การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง, การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง, การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ, การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจความถี่สูง, การตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจ หรือการตรวจเอคโคหัวใจ (Echocardiogram หรือ Echocardiography) ที่มักเรียกสั้น ๆ ว่า เอคโค (Echo) คือ การตรวจโรคหัวใจวิธีหนึ่งที่ใช้บ่อยในปัจจุบัน ซึ่งใช้หลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูงที่ถูกปล่อยออกมาจากหัวตรวจ ส่งผ่านผนังทรวงอกไปถึงหัวใจ เมื่อคลื่นเสียงผ่านอวัยวะต่าง ๆ ก็จะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับที่แตกต่างกันระหว่างน้ำกับเนื้อเยื่อ คอมพิวเตอร์จึงเอาสัญญาณเหล่านี้มาแปลเป็นภาพให้เห็นบนจอ
ด้วยหลักการนี้จึงช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค พยากรณ์โรค ตรวจหาความรุนแรง และติดตามผลการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ
การตรวจเอคโคหัวใจแต่ละวิธี
การตรวจเอคโคหัวใจมีวิธีการตรวจหลายรูปแบบตามข้อบ่งชี้ในการตรวจ แต่วิธีการตรวจมาตรฐานที่ใช้เป็นพื้นฐานเบื้องต้นเป็นหลักและใช้บ่อยที่สุดเรียกว่า “Transthoracic echocardiogram” หรือ “TTE” ซึ่งเป็นการตรวจผ่านทางผนังทรวงอกโดยหัวเครื่องตรวจที่เรียกว่า “Transducer” (ลักษณะคล้ายไมโครโฟน) ซึ่งไม่มีความแหลมกดบริเวณหน้าอกและขยับไปมาตามตำแหน่งที่ต้องการให้เห็นภาพ
นอกจากนั้นยังมีการตรวจเอคโคหัวใจวิธีอื่นอีกที่อาจตรวจเพิ่มเติมจากการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน (TTE)
- Transesophageal echocardiogram (TEE) เป็นวิธีการตรวจโดยใช้หัวตรวจสอดผ่านช่องปากเข้าไปอยู่ในหลอดอาหาร (อาจต้องมีการใช้ยาระงับปวด/ยาแก้ปวด หรืออาจต้องใช้ยาสลบในขณะตรวจด้วย) ซึ่งเป็นตำแหน่งด้านหลังของหัวใจโดยตรง การตรวจด้วยวิธีนี้จึงสามารถตรวจโครงสร้างของหัวใจและหลอดเลือดที่อยู่ด้านหลังของหัวใจ (เช่น หัวใจห้องซ้ายบน ลิ้นหัวใจ ผนังกั้นห้องหัวใจ) ได้ชัดเจนกว่าวิธีมาตรฐาน (TEE) มักใช้ตรวจในกรณีแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีโรคที่ส่วนด้านหลังหัวใจหรือส่วนที่อยู่ติดกับหลอดอาหารที่การตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน (TTE) ให้ผลไม่ชัดเจน เช่น ในคนอ้วนที่ผนังหน้าอกจะหนามาก (การตรวจวิธีนี้จะตรวจเฉพาะในกรณีที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น เนื่องจากอาจเกิดอันตรายต่อหลอดอาหารได้ แต่ก็พบได้น้อยมาก คือน้อยกว่า 0.5%)
- Stress echocardiogram เป็นวิธีการตรวจเอคโคหัวใจร่วมกับการออกกำลังกาย โดยตรวจขณะพักและขณะออกกำลังกาย เพื่อดูว่าเมื่อออกกำลังกาย กล้ามเนื้อหัวใจยังทำงานได้ดีหรือไม่ เนื่องจากโรคบางโรคจะตรวจไม่พบในขณะที่หัวใจเต้นปกติ แต่จะเกิดอาการเมื่อหัวใจมีการเต้นเร็วและแรงกว่าปกติ เช่น ในกรณีโรคของหลอดเลือดหัวใจ โดยขั้นตอนในการตรวจจะทำการตรวจคลื่นเสียงหัวใจก่อน หลังจากนั้นจึงให้ออกกำลังกายโดยการวิ่งหรือปั่นจักรยานจนหัวใจเต้นได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด (ถ้าวิ่งไม่ได้ก็ใช้ยากระตุ้นให้หัวใจทำงานมากขึ้น) แล้วจึงทำการตรวจหัวใจอีกครั้งเพื่อเปรียบเทียบว่ากล้ามเนื้อหัวใจมีการบีบตัวเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
- Doppler echocardiogram เป็นวิธีที่มักตรวจร่วมกับการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน (TTE) เพื่อดูการไหลเวียนของเลือดในห้องหัวใจต่าง ๆ รวมไปถึงการเกิดภาวะลิ่มเลือดในห้องหัวใจและในหลอดเลือดหัวใจ ทั้งนี้การตรวจจะทำผ่านทางผนังด้านหน้าของทรวงอก แต่จะเพิ่มชนิดหัวเครื่องตรวจและอาจมีการฉีดสารบางอย่างหรือสารทึบแสง (Contrast media) เข้าหลอดเลือดมรขณะตรวจเพื่อช่วยให้แพทย์เห็นการไหลเวียนของเลือดได้ดีขึ้น
- Contrast echocardiogram เป็นวิธีการฉีดสารบางอย่างเข้าไปในหลอดเลือดในขณะตรวจเอคโคหัวใจเพื่อช่วยให้แพทย์เห็นภาพการไหลเวียนของเลือดได้ดีขึ้น
- 3D/4D echocardiogram เป็นการตรวจเอคโคหัวใจที่ให้ภาพ 2 มิติ (แบบเดิม) แต่เทคโนโลยีใหม่จะสามารถตรวจให้ภาพเป็น 3 มิติ (ภาพมีความลึก) และถ้าเป็นเครื่องที่พัฒนาสูงขึ้นอีกก็สามารถให้ภาพการตรวจเป็น 4 มิติได้ (ภาพมีการเคลื่อนไหว)
ประโยชน์ของการตรวจ
เป็นการตรวจที่ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจโดยตรวจร่วมกับการตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG), การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Cardiac CT scan), การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Cardiac catheterization with Coronary angiography) เพื่อการวินิจฉัยโรคทางหัวใจที่แน่นอน โดยมักเป็นโรคที่เกี่ยวกับการทำงานหรือการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การไหลเวียนของเลือดในหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ การเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ และตำแหน่งของหลอดเลือดต่าง ๆ ที่เข้าและออกจากหัวใจ
ข้อบ่งชี้ในการตรวจ
เป็นการตรวจในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติจากการบีบตัวหรือการเต้นของหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ ความหนาของผนังห้องหัวใจ การไหลเวียนของเลือดในหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ ตำแหน่งของหลอดเลือดต่าง ๆ ที่เข้าออกหัวใจ และ/หรือมีภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) และอาจร่วมกับการตรวจเอกซเรย์ภาพปอด (Chest X-ray) ก่อนที่จะตรวจเอคโคหัวใจ (Echo)
อันตราย ข้อห้าม ข้อจำกัด ผลข้างเคียง
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงด้วยวิธีมาตรฐาน (TTE) นั้นไม่มีอันตรายหรือข้อห้ามใด ๆ เพราะเป็นการตรวจที่ปลอดภัย ไม่ทำให้เจ็บตัว และสามารถตรวจได้ในทุกอายุตั้งแต่ทารกในครรภ์ไปจนถึงผู้สูงอายุ เพราะคลื่นเสียงหรืออัลตราซาวนด์ (Ultrasound) นั้นไม่ใช่รังสีเอกซเรย์ (X-ray) และไม่ก่ออันตรายต่อ DNA ของเซลล์จนก่อให้เกิดเซลล์กลายพันธุ์หรือเกิดการเจริญที่ผิดปกติของเซลล์จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ แต่การตรวจเอคโคหัวใจด้วยวิธีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่วิธีมาตรฐาน (TTE) นั้นอาจมีอันตรายและข้อห้ามในการตรวจขึ้นอยู่กับวิธี เช่น
- อันตรายจากการแพ้สารที่ฉีดเข้าหลอดเลือดดำในกรณีที่ตรวจด้วยวิธี Contrast echocardiogram
- อันตรายจากผลข้างเคียงของสลบ อาการคลื่นไส้ รู้สึกไม่สบายเวลาส่องตรวจ หายใจลำบากเล็กน้อย และอาจมีเลือดออกเล็กน้อยในกรณีที่ตรวจด้วยวิธี TEE
- ข้อห้ามของการตรวจด้วยวิธี TEE ที่ผู้ป่วยบางโรคจะไม่สามารถตรวจวิธีได้ (เช่น มีแผลในหลอดอาหาร, มีภาวะเลือดออกในหลอดอาหาร, มีเส้นเลือดโป่งพองในหลอดอาหาร, มีภาวะหลอดอาหารตีบตัน, มีมะเร็งหลอดอาหาร, เป็นโรค Zenker’s diverticulum, มีประวัติกลืนอาหารลำบากหรือเจ็บเวลากลืนอาหารที่ต้องหาสาเหตุก่อนตรวจ, ผู้เข้ารับการตรวจไม่ให้ความร่วมมือหรือมีสภาวะจิตไม่ปกติที่มีผลต่อความร่วมมือในการตรวจ)
สำหรับข้อจำกัดของการตรวจเอคโคหัวใจด้วยวิธีมาตรฐาน (TTE) นั้นจะตรวจดูได้เฉพาะโครงสร้างหัวใจ แต่จะไม่เห็นเส้นเลือดหัวใจ และในผู้ที่อ้วนหรือผอมมาก หรือมีถุงลมโป่งพอง ภาพที่ได้อาจไม่ชัดเจน (เนื่องจากไขมันและอากาศไปขัดขวางคลื่นเสียง ในกรณีนี้จึงอาจจำเป็นต้องใช้หัวตรวจสอดเข้าไปในหลอดอาหารเพื่อให้อยู่ใกล้กับหัวใจมากที่สุด) นอกจากนี้จะเป็นเรื่องของค่าตรวจที่มีราคาแพงและมีจำกัดอยู่เฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีแพทย์โรคหัวใจประจำอยู่เท่านั้น เนื่องจากเป็นเครื่องตรวจเทคโนโลยีสูงและเป็นการตรวจเฉพาะทางที่ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์โรคหัวใจ ประกอบกับต้องมีเจ้าหน้าที่เฉพาะทางด้านนี้เป็นผู้ช่วยของแพทย์ด้วย (ส่วนการตรวจเอคโคหัวใจด้วยวิธีอื่น ๆ ก็อาจมีข้อจำกัดบ้าง เช่น จากการต้องใช้ยาสลบ หรือต้องมีการออกกำลังกายอย่างหนักร่วมด้วย ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยบางราย)
ส่วนผลข้างเคียงของการตรวจเอคโคหัวใจด้วยวิธีมาตรฐาน (TTE) นั้นไม่มี แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการแพ้ได้เล็กน้อยจากเจลที่ใช้ป้ายผิวหนัง
การตรวจเอคโคหัวใจด้วยวิธีมาตรฐาน (TTE) เป็นการตรวจที่ปลอดภัย จึงสามารถตรวจซ้ำได้บ่อยตามดุลยพินิจของแพทย์ และในวันเดียวกันอาจทำการตรวจซ้ำหลาย ๆ ครั้งได้โดยไม่มีผลข้างเคียง
ขั้นตอนและวิธีการตรวจ
- ขั้นตอนจะเริ่มจากแพทย์โรคหัวใจสงสัยการมีโรคหัวใจซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ของการตรวจเอคโคหัวใจ (TTE) แล้วแพทย์จะส่งผู้ป่วยไปยังแผนกที่ตรวจเอคโคหัวใจเพื่อนัดวันและเวลาตรวจ พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่จะทำการซักประวัติทางการแพทย์ต่าง ๆ ยาที่กินอยู่ (เพราะยาบางตัวอาจมีผลต่อผลการตรวจและการทำงานของหัวใจ) รวมถึงแนะนำการสวมเสื้อผ้ารองเท้าที่สะดวกต่อการถอดและสวมใส่ เพราะในวันตรวจผู้รับการตรวจจะต้องเปลี่ยนผ้าของโรงพยาบาล และไม่ควรสวมใส่ของมีค่าใด ๆ มาโรงพยาบาล (โรงพยาบาลบางแห่งอาจแนะนำให้งดอาหารและน้ำดื่ม ยกเว้นยา ประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนตรวจ หรือแนะนำให้กินอาหารเบา ๆ)
- ในกรณีที่ตรวจเอคโคหัวใจด้วยวิธี TEE ผู้รับการตรวจจะต้องไม่มีประวัติการแพ้ยาและประวัติกลืนลำบาก ไม่ขับรถมาเอง (เพราะบางรายแพทย์อาจจะต้องให้ยาคลายเครียดก่อนตรวจ) ต้องงดอาหาร 4-6 ชั่วโมงก่อนตรวจ หากมีฟันปลอมในวันตรวจก็ต้องถอดเก็บไว้ก่อน และสำหรับผู้ที่เคยได้รับรังสีรักษา กินกรดหรือด่างเพื่อทำร้ายตัวเอง หรือมีปัญหาโรคเลือด ต้องแจ้งแพทย์ทราบก่อนตรวจทุกครั้ง
- ในกรณีที่ตรวจเอคโคหัวใจด้วยวิธี Stress echocardiogram ผู้รับการตรวจจะต้องงดน้ำและอาหารก่อนตรวจ 2-3 ชั่วโมง (เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน) สวมใส่เสื้อยืดหลวม กางเกงสบาย ถุงเท้าและรองเท้าสำหรับวิ่ง และไม่ควรสวมใส่ของมีค่าใด ๆ มาโรงพยาบาล
- ผู้รับการตรวจควรมาถึงห้องตรวจก่อนเวลานัดประมาณ 30-45 นาที เพื่อเตรียมเอกสารของโรงพยาบาล เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย (หากเป็นผู้หญิงต้องถอดเสื้อชั้นในออกด้วย) เข้าห้องน้ำ และนั่งพักปกติก่อนเข้าห้องตรวจ
- ในห้องตรวจจะประกอบไปด้วยเตียงนอนผู้ป่วย เครื่องมือตรวจ จอคอมพิวเตอร์ที่ผู้รับการตรวจสามารถมองเห็นภาพการตรวจได้ และมักมีแพทย์กับเจ้าหน้าที่เฉพาะทางอยู่ (โรงพยาบาลบางแห่งอาจมีเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญด้านการตรวจนี้ แต่เจ้าหน้าที่จะติดต่อปรึกษาแพทย์โรคหัวใจเสมอถึงความสมบูรณ์ของการตรวจก่อนให้ผู้ป่วยกลับบ้าน)
- เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงราบตะแคงไปด้านซ้ายเล็กน้อย (มือซ้ายพาดขึ้นบน) เปิดส่วนของเสื้อผ้าบริเวณหน้าอกออก และทำการติดแผ่นขั้วคลื่นไฟฟ้าหัวใจจำนวน 3 จุด (บริเวณไหล่ทั้ง 2 ข้าง และบริเวณท้อง 1 จุด) แล้วแพทย์จะเริ่มทำการตรวจโดยใช้เจลใสป้ายบริเวณหน้าอกและใช้หัวตรวจซึ่งไม่มีความแหลมกดบริเวณหน้าอกและขยับไปมาตามตำแหน่งที่ต้องการให้เห็นภาพ และอาจสั่งให้เปลี่ยนท่านอนในระหว่างการตรวจได้ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ภาพหัวใจที่ชัดเจนที่สุดนั่นเอง (เจลจะเป็นตัวช่วยส่งผ่านสัญญาณเสียงระหว่างหัวตรวจกับหัวใจ ส่งผลให้ได้ภาพตรวจที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งเจลนี้ก็ไม่ได้มีอันตรายแต่อย่างใด และสามารถล้างออกได้ง่าย แต่ผู้รับการตรวจบางรายในจำนวนน้อยมากที่อาจแพ้เจลได้ ทำให้ผิวหนังส่วนที่ทารู้สึกระคายเคืองหรือขึ้นผื่นเล็กน้อย แต่จะหายไปเองภายใน 1-2 วัน โดยไม่ต้องรักษาอะไร)
- สำหรับการตรวจเอคโคหัวใจด้วยวิธี TEE ในขั้นตอนหลังการเตรียมความพร้อมก่อนตรวจดังกล่าวแล้ว แพทย์จะให้ผู้รับการตรวจอมยาชาและพ่นยาชา ทำการติดแผ่นขั้วไฟฟ้าหัวใจ 3 จุดเช่นกัน ให้นอนตะแคงซ้ายก้มศีรษะลง และแพทย์จะเริ่มใส่กล้องตรวจซึ่งเคลือบด้วยเจลหล่อลื่นผ่านปากเข้าไปในหลอดอาหารซึ่งอยู่ด้านหลังของหัวใจ และระหว่างการสอดแพทย์จะบอกให้ช่วยกลืนเพื่อทำให้ท่อเข้าไปได้ง่าย (ให้พยายามนึกว่าเป็นเหมือนก๊วยเตี๋ยวเส้นใหญ่) ในขณะที่ตรวจแพทย์จะมีการหมุนหัวตรวจในตำแหน่งต่าง ๆ และเลื่อนขึ้นลงเพื่อดูหัวใจตำแหน่งต่าง ๆ หากมีน้ำลายไหลออก อย่ากลืนโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่ง และการตรวจจะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที
- ในระหว่างที่ผู้รับการตรวจนอนนิ่ง ๆ และหายใจตามปกติ เครื่องจะจับคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับจากหัวใจผ่านผนังทรวงอก ผ่านหัวตรวจ และเข้าสู่เครื่องแสดงผลหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ ส่วนการบันทึกผลตรวจนั้นอาจเป็นในรูปของแผ่นกระดาษ ซีดี แผ่นฟิล์ม หรือเทปขึ้นอยู่กับยี่ห้อเครื่องตรวจ
- ต่อจากนั้นแพทย์โรคหัวใจจะตรวจสอบผลตรวจก่อนในเบื้องต้น ถ้าผลตรวจไม่ครบถ้วนก็จะมีการบันทึกภาพเพิ่มเติมจนกว่าจะได้ผลครบถ้วนตามที่แพทย์ต้องการ แล้วเจ้าหน้าจะถอดเครื่องมือและทำการเช็ดเจลออก อนุญาตให้ผู้รับการตรวจเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นของตนเอง และกลับมายังเคาเตอร์เพื่อรอรับใบนัดหมายให้มารับผลตรวจ
- หลังตรวจเสร็จ รับใบนัดฟังผล และชำระค่าตรวจ (ถ้ายังไม่ได้ชำระในวันนัดตรวจ) ผู้รับการตรวจก็สามารถบ้านและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องมีการดูแลตนเองเป็นพิเศษแต่อย่างใด ไม่ต้องดูแลผิวหนังส่วนที่ทาเจลหรือติดหัวตรวจเป็นพิเศษ อาบน้ำใช้สบู่ได้ตามปกติ และสามารถคลุกคลีกับทุกคนรวมทั้งหญิงตั้งครรภ์และเด็กอ่อนได้ (ในกรณีที่มีผื่นหรือระคายเคืองผิวหนังก็ไม่จำเป็นต้องมีการดูแลเป็นพิเศษเช่นกัน เพราะอาการเหล่านี้จะเกิดน้อยมากและหายไปได้เองภายใน 1-2 วัน)
ไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นพิเศษสำหรับการตรวจเอคโคหัวใจด้วยวิธีมาตรฐาน (TTE) สามารถเข้ารับการตรวจได้เลยที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร หรืองดยา (แต่ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบก่อนว่ากินยาอะไรอยู่ เพราะยาบางชนิดอาจมีผลต่อการทำงานของหัวใจและส่งผลกระทบต่อการแปลผลตรวจได้) ในระหว่างการตรวจก็ไม่ทำให้เจ็บ ไม่มีการฉีดยา กินยา หรือใช้ยาสลบ และโดยทั่วไปการตรวจจะใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที (มักไม่เกิน 1 ชั่วโมง)
การแปลผลตรวจเอคโคหัวใจ
แพทย์โรคหัวใจจะเป็นผู้แปลผลตรวจจากภาพ โดยแพทย์จะดูความแรงของการบีบตัวของหัวใจ ขนาดหัวใจ ขนาดห้องต่าง ๆ ของหัวใจ ความหนาของผนังห้องหัวใจ ตำแหน่งเข้าออกหัวใจของหลอดเลือด ฯลฯ แล้วจึงนำมาประกอบกับประวัติอาการของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจฟังการเต้นของหัวใจด้วยหูฟัง การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอาจร่วมกับการตรวจเอกซเรย์ภาพปอด แพทย์ก็จะสามารถให้การวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ แล้วถ้าเป็นน่าจะเป็นโรคหัวใจชนิดใด มีสาเหตุมาจากอะไร และจำเป็นต้องตรวจสืบค้นด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ เช่น การตรวจเอคโคหัวใจด้วยวิธีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่วิธีมาตรฐาน (TTE), เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ, เอมอาร์ไอหัวใจ หรือการสวนหลอดเลือดหัวใจ
ส่วนการจะทราบผลตรวจเมื่อใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละระบบการทำงานของแต่ละโรงพยาบาล เช่น บางโรงพยาบาลอาจมอบผลตรวจให้หลังจากการตรวจเสร็จ หรือบางโรงพยาบาลอาจนัดให้มาฟังผลจากแพทย์ในวันหลัง ดังนั้น ผู้เข้ารับการตรวจจึงควรสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าจะได้รับทราบผลตรวจเมื่อใด
เอกสารอ้างอิง
- หาหมอดอทคอม. “เอคโคหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Cardiac echo: Echocardiogram)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [22 เม.ย. 2018].
- British Heart Foundation. “Echocardiogram”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bhf.org.uk. [22 เม.ย. 2018].
- Siamhealth. “การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiography)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [23 ส.ค. 2017].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)