การทําหมันชาย : 8 ข้อดี & วิธีการทำหมันชาย & แก้หมันชาย !!

การทําหมันชาย : 8 ข้อดี & วิธีการทำหมันชาย & แก้หมันชาย !!

การทำหมันชาย

การทำหมันชาย (Vasectomy หรือ Male sterilization) คือ การคุมกำเนิดถาวรโดยการตัดและผูกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ เพื่อไม่เปิดโอกาสให้เชื้ออสุจิเดินทางเข้ามาในช่องคลอดขณะร่วมเพศได้

แต่ทั้งนี้ลูกอัณฑะยังคงผลิตเชื้ออสุจิและฮอร์โมนอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ตัวอสุจิจะไม่สามารถเดินทางผ่านท่ออสุจิมาได้ และจะสลายตัวไปเองตามกรรมวิธีของร่างกาย โดยไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย (การทำหมันไม่ใช่การตอนหรือตัดลูกอัณฑะทิ้งไป จนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ) ส่วนน้ำอสุจิหรือน้ำกามก็ยังคงมีเหมือนเดิมตามปกติครับ ส่วนวิธีการผ่าตัดทำหมันชายในปัจจุบันจะมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ

  1. การใช้มีดกรีดเปิดผิวหนังบริเวณถุงอัณฑะเหนือท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ 1-2 แผล แล้วทำการผูกและตัดท่อทางเดินของเชื้ออสุจิทั้ง 2 ข้าง จากนั้นเย็บปิดผิวหนังที่กรีด
  2. การใช้เครื่องมือเจาะบริเวณผิวหนังเพื่อหาท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ แล้วทำการผูกและตัดท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ แผลจะมีขนาดเล็กกว่าวิธีแรก จึงไม่จำเป็นต้องเย็บปิดแผล

ประสิทธิภาพในการทำหมันชาย

การทำหมันชายถือเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ดีที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย และมีประสิทธิภาพสูงมาก (แม้จะไม่ 100% ก็ตาม) ซึ่งตามหลักแล้วการทำหมันชายอย่างถูกต้อง (Perfect use) จะมีโอกาสล้มเหลวทำให้ฝ่ายหญิงเกิดการตั้งครรภ์ได้เพียง 0.1% ซึ่งหมายความว่า จำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีจำนวน 1,000 คน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ประมาณ 1 คน แต่โดยทั่วไปแล้วจากการใช้งานจริง (Typical use) กลับพบว่า อัตราการล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์จะเพิ่มสูงมากขึ้นเล็กน้อยเป็น 0.15% หรือคิดเป็น 1 ใน 666 คน (คาดว่าเกิดจากการความผิดพลาดในการผ่าตัด หรือเกิดจากการเชื่อมต่อกันเองของท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ) ในขณะที่การทำหมันหญิงแบบทั่วไป (Tubal ligation) จะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้มากกว่าการทำหมันชายมากกว่า 5 เท่าตัว คือ 0.5% (1 ใน 200 คน) ส่วนด้านล่างนี้เป็นตารางเปรียบเทียบระหว่างการคุมกำเนิดด้วยวิธีการทำหมันชายกับวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ

วิธีคุมกำเนิด|การใช้แบบทั่วไป|การใช้อย่างถูกต้อง|ระดับความเสี่ยง
ยาฝังคุมกำเนิด|0.05 (1 ใน 2,000 คน)|0.05|ต่ำมาก
ทำหมันชาย|0.15 (1 ใน 666 คน)|0.1|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม)|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ทำหมันหญิง (แบบทั่วไป)|0.5 (1 ใน 200 คน)|0.5|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง|0.8 (1 ใน 125 คน)|0.6|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเดี่ยว)|6 (1 ใน 17 คน)|0.2|ปานกลาง
แผ่นแปะคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing)|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ยาเม็ดคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ถุงยางอนามัยชาย|18 (1 ใน 5 คน)|2|สูง
การหลั่งนอก|22 (1 ใน 4 คน)|4|สูงมาก
การหลั่งใน (ไม่มีการป้องกัน)|85 (6 ใน 7 คน)|85|สูงมาก
หมายเหตุ : ตัวเลขที่แสดงเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวจำนวน 100 คน โดยกำหนดให้ สีฟ้า = ความเสี่ยงต่ำมาก / สีเขียว = ความเสี่ยงต่ำ / สีเหลือง = ความเสี่ยงปานกลาง / สีส้ม = ความเสี่ยงสูง / สีแดง = ความเสี่ยงสูงมาก (ข้อมูลจาก : www.contraceptivetechnology.org, Comparison of birth control methods – Wikipedia)

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำหมันชาย

  • การทำหมันชายแม้จะเป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบถาวรและได้ผลดีที่สุด แต่ก็ยังไม่สามารถคุมกำเนิดได้เต็ม 100% เพราะในปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดในโลกที่สามารถคุมกำเนิดได้ 100% (นอกจากการที่ไม่มีเพศสัมพันธ์) แม้จะใส่ถุงยางอนามัยก็ตาม
  • จะไม่เป็นหมันทันทีหลังการผ่าตัด” ต้องรอนานประมาณ 3 เดือน หรือหลังการหลั่งน้ำอสุจิอย่างน้อย 20 ครั้ง และทำการตรวจดูน้ำเชื้อว่ายังพบเชื้ออสุจิอยู่หรือไม่ เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นหมัน เนื่องจากหลังการทำหมันแล้ว ในน้ำกามจะยังคงมีอสุจิตกค้างอยู่ในท่อทางเดินของเชื้ออสุจิได้อีกระยะหนึ่ง ดังนั้น ในระยะแรกหลังการทำหมัน จึงควรให้ฝ่ายหญิงคุมกำเนิดต่อไปก่อนหรือฝ่ายชายจะใช้ถุงยางอนามัยไปก่อนก็ได้ จนกว่าจะผ่านช่วงระยะเวลาดังกล่าวแล้ว แต่ที่แน่นอนที่สุดก็คือ หลังตรวจน้ำเชื้อแล้วจะต้องไม่พบเชื้ออสุจิ แต่หากภายหลัง 3 เดือนไปแล้ว ยังมีการตรวจพบเชื้ออสุจิในท่อทางเดินของเชื้ออสุจิอยู่ แสดงว่าเกิดความล้มเหลวในการผ่าตัดทำหมัน
  • ผู้ที่ทำหมันชายกว่า 80-90% จะตรวจไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมาภายหลังที่มีการหลั่งน้ำกามออกไปแล้วประมาณ 12-15 ครั้ง และกว่า 80% จะตรวจไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำกามหลังการทำหมันไปแล้วประมาณ 6 สัปดาห์ โดยไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับความบ่อยครั้งของการหลั่งน้ำกาม
  • หลังการทำหมันเชื้ออสุจิที่ยังเหลือค้างอยู่ในท่อทางเดินของเชื้ออสุจิจะสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวใน 3 สัปดาห์แรก
  • การทำหมันชายเป็นการผ่าตัดและผูกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ เพื่อป้องกันไม่ให้มีเชื้ออสุจิปนออกมาในน้ำกามที่หลั่งออกมา “ไม่ใช่การผ่าตัดเพื่อเอาลูกอัณฑะออก” แต่อย่างใด
  • ไม่มีผลทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง ความรู้สึก ความต้องการ ความพึงพอใจ การแข็งตัวของอวัยวะเพศ ตลอดจนการถึงจุดสุดยอดและหลั่งน้ำกามยังคงเป็นเหมือนเดิมทุกประการ
  • ไม่มีผลทำให้พละกำลังในการทำงานหนักตามปกติลดลงแต่อย่างใด
  • น้ำอสุจิที่หลั่งออกมาในแต่ละครั้งนั้น มากกว่า 80% เป็นเพียงน้ำเลี้ยงเชื้ออสุจิที่ผลิตมาจากต่อมลูกหมาก ต่อมสร้างเมือก ที่มีรูเปิดเข้ามาที่ท่อปัสสาวะ และมีส่วนน้อยเพียง 20% เท่านั้นที่เป็นตัวอสุจิที่ผลิตมาจากอัณฑะแล้วลำเลียงมาเปิดเข้าสู่ท่อปัสสาวะ

ผู้ที่ไม่ควรทำหมันชาย

  • ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะอยากมีบุตรอีกหรือไม่
  • ผู้ที่ต้องการมีเพิ่มอีกในอนาคต
  • ผู้ที่ไม่มีภาวะแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หากได้รับยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด คุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน และต้องงดยาดังกล่าวก่อนทำการผ่าตัดตามที่แพทย์สั่ง
  • ในช่วงเวลาที่ทำการผ่าตัดทำหมันจะต้องไม่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือมีการติดเชื้อบริเวณถุงอัณฑะ

การเตรียมตัวก่อนการทำหมันชาย

  • คู่สมรสที่เลือกการทำหมันชายเป็นวิธีคุมกำเนิด ควรมีบุตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 คน เนื่องจากการผ่าตัดแก้หมันเพื่อต้องการจะมีบุตรเพิ่มอีกในภายหลัง ยังประสบผลสำเร็จไม่มาก
  • บุตรคนเล็กควรมีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป เนื่องจากเด็กในวัยขวบปีแรกมักป่วยเป็นโรคอันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ง่าย
  • ควรเตรียมตัวโกนขนรอบ ๆ บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกออก เพื่อความสะอาดและความสะดวกระหว่างการผ่าตัดทำหมัน
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง หากคุณมีภาวะเลือดออกผิดปกติและเลือดแข็งตัวช้า เช่น มีห้อเลือดตามตัว รวมถึงเคยมีประวัติการแพ้ยาโดยเฉพาะยาชาจากการผ่าตัดครั้งก่อน เพื่อแพทย์จะได้ใช้ข้อมูลเลือกวิธีการผ่าตัดทำหมันที่เหมาะสมต่อไป
  • ในรายที่ยังเป็นโรคติดเชื้อต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก ได้แก่ หูดที่องคชาต ตุ่มหนองที่ผิวหนังถุงอัณฑะ ฯลฯ ควรจะเข้ารับการรักษาให้เรียบร้อยเสียก่อน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อภายหลังการผ่าตัด

วิธีการทำหมันชาย

ในขั้นตอนการผ่าตัดทำหมันชายนั้นจัดเป็นหัตถการที่ไม่มีอะไรซับซ้อนมาก ไม่ต้องดมยาสลบระหว่างทำการผ่าตัด แต่ผู้ให้การผ่าตัดจะต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการตัดทำหมันที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ส่วนผู้เข้ารับการผ่าตัดไม่จำเป็นต้องงดอาหารมาก่อน แต่ควรเตรียมตัวโดยการโกนขนบริเวณหัวหน่าวและลูกอัณฑะออกให้เกลี้ยง ล้างและฟอกสบู่ให้เรียบร้อย เมื่อถึงเวลาทำหมันหมอจะใช้ยาฆ่าเชื้อฟอกบริเวณผิวหนังของอวัยวะเพศและถุงหุ้มอัณฑะอีกครั้ง แล้วทำการฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าไปทางส่วนบนของถุงหุ้มอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง ผ่าประมาณครึ่งเซนติเมตรหรือเจาะเป็นรูเล็ก ๆ เอาท่อน้ำเชื้อออกมาผูก 2 เปลาะ แล้วตัดตรงกลางเพื่อกันไม่ให้ท่อน้ำเชื้อต่อกันอีก จากนั้นจึงปิดแผล (จะเย็บแผลหรือไม่เย็บก็ได้ถ้าแผลมีขนาดเล็กมาก) ส่วนถุงอัณฑะอีกข้างหนึ่งก็ทำแบบเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดจะใช้เวลาทำประมาณ 8-10 นาที เสร็จแล้วก็สามารถกลับบ้านหรือกลับไปทำงานได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล

การทําหมันชาย

วิธีการทำหมันชาย

การดูแลตัวเองหลังการทำหมันชาย

ในส่วนของการปฏิบัติตัวหลังการทำหมันชาย ผู้รับการทำหมันสามารถกลับบ้านและไปทำงานได้ตามปกติ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรปฏิบัติดังนี้

  1. ในวันแรกหลังการผ่าตัดทำหมันให้ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณแผลผ่าตัดที่ถุงอัณฑะ เพื่อช่วยลดอาการบวม บรรเทาความเจ็บปวด และป้องกันการเกิดลิ่มเลือดหรือห้อเลือด
  2. ควรระวังไม่ให้แผลผ่าตัดถูกน้ำอย่างน้อย 3 วัน
  3. เพื่อป้องกันเลือดออกจากบริเวณแผล หลังทำหมันเสร็จแล้วไม่ควรยกของหนัก ออกกำลังกายอย่างหนัก รวมถึงการนั่งคร่อมบนจักรยานและมอเตอไซค์ หรือนั่งรถกระเทือนมากในระยะ 1-3 วันแรก
  4. ควรสวมกางเกงชั้นในรัดเอาไว้
  5. ควรงดมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หลังทำหมัน เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ทันทีหลังทำหมัน จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเจริญเข้าต่อกันของท่อทางเดินของเชื้ออสุจิที่ตัดและผูกแยกจากกันไว้ ส่งผลทำให้การคุมกำเนิดล้มเหลว
  6. ในระยะแรกหากต้องการมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดชั่วคราววิธีอื่นร่วมด้วยไปก่อนประมาณ 2-3 เดือน เช่น การคุมกำเนิดโดยใช้ถุงยางอนามัย การรับประทานยาคุมกำเนิดจากฝ่ายหญิง ฯลฯ จนกระทั่งตรวจไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมาแล้ว เพราะอาจจะยังมีเชื้ออสุจิค้างอยู่ที่ส่วนปลายของท่ออสุจิและอยู่ในถุงอสุจิ
  7. ควรเข้ารับการตรวจน้ำกามที่หลั่งออกมาภายหลังการทำหมันชายไปแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์ เพื่อตรวจดูให้แน่ใจว่าเป็นหมันโดยสมบูรณ์ (ไม่พบเชื้ออสุจิ) และควรตรวจอีกติดต่อกันอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อความมั่นใจ
  8. หลังการทำหมันชายหากมีอาการปวดบวมบริเวณถุงอัณฑะ หรืออัณฑะมีขนาดใหญ่มากขึ้น หรือมีน้ำ เลือด หรือหนองซึมจากแผลผ่าตัด คุณควรรีบไปพบแพทย์ก่อนเวลานัด

ภาวะแทรกซ้อนหลังการทำหมันชาย

ในบางรายหลังการผ่าตัดทำหมันอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการทำหมันชายได้ (แต่พบได้น้อยมาก) ดังนี้

  1. แผลผ่าตัดเกิดการติดเชื้อ เป็นกรณีที่พบได้น้อยมากและมักพบร่วมกับการเกิดลิ่มเลือด โดยแผลผ่าตัดที่ติดเชื้อจะมีอาการบวมแดง และมีอาการปวดเจ็บอัณฑะเวลากดหรือนุ่งกางเกง ในบางรายอาจมีหนองไหลออกมาจากแผลผ่าตัด หากเกิดอาการดังกล่าว ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
  2. เกิดห้อเลือดหรือลิ่มเลือดคั่งอยู่ในบริเวณถุงอัณฑะ จะพบได้ประมาณ 1% หรือ 1 ใน 100 คน ของผู้รับการทำหมัน สาเหตุก็มาจากการบาดเจ็บต่อหลอดเลือดที่อยู่โดยรอบท่อทางเดินของเชื้ออสุจิในระหว่างการฉีดยาชาเฉพาะที่ระหว่างการผ่าตัดแยกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิและจับผูกเส้นเลือดไม่ดีพอ ถ้าลิ่มเลือดคั่งมีขนาดเล็ก ร่างกายจะสามารถดูดซึมให้หายไปได้เองภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่และมีอาการปวดมาก ก็รีบกลับมาพบแพทย์ที่ทำการผ่าตัดควักเอาลิ่มเลือดออก และจับผูกตำแหน่งเส้นเลือดที่เป็นต้นเหตุ
  3. การอักเสบของท่อทางเดินของเชื้ออสุจิที่ติดกับลูกอัณฑะ กรณีนี้พบได้ประมาณ 1-3 คน จาก 500 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการบวมอักเสบ เนื่องจากความดันภายในท่อที่เพิ่มสูงขึ้นภายหลังการผ่าตัดและผูก สามารถให้การรักษาได้ด้วยการนั่งแช่ในน้ำอุ่นวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ใส่เครื่องช่วยพยุงอัณฑะที่นักกรีฑาใช้กัน และให้ยาอาการอักเสบประเภท NSAIDs ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไปได้เองภายใน 6-12 สัปดาห์
  4. ปวดหน่วงเรื้อรังที่อัณฑะ เป็นกรณีที่พบได้เพียง 0.05% หรือประมาณ 1 ใน 2,000 คน มีสาเหตุมาจากความดันที่เพิ่มขึ้นภายในท่อทางเดินของเชื้ออสุจิด้านที่ติดกับลูกอัณฑะ เนื่องจากยังมีการสร้างอสุจิได้อยู่เหมือนเดิม แต่ไม่สามารถถูกปลดปล่อยออกมาได้จากการถูกผ่าตัดท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ ซึ่งอาการปวดหน่วงเรื้อรังนี้จะเป็นไม่มาก แต่มักจะเป็น ๆ หาย ๆ ตลอดไป และต้องการการรักษาตามอาการเป็นบางครั้งเท่านั้น ส่วนในรายที่มีอาการปวดมากอาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดต่อหมันให้กลับมาเป็นอย่างเดิม หรือทำการผ่าตัดเอาท่อที่ติดกับลูกอัณฑะออกให้หมด
  5. ก้อนในถุงอัณฑะ มีลักษณะเป็นก้อนอสุจิจากการรั่วของแผลผ่าตัดผูกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิก่อให้เกิดการอักเสบโดยรอบและจับตัวกันเป็นก้อนห่อหุ้มปลายท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ อาการนี้พบได้ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้รับการทำหมันชาย แต่จะตรวจคลำพบเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ซึ่งอาการนี้จะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด สามารถรักษาได้โดยการพักผ่อนร่างกายและให้ยาต้านการอักเสบ แต่จะเป็นสาเหตุสำคัญของการเจริญเชื่อมต่อกันของท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ ทำให้การคุมกำเนิดล้มเหลว ซึ่งมักพบได้ภายใน 12 สัปดาห์หลังการทำหมัน แต่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นนานนับ 10 ปี (มีข้อดีคือ ช่วยเพิ่มโอกาสของการตั้งครรภ์ภายหลังการผ่าตัดต่อหมัน (ในกรณีที่อยากมีลูกอีก) และทำให้ความดันภายในท่อลดลง)

ผลที่ตามมาหลังการทำหมันชาย

ผู้ที่ทำหมันชายส่วนใหญ่จะมีอายุในช่วง 30-40 ปี แต่จากการสำรวจและติดตามผลในผู้ชายที่ทำหมันไปแล้วนานกว่า 25 ปี จำนวนมากกว่า 10,000 ราย ไม่พบว่าทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายแต่อย่างใด ยกเว้น

  • ระบบการสืบพันธุ์ ความดันที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ท่อที่ติดกับลูกอัณฑะโป่งพอง เกิดรอยแตกเล็ก ๆ และเกิดการจับตัวเป็นก้อนของเชื้ออสุจิ ส่งผลให้เกิดการอุดตันขึ้นจากการกดทับภายนอกท่อ ทั้งนี้พบว่าท่อเหล่านี้จะเสี่ยงต่อการอุดตันอย่างสิ้นเชิงหลังจากทำหมันไปแล้วประมาณ 10 ปี แต่จะไม่ส่งผลต่อเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศในลูกอัณฑะ ระดับฮอร์โมนในกระแสไหลเวียนเลือดจึงเป็นปกติ และไม่มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศ นอกจากนี้น้ำกามที่หลั่งออกมาก็มีสีและกลิ่นเหมือนปกติ เนื่องจากน้ำกามกว่า 90-95% จะมาจากสารคัดหลั่งของต่อมลูกหมากและถุงเก็บเชื้ออสุจิที่อยู่หลังต่อมกระเพาะปัสสาวะ
  • ระบบการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอม โดยปกติแล้วเชื้ออสุจิจะถูกแยกจากระบบไหลเวียนเลือดของร่างกายจากสิ่งกีดขวางที่อยู่ภายในลูกอัณฑะ ความดันภายในท่อที่เพิ่มสูงขึ้นหลังการทำหมันจะทำให้สิ่งกีดขวางเหล่านี้ถูกทำลาย เชื้ออสุจิจึงรั่วไหลเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมหนึ่งของร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นเพื่อมาจับรวมตัวกับเชื้ออสุจิและขจัดออกไป ซึ่งภูมิต้านทานนี้จะค่อย ๆ ลดหายไปได้เองภายหลังการทำหมันชายใน 2-4 ปี โดยจะไม่มีผลต่อการทำงานในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย

ข้อดีของการทำหมันชาย

  1. เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงกว่าการทำหมันหญิง
  2. การทำหมันชายเป็นวิธีการผ่าตัดที่สามารถทำได้โดยง่าย ไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย มีความปลอดภัยกว่าการทำหมันหญิง
  3. ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดถูก เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ
  4. ผ่าตัดเพียงครั้งเดียว สามารถคุมกำเนิดได้ตลอดชีวิต (แต่ก็ไม่ 100%)
  5. ช่วยเพิ่มความสุขทางเพศหลังการทำหมัน คู่สมรสรู้สึกมีอิสระในการร่วมรักกันมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากคู่สมรสไม่ต้องกังวลเรื่องการตั้งครรภ์
  6. ไม่มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศของเพศชาย เนื่องจากการผ่าตัดไม่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทหรือเกี่ยวกับการสร้างหรือการใช้ฮอร์โมนเพศของร่างกายแต่อย่างใด
  7. ไม่มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งอัณฑะ หรือโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ รวมทั้งของอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งของผู้ทำหมันและของภรรยา
  8. ไม่มีผลต่อพละกำลังในการทำงานหนัก คุณสามารถทำงานหนักตามปกติ

ข้อเสียของการทำหมันชาย

  1. หลังทำหมันแล้วจะต้องใช้เวลาหลายเดือนถึงจะตรวจไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมา
  2. ในบางรายอาจพบภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดทำหมันชายได้ตามที่กล่าวไป แต่ก็พบได้น้อยมาก หรืออาจมีการติดเชื้อบริเวณแผลที่ผ่าตัดได้
  3. ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  4. การแก้หมันจะได้ผลไม่ดี

ผู้ชายหรือผู้หญิง…ใครควรทำหมัน ?

ปกติแล้วลักษณะครอบครัวไทย ฝ่ายชายจะเป็นผู้นำและมีสิทธิ์มีเสียงมากกว่า สังคมเราจึงยกให้การคุมกำเนิดและการทำหมันเป็นเรื่องของผู้หญิง ผู้ชายมักจะไม่ยอมทำเพราะตัวเองไม่เคยผ่านความเจ็บปวดเหมือนผู้หญิงและคิดว่าการทำหมันคือการตอน ทำแล้วใช้งานไม่ได้ แต่ความจริงแล้วการทำหมันชายนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยสูง ราคาไม่แพง บางครั้งหน่วยงานของรัฐหลายแห่งก็ทำให้ฟรี และที่สำคัญนอกจากทำที่โรงพยาบาลแล้ว คลินิกบางแห่งก็ทำให้ได้ครับ ถ้าถามหมอ หมอส่วนใหญ่คงแนะนำให้ฝ่ายชายเป็นผู้ทำหมัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นบวกกับอยากให้เห็นใจฝ่ายหญิงที่ผ่านความเจ็บปวดมาหลายครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสามีภรรยาก็ควรจะตกลงรับผิดชอบกันเอาเองว่าใครเหมาะสมที่จะทำหมันมากกว่ากัน

ทำหมันแล้วยังตั้งท้องได้หรือเปล่า ?

ได้ครับ แต่โอกาสมีก็น้อยมาก ๆ คือ ใน 1,000 คน จะมีสัก 1-2 คน สาเหตุก็คงมาจากเมื่อทำหมันเสร็จไม่นานก็มีเพศสัมพันธ์ทันที โดยไม่ได้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ทั้งที่ยังไม่ถึงกำหนด ตัวอสุจิที่ค้างอยู่ปลายท่อ จึงเกิดการผสมกับไข่ได้ หรืออีกกรณีหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ ท่อที่ผูกไว้นั้นเข้ามาต่อกันเองซึ่งก็เกิดได้กับบางคนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าทำหมันแล้วเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาจริง ๆ ลูกน้อยในครรภ์ก็ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ตรงนี้ขอให้สบายใจได้เลยครับ

ทำหมันแล้วแต่อยากมีลูกอีก จะทำได้หรือไม่ ?

อาจจะทำได้ครับ แต่ทำได้ยาก มีค่าใช้จ่ายสูง และแพทย์ต้องมีความชำนาญสูง โดยแพทย์จะช่วยต่อท่อทางเดินน้ำอสุจิในเพศชายให้ได้ แต่ก็ไม่ปรากฏผลสำเร็จมากนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาหลังการผ่าตัดทำหมัน ความชำนาญของแพทย์ อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการแก้ไข รวมถึงอายุและสุขภาพของผู้ทำหมันและภรรยาด้วย ซึ่งโดยทั่วไปโอกาสแก้ไขได้สำเร็จจะอยู่ที่ประมาณ 30-75% ทั้งนี้พบว่าอัตราการตั้งครรภ์สูงสุดจะเกิดขึ้นภายใน 3 ปีหลังผ่าตัดแก้ไขทำหมันไปแล้ว แต่ทางที่ดีแล้วแนะนำว่าควรตัดสินใจให้แน่วแน่ก่อนดีกว่าครับ ว่าจะทำหมันหรือไม่

แก้หมันชาย

นอกจากวิธีการผ่าตัดแก้ไขเพื่อต่อท่อทางเดินน้ำอสุจิแล้ว ยังสามารถใช้วิธีดูดเก็บเนื้อเยื่อบริเวณอัณฑะเพื่อหาตัวอสุจิ แล้วนำมาใช้ในเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ได้ด้วย เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว

ทำหมันแล้วนกเขาไม่ขันจริงหรือ ?

ไม่จริง 1,000,000 % ครับ หลายคนเข้าใจว่า “การทำหมัน” กับ “การตอน” นั้นเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงครับ เพราะการตอนจะเป็นการตัดลูกอัณฑะออกไปเลย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกลักษณะทางเพศ และทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อม เนื่องจากอัณฑะเป็นที่สร้างอสุจิและฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะเพศ กำหนดลักษณะความเป็นชายทั้งหมด เช่น บุคลิก รูปร่าง ท่าทาง และความรู้สึกเป็นชาย ทำให้มีอารมณ์ทางเพศ การตอนลูกอัณฑะออกไปจึงมีผลทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนเพศชาย และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบุคลิกดังกล่าว

ส่วนการทำหมันนั้นจะเป็นเพียงการตัดท่ออสุจิให้ขาดออกจากกัน ทำให้ตัวอสุจิไม่สามารถผ่านออกมาผสมกับไข่ของเพศหญิงได้ โดยไม่มีผลต่อการทำงานของฮอร์โมนเพศชายเลย ความต้องการทางเพศยังอยู่เต็ม 100% ดังนั้น ภายหลังการทำหมันแล้ว เมื่อผู้ชายถึงจุดสุดยอดก็ยังหลั่งน้ำกามออกมาได้เหมือนเดิม เพียงแต่ไม่มีตัวอสุจิออกมาด้วยเท่านั้น

ส่วนคนที่บอกว่าทำหมันแล้วรู้สึกว่ามีความต้องการทางเพศน้อยลงนั้นคงเป็นผลมาจากด้านจิตใจมากกว่า เพราะมีความกลัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รวมกับไปหลงเชื่อข่าวลือผิด ๆ ก็เลยเกิดอุปาทานขึ้นมา และคิดอยู่ตลอดเวลาว่าทำหมันแล้วมีความต้องการน้อยลง ก็เลยอาจจะเสื่อมจริง ๆ ขึ้นมาก็ได้ หรือในอีกกรณีหนึ่ง นอกจากสุขภาพทางด้านจิตใจแล้วก็ต้องยอมรับว่าสมรรถภาพทางเพศจะดีหรือแย่ลงก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น วัย อายุ สุขภาพร่างกาย สิ่งแวดล้อม และทัศนคติเกี่ยวกับเพศ ฯลฯ ถ้าปัจจัยเหล่านี้ยังอยู่ในลักษณะเหมาะสม สมรรถภาพทางเพศก็จะเป็นปกติครับ และอย่าลืมด้วยว่าปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น มีอายุมากขึ้น สุขภาพเสื่อมโทรม ฯลฯ ก็มีผลทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลงอยู่แล้วตามปกติ และเกิดขึ้นได้กับทุกคนครับ ไม่ว่าคนนั้นจะทำหมันหรือไม่ทำหมันก็ตาม สรุปว่า “การเปลี่ยนแปลงด้านสมรรถภาพทางเพศหลังจากทำหมันนั้นจะมาจากสาเหตุอื่น ๆ ไม่ใช่มาจากการทำหมันอย่างแน่นอน

ทำหมันแล้วเจ้าชู้มากขึ้น ?

ไม่เกี่ยวกันอย่างแน่นอนครับ เพราะเรื่องแบบนี้มันขึ้นอยู่กับอุปนิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะเป็นคนเจ้าชู้มาตั้งแต่ยังไม่ได้ทำหมันก็ได้ โดยที่ก่อนหน้านี้ยังไม่ได้แสดงออกเพราะกลัวจะไปทำผู้หญิงอื่นท้อง หรือถ้าเป็นผู้หญิงก็อาจจะกลัวท้องขึ้นมาแล้วทำให้อับอาย จึงยับยั้งชั่งใจไว้ พอทำหมันจนแน่ใจแล้วว่าไม่ตั้งท้อง ก็เลยปล่อยตัวตามนิสัยตัวเอง พอถูกจับได้ก็ไปโทษว่าการทำหมันทำให้เสียคน ทั้งที่ความจริงแล้วไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด

ทำหมันแล้วโทรม ทำงานหนักไม่ไหวจริงหรือไม่ ?

ไม่จริงเลยครับ เพราะการทำหมันชายจะเป็นการผูกตัดท่อน้ำเชื้ออสุจิ ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายแต่อย่างใด ส่วนที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรมนั้นมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น หลงเชื่อข่าวลือผิด ๆ เกี่ยวกับการทำหมันหรือมีความกลัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเหล่านี้เป็นภาวะทางด้านจิตใจ หรือบางคนอาจมีโรคอยู่ก่อนแล้วหรือเพิ่งเกิดโรคหลังจากที่ทำหมันซึ่งเป็นไปตามกาลเวลา แต่ไม่รู้จะโทษอะไรดี ก็เลยไปโทษว่าสาเหตุเป็นเพราะการทำหมัน ทั้งที่ความจริงแล้วไม่เกี่ยวข้องกันเลย หรือในอีกกรณีที่บางคนใช้การทำหมันเป็นข้ออ้างไม่อยากทำงานหนัก แต่ความจริงแล้วไม่เกิน 1 สัปดาห์แผลก็หายสนิทแล้วครับ สามารถทำงานหนักได้ทุกชนิด ไม่ต่างจากช่วงก่อนทำหมันเลย

ทำหมันแล้วเป็นโรคประสาทจริงหรือไม่ ?

ไม่เกี่ยวกันครับ เพราะการทำหมันไม่ได้ทำลายระบบประสาทแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่ทำให้เกิดอาการหงุดหงิด ปวดศีรษะ หรือเป็นโรคประสาทได้ ถ้าจะเป็นก็เป็นเองครับ ไม่เกี่ยวกับการทำหมัน อย่างบางคนที่เคยมีอาการดังกล่าว พอทำหมันแล้วอาการหายไปเลยก็มี ซึ่งอาจเพราะไม่ต้องมากังวลเรื่องจะมีลูกนั่นเอง

ทำหมันแล้วจะอ้วนขึ้นหรือผอมลงหรือไม่ ?

ไม่เกี่ยวครับ เพราะการทำหมันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อต่อมหรืออวัยวะใด ๆ ที่เกี่ยวกับการกินอาหารและระบบการย่อยอาหารแต่อย่างใด การที่คนเราจะอ้วนหรือผอมนั้นหลัก ๆ แล้วจะขึ้นอยู่กับอาหารการกินหรือเกี่ยวกับสุขภาพทั่วไปของคน ๆ นั้นมากกว่า คนที่อ้วนขึ้นก็อาจเป็นเพราะพันธุกรรมเดิมหรือเกิดความสบายใจทำให้กินดีอยู่ดีจนอ้วนท้วนสมบูรณ์ขึ้น ส่วนคนที่ผอมลง ก็อาจเกิดจากการเจ็บป่วยอย่างอื่นก็ได้ ซึ่งมันมีอยู่หลายปัจจัยครับ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำหมันอย่างแน่นอน

ทำหมันชายแล้วเสี่ยงเป็นมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์มากขึ้น ?

มีความเชื่อที่ว่า หลังการทำหมันชายความดันที่เพิ่มขึ้นภายในท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ น่าจะมีผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ โดยเฉพาะต่อลูกอัณฑะและต่อมลูกหมากจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในอวัยวะเหล่านี้มากขึ้น แต่จากการศึกษาติดตามความสัมพันธ์ดังกล่าว ก็พบว่าไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใดครับ

โดยในลูกอัณฑะที่มีความเชื่อว่า ความดันที่เพิ่มขึ้นภายในท่อจะมีผลต่อการสร้างเชื้ออสุจิ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของลูกอัณฑะมากขึ้น จากการศึกษาพบว่า ผู้ชายที่ทำหมันนั้นมักจะอยู่ในช่วงอายุที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของลูกอัณฑะอยู่แล้ว และในรายงานทางการแพทย์ที่ตรวจพบมะเร็งลูกอัณฑะหลังการทำหมันชายนั้น เป็นการตรวจพบภายหลังการทำหมันไปแล้ว 3 เดือน เนื่องจากมีอาการปวดถ่วงที่ลูกอัณฑะตลอดเวลา จึงมาตรวจอย่างละเอียดและเพิ่งพบว่าเป็นมะเร็งอัณฑะดังกล่าว

ส่วนในกรณีต่อมลูกหมากที่เชื่อกันว่าต่อมลูกหมากสร้างและขับสารคัดหลั่งออกมาลดลง เซลล์ภายในจึงมีการเจริญเติบโตและมีขนาดเพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น แต่จากการศึกษาติดตามพบว่า การทำหมันชายไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งการทำงานของต่อมลูกหมากและระบบต่อมไร้ท่อทั้งต่อมใต้สมองและลูกอัณฑะ ส่วนสาเหตุที่ตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ทำหมันมากกว่านั้น น่าจะมาจากการที่ผู้ทำหมันจะต้องมาพบแพทย์เพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพบ่อยกว่า จึงทำให้มีโอกาสตรวจพบได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ทำ

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  “การทำหมัน…ตัดสินใจที่จะไม่มีลูกอีก”.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ).  หน้า 456-465.
  2. หาหมอดอทคอม.  “การทำหมันชาย Vasectomy”.  (แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [18 ต.ค. 2015].
  3. หมอสุรเชษฐ.  “ทำหมันชาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.surachetclinic.com.  [18 ต.ค. 2015].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด