การตรวจการทำงานของตับ (AST, ALT, ALP, TB, DB, Alb, Glob ฯลฯ)

การตรวจการทำงานของตับ (AST, ALT, ALP, TB, DB, Alb, Glob ฯลฯ)

Liver Function Tests

การตรวจการทำงานของตับ หรือ การตรวจเลือดเพื่อทราบการทำงานตับ (ภาษาอังกฤษ : Liver function tests หรือ LFTs หรือ LFs) คือ กลุ่มการตรวจทางเคมีคลินิกในเลือดภายในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานะของตับของผู้รับการตรวจ โดยการตรวจการทำงานของตับมาตรฐานมักจะประกอบไปด้วย การตรวจ AST (SGOT), ALT (SGPT), ALP (Alkaline phosphatase), Total bilirubin, Direct bilirubin, Albumin, Globulin, A/G Ratio และ GGT (Gamma GT)

หมายเหตุ : ตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในช่องท้อง ตั้งอยู่ชิดติดกับกะบังลมและค่อนไปทางขวา ตับมีหลอดเลือดสำคัญที่ใช้ทำหน้าในการผ่านเข้าออกอยู่ 3 ช่องทาง คือ หลอดเลือดแดงจากหัวใจ, หลอดเลือดดำจากลำไส้, และหลอดเลือดดำจากตับสู่หัวใจ เมื่อพิจารณาเพียงการไหลเวียนเข้าออกของหลอดเลือดดังกล่าว ก็พอจะอนุมานได้ว่าตับนั้นเป็นเสมือนโรงงานศูนย์กลางของร่างกาย เพราะมีหน้าที่ทั้งรับวัตถุดิบ ผลิต เก็บรักษา ตรวจสอบคุณภาพการแจกจ่าย เก็บขยะและทิ้งขยะ ซึ่งในการนี้จะขอสรุปพอให้เห็นภาพกว้าง ๆ ในการทำหน้าที่ของตับ ดังนี้

  1. เป็นหน่วยรักษากฎเกณฑ์ สังเคราะห์ และส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ตับสร้างขึ้นใช้ตามความต้องการของร่างกาย ซึ่งผลผลิตที่ตับสร้างขึ้นและควบคุมการใช้ คือ น้ำตาลกลูโคส, โปรตีน, น้ำดี และสารประเภทไขมัน (เช่น คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ไลโปโปรตีน ฯลฯ)
  2. เป็นหน่วยเก็บรักษา โดยจะเก็บสิ่งมีประโยชน์ต่าง ๆ (เช่น ไกลโคเจน วิตามินเอ ดี เค บี12 รวมทั้งแร่ธาตุสำคัญต่าง ๆ) ให้เพียงพอที่จะหยิบฉวยเอามาใช้ได้ในยามจำเป็น รวมถึงเก็บของมีพิษ (เช่น โลหะหนัก ยาเคมีรักษาโรค ทองแดง) รวบรวมพักรอไว้ก่อนที่จะทิ้งออกจากร่างกาย
  3. เป็นหน่วยรักษาความสะอาด โดยจะทำหน้าที่กำจัดขยะและของมีพิษ หรือทำของมีพิษให้หมดพิษ ซึ่งขยะหรือสิ่งมีพิษที่สำคัญ คือ
    • แอมโมเนีย (Ammonia) คือ ขยะที่เกิดจากการย่อยสลายอาหารโปรตีน ซึ่งตับจะเปลี่ยนแอมโมเนียให้เป็นยูเรีย (Urea) ส่งผ่านไตให้เป็นน้ำปัสสาวะออกทิ้งไป
    • สารบิลิรูบิน (Bilirubin) คือ ขยะทีเ่กิดจากการสิ้นอายุขัยของเม็ดเลือดแดง (แต่ละเม็ดเลือดแดงจะมีอายุขัยประมาณ 120 วัน) โดยม้ามจะทำหน้าที่กวาดต้อนและทำลายเม็ดแดงที่สิ้นอายุขัยแล้วเปลี่ยนให้เป็นสารสีเหลืองไปเกาะกับอัลบูบิน (Albumin) ลอยไปตามกระแสเลือด เพื่อให้ตับเก็บเอามาย่อยสลายเป็นสารบิลิรูบิน แล้วฝาส่งไปกับน้ำดี (Bile) ออกทิ้งผ่านลำไส้ออกไปนอกร่างกายพร้อมกากอาหาร
    • ฮอร์โมน (Hormone) อวัยวะต่าง ๆ ที่ผลิตฮอร์โมนขึ้นมาใช้ เมื่อฮอร์โมนเหล่านั้นหมดอายุหรือมีมากเกินความจำเป็น ตับก็จะเก็บมาทำลาย
    • ยา คือ สารเคมีที่หลุดเข้าสู่กระแสเลือด ในการนี้ตับจะพยายามเก็บไว้ในฐานของสารพิษเช่นเดียวกับสารพิษอื่น ๆ แล้วหาทางปล่อยทิ้งต่อไป
    • แอลกอฮอล์ คือ สารพิษเหมือนยาเช่นกัน แต่มีขอบเขตของพิษมากกว่ายาตรงที่ปริมาณมาสู่ตับที่มักจะมากล้นเกินไป เซลล์ตับจึงรับมือไม่ไหวและเกิดการอักเสบหรือเซลล์ตับตาย (ตับแข็ง) แต่ถึงอย่างไร ตับก็จะพยายามทำหน้าที่ขับทิ้งออกทางไตปนไปกับน้ำปัสสาวะ
    • สารพิษ (Toxin) เช่น ยาฆ่าแมลง เห็ดมีพิษ ปลาปักเป้า อาหารบูดเสีย ฯลฯ เหล่านี้คือสารพิษโดยตรง ซึ่งตับจะเป็นอวัยวะที่ต้องรับผิดชอบจัดการในโอกาสแรก

อย่างไรก็ตาม ตับนั้นก็มีจุดอ่อนอยู่ไม่น้อย ทั้ง ๆ ที่ตับมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหัวใจหรือสมอง เพราะหากเซลล์ตับได้รับการบาดเจ็บหรือถูกทำลายจากสารพิษ ก็อาจจะทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับตับได้ ซึ่งโรคตับที่สำคัญและค่อนข้างเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายก็คือ

  • โรคตับอักเสบ (Hepatitis) อาจเกิดจากเชื้อไวรัส สารพิษ หรือการกินยารักษาโรคใดโรคหนึ่งต่อเนื่องมาช้านาน ฯลฯ
  • โรคตับแข็ง (Cirrhosis) อาจเกิดเนื่องจากตับอักเสบเพราะไวรัส หรือเกิดจากสารเคมี แอลกอฮอล์ หรือยาที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง
  • โรคมะเร็งตับ (Liver cancer)  อาจเกิดขึ้นเองภายในตับหรือแพร่กระจายมาส่วนอื่นก็ได้
  • ภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis) เกิดจากการกินธาตุเหล็กมากเกินไปจนตับต้องเก็บรวบรวมไว้ไม่ให้เกิดพิษกับอวัยวะอื่น แต่เหล็กก็เป็นตัวการทำลายเซลล์ตับเอง
  • โรควิลสัน (Wilson’s disease) ซึ่งเกิดจากตับต้องสะสมทองแดงมากเกินไปจนเกิดพิษ
  • โรคของท่อน้ำดี (Disease of bile duct) เช่น เกิดอักเสบปิดกั้นทำให้ตับหลั่งน้ำดีไม่ได้
  • โรคท่อน้ำดีแข็งตัว
  • บัดด์ไคอารี่ซินโดรม (Budd-chiari syndrome) เป็นโรคที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดดำตับ

ผลการตรวจการทำงานของตับ
IMAGE SOURCE : www.ptkcenter.com (ตัวอย่างผลการตรวจการทำงานของตับ)

AST (SGOT)

AST (Aspartate transaminase) หรือ Aspartate aminotransferase (แต่เดิมการแพทย์จะใช้คำว่า “SGOT” หรือ Serum glutamic oxaloacetic transaminase) คือ เอนไซม์ที่อาจตรวจพบได้ในกระแสเลือด ซึ่งสร้างขึ้นมาจากความเสียหายของตับ เม็ดเลือดแดง หัวใจ กล้ามเนื้อ ตับอ่อน หรือไต จะเห็นได้ว่าค่า AST นี้มิใช่ค่าเอนไซม์เฉพาะตับเท่านั้น แต่เป็นค่าที่สะท้อนจากทุกเนื้อเยื่อของทุกอวัยวะที่เสียหาย (เพียงแต่ตับเป็นอวัยวะที่ไวต่อโรคหรือจากสภาวะแวดล้อมที่มากระทบ จึงมักเป็นสาเหตุแรก ๆ ที่ทำให้ AST ซึ่งเกิดขึ้นจากตับมีค่าสูงขึ้นบ่อยครั้ง นั่นแปลว่า AST ที่สูงขึ้นผิดปกติมักมีสาเหตุมาจากตับมากกว่าอวัยวะอื่น) ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ค่า AST พิจารณาร่วมกับค่าผลเลือดตัวอื่นที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะนั้น ๆ ด้วยเสมอ

สำหรับผู้ที่มีสุขภาพดีจะพบค่า AST ในเลือดน้อยมาก แต่หากเซลล์ตับ เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ และอื่น ๆ ดังกล่าวถูกทำลาย จะมีเอนไซม์ AST จากอวัยวะนั้น ๆ ออกมาที่ระบบเลือดในปริมาณมากขึ้น โดยที่อาจจะพบอาการแสดงของโรคนั้น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้

  • ชื่อต่าง ๆ ในใบรายงานผลการตรวจที่มีความหมายเดียวกัน คือ
    • AST
    • AAT
    • Aspartate transaminase
    • ASAT
    • AspAT
    • Aspartate aminotransferase
    • SGOT
    • Serum Glutamic Oxaloacetic Transaminase
  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ AST (SGOT) คือ การตรวจเพื่อให้ทราบค่าเอนไซม์ AST ซึ่งอาจแสดงผลเปลี่ยนแปลงจากค่าปกติเมื่อตับหรืออวัยวะอื่นบางแห่งกำลังตกอยู่ในอันตรายหรือมีความผิดปกติ (ยิ่งค่า AST สูงขึ้นมากเพียงใด ก็ย่อมเป็นสัดส่วนโดยตรงที่สะท้อนให้เห็นถึงจำนวนเซลล์ของอวัยวะต้นทางที่ได้รับอันตรายบาดเจ็บฟกช้ำมากขึ้นเท่านั้น) ค่า AST จึงใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
    • ตรวจสุขภาพของตับในขณะนั้นว่ามีความเสียหายใด ๆ ต่อตับปรากฏอยู่บ้างหรือไม่
    • ตรวจยืนยันข้อสงสัยโรคตับที่อาจปรากฏอาการสำคัญว่าเกิดจากโรคตับอักเสบหรือโรคตับแข็งหรือไม่
    • ตรวจเพื่อยืนยันอาการผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้นว่าเกี่ยวข้องกับตับหรือไม่ เช่น ปวดช่องท้องส่วนบน คลื่นไส้ อาเจียน ดีซ่าน (ตัวเหลืองตาเหลือง)
    • ตรวจในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดีซ่าน เพื่อช่วยบ่งชี้ว่ามาจากโรคเลือดหรือโรคตับ
    • ตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาหากเกิดโรคตับและได้มีการรักษาอยู่ก่อนแล้ว
    • ตรวจเพื่อติดตามผล หรือพิษจากยาลดคอเลสเตอรอล หรือจากยารักษาโรคอื่นว่าได้สร้างความเสียหายให้แก่ตับหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด
    • ตรวจเพื่อช่วยคัดกรองและ/หรือวินิจฉัยภาวะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
    • การตรวจ AST ในปัจจุบันมักเป็นการตรวจที่อยู่ในโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปี แต่ในความเป็นจริงแล้วการส่งตรวจการทำงานของตับควรจะส่งตรวจในรายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ เช่น ในผู้ที่มีดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคตับ มีประวัติหรือมีโอกาสเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ มีภาวะอ้วนหรือเป็นเบาหวาน หรือเป็นผู้ที่กินยาหรือวิตามินหรือสมุนไพรในปริมาณและขนาดที่อาจทำลายตับได้ หรือส่งตรวจในรายที่มีอาการของโรคตับ (เช่น อ่อนแรง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องบวม มีภาวะดีซ่านตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม หรือมีอาการคันที่ผิวหนัง)
  • ค่าปกติของ AST (SGOT) ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่าปกติของ AST (SGOT) ในผู้ชาย คือ 8 – 46 U/L
    • ค่าปกติของ AST (SGOT) ในผู้หญิง คือ 7 – 34 U/L
  • ค่า AST (SGOT) ที่ต่ำกว่าปกติ มักไม่ค่อยปรากฏและไม่มีนัยสำคัญ หรืออาจสรุปได้ว่า หากตรวจพบค่า AST อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติก็อาจหมายความว่าทุกอวัยวะ (ตับ เม็ดเลือดแดง หัวใจ กล้ามเนื้อ ตับอ่อน หรือไต) ยังไม่มีโรคสำคัญเกิดขึ้น หรือยังมีสุขภาพดีอยู่
  • ค่า AST (SGOT) ที่สูงกว่าปกติ อาจเกิดจากการอักเสบหรือปวดเจ็บของเนื้อเยื่อหัวใจ ตับ ตับอ่อน หรือกล้ามเนื้อก็ได้ โดยอาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Heart attack)
    • อาจเกิดโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute pancreatitis)
    • อาจเกิดโรคไตวายเฉียบพลัน (Acute renal failure)
    • อาจเกิดโรคตับอักเสบ (Hepatitis)
    • อาจเกิดโรคตับแข็ง (Cirrhosis)
    • อาจเกิดโรคมะเร็งตับ (Liver tumor)
    • อาจเกิดภาวะอุดตันภายในตับเอง
    • อาจเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงไหลผ่านเข้าตับได้น้อยกว่าปกติ ทำให้เซลล์ตับตายเฉพาะที่ (Lever ischemia)
    • อาจเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงสีซีดลงอันเนื่องมาจากพันธุกรรม (Hereditary hemochromatosis)
    • อาจเกิดโรคโลหิตจางชนิดเซลล์เม็ดเลือดแดงลดจำนวนน้อยลงอย่างเฉียบพลัน (Acute hemolytic anemia)
    • อาจเกิดโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อขั้นแรก (Primary muscle disease)
    • อาจเกิดโรคกล้ามเนื้อลีบขั้นรุนแรง (Progressive muscular dystrophy)
    • อาจเกิดจากแผลไฟลวกที่ลึกและรุนแรง (Severe deep burn)
    • อาจเกิดจากการได้รับการผ่าตัดมาได้นาน (Recent surgery)
    • อาจเกิดจากภาวะการถอนพิษหรือลงแดงจากการหยุดดื่มแอลกอฮอล์
    • อาจเกิดจากการที่เพิ่งได้รับการรักษาโรคหัวใจด้วยวิธีสอดใส่ห่วงถ่างขยายหลอดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจมาได้ไม่นาน (Recent cardiac catheterization)
    • อาจเกิดจากมีอาการของโรคชักมาได้ไม่นาน (Recent convultion)
    • อาจเกิดจากความรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสจากโรคโมโนนิวคลีโอซิส (Mononucleosis)
    • อาจเกิดจากกล้ามเนื้อโครงร่างของร่างกายได้รับการบาดเจ็บฟกช้ำอย่างรุนแรง
    • อาจเกิดจากการกินยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ, ยาสแตตินที่ใช้ลดคอเลสเตอรอล (Statin), ยาคีโมรักษามะเร็ง (Chemotherapy), ยาระงับอาการปวดแอสไพริน (Aspirin) รวมทั้งอาจเกิดจากการใช้ยาเสพติด (Narcotics)
    • หากค่า AST สูงกว่าปกติไม่มากก็อาจสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นประจำ, ตับอาจติดเชื้อหรืออักเสบเรื้อรัง, อาจมีนิ่วในถุงน้ำดี, อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจากโรคโมโนนิวคลีโอซิส (Mononucleosis), อาจมีการแพร่กระจายของมะเร็งมาที่ตับ
  • ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนการตรวจ AST (SGOT) มีดังนี้
    • ต้องงดอาหารและเครื่องดื่ม (ยกเว้นน้ำเปล่า) ก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
    • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักก่อนการตรวจ AST
    • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงชื่อและขนาดยาที่รับประทาน โดยเฉพาะยาสแตติน (Statins), ยาปฏิชีวนะ, ยาแอสไพริน (Aspirin), ยาละลายลิ่มเลือด (Clopidogrel), ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Warfarin), ยานอนหลับ, ยาบาร์บิทูเรต (Barbiturate), ยาเคมีบำบัด, ยาสมุนไพร หรือวิตามินใด ๆ ที่รับประทานอยู่ในขนาดสูง เพราะอาจส่งผลต่อการแปลผลทางห้องปฏิบัติการได้
    • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงการแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาใด ๆ มีการตั้งครรภ์หรือกำลังจะตั้งครรภ์ หรือได้รับการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ หรือเคยได้รับการผ่าตัด สวดหลอดเลือดหัวใจ หรือทำบอลลูนหัวใจ เนื่องจากผลการตรวจอาจผิดพลาดไปจากความเป็นจริงได้
    • แพทย์จะพิจารณาสั่งตรวจการทำงานของตับก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการแสดงของโรคตับหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคตับ รวมทั้งในผู้ป่วยที่แสดงอาการของโรคหัวใจขาดเลือด และจะพิจารณาตรวจซ้ำตามดุลยพินิจของแพทย์เพื่อประเมินผลการรักษา
    • ผลการประเมินค่าทางห้องปฏิบัติการนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานความเป็นไปได้ซึ่งไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนเพียงค่าเดียว เพราะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการซ้ำเพื่อยืนยัน และต้องตรวจควบคู่ไปกับ ALT และค่าเอนไซม์ตับตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย

ALT (SGPT)

ALT (Alanine transaminase) หรือ Alanine aminotransferase (แต่เดิมการแพทย์จะใช้คำว่า “SGPT” หรือ Serum glutamate-pyruvate transaminase) คือ เอนไซม์ที่ล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดซึ่งอาจเกิดจากความเสียหายของอวัยวะใด ๆ ก็ได้ เช่น ไต หัวใจ กล้ามเนื้อ ตับอ่อน หรือตับ (ความเสียหายจากทุกอวัยวะยกเว้นตับ จะปรากฏค่า ALT ไม่มากนักและมักไม่อาจบ่งชี้ได้ว่ามาจากอวัยวะใดชัดเจน) แต่เฉพาะความเสียหายของตับเท่านั้นที่ค่า ALT จะสำแดงค่าสูงขึ้นผิดปกติเป็นตัวเลขให้เห็นอย่างเด่นชัด นั่นแปลว่า หากมีโรคตับเมื่อใด ALT ในเลือดที่ตรวจได้ก็จะสูงกว่าปกติอย่างเด่นชัดเมื่อนั้น ด้วยเหตุนี้ ค่า ALT จึงเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของโรคตับ ALT จึงใช้เพื่อการตรวจสุขภาพของตับเป็นหลัก ซึ่งมักจะให้ความน่าเชื่อถือมากกว่าค่าผลเลือดตัวอื่น

ค่า ALT นับเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญอย่างยิ่งตัวหนึ่งในการวิเคราะห์ผลข้างเคียงหรือพิษต่อตับจากยารักษาโรคบางชนิด (เช่น ยาลดคอเลสเตอรอล) จึงสรุปได้ว่า หากตับได้รับพิษจากยา แอลกอฮอล์ อาหาร หรือจากการถูกโจมตีด้วยเชื้อไวรัส ก็ย่อมมีผลทำให้ค่า ALT สูงขึ้นได้เสมอ (ALT เป็นตัวบ่งชี้ที่ไวต่อความเปลี่ยนค่าเป็นที่สุด ในผลจากความเสียหายใด ๆ ของเซลล์ตับ)

  • ชื่อต่าง ๆ ในใบรายงานผลการตรวจที่มีความหมายเดียวกัน คือ
    • ALT
    • Alanine transaminase
    • ALAT
    • Alanine aminotransferase
    • SGPT
    • Serum Glutamate-Pyruvate Transaminase
  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ ALT (SGPT) คือ
    • ตรวจเพื่อให้ทราบค่าเอนไซม์ ALT ซึ่งอาจแสดงผลการเปลี่ยนจากค่าปกติเมื่ออวัยวะบางแห่งของร่างกายโดยเฉพาะตับ ได้รับผลกระทบจากสารพิษ หรือฟกช้ำ หรือถูกโจมตีจากไวรัสจนเป็นผลทำให้เซลล์ตับบาดเจ็บหรือได้รับความเสียหาย
    • ตรวจสอบความเสียหายของตับจากเหตุใดก็ตามว่ามีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด
    • ตรวจสอบโรคตับซึ่งทราบอยู่ก่อนแล้ว (เช่น มีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์ ยารักษาโรค ไวรัส) ว่าโรคตับที่เป็นอยู่ในขณะนั้นทรุดหนักอยู่ในระดับของโรคตับอักเสบหรือระดับของโรคตับแข็ง
    • ตรวจสอบในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดีซ่านเพื่อบ่งชี้ให้แน่ชัดว่ามีสาเหตุมาจากโรคเลือดหรือมาจากโรคตับ
    • ตรวจสอบเพื่อเฝ้าระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตับ จากการกินยาลดคอเลสเตอรอลหรือยารักษาโรคอื่นใดก็ตาม
    • ตรวจในรายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ เช่น ในผู้ที่มีดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคตับ มีประวัติหรือมีโอกาสเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ มีภาวะอ้วนหรือเป็นเบาหวาน หรือเป็นผู้ที่กินยาหรือวิตามินหรือสมุนไพรในปริมาณและขนาดที่อาจทำลายตับได้ หรือส่งตรวจในรายที่มีอาการของโรคตับ (เช่น อ่อนแรง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องบวม มีภาวะดีซ่านตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม หรือมีอาการคันที่ผิวหนัง)
  • ค่าปกติของ ALT (SGPT) ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่าปกติทั่วไปของ ALT (SGPT) คือ 0 – 48 U/L
  • ค่าปกติของ ALT (SGPT) ที่เหมาะสมในปัจจุบัน ด้วยวิทยาลัยอเมริกันแห่งสมาคมอายุรแพทย์อเมริกันได้รายงานเสนอว่า แพทย์แผนปัจจุบันควรปรับค่าปกติของ ALT ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสชนิดซี (HCV) และโรคไขมันพอกตับ (FLD) เพราะผู้ป่วยที่กำลังเป็นโรคใดโรคหนึ่งอย่างเงียบ ๆ นี้ หากไปเจาะเลือดตรวจค่า ALT ก็จะไม่สามารถบ่งบอกได้ว่ากำลังเกิดโรค เพราะพบค่า ALT อยู่ในเกฑณ์ปกติ (0 – 48 U/L ซึ่งเป็นเกณฑ์ปกติเดิม) จึงอาจทำให้เข้าใจผิดว่าตนเองยังมีสุขภาพดีเช่นคนทั่วไปได้ ในข้อเสนอแนะจึงสรุปได้ว่าค่าปกติของ ALT ที่เหมาะสมในปัจจุบัน ควรปรับลดและกำหนดค่ามาตรฐานใหม่เป็นดังนี้
    • ค่าปกติของ ALT (SGPT) ในผู้ชาย คือ 30 U/L
    • ค่าปกติของ ALT (SGPT) ในผู้หญิง คือ 19 U/L
  • ค่า ALT (SGPT) ที่ต่ำกว่าปกติ โดยธรรมดามักจะไม่ปรากฎและมักมีค่าให้ตรวจพบได้เสมอตราบเท่าที่บุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่และตับก็ยังต้องทำหน้าที่เป็นปกติดีอยู่ แต่ถ้า ALT ต่ำกว่าปกติร่วมกับค่าคอเลสเตอรอลที่สูงเกินปกติ ก็อาจเกิดจากท่อน้ำดีในตับอุดตัน (Congested liver) ได้
  • ค่า ALT (SGPT) ที่สูงกระเพื่อมขึ้นเล็กน้อยเป็นครั้งคราว อาจแสดงผลได้ว่า
    • ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
    • กล้ามเนื้ออักเสบ (Myositis)
    • อาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infraction)
    • หากมีโรคหรือภาวะใดที่กระทบต่อตับ หัวใจ หรือกล้ามเนื้อโครงร่าง ก็ย่อมเป็นเหตุทำให้ค่า ALT กระเพื่อมสูงขึ้นได้เสมอ
  • ค่า ALT (SGPT) ที่สูงเล็กน้อย อาจแสดงผลได้ว่า
    • เริ่มเกิดสภาวะตับอักเสบจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น การกินยา การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการกินอาหารที่เป็นพิษ
    • อาจเกิดจากการกินยาบางชนิดเป็นประจำหรือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาลดคอเลสเตอรอลสแตติน (Statins), ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics), ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy), ยาแก้ปวด (Aspirin), ยาแก้อาการซึมเศร้านอนไม่หลับ (Barbiturates), ยาเสพติด (Narcotics)
    • อาจมีไขมันสะสมแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อตับสูงเกินปกติ
    • อาจเกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังที่ยังแสดงอาการไม่มาก แต่ในระยะยาวอาจก่อให้เกิดโรคตับแข็งขึ้นได้
    • อาจเริ่มมีอาการของโรคตับแข็ง
  • ค่า ALT (SGPT) ที่สูงปานกลาง อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจเกิดโรคตับอักเสบ (Hepatitis)
    • อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักจนอยู่ในฐานะเป็นยาเสพติด (Alcohol abuse)
    • ตับอาจอักเสบในระยะเริ่มต้นจากเชื้อไวรัส หรือระยะที่ได้รับการรักษาจนอาการเริ่มดีขึ้น
    • อาจเกิดจากการกินยาเกินขนาด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาสมุนไพรบางชนิด
    • อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจากโรคโมโนนิวคลีโอซิส (Mononucleosis) หรือที่เรียกว่า “โรคจูบปาก” ซึ่งเป็นการติดต่อผ่านทางน้ำลาย หรือจากการไอ จาม หรือน้ำมูก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตับและม้ามโตกว่าปกติ และอาจรักษาได้ด้วยการพักผ่อนให้มาก ๆ
    • ตับอาจเป็นโรคมะเร็ง (Hepatic tumor)
    • ท่อน้ำดีอาจถูกปิดกั้น ซึ่งอาจเกิดจากท่อน้ำดีอักเสบหรือมีนิ่วในถุงน้ำดี
  • ค่า ALT (SGPT) ที่สูงมาก อาจแสดงผลได้ว่า
    • เซลล์ตับอาจกำลังเสียหายอย่างรุนแรงจากเชื้อไวรัสตับอักเสบตัวใดตัวหนึ่งมาไม่นานนัก เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ บี หรือซี
    • เซลล์ตับอาจกำลังเสียหายเพราะพิษจากยารักษาโรคบางตัว หรือสมุนไพร หรือวิตามินบางชนิดที่รับประทานในขนาดและปริมาณที่เป็นพิษต่อตับ
    • ร่างกายอาจได้รับสารตะกั่วทางใดทางหนึ่งจนตับเกิดความเสียหายจาพิษของตะกั่ว
    • ร่างกายอาจถูกพิษโดยตรงจากสารคาร์บอนเตตราคลอไรด์ (Cabon tetrachloride) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้อุปกรณ์เครื่องดับเพลิง
    • ตับอาจเสียหายร้ายแรงจากโรคมะเร็งตับ ซึ่งย่อมมีผลทำให้ค่า ALT อยู่ในระดับที่สูงมาก
    • ตับอาจอยู่ภาวะขาดเลือด (Hepatic ischemia) เช่น จากกรณีหัวใจล้มเหลว
    • ร่างกายอาจเกิดอาการช็อก (Shock) จึงทำให้ตับได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงต่ำกว่าปริมาณที่ควรได้รับจนเซลล์บางส่วนเริ่มตายหรือเสียหายอย่างกว้างขวาง
  • ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนการตรวจ ALT (SGPT) มีดังนี้
    • ต้องงดอาหารและเครื่องดื่ม (ยกเว้นน้ำเปล่า) ก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
    • ต้องงดการกินยาทุกชนิดล่วงหน้าหลาย ๆ วัน ก่อนการเจาะเลือด (โปรดปรึกษาแพทย์ในกรณีที่เป็นยาซึ่งสั่งให้กินโดยแพทย์)
    • ต้องงดกินสมุนไพรทุกประเภท รวมถึงอาหารพื้นเมืองตามความเชื่อประหลาด ๆ เช่น สมองลิง กระดูกหัวเสือ เขากวางอ่อน อุ้งตีนหมี ดีงู ปลาปักเป้า ฯลฯ
    • การออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือภายหลังการผ่าตัด หรือการใส่หลอดโลหะขยายหลอดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจในทุกกรณี ล้วนทำให้ค่า ALT สำแดงค่าผิดเพี้ยนสูงขึ้นได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงควรงดการออกกำลังกายก่อนตรวจและแจ้งให้แพทย์ทราบถึงกรณีดังกล่าว
    • แจ้งให้แพทย์ทราบหากท่านกำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากผลการตรวจอาจผิดพลาดไปจากความเป็นจริงได้
    • แพทย์มักพิจารณาสั่งตรวจการทำงานของตับในผู้ป่วยที่มีอาการแสดงของโรคตับหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคตับ และจะพิจารณาตรวจซ้ำตามดุลยพินิจของแพทย์เพื่อประเมินผลการรักษา
    • ผลการประเมินค่าทางห้องปฏิบัติการนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานความเป็นไปได้ซึ่งไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนเพียงค่าเดียว เพราะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการซ้ำเพื่อยืนยัน และต้องตรวจควบคู่ไปกับ AST และค่าเอนไซม์ตับตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย

AST : ALT (DeRitis ratio)

เนื่องจากการตรวจเลือดเพื่อหาค่า ALT มักจะต้องตรวจหาค่า AST ควบคู่ไปด้วยเสมอ ด้วยเหตุนี้ แพทย์จึงช่วยกันวิเคราะห์และพบว่าอัตราส่วนระหว่าง AST : ALT นั้น อาจช่วยบ่งชี้โรคตับอย่างหยาบ ๆ ได้ (มิใช่ข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน แต่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานทั่วไปในเบื้องต้นโดยอาศัยสถิติเดิมเป็นข้อยืนยัน) และเรียกอันตราส่วนตามชื่อผู้ค้นคว้าคนแรกนี้ว่า “DeRitis ratio” โดยจากการรวบรวมสถิติที่ผ่านมาเพื่อใช้เป็นข้อสันนิษฐานโรคที่เกี่ยวกับโรคตับนั้น สามารถสรุปได้ดังนี้

  • AST : ALT = 2 : 1 อาจสันนิษฐานว่าเกิดโรคตับจากแอลกอฮอล์ หรือตับเสียหายเรื้อรังจากแอลกอฮอล์ เช่น โรคไขมันพอกตับ
  • AST : ALT = 1 : 1 มักเป็นค่าปกติทั่วไป
  • AST : ALT = < 1 : 1 อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคไขมันพอกตับแม้ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัส หรือเกิดจากการใช้ยา (เฉียบพลันหรือเรื้อรัง)

ALP

ALP ย่อมาจากคำว่า “Alkaline phosphatase” (อัลคาไลน์ ฟอสฟาเตส) คือ เอนไซม์ที่ผลิตขึ้นมาด้วยโปรตีนจากอวัยวะต่าง ๆ ที่เกิดโรคหรือเกิดความผิดปกติ เช่น ตับ กระดูก ลำไส้เล็ก ไต รกของหญิงตั้งครรภ์ (มาจากตับนับเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดของ ALP รองลงมาคือกระดูก)

เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัยแยกแยะระหว่างโรคตับและโรคกระดูก ในการเจาะเลือดตรวจ ALP ทุกครั้ง จำเป็นจะต้องตรวจค่า ALT และ AST พร้อม ๆ กันไปด้วยเสมอในคราวเดียวกัน โดยการสำแดงค่าผลเลือดทั้ง 3 ตัวนี้ อาจช่วยบ่งชี้โรคที่สำคัญได้ เช่น ถ้าค่าทั้ง 3 ตัวนี้สูงทั้งหมด อาจบ่งชี้ได้ว่าเป็นโรคตับหรือโรคมะเร็งตับ แต่ถ้าค่า ALP สูงเพียงตัวเดียว (ALT กับ AST ปกติ) ก็อาจบ่งชี้ได้ว่าเป็นโรคกระดูกหรือโรคมะเร็งกระดูก

เมื่อใดก็ตามที่พบค่า ALP สูงขึ้นมากผิดปกติ โปรดอย่านิ่งนอนใจและขอให้คิดถึงสุขภาพของตับไว้ก่อนเสมอ และนอกจากตับแล้วจะต้องคิดถึงสุขภาพกระดูกด้วยเช่นกัน

  • ชื่อต่าง ๆ ในใบรายงานผลการตรวจที่มีความหมายเดียวกัน คือ
    • ALP
    • Alkaline phosphatase
    • Alkaline Phos
    • ALK PHOS
    • ALKP
  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ ALP คือ
    • การตรวจเพื่อให้ทราบค่า ALP ซึ่งเป็นกลุ่มเอนไซม์ที่มีมากในตับและในกระดูก ซึ่งจะช่วยให้ทราบภาวะความผิดปกติของตับและกระดูก โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคเกี่ยวกับท่อน้ำดี ภาวะการขาดวิตามินดี รวมทั้งระดับ ALP ยังอาจนับเป็นสารบ่งชี้มะเร็งที่สำคัญตัวหนึ่งด้วย (ข้อมูลจากเลือดที่ไวที่สุดต่อการหยั่งรู้การกระจายตัวของมะเร็ง (Tumor metastasis) ก็คือค่า ALP)
    • เพื่อใช้ร่วมบ่งชี้ตรวจการทำงานของตับจากผลการตรวจเลือดในคราวเดียวกัน
  • อาการผิดปกติของตับหรือกระดูกที่สามารถใช้ค่า ALP ช่วยบ่งชี้ได้ว่าจริงหรือไม่
    • สัญญาณเตือนหรืออาการผิดปกติเกี่ยวกับสุขภาพตับ ได้แก่ เหนื่อยอ่อนผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ, มีอาการคลื่นไส้และอยากอาเจียน, อาหารที่กินดูเหมือนไร้รสชาติ, มีอาการบวมที่ช่องท้องด้านบน, มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง, ปัสสาวะมีสีเข้มคล้ายสีน้ำตาลหรือดำ, อุจจาระมีสีคล้ำผิดปกติ
    • สัญญาณเตือนหรืออาการผิดปกติเกี่ยวกับสุขภาพกระดูก ได้แก่ อาการปวดกระดูกหรือปวดข้อ, อุบัติการณ์กระดูกหักหรือร้าวบ่อยครั้ง, กระดูกในบางอวัยวะแสดงอาการผิดรูป
  • ค่าปกติของ ALP ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่าปกติของ ALP ในผู้ใหญ่ คือ 30 – 120 U/L
    • ค่าปกติของ ALP ในเด็ก คือ 30 – 300 U/L
  • ค่า ALP ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจเกิดจากการขาดสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีน หรือเกิดจากการกินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ หรือแพ้สารอาหารบางชนิด เช่น แพ้สาร Gluten ในเมล็ดข้าว
    • ร่างกายอาจกำลังขาดธาตุแมกนีเซียม
    • ร่างกายอาจกำลังขาดวิตามินซีจนเกิดอาการเลือดออกตามไรฟัน (Scurvy) รวมทั้งอาจทำให้สารสร้างฟอสเฟต (Phosphate) ไม่ได้ จึงเป็นผลต่อเนื่องทำให้ส้ราง ALP ไม่ได้
    • ร่างกายอาจมีสารฟอสเฟต (Phosphate) ไม่พอที่จะใช้ผลิต ALP ซึ่งในสภาวะนี้มีศัพท์เรียกเป็นการเฉพาะว่า “Hypophosphatemia
    • อาจเกิดจากโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรง (Permicious anemia)
    • อาจเกิดจากโรควิลสัน (Wilson’s disease) ซึ่งเป็นโรคทางกรรมพันธุ์
  • ค่า ALP ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจกำลังเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction)
    • อาจเกิดจากภาวะลำไส้ขาดเลือดเฉพาะที่ (Intestinal ischemia) หรือขาดเลือดจนเนื้อเยื่อลำไส้ตาย (Intestinal infarction)
    • อาจเกิดโรคตับอักเสบ (Hepatitis) จึงทำให้ ALP มีค่าสูงขึ้นผิดปกติ
    • อาจเกิดโรคสำคัญขึ้นที่ตับ เช่น โรคตับแข็งในระยะแรก (Primary cirrhosis) โรคมะเร็งตับระยะเริ่มต้นหรือในระยะแพร่กระจาย หรือโรคมะเร็งตับที่แพร่กระจายมาจากอวัยอื่น ๆ
    • อาจเกิดจากภาวะการอุดตันของท่อน้ำดีภายในตับหรือภายนอกตับ (Intrahepatic or Extrahepatic biliary obstruction) เช่น นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones)
    • อาจกำลังเกิดโรคไขข้ออักเสบ (Rheumatoid arthritis)
    • อาจเกิดโรคกระดูกงอกผิดรูป (Paget’s diseae)
    • อาจเกิดโรคกระดูกน่วม (Osteomalacia) เนื่องจากร่างกายขาดวิตามินดี
    • อาจเกิดโรคกระดูกอ่อน (Rickets) ซึ่งมีสาเหตุมากจากร่างกายขาดทั้งวิตามินดี แคลเซียม และฟอสฟอรัส
    • อาจกำลังอยู่ในระหว่างการรักษากระดูกที่หักให้เชื่อมติดกัน
    • อาจเกิดโรคมะเร็งกระดูก (Bone tumor) หรือโรคมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่สู่กระดูก (Metastatic tumor to bone)
    • อาจเกิดจากต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (Hyperparathyroidism) จึงทำให้มีแคลเซียมมาพอกกระดูกจนหนาผิดปกติ
    • อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจวาย, โรคเบาหวาน, โรคปอดอุดตันหรือปอดขาดเลือด (Pulmonary infarction), โรคไขมันพอกภายในหรือภายนอกตับ, โรคมะเร็งตับอ่อน, โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว, โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, โรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis), ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด, งูสวัด, มีพยาธิ, การติดเชื้อไวรัส (เช่น ไวรัสตับอักเสบ ไวรัสซีเอมวี ไวรัสโมโนนิวคลีโอซีส), การรับประทานอาหารมัน ๆ, การได้รับสารพิษจากโลหะหนักหรือยาฆ่าแมลง ฯลฯ
    • ยาบางชนิดอาจมีผลทำให้ค่า ALP สูงหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็นได้ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบ ยาคลายเครียด ยาคลายกังวล ยาแก้ชัก ยาคุมกำเนิด ยาเพิ่มฮอร์โมน ฯลฯ
    • ในผู้ที่มีหมู่เลือด B หรือ O มักจะมีค่า ALP ที่สูงกว่าคนปกติได้เล็กน้อย
    • สำหรับหญิงตั้งครรภ์อาจอยู่ในระยะตั้งครรภ์ตามปกติตั้งแต่อายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป ค่า ALP ก็อาจสูงขึ้นได้เช่นกัน เพราะรกก็มีส่วนในการสร้าง ALP ด้วย
  • ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนการตรวจ ALP มีดังนี้
    • การตรวจ ALP สามารถตรวจได้ง่ายจากการตรวจเลือด (ใช้เลือดในปริมาณ 4-6 มิลลิลิตร ใส่หลอดเก็บเลือดที่มีสารกันเลือดแข็งชนิด Lithium heparin)
    • ต้องงดอาหารและน้ำดื่ม (ยกเว้นน้ำเปล่า) ก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
    • ในผู้หญิงวัยทองและเด็กจะมีค่า ALP สูงกว่าคนทั่วไปหรือผู้ใหญ่
    • ยารักษาโรคบางตัวอาจมีผลทำให้ค่า ALP ที่ตรวจได้มีค่าสูงหรือต่ำผิดไปจากความเป็นจริงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาว่าควรต้องงดหรือไม่เพียงใดก่อนการเจาะเลือดตรวจค่า ALP โดยตัวอย่างยาที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่า ALP คือ ยาปฏิชีวนะ, ยาแก้อักเสบ, ยารักษาโรคเบาหวาน, ยาคุมกำเนิด, ยาแอสไพริน, ยาฮอร์โมน Cortisone, ยาฮอร์โมนเพศชาย, ยากล่อมประสาท (Tranquilizers), ยาคลายกังวล เป็นต้น

Total bilirubin

Total bilirubin คือ ค่าบิลิรูบินทั้งหมด โดยบิลิรูบินนั้นเกิดมาจากการที่เมื่อเม็ดเลือดแดงหมดอายุขัย (ปกติจะมีอายุขัยประมาณ 120 วัน) ก็จะถูกม้ามจับตัว แล้วทำการสลาย Hemoglobin ที่อยู่ภายในเม็ดเลือดแดงให้ส่วนหนึ่งกลายเป็นกรดอะมิโนเช่นเดียวกับสารอาหารที่ร่างกายใช้ประโยชน์ในฐานะสารโปรตีน และอีกส่วนหนึ่งที่เรียกว่า “Hema” ซึ่งละลายในน้ำ (เลือด) ไม่ได้ จึงต้องอาศัยการเกาะติดมากับ Albumin เพื่อจะได้ล่องลอยไปสู่ที่ตับได้ ซึ่งทันทีที่ Hema + Albumin จับตัวกันลอยได้ในกระแสเลือดก็จะเรียกว่า “Bilirubin” แต่เมื่อยังไม่ไปถึงตับก็จะถูกเรียกว่า “Indirect bilirubin” และเมื่อ Bilirubin ลอยตามกระแสเลือดไปจนถึงตับ ก็จะถูกตับจับไปผสมกับกรดชนิดหนึ่งจนมีคุณสมบัติที่สามารถละลายน้ำได้และปรากฏเป็นสารของเหลวสีเหลือง ซึ่งตรงนี้จะได้ชื่อใหม่ว่า “Direct bilirubin

ในทางทฤษฎีเราจะสามารถตรวจวิเคราะห์ได้ทั้งค่า Indirect bilirubin และ Direct bilirubin ทั้งนี้ค่าที่พบอาจคำนวณได้ว่า Total bilirubin = Direct bilirubin + Indirect bilirubin แต่ในทางปฏิบัติทั่วไปนั้นจะเป็นการตรวจหาค่าจริง ๆ เฉพาะ Total bilirubin และ Direct bilirubin เท่านั้น หากต้องการทราบค่า Indirect bilirubin ก็เพียงแค่นำมาคำนวณโดยเอาค่า Direct bilirubin ลบออกจาก Total bilirubin

  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ Total bilirubin คือ
    • การตรวจนี้เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจการทำงานของตับ เป็นการตรวจเพื่อให้ทราบค่าบิลิรูบินทั้งหมดมีค่าสูงหรือต่ำกว่าค่าปกติเพียงใด ซึ่งค่าที่ผิดปกติก็ย่อมใช้เป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญถึงการเกิดโรคของตับ รวมทั้งอวัยวะอื่น ๆ (เช่น ไต เม็ดเลือดแดง หรือนิ่วในถุงน้ำดี) และตรวจสอบว่าท่อน้ำดีถูกอุดกั้นหรือไม่
    • แพทย์สั่งตรวจในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคตับหรือมีความเสี่ยงต่อเกิดโรคตับ หรือเพื่อการวินิจฉัยอาการตัวเหลืองตาเหลืองของผู้ป่วย วินิจฉัยการอุดตันของท่อน้ำดี วินิจฉัยว่ามีการแตกของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือสั่งตรวจในผู้ที่มีอาการหรือสัมผัสผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ผู้ที่มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรัง ผู้ที่กินยาบางชนิดที่อาจทำให้เกิดตับอักเสบ (เช่น ยาลดไขมัน ยารักษาวัณโรค)
    • เพื่อช่วยตัดสินใจใช้แนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับทารกที่มีภาวะตัวเหลืองตาเหลือง เช่น การส่องไฟ หรือให้เลือด
  • ค่าปกติของ Total bilirubin ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่าปกติของ Total bilirubin ในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ คือ 0.3 – 1.0 mg/dL
    • ค่าปกติของ Total bilirubin ในทารก คือ 2.0 – 12.0 mg/dL
    • ค่าวิกฤตของ Total bilirubin คือ > 12.0 mg/dL
  • ค่า Total bilirubin ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • ไม่ค่อยพบ เพราะเม็ดเลือดแดงจำนวนหนึ่งจะทยอยต้องสิ้นอายุขัยทุกวัน ในกรณีนี้ก็ย่อมทำให้ม้ามต้องกำจัดซากของเม็ดเลือดแดงแล้วนำไปสร้าง Bilirubin ให้มีเกิดขึ้นได้ทุกวัน หรือในอีกความหมายนึ่งอาจแปลว่าร่างกายโดยตับสามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบในการกำจัดสาร Bilirubin (ค่ายิ่งต่ำเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น)
    • อาจกินวิตามินซี หรือกินยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital), ทีโอฟิลลีน (Theophylline), เพนิซิลิน (Penicillin) ซึ่งยาเหล่านี้มีผลในทางอ้อมทำให้ค่า Bilirubin อาจลดค่าต่ำลงได้
  • ค่า Total bilirubin ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • เกิดความผิดปกติขึ้นที่หน่วยสร้าง Bilirubin (ม้ามที่มีวัตถุดิบคือเม็ดเลือดแดง) หรือหน่วยทำลาย Bilirubin (ตับและไต) ในระบบกลไกของร่างกาย (ค่าที่อยู่ในเกณฑ์ปกติจึงสะท้อนถึงความสมดุลระหว่างหน่วยสร้างและหน่วยทำลาย ส่วนค่าที่สูงกว่าปกติ จึงอาจมีสาเหตุมาจากเม็ดเลือดถูกทำลายมากกว่าปกติ หรือมาจากตับหรือไตที่ทำงานผิดปกติ)
    • อาจเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นที่ถุงน้ำดีจนทำให้เกิดอาการตีบใกล้จะตัน เช่น ถุงน้ำดีติดเชื้อ ท่อน้ำดีอักเสบ
    • อาจเกิดโรคร้ายแรงซึ่งมีผลทำให้เกิดการอุดกั้นท่อน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี โรคมะเร็งตับอ่อน (เมื่อท่อตับอ่อนถูกปิดกั้นจากโรคมะเร็งก็จะมีผลทำให้ท่อน้ำดีถูกปิดกั้นไปด้วย)
    • ตับอาจมีภาวะผิดปกติ เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง หรือเกิดภาวะพิษเพราะติดเชื้อ ซึ่งล้วนแต่ทำให้ตับทำหน้าที่ได้ไม่ดี การเปลี่ยน Bilirubin ให้เป็น Direct bilirubin เพื่อนำออกทิ้งทางท่อน้ำดีจึงทำไม่ได้เหมือนอย่างที่เคย จึงย่อมมีผลทำให้ Bilirubin คับคั่งอยู่ในกระแสเลือด ค่า Total bilirubin จึงสูงขึ้นกว่าปกติ
    • ไตอาจทำหน้าที่บกพร่อง จึงทำให้การปล่อยทิ้ง Direct bilirubin ออกทางน้ำปัสสาวะทำได้ไม่สะดวก ค่า Total bilirubin จึงอาจสูงขึ้นตามไปด้วย
    • อาจมีเหตุสำคัญที่ทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายลงอย่างมากผิดปกติในเวลาสั้น ๆ เช่น กรณีเกิดโรคเม็ดเลือดแดงเปลี่ยนรูปร่างเป็นรูปเคียว (Sickle cell disease) หรือมีการรับการถ่ายเลือด หรือเม็ดเลือดแดงถูกภูมิคุ้มกันทำลาย เมื่อม้ามทำลายเม็ดเลือดแดงทั้งหลายมากผิดปกติ จึงย่อมทำให้ค่า Total bilirubin ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
    • อาจเกิดจากโรคโลหิตจาง ซึ่งมีเหตุเพราะเม็ดเลือดแดงมีขนาดผิดปกติทุกกรณีย่อมถูกม้ามทำลายได้ง่าย จึงทำให้เกิด Bilirubin สูงขึ้นจนตับเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็น Direct bilirubin ไม่ทัน ก็อาจมีส่วนทำให้ค่า Total bilirubin สูงขึ้น (ถ้าตรวจเลือดแล้วพบว่า เม็ดเลือดแดงมีลักษณะรูปร่างปกติ ไม่มีอาการของโรคโลหิตจาง ม้ามและตับก็ยังเป็นปกติดี แต่ค่า Total bilirubin ในเลือดก็สูงอยู่ กรณีอย่างนี้ไม่ควรมองข้ามไต)
    • อาจเกิดจากภาวะซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia) หรือนำวิตามินบี 12 ไปใช้ไม่ได้ (Pernicious anemia)
    • อาจเกิดจากการถ่ายเลือด
    • อาจเกิดโรคดีซ่านจากพันธุกรรม เช่น โรค Gilbert’s disease ซึ่งอาจมีเพียงอาการตัวเหลือง ไม่ได้เป็นอันตรายเหมือนโรคดีซ่านทั่วไป
    • กรณีของทารกในครรภ์หรือแรกเกิดที่มีเลือดคนละหมู่เลือดหรือมี Rh ต่างชนิดกับมารดา ก็ย่อมอาจมีปัญหาร้ายแรงได้ เพราะร่างกายของมารดาจะสร้างสาร anti-Rh เพื่อไปทำลายเม็ดเลือดของบุตรผ่านทางรก (แม้แต่คลอดออกมาแล้ว สาร anti-Rh ก็อาจยังมีผลอยู่และทำให้เด็กมีภาวะเลือดจางหรือดีซ่านได้) เมื่อเม็ดเลือดแดงมีขนาดและลักษณะไม่สมประกอบ ม้ามในร่างกายของทารกก็จะทำลายเม็ดเลือดแดงแล้วสร้างเป็น Bilirubin ในเลือดให้สูงขึ้นอย่างผิดปกติ ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกสลายในทารกนี้เรียกว่า “Erythroblastosis fetalis” จึงทำให้ค่า Total bilirubin ในตัวของทารกสูงกว่าเกณฑ์ปกติ
    • ในกรณีของเด็กทารกแรกเกิดที่หากมีค่า Total bilirubin สูงกว่าเกณฑ์จนผิดปกติ และเริ่มมีภาวะดีซ่าน (ตัวเหลืองและตาเหลือง) อาจสันนิษฐานว่าเป็น “ภาวะโรคคริกเกอร์-นัจจาร์” (Crigler-Najjar syndrome) ซึ่งมักเกิดกับทารกแรกคลอดประมาณ 2-3 วัน โดยมีสาเหตุมาจากยีนทั้งจากพ่อและแม่ ซึ่งเป็นยีนที่ขัดขวางเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยน Indirect bilirubin ให้เป็น Direct bilirubin แต่เปลี่ยนไม่สำเร็จเพราะขาดเอนไซม์ จึงเป็นผลทำให้ Total bilirubin ท่วมสูงในเลือดจนนำไปสู่ภาวะดีซ่านอย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตาม โรคนี้ก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก ๆ เพราะต้องเป็นพันธุกรรมที่ประจวบเหมาะทั้งพ่อและแม่ที่ต่างมีพาหะของยีนซึ่งผิดปกติที่ถ่ายทอดให้ทารกพร้อมกัน อีกทั้งเมื่อเด็กเกิดมาแล้วก็มักจะไม่รอดชีวิต จึงหมดโอกาสที่จะถ่ายทอดให้กับบุตรหลานต่อไปได้
    • ร่างกายมีการช้ำเลือดขนาดใหญ่ (Large hematoma) ซึ่งผิวหนังมีลักษณะเป็นจ้ำแดง ๆ หรือดำ ๆ คล้ายถูกกระแทกด้วยของหนัก ทำให้เส้นเลือดแดงฝอยแตกหรือเม็ดเลือดแดงแตก แต่ไม่ถึงกับเกิดบาดแผล ซึ่งในกรณีแบบนี้ ม้ามก็ต้องจัดการทำลายเม็ดเลือดแดงที่แตก จึงทำให้ค่า Total bilirubin สูงขึ้นกว่าปกติ
    • อาจเกิดจากการกินยารักษาโรคบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาปฏิชีวนะ ยาแก้โรคความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคเบาหวาน ยาแก้นอนไม่หลับ ยาคุมกำเนิด ฯลฯ
  • ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนการตรวจ Total bilirubin มีดังนี้
    • ต้องงดน้ำและอาหารก่อนเจาะเลือดเป็นเวลา 8 ชั่วโมง (ในเด็กไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนการตรวจ)
    • กรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบหากตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ หรือแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาใด ๆ หรือการใช้ยาใด ๆ อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาปฏิชีวนะ ยาคุมกำเนิด ไดอะซีแพม (Diazepam), ฟลูราซีแพม (Flurazepam), อินโดเมธาซิน (Indomethacin), ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital), ทีโอฟิลลีน (Theophylline), ยาละลายลิ่มเลือด (Aspirin หรือ Clopidogrel) หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Warfarin) รวมถึงสมุนไพรหรือวิตามินใด ๆ (เช่น วิตามินซี) เพราะยาเหล่านี้อาจส่งผลต่อการแปลผลทางห้องปฏิบัติการได้
    • โดยปกติแล้วจะทำการตรวจระดับบิลิรูบินในเลือดเท่านั้น แต่บางกรณีอาจทำการตรวจระดับบิลิรูบินในปัสสาวะด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
    • การออกกำลังกายอย่างหนักอาจมีผลเพิ่มระดับบิลิรูบินในเลือดได้
    • เพศชายจะมีระดับบิลิรูบินในเลือดสูงกว่าผู้หญิง
    • เชื้อชาติมีผลต่อระดับบิลิรูบิน โดยผู้ที่มีเชื้อชาติแอฟริกาจะมีระดับบิลิรูบินในเลือดต่ำกว่าชาติอื่น ๆ

Direct bilirubin

Direct bilirubin คือ บิลิรูบินชนิดที่ละลายน้ำได้ ซึ่งเกิดจากการที่ตับนำเอา Bilirubin ที่ลอยอยู่ในกระแสเลือดมาผสมเข้ากับกรดชนิดหนึ่งจนมันมีคุณสมบัติสามารถละลายน้ำได้และเป็นสารของเหลวสีเหลืองที่พร้อมที่จะถูกทิ้งออกนอกร่างกายโดยอวัยวะตับและไต

ในผู้ที่มีสุขภาพทั่วไปเป็นปกติดี รวมทั้งดูแลเรื่องอาหารการกินมาตลอด ไม่กินยาหรือสมุนไพรอย่างผิด ๆ และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ตับก็ยังมีสุขภาพดีอยู่ จึงย่อมพบค่า Direct bilirubin ได้น้อย เพราะตับของคนกลุ่มนี้จะสามารถแปรสภาพ Indirect bilirubin ให้กลายเป็น Direct bilirubin ได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่เหลือคั่งค้าง รวมทั้งยังสามารถจัดการส่ง Direct bilirubin ทั้งหมดที่เกิดขึ้นไปผลิตกรดน้ำดีเก็บสะสมไว้ในถุงน้ำดี รอเวลาเพื่อนำไปใช้ย่อยอาหารไขมันได้อย่างหมดจด

  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ Direct bilirubin คือ การตรวจเพื่อให้ทราบค่าบิลิรูบินชนิดที่ละลายน้ำได้ (Direct bilirubin) จากตับว่ามีจำนวนไหลล้นสู่กระแสเลือดจนสามารถวัดค่าได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ซึ่งจะช่วยบอกได้ว่า
    • ตับมีสุขภาพเป็นปกดีหรือไม่เพียงใด
    • ท่อทางเดินที่ผ่านออกจากถุงน้ำดีมีอุปสรรคมากน้อยเพียงใดหรือไม่
  • ค่าปกติของ Direct bilirubin ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่าปกติของ Direct bilirubin คือ 0.1 – 0.3 mg/dL
  • ค่า Direct bilirubin ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า มีการขับทิ้ง Direct bilirubin โดยตับและไตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้วยากที่จะเป็นเช่นนั้นได้ ดังนั้นตัวเลขที่มีค่าน้อยกว่าปกติหรือค่อนข้างใกล้มาทาง 0 mg/dL จึงไม่มีนัยสำคัญแต่อย่างใด
  • ค่า Direct bilirubin ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจเกิดจากท่อน้ำดีภายนอกตับถูกปิดกั้นการไหลผ่านของน้ำดี เช่น อาจเกิดจากนิ่วในท่อน้ำดี นิ่วในถุงน้ำดีที่ไปปิดช่องทางท่อถุงน้ำดี เนื้องอกที่ตับอ่อน จึงเป็นผลทำให้ Direct bilirubin ไหลผ่านออกไปเป็นน้ำดีไม่ได้และคับคั่งท่วมท้นจากตับเข้าสู่กระแสเลือด
    • อาจเกิดการอุดตันของท่อน้ำดีภายในตับเอง น้ำดีจึงไม่สามารถไหลผ่านออกจากตับมาสู่ถุงน้ำดีได้ เป็นผลทำให้ Direct bilirubin ไม่ถูกนำไปใช้ผลิตเป็นกรดน้ำดี จึงทำให้ล้นออกสู่กระแสเลือดอย่างมาผิดปกติ โดยการอุดตันของท่อน้ำดีภายในตับนั้นอาจเกิดจากโรคตับ (อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์), ตับกำลังเสียหายจากแบคทีเรียบางชนิด, ตับแข็งระยะเริ่มต้นจากบริเวณท่อน้ำดี, ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส, เกิดอาการบวมอักเสบหรือมีการติดเชื้อเกิดขึ้นที่ท่อน้ำดีในชั้นต้น, เกิดจากโลหิตในร่างกายได้เกิดการติดเชื้อ, ร่างกายได้รับสารอาหารด้วยวิธีการให้ผ่านสายน้ำเกลือมานานเกินไป, การตั้งครรภ์ เป็นต้น
    • อาจเกิดโรคสำคัญขึ้นภายในตับเอง เช่น โรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง โรคมะเร็งตับ อาการฟกช้ำ หรือได้รับการผ่าตัด ฯลฯ จึงทำให้ตับหมดสมรรถภาพที่จะนำ Direct bilirubin ไปผลิตเป็นกรดน้ำดีได้ จึงส่งผลต่อเนื่องทำให้ Direct bilirubin ล้นออกจากตับเข้าสู่กระแสเลือดมากผิดปกติ
    • อาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า “Dubin-Jhonson syndrome” ที่ทำให้ตับปล่อย Direct bilirubin ออกมาทางท่อน้ำดีได้น้อยกว่าปกติ จึงทำให้ตรวจ Direct bilirubin ในเลือดสูงผิดปกติ (โรคนี้พบเกิดได้น้อยและมักพบความผิดปกติเมื่อพ้นจากวัยรุ่นขึ้นมาแล้ว) หรืออาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมอีกโรค คือ “Rotor syndrome
    • อาจเกิดจากยาบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการตัวเหลืองตาเหลือง เช่น ยาอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic steroids), คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), ไอโซไนอาซิด (Isoniazid)
    • สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น โรคเอดส์, โรควิลสัน (Wilson’s disease), โลหิตเป็นพิษ (Sepsis), ความดันโลหิตต่ำ (Shock), ภาวะเหล็กเกาะที่ตับ (Hemochromatosis), การติดเชื้อต่าง ๆ (เช่น เชื้อพยาธิ เชื้อ CMV ท่อน้ำดีอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ) ฯลฯ
  • ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนตรวจ Direct bilirubin
    • ต้องงดน้ำและอาหารก่อนเจาะเลือดเป็นเวลา 8 ชั่วโมง (ในเด็กไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนการตรวจ)
    • กรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบหากตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ หรือแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาใด ๆ หรือการใช้ยาใด ๆ อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาปฏิชีวนะ ยาคุมกำเนิด ไดอะซีแพม (Diazepam), ฟลูราซีแพม (Flurazepam), อินโดเมธาซิน (Indomethacin), ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital), ทีโอฟิลลีน (Theophylline), ยาละลายลิ่มเลือด (Aspirin หรือ Clopidogrel) หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Warfarin) รวมถึงสมุนไพรหรือวิตามินใด ๆ (เช่น วิตามินซี) เพราะยาเหล่านี้อาจส่งผลต่อการแปลผลทางห้องปฏิบัติการได้
    • โดยปกติแล้วจะทำการตรวจระดับบิลิรูบินในเลือดเท่านั้น แต่บางกรณีอาจทำการตรวจระดับบิลิรูบินในปัสสาวะด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
    • การออกกำลังกายอย่างหนักอาจมีผลเพิ่มระดับบิลิรูบินในเลือดได้
    • เพศชายจะมีระดับบิลิรูบินในเลือดสูงกว่าผู้หญิง
    • เชื้อชาติมีผลต่อระดับบิลิรูบิน โดยผู้ที่มีเชื้อชาติแอฟริกาจะมีระดับบิลิรูบินในเลือดต่ำกว่าชาติอื่น ๆ

Total protein

Total protein คือ ปริมาณโปรตีนรวมในกระแสเลือด (ตามปกติจะเป็นค่าผลรวมของ Prealbumin, Albumin และ Globulin) ซึ่งควรจะมีปริมาณให้เพียงต่อการใช้พอดี ๆ ในกรณีที่มีน้อยเกินไปหรือมากเกินไปก็ย่อมแสดงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย

  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ Total protein คือ การตรวจเพื่อให้ทราบค่าปริมาณของโปรตีนรวมในกระแสเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ เพราะปริมาณรวมของโปรตีนในกระแสเลือดผลิตขึ้นมาจากตับ จึงอาจใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงสภาวะการทำงานของตับหรือของโรคเกี่ยวกับตับและโรคอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรคเกี่ยวกับไต โรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคขาดสารอาหาร ฯลฯ กล่าวโดยสรุปก็คือ
    • ตรวจเพื่อให้รู้ว่าอาหารที่บริโภคประจำมีโปรตีนซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการเพียงหรือไม่ เพียงใด
    • บ่งชี้ว่าในขณะนั้นตับ/ไตมีสภาพปกติหรือไม่
    • ตรวจเพื่อหาข้อมูลว่าตับมีโรคใด ๆ อยู่บ้างหรือไม่
  • ค่าปกติของ Total protein ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่าปกติของ Total protein ในผู้ใหญ่ คือ 6.4 – 8.3 gm/dL
    • ค่าปกติของ Total protein ในเด็ก คือ 6.2 – 8 gm/dL
  • ค่า Total protein ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจเกิดจากการขาดสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีนหรือมีโปรตีนน้อยมาก
    • อาจเกิดจากกลไกการดูดซึมของลำไส้ทำงานผิดปกติ (Melabsorption)
    • อาจแสดงว่าตับทำงานผิดปกติหรือมีโรคตับ จึงเป็นเหตุทำให้ตับไม่สามารถผลิตโปรตีนออกมาได้ในระดับที่ควรกระทำ เป็นสาเหตุทำให้ Total protein ในเลือดต่ำผิดปกติ
    • อาจเกิดโรคไตเสื่อม (Nephrosis) ทำให้กรวยไตไม่กรองโปรตีนกลับคืนอย่างที่ควรจะทำ แต่กลับปล่อยทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ
    • อาจเกิดจากโรคไตรั่ว (Nephrotic syndrome) เพราะมีผลต่อเนื่องทำให้โปรตีนรวมในเลือดมีระดับต่ำลงผิดปกติ โดยถือเกณฑ์ว่าเมื่อใดที่ไตปล่อยทิ้งโปรตีนไปกับปัสสาวะมากกว่าวันละ 3.5 กรัม จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้
    • อาจเกิดจากโรคในช่องทางเดินอาหาร
    • อาจเป็นโรคเบาหวานโดยที่ไม่รู้ตัวหรือควบคุมโรคได้ไม่ดี
    • อาจเกิดโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของเลือด (Blood dyscrasias) เช่น มีเลือดกำเดาไหลโดยไม่มีสาเหตุ
    • อาจเกิดจากการเสียเลือดหรือตกเลือดที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งในร่างกาย (Hemorrhage) เช่น ริดสีดวงทวาร
    • อาจมีอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเกิดแผลขนาดใหญ่จากไฟลวก
    • อาจเกิดพิษจากการตั้งครรภ์
  • ค่า Total protein ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • ตับอาจเกิดการอักเสบหรือมีการติดเชื้อเรื้อรัง เช่น จากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี เชื้อ HIV
    • อาจเกิดจากภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
    • อาจเกิดจากการเสียน้ำจากการอาเจียน อาการท้องเดิน ฯลฯ
    • อาจเกิดสภาวะความเป็นกรดจากอาการของโรคเบาหวาน (Diabetic acidosis)
    • อาจเกิดจากโรคมะเร็งไขกระดูก (Multiple myeloma)
    • อาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า “Waldenstrom’s disease” ซึ่งเป็นมะเร็งของ B-cell lymphocye ซึ่งทำให้ไขกระดูกต้องการใช้โปรตีนนำมาสร้างเซลล์มะเร็งชนิดนี้มากเกินไป
  • คำแนะนำก่อนการตรวจ Total protein
    • ต้องงดอาหารก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง

Albumin

Albumin (อัลบูมิน) คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่ลอยได้ในกระแสเลือดที่ถูกผลิตขึ้นจากตับและมีปริมาณมากกว่าโปรตีนชนิดอื่น (ชาวบ้านมักเรียกว่า “ไข่ขาว” ในกรณีปนออกมากับน้ำปัสสาวะ) โดยนับเป็นสัดส่วนได้ประมาณ 60% ของ Total protein และด้วยเหตุที่อัลบูมินผลิตขึ้นมาจากตับเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น หากตรวจพบ Albumin ในเลือดมีค่าต่ำลงมากผิดปกติก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตับน่าจะเกิดโรคหรือมีเหตุสำคัญร้ายแรงเกิดขึ้น จึงทำให้ผลิตอัลบูมินออกมาในปริมาณปกติไม่ได้อย่างที่เคยกระทำ แต่หากพบว่า Albumin มีค่าต่ำ (ค่าผลเลือดตัวอื่นได้ร่วมบ่งชี้ว่าตับเป็นปกติดี) ก็ควรสันนิษฐานต่อไปว่าไตน่าจะเกิดโรคหรือมีเหตุสำคัญ จึงอาจปล่อยอัลบูมินทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ ถ้าตรวจปัสสาวะแล้วพบไข่ขาวหรืออัลบูมินในปัสสาวะมีค่าสูงผิดปกติ ก็เท่ากับเป็นการร่วมยืนยันว่ากำลังเกิดโรคไต

  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ Albumin คือ การตรวจเพื่อให้ทราบค่าโปรตีนในกระแสเลือดชนิดอัลบูมินว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ ซึ่งจะมีผลชี้วัดไปถึงสภาวะการทำงานของตับและไต กล่าวคือ
    • ช่วยบ่งชี้ว่าในร่างกายมีโรคตับหรือโรคไตใด ๆ อยู่บ้างหรือไม่
    • ตรวจสอบว่าร่างกายได้รับโปรตีนจากอาหารในแต่ละวันที่บริโภคเพียงพอหรือไม่ หรือมีกลไกการดูดซึมอาหารผิดปกติอย่างไรบ้างหรือไม่
  • ค่าปกติของ Albumin ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่าปกติของ Albumin คือ 3.5 – 5 gm/dL
  • ค่า Albumin ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • อาจเกิดจากการดื่มน้ำมากเกินไป (Overhydration) จึงทำให้อัลบูมินในเลือดเจือจางลง
    • อาจเกิดจากการขาดสารอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารจำพวกโปรตีน หรืออาจเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนต่ำมาช้านาน จึงทำให้ร่างกายผลิต Albumin ไม่ได้
    • อาจเกิดโรคเกี่ยวกับตับ (Hepatic disease) ซึ่งทำให้ผลิตอัลบูมินได้น้อย เช่น โรคตับอักเสบ, โรคตับแข็ง, โรคเซลล์ตับตายเฉพาะส่วน (เช่น จากการกินสารเคมีที่เป็นพิษ), โรคมะเร็งตับระยะแพร่กระจาย รวมถึงการได้รับสารเคมีที่เป็นพิษต่อตับ จึงทำให้ตับทำหน้าที่สังเคราะห์สารบางอย่างไม่ได้ จึงมีผลทำให้ Albumin มีค่าต่ำผิดปกติ
    • อาจเกิดจากโรคไต เช่น โรคไตรั่ว (Nephrotic syndrome) จึงทำให้ปล่อยทิ้งโปรตีนไปกับกับปัสสาวะโดยไร้การควบคุม ไม่สามารถกรองโปรตีนกลับคืนมาสู่ระบบของร่างกาย (ทำให้สังเกตเห็นว่าปัสสาวะมีไข่ขาว)
    • อาจเกิดจากโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการควบคุมหรือควบคุมไม่ดี จึงทำให้ร่างกายต้องหันมาใช้โปรตีนเพื่อดัดแปลงเป็นเชื้อเพลิงแทนกลูโคส (ทั้ง ๆ ที่กลูโคสก็มีท่วมท้นอยู่ในหลอดเลือด)
    • อาจเกิดจากร่างกายมีภาวะของโรคหัวใจวาย (Heart failure) ซึ่งทำให้หัวใจปั๊มเลือดออกมาต่ำกว่าปริมาณที่ควรส่ง จึงทำให้ตับได้รับเลือดใช้ไม่เพียงพอและมีผลต่อเนื่องทำให้ตับผลิต Albumin ได้น้อยลงกว่าปกติ
    • อาจเกิดจากโรคดูดซึมอาหารจากช่องทางเดินอาหารไม่ได้ (Gastrointestinal malabsorption syndrome)
    • อาจเกิดจากโรคต่อมไทรอยด์ทำงานหนักเกิน (Hyperthyroidism) เนื่องจากไปก่อให้เกิดการเผาผลาญสารอาหารมากเกินไป จึงทำให้เหลือ Albumin น้อยลง
    • อาจเกิดจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอจกินส์ (Hodgkin’s lymphoma)
    • อาจเกิดจากการรั่วซึมที่ผนังเส้นเลือดแดงฝอย (Increased capillar permeability)
    • อาจเกิดจากแผลไฟลวกที่รุนแรง
  • ค่า Albumin ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • เกิดมีความเข้มข้นในเลือดสูงกว่าปกติ เช่น ในกรณีที่ร่างกายขาดน้ำ (Dehydration) จึงทำให้ Albumin ที่นับกันด้วยจำนวนกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร พลอยสูงขึ้นผิดปกติตามไปด้วย
    • อาจเกิดโรคมะเร็งไขกระดูก (Multiple myeloma)
    • อาจเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนมาก
    • อาจเกิดจากการรัดแขนบริเวณที่เจาะเลือดนานเกินไป
  • คำแนะนำก่อนการตรวจ Albumin
    • ต้องงดอาหารก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
    • การตรวจ Albumin ในเลือดอาจมีความเบี่ยงเบนมีค่าสูงขึ้นหรือต่ำลงผิดปกติไปจากที่ควรจะเป็นได้ ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กำลังตั้งครรภ์, การได้รับฮอร์โมน (ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนเร่งการเติบโต ฮอร์โมนอินซูลิน ฯลฯ), ร่างกายนอนพักบนเตียงนานเกินไปในบางกรณี (เช่น อัมพาต หรือมีโรคร้ายแรงที่ต้องพักผ่อน), อาจบริโภคอาหารตามปกติไม่ได้ในช่วงนั้น, ร่างกายอยู่ระหว่างการติดเชื้อหรือมีอาการบาดเจ็บรุนแรง

Globulin

Globulin (โกลบูลิน) คือ โปรตีนสำคัญของ Total protein อีกตัวหนึ่งที่ล่องลอยอยู่ในพลาสมาหรือในกระแสเลือด ซึ่งมีปริมาณรองลงมาจาก Albumin

Globulin สามารถจำแนกอย่างกว้าง ๆ ได้เป็น 3 ชนิด คือ Alpha globulin, Beta globulin และ Gamma globulin ซึ่งเฉพาะแต่ Gamma globulin ที่นอกจากจะมีปริมาณเป็นสัดส่วนมากที่สุดแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นพาหนะให้เซลล์เม็ดเลือดขาวให้มาจับติดเกาะกันให้สามารถล่องลอยไปในกระแสเลือดเพื่อทำลายล้างจุลชีพก่อโรคด้วย มันจึงได้รับการขนานนามใหม่ว่า “Immunoglobulinจึงอาจเรียกได้อย่างเต็มว่า Globulin ส่วนใหญ่ ก็คือสารภูมิต้านทานโรคนั่นเอง หากค่า Globulin ในเลือดสูงขึ้นผิดปกติ ก็ย่อมบ่งชี้ได้ว่าในขณะนั้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังอยู่ในสภาวะระดมพลเพื่อการต่อสู้ทำลายล้างกับจุลชีพก่อโรคที่กำลังล่วงล้ำเข้าสู่ร่างกายให้หมดไป

  • วัตถุประสงค์ของการตรวจ Globulin คือ การตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงที่ร่างกายอาจเกิดการติดเชื้อจากโรคสำคัญเนื่องจากความบกพร่องของ Globulin ซึ่งเป็นองค์ประกอบของภูมิต้านทานบ้างหรือไม่
  • ค่าปกติของ Globulin ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่าปกติของ Globulin คือ 2.3 – 3.4 gm/dL
  • ค่า Globulin ที่ต่ำหรือสูงกว่าปกติ ค่ารวมของโกลบูลินเพียงตัวเดียวโดด ๆ ที่สูงหรือต่ำอาจแสดงความหมายไม่ชัดเจนอะไรมากนัก จึงจำเป็นต้องทราบลึกลงไปถึงค่า alpha, beta และ gamma ของโกลบูลินทุกตัว
  • ค่า Globulin ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • ตับอาจมีปัญหาเกิดขึ้นจนทำหน้าที่ได้ไม่ครบถ้วน ก็อาจผลิต Globulin ไม่ได้เลยก็ได้ แม้ Globulin อาจผลิตได้จากแหล่งอื่นด้วยก็ตาม แต่ปริมาณส่วนรวมในเลือดก็ย่อมลดต่ำลงผิดปกติได้
    • อาจเกิดโรคไตรั่ว (Nephrosis) เพราะไตที่ยังปกติดีจะกรองเอาเฉพาะแต่ของเสียออกทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ แต่สารที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายจะถูกดูดซึมเอามาใช้ใหม่ เช่น กลูโคส ธาตุโซเดียม โปรตีนชนิดต่าง ๆ รวมทั้ง Globulin ให้กลับคืนมาให้ร่างกายใช้ต่อไปได้ แต่ในกรณีที่กรวยไตรั่วจะไม่สามารถดูดซึม Globulin กลับได้ จึงทำให้ค่า Globulin ในเลือดมักแสดงค่าต่ำผิดปกติ
    • อาจเกิดจากโรคพันธุกรรมที่ร่างกายได้รับมาจากพ่อแม่ จึงทำให้ผลิต Globulin ออกมาได้น้อยกว่าปกติ ซึ่งเรียกโรคนี้ว่า “Hypogammaglobulinemia
    • อื่น ๆ เช่น โรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory bowel disease), โรคแพ้กลูเตน (Coeliac Disease), เม็ดเลือดแดงแตกก่อนวัย (Acute hemolytic anemia)
  • ค่า Globulin ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    • ร่างกายอาจเกิดการติดเชื้อจากสารพิษของตัวพยาธิ (Parasites) หรือจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ร่างกายจึงจำเป็นต้องผลิตสารภูมิต้านทานโรคให้มากขึ้นเพื่อต่อสู้กับจุลชีพก่อโรค Globulin เป็นโปรตีนชนิดที่ใช้วัตถุดิบอย่างหนึ่งในการสร้างสารภูมิต้านทานโรค จึงมีค่าสูงขึ้นอย่างผิดปกติตามไปด้วย
    • อาจเกิดจากโรคตับชนิดที่ท่อน้ำดีตีบตันหรืออุดตัน เช่น โรคตับแข็งที่ท่อน้ำดี หรือโรคดีซ่านจากเหตุท่อน้ำดีอุดตัน ย่อมเป็นผลทำให้ผลิตผลจากการสังเคราพห์ของตับซึ่งเป็นสารชีวโมเลกุลทุกชนิดไม่สามารถส่งผ่านออกจากตับด้วยการทิ้งออกทางท่อน้ำดีได้ ซึ่งทางเดียวที่จะออกจากตับได้ก็ต้องส่งออกไปสู่กระแสเลือด จึงทำให้ปริมาณของ Globulin ในเลือดสูงขึ้นผิดปกติด้วย
    • อาจเกิดจากโรคมะเร็งไขกระดูก หรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งล้วนแต่มีผลทำให้จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวน้อยลงกว่าปกติ จึงเป็นผลต่อเนื่องทำให้ Globulin จำนวนหนึ่งเกิดสภาพไร้คู่หรือปราศจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จะมาจับคู่เกาะติดเพื่อสร้างสารภูมิต้านทานโรค ด้วยเหตุนี้ Globulin อิสระที่ไร้คู่ จึงล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดสูงผิดปกติ
    • อื่น ๆ เช่น โรคไต, โรคติดเชื้อเรื้อรัง, ลำไส้อักเสบเรื้อรัง, การอักเสบเรื้อรัง (เช่น ซิฟิลิส, Waldenström macroglobulinemia), โรคภูมิคุ้มกัน (เช่น SLE), โรคข้อรูมาตอยด์
  • วิธีการเพิ่มระดับ Globulin
    • หากผลเลือดพบว่า Globulin มีค่าต่ำ การรับประทานอาหารบางประเภทสามาร่วยเพิ่มระดับ Globulin ได้ เช่น , เนื้อสีแดง (เช่น หมู วัว แพะ), อาหารทะเล (เช่น หอย กุ้ง ปลา), ไข่, ธัญพืช, แอปริคอตแห้ง, ลูกพรุน, ลูกเกด, ถั่วฝัก, ผักขม, ผักคะน้า ฯลฯ

A/G Ratio

โดยธรรมดาร่างกายมักจะพยายามรักษาระดับค่า Total protein ไว้มิให้ตกต่ำลง แม้ในบางกรณีที่ Albumin ในเลือดจะมีค่าลดต่ำลง (เช่น อาจเกิดโรคตับโดยไม่รู้ตัว) แต่ Globulin ส่วนใหญ่ที่ผลิตโดยระบบผนังเซลล์ของเนื้อเยื่อ (Reticuloendothelial system) ก็จะพยายามเพิ่มระดับขึ้นมาชดเชยเพื่อรักษาค่าผลรวมของโปรตีนในเลือด (Total protein) ให้คงอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ด้วยเหตุนี้ในทางการแพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจด้วยอัตราส่วนระหว่าง Albumin ต่อ Globulin หรือ “A/G ratio” (Albumin หารด้วย Globulin) โดยถือว่า ค่าปกติของ A/G นั้นจะต้องน้อยกว่า 1 เพราะหาก > 1 เมื่อใด นั่นแสดงว่ากำลังมีโรคสำคัญเกิดขึ้น

GGT (Gamma GT)

GGT หรือ Gamma GT คือ การตรวจเพื่อหาสาเหตุของเอนไซม์ ALP (Alkaline phosphatase) ที่เพิ่มขึ้นว่ามาจากอวัยวะใด เพราะ ALP และ GGT จะสูงในโรคของตับและท่อน้ำดี แต่หากเป็นโรคของกระดูกจะมีเพียงค่า ALP ตัวเดียวเท่านั้นที่สูงขึ้น สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ การตรวจ GGT

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด