การตรวจน้ำตาลในเลือด / ตรวจเบาหวาน (Fasting Blood Sugar : FBS / FPG)

การตรวจน้ำตาลในเลือด / ตรวจเบาหวาน (Fasting Blood Sugar : FBS / FPG)

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด, การตรวจหาระดับน้ำตาลในกระแสเลือด หรือ การเจาะน้ำตาลหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง (ภาษาอังกฤษ : Fasting Blood Sugar หรือ FBS)* หรือที่คนทั่วไปเรียกกันอย่างง่าย ๆ ว่า “การตรวจเบาหวาน” หรือ “การตรวจน้ำตาลในเลือด” คือ การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังการงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดมาแล้วอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (แต่ดื่มน้ำเปล่าได้) ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลที่ช่วยบ่งชี้ว่าปริมาณของกลูโคสในกระแสเลือด ณ ขณะนั้นอยู่ในระดับปกติ ต่ำกว่าปกติ หรือสูงกว่าปกติ การตรวจนี้จึงเป็นการตรวจที่ช่วยคัดกรองและวินิจฉัยผู้ที่มีอาการแสดงหรือมีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ นอกจากนี้ยังช่วยติดตามระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อประเมินผลการรักษา และตรวจเพื่อป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงเกินไปในผู้ป่วยเบาหวานได้ด้วย

น้ำตาลในเลือดที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้มีชื่อเรียกเป็นการเฉพาะว่า “กลูโคส”** โดยจำนวนนับปริมาณของกลูโคสในเลือดนั้นจะวัดกันด้วยน้ำหนักของกลูโคสเป็นมิลลิกรัมต่อน้ำเลือด 1 เดซิลิตร (mg/dL) โดยระดับกลูโคสที่มีเลือดนี้

หมายเหตุ :

* Fasting Blood Sugar มีชื่อเรียกอื่นว่า Fasting Blood Glucose (FBG), Fasting Capillary Blood Glucose (FCG), Fasting Plasma Glucose (FPG), Blood Glucose, Blood Sugar, Blood Sugar Level

** กลูโคส (Glucose) คือ น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่เป็นเชื้อเพลิงหลักให้ทุกเซลล์ในร่างกายเพื่อใช้สร้างพลังงาน กลูโคสถือว่าเป็นผลผลิตสุดท้ายจากการย่อยอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่จะเปลี่ยนเป็นกลูโคสได้สูงที่สุด (เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง น้ำตาล แอลกอฮอล์ ฯลฯ) โดยเมื่อผ่านกระบวนการย่อยจนถึงที่สุดแล้ว กลูโคสทุกโมเลกุลจะเข้าไปรออยู่ในน้ำเลือดทุกหลอดเลือดแดงเพื่อความพร้อมที่จะให้ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) จากตับอ่อนเป็นผู้นำพากลูโคสไปตามหลอดเลือด โดยนำส่งให้แก่ทุกเซลล์เพื่อช่วยให้เซลล์สามารถใช้ผลิตพลังงานเพื่อกระทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปได้ เช่น เซลล์สมองก็มีความคิดและอารมณ์แจ่มใส เซลล์กล้ามเนื้อก็มีกำลังวังชา ฯลฯ ระดับกลูโคสที่มีเลือดนี้จึงจำเป็นต้องมีพอดี ๆ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เพราะน้อยไปก็ไม่พอใช้ (อาจหน้ามืด หมดแรง) ถ้ามากไปก็ทำให้เลือดข้น (เป็นเหตุให้หลอดเลือดอุดตัน)

ประโยชน์ของการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

  1. เพื่อใช้ในการคัดกรองและวินิจฉัยผู้ที่มีอาการแสดงหรือมีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
  2. เพื่อใช้ติดตามระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อประเมินผลการรักษา
  3. เพื่อตรวจป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงเกินไปในผู้ป่วยเบาหวาน

การตรวจอื่นที่อาจช่วยยืนยันค่า FBS ได้

  • การตรวจหาระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (HbA1c) เป็นการตรวจวัดระดับจำนวนเม็ดเลือดแดงที่ถูกน้ำตาลเข้าจับเคลือบผิวภายนอกและโดยที่เม็ดเลือดปกติจะมีอายุขัยประมาณ 120 วัน ดังนั้น HbA1c จึงเป็น % ของเม็ดเลือดที่ถูกน้ำตาลจับเคลือบผิวในช่วงเวลาย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 4 เดือนที่ผ่านมา แปลว่า ท่านผู้ตรวจที่คิดจะหลอกคุณหมอด้วยการงดอาหารที่กินอยู่ตามปกติมาหลายวันก่อนจะไปรับการเจาะเลือดตรวจน้ำตาล แม้ผลของ FBS จะออกมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ค่า HbA1c จะเป็นพยานปากเองโดยสำแดงค่าที่สูงผิดปกติให้เห็นได้อย่างชัดเจน การตรวจนี้จึงนับเป็นการที่น่าเชื่อถือได้ดีมากตัวหนึ่ง (แต่การตรวจสุขภาพตามโปรแกรมปกติของโรงพยาบาลมักจะไม่ระบุให้ตรวจ HbA1c เพื่อการนี้)
  • การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) เป็นการตรวจหาน้ำตาลที่ปนออกมากับปัสสาวะ (ซึ่งปกติจะไม่มี)

คำแนะนำก่อนตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

  • ต้องงดอาหาร เครื่องดื่ม ของขบเคี้ยว ลูกอม หมากฝรั่งทุกชนิด มาไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมงก่อนการเจาะเลือด เพราะอาหารจะมีผลต่อระดับกลูโคสในเลือด (สามารถดื่มน้ำเปล่าได้)
  • ถ้าต้องการเจาะเลือด เวลา 7.00 – 8.00 น. ให้งดอาหารและเครื่องดื่มหลังเที่ยงคืน
  • การตรวจ FBS เจ้าหน้าที่จะเจาะเลือดประมาณ 2-3 มิลลิลิตร โดยเก็บใส่หลอดเก็บเลือดที่มีสารกันเลือดแข็งตัวโซเดียมฟลูออไรด์ (Sodium fluoride) จุกสีเทา 1 หลอด

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
IMAGE SOURCE : www.youtube.com (by SunShine Day)

ตรวจน้ำตาลในเลือด
IMAGE SOURCE : www.webmd.com (การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง)

ต้องตรวจ FBS บ่อยแค่ไหน

  • หากผลการตรวจพบว่า ค่า FBS อยู่ในระดับปกติ (น้อยกว่า 100 mg/dL) ให้ตรวจอย่างน้อยทุก ๆ 3 ปี หรือตามดุลยพินิจของแพทย์
  • หากผลการตรวจพบว่า ค่า FBS อยู่ในระดับที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน (100 – 125 mg/dL) แพทย์จะนัดตรวจทุกปี
  • สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน (เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน, มีน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน), ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป และผู้ที่แสดงอาการของน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงด้วย ควรตรวจเป็นประจำทุกปี

ค่า FBS ที่อยู่ในระดับปกติ

ค่า FBS ที่อยู่ในระดับปกติ นับเป็นข้อมูลที่พึงประสงค์ของผู้รักสุขภาพทุกท่าน แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรที่จะประมาท และขอให้ปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเพื่อปกป้องร่างกายให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน เพราะธรรมชาติของโรคเบาหวานนั้น การป้องกันง่ายกว่าการแก้ไข

โดยค่า FBS ที่อยู่ในระดับปกตินั้นให้ยึดถือตามค่าที่แสดงไว้ในรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ใช้ค่าปกติทั่วไป คือ 70 – 99 mg/dL (หรือ 3.9 – 5.5 mmol/L ถ้าเป็นระบบหน่วยนานาชาติ (SI))

ค่า FBS ที่ต่ำกว่าระดับปกติ

ค่า FBS ที่ต่ำกว่าปกติหรือต่ำกว่าปกติมาก ๆ ย่อมเป็นระดับที่ไม่พึงประสงค์ เนื่องจากแสดงให้เห็นว่า ร่างกายกำลังขาดแคลนเชื่อเพลิงอย่างหนัก ซึ่งนับเป็นสัญญาณอันตรายที่มีอาการต่าง ๆ ปรากฏให้ได้รู้ตัวเพื่อจะได้แก้ไขได้ทัน

  • ค่าตัวเลขเบื้องต้นที่ใช้บ่งชี้ FBS ว่าต่ำกว่าปกติ จำเป็นต้องจำแนกกลุ่มบุคคลออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
    1. กลุ่มผู้ที่มิได้เป็นโรคเบาหวาน ค่า FBS ที่แสดงว่าต่ำผิดปกติ คือ น้อยกว่า 54 mg/dL (หรือ < 3.0 mmol/L ถ้าเป็นระบบหน่วยนานาชาติ (SI))
    2. กลุ่มผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ค่า FBS ที่แสดงว่าต่ำผิดปกติ คือ น้อยกว่า 63 mg/dL (หรือ < 3.5 mmol/L ถ้าเป็นระบบหน่วยนานาชาติ (SI))
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะว่ามีน้ำตาลในเลือดต่ำดังกล่าว มักถูกเรียกขานในชั้นต้นว่า เป็นผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แต่ในทางการแพทย์ผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติจนอาจถูกเรียกว่า “Hypoglycemia” ได้นั้น จำเป็นต้องตกอยู่ในเงื่อนไข 3 ข้อ คือ
    1. ผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) มีค่าต่ำปกติ (ผู้มิได้เป็นเบาหวาน คือ < 54 mg/dL และผู้ที่เป็นเบาหวาน คือ < 63 mg/dL)
    2. มีอาการผิดปกติแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็นอาการทางกาย (ได้แก่ วิงเวียนศีรษะ, กระสับกระส่าย, หิว กระหายบ่อย, หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ, เหงื่อออกมากผิดปกติ, มือ แขน ขา สั่นโดยไม่รู้ตัว) และอาการทางสมอง (ได้แก่ ขาดสมาธิ, สะลึมสะลือ, ความคิดสับสน, ฉุนเฉียวง่าย, ตาเห็นภาพเลือนลาง, การพูดจาติดขัด, ทรงตัวไม่ค่อยได้ อวัยวะเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน, อาจมีอาการชัก, หากไม่แก้ไขอาจถึงชั้นสลบหรือโคม่า)
    3. เมื่อแก้ไขด้วยการให้อาหารประเภทน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตแล้วจะทำให้อาการทั้งหลายสามารถกลับฟื้นคืนสู่ปกติได้ เช่น การเลือกกินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (เช่น ย้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท), การแบ่งมื้ออาหารให้มากกว่า 3 มื้อต่อวัน
  • ค่า FBS ที่ต่ำกว่าระดับปกติ อาจแสดงผลว่า
    • อาจเกิดจากโรคตับอย่างใดอย่างหนึ่ง เนื่องจากจับเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ส่งกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือด แต่เมื่อตับทำหน้าที่ไม่ครบถ้วนจึงอาจส่งกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยกว่าปกติหรือไม่ค่อยได้
    • อาจเกิดสภาวะตับอ่อนโตขึ้นผิดปกติ หรือเกิดมีเนื้องอกเกิดขึ้นที่ตับอ่อน (Insulinoma) จึงทำให้ส่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาสู่กระแสเลือดอย่างไร้การควบคุม (ทั้ง ๆ ที่ตามปกตินั้นตับอ่อนจะผลิตอินซูลินได้ก็ต่อเมื่อถูกกระตุ้นจากกลูโคสเท่านั้น) เป็นผลทำให้กลูโคสถูกอินซูลินซึ่งมีมากผิดปกตินั้นพาไปเผาผลาญอย่างมากผิดปกติตามไปด้วย กลูโคสในเลือดซึ่งถูกเผาผลาญอย่างมากผิดปกตินี้จึงมีค่าต่ำกว่าผิดปกติ (ถ้าตรวจพบว่าน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติก็อย่าลืมนึกถึงสุขภาพตับอ่อนด้วยว่ายังปกติดีหรือไม่)
    • อาจเกิดโรคหรือมีเหตุสำคัญเกิดขึ้นที่ต่อมหมวกไต (Adrenal gland) จึงทำให้ผลิตฮอร์โมนอะดรีนาลีนออกมาไม่เพียงพอ (ฮอร์โมนนี้มีหน้าที่ในการไปกระตุ้นตับให้เร่งส่งกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อให้ร่างกายได้ใช้อย่างเพียงพอ แต่เมื่อตับไม่ได้รับการกระตุ้น จึงเป็นผลทำให้กลูโคสในเลือดต่ำกว่าปกติ)
    • อาจเกิดจากต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) ทำงานน้อยเกินไป (ต่อมใต้สมองเป็นต่อมมีบทบาทคล้ายกองบัญชาการที่ควบคุมการเผาผลาญอาหาร เพื่อผลิตเชื้อเพลิงซึ่งก็คือกลูโคสให้กับร่างกาย เมื่อต่อมใต้สมองมีปัญหา กลูโคสในร่างกายจึงต่ำ)
    • อาจเกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroidism) เนื่องจากต่อมไทรอยด์มีหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นต่อทุกเซลล์ของร่างกายให้ช่วยกันเผาผลาญกลูโคสเพื่อสร้างพลังงานอย่างมีเหตุผลตามความจำเป็นในแต่ละสถานการณ์ แต่เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานได้น้อย มันจึงปล่อยฮอร์โมนออกมาน้อยเพราะไร้การควบคุม จึงทำให้เซลล์ทั้งหลายของร่างกายพากันเผาผลาญกลูโคสซึ่งเป็นเชื้อเพลิงเกินขอบเขตและปราศจากการควบคุม จึงเป็นผลทำให้กลูโคสในกระแสเลือดมีระดับต่ำกว่าปกติอยู่ตลอดเวลา
    • อาจเกิดจากโณคหัวใจ หรือจากการติดเชื้ออย่างรุนแรง
    • อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เพราะแอลกอฮอล์จะไปรบกวนการทำหน้าที่ของตับจนผลิตและส่งกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อย
    • อาจเกิดจากการใช้ยาบางอย่างหรือเกือบทุกชนิด แม้แต่ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาสร้างกล้ามเนื้อของนักเพาะกาย (Anabolic steroids) ก็มีผลไปรบกวนเซลล์ตับ ทำให้ตับส่งกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยกว่าปกติ
    • อาจเกิดจากการได้รับยาลดระดับน้ำตาลมากเกิดขนาด หรือใช้ร่วมกับยาหรือสมุนไพรบางชนิดหรือแอลกอฮอล์ ดังนั้นหากได้รับยาหรือสมุนไพรหรือวิตามินที่จำเป็นอื่น ๆ เพิ่มเติมควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบก่อนเสมอ เพื่อแพทย์จะได้ประเมินการปรับเปลี่ยนขนาดและชนิดการรักษาให้เหมาะสมต่อไป
    • อาจเกิดจากการฉีดอินซูลินมากเกินขนาดให้กับบุคคลที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดการเผาผลาญมากเกินขนาดตามไปด้วย (ควรพิจารณาว่าฉีดอินซูลินผิดขนาดหรือไม่ หรือเป็นช่วงที่ได้รับการปรับเปลี่ยนขนาดอินซูลินมากขึ้นจากแพทย์ หากเป็นอย่างหลังให้ปรึกษาแพทย์ของคุณเพื่อปรับเปลี่ยนขนาดยาให้เหมาะสมต่อไป)
    • อาจเกิดจากการอดอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องโดยใช้วิธีการอดอาหาร เมื่อไม่ได้กินข้าวหรือกินอาหารก็ย่อมมีผลทำให้กลูโคสในเลือดมีระดับต่ำ
  • การแก้ไขในเบื้องต้น เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
    1. บรรเทาอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำด้วยการจิบน้ำหวานผสมน้ำ โดยค่อย ๆ จิบจนอาการดีขึ้น หรืออมลูกอม ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานควรพกลูกอมไว้ติดตัวเสมอเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แต่หากเป็นบ่อย ๆ ก็ต้องแจ้งแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป
    2. สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีสติหรือแสดงอาการรุนแรง ผู้ดูแลต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว พร้อมกับนำยาที่ผู้ป่วยได้รับไปด้วยทั้งหมดเพื่อเป็นการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
    3. พยายามหาสาเหตุและแก้ไขตามสาเหตุข้างต้น หากไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์

ค่า FBS ที่สูงกว่าระดับปกติ

ค่า FBS ที่สูงกว่าปกติก็นับเป็นระดับที่ไม่พึงประสงค์เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ระดับ FBS ที่ค่อย ๆ สูงขึ้นเกินกว่าค่าปกติทีละน้อยที่ผ่านไปแต่ละวัน ก็อาจทำให้ไม่ทันได้รู้สึกตัวและอาจไม่รู้สึกเดือดร้อน เนื่องจากไม่มีความเจ็บปวดรวดร้าวใด ๆ ปรากฏให้เห็น แต่ค่าน้ำตาลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้จะเป็นสาเหตุที่บั่นทอนสุขภาพจนอาจก่อให้โรคแทรกซ้อนได้มากมายจนเป็นอันตรายถึงขั้นตาบอด ถูกตัดขา ไตวาย อัมพาต อัมพฤกษ์ สมองเสื่อม กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ฯลฯ

  • ค่าตัวเลขเบื้องต้นที่ใช้บ่งชี้ FBS ว่าสูงกว่าระดับปกติ ซึ่งจะช่วยบ่งชี้สภาวะของโรคเบาหวานให้แน่ชัด คือ
    • ค่า FBS = 100 – 125 mg/dL (หรือ 5.6 – 6.9 mmol/L ถ้าเป็นระบบหน่วยนานาชาติ (SI)) อาจบ่งชี้ว่าเป็น “ผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน” (Pre-diabetes)
    • ค่า FBS = มากกว่า 126 mg/dL (หรือมากกว่า 7.0 mmol/L ถ้าเป็นระบบหน่วยนานาชาติ (SI)) อาจบ่งชี้ว่าเป็น “โรคเบาหวาน” (Diabetes)
  • ข้อบ่งชี้ของโรคเบาหวานในทางการแพทย์ คือ
    1. มีอาการของผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) เช่น กระหายน้ำผิดปกติ, ปัสสาวะมากและบ่อยผิดปกติ, อ่อนเพลียโดยปราศจากสาเหตุ, สายตามองเห็นภาพไม่ค่อยชัด, เกิดแผลแล้วยากกว่าปกติและอาจลุกลามมากขึ้นถึงชั้นเป็นแผลใหญ่
    2. ผลการตรวจน้ำตาลในเลือด (FBS) มีค่าสูงกว่าปกติดังกล่าว
    3. ผลการตรวจหาระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (HbA1c) มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 6.5% จากการตรวจ 2 ครั้งในต่างวันกัน (ค่าปกติจะต่ำกว่า 5.7% แต่ถ้ามีค่าอยู่ที่ 5.7-6.4% จะถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน)
  • ค่า FBS ที่สูงกว่าระดับปกติ อาจแสดงผลว่า
    • กำลังเป็นโรคเบาหวาน (ต้องตรวจ HbA1c ร่วมด้วยเพื่อยืนยันผลการตรวจ)
    • อาจเกิดจากการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมากจนเกินความจำเป็นของร่างกายเป็นประจำและต่อเนื่องมานาน จึงทำให้ตับอ่อนเกิดความอ่อนล้าที่จะผลิตอินซูลินเข้าสู่กระแสเลือด เมื่อกลูโคสไม่มีอินซูลินหรือมีอินซูลินน้อยจนไม่พอที่จะขนส่งไปสู่เซลล์ ก็จะทำให้กลูโคสล้นนองอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งนี่คือต้นเหตุที่แท้จริงของโรคเบาหวาน
    • อาจเกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานหนักเกิน (Hyperthyroidism) จึงบังคับให้ตับเตรียมกลูโคสซึ่งเป็นเชื้อเพลิงไว้ให้ร่างกายมากเกินความจำเป็นอย่างไร้เหตุผล
    • ตับอ่อนอาจเกิดการอักเสบ (Pancreatitis) จึงทำให้ผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมาได้น้อยเกินไปหรือผลิตออกมาไม่ได้เลย กลูโคสจึงเหลืออย่างคับคั่งในกระแสเลือด
    • อาจเกิดสภาวะ Glucagonoma ที่ตับอ่อนหลังฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) ออกมาได้เองอัตโนมัติ ทั้ง ๆ ที่ฮอร์โมนตัวนี้ตามปกติแล้วจะหลั่งออกมาในกรณีที่กระแสดเลือดมีกลูโคสอยู่ในระดับต่ำ เพื่อว่าจะได้ไปดึงกลูโคสที่เก็บไว้ออกมาใช้เท่านั้น เมื่อฮอร์โมนกลูคากอนที่ถูกหลั่งออกมาเองอย่างไร้การควบคุมมันจึงไปดึงกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดอย่างไร้การควบคุมไปด้วย จึงทำให้ระดับกลูโคสในเลือดสูงอยู่ตลอดเวลา
    • ตับอ่อนอาจเกิดโรคมะเร็ง (Pancreatic cancer) จึงผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมาไม่ได้
    • อาจเกิดจากสภาวะของโรคไตวายเรื้อรัง (Chronic renal failure) ไตจึงทิ้งของเสียรวมทั้งน้ำตาลกลูโคสออกนอกร่างกายทางปัสสาวะไม่ได้
    • อาจเกิดจากสภาวะร่างกายโตเกินไม่สมส่วน (Acromegaly) เนื่องจากมีการหลั่งฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต (Growth hormone) ออกมามากผิดปกติ
    • อาจเกิดจากกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากร่างกายมีฮอร์โมน Glucocorticoid มากเกินปกติ โดยฮอร์โมนนี้เป็นฮอร์โมนสำคัญของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะเกือบทุกระบบรวมทั้งการใช้พลังงานของร่างกายจากน้ำตาลกลูโคส
    • อาจเกิดจากภาวะการติดเชื้อ หรือการผ่าตัด ที่อาจมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง
    • อาจเกิดจากความเครียดที่มีขึ้นอย่างรุนแรงและฉับพลัน (Acute stress) จากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งของร่างกาย เพราะภาวะอารมณ์มีบทบาทในการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในร่างกาย
    • อาจเกิดจากการกินยารักษาโรคบางอย่าง เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงชนิดขับปัสสาวะ กลุ่มยาสเตียรอยด์ ฯลฯ (หากได้รับยาเหล่านี้รวมถึงยาสมุนไพรใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง)
  • ผลร้ายของการปล่อยให้ค่า FBS สูงกว่าระดับปกติเป็นเวลานาน ท่านใดที่ตรวจสอบข้อบ่งชี้ของโรคเบาหวานแล้วพบว่าตนเองอยู่สภาวะน่าสงสัยว่าจะเป็นโรคเบาหวาน หรือท่านที่ได้รับการยืนยันจากแพทย์ว่าเป็นโรคเบาหวานอย่างชัดเจนแล้ว แต่ยังไม่ใส่ใจที่จะรักษาและไม่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างเร่งด่วน กรณีอย่างนี้อาจแปลว่า “ควบคุมโรคเบาหวานไม่ดี” ซึ่งการไม่ควบคุมเบาหวานหรือควบคุมไม่ดีแล้วปล่อยระยะเวลาให้เนิ่นนานออกไป น้ำตาลในเลือดที่สูงผิดปกติก็ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะสำคัญของร่างกายเกือบทุกแห่ง ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่อเนื่องจากโรคเบาหวานตามมามากมาย เช่น
    • กลุ่มโรคหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคหลอดเลือดสมองตีบ ตัน หรือแตก โรคหลอดเลือดในอวัยวะส่วนปลาย (เป็นต้นเหตุให้ต้องตัดขา)
    • กลุ่มโรคประสาท เช่น โรคสมองเสื่อม โรคประสาทส่วนปลาย โรคประสาทอัตโนมัติ โรคประสาทอัตโนมัติต่อหัวใจ
    • กลุ่มโรคตา เช่น โรคจอตา โรคต้อหิน โรคต้อกระจก
    • กลุ่มโรคกล้ามเนื้อยึดกระดูก เช่น โรคหัวไหล่ติด โรคนิ้วล็อก โรคปวดกระดูกข้อมือ
    • กลุ่มโรคอื่น ๆ เช่น เบาหวานลงไต โรคระบบย่อยอาหารผิดปกติ โรคผิวหนัง
  • การแก้ไขในเบื้องต้น เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง
    1. ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน (ค่า FBS อยู่ในช่วง 100 – 125 mg/dL) ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและอาหารไขมัน พร้อมกับหาทางลดความอ้วนด้วยวิธีที่เหมาะสม เพิ่มการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสมในแต่ละบุคคลอย่างน้อยวันละ 30 นาทีเป็นจำนวน 5 ครั้งต่อสัปดาห์ (เช่น การเดินเร็ว) และปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาหาแนวทางการรักษาและเพื่อตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งต่อไป
    2. ผู้ที่ตรวจพบค่า FBS มากกว่าหรือเท่ากับ 126 mg/dL ควรปรึกษาแพทย์พร้อมแจ้งสาเหตุที่คาดว่าเป็นาเหตุหลักให้แพทย์ทราบ เพื่อจะได้ทำการวินิจฉัยและทำการรักษาให้เหมาะสมต่อไป
    3. สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน และมีค่า FBS มากกว่า 130 mg/dL ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หาทางลดความอ้วนด้วยวิธีที่เหมาะสม กินยาตามที่แพทย์สั่ง ไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาให้เหมาะสม โดยอาจจะทุก 3 หรือ 6 เดือนตามที่แพทย์แจ้ง และตรวจร่างกายเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา
    4. สำหรับผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก เช่น มากกว่า 250 mg/dL (Diabetic ketoacidosis) อาจแสดงอาการปัสสาวะบ่อย ปากแห้ง ผิวแห้ง เหนื่อยง่าย คลื่นไส้อาเจียนติดต่อกันมากกว่า 2 ชม. หรือปวดท้อง หายใจสั้นและถี่ กลิ่นลมหายใจเป็นผลไม้ สับสน และอาจหมดสติ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต ผู้ดูแลควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด