ครรภ์แฝด
การตั้งครรภ์แฝด (Multiple pregnancy) หมายถึง การตั้งครรภ์ครั้งเดียวแต่มีทารกในครรภ์มากกว่า 1 คน หรือตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ซึ่งอาจมีทารกในครรภ์ 2 คน เรียกว่า “แฝดสอง” หรืออาจมีมากกว่านั้นเป็น แฝดสาม แฝดสี่ แฝดห้า แฝดหก ตามจำนวนของทารกในครรภ์ แต่มักจะเรียกรวม ๆ กันว่า “ครรภ์แฝด” ทั้งนี้การตั้งครรภ์แฝดถือเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งทางสูติกรรม เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงต่าง ๆ ทั้งในระหว่างการตั้งครรภ์และในระยะหลังคลอด การตั้งครรภ์แฝดสองทารกจะมีโอกาสมีชีวิตรอดได้มากที่สุด เพราะยิ่งมีจำนวนทารกในครรภ์มากขึ้น น้ำหนักตัวของทารกก็จะลดลงเรื่อย ๆ และมีโอกาสเสียชีวิตได้มากขึ้น
เมื่อคุณแม่ทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์แฝด บางคนจะรู้สึกตกใจมาก เพราะไม่คาดฝันหรือไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ ไม่ได้เตรียมตัวไว้ แต่ก็มีคุณแม่บางส่วนที่รู้สึกดีใจที่รู้ว่าตั้งครรภ์แฝด เพราะเป็นการตั้งครรภ์และคลอดเพียงครั้งเดียวแต่ได้ลูกถึง 2 คน (หรือมากกว่า) หรืออยากแต่งตัวให้ลูกแฝดที่มีหน้าตาเหมือนกัน แต่ในความจริงแล้วการตั้งครรภ์แฝดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะอาจเกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง ซึ่งผมจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไปครับ
สถิติการตั้งครรภ์แฝด
จากสถิติทั่วไปที่ผ่านมาในอดีตพบว่า การตั้งครรภ์แฝดสอง (Twin pregnancy) เป็นกรณีที่พบได้บ่อยที่สุด ในอัตรา 1 ต่อ 89 (คือมีครรภ์เดี่ยว 89 ราย จะพบครรภ์แฝดสอง 1 ราย) ส่วนแฝดสามจะพบได้ยากยิ่งขึ้นในอัตรา 1 ต่อ 892 คือ 89 x 89 = 7,921 ราย และสำหรับแฝด 4 จะพบได้ยากมาก ๆ ในอัตรา 1 ต่อ 893 คือ 89 x 89 x89 = 704,969 ราย[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าการตั้งครรภ์แฝดสองจะพบได้ประมาณ 1% ของการตั้งครรภ์ทั่วไป และจะมีอัตราการเกิดประมาณ 1 ใน 250 ของการคลอดครรภ์แฝดทั้งหมด[2]
ทุกวันนี้ทางการแพทย์มีความเจริญก้าวหน้าไปมาก คุณแม่ที่มีลูกยากจึงมักอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์โดยการผสมเทียม ทำเด็กหลอดแก้ว การใส่ตัวอ่อน ฯลฯ มาช่วยรักษาภาวะการมีบุตรยาก ด้วยเหตุนี้การใช้ยากระตุ้นให้ไข่ตกจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์แฝดได้มากขึ้น เพราะจะมีการตกไข่ได้ครั้งละหลาย ๆ ใบ คุณแม่ยุคใหม่จึงมีแนวโน้มที่จะตั้งครรภ์แฝดสูงมากขึ้น และถ้าคุณแม่มีประวัติการตั้งครรภ์แฝดในครอบครัว มีอายุมาก หรือเคยคลอดบุตรมาแล้วหลายคน ก็จะยิ่งมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ประเภทของการตั้งครรภ์แฝด
เราคงเห็นเด็กแฝดหรือฝาแฝดบางคู่นะครับที่เหมือนกันไปหมด ไม่ว่าจะรูปร่าง หน้าตา สีผม สีผิว ความสูง และเป็นเพศเดียวกันอีกด้วย เรียกได้ว่ามองหาจุดต่างไม่พบเลยนะครับ แต่กับอีกฝาแฝดบางคู่ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง บางคนหน้าตา ท่าทาง อุปนิสัยก็ไม่เหมือนกันเลยแม้แต่นิดเดียว หรืออาจจะต่างเพศไปเลยด้วยซ้ำ
คุณแม่อาจสงสัยว่า ทำไมคู่แฝดที่คลอดจากครรภ์เดียวกันแท้ ๆ จึงมีความเหมือนหรือความแตกต่างกันได้มากถึงเพียงนี้ ผมจะขออธิบายดังนี้ครับ ในทางการแพทย์จะแบ่งการตั้งครรภ์แฝดออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- แฝดแท้ หรือ แฝดร่วมไข่ หรือ แฝดจากไข่ใบเดียว (Single ovum twins, Monozygotic twins หรือ Identical twins) เป็นกรณีที่เกิดจาก “เชื้ออสุจิ 1 ตัว เข้าไปปฏิสนธิกับไข่เพียงใบเดียว“ แล้วต่อมาไข่ที่ถูกผสมแล้วเกิดการแบ่งแยกตัวเองเป็น 2 ใบในภายหลัง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดหลังจากมีการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้วในโพรงมดลูก คือ เด็กที่เกิดมาจะมีลักษณะเหมือนกันทุกอย่าง มีเพศเดียวกัน รูปร่างหน้าตา สีผม และกรุ๊ปเลือดเหมือนกัน จากสถิติเราพบแฝดชนิดนี้ได้ประมาณ 1 ใน 3 หรือราวร้อยละ 30 ของการตั้งครรภ์แฝดทั้งหมด การเกิดแฝดแท้จะมีโอกาสในการเกิดเท่ากันทั้งในการตั้งครรภ์แรกและครรภ์หลัง และไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรืออายุเท่าใดก็ตาม (ซึ่งต่างจากแฝดเทียม) ความสำคัญของแฝดแท้นั้นอยู่ที่ระยะเวลาในการแบ่งตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้ว ถ้าไข่ที่ถูกผสมมีการแบ่งก่อนหรือภายในวันที่ 12 หลังปฏิสนธิ คุณแม่ก็จะได้ลูกแฝดปกติที่มีรูปร่างหน้าตา กรุ๊ปเลือด และเพศเหมือนกันทุกประการ แต่ถ้ามีการแบ่งตัวช้าหลังจากวันที่ 13 ของการปฏิสนธิไปแล้ว ซึ่งเป็นระยะที่แกนโครงสร้างหลักของร่างกายทารกสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทารกแฝดจะแบ่งตัวแยกจากกันไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดเป็นแฝดที่มีร่างกายติดกันตามบริเวณส่วนต่าง ๆ (Conjoined twins) เช่น ทรวงอก ศีรษะ หรือลำตัว[2],[3] แฝดแท้นี้บางคู่อาจมีรกและถุงการตั้งครรภ์แยกจากกัน (Dichorionic Diamniotic – DCDA) บางคู่ถุงตั้งครรภ์จะแยกเป็นคนละถุง แต่ยังใช้รกร่วมกัน (Monochorionic Diamniotic – MCDA) หรือบางคู่ก็อาจใช้รกร่วมกันและอยู่ในถุงตั้งครรภ์เดียวกันเลยก็ได้ (Monochorionic Monoamniotic – MCMA) ยิ่งทารกต้องใช้อะไรร่วมกันมากเท่าไร โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนก็มีมากขึ้นเท่านั้น เช่น อยู่ในถุงเดียวกันก็อาจเกิดสายสะดือพันกัน ทำให้ทารกเสียชีวิตทั้งคู่ หรือถ้าใช้รกร่วมกันก็อาจมีเลือดไปเลี้ยงได้ไม่เท่ากัน ทำให้ทารกคนหนึ่งตัวเล็ก อีกคนหนึ่งอาจบวมน้ำ หัวใจวาย และเสียชีวิตได้ เป็นต้น
- แฝดเทียม หรือ แฝดต่างไข่ หรือ แฝดคนละใบ หรือ แฝดจากไข่สองใบหรือมากกว่า (Double ovum twins, Dizygotic twins หรือ Fraternal twins) เป็นกรณีที่เกิดจาก “เชื้ออสุจิ 2 ตัวหรือมากกว่า เข้าไปผสมกับไข่ 2 ใบหรือมากกว่า“ จึงทำให้แฝดกลุ่มนี้อาจมีเพศ หน้าตา และกรุ๊ปเลือดเหมือนกันหรือไม่เหมือนกันก็ได้ ทารกในครรภ์จึงเป็นเสมือนพี่น้องที่มีการเจริญเติบโตอยู่ในโพรงมดลูกในเวลาเดียวกัน (จะว่าไปก็เหมือนกับพี่น้องในครรภ์เดี่ยวที่คลานตามกันมานั่นแหละครับ) นอกจากนี้ไข่ที่ถูกผสมอาจเกิดขึ้นในรอบเดือนเดียวกันหรือคนละรอบเดือนก็ได้ ทารกในครรภ์จึงอาจมีอายุแตกต่างกันได้ประมาณ 4 สัปดาห์ ซึ่งทารกส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีปัญหาในระหว่างการตั้งครรภ์ครับ จากสถิติแล้วแฝดชนิดนี้เราจะพบได้ประมาณ 2 ใน 3 หรือราวร้อยละ 70 ของการตั้งครรภ์แฝดทั้งหมดครับ และจะพบได้มากในครรภ์หลัง ๆ หรือในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมาก ๆ ซึ่งเกิดจากการทำงานของรังไข่ที่ผิดปกติ หรือคุณแม่กินยากระตุ้นให้รังไข่ทำงาน ไข่จึงตกมากกว่าครั้งละ 1 ใบ เมื่อมีการผสมโดยอสุจิต่างตัวกันแล้วเจริญเติบโตเป็นลูกแฝดก็จะมีรกแยกจากกัน แต่ในบางกรณีก็อาจอยู่ชิดกันจนแยกไม่ออกก็มีครับ นอกจากนี้แฝดเทียมยังพบได้บ่อยในบางเชื้อชาติ เช่น นิโกร (รองลงมาคือคนผิวขาว ส่วนคนผิวเหลืองอย่างชาวเอเชียจะพบได้น้อยกว่า) รวมไปถึงอิทธิพลทางพันธุกรรมก็มีส่วนทำให้เกิดลูกแฝดชนิดนี้ได้มาก (มีอิทธิพลมาจากฝ่ายแม่มากกว่าฝ่ายพ่อ) และสำหรับการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ก็พบครรภ์แฝดชนิดนี้ได้มากขึ้นเช่นกันครับ นี่จึงเหตุผลที่ทำให้มีแฝดเทียมเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนในกรณีของแฝดสามหรือแฝดสี่นั้น คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ประเภทนี้ส่วนใหญ่มักเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์นี่แหละครับ ที่แพทย์ย้ายตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูกหลาย ๆ ตัวเผื่อเอาไว้ แล้วตัวอ่อนเกิดมีการเจริญเติบโตดีพร้อมกันทุกตัว จึงทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์แฝดสามหรือสี่ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องน่าดีใจนะครับ เพราะทั้งคุณแม่และทารกแฝดจะมีความเสี่ยงมากขึ้นด้วยในระหว่างการตั้งครรภ์ การที่เด็กแฝดคลอดออกมาหลาย ๆ คน แล้วทุกคนแข็งแรงปลอดภัยดี ถือเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อยครับ ทางที่ดีไม่ควรไม่ใส่ตัวอ่อนมากเกินไป ถ้าอยากได้แฝดก็ขอให้เป็นแฝด 2 หรืออย่างมากที่สุดก็เป็นแฝด 3 ก็พอครับ
ท่าของทารกในครรภ์แฝด
เนื่องจากโพรงมดลูกมีขนาดที่จำกัดและเหมาะสำหรับการตั้งครรภ์เดี่ยว เมื่อมีทารก 2 คนหรือมากกว่า ก็ต้องแย่งที่อยู่กัน ทำให้มีการปรับตัวของทารกในครรภ์ให้เข้ากับโพรงมดลูก จึงมีท่าที่ทารกในครรภ์นอนอยู่ด้วยกันหลายท่า เช่น ท่าเอาหัวลงทั้งคู่ (โอกาสที่คุณแม่จะคลอดเองได้ก็มีมาก แต่ขณะเดียวกันเมื่อคลอดคนแรกแล้ว ท่าของทารกคนที่ 2 อาจจะกลับหรือเปลี่ยนไปได้ จึงทำให้ในบางรายแพทย์ต้องผ่าตัดทำคลอดทารกคนที่ 2 ก็มี), ท่าเอาหัวขึ้นทั้งคู่, ท่าทารกคนหนึ่งเอาหัวขึ้นส่วนทารกอีกคนเอาหัวลง, ท่าทารกคนหนึ่งอยู่ในลักษณะขวางส่วนทารกอีกคนเอาหัวลง, ท่าทารกอยู่ในลักษณะขวางทั้งคู่ เป็นต้น
ในกรณีที่ทารกแฝดอยู่ในท่าผิดปกติตั้งแต่แรกหรือคิดว่าอาจจะเกิดความผิดปกติระหว่างการคลอด (อย่าง 3 ท่าหลัง) แพทย์อาจพิจารณาผ่าคลอดให้เลยโดยไม่ต้องรอให้คุณแม่เจ็บครรภ์แล้วคลอดเอง ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยและตัวคุณแม่นั่นเอง
ปัจจัยเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์แฝด
- กรรมพันธุ์ คือ การที่คนในครอบครัวมีประวัติการตั้งครรภ์แฝด ซึ่งการถ่ายทอดทางพันธุกรรมในเรื่องของการตั้งครรภ์แฝดนั้นจะมาจากทางฝ่ายคุณแม่มากกว่าทางฝ่ายคุณพ่อ
- เชื้อชาติ พบว่าชนชาติแอฟริกันจะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้มากกว่าคนผิวขาว (มีรายงานการวิจัยทางการแพทย์พบว่า คนผิวเหลือง เช่น คนไทย จะมีโอกาสเกิดครรภ์แฝดได้น้อยกว่าคนผิวขาวและผิวดำ)
- อายุของคุณแม่ในขณะตั้งครรภ์ จากการศึกษาพบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้มากขึ้น
- จำนวนครรภ์หรือการตั้งครรภ์หลัง ๆ คุณแม่ที่เคยคลอดบุตรมาแล้วหลายคนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คุณแม่มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้มากขึ้นเช่นกัน
- การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว หรือการใช้ยากระตุ้นให้ไข่สุกและตกไข่ครั้งละหลาย ๆ ใบ
รู้ได้อย่างไรว่าตั้งครรภ์แฝด
คุณแม่ที่มีบุตรยากและได้รับการรักษาดูแลจากแพทย์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ก็คงจะทราบกันอยู่แล้วว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์แฝด เพราะแพทย์จะต้องตรวจดูแลคุณแม่โดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์อย่างสม่ำเสมอ
ส่วนของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์แฝดอยู่หรือไม่ เพราะสังเกตได้ว่าท้องมีขนาดใหญ่มากกว่าปกติ หรือรู้สึกอึดอัด ทั้ง ๆ ที่เพิ่งตั้งครรภ์ได้ไม่กี่เดือนก็ต้องหาเสื้อคลุมท้องมาใส่แล้ว ซึ่งการที่ครรภ์มีขนาดโตกว่าปกตินั้นก็อาจชวนให้สงสัยได้ว่าเป็นครรภ์แฝด ตรงนี้ก็ต้องไปหาหมอตรวจดูนะครับว่าครรภ์ที่โตขึ้นนั้นเป็นเพราะมดลูกโตเกินกว่าอายุครรภ์ หรือเป็นเพราะคุณแม่อ้วนมาก มีไขมันหน้าท้องมาก หรือมีน้ำคร่ำมากกว่าปกติ ที่ชาวบ้านมักจะเรียกกันว่า “แฝดน้ำ” ซึ่งไม่ใช่ครรภ์แฝด ซึ่งถ้าเป็นในกรณีแรกที่มดลูกโตขึ้นเกินกว่าอายุครรภ์ ก็ต้องมาพิจารณากันต่อครับว่าเป็นการตั้งครรภ์แฝดจริงหรือไม่ หรือเป็นกรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์เดี่ยวแต่จำวันที่มีประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายคลาดเคลื่อนไปมากจนทำให้กำหนดวันคลอดและอายุครรภ์คลาดเคลื่อนช้ากว่าที่เป็นจริง ซึ่งในการสังเกตตนเองเบื้องต้นว่ากำลังตั้งครรภ์แฝดอยู่หรือไม่นั้น คุณแม่สามารถสังเกตได้จาก
- มีปัจจัยเสี่ยงตามที่กล่าวมาในหัวข้อที่แล้ว
- ครรภ์มีขนาดโตเร็วผิดปกติหรือโตกว่าอายุครรภ์ เช่น อายุครรภ์จริง 3 เดือน แต่มดลูกโตเท่าอายุครรภ์ 4 เดือน
- มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะโดยปกติแล้วการตั้งครรภ์ในระยะแรก ๆ น้ำหนักตัวของคุณแม่มักจะไม่ค่อยเพิ่มขึ้นมากนัก
- มีอาการแพ้ท้องมากในช่วงอายุครรภ์ก่อน 14 สัปดาห์ (คลื่นไส้อาเจียนมากกว่าปกติ) ซึ่งอาจเป็นเพราะฮอร์โมนที่เพิ่มมากขึ้น
- คุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นเร็วกว่าปกติหรือดิ้นมากผิดปกติ
- มีภาวะความดันโลหิตสูงหรือบวม ตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย ๆ
- เมื่อตรวจเลือดจะพบสาร alfa fetoproteine และ HCG สูงกว่าคนตั้งครรภ์ทั่วไป
ถ้ามีอาการเหล่านี้ก็มีความเป็นไปได้สูงครับว่าเป็นครรภ์แฝด ในส่วนการวินิจฉัยของแพทย์ว่าตั้งครรภ์แฝดหรือไม่นั้น แพทย์สามารถวินิจฉัยได้โดยการซักถามประวัติทางการแพทย์ ตรวจร่างกาย ตรวจหาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ (ในหัวข้อที่แล้ว) และตรวจหน้าท้อง ซึ่งในกรณีที่เป็นแฝดสอง แพทย์จะคลำได้ศีรษะ 2 แห่ง หรือก้น 2 แห่ง หรือฟังเสียงหัวใจทารกเต้นได้ 2 แห่ง แต่ถ้าจะให้แน่นอนและแม่นยำ 100% เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แพทย์จะตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ ซึ่งสามารถตรวจพบครรภ์แฝดได้ตั้งแต่ยังท้องอ่อน ๆ เลยครับ
ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์แฝด
คุณแม่บางคนดีใจมากเมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์แฝดและถือว่าเป็นเรื่องของความโชคดีที่ตั้งครรภ์ครั้งเดียวแต่ได้ลูกพร้อมกันถึง 2 คน แต่ในทางการแพทย์แล้ว ผมว่าคุณแม่อาจคิดผิดนะครับ เพราะการตั้งครรภ์แฝดนั้นถือเป็นความซับซ้อนอย่างหนึ่ง เป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงทั้งในระยะการตั้งครรภ์/ก่อนคลอด ระยะคลอด และในระยะหลังคลอดมากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว คราวนี้มาลองดูกันครับว่าทำไมผมถึงบอกว่าคุณแม่อาจคิดผิด…
- ภาวะแทรกซ้อนในระยะการตั้งครรภ์ ได้แก่
- คุณแม่จะมีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากกว่าคนท้องทั่วไป ทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยและเพลียมาก
- คุณแม่จะรู้สึกแน่นอึดอัด ไม่สะดวกสบาย หายใจไม่ค่อยออก เพราะมดลูกขนาดใหญ่ไปกดอวัยวะต่าง ๆ ทั้งในช่องท้องและทรวงอก
- ท้องคุณแม่จะมีขนาดโตขึ้นมาก (โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2-3) ทำให้ต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้น อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้าง โดยเฉพาะโครงสร้างกระดูกโค้งงอหรือลำตัวแอ่นมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อสันหลังต้องเกร็งตัวเพื่อช่วยรองรับน้ำหนักแทนกระดูกสันหลัง จึงส่งผลให้คุณแม่มีอาการปวดหลังมากขึ้น
- คุณแม่ครรภ์แฝดจะต้องรับภาระที่หนักกว่าครรภ์เดี่ยวมาก หัวใจต้องทำงานหนักและกระดูกต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้น คุณแม่ที่มีร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงหรือมีโรคเดิมอยู่ เช่น โรคหัวใจ อาจมีโอกาสเกิดหัวใจวายได้มากกว่าคุณแม่ครรภ์เดี่ยว คุณแม่จึงควรสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองด้วยนะครับ
- อาจเกิดอาการครรภ์เป็นพิษหรือโรคความดันโลหิตสูงในระหว่างการตั้งครรภ์ได้มากถึง 20% (1 ใน 5) ซึ่งนับว่าผิดปกติมากและมากกว่าผู้ที่ตั้งครรภ์เดี่ยวถึง 2-3 เท่า[1],[2]
- คุณแม่อาจเกิดภาวะซีดได้ง่าย เพราะปริมาณของน้ำเลือดและเม็ดเลือดมีการเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่แตกต่างกันมาก
- อาจทำให้เลือดจางมากขึ้น ลูกแฝดในครรภ์จะดึงเอาธาตุเหล็กจากคุณแม่ไปใช้มากขึ้นยกกำลังสองเพื่อสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้คุณแม่มีโอกาสเกิดเลือดจางได้สูงขึ้น ร่างกายจึงมีความต้องการธาตุเหล็กมากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว
- อาจเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้มากกว่าครรภ์ปกติ
- อาจเกิดภาวะรกเกาะต่ำ/รกลอกตัวก่อนกำหนด เนื่องจากรกมีขนาดใหญ่ หรือมีรก 2 อัน แผ่ขยายลงมาใกล้หรือปิดบริเวณปากมดลูก ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ จึงเพิ่มโอกาสการแท้งบุตรและการคลอดก่อนกำหนด (ส่วนในกรณีของรกลอกตัวก่อนกำหนด ก็ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดได้เช่นกัน)
- เสี่ยงต่อการแท้งบุตร การตั้งครรภ์แฝดมีโอกาสเกิดการแท้งบุตรได้มากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว คุณแม่อาจแท้งบุตรได้ทั้ง 2 คน หรือแท้งออกมา 1 คนแล้วตั้งครรภ์ต่ออีก 1 คน ในกรณีที่ทารกเสียชีวิตไป 1 คนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม คุณแม่ยังสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ครับ ไม่จำเป็นต้องเอาทารกที่เสียชีวิตออก เพราะเมื่อเขาเสียชีวิตเขาจะหยุดโตไปเองและไม่มีการเน่าเสียแต่อย่างใด เนื่องจากไม่ได้เจอเชื้อโรคภายนอก ส่วนทารกอีกคนก็จะโตไปตามปกติครับ
- คุณแม่มีท้องโตกว่าปกติจากครรภ์แฝดน้ำ จะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดเพราะมดลูกมีการขยายตัวมากกว่าปกติ
- ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ ในครรภ์แฝดย่อมมีพื้นที่ให้ลูกเคลื่อนไหวได้ไม่เพียงพอ ลูกแฝดจึงอยู่ท่าผิดปกติได้สูง ทำให้เกิดปัญหาในการคลอดตามปกติหรือทำให้เกิดการคลอดติดขัดหรือยืดเยื้อได้ แพทย์มักพิจารณาผ่าตัดทำคลอดให้คุณตั้งครรภ์แฝด
- สายสะดือของทารกพันกัน ในกรณีที่อยู่ในถุงการตั้งครรภ์เดียวกัน เป็นสาเหตุทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์หรือในระหว่างการคลอดได้สูง
- ทารกมีการถ่ายเทเลือดให้กัน (Twin-to-twin transfusion syndrome) ในกรณีที่ทารกใช้รกอันเดียวกัน เลือดของคนหนึ่งจึงสามารถไหลสู่ร่างกายของทารกอีกคนได้ จึงส่งผลให้ทารกเกิดภาวะขาดเลือด การเจริญเติบโตผิดปกติ เจริญเติบโตน้อยกว่าเกณฑ์ หรือเกิดความพิการ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับแฝดแท้ที่มีถุงน้ำและรกร่วมกัน จึงเพิ่มโอกาสให้เกิดการแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด และ/หรือทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้
- ทารกในครรภ์เจริญเติบโตผิดสัดส่วนกัน ทำให้แต่ละคนเจริญเติบโตได้ไม่เท่ากัน คนที่เจริญเติบโตไม่ดีจึงอาจเสียชีวิตหรือเกิดความพิการได้
- ภาวะแทรกซ้อนในระยะคลอด ได้แก่
- คลอดก่อนกำหนด เช่น คุณแม่เกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด จึงส่งผลให้เกิดทารกคลอดก่อนกำหนดได้สูง
- การใช้เครื่องมือช่วย ต้องดมยาสลบ หรือได้รับการช่วยคลอดโดยใช้คีมหรือเครื่องดูดสุญญากาศ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อหลังคลอดได้สูงกว่าปกติ
- การผ่าตัดทำคลอด คุณแม่มีโอกาสได้รับการผ่าตัดทำคลอดมากกว่ารายปกติ ซึ่งอาจเป็นเพราะการดำเนินการคลอดเกิดความผิดปกติ ทำให้ล่าช้า หรือทารกอยู่ในท่าผิดปกติ หรือมีรกขวางทางคลอด แพทย์จึงจำเป็นต้องผ่าตัดทำคลอด
- ภาวะแทรกซ้อนในระยะหลังคลอด ได้แก่
- การตกเลือดหลังคลอด เนื่องจากมดลูกมีขนาดใหญ่หรือมีการขยายตัวมากและนานกว่าปกติ จึงทำให้เกิดการหดรัดตัวไม่ดี แผลในมดลูกจากการหลุดลอกของรกจึงเชื่อมติดได้ไม่ดี ส่งผลให้มีเลือดออกจากแผลได้มาก
- การติดเชื้อหลังคลอด มีโอกาสติดเชื้อหลังการคลอดได้สูง
- ถ้ามีการคลอดที่ผิดปกติเกิดขึ้น ลูกแฝดจะมีความเสี่ยงในการบาดเจ็บจากการคลอดและเสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่วงหลังคลอดจากการคลอดที่เนิ่นนานได้
- ถ้าคลอดก่อนกำหนดมากลูกแฝดอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้มาก เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ และมักกลายเป็นโรคปอดเรื้อรัง เลือดออกในสมอง ลำไส้อักเสบติดเชื้อ มีปัญหาในเรื่องของการหายใจและมีความเสี่ยงต่อการมองไม่เห็นหรือตาบอด เนื่องจากได้รับออกซิเจนเป็นเวลานานเกินไปในระหว่างที่รักษาตัวอยู่ในตู้อบ
- ลูกมีน้ำหนักตัวน้อย โดยทั่วไปคุณแม่ตั้งครรภ์แฝดจะเจ็บครรภ์และคลอดก่อนกำหนดประมาณ 3-4 สัปดาห์ (ถ้าสามารถท้องได้จนถึงสัปดาห์ที่ 37-38 ก็เรียกได้ว่าเป็นยอดคุณแม่เลยล่ะครับ) ทำให้ลูกตัวเล็กเพราะปอดยังไม่แข็งแรงมากพอ จึงมีปัญหาในด้านการเลี้ยงดู และแม้จะตั้งครรภ์จนครบกำหนด แต่น้ำหนักโดยเฉลี่ยของเด็กแฝดทั้งสองก็ยังน้อยกว่าน้ำหนักของเด็กคนเดียวประมาณ 1 กิโลกรัม ยิ่งถ้ามีแฝดสาม แฝดสี่ น้ำหนักเฉลี่ยก็ยิ่งน้อยลงไปอีก คุณแม่ครรภ์แฝดหลาย ๆ รายจึงมักจะแท้งและส่วนใหญ่ก็คลอดก่อนกำหนด
- อัตราการตายของทารกสูงขึ้นเป็น 2-3 เท่าของทารกครรภ์เดี่ยว โดยแฝดน้องจะมีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่าแฝดพี่ 30% เพราะท่าของทารกมักจะผิดปกติ เช่น อาจจะขวางตัวหรือเอาก้นลง สายสะดือโผล่ หรือเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดที่ทารกคนที่สองจะคลอด หรือแม้แต่การช่วยคลอดที่ช้าเกินไปก็อาจทำให้ทารกมีโอกาสเสียชีวิตได้มากเช่นกัน
- ปัญหาที่เฉพาะเจาะจงกับครรภ์แฝด เช่น แฝดตัวติดกัน, ทารกมีน้ำหนักตัวต่างกันมาก, ทารกมีโอกาสพิการแต่กำเนิดได้สูงกว่าการตั้งครรภ์ปกติ
เมื่อรู้ถึงอันตรายเหล่านี้แล้วคุณแม่หลายคนคงอยากจะเปลี่ยนไปคิดว่ามีลูกครั้งละคนดีกว่าจริงไหมครับ แต่ถ้าตั้งครรภ์มาแล้วจะมาบอกว่าขอมีคนเดียวก็คงเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องให้การดูแลรักษากันเป็นอย่างดีต่อไป เพื่อป้องกันหรือลดภาวะเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเท่าที่จะทำได้ ปัจจุบันกุมารแพทย์ในบ้านเราก็ค่อนข้างจะเก่งมากครับ คุณแม่อย่าได้เพิ่งเป็นกังวลใจมากไป เพราะเด็กที่ตัวเล็กหรือมีน้ำหนักน้อยมาก ๆ แพทย์ก็ช่วยให้มีชีวิตรอดได้
การดูแลครรภ์แฝด
คุณแม่ครรภ์แฝดต้องหาวิธีดูแลตัวเองให้มากยิ่งขึ้นเพื่อตัวเองและลูกน้อยในครรภ์ และเพื่อความสมบูรณ์ของการตั้งครรภ์ เพื่อไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์และในช่วงการคลอด ซึ่งแนวทางในการดูแลตนเองของคุณแม่ก็มีดังนี้ครับ
- การฝากครรภ์ เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ต้องรีบไปฝากครรภ์ในโรงพยาบาลใกล้บ้านในทันที (หรือที่สะดวกต่อการเดินทาง) เพื่อจะได้ทราบว่าเป็นการตั้งครรภ์แฝดหรือไม่ เพราะถ้าเป็นกรณีของการตั้งครรภ์แฝด คุณแม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์เดี่ยว ในช่วงแรกถ้าหากคุณแม่มีอาการแพ้ท้องมากผิดปกติ ควรนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ถ้าไม่มีอาการผิดปกติแพทย์จะนัดมาตรวจเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อติดตามดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์และค้นหาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น และให้ยาวิตามินบำรุงครรภ์และยาบำรุงเลือดมากิน (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์) พร้อมกับให้คำแนะนำต่าง ๆ ที่คุณแม่ควรจะปฏิบัติ (คุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด)
- ยาบำรุง คุณแม่ควรได้รับโฟลิกอย่างน้อยวันละ 1 มิลลิกรัม (1,000 ไมโครกรัม) ตลอดการตั้งครรภ์ และควรได้รับธาตุเหล็กวันละ 60-100 มิลลิกรัม หรือ 2-3 เม็ดต่อวัน (ในครรภ์ปกติจะกินเพียงวันละ 1 เม็ด) ตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่สองเป็นต้นไป คุณแม่ที่กินยาพวกวิตามินรวมก็ควรจะระมัดระวังด้วยนะครับ เพราะถ้ากินแบบรวมวันละ 3 เม็ด อาจทำให้คุณแม่ได้รับวิตามินเอเกินขนาดที่แนะนำ หรือทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลครรภ์จะดีที่สุดครับ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้มากขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์แฝดควรได้รับอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผักผลไม้สด นมและแคลเซียม ส่วนอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลไม่ต้องทานมากนะครับ เพราะอาจจะทำให้อ้วนเกินไปได้ (ควรรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่าสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ประมาณ 600 กิโลแคลอรีต่อวัน หรือเพิ่มไปจากการตั้งครรภ์ปกติอีกประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน ไม่ใช่กินเป็นสองเท่านะครับ และในกรณีของคุณแม่ที่ไม่อ้วนจนผิดปกติ ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ รวมตลอดการตั้งครรภ์ให้ได้ประมาณ 15-20 กิโลกรัม หรือสัปดาห์ละ 0.75 กิโลกรัมในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 เพราะในช่วงไตรมาสแรก จะครรภ์แฝดหรือครรภ์เดี่ยวน้ำหนักยังไม่ต่างกันมากครับ) เพราะความต้องการอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินจะมีมากกว่าปกติ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่มีมากขึ้น นอกจากนี้คุณแม่ยังควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่หวานจัด เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ และคุณแม่ควรได้รับการตรวจคัดกรองเบาหวานในช่วง 24-28 สัปดาห์ด้วยครับ
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น งดการสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม) รวมไปถึงยาเสพติดทุกชนิด และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ
- พักผ่อนให้มากกว่าเดิม คุณแม่ครรภ์แฝดต้องพักผ่อนให้เพียงพอและมากกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เดี่ยว ตั้งแต่เมื่อมีอายุครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ขึ้นไป (โดยเฉพาะในระยะ 3 เดือนหลังของการตั้งครรภ์) อย่าวิตกกังวลมากจนเกินไป เพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ สถานพยาบาลบางแห่งในต่างประเทศจึงแนะนำให้คุณแม่เข้าอยู่ในสถานพยาบาลเมื่อตั้งครรภ์ได้ 7 เดือน แต่ในบ้านเราคงจะทำได้ไม่มากนักเนื่องจากจำนวนเตียงในโรงพยาบาลค่อนข้างจะมีจำกัด แต่ก็ไม่เป็นไรครับ เมื่ออยู่บ้านก็ขอให้คุณแม่พยายามพักผ่อนให้ได้มากที่สุดให้เหมือนกับนอนพักในโรงพยาบาล เพราะการพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดได้มาก อีกทั้งการที่คุณแม่ได้พักผ่อนมาก ๆ ยังทำให้ลูกมีน้ำหนักตัวดีขึ้นได้อีกด้วย
- ห้ามทำงานหนัก คุณแม่ควรงดการทำงานที่หนักและเหน็ดเหนื่อยมากเกินไป เพราะการทำงานหนักเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
- ระวังอุบัติเหตุ เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์มากขึ้น ท้องจะขยายมากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยวมาก จึงทำให้คุณแม่เคลื่อนไหวได้ลำบากและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น ลื่น หกล้ม ฯลฯ
- การมีเพศสัมพันธ์ คุณแม่ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่เสี่ยงต่อการแท้งบุตร และในช่วงเดือนที่ 7-8 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งท้องของคุณแม่จะใหญ่มาก ก็ควรงดมีเพศสัมพันธ์เช่นกันครับ เพราะอาจเป็นสาเหตุให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนดได้ ในระหว่างการตั้งครรภ์ถ้าไม่มีเลือดออกทางช่องคลอดหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามที่กล่าวมา คุณแม่ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ตั้งครรภ์ตอน 4-5 เดือนได้ครับ แต่หากมีเลือดออกทางช่องคลอดหรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ก็ต้องงดการมีเพศสัมพันธ์ไปเลยครับ
- ไปตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัด คุณแม่ต้องไปรับการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด ซึ่งในกรณีของคุณแม่ตั้งครรภ์แฝด และ/หรือในช่วงระยะหลังของการตั้งครรภ์แฝด (โดยเฉพาะพอเริ่มเข้าในช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์) แพทย์จะนัดมาตรวจถี่กว่าปกติ เพื่อตรวจติดตามการเจริญเติบโตและสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วย และเพื่อติดตามตรวจรักษาหรือเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์
- เมื่อมีอาการผิดปกติ หากคุณแม่มีอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ บวมมาก แน่นท้อง ท้องตึงมากหรือท้องแข็งเป็นพัก ๆ บ่อย ๆ ต้องรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดทันที
- การเลือกวิธีคลอด การตั้งครรภ์แฝดสองนั้นไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดทำคลอดเสมอไปครับ เพราะการที่คุณแม่จะคลอดได้เองหรือต้องผ่าตัดทำคลอดนั้นจะขึ้นอยู่กับท่าของทารกในครรภ์เป็นสำคัญ ถ้าท่าของทารกในครรภ์เป็นปกติ คือ เอาหัวลงทั้งคู่ (มีศีรษะเป็นส่วนนำ) และคุณแม่ไม่มีโรคแทรกซ้อนใด ๆ ก็ควรจะคลอดปกติ (คลอดทางช่องคลอด) ส่วนการใช้เครื่องมือหรือการช่วยคลอดด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในแต่ละราย ระยะเวลาระหว่างคลอดแฝดพี่และแฝดน้องมักจะห่างกันไม่เกิน 15 นาที เพราะถ้ารอนานเกินไปจะมีผลร้ายแรงต่อแฝดน้องได้ เช่น อาจมีการลอกตัวของรกก่อนได้ ส่งผลให้แฝดน้องขาดออกซิเจน แต่หากเป็นการตั้งครรภ์แฝดสาม แฝดสี่ เพื่อความปลอดภัยของทารกจะต้องผ่าท้องคลอดอย่างเดียว
การดูแลตนเองหลังคลอดของคุณแม่ครรภ์แฝด
- การให้นมบุตรหลังคลอด คุณแม่สามารถให้นมได้ทันทีเหมือนการตั้งครรภ์เดี่ยว เพื่อเป็นการสร้างสายใยรัก ความผูกพันระหว่างคุณแม่กับลูกน้อย
- การดูแลตนเอง คุณแม่หลังคลอดต้องพยายามดูแลตนเองให้มากขึ้น ทั้งในเรื่องของการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะในระยะแรก ๆ ยังต้องมีการให้นมบุตรมากกว่า 1 คน ส่วนการดูแลเรื่องแผลฝีเย็บหรือแผลผ่าตัดหน้าท้องก็ไม่แตกต่างจากการตั้งครรภ์เดี่ยวครับ
- การกลับมาของประจำเดือน จะขึ้นอยู่กับว่าคุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานแค่ไหน เพราะการให้ลูกดูดนมอย่างเดียว จะทำให้ประจำเดือนแม่มาช้าหรือประจำเดือนขาด (จึงให้ผลในการคุมกำเนิดด้วย) นานกว่าคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมผง เนื่องจากเวลาที่ลูกดูดนมจะเป็นการกระตุ้นให้มีการหลั่งของฮอร์โมนสร้างน้ำนมมากขึ้น ซึ่งจะไปมีผลต่อฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการตกไข่ ประจำเดือนจึงไม่มา คุณแม่ให้นมลูกบางคนประจำเดือนอาจไม่มาเป็นปีเลยก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าคุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประจำเดือนมักจะมาในช่วงประมาณ 5-6 เดือนหลังคลอดครับ ส่วนคุณแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ประจำเดือนก็จะมาตั้งแต่เดือนที่ 1-2 หลังคลอดครับ
- การคุมกำเนิด แม้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างสม่ำเสมอจะช่วยคุมกำเนิดได้ก็ตาม (ซึ่งจะใช้ได้ผลเฉพาะในช่วงระยะ 6 เดือนแรกหลังคลอด) แต่มีคำแนะนำว่าคุณแม่ควรเริ่มคุมกำเนิดตั้งแต่สัปดาห์ที่ 6 หลังคลอดเลยจะดีกว่า ในส่วนของวิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ คุณแม่สามารถเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดได้หลายวิธีเหมือนครรภ์เดี่ยวหลังคลอด เช่น การใส่ห่วงอนามัย การฉีดยาคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิด ฯลฯ (ถ้าคุณแม่ยังให้นมบุตรอยู่ไม่ควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เพราะตัวฮอร์โมนจะไปยับยั้งการสร้างน้ำนมของคุณแม่ แต่ควรเลือกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนอย่างเดียวจะเหมาะกว่าครับ)
- การตั้งครรภ์ครั้งต่อไป สำหรับคุณแม่ที่ต้องการจะตั้งครรภ์อีกในครั้งต่อไป ควรปรึกษาคู่สมรสเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว โดยมีคำแนะนำว่า คุณแม่ควรเว้นระยะการตั้งครรภ์ใหม่ไปประมาณ 2-3 ปี เพื่อที่จะได้ให้นมบุตรและมีเวลาในการเลี้ยงดูได้อย่างเต็มที่
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด. “ครรภ์แฝด”. (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ)”. หน้า 230-237.
- หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ. “ครรภ์แฝด”. (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์)”. หน้า 156-157.
- หาหมอดอทคอม. “ครรภ์แฝด (Multiple pregnancy)”. (รองศาสตราจารย์ พญ.ประนอม บุพศิริ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [01 ม.ค. 2016].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 362 คอลัมน์ : คุยกับหมอไพโรจน์. “ครรภ์แฝดสำคัญไฉน”. (นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [02 ม.ค. 2016].
- ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. “การตั้งครรภ์แฝด”. (ผศ.ดร.นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [02 ม.ค. 2016].
ภาพประกอบ :pregnant2day.co.uk, en.wikipedia.org, www.open.edu, www.sheknows.com, www.dailymail.co.uk, youngwifesguide.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)