การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis หรือ Urine analysis : UA) มีประโยชน์อย่างไร ?

การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis หรือ Urine analysis : UA) มีประโยชน์อย่างไร ?

การตรวจปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะ, การตรวจปัสสาวะอย่างละเอียด, การตรวจปัสสาวะอย่างสมบูรณ์ หรือการตรวจปัสสาวะแบบสมบูรณ์ (ภาษาอังกฤษ : Urinalysis หรือ Urine test หรือ Urinary analysis หรือเรียกย่อว่า UA หรือ U/A) คือ การตรวจวิเคราะห์น้ำปัสสาวะเพื่อดูลักษณะทางกายภาพ สารเคมี และตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ เพื่อค้นหาความผิดปกติและประเมินความเสี่ยงในบางโรคเบื้องต้นจากน้ำปัสสาวะ*

การตรวจปัสสาวะเป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มีประโยชน์อย่างมาก จัดเป็นการตรวจพื้นฐานที่แพทย์ที่นิยมใช้ เนื่องจากเป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว สามารถตรวจได้ทันทีในคนทุกเพศทุกวัย ไม่มีผลข้างเคียงหรือทำให้เจ็บตัว การตรวจไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่สูงเกินไป จึงมีค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ไม่แพง และรู้ผลได้เร็วภายใน 1-2 ชั่วโมง นอกจากนี้ตัวผู้เข้ารับการตรวจก็ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร หรือยาที่กินเป็นประจำอยู่ก่อนด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือ การตรวจปัสสาวะสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของไตและระบบปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจได้หลายอย่าง รวมทั้งอาจทำให้ทราบถึงความเจ็บป่วยบางอย่างในร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจจากการพิจารณาปริมาณสารเคมีต่าง ๆ ที่ขับออกมากับปัสสาวะได้ด้วย (เพราะไตเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ขับของเหลวและของเสียออกจากร่างกาย เมื่อเลือดไหลผ่านไต ไตจะทำหน้าที่กรองของเหลวส่วนเกินและของเสียในเลือด แร่ธาตุ สารเคมีต่าง ๆ รวมทั้งยาออกไปเป็นน้ำปัสสาวะ น้ำปัสสาวะจะไหลออกจากไตผ่านท่อไตไปสะสมรวมกันที่กระเพาะปัสสาวะ จากนั้นจะถูกขับออกทางจากร่างกายผ่านท่อปัสสาวะ) ด้วยเหตุนี้ การตรวจนี้จึงเป็นหนึ่งในรายการตรวจสุขภาพทั่วไป ซึ่งถ้าพบมีความผิดปกติแพทย์ก็จะให้การตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อสาเหตุต่อไป เช่น การตรวจระบบทางเดินปัสสาวด้วยอัลตราซาวนด์

อย่างไรก็ตาม การตรวจปัสสาวะนั้นก็เป็นการตรวจที่เน้นเพื่อคัดกรองหาความผิดปกติของปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจ (Screening) มากกว่าที่จะเป็นการตรวจเพื่อใช้ยืนยัน (Confirmation) หรือเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของความผิดปกติ (Diagnostic)

หมายเหตุ : ปัสสาวะ (Urine) เป็นสารของเสียภายในร่างกายที่ไตได้กรองออกจากเลือดแล้วปล่อยทิ้งออกมานอกร่างกายในรูปของของเหลว โดยสารของเสียภายในร่างกายนั้นอาจเกิดขึ้นจากอาหารที่กินในทุกมื้อในแต่ละวัน (เช่น สารยูเรียไนโตรเจน สารกันบูด สารแต่งกลิ่น สารแต่งรส สารแต่งสี สารเคเฟอีนในกาแฟ กรดยูริกอันเกิดจากสารพิวรีนในเบียร์ ฯลฯ) หรือเกิดจากการออกกำลังกาย คือ การใช้กล้ามเนื้อออกแรงอย่างหนักก็ย่อมทำให้เกิดสารของเสีย เช่น ครีอะตินีน (Creatinine) ก็ได้

ปัสสาวะเป็นแหล่งที่รวมบรรดาของเสียจากร่างกายที่พร้อมจะปล่อยทิ้งออกไปนอกร่างกายในฐานะที่เป็นวัตถุของเสีย (Waste materials), แร่ธาตุ (Minerals), ของเหลว (Fluids) และสารชนิดต่าง ๆ ที่ร่างกายไม่ใช้หรือใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว (Substances) ซึ่งบรรดาของเสียทั้ง 4 ชนิดดังกล่าวจะมีผลทำให้น้ำปัสสาวะเกิดความเปลี่ยนแปลงลักษณะเฉพาะในด้านต่าง ๆ ทั้งสี กลิ่น ความใส/ขุ่น ความเป็นกรดด่าง ความหนาแน่นหรือความถ่วงจำเพาะ ปริมาณของกลูโคส โปรตีน คีโตน ไนไตรท์ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว คาสท์ ผลึกต่าง ๆ ฯลฯ

ข้อบ่งชี้ของการตรวจปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะนั้นไม่มีข้อห้ามและมีประโยชน์หลายอย่าง แพทย์จึงมักส่งตรวจปัสสาวะในการตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจสุขภาพเพื่อเตรียมตัวก่อนรับการผ่าตัด หรือการตรวจเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยข้อบ่งชี้ในการตรวจปัสสาวะนั้นมีดังนี้

  • ใช้ข้อมูลที่ได้จากการตรวจประเมินค่าสุขภาพโดยทั่วไปของเจ้าของปัสสาวะ ตรวจสภาพของไตและท่อปัสสาวะจากไตลงมา
  • ใช้คัดกรองโรคเรื้อรังทั่วไปที่พบบ่อยในเบื้องต้น เช่น โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งสามารถตรวจพบความผิดปกติบางส่วนได้จากน้ำปัสสาวะ
  • ใช้วินิจฉัยโรคหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ) ในเบื้องต้น เช่น มีอาการปวดท้อง ปวดหลัง ปวดเอว ปัสสาวะบ่อย อาการแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะม่ีเลือดปน มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ ฯลฯ เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติที่เกิดขึ้น
  • ใช้วินิจฉัยโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลให้มีความผิดปกติในน้ำปัสสาวะจากการมีสารบางอย่างที่เกิดจากโรคนั้น ๆ ปนมาในปัสสาวะ เช่น โรคความผิดปกตทางฮอร์โมนต่าง ๆ โรคมะเร็งบางชนิด (เช่น มะเร็งชนิดนิวโนบลาสโตมาในเด็ก)
  • ใช้วินิจฉัยความรุนแรงของโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
  • ใช้ประเมินระบบการเผาผลาญสารอาหาร (เช่น กลูโคส) ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำงานของไต เป็นต้น
  • ใช้ประเมินพยาธิสภาพของบรรดาต่อมไร้ท่อ (Endocrine disorders) ซึ่งล้วนแต่ส่งฮอร์โมนหรือเอนไซม์ทั้งหลายเข้าสู่กระแสเลือดและจะต้องถูกขับทิ้งออกทางปัสสาวะ โดยสารที่เหลือใช้ซึ่งตรวจพบได้ในปัสสาวะ หากมีปริมาณมากหรือน้อยผิดปกติก็ย่อมแสดงว่า ต่อมที่ผลิตต้นทางอาจกำลังเกิดโรคสำคัญก็ได้
  • ใช้ติดตามผลการรักษาโรคและภาวะต่าง ๆ ว่าเป็นไปในทางที่ดีหรือแย่ลง เช่น โรคเบาหวาน
  • ใช้ตรวจหาสารบางชนิด เช่น สารพิษจากโลหะหนัก (เช่น สารตะกั่ว หรือปรอท) สารเสพติดในร่างกาย (เพื่อตรวจสอบผู้ใช้หรือผู้ติดยาเสพติด)
  • ใช้ตรวจการตั้งครรภ์ของสตรีจากฮอร์โมน Human chorionic gonadotropin (hCG) ที่พบในน้ำปัสสาวะ

การเตรียมตัวก่อนตรวจปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะไม่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นพิเศษ แต่มีข้อควรระวังบางอย่างที่อาจทำให้ผลการตรวจปัสสาวะคลาดเคลื่อนหรือผิดเพี้ยนไม่ถูกต้อง มีดังนี้

  • แจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบก่อนการตรวจปัสสาวะหากมีการกินยาหรือวิตามินเสริมบางชนิด เช่น วิตามินบี, กลุ่มยาขับปัสสาวะ (Diuretics) ที่ใช้ลดความดันโลหิต, กลุ่มยาปฏิชีวนะ (Erythromycin), ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาวัณโรค, กลุ่มยารักษาช่องทางเดินปัสสาวะ (Trimethoprim), ยาฟีนาโซไพริดีน (Phenazopyridine) ที่ใช้บรรเทาอาการปวดจากโรคระบบทางเดินปัสสาวะ, ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) ที่ใช้ป้องกันและควบคุมอาการชัก, ยาแก้หวัดแก้ไข้ (วิตามินซีที่มีการกินคู่กับยาปฏิชีวนะ)
  • ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือนหรือใกล้มีประจำเดือนควรเลื่อนการตรวจปัสสาวะออกไปก่อนจนกว่าประจำเดือนจะหมด แล้วจึงค่อยมาทำการตรวจในภายหลัง เพราะการตรวจปัสสาวะในช่วงที่มีประจำเดือนจะมีโอกาสสูงที่เลือดประจำเดือนจะปนเปื้อนลงไปในตัวอย่างปัสสาวะที่เก็บเพื่อส่งตรง ซึ่งจะทำให้ผลการตรวจเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะจะพบขึ้นสูงกว่าความเป็นจริงได้
  • ผู้ที่ได้รับการตรวจเอกซเรย์ (X-ray) และได้รับสารสะท้อนรังสีหรือสารทึบรังสีเพื่อการตรวจอวัยวะภายในบางจุดในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมายังไม่เกิน 3 วัน ควรหลีกเลี่ยงการตรวจปัสสาวะ
  • เฉพาะการตรวจปัสสาวะนั้นมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องมีการเตรียมตัว สามารถทำการตรวจได้ทันทีทุกช่วงเวลา ตรวจได้ในคนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ และไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร หรือยาที่กินอยู่ประจำก่อนการตรวจ แต่ในกรณีที่มีการตรวจอย่างอื่นในช่วงเวลาเดียวกันร่วมด้วย อาจต้องมีการงดน้ำและอาหารก่อนตรวจ
  • ในกรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจเก็บตัวอย่างปัสสาวะในช่วงเช้าตรู่หลังตื่นนอน ในกรณีที่เก็บเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ (UA) มีคำแนะนำว่าให้ถ่ายปัสสาวะแรกของวันทิ้งไปก่อน เพราะปัสสาวะแรกในช่วงเช้าหลังตื่นนอนนั้นจะมีความเข้มข้นของสารเคมีต่าง ๆ มากกว่าปกติ (เนื่องจากร่างกายสะสมมาทั้งคืน) ซึ่งในกรณีนี้จะต่างจากการตรวจปัสสาวะเพื่อหาการตั้งครรภ์ในระยะแรกที่ควรใช้ปัสสาวะแรกในช่วงเช้าหลังตื่นนอน
  • ในขั้นตอนการเก็บปัสสาวะนั้นจะนิยมใช้ปัสสาวะช่วงกลาง (Midstream urine) ในการส่งตรวจ ซึ่งหมายถึง ปัสสาวะที่ไม่ใช่ช่วงแรกและช่วงท้ายของลำปัสสาวะที่ออกมา (ทำการเก็บได้โดยให้ผู้เข้ารับการตรวจถ่ายปัสสาวะช่วงแรกทิ้งไปส่วนหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยเอากระปุกเก็บตัวอย่างปัสสาวะไปรองเก็บปัสสาวะช่วงกลาง เมื่อเก็บปัสสาวะได้ตามปริมาณที่ต้องการแล้วก็ให้ถ่ายปัสสาวะช่วงท้ายทิ้งไป) เพราะปัสสาวะในช่วงแรกจะมีโอกาสปนเปื้อนของเชื้อโรคที่ติดอยู่ภายในท่อปัสสาวะ รูเปิดท่อปัสสาวะ รวมถึงมือของผู้เข้ารับการตรวจ ส่วนปัสสาวะในช่วงท้ายนั้นอาจจะมีสารคัดหลั่งจากต่อมลูกหมากปนเปื้อนมาด้วยได้
  • การปล่อยทิ้งปัสสาวะเพื่อการส่งตรวจวิเคราะห์ไว้นานกว่า 1 ชั่วโมง อาจทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนได้

ขั้นตอนและวิธีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ

เนื่องจากการตรวจปัสสาวะนั้นมีความละเอียดอ่อนและมีความไวต่อสิ่งแปลกปลอมใด ๆ ดังนั้น ผู้รับการตรวจจึงต้องใช้ความระมัดระวังที่จะไม่นำสิ่งแปลกปลอมสกปรกใด ๆ เข้าไปแปดเปื้อนเพิ่มเติมลงในปัสสาวะอีก เพราะจะเป็นผลโดยตรงทำให้ผลการตรวจที่ออกมาผิดเพี้ยนแตกต่างจากความเป็นจริงได้ ทั้งนี้การเก็บตัวอย่างปัสสาวะจะมีขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้

  1. เจ้าหน้าที่หรือพยาบาลจะให้กระปุกเก็บตัวอย่างปัสสาวะให้แก่ผู้เข้ารับการตรวจ เพื่อให้นำไปเก็บตัวอย่างปัสสาวะในห้องสุขาด้วยตนเอง (โดยทั่วไปจะเป็นกระปุกพลาสติกทรงปากกว้างขนาดเล็กที่มีฝาปิด ที่แห้งและสะอาด ผู้เข้ารับการตรวจควรรักษาความสะอาดของกระปุกให้ดีอย่าให้มีสิ่งปนเปื้อนใด ๆ เช่น คริบลิปสติก คราบเครื่องสำอาง น้ำเปล่า น้ำยาฆ่าเชื้อ หรืออุจจาระปนเปื้อนเพิ่มเติมลงไป)
  2. เมื่อได้รับกระปุกเก็บตัวอย่างปัสสาวะมาแล้ว อย่างแรกก็ต้องดูชื่อตรงสติกเกอร์ที่ติดอยู่ข้างกระปุกด้วยว่าเป็นชื่อของท่านถูกต้องหรือไม่ หากชื่อไม่ตรงให้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อเปลี่ยนให้ถูกต้องทันที (ในระหว่างที่รอและยังไม่ได้ทำการเก็บปัสสาวะ ควรเก็บกระปุกเก็บปัสสาวะไว้กับตัว ห้ามนำไปทิ้งไว้ในที่ต่าง ๆ เพราะกระปุกของตนเองอาจไปสลับกับผู้เข้ารับการตรวจรายอื่นโดยไม่ตั้งใจได้)
  3. เมื่อถึงขั้นตอนการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องล้างมือของตนเองให้สะอาดเสียก่อน จากนั้นในผู้ชายให้ร่นหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศลง (ในกรณีที่ยังไม่ได้ขลิบ) แล้วทำให้ความสะอาดโดยล้างบริเวณรอบ ๆ รูเปิดของท่อปัสสาวะด้วยน้ำสะอาดและซับให้แห้งด้วยกระดาษชำระ ส่วนในผู้หญิงให้ทำความสะอาดบริเวณรูเปิดท่อปัสสาวะด้วยการใช้มือข้างหนึ่งถ่างแคมให้เห็นท่อปัสสาวะ พร้อมกับใช้มืออีกข้างทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้งด้วยกระดาษชำระจากท่อปัสสาวะไปทางทวารหนักเท่านั้น และไม่ใช้กระดาษชำระซ้ำ (เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารคัดหลั่งจากช่องคลอดและอุจจาระมาที่บริเวณรูเปิดท่อปัสสาวะ)
  4. จากนั้นทั้งผู้หญิงและผู้ชายให้เปิดฝากระปุกเก็บตัวอย่างปัสสาวะด้วยความระวังอย่าให้นิ้วมือถูกขอบกระปุกหรือสัมผัสกับส่วนในของกระปุกและจึงวางกระปุกที่เปิดฝาแล้วไว้ในที่ที่ปลอดภัยในห้องสุขานั้น แล้วให้ปัสสาวะช่วงแรกทิ้งลงในโถส้วมไปก่อนส่วนหนึ่งประมาณ 4-5 วินาที และจึงหยุดกั้นไว้ จากนั้นให้เอากระปุกมารองเก็บปัสสาวะที่ปล่อยออกมาใหม่ในช่วงกลางให้ได้ประมาณ 30-60 มิลลิลิตร หรือประมาณค่อนกระปุกของภาชนะบรรจุ (ในระหว่างที่เก็บอย่านำมือเข้าไปสัมผัสด้านในของกระปุก) จากนั้นให้ถ่ายปัสสาวะช่วงท้ายทิ้งไปให้เสร็จ ปิดฝากระปุก แล้วล้างมือให้สะอาดอีกครั้ง
  5. ตรวจดูความสะอาดบริเวณรอบภาชนะและปิดฝาให้เรียบร้อย แล้วจึงนำกลับไปส่งให้กับเจ้าหน้าที่หรือพยาบาล จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำไปตรวจหาค่าต่าง ๆ รวมทั้งการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูเซลล์ต่าง ๆ (เรียกการตรวจนี้ว่า “การตรวจปัสสาวะทางปฏิบัติการ”) ซึ่งขั้นตอนการตรวจจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง

วิธีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
IMAGE SOURCE : passionscienceblog.com

อย่างไรก็ตาม นอกจากการตรวจปัสสาวะแบบทั่วไปที่ใช้เป็นประจำ (U/A) ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีการตรวจปัสสาวะอื่น ๆ ที่จำเพาะต่อโรคหรือแต่ละภาวะอีกด้วย ซึ่งก็จะมีขั้นตอนและวิธีการเก็บปัสสาวะที่แตกต่างกันไป เช่น

  • การเก็บปัสสาวะแบบ 24 ชั่วโมง (24-hour Urine collection) เป็นการเก็บปัสสาวะเพื่อการตรวจวินิจฉัยบางโรค เช่น การตรวจในผู้ป่วยโรคไต ซึ่งทางโรงพยาบาลจะให้ภาชนะเก็บปัสสาวะมา 1 แกลลอน (ขนาดประมาณ 4 ลิตร) เพื่อใช้เก็บน้ำปัสสาวะตลอดช่วงเวลา 24 ชั่วโมง โดยจะเริ่มเก็บครั้งแรกหลังจากการถ่ายปัสสาวะทิ้งไป จากนั้นจึงเริ่มบันทึกเวลาการเก็บเริ่มต้นและครั้งต่อไปเรื่อย ๆ จนครบระยะเวลา 24 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดเวลาในการเก็บปัสสาวะครั้งสุดท้ายจึงนำไปส่งให้แพทย์เมื่อมีการนัดครั้งต่อไป (ในช่วงระหว่างการเก็บปัสสาวะควรเก็บขวดปัสสาวะไว้ในตู้เย็นเสมอ)
  • การเก็บปัสสาวะโดยใส่สายสวน (Catheter collection) สามารถเก็บได้ทั้งการใส่สายสวนแบบชั่วคราว และเก็บจากสายสวนปัสสาวะเดิมที่คาอยู่ในท่อปัสสาวะของผู้ป่วย เป็นวิธีการเก็บที่ช่วยให้ได้น้ำปัสสาวะที่ไม่ปนเปื้อน เพื่อนำไปเพาะเชื้อในกรณีที่คาดว่าเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรืออาจใช้ในกรณีอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยไม่สามารถปัสสาวะได้เอง มีอาการปวดอย่างรุนแรงในขณะปัสสาวะ
  • การเก็บปัสสาวะด้วยการเจาะหน้าท้อง (Suprapubic aspiration) เป็นวิธีการเก็บปัสสาวะที่เกิดการปนเปื้อนได้น้อยเมื่อเทียบกับวิธีอื่น ๆ แต่วิธีการทำก็อาจส่งผลรุนแรงได้ ส่วนใหญ่จะเหมาะกับเด็กทารกแรกเกิด ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถปัสสาวะได้เอง หรือในผู้ที่มีอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งทำให้ถ่ายปัสสาวะไม่ออกหรือปวดอย่างรุนแรงในขณะที่ปัสสาวะ โดยการตรวจจะใช้วิธีการเจาะบริเวณหน้าท้องและดูดเอาน้ำปัสสาวะออกมาจากกระเพาะปัสสาวะโดยตรง
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งบางประเภท เนื่องจากการตรวจปัสสาวะอาจช่วยให้พบสารต่าง ๆ ที่อยู่ในเกณฑ์สูงผิดปกติหรือแทบไม่พบในน้ำปัสสาวะของผู้ที่มีสุขภาพดี การตรวจปัสสาวะจึงอาจช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งบางประเภทได้ เช่น โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะจากการตรวจพบเซลล์เม็ดเลือดปริมาณมากในน้ำปัสสาวะจนทำให้น้ำปัสสาวะมีสีแดงหรือสีชมพู หรือการตรวจพบเบ๊นซ์โจนส์โปรตีน (Bence jones protein) สูงก็อาจจะเป็นสัญญาณของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัลติเพิลมัยอิโลม่า (Multiple myeloma)
  • การตรวจสารเสพติดในน้ำปัสสาวะ เป็นการตรวจหาสารเสพติดบางประเภทที่ผิดกฎหมาย รวมถึงยาบางชนิด หรือแอลกอฮอล์ เช่น แอมเฟตามีน เบนโซไดอะซีปีน กัญชา โคเคน โอปิออยด์จากฝิ่น ซึ่งมักตรวจในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจได้รับสารเหล่านี้เข้าไปในร่างกาย หรือตรวจในกรณีทางกฎหมาย หรือตรวจเบื้องต้นก่อนเข้าทำงานตามบริษัทต่าง ๆ
  • การตรวจการตั้งครรภ์ เป็นการตรวจที่ใช้หลักการเก็บปัสสาวะคล้าย ๆ กับการตรวจในโรงพยาบาล แต่การแปลผลจะใช้แถบจุ่มที่เคลือบสารเคมีที่จะมีการเปลี่ยนสีเมื่อผสมกับปัสสาวะ โดยสามารถตรวจได้จากที่บ้านด้วยชุดตรวจแบบสำเร็จรูปที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปและใช้งานได้ง่าย

การติดตามผลหลังการตรวจปัสสาวะ

หลังการตรวจปัสสาวะผู้รับการตรวจสามารถกลับได้บ้านตามปกติ เพราะเป็นการตรวจที่ไม่มีความเสี่ยงหรือมีอันตรายใด ๆ และมีขั้นตอนการตรวจที่ใช้เวลาไม่นาน แต่ต้องรอผลการตรวจประมาณ 1-2 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล ส่วนตัวอย่างปัสสาวะที่เก็บได้จะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ตามขั้นตอนต่อไป

แพทย์ผู้สั่งตรวจปัสสาวะจะเป็นผู้ประเมินผลการตรวจ ซึ่งอาจเป็นแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาที่แต่ละบุคคลไปพบ เช่น สูตินรีแพทย์ แพทย์ที่เชี่ยวชาญระบบทางเดินปัสสาวะ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ฯลฯ โดยแพทย์จะนำมาแปลผลร่วมกับอาการผิดปกติ ประวัติการเจ็บป่วยของผู้เข้ารับการตรวจ การตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจอื่น ๆ ก่อนที่จะสรุปผลการตรวจ หลังจากนั้นจึงค่อยนัดผู้เข้ารับการตรวจกลับมาฟังผลและพูดคุยปรึกษาแพทย์อีกครั้ง หากผลการตรวจเป็นปกติก็สามารถกลับบ้านได้เลย แต่หากผลออกมาผิดปกติ แพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติ เช่น การตรวจเลือด, การตรวจสารเคมีในเลือด (CMP), การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC), การตรวจการทำงานของตับ, การตรวจการทำงานไต, การเพาะหาเชื้อในปัสสาวะ (Urine Culture), การถ่ายภาพทางรังสี (เช่น CT-scan, MRI) ฯลฯ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และความต้องการของผู้ป่วย

การแปลผลตรวจปัสสาวะ

ในการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ (UA) โดยทั่วไปทางห้องปฏิบัติการของสถานพยาบาลจะทำการตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธีการ 3 อย่าง คือ การตรวจดูลักษณะทางกายภาพทั่วไป (Visual examination), การตรวจสอบสารเคมีในน้ำปัสสาวะ (Chemical examination) และการตรวจวิเคราะห์ผ่านกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic examination) เพื่อตรวจสอบว่าปัสสาวะนั้นมีความผิดปกติหรือไม่อย่างไร ซึ่งมีรายละเอียดดังหัวข้อถัดไป

ผลตรวจปัสสาวะ
IMAGE SOURCE : pantip.com (by โปรดใส่ซองกันกระแทก)

การตรวจดูลักษณะทางกายภาพทั่วไป

การตรวจดูลักษณะทางกายภาพ หรือการตรวจดูด้วยสายตา (Visual examination) เป็นการสังเกตสีและความใสของปัสสาวะเป็นหลัก ซึ่งสีและความใสอาจช่วยบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างได้ แต่ก็มีหลายปัจจัยที่สามารถส่งผลต่อลักษณะของน้ำปัสสาวะได้ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่กิน ปริมาณน้ำที่ดื่ม ยา หรือโรคประจำตัว

  • สีปัสสาวะ (Color) โดยปกติจะมีสีเหลืองอ่อน แต่ถ้าดื่มน้ำน้อยสีจะเหลืองเข้มขึ้น หรือถ้าดื่มน้ำมากสีปัสสาวะก็อาจออกไปทางใสหรือไม่มีสีเลยก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม สีของปัสสาวะก็ยังขึ้นอยู่กับอาหาร ยา หรือการป่วยเป็นโรคด้วย
    • สีของปัสสาวะปกติ คือ สีเหลือง (Yellow) หรือสีเหลืองอ่อน (Pale yellow) ถ้าดื่มน้ำน้อยสีปัสสาวะจะออกไปทางเข้ม แต่ในผู้ที่ดื่มน้ำมากปัสสาวะอาจจะใสไม่มีสี (Colorless) ก็ได้
    • สีของปัสสาวะที่ผิดปกติ อาจเกิดจากอาหาร ยา หรือโรคและภาวะต่าง ๆ ได้ คือ
      • ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม (Dark yellow) ไปจนถึงสีเหลืองอำพัน (Dark amber) ถ้าเข้มไม่มากก็อาจเกิดการดื่มน้ำน้อยหรือจากภาวะขาดน้ำ แต่ถ้าเข้มมากจนคล้ำก็อเกิดจากโรคไวรัสตับอักเสบ โรคตับอักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ ดีซ่าน การอุดกั้นทางเดินน้ำดี หรือมีน้ำดีออกมาในปัสสาวะ หรือเกิดจากโรคมะเร็งตับชนิดเกิดจากท่อน้ำดีในตับ โรคตับอ่อนอักเสบ โรคมะเร็งตับอ่อน
      • ปัสสาวะสีเหลืองสว่าง (Bright yellow) อาจเกิดจากการกินวิตามินรวม (Multivitamin) หรือวิตามินบีรวม (B complex)
      • ปัสสาวะสีส้ม (Orange) อาจเกิดจากการขาดน้ำหรือกินแครอท วิตามินซี หรือวิตามินบี 2 เป็นจำนวนมาก หรือเกิดจากการกินยาบางชนิด เช่น ยารักษาวัณโรค (Rifampicin), ยาลดการระคายเคืองทางเดินปัสสาวะ (Pyridium), ยาฟีนาซีติน (Phenacetin), ยาซัลฟาซาลาซีน (Sulfasalazine) ฯลฯ
      • ปัสสาวะสีแดง (Red) อาจเกิดจากการกินหัวบีทรูท แก้วมังกรแดง หรือแบล็คเบอร์รี่ในปริมาณมาก (เนื่องจากสารแอนโทไซยานิน) หรือเกิดจากการได้รับยาสลบ (Propofal) ยาต้านชักเฟนิโทอิน (Phenytoin) หรือยาแก้โรคจิตเวช (Chlorpromazine) เช่น ยาฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine) หรือเกิดจากการมีเลือดปนในปัสสาวะ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (UTI) นิ่วในไต, นิ่วในท่อไต, ไตอักเสบ, กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งของไต, ภาวะฮีโมโกลบินในปัสสาวะ (Hemoglobinuria) เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolysis), ภาวะไมโอโกลบินในปัสสาวะ (Myoglobinuria) เนื่องจากกล้ามเนื้อสูญสลาย (Rhabdomyolysis), ภาวะเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะหลังจากการออกกำลังกายอย่างหนัก (Exercise-induced hematuria), โรคไตจากภาวะ IgA สะสม (IgA Nephropathy), โรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria) ซึ่งโรคหรือภาวะเหล่านี้สามารถทำให้ปัสสาวะเป็นสีแดง (Red) หรือสีแดงออกน้ำตาล (Red brown) หรือสีน้ำตาล (Brown) ได้เช่นกัน
      • ปัสสาวะสีน้ำตาล (Brown) สีน้ำตาลเข้ม (Dark brown) หรือสีโค้ก (Cola-colored) อาจเกิดจากการกินถั่วปากอ้าในปริมาณมาก การกินยาบางชนิด เช่น ยาระบายเซนน่า (Senna), ยาระบายซอร์บิทอล (Sorbitol), ยาคลายกล้ามเนื้อเมโทคาร์บามอล (Methocarbamol), ยาปฏิชีวนะไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin), ยาปฏิชีวนะเมโทรนิดาโซล (Metronidazole), ยาฆ่าเชื้อรักษาอาการท้องร่วงฟูราโซลิโดน (Furazolidone), ยารักษาโรคพาร์กินสัน (Levodopa), ยาฆ่าเชื้อ (Metronidazole), ยาฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Nitrofurantoin), ยารักษามาลาเรียไพรมาควิน (Primaquine) หรือคลอโรควิน (Chloroquine) การมีรงควัตถุน้ำดี (Bile pigment) อยู่ในปัสสาวะ หรือเกิดจากการมีเลือดปนในปัสสาวะหรือมีเม็ดเลือดแตกในร่างกายแล้วถูกขับออกมาในปัสสาวะจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ในคนที่เป็นโรคขาดเอนไซม์ G6PD ที่มักจะมีอาการเม็ดเลือดแตกง่ายให้เห็นเป็นครั้งคราว หรือเกิดจากโรคทางพันธุกรรมที่ขาดเอนไซม์ในการสร้างฮีมในเม็ดเลือดแดงที่เรียกว่าโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria) ซึ่งพบได้ยาก หรือการติดเชื้อแรง ๆ เช่น มาลาเรียก็ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้
      • ปัสสาวะสีดำ (Black) พบได้ในโรคแอลแคปโตนูเรีย (Alkaptonuria) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้ไม่บ่อย
      • ปัสสาวะสีขาว (White) อาจเกิดจากการมีหนองปนในปัสสาวะ คือมีเซลล์เม็ดเลือดขาวปนอยู่ในปัสสาวะจำนวนมาก มักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น กรวยไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือในผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง หรือในผู้ติดเชื้อหนองใน (Gonorrhea) หรือเกิดจากการมีน้ำเหลืองในปัสสาวะ (Chyluria) จากการติดเชื้อพยาธิเท้าช้าง (Filariasis) หรือผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดไตบางส่วน การจี้ไตด้วยไตด้วยไฟฟ้าหรือคลื่นเสียงเพื่อรักษาโรคบางชนิด เช่น เนื้องอก หรือจากอุบัติเหตุของไต รวมถึงการมีผลึกฟอสเฟตในปัสสาวะจำนวนมากก็ทำให้ปัสสาวะขุ่นจนดูเป็นสีขาวได้
      • ปัสสาวะสีเขียว (Green) อาจเกิดจากการกินอาหารบางอย่าง เช่น หน่อไม้ฝรั่งจำนวนมาก หรือเกิดจากการได้รับยาบางชนิด เช่น ยาสลบ (Propofal), เมทิลีนบลู (Methylene blue), อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) หรืออินโดเมธาซิน (Indomethacin)
      • ปัสสาวะสีน้ำเงิน (Blue) อาจเกิดจากยาเมทิลีนบลู (Methylene blue), อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) หรืออินโดเมธาซิน (Indomethacin), รีซอร์ซินอล (Resorcinol), ไตรแอมเทอรีน (Triamterene), ไซเมทิดีน (Cimetidine), โปรเมทาซีน (Promethazine) ฯลฯ
      • ปัสสาวะใสไม่มีสี (Colorless) ในกรณีที่ไม่ได้ดื่มน้ำมากก็อาจเกิดจากโรคไตหรือโรคเบาจืด
  • ความใสของปัสสาวะ (Clarity) คือ ค่าที่บอกถึงความขุ่นใสของปัสสาวะว่าอยู่ในระดับ ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ 1.ใส (Clear) ไม่เห็นตะกอนในปัสสาวะ, 2.ขุ่นเล็กน้อย (Mildly cloudy หรือ Slightly cloudy), 3.ขุ่น (Cloudy) และ 4.ขุ่นมากหรือขุ่นข้น (Turbid หรือ Turbidity) ซึ่งปัสสาวะที่ขุ่นนอกจากจะเกิดจากความผิดปกติหรือโรคบางอย่างได้แล้ว ยังอาจเกิดจากอาหารที่กิน ปริมาณน้ำที่ดื่ม หรือยาที่ใช้อยู่เป็นประจำได้ด้วย
    • ภาวะปกติ คือ ปัสสาวะที่มีความใสเมื่อถ่ายเสร็จใหม่ ๆ แต่ปัสสาวะที่ปกตินี้อาจจะมีความขุ่นได้บ้างเล็กน้อยในกรณีที่มีการปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศ เศษเซลล์เยื่อบุ ผลึกที่พบได้ทั่วไปในปัสสาวะ ไปจนถึงสิ่งปนเปื้อน เช่น โลชั่นทาผิว และแป้ง
    • ภาวะผิดปกติ คือ ปัสสาวะที่มีความขุ่นเมื่อถ่ายเสร็จใหม่ ๆ ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
      • ร่างกายมีภาวะขาดน้ำอย่างมาก
      • มีเม็ดเลือดแดงอยู่ในปัสสาวะหรือปัสสาวะเป็นเลือด
      • มีเม็ดเลือดขาวอยู่ในปัสสาวะจากการอักเสบของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือปัสสาวะเป็นหนองจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
      • นิ่วในไต หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
      • ปัสสาวะอาจถูกปะปนด้วยตัวอสุจิ แบคทีเรีย พยาธิ หรือยีสต์
      • มีโมเลกุลสารเคมีต่าง ๆ รั่วออกมาในปัสสาวะ เช่น โปรตีนไข่ขาว สารคีโตน
      • ปัสสาวะอาจมีผลึกของสารบางชนิด เช่น ผลึกฟอสเฟต, ผลึกยูเรตจากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง หรือมีสารออกซาเลตในปัสสาวะสูงเกินไป
      • ปัสสาวะปนเปื้อนกับอุจจาระในกรณีที่มีรูทะลุระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับลำไส้ใหญ่
      • ภาวะช่องคลอดอักเสบ
      • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน
      • ปัสสาวะมีลักษณะขาวขุ่นคล้ายน้ำนม (Chyluria) เป็นปัสสาวะที่มีน้ำเหลืองหรือไขมันปน เช่นในโรคเท้าช้าง จากการผ่าตัดไตเพียงบางส่วน (Partial nephrectomy) หรือจากการจี้ไตด้วยไฟฟ้าหรือคลื่นเสียง (Ablative) เพื่อการรักษาโรคบางชนิด เช่น เนื้องอก หรืออุบัติเหตุของไต
  • กลิ่นของปัสสาวะ (Odor) กลิ่นที่แรงมักจะมีความสัมพันธ์กับความเข้มข้นของปัสสาวะมากกว่าจะบอกความผิดปกติ เช่น การติดเชื้อในทางเดิปัสสาวะ ดังนั้น ส่วนใหญ่ในการรายงานผลการตรวจปัสสาวะทั่วไปก็จะไม่มีการรายงานเรื่องกลิ่นของปัสสาวะไว้
    • กลิ่นปัสสาวะที่ปกติ คือ มีกลิ่นแอมโมเนียจาง ๆ ไม่แรงนัก (เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารยูเรียในปัสสาวะไปเป็นแอมโมเนีย) หรืออาจไม่มีกลิ่น แต่ถ้ากินอาหารบางอย่างมาก ๆ บ่อย ๆ หรือถ้าดื่มน้ำน้อยสารต่าง ๆ ในปัสสาวะก็จะมีความเข้มข้นขึ้นและก่อให้เกิดกลิ่นตามสารนั้น ๆ ได้ เช่น กาแฟ สะตอ อาหารประเภทหัวหอม เครื่องเทศ หน่อไม้ฝรั่ง หรือจากยาบางชนิด เช่น วิตามินต่าง ๆ
    • กลิ่นปัสสาวะที่ผิดปกติ คือ กลิ่นหวานเหมือนผลไม้ (อาจเป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดี), กลิ่นเหม็นเน่า (อาจมีการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ), กลิ่นเหม็นอับ (อาจเกิดจากโรคตับเรื้อรัง เช่น โรคตับแข็ง), กลิ่นอุจจาระ (อาจเกิดจากการมีรูทะลุระหว่างลำไส้ใหญ่และทางเดินปัสสาวะ), กลิ่นเหมือนน้ำตาลไหม้ (อาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมที่มีความผิดปกติในการสันดาปโปรตีน/กรดอะมิโนบางชนิดที่เรียกว่าโรค Maple syrup urine disease (MSUD) ซึ่งเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก ๆ)

การตรวจปัสสาวะดูลักษณะทางกายภาพ
IMAGE SOURCE : www.sweet-cures.com

การตรวจวิเคราะห์ทางเคมี

การตรวจวิเคราะห์ทางเคมี หรือการตรวจสอบสารเคมีในน้ำปัสสาวะ (Chemical examination) เป็นการตรวจดูสารเคมีที่พบในน้ำปัสสาวะ เพราะสารเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งบ่องถึงสุขภาพและความผิดปกติของร่างกายในขณะนั้นได้ ซึ่งทางห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่จะใช้แผ่นตรวจสำเร็จรูป (Test strip หรือ Dipstick) ที่เป็นแผ่นพลาสติกลักษณะเป็นแท่ง บนแผ่นพลาสติกในแต่ละส่วนจะมีการเคลือบสารเคมีเอาไว้ ในการตรวจนักเทคนิคการแพทย์จะใช้แผ่นตรวจนี้จุ่มลงไปในน้ำปัสสาวะ เมื่อน้ำปัสสาวะสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นตัวทดสอบก็จะเกิดปฏิกิริยาเปลี่ยนสี จากนั้นจึงนำแผ่นตรวจที่เปลี่ยนสีแล้วมาอ่านผลด้วยเครื่องอ่านผลอัตโนมัติ ก็จะทำให้ทราบว่าปัสสาวะนั้นมีสารเคมีชนิดใดอยู่บ้าง ส่วนสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบในน้ำปัสสาวะที่สามารถตรวจได้ด้วยแผ่นตรวจสำเร็จรูปนั้นก็มีมากกว่า 100 ชนิด แต่ในการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะโดยทั่วไปจะมีสารเคมีที่นิยมทำการตรวจและรายงานผลเพียงไม่กี่ตัว ดังนี้

  • ค่าความถ่วงจำเพาะ (Specific gravity หรือ Sp.Gr. หรือ SG) คือ ค่าความหนาแน่นของน้ำปัสสาวะเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำบริสุทธิ์ในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยค่าปกติจะอยู่ในช่วง 1.003 – 1.030 ซึ่งค่านี้จะเปลี่ยนแปลงตามปริมาณน้ำที่ดื่ม ถ้าดื่มน้ำมากค่าก็จะต่ำ (ปัสสาวะเจือจาง) ถ้าดื่มน้ำน้อยหรือขาดน้ำค่านี้ก็จะสูงขึ้น (ปัสสาวะมีความเข้มข้นขึ้น)
    • ค่าความถ่วงจำเพาะที่ต่ำกว่าปกติ (ปัสสาวะเจืองจางเพราะมีสารต่าง ๆ ในปัสสาวะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณของน้ำปัสสาวะ) อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การดื่มน้ำมากเกินไป, โรคเบาจืด (Diabetes insipidus), เบาจืดเนื่องจากไต (Nephrogenic diabetes insipidus), โรคไตอักเสบ, โรคไตเรื้อรัง, ภาวะที่มีการทำลายของท่อหน่วยไตอย่างเฉียบพลัน (Acute tubular necrosis), โรคกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis), ต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ (Adrenal insufficiency), การใช้ยาขับปัสสาวะ (Diuretic use)
    • ค่าความถ่วงจำเพาะที่สูงกว่าปกติ (ปัสสาวะมีความเข้มข้นจากการมีสารต่าง ๆ ในปัสสาวะสูงเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณของน้ำปัสสาวะ) อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) การดื่มน้ำน้อย, ภาวะที่มีการสูญเสียน้ำ (เช่น เหงื่อออกมาก มีไข้ อาเจียนรุนแรง หรือท้องร่วงท้องเสียรุนแรง), ภาวะมีน้ำตาลปะปนอยู่มากในปัสสาวะ (โรคเบาหวาน), กลุ่มอาการเนฟโฟรติก (Nephrotic syndrome), โรคหลอดเลือดไตตีบ, โรคหลอดเลือดฝอยที่ไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute glomerulonephritis), ภาวะตับวาย (Liver failure), ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) ที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง, ภาวะช็อก (Shock)
  • ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) คือ การตรวจหาว่าตัวอย่างปัสสาวะนั้นมีความเป็นกรดหรือด่างมากน้อยเพียงใด โดยปกติจะมีค่าอยู่ในช่วง 4.6 – 8.0 (เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5.5 – 6.5 ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ดื่ม ประเภทอาหาร และยาที่บริโภค)
    • ค่า pH ที่ต่ำกว่าปกติ (ปัสสาวะมีความเป็นกรดสูง) อาจเกิดได้จากการบริโภคเนื้อสัตว์มากจนเกินไปหรืออาหารที่มีความเป็นกรด เช่น แครนเบอร์รี่ (Cranberry), การดื่มแอลกอฮอล์มาก, การกินยาบางชนิด (กินยาแอสไพรินเกินขนาด), ภาวะขาดน้ำรุนแรงหรือท้องเสียรุนแรง, ภาวะอดอาหารหรือโรคขาดอาหาร, ภาวะเลือดเป็นกรดจากระบบเมตาบอลิก (Metabolic acidosis), ภาวะเลือดเป็นกรดจากระบบหายใจ (Respiratory acidosis), โรคเบาหวานในระยะที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้, การติดเชื้อ, โรคระบบทางเดินหายใจรุนแรงที่ผู้ป่วยหายใจไม่สะดวกจนก่อการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด (เช่น โรคถุงลมปอดโป่งพอง)
    • ค่า pH ที่สูงกว่าปกติ (ปัสสาวะมีความเป็นด่างสูง) อาจเกิดได้จากการกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำและการกินผักมาก ๆ (เช่น คนที่กินเจ คนที่เป็นมังสวิรัติ รวมถึงการบริโภคอาหารที่มีซิเตรตสูง อย่างผลไม้กลุ่มซิตรัส เช่น ส้ม ส้มโอ มะนาว), อาการอาเจียนรุนแรง, โรคไตเรื้อรัง, โรคท่อปัสสาวะอักเสบ, การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (เช่น จากภาวะมีการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ), การมีภาวะหรือปัญหาทางอารมณ์จิตใจที่ส่งผลให้เกิดอาการหายใจคล้ายอาการหอบจากโรคหืด (Hyperventilation syndrome), โรคท่อหน่วยไตมีความผิดปกติในการขับกรด (Renal tubular acidosis) ชนิด Type I (Distal), การได้รับยาบางชนิด หรือได้รับพิษจากยากลุ่มซาลิซิเลต (Salicylate poisoning)
  • โปรตีน (Protein หรือ PRO) หมายถึง โมเลกุลโปรตีนที่รั่วออกมาในปัสสาวะ (เช่น อัลบูมิน (Albumin) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดเดียวกับในไข่ขาว) ซึ่งโดยปกติจะต้องตรวจไม่พบในปัสสาวะ หากเมื่อไหร่ที่ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะก็จะเป็นตัวบอกให้แพทย์ทราบว่า ไตเริ่มมีปัญหาในการทำงาน ซึ่งอาจเกิดจากโรคไตเองหรือจากโรคของอวัยวะอื่น ๆ ที่ส่งผลมาถึงไต เพราะไตปกติจะกรองโปรตีนกลับคืนเข้าสู่ร่างกาย ไม่ปล่อยออกมาในปัสสาวะมากในปริมาณจนตรวจพบได้
    • ภาวะปกติ คือ ตรวจไม่พบโปรตีนในปัสสาวะ (Negative) หรือตรวจพบได้น้อยมาก หรืออาจตรวจพบได้ชั่วคราวในบางภาวะ เช่น ในภาวะที่อากาศหนาวจัดหรือร้อนจัด มีไข้สูง มีความเครียดสูง การออกกำลังกายอย่างหักโหม การยืนนาน ๆ การได้รับยาแอสไพริน หรือมีการเก็บปัสสาวะในขณะที่มีการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายหรือในขณะที่มีประจำเดือนของผู้หญิง
    • ภาวะผิดปกติ คือ ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ซึ่งอาจเกิดจากโรคเบาหวานที่เริ่มมีโรคแทรกซ้อน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคไตชนิดต่าง ๆ (เช่น โรคไตอักเสบ โรคไตเรื้อรัง โรคไตรั่วหรือกลุ่มอาการเนฟโฟรติก), การตั้งครรภ์ระยะท้าย ๆ, ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ซึ่งจะมีอาการความดันโลหิตสูงพร้อม ๆ กับมีปริมาณโปรตีนรั่วสู่น้ำปัสสาวะจำนวนหนึ่ง, ภาวะหัวใจวาย (Heart failure), การติดเชื้อแบคทีเรียที่หัวใจ (Bacterial endocarditis), โรคมะเร็งบางชนิด (เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว), กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, ท่อปัสสาวะอักเสบ, โรคกรวยไตอักเสบ (Glomerulonephritis), โรคภูมิต้านตนเอง (เช่น โรคเอสแอลอี), โรคไข้จับสั่นหรือมาลาเรีย, การได้รับสารพิษจากโลหะหนักบางชนิด (เช่น สารตะกั่ว ปรอท แคดเมียม) หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาต้านการอักเสบในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) รวมถึงการได้รับสารเสพติดบางชนิดด้วย เช่น เฮโรอีน ฝิ่น
  • น้ำตาล (Sugar) หรือกลูโคส (Glucose หรือ GLU) กลูโคสเป็นน้ำตาลประเภทหนึ่งที่พบในเลือด ซึ่งโดยปกติจะไม่พบเลยหรือพบได้น้อยมากในปัสสาวะ ยกเว้นในรายที่เป็นโรคเบาหวานหรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับไต
    • ภาวะปกติ คือ ตรวจไม่พบกลูโคสในปัสสาวะ (Negative) หรือพบเพียงเล็กน้อยในหญิงตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพดีบางราย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ
    • ภาวะผิดปกติ พบกลูโคสมากในปัสสาวะ อาจจะเป็นโรคเบาหวาน (ควรงดอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อเจาะเลือดดูระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อยืนยันโรคเบาหวานต่อไป) หรือเกิดจากโรคเบาหวานที่ไม่ได้ควบคุมให้ดี หรืออาจเกิดจากโรคไต (เช่น กลุ่มอาการความผิดปกติของการดูดซึมกลับของท่อหน่วยไตส่วนต้น (Fanconi syndrome)) โรคตับ สมองได้รับการบาดเจ็บ หรือเกิดจากกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome)
  • คีโตน (Ketone หรือ KET) หมายถึง สารคีโตนรั่วออกมาในปัสสาวะ ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากร่างกายเผาผลาญไขมันมาทำให้เกิดพลังงานแทนการใช้กลูโคส ซึ่งตามปกติแล้วร่างกายจะใช้กลูโคสเพราะเราได้มาง่าย ๆ จากอาหารคาร์โบไฮเดรต เช่น น้ำตาลและแป้ง แต่ถ้าไม่มีกลูโคส ตับก็จะย่อยไขมันออกมาเป็นกรดไขมันอิสระแล้วย่อยต่อไปเป็นคีโตน เมื่อได้คีโตนแล้วก็เอาไปให้เซลล์ใช้เป็นพลังงาน แต่บางทีหากส่งคีโตนให้เซลล์มากเกินไปเซลล์ก็อาจไม่ใช้คีโตนเสียดื้อ ๆ จึงทำให้คีโตนเหลืออยู่มากและต้องระบายออกทางลมหายใจหรือไม่ก็ระบายออกปัสสาวะ
    • ภาวะปกติ คือ ต้องตรวจไม่พบสารคีโตนในปัสสาวะ (Negative) แต่การตรวจพบสารคีโตนในระดับสูง อาจเป็นเรื่องปกติสำหรับหญิงตั้งครรภ์บางคนได้
    • ภาวะผิดปกติ คือ พบสารคีโคนในปัสสาวะ (1+ เท่ากับมีแต่น้อย, 2+ เท่ากับมีปานกลาง, 3+ เท่ากับมีมาก) อาจแสดงว่าเกิดจากการอดหรือขาดอาหารจากโรคคลั่งผอม (Anorexia nervosa), โรคล้วงคอ (Bulimia nervosa), โรคพิษสุรา (Alcoholism) หรือเกิดจากการกินอาหารทุพโภชนา (กินอาหารในกลุ่มของน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ) หรือเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินอาหารได้หรืออาเจียนตลอดเวลาหลายวัน หรือเกิดจากโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ (เซลล์ร่างกายเอากลูโคสไปย่อยเป็นพลังงานไม่ได้ ต้องหันไปใช้ไขมันแทน) หรือจากภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน (DKA) จากการได้รับสารพิษ เช่น ไอโซโพรพานอล (Isopropanol) จากจากดมยาสลบด้วย Ether anaesthesia หรือเกิดจากการออกกำลังกายอย่างหนัก (Strenuous exercise) ซึ่งจะต้องมีการติดตามผลหรือตรวจในขั้นต่อไปเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติ
  • ไนไตรท์ (Nitrites หรือ NIT) ปกติจะตรวจไม่พบสารไนไตรท์ในปัสสาวะ (Negative) หากตรวจพบก็สามารถบ่งชี้ได้ว่าระบบทางเดินปัสสาวะกำลังเกิดการติดเชื้อ (UTI) จากแบคทีเรียชนิดที่สามารถเปลี่ยนจากสารไตเตรตให้กลายเป็นสารไนไตรท์ได้ เช่น อีโคไล (E. coli), โปรเตียส (Proteus), เครปซีลลา (Klebsiella), ซิโตรแบคเทอร์ (Citrobactor), เอ็นเทอโรแบคเตอร์ (Enterobactor) และซูโดโมนาส (Pseudomonas) หรือไม่ก็อาจตรวจพบในกรณีเกิดเลือดออกในปัสสาวะขนาดหนักก็ได้ อย่างไรก็ตาม การตรวจไม่พบสารไนไตรท์ก็ไม่ได้ยืนยันว่าไม่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะแน่นอนเสมอไป
  • บิลิรูบิน (Bilirubin หรือ BIL) เป็นสารที่สร้างมาจากตับ ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง เมื่อตับสร้างบิลิรูบินแล้วจะขับออกมาเป็นส่วนหนึ่งของน้ำดี (Bile) และน้ำดีถูกขับเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารเพื่อทำหน้าที่ช่วยในการย่อย บิลิรูบินที่พบในทางเดินอาหารนั้นจะเป็นชนิดไม่ละลายน้ำซึ่งจะไม่สามารถผ่านหน่วยกรองของไตได้ แต่สามารถทำปฏิกิริยายึดติดกับโมเลกุลกรดกลูโคโรนิค (Glucoronic acid) ที่ตับได้เป็นบิลิรูบินชนิดที่ละลายน้ำได้ ซึ่งจะถูกกรองผ่านหน่วยกรองของไตและถูกขับออกมาทางปัสสาวะได้ โดยในคนปกตินั้นจะตรวจไม่พบบิลิรูบินในปัสสาวะ
    • ภาวะปกติ คือ ตรวจไม่พบบิลิรูบินในปัสสาวะ (Negative)
    • ภาวะผิดปกติ คือ ตรวจพบบิลิรูบินในปัสสาวะ ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่ามีภาวะตับอักเสบ หรือมีภาวะอุดกั้นของทางเดินน้ำดีเกิดขึ้น (ถือเป็นตัวบ่งชี้ที่เกิดได้ไวกว่าอาการทางร่างกาย เช่น อาการดีซ่านตัวเหลือง) โดยภาวะที่เกิดการอุดตันของทางเดินน้ำดีนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคตับแข็ง, นิ่วที่อุดตันทางเดินน้ำดี, ทางเดินน้ำดีตีบแคบ, โรคมะเร็งที่ตับหรือทางเดินน้ำดี (เช่น มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งที่ลุกลามมาเบียดทางเดินน้ำดี มะเร็งตับอ่อนที่เกิดขึ้นที่ส่วนหัวของตับอ่อน) รวมถึงการใช้ยาที่ผลมีข้างเคียงทำให้น้ำดีไหลช้าอย่างยาสเตียรอยด์หรือยาแก้โรคจิตเวช ซึ่งจะทำให้พบมีบิลิรูบิน (ชนิดละลายน้ำได้) สะสมเพิ่มขึ้นในเลือดและถูกขับออกมาทางปัสสาวะให้ตรวจพบได้ ดังนั้น หากตรวจพบบิลิรูบินในปัสสาวะ ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม โดยเฉพาะการตรวจการทำงานของตับ (Liver function test)
  • ยูโรบิลิโนเจน (Urobilinogen หรือ UBG) เมื่อบิลิรูบินถูกขับออกมาทางเดินอาหาร จะถูกแบคทีเรียในลำไส้เปลี่ยนเป็นสารยูโรบิลิโนเจน ส่วนหนึ่งของสารนี้จะถูกดูดซึมกลับไปที่ตับเพื่อนำไปสร้างเป็นบิลิรูบินมาใช้ใหม่ แต่อีกส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดปกติและไปผ่านหน่วยกรองของไต ทำให้ในคนทั่วไปจะสามารถตรวจพบยูโรบิลิโนเจนในปัสสาวะในระดับต่ำ ๆ ได้เป็นปกติ โดยการตรวจหาสารยูโรบิลิโนเจนในปัสสาวะนี้มักใช้พิจารณาร่วมกับการตรวจบิลิรูบินในปัสสาวะเพื่อแยกชนิดของโรคตับ ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก และการอุดตันของทางเดินน้ำดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าตรวจเป็นระยะ ๆ ก็จะช่วยติดตามการดำเนินของโรคและดูการตอบสนองต่อการรักษาได้ด้วย
    • ภาวะปกติ คือ ตรวจไม่พบสารยูโรบิลิโนเจนในปัสสาวะ (Negative) หรือพบในระดับต่ำ ๆ
    • ภาวะผิดปกติ คือ ตรวจพบสารยูโรบิลิโนเจนในปัสสาวะสูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากภาวะเม็ดเลือดแตก (Hemolytic anemia) ที่ทำให้ระดับยูโรบิลิโนเจนในปัสสาวะสูงขึ้น แต่ระดับบิลิรูบินในปัสสาวะไม่สูงขึ้น หรืออาจเกิดจากภาวะที่เกิดการทำลายของเนื้อตับ (Hepatic disease) เช่น ตับแข็ง (Cirrhosis), ตับอักเสบจากไวรัส (Viral hepatitis), ตับอักเสบจากยาหรือสารพิษ (Hepatitis due to drugs or toxic substances) ที่ทำระดับยูโรบิลิโนเจนในปัสสาวะสูงขึ้นได้เช่นกัน แต่ระดับบิลิรูบินในปัสสาวะอาจจะสูงขึ้นหรือไม่ก็ได้ ส่วนภาวะที่เกิดการอุดตันของทางเดินน้ำดี (Biliary obstruction) นั้นมักจะทำให้ระดับบิลิรูบินในปัสสาวะสูงขึ้น แต่ไม่ทำให้ระดับยูโรบิลิโนเจนในปัสสาวะสูงขึ้นแต่อย่างใด ส่วนการใช้ยาฆ่าเชื้อแบบออกฤทธิ์กว้าง (Broad-spectrum antibiotic) ที่ทำให้แบคทีเรียในลำไส้ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนบิลิรูบินไปเป็นสารยูโรบิลิโนเจนตาย ก็อาจทำให้ตรวจระดับยูโรบิลิโนเจนในปัสสาวะไม่พบได้เช่นกัน
  • เม็ดเลือดขาว (Leukocyte หรือ LEU) คือ การตรวจหาเอนไซม์ลิวโคไซต์เอสเทอเรส (Leukocyte esterase) ในปัสสาวะ ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่พบได้ในเซลล์เม็ดเลือดขาว เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวแตกสลายก็จะทำให้สามารถตรวจพบเอนไซม์ลิวโคไซต์เอสเทอเรสในปัสสาวะได้ โดยในปัสสาวะของคนปกติจะมีเม็ดเลือดขาวปะปนอยู่ แต่มีจำนวนไม่มาก จึงทำให้โดยปกติแล้วจะตรวจไม่พบเอนไซม์ลิวโคไซต์เอสเทอเรส
    • ภาวะปกติ คือ ตรวจไม่พบเอนไซม์ลิวโคไซต์เอสเทอเรส (Negative)
    • ภาวะผิดปกติ คือ ตรวจพบเอนไซม์ลิวโคไซต์เอสเทอเรส ซึ่งแสดงว่าปัสสาวะมีเม็ดเลือดขาวปะปนอยู่เป็นจำนวนมากขึ้น หรือเรียกว่าภาวะมีเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ (Leukocyturia) โดยภาวะที่มีเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะนี้มักสัมพันธ์กับการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (UTI) เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ โดยเฉพาะหากตัวอย่างปัสสาวะนั้นตรวจพบสารไนไตรต์ (Nitrite) ในปัสสาวะด้วย และการไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเพาะเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะ ก็จะช่วยยืนยันสนับสนุนการติดเชื้อในทางปัสสาวะได้เพิ่มขึ้น แต่หากเพาะเชื้อแล้วเชื้อไม่ขึ้น ก็อาจเกิดจากเชื้อที่การเพาะแบบปกติจะไม่ขึ้นอยู่แล้วก็ได้ เช่น Chlamydia, Mycobacterium tuberculosis ฯลฯ) หรืออาจพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อที่ท่อปัสสาวะ การติดเชื้อที่อวัยวะเพศชาย การมีวัสดุแปลกปลอมในทางเดินปัสสาวะ การใช้ยาสเตียรอยด์ การออกกำลังกาย รวมถึงมีการปนเปื้อนของสารคัดหลั่งจากช่องคลอดในตัวอย่างปัสสาวะ เป็นต้น
  • เม็ดเลือดแดง (Erythrocyte) คือ การตรวจหาปฏิกิริยาเพอร์ออกซิเดส (Peroxidase) ของเม็ดเลือดแดง แต่นอกจากสารฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ในเม็ดเลือดแดงแล้ว สารไมโอโกลบิน (Myoglobin) ในกล้ามเนื้อก็สามารถทำปฏิกิริยาเพอร์ออกซิเดสได้เช่นกัน โดยปัสสาวะของคนปกตินั้นจะมีเม็ดเลือดแดงปะปนอยู่แล้ว เพียงแต่มีจำนวนไม่มากพอ ทำให้โดยปกติแล้วจึงตรวจหาปฏิกิริยาเพอร์ออกซิเดสไม่พบ
    • ภาวะปกติ คือ ตรวจไม่พบปฏิกิริยาเพอร์ออกซิเดส (Negative)
    • ภาวะผิดปกติ คือ ตรวจพบปฏิกิริยาเพอร์ออกซิเดส ซึ่งบ่งชี้ว่ามีจำนวนเม็ดเลือดแดง หรือฮีโมโกลบิน หรือไมโอโกลบิน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดผลบวกลวงได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะที่ปัสสาวะมีความเป็นด่างสูง การปนเปื้อนน้ำอสุจิ การปนเปื้อนเลือดจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่จากปัสสาวะ (เช่น จากริดสีดวง จากเลือดประจำเดือน) การปนเปื้อนน้ำยาทำความสะอาดที่มีสารออกซิไดส์ (Oxidizing agent) ฯลฯ ซึ่งการเก็บปัสสาวะอย่างถูกวิธีจะช่วยลดโอกาสในการเกิดผลบวกลวงเหล่านี้ได้
      • ในกรณีที่พบผลบวกจากภาวะที่มีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ (Hematuria) ก็สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งความผิดปกติที่ไต (เช่น โรคถุงน้ำในไต (Polycystic kidney disease) ความดันโลหิตสูงชนิดร้ายแรง (Malignant hypertension) ภาวะหลอดเลือดแดง-ดำผิดปกติ (Arteriovenous malformation)), ความผิดปกติของหน่วยไต (เช่น ภาวะหน่วยไตอักเสบ (Glomerulonephritis) ภาวะไตอักเสบจากโรคพันธุกรรม (Hereditary nephritis) โรคไตอักเสบลูปัส (Lupus nephritis) โรคไตจากภาวะ IgA สะสม (IgA Nephropathy) โรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)), ความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ (เช่น ต่อมลูกหมากโต (BPH) ต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis) กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (Calculi) มะเร็งในทางเดินปัสสาวะ (Cancer) การติดเชื้อวัณโรค (Tuberculosis) การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosoma spp. infection)) หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ อย่างการกระทบกระแทกทางเดินปัสสาวะ (เช่น การเล่นกีฬาปะทะ การใส่สายสวนปัสสาวะ) หรือการใช้ยา (เช่น ยาแก้ปวยที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) ยาเคมีบำบัดซัยโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide) เฮพาริน (Heparin) วาร์ฟาริน (Warfarin)) เป็นต้น และเนื่องจากปัสสาวะต้องไหลผ่านเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในบางครั้งที่มีแผลที่อวัยวะเพศภายนอกหรือในผู้หญิงที่ตรวจปัสสาวะในช่วงมีประจำเดือนก็จะทำให้ตรวจพบเซลล์เม็ดเลือดแดงในปัสสาวะจากการปนเปื้อนของเลือดเหล่านี้ได้
      • ในกรณีที่พบผลบวกมาจากภาวะที่พบฮีโมโกลบินในปัสสาวะ (Hemoglobinuria) แต่ไม่พบเม็ดเลือดแดง อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium perfringens, การติดเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum, โรค Paroxysmal nocturnal hemoglobinuria (PNH), การถ่ายเลือด (Transfusion-related reaction)
      • ในกรณีที่พบผลบวกมาจากภาวะที่พบไมโอโกลบินในปัสสาวะ (Myoglobinuria) สามารถพบได้จากภาวะกล้ามเนื้อสูญสลาย (Rhabdomyolysis)

การตรวจปัสสาวะวิเคราะห์ทางเคมี
IMAGE SOURCE : globovision.com

การตรวจวิเคราะห์ผ่านกล้องจุลทรรศน์

การตรวจวิเคราะห์ผ่านกล้องจุลทรรศน์ หรือการส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic examination) เป็นการตรวจปัสสาวะอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีการทำหรือไม่มีการทำก็ได้ (ถ้าไม่มีก็จะไม่มีข้อมูลส่วนนี้ในใบรายงานผลการตรวจ) แต่ส่วนใหญ่มักจะมีการทำ เพราะการตรวจนี้สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของปัสสาวะที่มีประโยชน์เพิ่มเติมที่จะช่วยบ่งชี้ถึงภาวะผิดปกติของร่างกายได้ โดยในขั้นตอนการทำนั้น นักเทคนิคการแพทย์จะปั่นปัสสาวะด้วยเครื่องปั่น จากนั้นจะนำตะกอนข้างล่างซึ่งเป็นส่วนที่มีเซลล์สะสมรวมกันอยู่มาหยดใส่แผ่นสไลด์ประมาณ 1-2 หยด แล้วนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscope) ซึ่งจะทำให้มองเห็นเซลล์หรือผลึกต่าง ๆ ว่ามีจำนวนเท่าใดโดยเฉลี่ย แล้วอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือมีปริมาณมากกว่าปกติหรือไม่ จากนั้นจึงรายงานผลสิ่งที่มองเห็นออกมาในใบรายงานผล โดยเซลล์หรือผลึกต่าง ๆ ที่สามารถตรวจพบในตะกอนปัสสาวะและแสดงไว้ในใบรายงานผลก็มีอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่มีโอกาสพบบ่อยมีดังนี้

  • เม็ดเลือดขาว (White blood cell หรือ WBC) คือ การตรวจที่ใช้ดูเสริมประกอบไปกับการตรวจหาเอนไซม์ลิวโคไซต์เอสเทอเรส (Leukocyte esterase) ในปัสสาวะด้วยแผ่นตรวจสำเร็จรูป ซึ่งส่วนใหญ่จะมีผลสอดคล้องกัน และในคนปกติทั่วไปจะ
    • ภาวะปกติ คือ ตรวจไม่พบเซลล์เม็ดเลือดขาว (Negative) หรือตรวจพบได้ไม่เกิน 2 ตัวในผู้ชาย และไม่เกิน 5 ตัวในผู้หญิงต่อการส่องกล้องจุลทรรศน์ตรวจหนึ่งครั้ง (HPF) ซึ่งเกิดได้จากการปนเปื้อนสารคัดหลั่งตามปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ แต่ถ้าตรวจพบในจำนวนมากกว่านี้จะเกิดจากภาวะผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ
    • ภาวะผิดปกติ ตรวจพบเซลล์เม็ดเลือดขาวในผู้ชาย < 2 cells/HPF และในผู้หญิง < 5 cells/HPF ซึ่งจะบ่งชี้ถึงภาวะมีเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ (Leukocyturia) ส่วนใหญ่มักจะสัมพันธ์กับการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (UTI) เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ หรืออาจเกิดจากการมีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะซึ่งพบได้รองลงมา เช่น นิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ) นอกจากนั้นอาจเกิดจากการติดเชื้อที่อวัยวะเพศชาย (Balanitis) การติดเชื้อที่ท่อปัสสาวะ (Urethritis) การอักเสบภายในอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง การมีแผลหรือมีก้อนเนื้อทั้งชนิดไม่ร้ายแรงและร้ายแรง (เช่น โรคมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ) ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การใช้ยาสเตียรอยด์ การปนเปื้อนของสารคัดหลังจากช่องคลอดลงในตัวอย่างปัสสาวะ การมีวัสดุแปลกปลอมในทางเดินปัสสาวะ การออกกำลังกาย เป็นต้น
  • เม็ดเลือดแดง (Red blood cell หรือ RBC) คือ การตรวจที่ช่วยยืนยันว่ามีเม็ดเลือดแดงในตัวอย่างปัสสาวะจริง ถือเป็นการตรวจที่ใช้ดูเสริมประกอบไปกับการตรวจหาปฏิกิริยาเพอร์ออกซิเดส (Peroxidase) ด้วยแผ่นตรวจสำเร็จรูป โดยถ้าผลจากการตรวจหาปฏิกิริยาเพอร์ออกซิเดสเป็นบวก แล้วส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์พบเม็ดเลือดแดง ก็จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าถึงภาวะมีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ (Hematuria) แต่ถ้าผลที่เป็นบวกและส่องตรวจด้วยกล้องแล้วไม่พบเม็ดเลือดแดง ก็จะบ่งชี้ถึงภาวะมีฮีโมโกลบินในปัสสาวะ (Hemoglobinuria) หรือภาวะมีไมโอโกลบินในปัสสาวะ (Myoglobinuria)
    • ภาวะปกติ คือ ตรวจไม่พบเซลล์เม็ดเลือดแดง หรือตรวจพบได้ไม่เกิน 2 ตัวต่อการส่องกล้องจุลทรรศน์ตรวจหนึ่งครั้ง (HPF) หรือ 0-2 cells/HPF ซึ่งเกิดได้จากการปนเปื้อนสารคัดหลั่งตามปกติจากอวัยวะต่าง ๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ แต่หากพบจำนวนมากกว่า แพทย์จะให้ตรวจปัสสาวะซ้ำอย่างน้อย 2-3 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าผิดปกติจริง ๆ
    • ภาวะผิดปกติ คือ ตรวจพบเซลล์เม็ดเลือดแดง < 3 cells/HPF จากการตรวจปัสสาวะซ้ำอย่างน้อย 2 ใน 3 ครั้ง จึงจะบ่งชี้ว่ามีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ (Hematuria) ซึ่งสามารถเกิดได้จากสาเหตุหลายประการดังที่ได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อการตรวจหาเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะด้วยแผ่นตรวจสำเร็จรูป ทั้งความผิดปกติที่ไต ความผิดปกติของหน่วยไต และความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ ส่วนการพบเซลล์เม็ดเลือดแดงมีลักษณะบิดเบี้ยว (Dysmorphic RBC) ก็อาจบ่งชี้ถึงการที่เม็ดเลือดแดงนั้นไหลผ่านหน่วยไตที่มีความผิดปกติมา (Abnormal glomerulus) ซึ่งจะบ่งชี้ถึงสาเหตุที่มาจากความผิดปกติที่หน่วยไต (Glomerular causes)
  • แบคทีเรีย (Bacteria), ยีสต์ (Yeast) และปรสิต (Parasite) โดยปกติจะตรวจไม่พบถ้ามีการเก็บปัสสาวะอย่างถูกต้องและไม่มีการปนเปื้อน แต่หากเก็บปัสสาวะไม่ถูกต้องก็อาจพบมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย ยีสต์ หรือปรสิต จากผิวหนังและสารคัดหลั่งจากช่องคลอดปนเปื้อนมาลงในตัวอย่างปัสสาวะได้
    • ภาวะปกติ คือ ตรวจไม่พบเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ หรือปรสิต
    • ภาวะผิดปกติ คือ ตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ หรือปรสิต โดยการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียจะบ่งบอกถึงการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (UTI) ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อย้อนกลับไปเป็นการติดเชื้อที่ไตกลายเป็นภาวะกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) ได้ จึงควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมและทำการรักษาต่อไป ส่วนกรณีของยีสต์นั้นมักพบในผู้หญิง (ในผู้ชายก็อาจพบได้แต่น้อยมาก) ซึ่งมักจะมาจากการปนเปื้อนของสารคัดหลั่งจากช่องคลอดในผู้หญิงที่มีภาวะช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อกลุ่มยีสต์ คือ Candida albicans ส่วนกรณีของปรสิตก็เช่นกัน หากพบในปัสสาวะก็มักจะเกิดจากการปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากช่องคลอดในผู้หญิงที่มีการติดเชื้อ Trichomonas vaginalis หากตรวจพบก็ควรไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยันและทำการรักษา
  • คาสท์ (Casts) คือ รูปหล่อหรือคราบของโปรตีนหรือสารผิดปกติต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัสสาวะ เป็นตัวที่แสดงถึงความผิดปกติในการทำงานของไต ตามปกติแล้วไม่ควรจะตรวจพบในปัสสาวะ แต่หากตรวจพบก็อาจแสดงว่าท่อหรือกรวยเล็ก ๆ ของไตกำลังเกิดความเสียหายหรืออักเสบ
    • ภาวะปกติ คือ ตรวจไม่พบคาสท์ (Negative) แต่บางครั้งก็อาจพบได้แต่ในปริมาณที่น้อยมาก ๆ
    • ภาวะผิดปกติ คือ ตรวจพบคาสท์ชนิดต่าง ๆ เช่น Red blood cell cast ที่จะสัมพันธ์กับภาวะหน่วยไตอักเสบ (Glomerulonephritis), White blood cell cast ที่สัมพันธ์กับภาวะหน่วยไตอักเสบ (Glomerulonephritis) หรือภาวะกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)), Epithelial cell cast ที่สัมพันธ์กับภาวะเซลล์ท่อหน่วยไตตายเฉียบพลัน (Acute tubular necrosis) หรือภาวะไตอักเสบ (Nephritis) จากเหตุต่างๆ, Fatty cast ที่สัมพันธ์กับกลุ่มอาการเนฟโฟรติก (Nephrotic syndrome) หรือ Waxy cast และ Granular cast ที่จะสัมพันธ์กับโรคไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease) นอกจากนี้ คาสท์ยังอาจเกิดได้จากโรคไตจากการได้รับสารพิษต่าง ๆ (เช่น สารตะกั่ว ปรอท รวมถึงการกินยาแก้ปวดแอสไพรินที่มากเกินไปด้วย), โรคไวรัสตับอักเสบ, การบาดเจ็บของทางเดินปัสสาวะ (เช่น การใส่สายสวนปัสสาวะเป็นเวลานาน), ร่างกายกำลังติดเชื้อจากแบคทีเรีย (Bacterial infection) หรือร่างกายอาจกำลังตกอยู่ในสภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
  • ผลึก (Crystal) เนื่องจากในปัสสาวะนั้นจะมีสารเคมีหลายชนิดละลายอยู่ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม (ทั้งความเป็นกรดด่าง อุณหภูมิของปัสสาวะ (เย็นลง) และมีความเข้มข้นของสารเคมีละลายมากเพียงพอ) สารเคมีที่ละลายอยู่ก็จะตกผลึกเกิดเป็นผลึกในปัสสาวะขึ้นได้ ซึ่งผนึกแต่ละชนิดจะถูกนักเทคนิคการแพทย์แยกแยะได้จากการส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ จากรูปร่างและสีของผลึก และประเมินจากค่าความเป็นกรดด่างของปัสสาวะ
    • ภาวะปกติ คือ ตรวจไม่พบผลึกต่าง ๆ หรือพบเพียงก้อนเล็ก ๆ เพียงไม่กี่ก้อน
    • ภาวะผิดปกติ คือ ตรวจพบผลึกต่าง ๆ โดยผลึกจะแบ่งเป็นชนิดที่พบได้ปกติและไม่ปกติในน้ำปัสสาวะ สำหรับผลึกของสารเคมีที่ปกติจะพบได้ในปัสสาวะนั้น มักจะเกิดจากการที่ตัวอย่างปัสสาวะมีอุณหภูมิเย็นลงหลังการเก็บ โดยตัวอย่างของผลึกที่จัดว่าพบในคนปกติ เช่น Uric acid crystal, Calcium oxalate crystal, Calcium carbonate crystal, Amorphous urate (พบในปัสสาวะที่เป็นกรด), Amorphous phosphate (พบในปัสสาวะที่เป็นด่าง), Magnesium ammonium phosphate crystal (พบในปัสสาวะที่เป็นด่าง) อย่างไรก็ตาม หากพบผลึกเหล่านี้ในปริมาณมาก ๆ ก็อาจสัมพันธ์กับความผิดปกติบางอย่างได้ เช่น Uric acid crystal อาจสัมพันธ์กับโรคเกาต์หรือกลุ่มอาการเนื่องจากก้อนมะเร็งสูญสลาย (Tumor lysis syndrome), Calcium oxalate crystal อาจพบได้ในภาวะไตเสียหายเนื่องจากได้รับพิษจากสารเอทิลีนไกลคอล (Ethylene glycol), Magnesium ammonium phosphate crystal อาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (UTI) โดยเฉพาะจากเชื้อแบคทีเรียโปรเตียส (Proteus) และเครปซีลลา (Klebsiella) เป็นต้น สำหรับผลึกของสารเคมีที่ปกติจะไม่พบในปัสสาวะ เช่น Cystine crystal (พบได้ในปัสสาวะที่เป็นกรดและสัมพันธ์กับภาวะความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้มีสารซิสตีนในปัสสาวะ (Cystinuria)), Tyrosine crystal (สัมพันธ์กับภาวะความผิดปกติที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายกรดอะมิโนไทโรซีน (Tyrosine) ได้ เรียกว่าภาวะ “Tyrosinemia”), Leucine crystal (สัมพันธ์กับภาวะความผิดปกติที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายกรดอะมิโนลิวซีน (Leucine) ได้) โดยผลึกทั้งชนิดที่พบได้ปกติและไม่ปกติดังกล่าว หากเกิดการตกผลึกในร่างกายจำนวนมากและนานเพียงพอ มันจะรวมตัวกันเป็นก้อนนิ่วอยู่ในไตหรือท่อไต ซึ่งหากมีขนาดเล็กก็อาจออกมากับน้ำปัสสาวะได้ แต่หากมีขนาดใหญ่ก็จะทำให้มีอาการปวดและพบภาวะมีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ (Hematuria) ได้ นอกจากนี้ ยาและสารทึบรังสีที่ใช้ในการถ่ายภาพเอกซเรย์บางชนิด ก็สามารถทำให้เกิดผลึกในปัสสาวะได้เช่นกัน
  • เซลล์เยื่อบุ (Epithelial cell) มักพบในตัวอย่างปัสสาวะได้เป็นปกติอยู่แล้ว แต่เซลล์เยื่อบุที่ต่างชนิดจะบ่งบอกข้อมูลที่แตกต่างกัน โดยแบ่งเป็น
    • เซลล์เยื่อชนิดสแควมัส (Squamous epithelial cell หรือ Squamous cell) เป็นเซลล์เยื่อบุส่วนท่อปัสสาวะส่วนนอก โดยปกติจะตรวจไม่พบ (Negative) หากพบจำนวนเล็กน้อยก็ถือว่าปกติ แต่หากพบในปริมาณมาก เช่น 15 – 20 cells/HPF ขึ้นไป ก็จะบ่งบอกว่าตัวอย่างปัสสาวะนั้นมีการปนเปื้อนหรือยังไม่บริสุทธิ์สะอาดเพียงพอ ซึ่งอาจเกิดจากการแตะต้องถ้วยรองน้ำปัสสาวะหรือถ้วยรองน้ำปัสสาวะสัมผัสกับนิ้วมือของผู้รับการตรวจจากความประมาท ในกรณีนี้ ผู้รับการตรวจอาจถูกสั่งให้กลับไปถ่ายและเก็บปัสสาวะโดยใช้ถ้วยใบใหม่อีกครั้งเพื่อเอามาตรวจใหม่อีกรอบ
    • เซลล์เยื่อบุชนิดรีนัลทิวบูล (Renal tubule cell) เป็นเซลล์เยื่อบุท่อหน่วยไต โดยปกติจะต้องไม่พบในปัสสาวะ หากพบมักแสดงถึงความผิดปกติของโรคไต
    • เซลล์เยื่อบุชนิดทรานซิเชินนัล (Transitional epithelial cell หรือ Transitional cell) เป็นเซลล์เยื่อบุส่วนกระเพาะปัสสาวะ สามารถพบได้เป็นปกติ
  • เมือก (Mucus) ในตัวอย่างปัสสาวะปกติสามารถพบเมือกได้ โดยอาจเป็นเมือกที่ขับออกมาตามปกติจากท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะ ในผู้หญิงอาจปนเปื้อนมาจากช่องคลอดหรือปากมดลูก ส่วนในกรณีที่มีการอักเสบหรือการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะก็อาจทำให้พบเมือกในปัสสาวะเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน

การตรวจปัสสาวะผ่านกล้องจุลทรรศน์
IMAGE SOURCE : Shutterstock

จะเห็นได้ว่าการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะนั้นเป็นการตรวจคัดกรองพื้นฐานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของไตและระบบปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจได้อย่างมากเลยทีเดียว

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด