การตรวจแมมโมแกรม / การตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammogram)

การตรวจแมมโมแกรม / การตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammogram)

การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม

การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม, การตรวจภาพรังสีเต้านม, การถ่ายภาพรังสีเต้านม, การเอกซเรย์เต้านม หรือเรียกสั้น ๆ ว่า การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) คือ การตรวจภาพเนื้อเยื่อภายในเต้านมด้วยรังสีเอกซ์ (เอกซเรย์) ด้วยเครื่องเอกซเรย์พิเศษเฉพาะการตรวจเต้านมที่เรียกว่า “แมมโมแกรม” ซึ่งใช้หลักการเดียวกับการฉายเอกซเรย์ตรวจปอดหรือตรวจอวัยวะอื่น ๆ เพียงแต่ว่าจะเจาะจงเฉพาะเนื้อเยื่อของเต้านมแท้ ๆ โดยไม่ผ่านอวัยวะอื่นใดเลย และเครื่องนี้จะใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป 30-60% แต่มีความสามารถในการตรวจที่ละเอียดกว่ามากในระดับที่สามารถเห็นเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ แม้จะเป็นก้อนหินปูนเล็ก ๆ หรือจะเป็นเพียงจุดขนาดเล็กก็ตาม

การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมเป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย (ค่าใช้จ่ายปานกลาง) ไม่เจ็บตัว และช่วยให้สามารถมองเห็นจุดผิดปกติขนาดเล็กที่สุดภายในเต้านมได้

อย่างไรก็ตาม การตรวจแมมโมแกรมก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการได้รับรังสีในการตรวจได้ แม้ว่าจะเป็นปริมาณรังสีที่น้อย โดยเฉพาะในสตรีอายุต่ำกว่า 40 ปี อาจเกิดความเสี่ยงจากการได้รับรังสีสูงกว่าสตรีที่มีอายุมาก หรือในกรณีที่ตรวจบ่อยครั้งจนเกินไป แต่เมื่อเทียบความเสี่ยงกับประโยชน์ที่จะได้รับก็นับว่าคุ้มค่ามาก เพราะการตรวจจะช่วยให้สามารถมองเห็นจุดผิดปกติ และอยู่ในระยะที่อาจรักษาให้หายขาดได้ รวมทั้งอาจไม่ต้องสูญเสียเต้านมจากการถูกผ่าตัดด้วย

ชนิดของเครื่องตรวจแมมโมแกรม

ชนิดของเครื่องแมมโมแกรมจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ

  1. Conventional mammography เป็นเครื่องมาตรฐานเพื่อการตรวจเอกซเรย์เต้านม โดยจะแสดงภาพเนื้อเยื่อภายในเต้านมให้ปรากฏอยู่บนแผ่นฟิล์มเหมือนการตรวจเอกซเรย์ทั่วไป
  2. Digital mammography (เอกซเรย์เต้านมระบบดิจิตอล หรือการตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม) เป็นเครื่องตรวจด้วยการเอกซเรย์เช่นกัน แต่เครื่องจะแปรงคลื่นแสงรังสีเอกซ์ให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าในรูปของจุด (Digit) ทำนองเดียวกับการสร้างภาพพิกเซลของกล้องถ่ายรูปดิจิตอลสมัยใหม่ จึงทำให้สามารถนำภาพดิจิตอลนั้นมาตรวจดูได้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ (มิใช่จากแผ่นฟิล์ม) การตรวจเต้านมด้วยเครื่องชนิดนี้จึงดีกว่าเครื่องแบบเดิม ดังนี้
    • ง่ายต่อการตรวจ การเก็บผล และการดึงภาพออกมาดูซ้ำอีกครั้ง
    • ได้ภาพที่ดี ซึ่งจะช่วยให้ลดจำนวนการตรวจซ้ำ ทำให้ผู้เข้ารับการตรวจลดจำนวนการถูกฉายเอกซเรย์ซ้ำบ่อย ๆ ซึ่งไม่เป็นผลดี
    • ง่ายต่อการสังเกตเปรียบเทียบเนื้อเยื่อที่ผิดปกติกับเนื้อเยื่อที่เป็นปกติ
    • สามารถส่งสัญญาณทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปปรึกษากับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ห่างไกลคนละที่ก็ยังได้ จึงง่ายต่อการปรึกษาหารือหรือประชุมวินิจฉัยโรค
เปรียบเทียบการตรวจแมมโมแกรมดิจิตอลกับฟิล์ม
IMAGE SOURCE : Kelly Reynolds

ข้อบ่งชี้ในการตรวจแมมโมแกรม

  • เพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมในคนปกติ โดยมักเริ่มตรวจคัดกรองเมื่ออายุ 40 ปี (เพราะสตรีที่มีอายุระหว่าง 45-55 ปี คือ ช่วงที่มักจะเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้มากที่สุด) ต่อจากนั้นอาจตรวจทุก 1-2 ปีต่อเนื่องไปโดยไม่จำกัดอายุที่สิ้นสุดการตรวจ ตราบเท่าที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง สามารถรับการรักษามะเร็งแบบหายขาดได้ครบถ้วนตามแนวทางการรักษาของแพทย์โรคมะเร็ง และได้รับประโยชน์จากการรักษาเพื่อให้หายขาด (กล่าวคือหลังการรักษาครบถ้วนแล้วสามารถมีอายุยืนยาวได้อย่างน้อย 5 ปี) เพราะฉะนั้น โปรดอย่าได้หลงลืมหรือละเลยการตรวจนี้เป็นอันขาด
    • ในกรณีที่มีญาติสายตรงมีประวัติการป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือน ควรเริ่มตรวจเร็วขึ้นตั้งแต่อายุ 30 ปี
    • ในกรณีที่มีผลตรวจทางพันธุกรรมที่ผิดปกติ (Gene mutation) ได้แก่ ยีน BRCA1 และ BRCA2 หรือมีญาติสายตรงมีผลตรวจทางพันธุกรรมผิดปกติ ให้เริ่มตรวจเป็นประจำทุกปีตั้งแต่อายุ 25 ปี
    • ในกรณีที่มีประวัติฉายแสงบริเวณหน้าอกในขณะอายุ 10-30 ปี ให้เริ่มตรวจเป็นประจำทุกปี หลังจากได้รับการฉายแสงเสร็จสิ้นแล้ว 8 ปี (แต่อายุต้องไม่ต่ำกว่า 25 ปี)
  • ตรวจในผู้มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นที่เต้านม เช่น คลำเจอก้อนที่เต้านม, เนื้อเต้านมหนาตัวขึ้นผิดปกติ, ลักษณะหรือขนาดเต้านมเปลี่ยนแปลงไป, หัวนมผิดตำแหน่ง เช่น ยุบลงไปหรือถูกดึงรั้งไปทางอื่น, มีของเหลวหรือเลือดไหลออกที่หัวนม, มีผื่นรอบหัวนม หรือรู้สึกเจ็บบริเวณเต้านม แต่คลำไม่พบก้อนเนื้อ หรือตรวจเต้านมโดยแพทย์แล้วไม่พบความผิดปกติ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อค้นหาสาเหตุของก้อนเนื้อหรือความปกติที่พบว่าเกิดจากมะเร็งหรือไม่ และมีก้อนเนื้อทั้งหมดกี่ก้อน เพราะสัญญาณเหล่านี้ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านม (การตรวจวินิจฉัยมักจะใช้เวลานานกว่าการตรวจคัดกรอง เพราะต้องมีการถ่ายภาพเอกซเรย์มากขึ้น เพื่อให้มองเห็นเต้านมได้หลายมุมหรืออาจถ่ายภาพขยายในบริเวณที่น่าสงสัย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง)
  • ใช้ตรวจเต้านมของสตรีที่มีการเสริมหน้าอก ซึ่งอาจตรวจเต้านมด้วยวิธีการคลำได้ลำบาก
  • ตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาในสตรีที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือเนื้องอกในเต้านม
  • ตรวจเพื่อดูว่าเต้านมอีกข้างว่ามีก้อนเนื้อหรือไม่ เพราะโรคมะเร็งเต้านมจะมีโอกาสเกิดได้ทั้ง 2 ข้างประมาณ 5%

ข้อจำกัดของการตรวจแมมโมแกรม

  • การตรวจแมมโมแกรมในสตรีที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีนั้น การแปลผลจะทำได้ยากและอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้สูง เนื่องจากเนื้อเยื่อภายในเต้านมของสตรีอายุน้อยมักจะมีความหนาแน่นมากกว่าสตรีที่มีอายุมาก จนทำให้เนื้อเยื่อเต้านมอาจบดบังก้อนเนื้อมะเร็งหรือมองเห็นผิดพลาดจากเนื้อดีกลายเป็นมะเร็งได้ ในสตรีกลุ่มนี้แพทย์จึงมักแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวด์หรือคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) ทดแทนหรือตรวจควบคู่ไปกับการตรวจแมมโมแกรมเพื่อความแม่นยำมากขึ้น
  • การตรวจแมมโมแกรมไม่สามารถบอกได้ว่าก้อนที่ตรวจพบนั้นเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอัลตราซาวด์ต่อไป
  • การตรวจแมมโมแกรมเพื่อช่วยคัดกรองโรคอาจเกิดผลบวกลวงได้ ซึ่งหมายถึง ผลการตรวจบอกว่าผิดปกติ แต่ความจริงแล้วปกติ จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดความวิตกกังวล และอาจนำไปสู่การรักษาที่ไม่จำเป็นในขั้นต่อไป ซึ่งการรักษาเหล่านั้นจะกินเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมไปถึงเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากขึ้นจากการรักษา ดังนั้น หากผลตรวจออกมาผิดปกติก็ควรมีการวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป

การเตรียมตัวก่อนตรวจแมมโมแกรม

สตรีที่จะเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรม คำแนะนำจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

  1. ในวันพบแพทย์เพื่อรับการตรวจทั่วไปและรับฟังคำชี้แจงก่อนวันตรวจแมมโมแกรม สิ่งที่ควรทำคือ
    • ซักถามทุกปัญหาที่สงสัยเกี่ยวกับเต้านมเพื่อจะได้ช่วยลดความกังวลใจ เช่น ความปลอดภัย การถูกฉายเอกซเรย์
    • บอกเล่าประวัติส่วนตัว เช่น การเคยได้รับการผ่าตัดมาก่อน, เคยใช้ฮอร์โมนเพื่อการรักษาใด ๆ, ประวัติคนในครอบครัวที่เคยเกิดโรคร้ายแรงนี้มาก่อน, เคยใส่สารเสริมเต้านมด้วยซิลิโคนหรือซาลีนมาก่อนและสารนั้นยังมีอยู่ภายในเต้านม
    • หากมีอาการผิดปกติของเต้านม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย
    • หากสงสัยว่าตนเองอาจจะเริ่มมีการตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างการให้นมบุตร ก็จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน (การตรวจนี้เป็นการตรวจโดยใช้รังสีเอกซ์ แม้ว่าระดับรังสีจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ก็มีโอกาสกระทบต่อทารกในครรภ์ ก่อให้เกิดความพิการ หรือเป็นเหตุทำให้ทารกเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอายุครรภ์ที่น้อยกว่า 3 เดือน ดังนั้นจึงเป็นข้อห้ามไม่ให้ตรวจในสตรีตั้งครรภ์ รวมไปถึงสตรีที่มีประจำเดือนคลาดเคลื่อนและสงสัยว่าตัวเองจะตั้งครรภ์)
    • หากเคยตรวจแมมโมแกรมมาก่อนและเลือกเข้ารับการตรวจในสถานพยาบาลแห่งใหม่ ควรนำผลตรวจแมมโมแกรมเดิมมาด้วยเพื่อเปรียบเทียบดูความเปลี่ยนแปลง
    • การตรวจแมมโมแกรมมักต้องมีการนัดล่วงหน้าเสมอ ยกเว้นในโรงพยาบาลเอกชน
  2. ในวันตรวจแมมโมแกรม ในวันนี้สตรีผู้เข้ารับการตรวจ ควรมีหน้าที่ต้องให้ความร่วมมือกับแพทย์ ดังนี้
    • ไม่ควรตรวจแมมโมแกรมในช่วงสัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน และ/หรือในช่วงให้นมบุตร เพราะในช่วงนี้เต้านมมักจะเพิ่มขนาดใหญ่ขึ้นและเจ็บ ซึ่งเป็นผลมาการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย แล้วอาจส่งผลให้การตรวจผิดพลาดได้จากการบวมหรือจากการไม่สามารถบีบเต้านมได้จากการเก็บเต้านม
    • ควรแต่งกายด้วยชุดสบาย ๆ (รวมทั้งรองเท้า) ที่สะดวกต่อการถอดและสวมใส่ได้ง่าย ปราศจากเครื่องประดับ เช่น ต่างหู สายสร้อย เครื่องเพชร หรือโลหะอื่นใดในร่างกาย เพราะก่อนตรวจจะต้องมีการเปลี่ยนเสื้อผ้าและอาจต้องถอดรองเท้าในห้องตรวจ
    • งดการทาแป้ง ผงลดการชับเหงื่อ ยาระงับกลิ่นตัว รวมถึงน้ำหอมหรือโลชั่นใด ๆ (เนื่องจากการตรวจจะรวมการตรวจภาพต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ด้วยเสมอ) เนื่องจากสารเคมีเพียงเล็กน้อยจากเครื่องมือสำอางเหล่านี้อาจจะไปปรากฎในภาพและทำให้แพทย์เข้าใจผิดว่าเป็นจุดแคลเซียมในเต้านมได้
    • ในกรณีที่เคยมีปัญหาหรืออาการผิดปกติใด ๆ และได้เคยตรวจพบด้วยตนเอง ก็ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย เช่น เคยพบว่ามีต่อมอยู่ภายในเต้านมข้างขวา เพื่อที่ว่าการตรวจแมมโมแกรม แพทย์ก็จะได้เน้นมาให้ความสนใจที่เต้านมข้างขวา

ขั้นตอนการตรวจแมมโมแกรม

เฉพาะการตรวจแมมโมแกรมนั้นไม่จำเป็นต้องงดอาหารและน้ำดื่มแต่อย่างใด และไม่มีการฉีดยาหรือฉีดสีเหมือนการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ในขณะที่ตรวจก็สามารถหายใจได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องยืนอยู่นิ่ง ๆ ไม่ขยับ เพราะภาพการตรวจจะไหวและส่งผลให้แปลผลผิดพลาดได้ โดยในการตรวจจะมีขั้นตอนดังนี้

  1. การตรวจจะเริ่มจากผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นของโรงพยาบาลและถอดเครื่องประดับโลหะต่าง ๆ ออกหมด (ถ้านำมาด้วย) เนื่องจากจะส่งผลให้การแปลผลผิดพลาดได้ เพราะโลหะจะบดบังรังสีเอกซ์ได้
  2. จากนั้นให้ผู้เข้ารับการตรวจยืนหรือนั่งหันหน้าเข้าหาเครื่องเอกซเรย์ (ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่อง) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะช่วยจัดท่าทางลำตัว ศีรษะ หรือแขน เพื่อไม่ให้บดบังบริเวณเต้านมที่ต้องการเอกซเรย์ และปรับระดับความสูงของเครื่องให้เหมาะกับเต้านมของผู้เข้ารับการตรวจเมื่อวางเต้านมลงบนเครื่อง (ตรวจเต้านมทีละข้าง)
  3. เครื่องจะค่อย ๆ กดบีบเต้านมจากด้านบนและด้านข้าง โดยในแต่ละครั้งของการกดบีบเต้านมลงบนเครื่องจะใช้เวลาไม่นาน และจำเป็นต้องมีการบีบให้เต้านมแนบกับเครื่องมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อช่วยให้รังสีจากเครื่องสามารถผ่านเนื้อเยื่อของเต้านมได้อย่างทั่วถึง (เพราะเนื้อเยื่อยิ่งบางก็จะมีโอกาสตรวจพบสิ่งผิดปกติมากขึ้น) โดยเต้านมแต่ละข้างจะได้รับการตรวจใน 2 ท่า คือ จากบน-ล่าง และจากด้านข้างซ้าย-ขวา (รวมเป็น 4 รูป แต่ในกรณีที่มองเห็นรายละเอียดของเนื้อเยื่อไม่ชัดเจน หรือพบจุดสงสัย หรือในกรณีที่สงสัยว่าส่วนไหนที่ต้องการจะเน้นมากเป็นพิเศษ ก็อาจมีการถ่ายภาพเอกซเรย์เพิ่มเติม)
  4. ในระหว่างนี้ผู้เข้ารับการตรวจอาจรู้สึกเจ็บเล็กน้อยหรือรู้สึกอึดอัดเมื่อเครื่องค่อย ๆ กดบีบเนื้อเต้านม หากรู้สึกเจ็บมากจนไม่สามารถทนได้ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ช่วยปรับระดับการกดของเครื่องในระดับที่ผู้เข้ารับการตรวจสามารถทนได้
  5. การตรวจแมมโมแกรมจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 30 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการจัดท่าตรวจ และเมื่อตรวจครบทั้ง 2 ข้างแล้ว รังสีแพทย์อาจขอให้ผู้เข้ารับการตรวจรอผลสักครู่หลังการตรวจ เพื่อเช็คคุณภาพของรูป เพราะในบางครั้งอาจต้องมีการถ่ายเพิ่มเติมหากรูปแสดงรายละเอียดไม่ชัดเจน
  6. หลังจากตรวจเสร็จผู้เข้ารับการตรวจก็สามารถกลับบ้านหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ตามปกติ ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล ไม่ต้องมีการดูแลตนเองใด ๆ เป็นพิเศษ แต่แพทย์อาจให้คำแนะนำเพิ่มเติมในบางราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะของบุคคลนั้น ๆ
การตรวจภาพรังสีเต้านม
IMAGE SOURCE : www.johnmuirhealth.com

อนึ่ง เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการแปลผลตรวจ แพทย์อาจพิจารณาตรวจอัลตราซาวด์เต้านมร่วมด้วยในบางราย โดยเฉพาะในสตรีที่มีอายุน้อย (โปรดทราบว่าการตรวจอัลตราซาวด์ไม่สามารถทดแทนการตรวจแมมโมแกรมได้ เพราะอัลตราซาวด์ไม่สามารถตรวจพบหินปูนได้)

ผลการตรวจแมมโมแกรม

การแปลผลตรวจแมมโมแกรมสามารถทำได้โดยรังสีแพทย์หรือแพทย์ผู้สั่งตรวจ หรือเป็นการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย หลังการตรวจรังสีแพทย์อาจแจ้งผลเบื้องต้นให้ทราบเลย หรือให้รอนัดฟังผลในอีก 2-7 วัน หรือให้แพทย์ผู้สั่งตรวจเป็นผู้แจ้งผล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบของแต่ละโรงพยาบาล เวลาในการนัดหมาย ผลการตรวจที่ออกมา และจำนวนของผู้เข้ารับการตรวจ หากเกิดกรณีที่มีข้อติดขัดบางประการ แพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจอีกครั้งในบางจุดเพิ่มเติมหรือตรวจในจุดที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษ ผู้ที่เข้ารับการตรวจไม่ควรประเมินเอาเองว่าผลการตรวจเป็นปกติ ในกรณีที่ผลการตรวจรอนานเกินไปหรือแพทย์ไม่มีการนัดฟังผล ให้โทรไปสอบถามทางโรงพยาบาลที่รับตรวจ

ผลการตรวจแมมโมแกรมนั้นจะผลลบ (Negative) และผลบวก (Positive) ซึ่งอธิบายได้ดังนี้

  • ผลลบ (Negative) หมายถึง ผลการตรวจจากภาพภายในเนื้อเยื่อของเต้านมไม่พบร่องรอยของความผิดปกติใด ๆ แปลว่า สบายใจได้ค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่เต็ม 100% เนื่องจากพบว่าประมาณ 20% ของจำนวนสตรีที่รับการตรวจด้วยแมมโมแกรมและได้ผลลบ แต่เมื่อได้ตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ กลับพบว่า กำลังเป็นมะเร็งเต้านมอยู่ ทั้งนี้มักเกิดจากการที่เต้านมมีเนื้อเยื่อหนาแน่นมากจนไปบดบังก้อนเนื้อและ/หรือหินปูน โดยเฉพาะในสตรีที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปีที่เต้านมจะมีเนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่น รวมไปถึงการกินหรือฉีดยาฮอร์โมนเพศเพื่อการคุมกำเนิด (แปลว่าการตรวจแมมโมแกรมสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้เพียง 80%)
  • ผลบวก (Positive) หมายถึง การตรวจวิเคราะห์จากภาพที่ได้มาโดยวิธีแมมโมแกรม ได้เห็นความผิดปกติภายในเต้านม โดยสังเกตุเห็นภาพ “จุดขาว” (Spot) ซึ่งอาจเป็นถุงน้ำ ถุงไขมัน ถุงอากาศ ฯลฯ (Cyst), เป็นเม็ดแคลเซียมหรือก้อนหินปูน (Calcification), เป็นก้อนเนื้อแข็งที่มิใช่มะเร็ง (Benign lump) หรือเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง (Tumor) ซึ่งในกรณีอย่างนี้จะต้องมีการตรวจวินิจฉัยต่อไปด้วยวิธีอัลตราซาวด์หรือคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) และการเจาะตรวจชิ้นเนื้อเต้านม (Breast biopsy) ตามลำดับต่อไป เพื่อจะได้ฟันธงได้ว่าผลบวกจากการตรวจแมมโมแกรมนั้นเป็นมะเร็งเต้านมจริงหรือไม่ ?

ส่วนการรายงานผลจะรายงานเป็นค่าไบแรดส์ (BI-RADS) ซึ่งเป็นค่าของผลการตรวจแมมโมแกรมตามมาตรฐานสากล (Breast Imaging Reporting and Database System) นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ไบแรดส์” (BIRADS หรือ BI-RADS) โดยค่าที่ได้ออกมาเป็นตัวเลขจะแสดงความรุนแรงตามการตรวจพบพร้อมกับคำแนะนำว่าควรปฏิบัติอย่างไรในขั้นตอนต่อไป โดยแบ่งเป็น 7 ขั้น ดังนี้

ค่าไบแรดส์[attr style=”color:red”]|สภาวะเต้านมซึ่งวิเคราะห์ได้จากภาพ|การปฏิบัติในขั้นตอนต่อไป
BI-RADS Category 0|ไม่เคยตรวจแมมโมแกรม หรือตรวจแล้วแต่ไม่สามารถแปลผลได้|ต้องมีการตรวจแมมโมแกรมซ้ำให้เห็นภาพ เพื่อจะได้จัดขั้นการปฏิบัติต่อไปได้
BI-RADS Category 1 (Negative)|เคยตรวจแมมโมแกรมมาแล้วและไม่พบสิ่งผิดปกติ|สตรีที่มีอายุเกิน 40 ปี ควรมีการตรวจซ้ำต่อไปเป็นประจำทุกปี
BI-RADS Category 2|ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่มิใช่มะเร็ง|ต้องตรวจแมมโมแกรมต่อไปทุก 1 ปี โดยเฉพาะสตรีที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
BI-RADS Category 3|ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่อาจจะไม่ใช่มะเร็ง|ให้ตรวจแมมโมแกรมทุก 6 เดือน เพื่อติดตามผล
BI-RADS Category 4|ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่น่าจะเป็นมะเร็ง|อาจมีการสั่งตรวจชิ้นเนื้อตัวอย่างว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
BI-RADS Category 5|ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่น่าจะเป็นมะเร็งได้สูง|แพทย์จะสั่งตรวจชิ้นเนื้อตัวอย่างทันทีเพื่อยืนยันว่าก้อนที่พบในเต้านมเป็นมะเร็ง
BI-RADS Category 6|ผลการตรวจชิ้นเนื้อได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นมะเร็ง|ให้ทำการตรวจชิ้นเนื้อซ้ำอีกครั้งเพื่อยืนยันว่ามะเร็งยังคงมีอยู่ ก่อนที่จะเริ่มขึ้นตอนการรักษาต่อไป

การตรวจไม่พบความผิดปกติใด ๆ จากการตรวจแมมโมแกรมก็อย่าได้วางใจ 100% ว่าจะปลอดภัยจากมะเร็งเต้านม และการตรวจพบความผิดปกติใด ๆ จากการตรวจนี้ ก็ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องเป็นมะเร็ง ฉะนั้น การตรวจต่อไปด้วยอัลตราซาวด์และการเจาะตรวจชิ้นเนื้อเต้านมจึงไม่ควรถูกปฏิเสธหรือถูและเลย

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือฉลาดตรวจสุขภาพ ฉบับรู้ทันโรคถอย เล่ม 2. “การตรวจมะเร็งเต้านม (Mammogram)”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 143-168.
  2. หาหมอดอทคอม.  “การตรวจภาพรังสีเต้านม แมมโมแกรม (Mammogram)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [10 มิ.ย. 2018].
  3. ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “การตรวจเต้านมด้วยอัลตราซาวด์ กับแมมโมแกรมต่างกันอย่างไร”.  (รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [28 มิ.ย. 2018].
  4. พบแพทย์ดอทคอม.  “ตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม (Mammogram)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com.  [29 มิ.ย. 2018].
  5. โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์.  “แมมโมแกรม (Mammogram) ตรวจเร็ว แม่นยำ ปลอดภัย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siphhospital.com.  [29 มิ.ย. 2018].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด