การตรวจ CA125
CA125 (Cancer antigen 125, Carcinoma antigen 125 หรือ Carbohydrate antigen 125) คือ สารโปรตีน (Glycoprotein) ที่พบอยู่บนผิวของเซลล์ที่มีต้นกำเนิดมาจากเซลล์ตัวอ่อนทารกชนิด Embryonic coelomic epithelium สามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือด จัดเป็นสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ (Ovary cancer) เพราะมักมีค่าสูงในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว (non-mucinous type) แต่ก็พบค่าสูงขึ้นในมะเร็งชนิดอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น มะเร็งท่อนำไข่, มะเร็งมดลูก, มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม, มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งกระเพาะอาหาร, มะเร็งช่องทางเดินอาหาร, มะเร็งตับ, มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งแพร่กระจาย
นอกจากนี้ยังพบ CA125 ขึ้นสูงได้ในโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น เนื้องอกรังไข่, เนื้องอกมดลูก, ช่องเชิงกรานอักเสบ, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, โรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน, โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่, ท้องมาน, การอักเสบของช่องท้องและอวัยวะภายในช่องท้อง, ตับแข็ง, ตับอ่อนอักเสบ, โรคเบาหวาน, หัวใจวาย, น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดและช่องเยื่อหุ้มหัวใจ, หญิงตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก หรือแม้แต่ในขณะที่มีประจำเดือนของสตรีบางรายด้วย
สารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) ที่ใช้ช่วยในการวินิจฉัยและการรักษามะเร็งไข่ที่ยอมรับในทางคลินิกนอกจาก CA125 แล้ว ยังมี HE4 (Human epididymis protein 4) ด้วย ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ของการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวที่นำผลมาวิเคราะห์ร่วมกับ CA125 แล้วทำให้เกิดความไวในการตรวจเจอได้เร็วขึ้น หรือตรวจพบได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก เพราะการตรวจ CA125 เพียงอย่างเดียวนั้นจะมีข้อจำกัดบางประการ (คืออาจตรวจไม่พบกรณีที่เป็นมะเร็งรังไข่ระยะแรก หรือตรวจได้สูงกว่าปกติในผู้ป่วยที่ก้อนเนื้อที่ปีกมดลูก แต่ไม่ได้เป็นมะเร็ง) การตรวจร่วมกันจึงช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการวางแผนในการดูแลรักษาที่ดีขึ้น โดย HE4 นี้สามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือดและตรวจพบขึ้นสูงได้ในมะเร็งหลายชนิดเช่นเดียวกับ CA125 เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และยังพบได้สูงในโรคของรังไข่หลายชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง (เช่น ถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกรังไข่) ในโรคทางนรีเวช (เช่น เนื้องอกมดลูก เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่) และในผู้ป่วยโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต
ในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ที่ตรวจพบว่ามีการสูงขึ้นของ CA125 อาจพบ HE4 สูงขึ้นหรือไม่ก็ได้ และในทำนองเดียวกันในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ที่มี HE4 สูงขึ้น CA125 อาจสูงขึ้นหรือไม่สูงขึ้นก็ได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว แพทย์จึงไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองหรือวินิจฉัยมะเร็งรังไข่จากการตรวจทั้ง 2 ตัวนี้ เพราะเกิดได้จากหลายปัจจัยและให้ผลผิดพลาดได้สูง
ข้อบ่งชี้ในการตรวจ CA125
- ใช้ตรวจติดตามผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งรังไข่สูง เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ แต่ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองกรองในคนทั่วไปที่ไม่มีความเสี่ยงหรือไม่มีอาการ
- ใช้ตรวจในรายที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอาการท้องบวมหรือคลำเจอก้อนเนื้อบริเวณท้องน้อยที่โตผิดปกติ
- ใช้ตรวจติดตามในระหว่างการรักษาและติดตามว่าโรคกลับมาซ้ำหรือไม่ ซึ่งในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ที่มีค่า CA125 และ/หรือ HE4 ขึ้นสูงก่อนการรักษา แพทย์จะใช้การตรวจทั้ง 2 ตัวนี้เพื่อติดตามการรักษาโรคทั้งจากการผ่าตัดและ/หรือจากยาเคมีบำบัด ซึ่งถ้าค่านี้ลดลงก็หมายถึงการพยากรณ์โรคที่ดี (ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาได้ดี การรักษาสามารถควบคุมมะเร็งรังไข่ได้) แต่ถ้าในระหว่างการรักษาหรือหลังการรักษาค่านี้ยังสูงอยู่หรือสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็แสดงว่าเซลล์มะเร็งไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือน่าจะมีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ (ปกติแล้วภายหลังการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก ระดับของ CA125 จะลดลงอย่างรวดเร็วและกลับเข้าสู่ช่วงปกติภายใน 3 สัปดาห์ แต่ถ้าหลังผ่าตัด CA125 ยังสูงอยู่หรือสูงขึ้นในช่วงหลังผ่าตัด แสดงว่าผ่าเอาเนื้องอกออกไม่หมดหรือเนื้องอกกลับมาเป็นใหม่) และเนื่องจากผลการตรวจทั้ง CA125 และ HE4 ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกัน แพทย์จึงแนะนำว่าในการตรวจรักษามะเร็งไข่ควรตรวจสารทั้ง 2 ตัวนี้ร่วมกันเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการพยากรณ์โรคมากยิ่งขึ้น
องค์กรแพทย์ด้านโรคมะเร็งทั่วโลก ยังไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ด้วยสาร CA125 และ/หรือ HE4 ในคนทั่วไปที่ไม่มีความเสี่ยงหรือไม่มีอาการ เนื่องจากให้ผลผิดพลาดได้สูง
ความไวและความจำเพาะของ CA125
การตรวจมะเร็งรังไข่ด้วย CA125 มีความไว (Sensitivity) ค่อนข้างต่ำ คือ ประมาณ 80% หมายความว่า ถ้าเอาคนที่รู้แน่ชัดว่าเป็นมะเร็งรังไข่มาตรวจ 100 คน จะตรวจได้ผลบวก 80 คน ส่วนอีก 20 คนนั้นตรวจได้ผลลบ ทั้ง ๆ ที่ทุกคนต่างก็เป็นมะเร็งเหมือนกันหมด ขณะเดียวกัน CA125 ก็มีความจำเพาะ (Specificity) ประมาณ 80% เช่นกัน หมายความว่า ถ้าเอาคนที่รู้แน่ชัดว่าไม่ได้เป็นมะเร็งรังไข่มาตรวจ 100 คน จะตรวจได้ผลลบ 80 คน ส่วนที่เหลืออีก 20 คนตรวจได้ผลบวก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครเป็นมะเร็งเลยสักคน ซึ่งก็ถือว่าการตรวจชนิดนี้มีความจำเพาะต่ำเช่นกัน เพราะแม้จะไม่ได้เป็นมะเร็ง แต่ก็ตรวจได้ผลบวกตั้ง 20%
อย่างไรก็ตาม ความไว 80% ก็ไม่ได้หมายความว่าใครตรวจได้ผลบวกแล้วจะมีโอกาสเป็นโรค 80% เพราะต้องนำไปคำนวณกับอุบัติการณ์การเกิดโรคในชีวิตจริงอีก ซึ่งมะเร็งชนิดนี้มีอุบัติการณ์ต่ำมาก คือ 50 : 100,000 คน เมื่อคำนวณแล้วก็เท่ากับโอกาสที่คนตรวจได้ผลบวกจะเป็นโรคมะเร็งจริง ๆ จึงมีแค่ 0.2%
หมายเหตุ : คำนวณจากใน 1 แสนคนจะมีคนเป็นโรคมะเร็ง 50 คน และไม่เป็นโรคมะเร็ง 99,950 คน ถ้าเอาคนเก้าหมื่นกว่าที่ไม่ได้เป็นโรคมะเร็งมาตรวจ CA125 จะตรวจได้ผลบวก 20% ก็คือ 19,990 คน ทำนองเดียวกันถ้าเอา 50 คนที่เป็นโรคมะเร็งจริง ๆ แล้วไปตรวจก็จะได้ผลบวก 80% ก็คือ 40 คน ก็เท่ากับว่าใน 1 แสนคนนี้จะตรวจได้ผลบวก 20,030 คน (19,990 + 40) แต่มีคนเป็นโรคมะเร็งจริง 50 คน ดังนั้น โอกาสที่คนตรวจได้ผลบวกจะเป็นโรคมะเร็งจึงมีแค่ (50 x 100) / 20,030 = 0.2%
ค่าปกติของ CA125
ค่าปกติของ CA125 ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือดเป็นหลัก (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไปดังนี้
- ค่าปกติของ CA125 คือ 0-35 units/mL
ค่า CA125 ที่สูงกว่าปกติ
หากตรวจพบค่า CA125 มากกว่าปกติ คือ มากกว่า 35 units/mL อาจแสดงผลในด้านสุขภาพได้ว่า
- อาจเป็นโรคมะเร็งรังไข่ หรือโรคมะเร็งอื่น ๆ เช่น มะเร็งท่อนำไข่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด ฯลฯ
- อาจเป็นโรคอื่นที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น โรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน การอักเสบของช่องท้องและอวัยวะภายในช่องท้อง โรคตับแข็ง ตับอ่อนอักเสบ การตั้งครรภ์ ฯลฯ
- อาจไม่ได้ป่วยด้วยโรคอะไรเลย ถ้าค่า CA125 ไม่ได้สูงกว่าปกติมากนัก ไม่มีอาการแสดง และมีความเสี่ยงสูง
สำหรับผู้ที่ตรวจพบค่า CA125 สูงกว่าปกติ โดยไม่มีอาการ แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยเน้นระบบรังไข่และในช่องท้องอย่างละเอียดอีกครั้ง และถ้าระดับ CA125 สูงมากจะถูกส่งตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม (เพื่อแยกโรคมะเร็งรังไข่) กับแพทย์เฉพาะทางสูตินรีเวชเพื่อทำการตรวจภายในร่วมกับการตรวจพิเศษด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงทางหน้าท้อง (Transvaginal ultrasound) และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้องส่วนบนและส่วนล่าง (CT whole abdomen) ในรายที่ได้ข้อมูลจากการตรวจภายในไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยหรือหาสาเหตุการเพิ่มขึ้นของ CA125
เนื่องจากค่า CA125 ที่สูงขึ้นกว่าปกติสามารถพบได้ทั้งในคนปกติ โรคในช่องท้อง และโรคมะเร็งดังกล่าว ดังนั้น การวินิจฉัยที่ถูกต้องจะต้องมีการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะการซักประวัติและอาการ
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือฉลาดตรวจสุขภาพ ฉบับรู้ทันโรคถอย เล่ม 2. “CA125”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 69.
- ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “CA 125”. (ผศ.พญ.ศันสนีย์ เสนะวงษ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [28 พ.ค. 2018].
- Siamhealth. “Cancer Antigen 125 (CA 125)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [28 พ.ค. 2018].
- DrSant บทความสุขภาพ. “ตรวจ CA125”. (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : visitdrsant.blogspot.com. [29 พ.ค. 2018].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)