Globulin
Globulin (โกลบูลิน) คือ โปรตีนสำคัญของ Total protein อีกตัวหนึ่งที่ล่องลอยอยู่ในพลาสมาหรือในกระแสเลือด ซึ่งมีปริมาณรองลงมาจาก Albumin โดยมีบทบาทในฐานะเป็นวัตถุดิบพื้นฐานให้ร่างกายใช้สร้างสารชีวโมเลกุลประเภทโปรตีนเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุข โดยสารชีวโมเลกุลสำคัญที่ Globulin ถูกใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตก็คือ Antibodies (สารภูมิต้านทานที่ช่วยทำลายจุลชีพก่อโรค), Glycoprotein (สารสร้างเยื่อผนังเซลล์), Lipid protein (สารที่ใช้เป็นช่องทางผ่านบริเวณเยื่อผนังของเซลล์) และ Clotting factors (สารช่วยให้เลือดแข็งตัว)
Globulin สามารถจำแนกอย่างกว้าง ๆ ได้เป็น 3 ชนิด คือ Alpha globulin, Beta globulin และ Gamma globulin ซึ่งเฉพาะแต่ Gamma globulin ที่นอกจากจะมีปริมาณเป็นสัดส่วนมากที่สุดและมากกว่าอีก 2 ชนิดรวมกันแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นพาหนะให้เซลล์เม็ดเลือดขาวให้มาจับติดเกาะกันให้สามารถล่องลอยไปในกระแสเลือดเพื่อทำลายล้างจุลชีพก่อโรคด้วย มันจึงได้รับการขนานนามใหม่ว่า “Immunoglobulin” จึงอาจเรียกได้อย่างเต็มว่า Globulin ส่วนใหญ่ ก็คือสารภูมิต้านทานโรคนั่นเอง และทำให้แปลได้ว่า หากค่า Globulin ในเลือดสูงขึ้นผิดปกติ ก็ย่อมบ่งชี้ได้ว่าในขณะนั้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังอยู่ในสภาวะระดมพลเพื่อการต่อสู้ทำลายล้างกับจุลชีพก่อโรคที่กำลังล่วงล้ำเข้าสู่ร่างกายให้หมดไป
วัตถุประสงค์การตรวจ Globulin
วัตถุประสงค์ของการตรวจ Globulin คือ การตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงที่ร่างกายอาจเกิดการติดเชื้อจากโรคสำคัญเนื่องจากความบกพร่องของ Globulin ซึ่งเป็นองค์ประกอบของภูมิต้านทานบ้างหรือไม่
แต่ค่า Globulin ที่ต่ำหรือสูงกว่าปกติเพียงตัวเดียวโดด ๆ ที่สูงหรือต่ำอาจแสดงความหมายไม่ชัดเจนอะไรมากนัก จึงจำเป็นต้องทราบลึกลงไปถึงค่า alpha, beta และ gamma ของโกลบูลินทุกตัว
ค่าปกติของ Globulin
ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
- ค่าปกติของ Globulin คือ 2.3 – 3.4 gm/dL
ค่า Globulin ที่ต่ำกว่าปกติ
ค่า Globulin ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- ตับอาจมีปัญหาเกิดขึ้นจนทำหน้าที่ได้ไม่ครบถ้วน ก็อาจผลิต Globulin ไม่ได้เลยก็ได้ แม้ Globulin อาจผลิตได้จากแหล่งอื่นด้วยก็ตาม แต่ปริมาณส่วนรวมในเลือดก็ย่อมลดต่ำลงผิดปกติได้
- อาจเกิดโรคไตรั่ว (Nephrosis) เพราะไตที่ยังปกติดีจะกรองเอาเฉพาะแต่ของเสียออกทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ แต่สารที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายจะถูกดูดซึมเอามาใช้ใหม่ เช่น กลูโคส ธาตุโซเดียม โปรตีนชนิดต่าง ๆ รวมทั้ง Globulin ให้กลับคืนมาให้ร่างกายใช้ต่อไปได้ แต่ในกรณีที่กรวยไตรั่วจะไม่สามารถดูดซึม Globulin กลับได้ จึงทำให้ค่า Globulin ในเลือดมักแสดงค่าต่ำผิดปกติ
- อาจเกิดจากโรคพันธุกรรมที่ร่างกายได้รับมาจากพ่อแม่ จึงทำให้ผลิต Globulin ออกมาได้น้อยกว่าปกติ ซึ่งเรียกโรคนี้ว่า “Hypogammaglobulinemia”
- อื่น ๆ เช่น โรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory bowel disease), โรคแพ้กลูเตน (Coeliac Disease), เม็ดเลือดแดงแตกก่อนวัย (Acute hemolytic anemia)
ค่า Globulin ที่สูงกว่าปกติ
ค่า Globulin ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- ร่างกายอาจเกิดการติดเชื้อจากสารพิษของตัวพยาธิ (Parasites) หรือจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ร่างกายจึงจำเป็นต้องผลิตสารภูมิต้านทานโรคให้มากขึ้นเพื่อต่อสู้กับจุลชีพก่อโรค Globulin เป็นโปรตีนชนิดที่ใช้วัตถุดิบอย่างหนึ่งในการสร้างสารภูมิต้านทานโรค จึงมีค่าสูงขึ้นอย่างผิดปกติตามไปด้วย
- อาจเกิดจากโรคตับชนิดที่ท่อน้ำดีตีบตันหรืออุดตัน เช่น โรคตับแข็งที่ท่อน้ำดี หรือโรคดีซ่านจากเหตุท่อน้ำดีอุดตัน ย่อมเป็นผลทำให้ผลิตผลจากการสังเคราพห์ของตับซึ่งเป็นสารชีวโมเลกุลทุกชนิดไม่สามารถส่งผ่านออกจากตับด้วยการทิ้งออกทางท่อน้ำดีได้ ซึ่งทางเดียวที่จะออกจากตับได้ก็ต้องส่งออกไปสู่กระแสเลือด จึงทำให้ปริมาณของ Globulin ในเลือดสูงขึ้นผิดปกติด้วย
- อาจเกิดจากโรคมะเร็งไขกระดูก หรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งล้วนแต่มีผลทำให้จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวน้อยลงกว่าปกติ จึงเป็นผลต่อเนื่องทำให้ Globulin จำนวนหนึ่งเกิดสภาพไร้คู่หรือปราศจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จะมาจับคู่เกาะติดเพื่อสร้างสารภูมิต้านทานโรค ด้วยเหตุนี้ Globulin อิสระที่ไร้คู่ จึงล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดสูงผิดปกติ
- อื่น ๆ เช่น โรคไต, โรคติดเชื้อเรื้อรัง, ลำไส้อักเสบเรื้อรัง, การอักเสบเรื้อรัง (เช่น ซิฟิลิส, Waldenström macroglobulinemia), โรคภูมิคุ้มกัน (เช่น SLE), โรคข้อรูมาตอยด์
วิธีการเพิ่มระดับ Globulin
- หากผลเลือดพบว่า Globulin มีค่าต่ำ การรับประทานอาหารบางประเภทสามาร่วยเพิ่มระดับ Globulin ได้ เช่น , เนื้อสีแดง (เช่น หมู วัว แพะ), อาหารทะเล (เช่น หอย กุ้ง ปลา), ไข่, ธัญพืช, แอปริคอตแห้ง, ลูกพรุน, ลูกเกด, ถั่วฝัก, ผักขม, ผักคะน้า ฯลฯ
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)