การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram : ECG หรือ EKG)

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram : ECG หรือ EKG)

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ภาษาอังกฤษ : Electrocardiogram หรือ Electrocardiography หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ECG*) คือ การตรวจทดสอบสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจในแต่ละจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งจะถูกปล่อยออกมาและส่งผ่านไปทั่วทั้งหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีการบีบตัวอย่างสมบูรณ์ในการส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (จึงเรียกสัญญาณไฟฟ้านี้ว่า “คลื่นไฟฟ้าหัวใจ”) เมื่อเรานำเอาตัวจับสัญญาณไฟฟ้ามาจับ เราก็จะสามารถบันทึกคลื่นไฟฟ้าที่ออกมาจากหัวใจได้ โดยการตรวจนี้จะเป็นการเพิ่มเติมจากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย (ที่รวมถึงการตรวจฟังการเต้นของหัวใจด้วยหูฟัง) ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถประเมินและวินิจฉัยสุขภาพและโรคหัวใจในเบื้องต้นได้

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นวิธีการที่ง่าย ทำได้สะดวกไม่ยุ่งยาก มีค่าใช้จ่ายไม่แพง (เพราะเครื่องตรวจราคาไม่แพงมาก) และไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บแต่อย่างใด สามารถให้การตรวจด้วยบุคคลากรที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ได้ (แต่แพทย์ยังคงเป็นผู้แปลผลตรวจ) การตรวจนี้จึงเป็นการตรวจที่ให้บริการได้ทุกโรงพยาบาล (เครื่องมือในสมัยใหม่นี้อาจมีขนาดเล็กที่สามารถหิ้วไปตรวจที่ใดก็ได้)

หมายเหตุ : Electrocardiogram (ECG) มีที่มาจากคำว่า Elektrokardiogram หรือ Elektrokardiography หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า EKG ซึ่งเป็นภาษาเยอรมัน เนื่องจากนักฟิสิกส์ชาวดัทช์เป็นคนแรกที่ได้ประดิษฐ์อุปกรณ์การตรวจชนิดนี้และได้ยืมคำในภาษาเยอรมันมาใช้เรียกก่อนใคร จึงทำให้คำว่า EKG เป็นที่ใช้กันเรียกติดปากและรู้จักกันอย่างแพร่หลายในวงการแพทย์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ (คำย่อในภาษาอังกฤษ คือ ECG ที่มักใช้ปนกับคำว่า EKG ไม่ถือว่าผิดแต่อย่างใด)

ประโยชน์ของการตรวตคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

  • เป็นการตรวจที่ช่วยให้แพทย์รู้ว่าหัวใจของผู้ป่วยมีการทำงานอย่างไร เป็นปกติหรือมีโรคทางหัวใจ และโรคมีความรุนแรงมากหรือน้อยเพียงใด ทั้งนี้เพื่อช่วยแพทย์ในการประเมินสุขภาพของผู้ป่วย ช่วยในการวินิจฉัยเบื้องต้นว่ามีโรคหัวใจหรือไม่
  • ใช้ประเมินความแข็งแรงของหัวใจก่อนการผ่าตัดใหญ่ว่าหัวใจจะสามารถทนกับภาวะที่ร่างกายได้รับยาสลบระหว่างการผ่าตัดได้หรือไม่ อย่างไร
  • ใช้ในการติดตามผลการรักษาโรคหัวใจ เช่น จากการผ่าตัดหัวใจ จากการผังอุปกรณ์กระตุ้นการเต้นของหัวใจ (Pacemaker) หรือจากการใช้ยาต่าง ๆ

ข้อบ่งชี้ในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

  1. การตรวจในสภาพปกติทั่วไป เช่น
    • ตรวจในผู้สูงอายุที่ตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจตามห้วงระยะเวลาทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี ฯลฯ
    • ตรวจในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีและมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดโรคทางด้านหัวใจ เช่น ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในเลือดสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ หรือมีคนในครอบครัวสายตรงที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจ
    • ตรวจแม้ในขณะที่ยังไม่ปรากฏอาการภายนอกที่ผิดปกติใด ๆ ของโรคหัวใจ เพื่อช่วยให้ทราบข้อมูลที่อาจบ่งชี้ถึงสภาพผิดปกติของหัวใจที่มีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ได้ โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจนี้อาจช่วยบ่งชี้โรคหรืออาการสำคัญได้ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial Infarction), โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, ลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด, สภาวะเกี่ยวกับปัญหาจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ (เร็วบ้าง ช้าบ้าง หรือหยุดเต้นเป็นช่วง ๆ ฯลฯ), สภาวะความผิดปกติของหัวใจอื่น ๆ ที่อาจนำไปสู่โรคหัวใจได้ (เช่น หัวใจโต ห้องหัวใจบางห้องโตกว่าปกติ กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนหนากว่าปกติ ฯลฯ), สภาวะความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจไม่เกี่ยวกับอวัยวะหัวใจโดยตรง (เช่น สภาวะผิดปกติของหลอดเลือดที่ไหลเข้าออกหัวใจ), ตรวจสภาวะความไม่สมดุลของแร่ธาตุในของเหลวสื่อนำไฟฟ้าบางตัว โดยเฉพาะธาตุโพแทสเซียมและแมกนีเซียม ซึ่งเป็นธาตุที่หัวใจจำเป็นต้องมีไว้ใช้อย่างสมดุล เพื่อช่วยควบคุมจังหวะการบีบและคลายตัวของหัวใจ (ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ)
    • ตรวจสอบความผิดปกติอื่น ๆ โดยทั่วไป เช่น ดูประสิทธิภาพของการใช้ยาและผลข้างเคียงของยารักษาโรคบางชนิดที่อาจมีฤทธิ์แสดงผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เต้นช้าลง เต้นถี่สลับกับเต้นช้า ฯลฯ
    • ตรวจเพื่อใช้วางแผนการรักษาโรคต่าง ๆ เพื่อลดผลข้างเคียงต่อการทำงานของหัวใจ เช่น การเลือกชนิดของยา การปรับปริมาณยา ประเภทของการออกกำลังกาย หรือในการทำกายภาพบำบัด
  2. การตรวจเมื่อพบอาการผิดปกติที่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะอาการดังต่อไปนี้ (ทุกอาการเหล่านี้หากมีอาการในข้อแรกร่วมด้วย (ปวดหน้าอก) ให้รีบไปโรงพยาบาลที่มั่นใจว่าจะมีแพทย์และอุปกรณ์การรักษาโรคหัวใจโดยเร็วที่สุด)
    • ปวดหน้าอกหรือปวดร้าวไปจนถึงคอและไหล่ซ้ายที่นานผิดปกติ
    • จับชีพจรแล้วพบว่าหัวใจเต้นถี่เร็วผิดปกติ
    • หายใจสั้นลงจนสึกได้ว่าหอบถี่
    • รู้สึกวิตก กระวนกระวาย กระสับกระส่าย
    • รู้สึกหมดเรี่ยวแรง หมดกำลังวังชา
    • รู้สึกคลื่นไส้ อยากอาเจียน
    • รู้สึกปวดในช่องท้องร่วมด้วย
    • มีอาการคล้ายจะเป็นลม หน้ามืด
    • ได้กินยาบางอย่างเข้าไปได้ไม่นานแล้วมีอาการ
    • มีโรคปอดเรื้อรัง (เพราะโรคปอดและโรคหัวใจมักเกี่ยวพันกันเสมอ)
  3. การตรวจในกรณีอื่น ๆ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจมีความจำเป็นต้องตรวจในบางกรณี สำหรับบุคคลบางกลุ่ม ดังนี้
    • ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ แพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในทุกช่วงระยะเวลาเพื่อติดตามผลการรักษาโรคหัวใจของผู้ป่วยรายนั้น
    • ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจอยู่ก่อน เช่น ผู้ที่ต้องใส่อุปกรณ์กระตุ้นการเต้นของหัวใจ (Pacemaker) แพทย์จะสั่งให้มีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในช่วงระยะเวลาตามที่เห็นความจำเป็นเพื่อดูว่าอุปกรณ์ยังทำงานเป็นปกติดีหรือไม่
    • กรณีผู้ป่วยบางรายที่กำลังจะต้องได้รับการผ่าตัดใหญ่ด้วยโรคอื่นด้วยวิธีการวางยาสลบ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าหัวใจจะยังสามารถทำงานเป็นปกติได้แม้ในขณะกำลังไม่รู้ตัวและกำลังได้รับการผ่าตัด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
    • บุคคลบางอาชีพที่สภาวะการทำงานปกติอาจตกอยู่ในความเครียดของหัวใจตลอดเวลา และโดยหากหัวใจของบุคคลเหล่านี้เกิดความผิดปกติขึ้นมาอย่างกะทันหันจะมีผลต่อความปลอดภัยของสาธารณชนได้ เช่น นักบิน พนักงานควบคุมปั้นจั่นยกของหนัก พนักงานขับรถไฟ พนักงานขับรถโดยสาร ฯลฯ
    • ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานบางราย แพทย์อาจสั่งให้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อเปรียบเทียบอาการของโรคหัวใจ (ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา) ว่าหัวใจยังเป็นปกติหรือดีขึ้น หรือเสื่อมลง

EKGคืออะไร
IMAGE SOURCE : myheart.org.uk

ผลข้างเคียงของการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจที่มีความปลอดภัยมาก สามารถตรวจได้ในทุกเพศทุกวัยรวมทั้งในเด็กและหญิงตั้งครรภ์ เพราะไม่มีข้อห้ามหรืออันตรายใด ๆ ในการตรวจ ไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บ ไม่ต้องมีการใช้ยาหรือกินยาแก้ปวด ไม่ต้องใช้ยาชาหรือยาสลบ และไม่มีการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าหรือส่งกระแสไฟฟ้าเข้าไปในร่างกาย แพทย์จึงสามารถสั่งตรวจซ้ำได้บ่อย ๆ ตามดุลยพินิจ ซึ่งในวันเดียวอาจตรวจซ้ำหลาย ๆ ครั้งได้โดยไม่มีผลข้างเคียง
  • โดยทั่วไปการตรวจนี้จะไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ยกเว้นบางรายที่อาจเกิดอาการแพ้สารที่ใช้ป้ายผิวหนัง (เป็นสารที่ช่วยการยึดติดของแผ่นรับสัญญาณการเต้นของหัวใจ) ซึ่งก็พบได้น้อยมาก ทำให้เกิดผื่นแดง แสบ เจ็บ คันได้บ้าง แต่อาการจะเป็นไม่มาก ไม่จำเป็นต้องให้การรักษา เพราะจะหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน

ข้อจำกัดการของการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

แม้การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะทำได้สะดวก รู้ผลรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย และไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ แต่การตรวจนี้ก็มีจุดอ่อนหรือข้อที่พึงระวังในการแปลผลซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นจุดอ่อนดังนี้

  • รูปกราฟที่ได้จากการตรวจแต่ละครั้ง คือ “ภาพนิ่ง” ภาพหนึ่งที่บ่งชี้กิจกรรมของหัวใจขณะเวลาหนึ่ง มิใช่ภาพแบบ Real Time ดังนั้น การตรวจจะพบความผิดปกติได้ก็ต่อเมื่อมีอาการในขณะตรวจเท่านั้น จึงอาจทำให้ผลออกมาเป็นปกติในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการตอนตรวจได้ (เพราะหัวใจมนุษย์นั้นทำงานด้วยการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา มันจึงอาจทำงานเป็นปกติในขณะช่วงเวลาหนึ่ง สลับกับความไม่เป็นปกติในอีกช่วงระยะเวลาหนึ่งก็ได้) เช่น ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกเป็น ๆ หาย ๆ จากโรคหลอดเลือดหัวใจที่ยังตรวจไม่พบอาจได้ผลออกมาเป็นปกติ หรือในผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ถ้าตรวจในขณะที่ไม่มีอาการของการขาดเลือด ผลตรวจก็อาจมาเป็นปกติได้เช่นกัน ดังนั้น จึงอาจต้องมีการตรวจซ้ำหลายครั้ง หรือมีการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคนิคพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม (โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการเหมือนจะเกิดโรคหัวใจ แต่การตรวจขณะนั้นไม่พบความผิดปกติ) เช่น การตรวจสมรรถภาพของหัวใจโดยการวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test : EST), การตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter Monitoring), การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram : Echo)
  • องค์ประกอบของรูปกราฟ EKG ที่ผิดปกติเพียงแห่งเดียวย่อมทำให้ได้ข้อสันนิษฐานหรือข้อบ่งชี้สภาวะผิดปกติของหัวใจได้มากมายหลายประการ แปลว่า กราฟ EKG นั้น ไม่อาจชี้ชัดเจาะจงต่อสภาวะผิดปกติของโรคหัวใจอย่างชัดเจนได้เสมอไป กรณีอย่างนี้ จึงตกเป็นภาพหน้าที่ของแพทย์ที่ท่านจะพิจารณาตรวจพิเศษอย่างอื่นเพื่อช่วยตรวจวินิจฉัยต่อไป
  • ในบางกรณี ผู้ป่วยซึ่งมีอาการของโรคหัวใจบางประการในขณะอยู่ที่บ้าน แต่เมื่อมาถึงโรงพยาบาลได้พบแพทย์ก็กลับคืนสู่สภาพปกติดี แม้จะได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือตรวจสมรรถภาพของหัวใจโดยการวิ่งสายพาน (EST) ก็ยังไม่อาจพบความผิดปกติแต่อย่างใด ในกรณีเช่นนี้ แพทย์อาจเลือกใช้อุปกรณ์การตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter Monitoring) ติดตัวไว้กับร่างกายผู้ป่วยตลอดเวลา จึงจะช่วยให้เห็นว่าในขณะเกิดอาการของโรคหัวใจนั้น มันมาจากสาเหตุใดของหัวใจกันแน่

คำแนะนำก่อนตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

  • การตรวจนี้มิใช่เป็นการนำไฟฟ้าจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย แต่เป็นการนำสัญญาณไฟฟ้าจากร่างกายที่มีค่าต่ำมากจากการเต้นของหัวใจในตัวของผู้รับการตรวจออกไปบันทึกสัญญาณในรูปของเส้นกราฟ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่จำเป็นสำหรับการตรวจสุขภาพประจำปีในคนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีที่มีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีโรคประจำตัว (แต่แพทย์บางท่านอาจแนะนำให้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเมื่ออายุย่าง 35 ปี เพื่อเป็นการเก็บค่าเอาไว้เปรียบเทียบก็ได้) และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนตรวจ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจที่สามารถทำได้ในทุกคนที่สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้ เพราะการเคลื่อนไหวจะส่งผลต่อการเต้นของหัวใจและส่งผลให้การแปลผลตรวจเกิดความผิดพลาดได้
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจที่ห้องผู้ป่วยนอก ทางโรงพยาบาลจึงไม่จำเป็นต้องรับไว้ในโรงพยาบาล เพราะเมื่อตรวจเสร็จก็สามารถกลับบ้านได้เลย และถ้าผู้รับการตรวจมีสุขภาพแข็งแรงพอก็ไม่จำเป็นต้องมีญาติมาด้วยก็ได้
  • ผู้รับการตรวจไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร หรือยาที่รับประทานอยู่เดิม โดยสามารถรับการตรวจได้ทุกเวลา (บางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยมีการเตรียมเป็นพิเศษกว่าคนปกติก็ได้หากมีสภาวะผิดปกติบางอย่างของร่างกาย) แต่แนะนำว่าควรสวมเสื้อผ้าที่สามารถถอดหรือเปิดบริเวณหน้าอกได้ง่ายเพื่อความสะดวก
  • ก่อนการตรวจจะต้องหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการออกแรงมาก และไม่ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มเย็น ๆ ก่อนการตรวจ และควรแจ้งแพทย์หรือพยาบาลให้ทราบหากท่านรับประทานยา อาหารเสริม หรือวิตามินอะไรอยู่ รวมถึงการใช้เครื่องมือช่วยการทำงานของหัวใจ (ถ้ามี) เพราะสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อการเต้นหรือการทำงานของหัวใจได้
  • การจะทราบผลตรวจเมื่อใดนั้นจะขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล เพราะแต่ละที่มีระบบการทำงานไม่เหมือนกัน เช่น บางโรงพยาบาลจะนัดผู้ป่วยมาฟังผลตรวจจากแพทย์ผู้ดูแลรักษาในภายหลัง บางโรงพยาบาลก็สามารถแจ้งผลตรวจได้ภายในเดียวกันกับการตรวจ (โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน) ดังนั้น จึงควรสอบถามเจ้าหน้าที่ถึงการรับทราบผลตรวจว่าจะต้องทำอย่างไร
  • แพทย์ผู้อ่านผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจเป็นแพทย์ในหากหลายสาขาที่ผู้ป่วยไปพบ เช่น อายุรแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ศัลยแพทย์ หรือวิสัญญีแพทย์
  • หลังการตรวจไม่จำเป็นต้องมีการดูแลตนเองเป็นพิเศษแต่อย่างใด ผู้รับการตรวจสามารถทำงานและใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาล ไม่จำเป็นต้องดูแลผิวหนังส่วนที่แปะแผ่นตรวจเป็นพิเศษ สามารถอาบน้ำใช้สบู่ได้ตามปกติ และคลุกคลีกับคนรอบรวมทั้งเด็กอ่อนและหญิงตั้งครรภ์ได้ตามปกติ
  • ในกรณีที่ผื่นจากการแพ้สารที่ใช้ป้ายผิวหนังตอนตรวจก็ไม่จำเป็นต้องมีการดูแลเป็นพิเศษหรือรักษาแต่อย่างใด เพราะผื่นจะมีอาการน้อยมากและหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน

ขั้นตอนการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

โดยทั่วไปการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที สามารถทำการตรวจได้ทั้งที่โรงพยาบาล คลินิก หรือหน่วยงานสาธารณสุขต่าง ๆ โดยจะมีขั้นตอนดังนี้

  1. แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยจะให้ใบนัดตรวจ เพื่อให้นำใบนัดตรวจไปยังห้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แล้วเจ้าหน้าที่ประจำห้องตรวจจะเป็นผู้นัดวันเวลาในการตรวจ ซึ่งถ้ามีคิวก็อาจได้ตรวจ ณ วันเวลานั้นเลย (เพราะอย่างที่บอกไปแล้วการตรวจนี้ไม่จำเป็นมีการต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ)
  2. ผู้รับการตรวจจะต้องเปลี่ยนไปสวมเสื้อผ้าที่โรงพยาบาลเตรียมไว้ ถอดรองเท้า ถุงเท้า และเครื่องประดับต่าง ๆ ที่อาจรบกวนการตรวจตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
  3. จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้ผู้รับการตรวจนอนหงายราบบนเตียงตรวจและทำตัวให้ผ่อนคลาย ไม่ต้องกังวล หายใจได้ตามปกติ จะหลับตาหรือลืมตาก็ได้ หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
  4. แล้วเจ้าหน้าที่จะนำแผ่นรับกระแสไฟฟ้าจากการเต้นของหัวใจแปะที่บริเวณหน้าอก 6 จุด และบริเวณที่แขนกับขาข้างละ 1 จุด อีก 4 จุด รวมเป็น 10 จุด (อาจมีการเช็ดทำความสะอากหากผิวหนังสกปรก หรือบางครั้งอาจต้องโกนขนตามจุดที่ต้องแปะออกด้วย ถ้ามีขนมากจนแปะแผ่นแปะไม่อยู่) ซึ่งก่อนแปะจะมีการทาเจลใสหรือครีมลงบนผิวหนังเพื่อช่วยให้การถ่ายทอดสัญญาณจากการเต้นของหัวใจผ่านจากผิวหนังไปสู่แผ่นแปะได้ดีขึ้น (แผ่นแปะจะให้ความรู้สึกคล้ายสัมผัสแผ่นโลหะ และอาจทำให้เกิดความอึดอัดได้เล็กน้อย)

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
IMAGE SOURCE : www.aviva.co.uk

  1. ต่อจากนั้นแผ่นแปะจะถูกต่อเข้ากับตัวเครื่องตรวจรับสัญญาณเพื่อเริ่มเดินเครื่องมือ ซึ่งในระหว่างนี้ผู้รับการตรวจจะต้องนอนให้นิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไหว ไม่พูดคุย หรือขยับมากเกินไป และไม่เกร็งตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพราะการเกร็งกล้ามเนื้ออาจส่งผลต่อการเต้นของหัวใจและทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อนได้ และเจ้าหน้าที่อาจขอให้ผู้เข้ารับการตรวจหายใจเป็นปกติหรือกลั้นหายใจชั่วครู่)
  2. ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่เริ่มเดินเครื่องมือเป็นระยะเวลาประมาณไม่เกิน 5 นาที ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการตรวจ และผลการตรวจจะถูกพิมพ์ออกมาในรูปของเส้นกราฟลงบนกระดาษที่ใช้เฉพาะสำหรับบันทึกการตรวจนี้
  3. แล้วเจ้าหน้าที่จะทำการปลดแผ่นแปะออกทั้งหมด เช็ดทำความสะอาดเจลหรือครีมที่ทาออก และให้ผู้รับการตรวจลงจากเตียง สวมใส่เสื้อผ้าตามปกติ แล้วรอพบเจ้าที่เพื่อนัดฟังผลตรวจ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการตรวจ

การแปลผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

แพทย์จะเป็นผู้แปลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากภาพกราฟ โดยจะดูจากจังหวะการเต้นของหัวใจ อัตราการเต้นของหัวใจ ดูลักษณะของกราฟการเต้น และความแรงของการเต้น ร่วมกับอาการของผู้ป่วยที่พบ ประวัติการป่วย การตรวจฟังการเต้นของหัวใจด้วยหูฟัง และการตรวจร่างกายเบื้องต้น แพทย์ก็จะสามารถให้การวินิจฉัยในเบื้องต้นได้ว่าผู้ป่วยจะเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ถ้าเป็นน่าจะเป็นโรคหัวใจชนิดไหนและจากสาเหตุอะไร มีความจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม หรือต้องพบแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจหรือไม่

ถ้าผลตรวจออกมาเป็นปกติ ผู้ป่วยก็สามารถกลับบ้านได้เลยและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ ไม่ต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาล แต่ถ้าผลตรวจพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น แพทย์มักจะพิจารณาให้มีการตรวจซ้ำ หรือการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter Monitoring), การตรวจสมรรถภาพของหัวใจโดยการวิ่งสายพาน (EST), การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echo) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการหรือความผิดปกติที่พบในแต่ละบุคคล

ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
IMAGE SOURCE : thephysiologist.org

ผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
IMAGE SOURCE : lifeinthefastlane.com

ปกติแล้วผู้รับการตรวจไม่มีความจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลในกราฟ โดยอาจมีหน้าที่เพียงรับกระดาษกราฟจากเจ้าหน้าที่ที่พิมพ์เสร็จแล้ว ซึ่งแสดงผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจนั้น ไปยื่นให้แพทย์ผู้ตรวจก็เพียงพอแล้ว ดังนั้น วิธีการอ่านผลและแปลผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหมอจึงจะไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด