AST (SGOT)
AST (Aspartate transaminase) หรือ Aspartate aminotransferase (แต่เดิมการแพทย์จะใช้คำว่า “SGOT” หรือ Serum glutamic oxaloacetic transaminase ซึ่งก็มีความหมายและเป็นค่าชนิดเดียวกัน) คือ เอนไซม์ที่อาจตรวจพบได้ในกระแสเลือด ซึ่งสร้างขึ้นมาจากความเสียหายของตับ เม็ดเลือดแดง หัวใจ กล้ามเนื้อ ตับอ่อน หรือไต จะเห็นได้ว่าค่า AST นี้มิใช่ค่าเอนไซม์เฉพาะตับเท่านั้น แต่เป็นค่าที่สะท้อนจากทุกเนื้อเยื่อของทุกอวัยวะที่เสียหาย (เพียงแต่ตับเป็นอวัยวะที่ไวต่อโรคหรือจากสภาวะแวดล้อมที่มากระทบ เช่น จากสารพิษ จึงมักเป็นสาเหตุแรก ๆ ที่ทำให้ AST ซึ่งเกิดขึ้นจากตับมีค่าสูงขึ้นบ่อยครั้ง นั่นแปลว่า ALT ที่สูงขึ้นผิดปกติมักมีสาเหตุมาจากตับมากกว่าอวัยวะอื่น)
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ค่า AST พิจารณาร่วมกับค่าผลเลือดตัวอื่นที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะนั้น ๆ ด้วยเสมอ เช่น กรณีวินิจฉัยสภาวะหรือความเสียหายของตับก็จำเป็นต้องใช้ค่า AST พิจารณาร่วมกับค่า ALT เสมอ หรือในกรณีของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดก็จำเป็นต้องอาศัยทั้งค่า AST, CPK และ LDH
ค่า AST จะเริ่มสูงขึ้น โดยผลของเซลล์ที่ได้รับอันตรายให้ต้องบาดเจ็บ เมื่อระยะเวลาผ่านไปประมาณ 6-10 ชั่วโมง (เช่น จากตับได้รับพิษจากยาบางตัวหรือเห็ดพิษ หรือแม้แต่จากการดื่มแอลกอฮอล์) และจะปรากฏค่า AST สูงที่สุดภายในระยะเวลา 24-36 ชั่วโมง และค่า AST อาจจะกลับคืนสู่ระดับปกติภายใน 3-7 วัน แต่หากเป็นการบาดเจ็บของเซลล์ที่มีลักษณะเรื้อรัง เช่น เซลล์ตับมีภาวะอักเสบเรื้อรังจากพิษของสุราหรือไวรัส กรณีอย่างนี้ ค่า AST ก็จะยังคงสูงอยู่ต่อไป
ควรตระหนักไว้เสมอว่า ค่าเอนไซม์ของตับทั้ง AST และ ALT นั้น ใช้เพื่อการเฝ้าตรวจหรือแจ้งเตือนจากโรคตับว่ากำลังมีหรือกำลังเป็นโรคใดอยู่หรือไม่ แต่ไม่สามารถนำไปใช้เพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำหน้าที่ของตับในเชิงปริมาณได้
สำหรับผู้ที่มีสุขภาพดีจะพบค่า AST ในเลือดน้อยมาก แต่หากเซลล์ตับ เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ และอื่น ๆ ดังกล่าวถูกทำลาย จะมีเอนไซม์ AST จากอวัยวะนั้น ๆ ออกมาที่ระบบเลือดในปริมาณมากขึ้น โดยที่อาจจะพบอาการแสดงของโรคนั้น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
ชื่อการตรวจ AST (SGOT)
ชื่อต่าง ๆ ในใบรายงานผลการตรวจที่มีความหมายเดียวกัน คือ
- AST
- AAT
- Aspartate transaminase
- ASAT
- AspAT
- Aspartate aminotransferase
- SGOT
- Serum Glutamic Oxaloacetic Transaminase
วัตถุประสงค์การตรวจ AST (SGOT)
วัตถุประสงค์ของการตรวจ AST (SGOT) คือ การตรวจเพื่อให้ทราบค่าเอนไซม์ AST ซึ่งอาจแสดงผลเปลี่ยนแปลงจากค่าปกติเมื่อตับหรืออวัยวะอื่นบางแห่งกำลังตกอยู่ในอันตรายหรือมีความผิดปกติ (ยิ่งค่า AST สูงขึ้นมากเพียงใด ก็ย่อมเป็นสัดส่วนโดยตรงที่สะท้อนให้เห็นถึงจำนวนเซลล์ของอวัยวะต้นทางที่ได้รับอันตรายบาดเจ็บฟกช้ำมากขึ้นเท่านั้น) ค่า AST จึงใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
- ตรวจสุขภาพของตับในขณะนั้นว่ามีความเสียหายใด ๆ ต่อตับปรากฏอยู่บ้างหรือไม่
- ตรวจยืนยันข้อสงสัยโรคตับที่อาจปรากฏอาการสำคัญว่าเกิดจากโรคตับอักเสบหรือโรคตับแข็งหรือไม่
- ตรวจเพื่อยืนยันอาการผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้นว่าเกี่ยวข้องกับตับหรือไม่ เช่น ปวดช่องท้องส่วนบน คลื่นไส้ อาเจียน ดีซ่าน (ตัวเหลืองตาเหลือง)
- ตรวจในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดีซ่าน เพื่อช่วยบ่งชี้ว่ามาจากโรคเลือดหรือโรคตับ
- ตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาหากเกิดโรคตับและได้มีการรักษาอยู่ก่อนแล้ว
- ตรวจเพื่อติดตามผล หรือพิษจากยาลดคอเลสเตอรอล หรือจากยารักษาโรคอื่นว่าได้สร้างความเสียหายให้แก่ตับหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด
- ตรวจเพื่อช่วยคัดกรองและ/หรือวินิจฉัยภาวะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- การตรวจ AST ในปัจจุบันมักเป็นการตรวจที่อยู่ในโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปี แต่ในความเป็นจริงแล้วการส่งตรวจการทำงานของตับควรจะส่งตรวจในรายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ เช่น ในผู้ที่มีดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคตับ มีประวัติหรือมีโอกาสเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ มีภาวะอ้วนหรือเป็นเบาหวาน หรือเป็นผู้ที่กินยาหรือวิตามินหรือสมุนไพรในปริมาณและขนาดที่อาจทำลายตับได้ หรือส่งตรวจในรายที่มีอาการของโรคตับ (เช่น อ่อนแรง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องบวม มีภาวะดีซ่านตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม หรือมีอาการคันที่ผิวหนัง)
ค่าปกติของ AST (SGOT)
ค่าปกติของ AST (SGOT) ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
- ค่าปกติของ AST (SGOT) ในผู้ชาย คือ 8 – 46 U/L
- ค่าปกติของ AST (SGOT) ในผู้หญิง คือ 7 – 34 U/L
ค่า AST (SGOT) ที่ต่ำกว่าปกติ
ค่า AST (SGOT) ที่ต่ำกว่าปกติ มักไม่ค่อยปรากฏและไม่มีนัยสำคัญ หรืออาจสรุปได้ว่า หากตรวจพบค่า AST อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติก็อาจหมายความว่าทุกอวัยวะ (ตับ เม็ดเลือดแดง หัวใจ กล้ามเนื้อ ตับอ่อน หรือไต) ยังไม่มีโรคสำคัญเกิดขึ้น หรือยังมีสุขภาพดีอยู่
ค่า AST (SGOT) ที่สูงกว่าปกติ
ค่า AST (SGOT) ที่สูงกว่าปกติ อาจเกิดจากการอักเสบหรือปวดเจ็บของเนื้อเยื่อหัวใจ ตับ ตับอ่อน หรือกล้ามเนื้อก็ได้ โดยอาจแสดงผลได้ว่า
- อาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Heart attack)
- อาจเกิดโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute pancreatitis)
- อาจเกิดโรคไตวายเฉียบพลัน (Acute renal failure)
- อาจเกิดโรคตับอักเสบ (Hepatitis)
- อาจเกิดโรคตับแข็ง (Cirrhosis)
- อาจเกิดโรคมะเร็งตับ (Liver tumor)
- อาจเกิดภาวะอุดตันภายในตับเอง
- อาจเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงไหลผ่านเข้าตับได้น้อยกว่าปกติ ทำให้เซลล์ตับตายเฉพาะที่ (Lever ischemia)
- อาจเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงสีซีดลงอันเนื่องมาจากพันธุกรรม (Hereditary hemochromatosis)
- อาจเกิดโรคโลหิตจางชนิดเซลล์เม็ดเลือดแดงลดจำนวนน้อยลงอย่างเฉียบพลัน (Acute hemolytic anemia)
- อาจเกิดโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อขั้นแรก (Primary muscle disease)
- อาจเกิดโรคกล้ามเนื้อลีบขั้นรุนแรง (Progressive muscular dystrophy)
- อาจเกิดจากแผลไฟลวกที่ลึกและรุนแรง (Severe deep burn)
- อาจเกิดจากการได้รับการผ่าตัดมาได้นาน (Recent surgery)
- อาจเกิดจากภาวะการถอนพิษหรือลงแดงจากการหยุดดื่มแอลกอฮอล์
- อาจเกิดจากการที่เพิ่งได้รับการรักษาโรคหัวใจด้วยวิธีสอดใส่ห่วงถ่างขยายหลอดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจมาได้ไม่นาน (Recent cardiac catheterization)
- อาจเกิดจากมีอาการของโรคชักมาได้ไม่นาน (Recent convultion)
- อาจเกิดจากความรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสจากโรคโมโนนิวคลีโอซิส (Mononucleosis)
- อาจเกิดจากกล้ามเนื้อโครงร่างของร่างกายได้รับการบาดเจ็บฟกช้ำอย่างรุนแรง
- อาจเกิดจากการกินยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ, ยาสแตตินที่ใช้ลดคอเลสเตอรอล (Statin), ยาคีโมรักษามะเร็ง (Chemotherapy), ยาระงับอาการปวดแอสไพริน (Aspirin) รวมทั้งอาจเกิดจากการใช้ยาเสพติด (Narcotics)
- หากค่า AST สูงกว่าปกติไม่มากก็อาจสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นประจำ, ตับอาจติดเชื้อหรืออักเสบเรื้อรัง, อาจมีนิ่วในถุงน้ำดี, อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจากโรคโมโนนิวคลีโอซิส (Mononucleosis), อาจมีการแพร่กระจายของมะเร็งมาที่ตับ
AST : ALT (DeRitis ratio)
เนื่องจากการตรวจเลือดเพื่อหาค่า ALT มักจะต้องตรวจหาค่า AST ควบคู่ไปด้วยเสมอ ด้วยเหตุนี้ แพทย์จึงช่วยกันวิเคราะห์และพบว่าอัตราส่วนระหว่าง AST : ALT นั้น อาจช่วยบ่งชี้โรคตับอย่างหยาบ ๆ ได้ (มิใช่ข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน แต่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานทั่วไปในเบื้องต้นโดยอาศัยสถิติเดิมเป็นข้อยืนยัน) และเรียกอันตราส่วนตามชื่อผู้ค้นคว้าคนแรกนี้ว่า “DeRitis ratio” โดยจากการรวบรวมสถิติที่ผ่านมาเพื่อใช้เป็นข้อสันนิษฐานโรคที่เกี่ยวกับโรคตับนั้น สามารถสรุปได้ดังนี้
- AST : ALT = 2 : 1 อาจสันนิษฐานว่าเกิดโรคตับจากแอลกอฮอล์ หรือตับเสียหายเรื้อรังจากแอลกอฮอล์ เช่น โรคไขมันพอกตับ
- AST : ALT = 1 : 1 มักเป็นค่าปกติทั่วไป
- AST : ALT = < 1 : 1 อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคไขมันพอกตับแม้ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัส หรือเกิดจากการใช้ยา (เฉียบพลันหรือเรื้อรัง)
ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนการตรวจ AST (SGOT)
- ต้องงดอาหารและเครื่องดื่ม (ยกเว้นน้ำเปล่า) ก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักก่อนการตรวจ AST
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงชื่อและขนาดยาที่รับประทาน โดยเฉพาะยาสแตติน (Statins), ยาปฏิชีวนะ, ยาแอสไพริน (Aspirin), ยาละลายลิ่มเลือด (Clopidogrel), ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Warfarin), ยานอนหลับ, ยาบาร์บิทูเรต (Barbiturate), ยาเคมีบำบัด, ยาสมุนไพร หรือวิตามินใด ๆ ที่รับประทานอยู่ในขนาดสูง เพราะอาจส่งผลต่อการแปลผลทางห้องปฏิบัติการได้
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงการแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาใด ๆ มีการตั้งครรภ์หรือกำลังจะตั้งครรภ์ หรือได้รับการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ หรือเคยได้รับการผ่าตัด สวดหลอดเลือดหัวใจ หรือทำบอลลูนหัวใจ เนื่องจากผลการตรวจอาจผิดพลาดไปจากความเป็นจริงได้
- แพทย์จะพิจารณาสั่งตรวจการทำงานของตับก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการแสดงของโรคตับหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคตับ รวมทั้งในผู้ป่วยที่แสดงอาการของโรคหัวใจขาดเลือด และจะพิจารณาตรวจซ้ำตามดุลยพินิจของแพทย์เพื่อประเมินผลการรักษา
- ผลการประเมินค่าทางห้องปฏิบัติการนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานความเป็นไปได้ซึ่งไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนเพียงค่าเดียว เพราะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการซ้ำเพื่อยืนยัน และต้องตรวจควบคู่ไปกับ ALT และค่าเอนไซม์ตับตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)