่วยกันคัดเลือกไข่ที่สมบูรณ์เพียงฟองเดียว และเร่งให้ไข่ตกในช่วงประมาณวันที่ 14 ของรอบเดือน ในระหว่างที่ไข่ตก ถุงรังไข่ซึ่งอยู่ตรงผิวหน้าของไข่จะค่อย ๆ พองออกเล็กน้อย เมื่อขยายได้ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตรก็จะฉีกขาด และปล่อยให้ไข่หลุดออกมา ซึ่งเราจะเรียกขั้นตอนนี้ว่า “การตกไข่” (Ovulation) ถ้าในช่วงนี้มีไข่ผสมกับอสุจิ ฮอร์โมนตัวนี้ก็จะช่วยฟูมฟักไข่ ช่วยเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้สมบูรณ์และหน้าไข่ที่เหมาะสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน แต่ถ้าไข่ตกแล้วยังไม่ได้รับการปฏิสนธิ ระดับฮอร์โมนก็จะลดลงและเกิดการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาเป็นประจำเดือนในช่วง 14 วันหลังจากไข่ตก

ไข่ตกแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ?

เมื่อถึงวันไข่ตก มดลูกจะสร้างผนังมดลูกให้หนาตัวขึ้นและมีเลือดมาหล่อเลี้ยงมากขึ้นด้วย เพื่อรองรับการปฏิสนธิ หากคุณผู้หญิงอยู่ในช่วงตกไข่ก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงกับร่างกายได้ 2 แบบ คือ

  • มีโอกาสตั้งครรภ์ หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีการตกไข่พอดี อสุจิที่เคลื่อนเข้าไปในท่อนำไข่จะเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ที่บริเวณท่อนำไข่ได้ เมื่อไข่ได้รับการผสมก็จะเคลื่อนตัวเข้าไปฝังอยู่ในผนังมดลูกเพื่อเติบโตเป็นทารกต่อไป
  • มีประจำเดือน หากไม่มีอสุจิเข้ามาผสมกับไข่ในช่วงวันตกไข่ ไข่ก็จะเกิดการสลายตัวก่อนผ่านไปถึงมดลูก เมื่อมดลูกเห็นว่าไม่มีตัวอ่อนมาฝังที่ผนังมดลูก ผนังหนา ๆ หรือที่เรียกว่าเยื่อบุโพรงมดลูกที่เคยสร้างและมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงก็จะเกิดการสลายตัวเช่นกัน แล้วไหลออกไปทางช่องคลอดออกสู่ร่างกายในช่วง 14 วันหลังจากไข่ตก หรือที่เราเรียกว่า “ประจำเดือน” นั่นเอง

การนับวันตกไข่

ปกติแล้วไข่จะตกในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนที่ประจำเดือนรอบใหม่จะมา ซึ่งการจะคำนวณวันตกไข่ให้แม่น ๆ ได้นั้น จะใช้ได้เฉพาะกับผู้หญิงที่มีรอบเดือนสม่ำเสมอเท่านั้น เช่น รอบเดือนจะมาทุก ๆ 28 วันเสมอ วันไข่ตกก็อยู่ในช่วงวันที่ 14 ของรอบเดือน (นับวันที่ประจำเดือนมาวันแรกเป็นวันที่ 1 ของรอบเดือน) ก็ให้คุณพ่อเริ่มมีเพศสัมพันธ์ในช่วงก่อนวันตกไข่ประมาณ 2 วันครับ คือ ตั้งแต่วันที่ 12 ของรอบเดือน เพราะอสุจิจะมีชีวิตรอผสมไข่อยู่ได้ประมาณ 2 วันก่อนการตกไข่ หรือหากใครมีรอบเดือนสั้นหรือยาวกว่านี้ ไข่ก็จะตกเร็วหรือช้ากว่านี้หลังจากที่ประจำเดือนมาวันแรก ถ้าคุณอยากรู้ว่าประจำเดือนมาสม่ำเสมอหรือไม่ก็ให้จดบันทึกหรือกาลงในปฏิทินไว้เลยอย่างน้อยประมาณ 3-4 เดือน แล้วนับดูว่าแต่ละรอบเดือนนั้นมีจำนวนวันเท่ากันหรือไม่

ส่วนในกรณีที่มีรอบเดือนไม่สม่ำเสมอหรือมาไม่ค่อยตรงเวลา การคำนวณวันไข่ตกก็อาจจะเกิดความคลาดเคลื่อนได้ แต่เราก็พอจะมีวิธีสังเกตได้ว่าในวันนั้น ๆ เรากำลังอยู่ในช่วงวันตกไข่หรือไม่ ได้แก่

การนับวัน (Calendar method) ปกติแล้วจะใช้วิธีนี้ในการหาระยะปลอดภัยเพื่อหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงวันตกไข่ครับ แต่เราสามารถใช้หลักการเดียวกันนี้ในการหาวันตกไข่หรือวันที่จะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้ โดยจะอาศัยหลักทางชีววิทยาที่ว่า “ในสตรีที่มีรอบเดือนปกติทุก 28 วัน จะมีการตกไข่ประมาณวันที่ 14 ก่อนที่จะมีประจำเดือนครั้งต่อไป (อาจมากกว่าหรือน้อยกว่า 2 วัน) หรือประมาณ 12-16 วันก่อนจะมีประจำเดือนครั้งต่อไป เมื่อไข่ตกแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 24 ชั่วโมง โอกาสการตั้งครรภ์จึงมีถึงวันที่ 17 ของรอบเดือน ส่วนเชื้ออสุจิจะมีชีวิตรอผสมไข่อยู่ได้ประมาณ 48 ชั่วโมง หรือ 2 วันก่อนการตกไข่” จากทฤษฎีนี้จะได้ว่า ในสตรีที่มีประจำเดือนมาทุก 28 วัน ช่วงที่มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ คือช่วงวันที่ 10-17 ของรอบเดือน (เริ่มนับวันแรกตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมา) แต่ในความเป็นจริงแล้วมีน้อยคนครับที่ประจำเดือนจะมาอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ 28 วัน ผู้ที่ประจำเดือนคลาดเคลื่อนในแต่ละรอบเดือนให้คำนวณด้วยสูตรดังต่อไปนี้แทนครับ

วิธีการคำนวณ : อย่างแรกจะต้องทำการจดบันทึก “ความยาวของรอบเดือน” ไว้ทุกเดือนเป็นระยะเวลา 8-12 เดือน (ถ้าให้ดีคือ 12 เดือนจะแม่นที่สุด) โดยในแต่ละรอบเดือนให้เริ่มนับวันแรกตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน ไปจนกระทั่งถึงวันสุดท้ายก่อนมีประจำเดือนในรอบต่อไป แล้วดูว่ารอบเดือนครั้งไหนมีจำนวนวันที่สั้นที่สุดและยาวที่สุด แล้วจึงนำมาคำนวณตามสูตร ดังนี้

  • วันแรกของระยะไม่ปลอดภัย (First fertile day) = จำนวนวันที่สั้นที่สุดของรอบเดือน – 18
  • วันสุดท้ายของระยะไม่ปลอดภัย (Last fertile day) = จำนวนวันที่ยาวที่สุดของรอบเดือน – 11

ยกตัวอย่าง : นางสาว ก. ได้จดจำนวนวันในแต่ละรอบประจำเดือนไว้ 12 เดือน คือ 26, 24, 25, 28, 26, 27, 28, 27, 29, 30, 28, 26 จะเห็นได้ว่ารอบประจำเดือนที่สั้นที่สุดคือ 24 วัน และยาวสุดคือ 30 วัน เมื่อนำมาคำนวณจะได้ วันแรกของระยะไม่ปลอดภัย = 24-18 = 6 ส่วนวันสุดท้ายของระยะไม่ปลอดภัย = 30-11 = 19 ดังนั้น ระยะที่ควรมีเพศสัมพันธ์เพื่อมีลูกในรอบเดือนหน้าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 จนถึงวันที่ 19 ของรอบเดือน (ไม่ใช่วันตามปฏิทินนะครับ)

เช็ควันไข่ตก

การกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์ (The standard days method – SDM) เป็นการกำหนดช่วงเวลาไปเลยว่าในวันที่ 8-19 (แถบสีฟ้า) ของรอบเดือนจะเป็นช่วงที่มีโอกาสทำให้เกิดการตั้งครรภ์ โดยเป็นการคำนวณค่าเฉลี่ยของรอบประจำเดือนของสตรีทั่วไปที่มีรอบประจำเดือน 26-32 วัน หากต้องการมีลูกก็ให้มีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าวครับ

ตกไข่

การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย

การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Basal body temperature – BBT) เป็นการใช้ความรู้ด้านสรีรวิทยาที่ว่า อุณหภูมิในร่างกายจะลดลง 12-24 ชั่วโมงก่อนที่จะมีการตกไข่ หลังจากนั้นก็จะสูงขึ้นประมาณครึ่งองศาเมื่อมีการตกไข่ (0.5 degree Celsius/C) ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ฝ่ายหญิงจะต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิของตนเองทุกเช้าหลังจากนอนหลับสนิทติดต่อกันอย่างน้อย 5 ชั่วโมง แล้วจดบันทึกเอาไว้ ด้วยการใช้ปรอทวัดไข้ธรรมดาหลังจากตื่นนอนและก่อนทำกิจกรรมใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลุกไปกินน้ำ ทานอาหาร เดินไปแปรงฟัน หรือแม้แต่การพูดจา รวมไปถึงการสะบัดปรอท (ควรสะบัดปรอทให้พร้อมตั้งแต่ก่อนเข้านอนและควรวางปรอทไว้ใกล้ ๆ ตัว และพร้อมที่จะหยิบใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องลุกจากที่นอน)

ในการวัดปรอทสามารถวัดได้ทั้งทางรักแร้ ทางปาก ทางทวารหนัก หรือทางช่องคลอด ในการวัดปรอทแต่ละครั้งจะต้องนานประมาณ 5 นาที เวลาในการวัดหลังตื่นนอนก็ควรจะใกล้เคียงกันทุกครั้งในแต่ละวัน และควรวัดล่วงหน้าติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 เดือน เพื่อดูแนวโน้มและจะได้ประมาณวันตกไข่ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เมื่อวัดปรอทเสร็จแล้วก็ทำความสะอาดปรอทวัดไข้ให้เรียบร้อย รวมถึงการสะบัดปรอทให้พร้อมใช้สำหรับวันรุ่งขึ้นด้วย เมื่อดูจากค่าอุณหภูมิที่บันทึกไว้ เราก็สามารถเลือกวันที่จะมีเพศสัมพันธ์เพื่อให้ตั้งครรภ์ได้

ตัวอย่าง : จากกราฟอุณหภูมิร่างกายด้านล่าง จะเห็นว่าวันที่ 1-13 อุณหภูมิร่างกายจะอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นช่วงก่อนตกไข่ และวันที่ 14 ที่เป็นช่วงตกไข่ อุณหภูมิร่างกายจะลดลงมาต่ำสุด และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในวันถัดไป ตั้งแต่วันที่ 15 เป็นต้นไป อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นช่วงที่มีการตกไข่ไปแล้ว และพอถึงวันที่ 29 เมื่อเริ่มมีประจำเดือนในรอบถัดไป อุณหภูมิก็จะค่อย ๆ ลดต่ำลงอีกครั้ง

ไข่ตกกี่วัน

หมายเหตุ : การใช้ชุดทดสอบการตกไข่ (LH ovulation test) จะช่วยบอกว่า การตกไข่กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ดังนั้น หากใช้ชุดทดสอบการตกไข่ร่วมกับการวัดอุณหภูมิร่างกาย (BBT) ก็จะช่วยให้การตรวจหาวันตกไข่มีความแม่นยำมากขึ้น

การตรวจปากมดลูก

โดยปกติแล้วปากมดลูกจะอยู่ในระต่ำ แห้ง และแข็ง เมื่อแตะดูจะมีความรู้สึกเหมือนแตะที่ปลายจมูก แต่เมื่อถึงวันตกไข่ ปากมดลูกจะเลื่อนขึ้นไปอยู่สูงขึ้น เมื่อแตะดูแล้วจะมีความอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ (เหมือนริมฝีปาก) เปียก ๆ แฉะ ๆ ในการตรวจปากมดลูกจะต้องตัดเล็บและล้างมือให้สะอาด (แนะนำให้ทำตอนอาบน้ำ) ทำในท่ายืนยกขาหนึ่งข้างขึ้นวางบนเก้าอี้ แล้วใช้นิ้วกลางหรือนิ้วชี้ค่อย ๆ สอดใส่เข้าไป โดยระวังอย่าให้ครูดกับผนังช่องคลอด ซึ่งปากมดลูกจะอยู่บริเวณหลังสุดครับ และต้องตรวจทุก ๆ วันในช่วงเวลาเดิม หากมีอาการปัสสาวะแล้วปวดแสบ มีอาการติดเชื้อหรืออักเสบในช่องคลอดก็ห้ามใช้วิธีนี้ครับ

การตรวจมูกที่ปากมดลูก

การสังเกตมูกที่ปากมดลูก (Cervical mucus) จะอาศัยหลักที่ว่า “มูกปากมดลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของความเหนียวข้นและความยืดหยุ่นไปตามอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจนในแต่ละรอบเดือน” วิธีการสังเกตนี้เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย โดยให้สตรีสังเกตลักษณะของมูกในช่องคลอดของตนเอง ซึ่งในทางการแพทย์การเปลี่ยนแปลงของมูกที่ปากมดลูกจะมีอยู่ด้วยกัน 5-6 ระยะ แต่เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายอาจจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะปลอดภัยก่อนไข่ตก : เป็นช่วงหลังประจำเดือนหยุดใหม่ ๆ ในช่วงแรกจะไม่มีมูก ต่อมาจะมีมูกสีขาวขุ่น ๆ หรือสีเหลืองจำนวนไม่มากนัก
  • ระยะตกไข่ : ช่วงนี้จะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้มากที่สุด ระยะนี้จะมีมูกที่ปากมดลูกมาก โดยมูกจะมีลักษณะใสและลื่น (คล้ายไข่ขาวดิบ) สามารถดึงยืดเป็นเส้นได้ยาวเกินกว่า 6 เซนติเมตร ทำให้ตัวอสุจิสามารถผ่านมูกนี้เข้าไปสู่โพรงมดลูกได้สะดวก หากมีการร่วมเพศในช่วงนี้จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้สูง
  • ระยะปลอดภัยหลังการตกไข่ : เป็นระยะที่ปลอดภัยเช่นเดียวกับระยะก่อนตกไข่ เพราะใกล้จะมีประจำเดือนครั้งต่อไป ในระยะนี้มูกจะมีจำนวนน้อยลง มูกจะมีลักษณะขุ่นข้นขึ้นและดึงยืดไม่ได้มากนัก
คำนวณวันไข่ตก

วิธีการตรวจมูกที่ปากมดลูก : ตรงนี้คงต้องถามตัวเองก่อนว่ากล้าสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอดหรือไม่ เพราะการตรวจมูกที่ปากมดลูกจะต้องทำทุกวัน โดยการสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอด เพื่อสังเกตดูการหล่อลื่นและตรวจมูกที่ติดนิ้วออกมา แต่วิธีการสังเกตมูกนี้ก็นับว่าค่อนข้างยาก เพราะการเปลี่ยนแปลงของมูกในแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน และหลาย ๆ คนอาจจะไม่สามารถแยกแยะหรือสังเกตความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ยิ่งถ้ามีอาการอักเสบในช่องคลอดหรือมีการร่วมเพศด้วยแล้ว มูกที่ปากมดลูกก็อาจเปลี่ยน ทำให้ตรวจได้ยากขึ้นด้วย

อารมณ์ทางเพศที่เพิ่มขึ้น

เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของผู้หญิงที่ถูกกำหนดมาให้มนุษยชาติอยู่รอด โดยฝ่ายหญิงมีอารมณ์หรืออยากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาตกไข่ ในช่วงตกไข่จะเป็นช่วงที่ปากมดลูกเลื่อนขึ้นไปอยู่สูง อ่อนนุ่มขึ้น และสร้างของเหลวที่ช่วยในการหล่อลื่นมากเป็นพิเศษเพื่อการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงยังมีเลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณช่องคลอดมากขึ้น จึงทำให้เกิดอารมณ์อยากมีเพศสัมพันธ์มากขึ้นตามลำดับ แต่การสังเกตด้วยวิธีนี้ก็อาจจะไม่แน่นอนเสมอไป เพราะความเครียดหรือปัจจัยอื่น ๆ ก็อาจทำให้อารมณ์เพศลดน้อยลงได้

การสังเกตอาการหลายอย่างร่วมกัน

การสังเกตอาการหลาย ๆ อย่างร่วมกัน จะเป็นการใช้หลาย ๆ วิธีข้างต้น เช่น การนับวัน, การตรวจวัดอุณหภูมิ, การสังเกตมูกที่ปากมดลูก, ปวดหน่วงท้องน้อยที่คาดว่าจะเกิดการตกไข่ (Ovulation pain หรือ Mittelschmerz), การมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยเมื่อมีการตกไข่เนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเพศ ร่วมกับการสังเกตอาการเหมือนก่อนที่มีประจำเดือน (หมายความว่า ก่อนมีประจำเดือนคุณมีอาการแบบไหน ช่วงตกไข่ก็จะคล้าย ๆ กันครับ เพียงแต่จะไม่แรงเท่า) เช่น อาการเจ็บคัดตึงเต้านม, เหนื่อยง่าย ง่วงบ่อย, หลงลืม สับสน, หงุดหงิดได้ง่าย, นอนไม่หลับ, ท้องผูกหรือท้องเสีย, ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย, อารมณ์แปรปรวนไม่คงที่ เป็นต้น โดยอาการเบื้องต้นนี้จะขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนก็มีหลาย ๆ อาการรวมกัน แต่บางคนอาจจะไม่มีสักอาการเลยก็ได้ แต่ที่อยากจะให้ลองสังเกตก็คือ “อาการปวดท้องน้อยข้างเดียว” สมมติว่าเดือนนี้ เป็นเวรของรังไข่ด้านขวาที่จะผลิตไข่ ถ้าเรามีอาการปวดหน่วงที่ท้องน้อยด้านขวาในช่วงกลางรอบเดือน เป็นเวลาไม่เกินหนึ่งวัน นั่นแหละครับ คือวันตกไข่ ให้รีบตามสามีมาทำหน้าที่คุณพ่อได้เลย

การใช้ชุดตรวจการตกไข่

ชุดทดสอบการตกไข่ (LH ovulation test) ในปัจจุบันมีชุดตรวจคาดคะเนระยะการตกไข่ ซึ่งจะใช้กันมากในสตรีที่ต้องการที่จะตั้งครรภ์และต้องการที่จะกำหนดช่วงเวลาการมีเพศสัมพันธ์ให้ตรงกับในช่วงตกไข่หรือใกล้ช่วงตกไข่มากที่สุด โดยจะเป็นการตรวจหาฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ (Luteinizing hormone – LH) ในปัสสาวะ ซึ่งปกติแล้วแล้วร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน LH ออกมาในปริมาณน้อย จนถึงระยะ “ก่อนเวลาตกไข่” ฮอร์โมน LH จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการตกไข่จะเกิดภายในเวลา 12-48 ชั่วโมง จึงทำให้ทราบช่วงเวลาตกไข่ได้ล่วงหน้า ถ้าหากมีเพศสัมพันธ์ภายใน 48 ชั่วโมง หลังจากตรวจพบฮอร์โมน LH นี้อยู่ในระดับสูงสุด ก็จะทำให้มีโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากขึ้นครับ

ระยะไข่ตก

ส่วนวิธีการใช้ชุดทดสอบระยะตกไข่จะคล้าย ๆ กับการใช้ทดสอบการตั้งครรภ์ครับ แต่เราจะใช้ปัสสาวะตอนบ่ายในการตรวจสอบ (ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ บ่าย 2 โมง) ไม่ใช่ตอนเช้าเหมือนการตรวจตั้งครรภ์ (เนื่องจากฮอร์โมน LH จะถูกสร้างขึ้นในช่วงเช้าและจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงช่วงบ่ายโมงไปจนถึงสองทุ่ม) แล้วทำการเก็บปัสสาวะในช่วงเวลาเดียวกันของทุกวัน และควรจำกัดปริมาณการบริโภคของเหลวก่อนทำการทดสอบอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะปัสสาวะที่เข้มข้นจะทำให้ได้ผลที่ชัดเจนมากที่สุด เมื่อทำการตรวจแล้ว แม้จะขึ้น 2 ขีดก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถึงวันตกไข่แล้ว จนกว่าขีดที่สอง (Test Line) จะมีสีเข้มจนเทียบเท่ากับขีดแรก (Control Line) โดยชุดทุดสอบนั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ ดังนี้

  • ชุดทดสอบการตกไข่แบบจุ่ม (Strip) ในการใช้ให้นำชุดทดสอบออกจากซอง แล้วจุ่มแถบทดสอบด้านที่มีหัวลูกศรลงในถ้วยปัสสาวะ (ไม่เกินในแถบที่กำหนด) ประมาณ 5 วินาที นำแถบทดสอบวางในแนวราบที่แห้งและสะอาดหรือวางบนถ้วย รอประมาณ 5 นาที แล้วจึงค่อยอ่านผล (ชุดทดสอบแบบธรรมดาทั่วไป จำนวน 20 แผ่น จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 300-370 บาท ส่วนแผ่นทดสอบการตกไข่ยี่ห้อ iBabi ใน 1 กล่อง จะมี 5 ชุด มีราคาประมาณ 170-190 บาทครับ)
  • ชุดทดสอบการตกไข่แบบตลับใช้หยด (Cassette) ให้นำชุดทดสอบออกจากซอง วางตลับในแนวราบ ใช้หลอดดูดปัสสาวะจากถ้วยเก็บ แล้วหยดปัสสาวะลงในหลุมทดสอบประมาณ 3-4 หยด รอประมาณ 5 นาที แล้วจึงอ่านผล (ชุดตรวจหาระยะตกไข่ของ Check One ราคาประมาณ 600-800 บาท)
  • ชุดทดสอบการตกไข่แบบปัสสาวะผ่าน (Midstream) ให้นำชุดทดสอบออกจากซอง ถอดฝาครอบออกจากแท่งทดสอบ จากนั้นให้ปัสสาวะผ่านตรงส่วนปลายของแท่งทดสอบประมาณ 7-10 วินาที รอประมาณ 5 นาที แล้วจึงอ่านผล (ของยี่ห้อ Check One ราคาประมาณ 340-380 บาท ถ้าเป็นแบบการแสดงผลด้วยระบบ Digital อย่างยี่ห้อ Clearblue ก็จะมีราคาประมาณ 1,500-2,000 บาทครับ)
อาการไข่ตก
ไข่ตก

วันที่เริ่มตรวจหาฮอร์โมน LH : ปกติแล้วรอบเดือนของแต่ละคนจะไม่เท่ากันครับ การเริ่มตรวจหาฮอร์โมน LH จึงแตกต่างกันออกไป ดังนี้ครับ

  • ถ้าคุณมีรอบเดือน 21 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 5, รอบเดือน 22 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 6, รอบเดือน 23 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 7, รอบเดือน 24 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 8, รอบเดือน 25 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 9, รอบเดือน 26 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 10, รอบเดือน 27 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 11, รอบเดือน 28 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 12, รอบเดือน 29 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 13, รอบเดือน 30 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 14, รอบเดือน 31 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 15, รอบเดือน 32 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 16, รอบเดือน 33 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 17, รอบเดือน 34 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 18, รอบเดือน 35 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 19, รอบเดือน 36 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 20, รอบเดือน 37 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 21, รอบเดือน 38 วัน ให้เริ่มตรวจวันที่ 22
คํานวณไข่ตก

การตรวจสอบน้ำลาย

การตรวจสอบน้ำลาย (Ferning test) เป็นการใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 50 เท่า ในการตรวจสอบรูปร่างของน้ำลายเพื่อหาช่วงเวลาตกไข่ เพราะในช่วงใกล้วันตกไข่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายจะสูงขึ้น เช่นเดียวกับระดับความเข้มข้นของ electrolytes ในน้ำลาย ซึ่งจะทำให้เกิดผลึกที่มีรูปร่างคล้ายใบเฟิร์นขึ้นมา จึงทำให้เราสามารถตรวจสอบหาวันตกไข่ได้ เพียงแค่คุณแตะน้ำลายลงบนเลนส์ ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วส่องดูรูปร่างของผลึกบนเลนส์ (อาจจะสังเกตรูปร่างได้ยาก หากไม่มีความชำนาญเพียงพอ)

คํานวนวันไข่ตก
  • ช่วงไม่มีการตกไข่ : ภาพที่เห็นจะมีลักษณะเป็นจุด ๆ หรือเส้น ๆ แสดงว่าในช่วงที่ทดสอบนี้ยังไม่มีการตกไข่เกิดขึ้น
  • ช่วงใกล้วันตกไข่ : ภาพที่เห็นจะมีลักษณะคล้ายใบเฟิร์นเล็กน้อยบางส่วน ผสมกับจุด ๆ และเส้น ๆ แสดงว่าอยู่ในช่วงที่กำลังจะเกิดการตกไข่ภายใน 3-4 วัน การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้จึงอาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ แต่โอกาสยังไม่มากนัก
  • ช่วงวันตกไข่ : ภาพที่เห็นจะมีลักษณะเป็นรูปใบเฟิร์นปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน แสดงว่าในช่วงนี้กำลังมีการตกไข่เกิดขึ้น การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้จะช่วยทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มาก
การนับวันไข่ตก

โดยทั่วไปจะมีกล้องจุลทรรศน์พิเศษที่ทำออกมาขายเพื่อจุดประสงค์นี้โดยเฉพาะอยู่แล้วครับ แต่อาจจะหาซื้อได้ยากสักหน่อย โดยกล้องตรวจน้ำลายหาช่วงเวลาตกไข่ยี่ห้อ NV Scope จะมีราคาประมาณ 900-1,500 บาทครับ

คํานวณวันไข่ตก

มีเพศสัมพันธ์วันตกไข่จะท้องชัวร์หรือไม่

อย่างที่บอกไปแล้วครับว่าในช่วงวันตกไข่ถ้ามีอสุจิเข้ามาผสมกับไข่พอดีก็จะมีโอกาสทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น ถ้าคุณมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ก็มีจะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้สูงครับ แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าวันที่คำนวณออกมานั้นจะใช่วันตกไข่จริง ๆ หรือเปล่า ก็ให้มีเพศสัมพันธ์เผื่อเอาไว้ในช่วง 2 วันก่อนหน้าและ 2 วันหลังของวันที่คำนวณได้ครับ เพราะอสุจิสามารถมีชีวิตอยู่ในช่องคลอดได้นานถึง 2-5 วัน ถ้าในช่วงนี้มีอสุจิมาค้างอยู่และตรงกับช่วงวันไข่ตกพอดีก็จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้สูง แต่ก็ไม่ถึงกับ 100% เพราะการจะตั้งครรภ์ได้หรือไม่นั้นยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่าง รวมถึงสุขภาพของคุณพ่อที่มีผลต่อความแข็งแรงของตัวอสุจิด้วย และอีกเรื่องที่คุณควรรู้เอาไว้ก็คือ การมีเพศสัมพันธ์ทุกวันอาจไม่ได้ช่วยเพิ่มโอกาสให้เกิดการตั้งครรภ์ได้มากขึ้นเสมอไป เพราะการมีเพศสัมพันธ์กันทุกวัน จะทำให้อสุจิมีจำนวนน้อยลง จึงมีคำแนะนำว่าให้มีเพศสัมพันธ์แบบวันเว้นจะดีกว่า

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด