การตรวจไขมันในเลือด (Lipid Profile : Cholesterol, Triglyceride, HDL, LDL)

Lipid Profile

การตรวจระดับไขมันในเลือด หรือการตรวจไขมันในเลือด (ภาษาอังกฤษ : Lipid Profile หรือ Lipid Panel) คือ การตรวจเพื่อให้ทราบค่าขององค์ประกอบของไขมันทุกตัวในกระแสเลือดว่าอยู่ในระดับที่ผิดปกติหรือไม่ เพราะการได้ทราบค่าระดับไขมันที่ผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้แก้ไข เยียวยา หรือรักษาให้ไขมันลดลงมาสู่ระดับปกติได้ทันท่วงที ทั้งนี้ ย่อมช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (CAD), โรคลมปัจจุบัน หรือโรคอุบัติเหตุขาดเลือดในสมอง (CVA)

ตามหลักแล้วคำว่า “Lipid Profile” จะประกอบไปด้วยการวัดค่าไขมัน 5 ตัว คือ Total cholesterol, Triglycerides, HDL-c, LDL-c และ VLDL-c แต่ตามแบบฟอร์มใบตรวจเลือดของโรงพยาบาลทั่วไปจะแสดงผลตรวจของไขมันในเลือดเฉพาะตัวที่สำคัญเพียง 4 ตัวแรก (ไม่มี VLDL-c) ซึ่งจะขอกล่าวถึงไปทีละหัวข้อเพื่อให้เกิดความเข้าใจแบบง่าย ๆ ครับ

Total cholesterol

Cholesterol (คอเลสเตอรอล) คือ สารคล้ายไขมันที่ร่างกายจำเป็นต้องมีใช้ตลอด (คอเลสเตอรอลมิใช่ไขมันแท้จริง เพราะมีค่าพลังงานเท่ากับ 0 แคลอรี) เนื่องจากเป็นองค์ประกอบของเนื้อเยื่อผนังห่อหุ้มเซลล์ทุกเซลล์ทั่วร่างกาย (สร้างความลื่นไหล สะดวกต่อการผ่านเข้าออกเซลล์ ของสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ ฯลฯ) เป็นวัตถุดิบให้ร่างกายผลิตน้ำดี (เพื่อใช้ในการย่อยอาหารประเภทไขมันและดูดซึมวิตามินที่ละลายอยู่ในไขมัน) เป็นสารเริ่มต้นให้ร่างกายสังเคราห์วิตามินดีขึ้นมาใช้ เป็นสารสเตียรอยด์ที่ถูกร่างกายนำไปใช้ผลิตสเตียรอยด์ฮอร์โมน และเป็นฉนวนปกป้องห่อหุ้มเส้นใยประสาทเพื่อให้การสื่อประสาทเป็นไปอย่างฉับไว ถูกต้อง ไม่ลัดวงจร

อย่างไรก็ตาม ค่าคอเลสเตอรอลที่สูงกว่าปกติขึ้นไปมาก ๆ ก็ย่อมไม่ส่งผลดี เพราะอาจทำให้หลอดเลือดอุดตันได้ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลมากเกินความจำเป็นนั้นก็มักมาจากการกินอาหารมากเกินไป (โดยเฉพาะอาหารที่เป็นน้ำตาล ไขมันอิ่มตัว ไขมันจากเนื้อสัตว์ และไขมันทรานส์) รวมถึงความเครียดหรือความวิตกกังวล (บังคับให้ร่างกายผลิตคอเลสเตอรอลขึ้นมาเตรียมการเกินความจำเป็น) หากมนุษย์เรากินอาหารประเภทใดก็ตามที่มากเกินความต้องการในการใช้ ในที่สุดอาหารส่วนเกินต่าง ๆ เหล่านั้นก็จะมีจุดหมายปลายทางกลายไปเป็นคอเลสเตอรอลเสมอ แต่จะเป็นตัวดีหรือตัวร้ายนั้นเป็นอีกเรื่อง และความยุ่งยากอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ร่างกายจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อกำจัดคอเลสเตอรอลที่เกิดขึ้นด้วยความลำบาก

กล่าวคือ คอเลสเตอรอลในเลือดจะมีตัวขนส่งที่เรียกว่า “ไลโปโปรตีน” (Lipoprotien) ซึ่งเป็นสารประกอบของโปรตีนผสมกับไขมัน (มีบทบาทช่วยขนส่งคอเลสเตอรอลพาให้ลอยไปในกระแสเลือด เปรียบเสมือนเป็นพาหนะขนส่งให้กับคอเลสเตอรอล เพราะคอเลสเตอรอลลอยตัวเองในเลือดไม่ได้) ถ้าตัวขนส่งหรือไลโปโปรตีนนี้มีส่วนผสมของโปรตีนมากและมีไขมันน้อย ก็จะเรียกว่าเป็น “ไลโปโปรตีนความหนาแน่นสูง (High-density lipoprotien หรือ HDL) แต่ถ้ามีอัตราส่วนของโปรตีนน้อยและมีไขมันมาก ก็เรียกว่า “ไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (Low-density lipoprotien หรือ LDL) ส่วนโลโปโปรตีนที่สำคัญตัวอื่นที่มีความหนาแน่นต่ำกว่า LDL ก็จะเรียกว่า “VLDL” (Very low-density lipoprotien) และตัวที่มีความหนาแน่นต่ำที่สุดก็จะเรียกว่า “ไคโลไมครอน” (Chylomicron) ซึ่งตรงนี้จะยังไม่ขอกล่าวลงลึกในรายละเอียดครับ

โดยคอเลสเตอรอลที่ไปเกาะ LDL (เรียกสั้น ๆ ว่า LDL-cholesterol หรือ LDL-c) นั้น จะมีบทบาทช่วยกันขนส่งคอเลสเตอรอลจากตับออกไปแจกจ่ายทั่วร่างกาย LDL จึงถือว่าเป็น “ตัวร้าย ที่เพิ่มค่าคอเลสเตอรอลในร่างกายให้สูงขึ้น ส่วนคอเลสเตอรอลที่ไปเกาะ HDL (เรียกสั้น ๆ ว่า HDL-cholesterol หรือ HDL-c) จะมีหน้าที่ตรงกันข้ามกัน เพราะมันจะช่วยกันขนส่งคอเลสเตอรอลทั่วร่างกายกลับคืนไปให้ตับทำลาย (โดยผลิตเป็นน้ำดี) ฉะนั้น HDL จึงถือเป็น “ตัวพระเอก เพราะมันช่วยให้คอเลสเตอรอลทั่วร่างกายลดลงได้

กล่าวโดยสรุป คอเลสเตอรอลจะลอยตัวอยู่เดี่ยว ๆ ในกระแสเลือดไม่ได้ มันจำเป็นต้องเกาะเกี่ยวพาหนะ (ไลโปโปรตีน) ชนิดใดชนิดหนึ่งเสมอ ฉะนั้น การหาค่าคอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol) จึงมีสูตรว่า Total cholesterol = HDL-c + LDL-c + VLDL-c แต่การจะหาค่า VLDL จากเลือดนั้นทำได้ยากกว่าการหาค่า Triglycerides ในทางการแพทย์จึงใช้ค่าของ 20% Triglycerides แทน (ค่านี้มาจาก VLDL ที่มักมีค่าประมาณ 20% ของ Triglyceride) ด้วยเหตุนี้ Total cholesterol ในปัจจุบันจึงสามารถคำนวณได้จากสูตร

Total cholesterol = HDL-c + LDL-c + (Triglycerides/5)

ตรวจระดับไขมันในเลือด
IMAGE SOURCE : elitemensguide.com

  • ชื่ออื่นในใบรายงานผลการตรวจ คือ
    • TC
    • CHOL
    • Cholesterol
    • Cholesterol Total
  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ Total cholesterol คือ เพื่อให้ทราบว่าสารคล้ายไขมัน (คอเลสเตอรอล) ซึ่งไหลเวียนอยู่ในเลือดว่าอาจมีบทบาทในการมีส่วนร่วมทำให้หลอดเลือดอุดตันทั้งที่หัวใจ สมอง และที่อื่น ๆ ของร่างกายหรือไม่ มีค่าอยู่ในระดับใด ต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์ปกติหรือไม่ เพียงใด ? (ถ้าในผลการตรวจเลือดมีการใช้คำว่า Cholesterol เฉย ๆ จะต้องเข้าใจว่าคำเต็มของคำ ๆ นี้ คือ คอเลสเตอรอลรวม หรือ Total cholesterol หรือเรียกอย่างย่อ ๆ ว่า “TC”)
  • ค่าปกติของ Total cholesterol ให้ยึดถือต่ามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดถือตามค่าทั่วไป คือ
    • ค่า Total cholesterol ที่อยู่ในระดับปกติ คือ < 200 mg/dL
    • ค่า Total cholesterol ที่อยู่ในระดับสูงปานกลาง คือ 200 – 239 mg/dL
    • ค่า Total cholesterol ที่อยู่ในระดับสูง คือ > 240 mg/dL
  • ค่า Total cholesterol ที่ต่ำกว่าปกติ (ต่ำกว่า 160 mg/dL) ในทางการแพทย์จะเรียกว่า “ภาวะคอเลสเตอรอลต่ำเกินไป” (Hypocholesterolemia) ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง (มะเร็งปอด มะเร็งไขกระดูกส่วนที่ผลิตเลือด), โรคเกี่ยวกับระบบประสาท (ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ความจำเสื่อมลง ส่งผลต่อการนอน การตอบสนองเสื่อมถอย โรคพาร์กินสัน), โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดในสมอง (โรคหลอดเลือดเลือดสมองตีบ ตัน หรือแตก), และโรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร (คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องผูก เนื่องจากมีกรดน้ำดีไม่พอใช้) โดยค่าคอเลสเตอรอลรวมที่ต่ำกว่าปกตินั้นอาจมีสาเหตุมาจาก
    • อาจเกิดจากภาวะทุพโภชนา (Malnultrition) ซึ่งอาจมาจากการตั้งใจอดอาหารเพื่อประท้วงหรืองดอาหารที่มีคอเลสเตอรอลอย่างเข้มงวดมากเกินไป
    • อาจเกิดจากการใช้ยาลดคอเลสเตอรอลมากเกินขนาด (กลุ่มยาสแตติน (Statin))
    • อาจเกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
    • ตับอาจกำลังเกิดโรคร้ายแรง หรืออาจมีเซลล์ตับตายเฉพาะส่วน (Cellular necrosis of the liver)
    • อาจเกิดจากภาวะผิดปกติที่ผนังภายในลำไส้ จนทำให้การดูดซึมสารอาหารทำไม่ได้ตามปกติ
    • อาจเกิดจากการขาดธาตุแมงกานีส
    • อาจเกิดจากพันธุกรรม ได้แก่ โรคทางพันธุกรรม เช่น โรค Abetalipoprotienemia ซึ่งมักพบในกลุ่มประชากรชาวยิว
  • ค่า Total cholesterol ที่สูงกว่าปกติ (ในทางการแพทย์จะเรียกว่า “Hypercholesterolemia”) อาจแสดงผลได้ว่า
    • บริโภคอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงบ่อย ๆ หรือมากเกินไป
    • ปล่อยให้ร่างกายอ้วนหรือมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เกินกว่า 25
    • อาจกำลังมีปัญหาโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
    • อาจเกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (Hypothyroidism)
    • อาจกำลังเกิดโรคเบาหวานโดยไม่รู้ตัว
    • อาจกำลังเกิดโรคไต โดยเฉพาะโรคไตเนฟโฟติค (Nephrotic syndrome)
    • อาจกำลังเกิดโรคตับอักเสบ (Hepatitis)
    • อาจเกิดโรคตับอ่อนอักเสบ จึงอาจผลิตเอนไซม์ย่อยอาหารไขมันและโปรตีนไม่ได้
    • อาจกำลังเกิดปัญหาท่อในถุงน้ำดีอุดตัน
    • อาจเกิดสภาวะดีซ่านจากถุงน้ำดีอุดตัน (Obstructive jaundice) ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงที่ตายแล้วถูกตับทิ้งออกทางท่อถุงน้ำดีไม่ได้ จึงทำให้ค่าบิลิรูบิน (Bilibirun) ในเลือดสูงขึ้น เป็นผลต่อเนื่องทำให้เกิดอาการตัวเหลืองตาเหลือง (อาการดีซ่าน) และคอเลสเตอรอลก็มีค่าสูงขึ้นในกระแสเลือดเพราะทิ้งออกไม่ได้เช่นกัน
    • อาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคอื่น เช่น ยากดภูมิต้านทาน (Ciclosporin), ยาแก้อักเสบ (Glucocorticoids), ยาขับปัสสาวะ (Thiazide diuretic), ยารักษาความดันโลหิตสูง (Beta blocker) ฯลฯ

ค่า Total cholesterol เพียงตัวเดียว อาจมิใช่ตัวบ่งชี้ที่แม่นยำในการวินิจฉัยสุขภาพ ดังนั้น เมื่อจะต้องมีการเจาะเลือดคราวใดก็สมควรจะตรวจให้ครบทั้ง 4 ตัวสำคัญดังกล่าว

Triglycerides

Triglycerides (ไตรกลีเซอไรด์) หรือเขียนอย่างย่อ ๆ ว่า “TG” คือ ไขมันแท้จริง (มีค่าพลังงานเท่ากับ 9 แคลอรีต่อกรัม) ซึ่งเป็นผลรวมมาจากอาหารทุกประเภทที่กินมากเกินความต้องการในการใช้ + ไขมันจากอาหารไขมันแท้จริง + ไขมันที่แปรผันจากอาหารแป้งและโปรตีน ในยามจำเป็นที่ร่างกายขาดกลูโคส เช่น มิได้บริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรต ร่างกายอาจดึงไตรกลีเซอไรด์ที่สะสมไว้ (จนทำให้อ้วน) ออกมาเผาผลาญเพื่อสร้างพลังงานให้กับร่างกายต่อไป

  • ชื่ออื่นในใบรายงานผลการตรวจ คือ
    • TG
    • TRIG
    • Triglyceride
  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ Triglycerides คือ เพื่อให้ทราบว่าไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นไขมันที่แท้จริงในกระแสเลือดนั้นมีค่าอยู่ในระดับใด ต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์ปกติ โดยระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ปกติก็อาจถือได้ว่าเป็นสัญญาณแจ้งเตือนในด้านสุขภาพให้ท่านต้องลดการกินอาหารให้น้อยลงเพื่อลดน้ำหนักร่างกาย ต้องรู้จักเลือกกินอาหารไขมันดี และหลีกเลี่ยงไขมันเลว หรือต้องลดหรืองดการดื่มแอลกอฮอล์ (การเจาะเลือดตรวจค่าไตรกลีเซอไรด์จะต้องงดอาหารอย่างน้อย 12-14 ชั่วโมงก่อนตรวจ (ไม่รวมน้ำดื่ม) มิฉะนั้น ค่าไตรกลีเซอไรด์อาจจะสูงผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงได้)
  • ค่าปกติของ Triglycerides ให้ยึดถือต่ามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดถือตามค่าทั่วไป คือ
    • ค่า Triglycerides ที่อยู่ในระดับปกติ คือ 50 – 150 mg/dL
    • ค่า Triglycerides ที่อยู่ในระดับสูงปานกลาง คือ 150 – 199 mg/dL
    • ค่า Triglycerides ที่อยู่ในระดับสูง คือ 200 – 499 mg/dL
    • ค่า Triglycerides ที่อยู่ในระดับสูงมาก คือ > 500 mg/dL
  • ค่า Triglycerides ที่ต่ำกว่าปกติ (ต่ำกว่า 50 mg/dL) และอาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจเกิดจากอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ มีปริมาณไขมันต่ำเกินไป หรือเกิดจากภาวะทุพโภชนา เช่น เกิดในที่แห้งแล้งหรืออยู่ถิ่นทุรกันดาร ซึ่งไม่มีอาหารบริโภค
    • อาจเกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน (Hyperthyroidism) จนเกิดการเผาผลาญสารอาหารจนแทบไม่เหลือ
    • อาจเกิดจากโรคการดูดซึมสารอาหารผิดปกติ (Malabsorption syndrome) จึงทำให้การดูดซึมไขมันจากอาหารในลำไส้ได้น้อยกว่าปกติ ค่าไตรกลีเซอไรด์จึงมีระดับต่ำผิดปกติ
  • ค่า Triglycerides ที่สูงกว่าปกติ (ตั้งแต่ 150 mg/dL ขึ้นไป) อาจเป็นสาเหตุนำไปสู่โรคอื่น ๆ ได้ เช่น คอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ซึ่งล้วนแล้วแต่นำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง โดยไตรกลีเซอไรด์ที่สูงกว่าปกตินี้อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) ดังที่กล่าวมา
    • อาจเกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (Hypothyroidism) จึงควบคุมการเผาผลาญอาหารไม่ได้ ทำให้ไตรกลีเซอไรด์ล้นทะลักเข้าสู่กระแสเลือด
    • อาจกำลังเกิดโรคเบาหวานประเภท 2 หรือเกิดจากโรคเบาหวานที่ควบคุมโรคไม่ดี จึงทำให้น้ำตาลกลูโคสคั่งอยู่มากในเลือด และขณะเดียวกันตับก็พยายามช่วยลดน้ำตาลกลูโคสด้วยการเปลี่ยนให้เป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์
    • อาจกำลังเกิดโรคเกี่ยวกับไต ไตจึงกรองสารอาหารและสารของเสียบางส่วนออกทางปัสสาวะไม่ได้
    • อาจกำลังเกิดโรคตับ เช่น โรคตับแข็ง (Cirrhosis) ซึ่งทำให้ตับหมดความสามารถที่จำดำเนินกรรมวิธีต่อสารอาหารทุกชนิด จึงเหลือไตรกลีเซอไรด์ให้ลอยคั่งอยู่ในกระแสเลือด
    • อาจเกิดจากโรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) ทำให้ผลิตเอนไซม์ช่วยย่อยและเผาผลาญอาหารไขมันไม่ได้
    • อาจเกิดภาวะท่อน้ำดีอุดตัน (Biliary obstruction)
    • อาจเกิดจากโรคของระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disorders)
    • อาจเกิดจากการบริโภคอาหารประเภทโปรตีนน้อยเกินไป แต่กินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลมากเกินไป (ข้าว ขนม แป้ง น้ำตาล แอลกอฮอล์)
    • อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดนั้นจะมีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบหลัก
    • อาจเกิดจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ที่ใช้รักษาอาการภูมิแพ้, ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ใช้รักษาอาการวัยทอง, ยาคุมกำเนิดที่ใช้ป้องกันการมีบุตร, ยาปิดกั้นเบต้าที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ
    • ผู้ที่มีค่าไตรกลีเซอไรด์สูงต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ในทางการแพทย์อาจนับว่าเป็นโรค Hypertriglyceridemia ซึ่งผู้ป่วยมักจะแสดงอาการให้ปรากฏทางลูกนัยน์ตา เช่น มีกระเหลืองผุดที่หนังเปลือกตา (Eruptive xanthomas)
  • วิธีการลดระดับ Triglycerides ให้น้อยลง (มีผช่วยลดคอเลสเตอรอลรวมในทางอ้อมด้วย) ได้แก่
    • หากมีน้ำหนักตัวเกินค่าดัชนีมวลกายก็จะต้องตั้งใจลดปริมาณแคลอรีจากอาหารในแต่ละมื้อแต่ละวันลงให้ได้ เพราะนอกจากจะช่วยลดน้ำหนักลงได้แล้ว ยังสามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์ลงได้ด้วย
    • ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันบางประเภท ได้แก่ ไขมันอิ่มตัว (เช่น ไขมันที่มาจากสัตว์บกทุกชนิด นม เนย กะทิ น้ำมันปาล์ม), ไขมันทรานส์ (เช่น ไขมันจากน้ำมันพืช เนยเทียม ผงฟูที่ใช้ทำขนม), อาหารประเภทที่มีคอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย (เช่น อาหารจากเนื้อสัตว์บกทุกชนิด)
    • ปรับเปลี่ยนอาหารในแต่ละวันให้มีผักและผลไม้มากขึ้น พร้อมทั้งงดการบริโภคอาหารที่มาจากนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมทุกชนิด
    • ลดหรืองดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์ทุกชนิดล้วนมีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบหลักซึ่งเป็นต้นเหตุของไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายอย่างตรงไปตรงมา
    • ผู้ที่สูบบุหรี่อยู่จะต้องหยุดหรือเลิกสูบโดยทันที
    • ใช้น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า ในการปรุงอาหาร เพิ่มเมนูอาหารประเภทปลาแทนเนื้อสัตว์บกให้มากขึ้น เพราะเนื้อปลาทุกชนิดจะมีไขมันที่เรียกว่า “Omega-3” ซึ่งจะช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ และ LDL-c ได้
    • สละเวลาวันละ 30 นาทีเพื่อการออกกำลังกาย เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน
    • ใช้ยาอย่างเหมาะสมและปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เสมอ เพราะยารักษาโรคบางชนิดดังที่กล่าวไปอาจทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้นอย่างผิดปกติได้

HDL-c

HDL-c (High-density lipoprotein cholesterol) คือ คอเลสเตอรอลชนิดดี ซึ่งเกิดจากไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นสูง (HDL) ที่มีคอเลสเตอรอลมาเกาะติดหรือบรรทุกอยู่ จึงเขียนว่า “HDL-c” (แต่คนทั่วไปก็เรียกกันว่า HDL เท่านั้น) โดยมีหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลทั่วร่างกายกลับคืนไปให้ตับทำลายทิ้งออกไปจากร่างกาย จึงช่วยลดคอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol) ให้ต่ำลงได้

  • ชื่ออื่นในใบรายงานผลการตรวจ คือ
    • HDL
    • HDLc
    • HDL-C
    • HDL-Cholesterol
    • HDL Cholesterol
  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ HDL-c คือ เพื่อให้ทราบค่าคอเลสเตอรอลชนิดดีนั้นว่ามีค่ามากหรือน้อยเพียงใด (ค่า HDL-c นี้ ยิ่งสูงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีมากเท่านั้น)
  • ค่าปกติของ HDL-c ให้ยึดถือต่ามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดถือตามค่าทั่วไป คือ
    • ค่า HDL-c ที่ต่ำกว่าปกติ คือ น้อยกว่า 40 mg/dL ในผู้ชาย และน้อยกว่า 50 mg/dL ในผู้หญิง
    • ค่า HDL-c ที่อยู่ในเกณฑ์ดี คือ 50-59 mg/dL
    • ค่า HDL-c ที่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก คือ 60 mg/dL ขึ้นไป
  • ค่า HDL-c ที่ต่ำกว่าปกติ (เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์) อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจกินอาหารไขมันและแป้งมากเกินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจนเกิดโรค Hypertriglyceridemia ซึ่งย่อมมีผลทำให้ค่า HDL ต่ำลงไปด้วย
    • อาจเกิดโรคเกี่ยวกับตับ เช่น โรคตับอักเสบ (Hepatitis) หรือโรคตับแข็ง (Cirrhosis) เพราะ HDL ส่วนหนึ่งจะผลิตมาจากตับ แต่เมื่อตับเกิดโรคก็ย่อมผลิต HDL ไม่ได้มากอย่างที่ควร
    • อาจเกิดจากการควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ดีในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว
    • อาจเกิดจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด
    • อาจเกิดจากพันธุกรรม
    • อาจมีภาวะหรือพฤติกรรมที่ตรงข้ามกับวิธีการเพิ่มระดับ HDL (ด้านล่าง) ซึ่งล้วนเป็นเหตุทำให้ค่า HDL ในร่างกายลดต่ำลง เช่น ชอบสูบบุหรี่ ชอบกินอาหารประเภทแป้งและไขมัน แต่ไม่ชอบกินผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ปลา ขาดการออกกำลังกาย ไม่ชอบเคลื่อนไหวร่างกาย หรือปล่อยให้ร่างกายอ้วนเกินเกณฑ์มาตรฐาน ฯลฯ
    • ในผู้ชายและผู้หญิงที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ผู้ชายมักจะมีระดับ HDL-c ที่ต่ำกว่าผู้หญิงอยู่แล้ว
  • ค่า HDL-c ที่สูง (เป็นสิ่งที่พึงประสงค์) อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจมีการออกกำลังกายวันละ 30 นาทีอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
    • อาจเกิดจากการลดน้ำหนักอย่างได้ผล
    • อาจมีการปรับเปลี่ยนชนิดอาหารที่ถูกต้องกับสุขภาพได้ดีขึ้น
    • อาจหยุดสูบบุหรี่ได้อย่างจริงจัง
    • อาจเป็นผลมาจากพันธุกรรม ซึ่งมีน้อยราย
  • วิธีการเพิ่มระดับ HDL ให้สูงขึ้น ได้แก่
    • ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
    • หากมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรืออ้วน (ค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI มีค่าเกิน 25.0) ควรหาทางลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี
    • งดหรือเลิกสูบบุหรี่อย่างถาวร
    • ลดปริมาณการบริโภคอาหารประเภทแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต (ข้าว ขนม น้ำตาล ฯลฯ) อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ หรือแปลว่า ต้องกินอาหารแต่พออิ่ม ไม่มากจนเกินไป
    • กินอาหารจำพวกปลาให้มากขึ้น
    • ปรับเมนูอาหารประจำวันให้อาหารทุกมื้อต้องมีผักสด ผลไม้สด หรือข้าวไม่ขาว (ข้าวกล้อง หรือขนมปังโฮลวีท) น้ำมันมะกอก และถั่วชนิดต่าง ๆ
    • การดื่มเครื่องประเภทแอลกอฮอล์ เช่น ไวน์ขนาด 2-6 ออนซ์/วัน (ประมาณไม่เกิน 2 แก้วไวน์) อาจช่วยเพิ่มค่า HDL ได้ แต่ถ้าดื่มเกินกว่านี้ต่อวันจะกลายเป็นผลเสียต่อร่างกายมากกว่า

LDL-c

LDL-c (Low-density lipoprotein cholesterol) คือ คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ซึ่งเกิดจากไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำ (LDL) ที่มีคอเลสเตอรอลมาเกาะติดหรือบรรทุกอยู่ จึงเขียนว่า “LDL-c” (แต่คนทั่วไปก็เรียกกันว่า LDL เท่านั้น) โดยมีบทบาทช่วยกันขนส่งคอเลสเตอรอลจากตับออกไปแจกจ่ายทั่วร่างกาย จึงถือว่าเป็น “ตัวร้าย” ที่เพิ่มค่าคอเลสเตอรอลในร่างกายให้สูงขึ้น

ค่า LDL นี้จะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ LDL-c และ Direct LDL-c โดย LDL-c จะเป็นค่าที่ได้มาจากการคำนวณโดยอาศัยสูตร LDL-c = Total cholesterol – HDL-c – (Triglyceride/5) ซึ่งทางห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีการคำนวณแบบนี้เพื่อความสะดวก ประหยัด และรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ค่าที่คำนวณได้จึงเป็นค่าแบบทั่วไป (ถ้าในใบรางานผลเลือดระบุว่าเป็น LDL หรือ LDL-c เฉย ๆ ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าเป็นค่าที่ได้มาจากการคำนวณ) ส่วน Direct LDL-c นั้นจะเป็นค่าที่ได้จากการตรวจวิเคราะห์ข้อมูลจากเลือดโดยตรง มิได้ใช้วิธีที่ผลมาจากการคำนวณจากค่าตัวอื่น ดังนั้น Direct LDL-c จึงเป็นค่าที่แน่นอนกว่า

อย่างไรก็ตาม ค่าทั้ง 2 แบบนี้จะไม่แตกต่างกันมากนัก ก็ต่อเมื่อระดับ Triglycerides ไม่สูงเกิน 400 mg/dL หรือไม่ต่ำกว่า 50 mg/dL ฉะนั้น หากค่านี้ในใบรายงานผลเลือดที่มิได้ระบุว่าเป็น Direct LDL-c ก็ควรเหลือบสายตาดูค่า Triglycerides ด้วยว่าสูงหรือต่ำเกินกว่าที่กล่าวมาหรือไม่ หากอยู่ในระหว่างเกณฑ์ก็ถือว่าค่า LDL-c เฉย ๆ นี้ ก็พอน่าจะเชื่อถือได้บ้าง แต่ถ้าไม่อยู่ในเกณฑ์ก็สมควรขอให้สถานพยาบาลเจาะเลือดให้ใหม่ โดยระบุให้ชัดว่าต้องการตรวจหาค่า Direct LDL-c

ตัวอย่างเช่น คนไข้รายนึงผลตรวจเลือดมีค่า Total cholesterol = 262 mg/dL, HDL-c = 79 mg/dL และ Triglycerides = 55 mg/dL (โปรดสังเกตว่าค่า Triglycerides มีค่ามากกว่า 50 mg/dL ตามเงื่อนไข แต่ก็มากกว่านิดเดียว) เมื่อใช้สูตรคำนวณหาก็จะได้ค่า LDL-c = 172 mg/dL แต่คนไข้รายเดียวกันนี้เมื่อวิเคราะห์ LDL-c จากเลือดโดยตรง (Direct LDL-c) กลับปรากฏว่ามีค่าเพียง 126 mg/dL เท่านั้น (ฉะนั้น ค่าทั่วไปที่ได้จากการคำนวณอาจเบี่ยงเบนผิดไปมากจากค่าแท้จริงได้)

  • ชื่ออื่นในใบรายงานผลการตรวจ คือ
    • LDL
    • LDLc
    • LDL-C
    • LDL-Cholesterol
    • LDL Cholesterol
    • LDL CALC
    • LDL Cholesterol Calc
    • LDL Cholesterol by Calculated
  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ LDL-c คือ เพื่อให้ทราบค่าคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีนั้นว่ามีค่ามากหรือน้อยเพียงใด
  • ค่าปกติของ Direct LDL-c ให้ยึดถือต่ามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดถือตามค่าทั่วไป คือ
    • ค่า Direct LDL-c ที่อยู่ในระดับปกติ (ดีเยี่ยม) คือ < 100 mg/dL (และน้อยกว่า 70 mg/dL ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ)
    • ค่า Direct LDL-c ที่อยู่ในระดับเกือบดีเยี่ยม คือ 100 – 129 mg/dL
    • ค่า Direct LDL-c ที่อยู่ในระดับสูงปานกลาง คือ 130 – 159 mg/dL
    • ค่า Direct LDL-c ที่อยู่ในระดับสูง คือ 160 – 189 mg/dL
    • ค่า Direct LDL-c ที่อยู่ในระดับสูงมาก คือ ≥ 190 mg/dL
    • หากมีการตรวจหาค่า VLDL หรือ VLDL-c (Very low-density lipoprotein cholesterol) ด้วย ค่าปกติของ VLDL ทั้งชายและหญิง คือ 7 – 32 mg/dL
  • ค่า LDL-c ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจเกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) จึงเผาผลาญไขมันที่ดูดซึมจากอาหารมากเกินไปจนแทบไม่เหลือค้างในกระแสเลือด
    • อาจเกิดจากการบริโภคอาหารในสภาวะขาดแคลน หรือเกิดภาวทุพโภชนา (Malnutrition)
    • กลไกลการดูดซึมอาหารจากลำไส้อาจบกพร่อง (Malabsorption)
    • อาจเกิดจากโรคไขมันในเลือดต่ำ ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม (Familial hyperlipoproteinemia)
    • อาจเกิดจากภาวะร่างกายมีโปรตีนต่ำ (Hypoproteinemia) ซึ่งอาจเกิดจากการดูดซึมอาหารของลำไส้ได้น้อยกว่าปกติ หรืออาจเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนต่ำเกินไป หรือเกิดบาดแผลจากไฟลวกอย่างร้ายแรง
  • ค่า LDL-c ที่สูง อาจแสดงผลได้ว่า
    • ต่อมไทรอยด์อาจทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroidism) จึงทำให้การเผาผลาญอาหารต่ำ ไม่สมบูรณ์ จึงเหลือสารอาหาร เช่น กลูโคส ไขมัน โปรตีน และ LDL สะสมอยู่ในเลือดสูงขึ้น
    • อาจเกิดจากโรคตับเรื้อรัง จึงทำให้ตับทำลาย LDL ด้วยประสิทธิภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
    • ไตอาจกำลังเริ่มเสื่อมถอย หรืออาจเกิดจากไตทำงานผิดปกติ โดยปล่อยทิ้งสารอาหารโปรตีนเกินปกติทางปัสสาวะ จึงมีผลไปกระตุ้นตับให้เร่งผลิต LDL ให้มีมากขึ้นกว่าปกติ
    • อาจเกิดจากโรค von Gierke disease ซึ่งเกิดจากปัญหาที่ร่างกายมีเอนไซม์จากโปรตีนต่ำ จึงทำให้สลายไกลโคเจน (Glycogen) อันเป็นน้ำตาลที่สะสมอยู่ออกมาใช้งานไม่ได้ เป็นเหตุทำให้ตับต้องผลิต VLDL และ LDL เพิ่มจำนวนออกมาช่วย
    • อาจเป็นโรคเบาหวานโดยไม่รู้ตัว
    • อาจกำลังตั้งครรภ์
    • อาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม
    • อาจเกิดจากการปฏิบัติตนหรือมีภาวะที่ตรงกันข้ามกับวิธีการลดระดับ LDL (ด้านล่าง) เช่น น้ำหนักตัวอาจเกิดเกณฑ์มาตรฐาน, ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป, ไม่ชอบใช้เรี่ยวแรงหรือออกกำลังกายเป็นประจำ หรือชอบแต่นั่ง ๆ นอน ๆ ในแต่ละวัน ฯลฯ
  • วิธีการลดระดับ LDL ให้น้อยลง ได้แก่
    • รู้จักเลือกอาหารโดยจะต้องรู้ว่าอาหารชนิดใดมีค่าคอเลสเตอรอลสูงและให้บริโภคแต่พอควร หลีกเลี่ยงอาหารที่ในเนื้ออาหารมีคอเลสเตอรอลสูง (เนื้อสัตว์บกทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เป็นหนัง และเครื่องในสัตว์ รวมทั้งนมและผลิตภัณฑ์จากนม ไอศกรัม เนย ไข่ ฯลฯ) อาหารที่มีไขมันชนิดอิ่มตัวสูง (มีมากในเนื้อสัตว์ ในนมและเนย ในน้ำมันปาล์ม ในมะพร้าวหรือกะทิ เป็นต้น) และไขมันชนิดทรานส์ (ได้แก่ เนยเทียม บรรดาผงฟูใส่ขนมทุกชนิด รวมถึงอาหารที่ต้องใช้ความร้อนสูงในการปรุง เพราะจะทำให้เกิดไขมันทรานส์ เช่น อาหารจานด่วนหรือฟาสต์ฟู้ดทั้งหลาย)
    • บริโภคอาหารจากเนื้อสัตว์ที่เป็นปลาให้มากกว่าเนื้อของสัตว์บก เพราะมีโอเมก้า-3 และเลือกใช้น้ำมันมะกอกในการปรุงอาหาร
    • เพิ่มการบริโภคอาหารที่มีกากใยสูง ๆ เช่น ผักและผลไม้ต่าง ๆ ถั่ว ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ฯลฯ
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยควรเลือกชนิดการออกกำลังกายที่เหนื่อยและต่อเนื่องกันอย่างน้อย 30 นาที (เป็นวิธีที่ช่วยลดทั้ง LDL และเพิ่ม HDL ไปได้ในคราวเดียวกัน)
    • หากมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน (ค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI มีค่าเกิน 25.0) ควรหาทางลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี
    • หากสูบบุหรี่อยู่ก็ต้องเลิกเสีย มิใช่งดสูบเพียงชั่วคราว
    • ดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยในแต่ละวัน คือ 1 แก้วของแอลกอฮอล์อ่อน ๆ สำหรับผู้หญิง และ 2 แก้วของแอลกอฮอล์อ่อน ๆ สำหรับผู้ชาย (ห้ามเกินกว่านี้)
    • ปรึกษาแพทย์เพื่อกินยารักษา ในกรณีที่ LDL สูงมาจนน่าวิตก (หมอคิดว่าหากปฏิบัติตามข้อที่กล่าวมาก็น่าจะเห็นผลได้ชัดเจนแล้วโดยไม่จำเป็นต้องกินยา)

Total cholesterol / HDL-c Ratio

เนื่องจากค่า HDL-c ที่ได้จากผลการตรวจเลือดนั้น ค่อนข้างเป็นตัวเลขที่อิสระและมีความแน่นอนเหมือนค่า Total cholesterol ด้วยเหตุนี้โครงการศึกษาคอเลสเตอรอลแห่งชาติ (NCEP) ของสหรัฐอเมริกา จึงได้สำรวจทางสถิติพบอัตราส่วนระหว่าง 2 ค่านี้ว่า อาจใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (CAD) ได้ โดยเรียกอัตราส่วนนี้เรียกว่า “Risk of Coronary Heart Disease” (อัตราความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเพราะหลอดเลือด) ซึ่งค่าเฉลี่ยในผู้ชายไม่ควรเกิน 5 และในผู้หญิงไม่ควรเกิน 4.4 (มาจากค่า Total cholesterol หารด้วย HDL-c)

เกณฑ์ของอัตราส่วนระหว่าง Total cholesterol ต่อ HDL-c มีดังนี้

  • ความเสี่ยงต่ำมาก คือ < 3.4 ในผู้ชาย และ < 3.3 ในผู้หญิง
  • ความเสี่ยงต่ำ คือ 4.0 ในผู้ชาย และ 3.8 ในผู้หญิง
  • ความเสี่ยงปานกลาง คือ 5.0 ในผู้ชาย และ 4.5 ในผู้หญิง
  • ความเสี่ยงสูง คือ 9.5 ในผู้ชาย และ 7.0 ในผู้หญิง
  • ความเสี่ยงสูงมาก คือ > 23.0 ในผู้ชาย และ > 11 ในผู้หญิง

LDL-c / HDL-c Ratio

แม้ค่า LDL-c จะค่อนข้างแกว่ง แต่ก็เป็นค่าที่มีความสัมพันธ์กับค่าอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจจึงได้พิจารณาใช้อัตราส่วนระหว่าง LDL-c ต่อ HDL-c (สูตร คือ LDL-c หารด้วย HDL-c) เป็นอีกเกณฑ์หนึ่งเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ทั้งนี้อัตราส่วนนี้ก็คล้ายคลึงกับอัตราส่วน Total cholesterol ต่อ HDL-c ในหัวข้อที่แล้ว และมิใช่เป็นข้อวินิจฉัยที่ชี้ขาดสุดท้ายว่าจะเป็นหรือไม่เป็นโรค แต่ตัวเลขนี้จะใช้ประโยชน์เพื่อการเฝ้าระวังสำหรับตัวท่านเองได้ หากพบตัวเลขที่ผิดปกติก็จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป

เกณฑ์ของอัตราส่วนระหว่าง LDL-c ต่อ HDL-c มีดังนี้

  • ครึ่งของเกณฑ์เฉลี่ย (ความเสี่ยงต่ำมาก) คือ 1.0 ในผู้ชาย และ 1.5 ในผู้หญิง
  • เกณฑ์เฉลี่ยปานกลาง คือ 3.6 ในผู้ชาย และ 3.2 ในผู้หญิง
  • สองเท่าของเกณฑ์เฉลี่ย (ความเสี่ยงสูงปานกลาง) คือ 6.3 ในผู้ชาย และ 5.0 ในผู้หญิง
  • สามเท่าของเกณฑ์เฉลี่ย (ความเสี่ยงสูงมาก) คือ 8.0 ในผู้ชาย และ 6.1 ในผู้หญิง

Triglycerides / HDL-c Ratio

เป็นค่าที่ได้จาก Triglycerides หารด้วย HDL-c โดยอัตราส่วนระหว่าง Triglycerides กับ HDL-c อาจช่วยบ่งชี้โรคหัวใจได้ โดยค่ายิ่งต่ำ (เช่น 1.7) ก็ย่อมบ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจต่ำ แม้วิถีชีวิตประจำวันของผู้ถูกตรวจจะไม่สู้ดีนักก็ตาม แต่ถ้ายิ่งมีค่าสูง ๆ (เช่น 6.0) ก็ย่อมบ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจในระดับสูง แม้ว่าจะมีวิถีชีวิตที่ดีเพียงใดก็ตาม

  • ค่า Triglycerides ที่สูงมากผิดปกติเพียงอย่างเดียว อาจก่อให้เกิดโรคหัวใจมากกว่าผู้ที่มีค่า Triglycerides ระดับปกติถึง 3 เท่า
  • ค่า Triglycerides / HDL-c ที่มีค่าสูงลิ่วย่อมแสดงว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าผู้ที่มีค่าต่ำประมาณ 16 เท่า
  • ค่า Triglycerides / HDL-c นั้นมีค่าดีกว่า LDL-c / HDL-c ที่เคยใช้กันมาแต่เดิมตรงที่มีความแม่นยำถูกต้องมากกว่าในการทำนายโรคหัวใจ

เกณฑ์ของอัตราส่วนระหว่าง Triglycerides ต่อ HDL-c มีดังนี้

  • ค่าที่น่าพอใจ (ในอุดมคติ) คือ ≤ 2
  • ค่าที่สูง คือ 4.0
  • ค่าที่สูงมาก คือ ≥ 6.0

ตรวจไขมันในเลือด
IMAGE SOURCE : www.health.harvard.edu

ข้อบ่งชี้ในการตรวจระดับไขมันในเลือด

ผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปควรได้รับการเจาะเลือดตรวจระดับไขมันทุก ๆ 5 ปี โดยเฉพาะในกรณีที่ท่านมี

  • มีคนในครอบครัวเป็นโรคไขมันในเลือดสูงหรือมีประวัติโรคหัวใจ
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • รับประทานอาหารมัน ๆ ดังที่กล่าวไป
  • มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • เป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีไขมันในเลือดสูง หรือมีคนในครอบครัวหรือญาติสายตรงป่วยเป็นโรคไขมันในเลือดสูง (เจาะตั้งแต่อายุ 10 ปี)
  • กำลังรับประทานยาลดไขมันในเลือด (เจาะทุก 1 ปี)
  • ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 45 ปี และในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 55 ปี

วิธีการตรวจระดับไขมันในเลือด

  • ใช้วิธีการเจาะเลือดดำอย่างที่ทำกันตามปกติ
  • ใช้วิธีการเจาะเลือดจากปลายนิ้ว (เฉพาะการตรวจคัดกรองเท่านั้น)

การเตรียมตัวก่อนการตรวจระดับไขมันในเลือด

  • การตรวจ Lipid Profile ถ้าต้องมีการตรวจ Triglycerides ร่วมด้วย จะต้องงดอาหารอย่างน้อย 12-14 ชั่วโมงก่อนตรวจ (ดื่มน้ำเปล่าได้)
  • ในระยะ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาให้ท่านรับประทานอาหารที่เคยรับประทานอยู่ตามปกติ
  • ผู้ที่มีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันควรตรวจภายใน 12 ชั่วโมงแรกหรือหลังจากเกิดอาการ 6 สัปดาห์
  • ผู้ที่เจ็บป่วยหนักหรือได้รับการผ่าตัดควรได้รับการตรวจระดับไขมันในเลือดหลังจากหายป่วยแล้ว 3 เดือน
  • ผู้ที่เจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถตรวจวัดระดับไขมันในเลือดได้เมื่อหายจากการเจ็บป่วยแล้ว 3 สัปดาห์

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด