เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19
ช่วงนี้เราได้รับคำถามมาเยอะมากเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่ามีข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังฉีดอย่างไร ต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษไหม กินอะไรได้ไม่ได้บ้าง ยาหรืออาหารเสริมบางอย่างมีข้อห้ามหรือไม่ เป็นแบบนี้จะฉีดวัคซีนได้ไหม ? ในบทความนี้ก็เลยจะขอรวบรวมข้อมูลสำคัญมาสรุปให้เข้าใจง่ายและครบถ้วนที่สุด และจะยกมาเฉพาะคำถามสำคัญที่พบบ่อยเท่านั้น หากท่านใดมีคำถามเพิ่มเติมก็สามารถคอมเมนต์สอบถามมาใต้โพสนี้ได้ครับ
แต่เพื่อไม่ให้เสียเวลา ถ้าคุณเป็นคนปกติทั่วไปไม่ได้มีโรคประจำตัวอะไร โดยสรุปแล้วก็แทบจะไม่ต้องมีการเตรียมตัวอะไรมากเป็นพิเศษเลย ทุกอย่างเคยอยู่เคยปฏิบัติตนอย่างไรก็ให้เป็นเช่นนั้น ถ้าทุกวันออกกำลังกายก็ให้ออกไปถ้ากาแฟเคยทานทุกวันก็ทานได้ตามปกติ ส่วนยาหรืออาหารเสริมที่ทานอยู่ก็เช่นกันครับ (ยกเว้นในคนหรือผู้ป่วยบางกลุ่มที่จะมีข้อห้ามและคำแนะนำเพิ่มเติมครับ) โดยการเตรียมตัวหลัก ๆ นั้นก็จะแบ่งออกเป็น 3 อย่างที่สำคัญ คือ
- เตรียมความพร้อมด้านความรู้ ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนที่จะฉีดในเบื้องต้นว่ามีข้อดี-ข้อด้อย และข้อจำกัดอย่างไร
- เตรียมพร้อมด้านร่างกาย หลัก ๆ คือ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ส่วนผู้มีโรคประจำตัวก็ให้ทานยาต่อไปตามปกติ (ถ้าแพทย์ไม่ได้สั่งเป็นอย่างอื่น)
- เตรียมพร้อมด้านจิตใจ ไม่ควรวิตกกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากวัคซีนมากจนเกินไป
ข้อควรปฏิบัติก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19
- ตรวจสอบวัน เวลา และสถานที่นัดฉีดวัคซีนให้แน่ชัดอีกครั้ง รวมถึงเตรียมบัตรประจำตัวประชาชน/ข้อมูลการลงทะเบียน/ใบนัดฉีดวัคซีนโควิด สวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการฉีดวัคซีนที่บริเวณต้นแขน วางแผนการเดินทางให้เรียบร้อย และควรไปถึงก่อนเวลานัด 30 นาทีเพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีน (ถ้าเลือกเวลาฉีดได้ แนะนำให้ไปช่วงบ่าย เพราะเป็นช่วงที่คนน้อยที่สุด)
- ควรเว้นระยะห่างการฉีดวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับวัคซีนต่าง ๆ อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการใช้ร่วมกับวัคซีนอื่น ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีนแต่ละชนิด และหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน
- ถ้าเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แนะนำให้ฉีดห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน โดยอาจจะฉีดก่อน 1 เดือน หรือหลังฉีดวัคซีนโควิดครบโดส 1 เดือนก็ได้
- ถ้าเป็นวัคซีนที่ต้องฉีดหลังจากสัมผัสโรค เช่น วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก สามารถฉีดได้ เพราะความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมีมากกว่าผลเสียที่เกิดจากวัคซีนสองชนิดในเวลาใกล้กัน (แนะนำให้ฉีดที่ตำแหน่งต่างกัน)
- ควรงดออกกำลังกายอย่างหนัก 1-2 วันก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำใจให้สบายก่อนไปฉีด เพื่อให้ร่างกายตอบสนองการสร้างภูมิต้านทานต่อวัคซีนได้ดีขึ้น
- อาหารเสริมหรือวิตามินที่ทานเป็นประจำอยู่แล้วก็สามารถทานต่อได้ตามปกติโดยไม่จำเป็นต้องงด เช่น วิตามินซี, วิตามินดี, น้ำมันปลา, ซิงค์ (แร่ธาตุสังกะสี) ฯลฯ และหลังฉีดก็สามารถทานต่อได้ตามปกติเช่นกันเพื่อเสริมภูมิต้านทานต่อเนื่อง
- สำหรับยารักษาโรค หากมียารักษาโรคที่ต้องกิน ให้กินตามปกติได้เลย (ยกเว้นแพทย์ว่าแนะนำให้หยุดยาเพื่อให้ได้ผลดีจากวัคซีน)
- ยาเกือบทุกชนิดสามารถกิน/ใช้ได้ตามปกติ หากเป็นผู้ป่วยที่ใช้เพื่อรักษาโรคอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว (ไม่จำเป็นต้องหยุดยาเองหากแพทย์ไม่ได้สั่ง เพราะอาจทำให้อาการกำเริบได้) ไม่ว่าจะเป็นยาคุมกำเนิด, ยาแก้แพ้, ยาเบาหวาน, ยาความดัน, ยาลดไขมันในเลือด, ยาโรคหัวใจ, ยาละลายลิ่มเลือด, ยานอนหลับ ยาคลายเครียด, ยาคลายกล้ามเนื้อ, ยาโรคหืดทั้งยาพ่นและยาสูด (ส่วนยาโรคไมเกรน, ยาต้านอาการซึมเศร้า ยาจิตเวช, น้ำมันกัญชาทางการแพทย์, สมุนไพรต่าง ๆ, แผ่นแปะนิโคติน, อาหารเสริมบางชนิด ให้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์และอาการของท่านเป็นสำคัญ โดยแพทย์อาจให้งดยา 24 ชั่วโมงก่อนฉีดวัคซีนโควิดก็ได้)
- ยาที่ควรงด (ยกเว้นแพทย์สั่งเป็นอย่างอื่น) คือ ยาพาราเซตามอล (กินดักไว้ไม่เกิดประโยชน์), ยาแก้อักเสบ (ในกลุ่ม NSAIDs ควรงดก่อนฉีด 24 ชั่วโมง), ยาลดน้ำมูก (เช่น Pseudoephedrine ควรงดก่อนฉีด 24 ชั่วโมง), ยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น Azathioprine, Ciclosporin, Cyclophosphamide, Methotrexate, Mycophenolate, Dupilumab, Rituximab), ยาโรคไมเกรน (Cafergot, Avamigram, Tofago งดก่อนฉีด 5 วัน ส่วนยา Triptan ให้งดก่อนฉีด 24 ชั่วโมง)
- เช็กสภาพร่างกายในวันฉีดว่าพร้อมแค่ไหน หากมีอาการป่วย มีไข้ ไอ เจ็บคอ ท้องเสียรุนแรง ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน
- สวมหน้ากาก 2 ชั้น (สวมหน้ากากอนามัยไว้ด้านใน และทับด้วยหน้ากากผ้าด้านนอก) เพราะสถานที่ฉีดวัคซีนมักมีผู้คนหนาแน่น ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ อากาศอาจถ่ายเทไม่ค่อยดีในบางจุด และอาจเสี่ยงใกล้ชิดกับผู้มีความเสี่ยงสูงโดยไม่รู้ตัว
- รับประทานอาหารเช้าให้เรียบร้อย ไม่อดอาหาร แต่ควรงดดื่มชา กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงงดการสูบบุหรี่ก่อนไปฉีดวัคซีน เพราะในคนทั่วไปถ้าเกิดอาการวิตกกังวลตอนฉีดวัคซีน ของเหล่านี้ก็มักจะทำให้อาการใจสั่น เหงื่อออก ปวดปัสสาวะบ่อย ความดันขึ้น ฯลฯ มีมากขึ้น
- ก่อนฉีดวัคซีนให้ดื่มน้ำตามปกติเท่าที่ร่างกายต้องการ โดยไม่ต้องดื่มมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ปวดปัสสาวะได้ในขณะที่รอการฉีดวัคซีน รวมถึงช่วงรอสังเกตุอาการ
- สำหรับผู้มีโรคประจำตัว มีข้อควรปฏิบัติเพิ่มเติมดังนี้
- ให้ทานยารักษาโรคประจำตัวตามปกติ เพื่อป้องกันอาการกำเริบ ไม่ควรหยุดยาเองหากแพทย์ไม่ได้สั่ง
- ผู้ที่สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้จะต้องมีอาการคงที่และควบคุมอาการได้แล้ว หากอาการยังไม่คงที่หรือยังต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ควรเลื่อนวันนัดฉีดวัคซีนออกไปก่อน และให้แพทย์เป็นผู้ประเมินอีกครั้ง
- ถ้ามีไข้ ไม่สบาย ในช่วง 2 สัปดาห์ ให้เลื่อนวันฉีดวัคซีนออกไป เพราะร่างกายอาจตอบสนองต่อวัคซีนได้ไม่เต็มที่
- สำหรับผู้ที่ประวัติแพ้วัคซีนหรือเคยมีอาการแพ้ผื่นผิวหนัง สามารถรับประทานยาแก้แพ้ ชนิดไม่ง่วง ล่วงหน้าก่อนฉีดวัคซีน 1 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาอาการแพ้ที่จะเกิดขึ้นได้
- ในวันฉีดวัคซีนโควิดต้องแจ้งข้อมูลต่อไปนี้ให้แพทย์หรือพยาบาลทราบในขณะทำการซักประวัติ ได้แก่ ประวัติการแพ้ยา อาหาร และวัคซีน, ชนิดของโรคประจำตัว, ยาที่กินอยู่ (โดยเฉพาะถ้าเป็นยาละลายลิ่มเลือด ยารักษาโรคประจำตัว หรือยากดภูมิคุ้มกัน), ยาที่ฉีดมาก่อนหน้านี้, การมีภาวะเลือดออกง่าย เลือดออกผิดปกติ หรือเกล็ดเลือดต่ำ, กำลังตั้งครรภ์ (ต้องอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์)
ข้อควรปฏิบัติในขณะฉีดวีคซีนโควิด-19
- ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันพื้นฐานอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา พยายามรักษาระยะห่าง และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หลังสัมผัสพื้นผิวใด ๆ ทุกครั้ง (แนะนำให้เตรียมเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์มาเองด้วย)
- แจ้งข้อมูลสุขภาพกับเจ้าหน้าที่พยาบาลอย่างตรงไปตรงมาเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน เช่น ประวัติโรคประจำตัว ยาที่ใช้หรือกินเป็นประจำ ประวัติการแพ้ยา อาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ กำลังตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตัวเองจะตั้งครรภ์ เป็นโรคเลือดออกง่าย
- ถ้ามีภาวะใจสั่น แพทย์หรือพยาบาลจะให้นั่งพักก่อนทำการฉีดวัคซีน (หากความดันขึ้นก็จะให้นั่งพัก 5-10 นาที หรือบางรายอาจเป็นชั่วโมงจนกกว่าจะทำใจได้)
- ขณะรอฉีดวัคซีน ควรจิบน้ำบ่อย ๆ ทำใจให้สบาย หายใจเข้าออกลึก ๆ หรือพยายามผ่อนคลายตัวเอง เลือกฉีดวัคซีนโควิดที่แขนข้างที่ไม่ถนัด และในขณะที่เจ้าหน้าที่พยาบาลกำลังฉีดให้พยายามผ่อนคลายให้มากที่สุด อย่าเกร็ง
ข้อควรปฏิบัติหลังฉีดวัคซีนโควิด-19
- หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรนั่งสังเกตอาการ ณ จุดพัก อย่างน้อย 30 นาที หากพบว่ามีอาการผิดปกติให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลในบริเวณนั้นทันที เมื่อนั่งพักครบ 30 นาทีแล้ว พยาบาลจะสอบถามอาการ ให้คำแนะนำ พร้อมกับตรวจสอบวันเวลานัดหมายการฉีดวัคซีนครั้งต่อไป หรือให้ใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิดถ้าฉีดครบ 2 เข็ม หรือครบตามที่กำหนด
- เมื่อกลับถึงบ้านให้สังเกตอาการต่อเนื่องที่บ้านต่อไป โดยอาการไม่พึงประสงค์ทั่วไปที่พบได้เป็นส่วนใหญ่และไม่รุนแรงที่เป็นสัญญาณว่า “ระบบภูมิคุ้มกันกำลังเร่งทำงานเพื่อซ้อมต่อสู้กับเชื้อโควิด” คือ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด, มีไข้ต่ำ, อ่อนเพลีย ง่วงนอน, ปวดหัว เวียนหัว, ปวดเมื่อยลำตัว, หนาวสั่น, คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 1-3 วัน
แต่หากมีอาการรุนแรงต่อไปนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส, เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว เต้นไม่สม่ำเสมอ เวียนหัว, ชักหรือหมดสติ, แขนขาชา ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง, ผื่นขึ้นทั้งตัว มีลมพิษ, มีจุดเลือดออกจำนวนมาก, ปวดศีรษะอย่างรุนแรง, หายใจลำบาก หายใจไม่ออก, ปวดท้องรุนแรง, อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง (โอกาสเกิดอาการเหล่านี้มีน้อยมาก แต่ถ้าเป็น ควรรีบไปหาหมอ หรือโทรสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค, 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) - ทุก 4-6 ชั่วโมง ถ้ามีไข้หรือปวดเมื่อยมาก ให้ทานยาลดไข้พาราเซตามอล แต่ถ้ามีไข้สูงให้รีบไปพบแพทย์
- ถ้าพบบริเวณที่ฉีดมีอาการคัน ผื่นแดง สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วง เช่น Cetirizine หรือ Loratadine เป็นต้น
- หลังฉีด 24 ชั่วโมง ควรงดการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดลง
- ในช่วง 4 ชั่วโมง – 2 วัน ถ้าเป็นไปได้แนะนำว่า ควรงดการออกกำลังกาย ไม่ยกของหนัก และลดการใช้แขนข้างที่ฉีดวัคซีน
- หลังฉีดควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มากกว่า 2 ลิตร
- แม้จะฉีดวัคซีนไปแล้วหรือฉีดครบโดสแล้ว ก็ยังต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันต่าง ๆ ที่ใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่าง และหลีกเลี่ยงการไปยังพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพราะเรายังมีโอกาสติดเชื้อได้อยู่
- หมั่นดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ เพื่อช่วยเสริมภูมิคุ้มกันโดยรวมให้ร่างกายต่อต้านกับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น และเพื่อการเตรียมตัวสำหรับการฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 2 หรือเพื่อลดความรุนแรงของโรคหากมีการติดเชื้อโควิดหลังฉีดวัคซีนครบ ซึ่งหลัก ๆ ก็คือ การพยายามลดความเครียด หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่ให้
- โปรตีน ตัวช่วยสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันและสารภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ถือเป็นอาหารพื้นฐานปกติที่ควรให้ความสำคัญ โดยควรเลือกทานโปรตีนที่มีคุณภาพดีเพื่อให้ร่างกายนำไปใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างภูมิต้านทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุที่ทานอาหารได้น้อย การเลือกเสริมโปรตีนคุณภาพดีจะยิ่งทำให้พื้นฐานร่างกายแข็งแรงมากขึ้น
- วิตามินเอ พบมากในเครื่องในสัตว์ ไข่แดง นม ฯลฯ ตัวช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
- วิตามินซี พบมากในส้ม ฝรั่ง มะขามป้อม ฯลฯ ตัวช่วยการทำงานของเม็ดเลือดขาวและช่วยในกระบวนการทำลายเชื้อโรค
- วิตามินดี พบมากในปลา นม ไข่แดง เห็ด ฯลฯ เป็นวิตามินที่มีบทบาทสำคัญในขบวนการตอบสนองภูมิคุ้มกันของร่างกาย การขาดวิตามินชนิดนี้อาจทำให้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น และเมื่อติดเชื้อแล้วกลไกในการกำจัดเชื้อในคนที่มีวิตามินดีเพียงพอจะดีกว่าคนที่ขาด (โดยเฉพาะในคนสูงอายุ ผิวสี ไม่ค่อยได้รับแสงแดด)
- ซิงค์ (สังกะสี) พบได้มากในหอยนางรม เนื้อแดง เครื่องใน ฯลฯ มีส่วนช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและแบ่งเซลล์ของเชื้อไวรัส รวมทั้งควบคุมการทำงานของเอนไซม์ที่เป็นกลไกหลักในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้ดีขึ้น
- โอเมก้า 3 (Omega-3) พบในปลาทะเลน้ำลึก ถั่วและเมล็ดพืช ฯลฯ ช่วยลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งอาจมีผลช่วยลดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด AstraZeneca ที่ฉีดแล้วมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้
อย่างไรก็ตาม หากคุณไม่สะดวกก็อาจเลือกรับประทานในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ได้เช่นกัน
คำถามที่พบบ่อย
- ใครบ้างที่ต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ?
ทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด เพื่อช่วยลดความความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิต แต่ผู้ที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเป็นอันดับแรก (เนื่องจากวัคซีนยังมีปริมาณที่จำกัด) ควรเป็น บุคคลากรทางการแพทย์ หน่วยสาธารณสุขเ่านหน้า และผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมคนและควบคุมโรค กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรคที่มีอาการคงที่ ได้แก่ โรคเบาหวาน, โรคอ้วน, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD), โรคไตวายเรื้อรัง กลุ่มโรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ในระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด - ใครบ้างที่ยังไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 ?
ผู้ที่กำลังมีอาการเจ็บป่วย, ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อาการของโรคยังไม่คงที่/มีอาการหนัก/โรคยังไม่สงบ, หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ - สามารถเลื่อนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ ?
ควรได้รับการฉีดวัคซีนตามนัดหรือไม่เกินระยะที่กำหนด เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการศึกษาว่าสามารถเลื่อนเข็มแรกกับเข็มสองได้นานเท่าใดโดยที่วัคซีนยังคงประสิทธิภาพดีอยู่ แต่หากมีความจำเป็นขอให้ปรึกษาแพทย์เป็นรายกรณีไป - หญิงมีประจำเดือน / คนที่กำลังคุมกำเนิดด้วยยากิน ยาฉีด ยาฝัง / หญิงหลังคลอดบุตร / ผู้ที่แพ้ยา แพ้อาหาร หรือสารก่อภูมิแพ้ สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ ?
สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ตามปกติ โดยไม่ต้องรอ และไม่จำเป็นต้องหยุดยา - หญิงที่วางแผนจะมีลูก/อยู่ระหว่างให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ ?
สามารถฉีดได้ตามปกติ เพราะวัคซีนโควิดไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์หรือการให้นมบุตร - คุณแม่ติดโควิดหรือสงสัยว่าติดเชื้อโควิด สามารถให้ลูกกินนมแม่ได้หรือไม่ ?
ได้ แต่ต้องสวมหน้ากากและล้างมือทุกครั้งก่อนให้นม - หญิงตั้งครรภ์ สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ ?
ได้ หากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ - ในเด็กสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ ?
ในตอนนี้ยังมีข้อมูลน้อยว่าในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีจะฉีดวัคซีนโควิดได้หรือไม่ แต่ ณ ปัจจุบันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทาง อย. ได้อนุญาตให้ใช้วัคซีน Pfizer ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้แล้ว และคาดว่าเร็ว ๆ นี้ในปีหน้า เด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปจะมีวัคซีนให้ฉีดแน่นอน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันกลุ่มในทุกวัย - นับถือศาสนาอิสลาม สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ ?
ได้ เพราะวัคซีนโควิดได้รับการยืนยันจากองค์กรศาสนาอิสลามสูงสุดของประเทศอินโดนีเซียแล้วว่าไม่มีส่วนประกอบใด ๆ ที่มาจากเจลาตินจากหมู และวัคซีนได้มีการรับรองด้วยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ฮาลาล - ถูกสุนัขหรือแมวกัดก่อนไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรทำอย่างไร ?
ควรรีบฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักก่อนโดยไม่ต้องรอ แล้วเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดตามวันเวลาที่กำหนด แต่ให้ฉีดที่ตำแหน่งต่างกัน - เคยติดโควิดและหายแล้ว ควรฉีดวัคซีนโควิด-19 อีกหรือไม่ ?
ควร แต่ควรฉีดหลังจากติดเชื้อไปแล้วอย่างน้อย 3 เดือน เพราะร่างกายยังพอมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิดอยู่ - พึ่งฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มา สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ ?
หากเพิ่งฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มา ต้องรออย่างน้อย 1 เดือน จึงจะสามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ - ก่อน-หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปทำฟันใช้ยาชาได้หรือไม่ ?
ได้ เพราะยาชาที่ใช้ทางทันตกรรมไม่มีผลต่อภูมิคุ้มกันทั้งก่อนและหลังฉีดวัคซีนโควิด แต่มีคำแนะนำว่าในกรณีที่ทำฟันไม่เร่งด่วน ควรเข้ารับการรักษาก่อนฉีดวัคซีนหรือภายหลังจากฉีดวัคซีน 2-3 วัน แต่ไม่เกิน 1 สัปดาห์ เพื่อลดความคลาดเคลื่อนในการวินิจฉัยแยกโรค เช่น อาการไข้เกิดจากผลข้างเคียงจากการรักษาทางทันตกรรมหรือจากวัคซีน - ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและทานยาต้านเศร้าเป็นประจำ สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ ?
ได้ แต่หากยังคุมภาวะซึมเศร้าไม่ได้ก็ยังไม่เหมาะที่จะรับวัคซีน - ผู้ป่วยเบาหวานที่ยังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ตามเป้าหมาย สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ ?
ควร เพราะผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโควิดได้สูงกว่าคนปกติ โดยเฉพาะในคนที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดี ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงควรได้รับฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด - ผู้ที่ดื่มชา กาแฟ เป็นประจำอยู่แล้ว ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 จำเป็นต้องงดหรือไม่ ?
ไม่จำเป็นต้องงด แต่ถ้าปกติเป็นคนไม่ดื่มชา กาแฟ ดื่มบ้างเป็นครั้งคราว หรือนาน ๆ ดื่มที ก็ควรงดไปก่อน เพราะคาเฟอีนในชา กาแฟ มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ - กินยาพาราเซตามอลดักไว้ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ ?
ไม่แนะนำ เนื่องจากไม่มีประโยชน์ เพราะจากยาอาจไปกดภาวะการอักเสบจนบดบังการตอบสนองของวัคซีน ทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ดี และหากมีอาการไม่สบายหลังฉีดอาจทำให้เกิดความสับสนได้ว่าเกิดจากวัคซีนหรืออาการป่วยที่เป็นอยู่แล้ว แนะนำให้กินเมื่อมีอาการปวดภายหลังจากการฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น - กินยาแอสไพริน เพื่อหวังผลป้องกันการเกิดลิ่มเลือดก่อนฉีดวัคซีน-19 ได้หรือไม่ ?
หากไม่ใช่ผู้ป่วยที่ต้องกินยานี้อยู่แล้วก็ไม่ควรกินเพื่อหวังผลป้องกันการเกิดลิ่มเลือด เนื่องจากไม่สามารถป้องกันได้ และยังอาจทำให้เลือดออกในร่างกายได้ด้วย - ควรทานวิตามินซี (Vitamin C) 1000 mg ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อเสริมภูมิต้านทานหรือไม่ ?
วิตามินซีเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมภูมิต้านให้ร่างกาย ช่วยการทำงานของเม็ดเลือดขาวและช่วยในกระบวนการทำลายเชื้อโรค การทานวิตามินซีทั้งก่อนและหลังฉีดวัคซีนจึงช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันโดยรวมของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : 12 อันดับวิตามินซียอดนิยม & คู่มือการเลือกซื้อวิตามินซี ! - ควรทานน้ำมันปลา (Fish Oil) ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันลิ่มเลือดอุดตันหรือไม่ ?
จากการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากการฉีดวัคซีนโควิดยี่ห้อ AstraZeneca จะเกิดขึ้นได้หลังจากการฉีดวัคซีนไปแล้ว 4-30 วัน และมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย (ไม่เกิน 10 รายต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านครั้ง และมักเกิดหลังฉีดวัคซีนเข็มแรก) ซึ่งหากคุณทาน Fish Oil เป็นประจำอยู่แล้วก็สามารถทานต่อได้ตามปกติ ส่วนในคนที่ยังไม่ได้ทานหรือไม่เคยทาน ถ้าอยากจะลองทานก็ได้ ไม่ได้มีผลเสียอะไร เพราะน้ำมันปลานั้นมีประโยชน์หลายอย่าง ซึ่งที่พอจะเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คงจะเป็นเรื่องงานของวิจัยที่เราพบกันมานานแล้วว่า EPA ในน้ำมันปลานั้นมีส่วนช่วยป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ป้องกันไม่ให้เลือดเกาะตัวกันเป็นลิ่ม ช่วยลดความหนืดและเพิ่มความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ การทานน้ำมันปลาจึงอาจมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดจากผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนโควิด-19 (AstraZeneca) ได้ไม่มากก็น้อย แต่ถ้าเป็นไปได้ก็แนะนำให้เริ่มทานก่อนฉีดวัคซีนโควิดประมาณ 1-2 สัปดาห์นะครับ และทานต่อไปได้เรื่อย ๆ หลังฉีดวัคซีน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : 10 อันดับน้ำมันปลายอดนิยม & ประโยชน์สำคัญของน้ำมันปลา !
- ควรทานแมกนีเซียม (Magnesium) ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ ?
ในผู้ที่ทานแมกนีเซียมเป็นปกติอยู่แล้วสามารถทานต่อได้ตามปกติ แต่ในผู้ที่มีความกังวลก่อนฉีดว่าจะเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกหรือกล้ามเนื้อหดเกร็งหลังฉีดวัคซีน การทานแมกนีเซียมเสริมจะไม่ช่วยอะไรในเรื่องนี้ (เพราะสาเหตุของกล้ามเนื้อกระตุก/หดเกร็งมักเกิดจากภาวะวิตกกังวล ไม่ได้เกิดจากการภาวะพร่องแมกนีเซียม) ส่วนในผู้ที่เป็นไมเกรนบ่อย ก่อนฉีดวัคซีนแพทย์อาจแนะนำให้หยุดทานยาไมเกรนบางกลุ่ม เช่น Cafergot, Relpax, Tofago และแนะนำให้ทานแมกนีเซียมแทนชั่วคราว เพราะมีงานวิจัยที่พบว่าแมกนีเซียมอาจช่วยยับยั้งกระบวนการให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนและช่วยลดจำนวนวันหรือจำนวนครั้งของการปวดศีรษะไมเกรนได้ - หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 มักมีอาการคอแห้ง ต้องพกขวดน้ำไปด้วยหรือไม่ ?
การฉีดวัคซีนไม่ได้ทำให้ร่างกายขาดน้ำ แต่อาการคอแห้งทันทีหลังฉีดมักเกิดจากอาการวิตกกังวล แล้วมีผลทำให้ใจสั่น เหงื่อออก รู้สึกคอแห้งหรือกระหายน้ำได้ แต่หลังฉีดเสร็จ ณ จุดบริการก็มักจะมีน้ำดื่มไว้ให้บริการอยู่แล้ว จึงอาจไม่จำเป็นต้องพกไป - หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วไม่พบอาการข้างเคียงหรือมีอาการข้างเคียงน้อย แบบนี้ภูมิคุ้มกันจะขึ้นหรือไม่ ?
จากผลวิจัยพบว่า ภูมิคุ้มกันยังคงขึ้นสูงในระดับดีอยู่เมื่อฉีดครบโดส แม้จะมีอาการข้างเคียงน้อยหรือไม่มีอาการเลยก็ตาม และไม่จำเป็นต้องตรวจระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็ยังจำเป็นต้องมีการฉีดบูสเตอร์โดสเพิ่มเติมต่อไปตามคำแนะนำของแพทย์ - ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้วยังต้องใส่หน้ากากอนามัยอยู่หรือไม่ ?
ยังคงต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันต่าง ๆ ที่ใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาระยะห่าง และเลี่ยงการไปพื้นที่เสี่ยง เพราะวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด - ก่อนและหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ ?
ได้ แต่แนะนำว่าควรเป็นก่อนหรือหลังฉีด 1-2 วัน และไม่ควรออกกำลังกายหนักหรือหักโหมมากกว่าปกติจากที่เคยทำ แต่ถ้ามีไข้หรืออาการข้างเคียงอื่น ๆ ยังคงอยู่ก็แนะนำให้งดออกกำลังกายไปก่อน - ติดเชื้อโควิดหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก ต้องทำอย่างไร ?
ควรรักษาให้หายก่อน แล้วค่อยฉีดเข็ม 2 หลังจากติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน - ฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับยี่ห้อหรือต่างชนิดกันได้หรือไม่ ?
วัคซีนโควิดชนิดที่เป็น mRNA เหมือนกัน อย่าง Pfizer และ Moderna สามารถฉีดสลับยี่ห้อหรือใช้แทนกันได้ แต่ถ้าเป็นวัคซีนคนละชนิดกันแบบที่มีให้ฉีดในประเทศไทยตอนนี้ ตามคำแนะนำเดิมยังให้ฉีดเป็นชนิดเดียวกันอยู่ แต่ในปัจจุบันก็เริ่มมีข้อมูลจากการศึกษาใหม่ ๆ มากขึ้นที่พบว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดกันมีประสิทธิภาพสูงกว่าฉีดชนิดเดียวกันมาก เช่น เข็มแรก SINOVAC เข็มสองเป็น AstraZeneca (ภูมิสูงขึ้นมากกว่าการฉีด SINOVAC 2 เข็มประมาณ 8 เท่า) หรือเข็มแรกเป็น AstraZeneca เข็มสองเป็น Pfizer เป็นต้น ซึ่งข้อมูลตรงนี้ก็ต้องรออัพเดทกันต่อไปว่าโดยสรุปแล้วการฉีดวัคซีนชนิดไหน ยี่ห้อไหน และ/หรือผสมกันแบบไหนจะให้ผลดี ปลอดภัย และเหมาะกับบ้านเรามากที่สุดครับ - หากฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้วต้องฉีดซ้ำอีกหรือไม่ และภูมิคุ้มกันจะอยู่นานแค่ไหน ?
เป็นไปได้ว่าจะต้องฉีดซ้ำอีกเรื่อย ๆ แม้ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลของวัคซีนโควิดต่อระดับภูมิคุ้นโรคในระยะยาวก็ตาม เพราะเชื้อโควิดอาจพัฒนาสายพันธุ์หรือกลายพันธุ์ไปได้เรื่อย ๆ เหมือนไข้หวัดใหญ่ (ที่ทำให้ต้องฉีดซ้ำทุกปี) จนวัคซีนชนิดเดิมใช้ไม่ได้ผลและต้องฉีดซ้ำทุกปี ดังนั้น ควรติดตามข้อมูลและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญต่อไป - ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้วป้องกันโควิดได้เลยไหม ยังติดเชื้อได้หรือไม่ ?
วัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิต้านทานสูงสุดหลังจากฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้วเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ และก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อฉีดครบแล้วจะไม่มีโอกาสป่วยหรือติดโควิดเลย เพราะวัคซีนโควิดไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ ได้แบบ 100% แม้จะฉีดแล้วก็ยังสามารถรับเชื้อและแพร่เชื้อได้ แต่สิ่งที่ช่วยได้คือถ้าป่วยติดโควิดขึ้นมา วัคซีนก็จะช่วยลดความรุนแรงของอาการป่วยและลดอัตราการเสียชีวิตได้ - ต้องตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ ?
ยังไม่จำเป็น เพราะวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นวัคซีนที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และมีการตรวจสอบสอบคุณภาพผ่านกระทรวงสาธารณสุขตอนนำเข้าวัคซีนแล้ว อีกทั้งตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ถึงระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันการติดโรคโควิด-19 น้ำยาตรวจที่ใช้กันอยู่ก็มีหลายชนิด ยังไม่มีค่ามาตรฐานกลางในการตรวจ (ทำให้เปรียบเทียบผลตรวจแต่ละที่ไม่ได้) และยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ถึงระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันการติดโรคโควิด-19 (ยังไม่ทราบว่าระดับภูมิเท่าใดจึงจะป้องกันโรคได้)
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าการตรวจนี้จะไม่มีประโยชน์เลยซะทีเดียว เพราะมันสามารถช่วยบอกให้เราทราบได้ว่า วัคซีนชนิดที่เราฉีดไปนั้นตอบสนองต่อร่างกายของเราได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าพบว่าไม่ค่อยตอบสนอง เราก็จะได้ระมัดระวังตัวเพิ่มมากขึ้นและเปลี่ยนไปฉีดวัคซีนชนิดอื่นแทน เป็นต้น ดังนั้น ถ้าคุณมีทุนทรัพย์และอยากไปตรวจเพื่อความสบายใจหรือเพื่อรู้ผลคร่าว ๆ ก็สามารถตรวจได้หลังจากฉีดวัคซีนครบแล้วประมาณ 1 เดือนครับ - ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว สามารถบริจาคเลือดได้หรือไม่ ?
สามารถทำได้ โดยถ้าเป็นวัคซีน SINOVAC ให้เว้นระยะ 1 สัปดาห์หลังฉีด แต่ถ้าเป็นวัคซีน AstraZeneca ให้เว้นระยะไว้ 4 สัปดาห์หลังฉีด จึงค่อยบริจาคเลือด - ขอเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อใช้สำหรับเดินทางไปต่างต้องทำอย่างไร ?
หากจะเดินทางไปต่างประเทศ สามารถขอรับ “เอกสารรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เพื่อใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ” (เล่มเหลืองโควิด) ได้ที่หน่วยงานต่อไปนี้ คือ- สถานบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรุงเทพมหานคร
- กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค จ.นนทบุรี
- สถานบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี
- ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ
คำแนะนำและข้อควรทราบ
- โควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ อาจมีอาการคล้ายกัน ได้แก่ ปวดหัว เจ็บคอ มีไข้ แต่โควิดสายพันธุ์เดลตา (ที่กำลังระบาดหนักอยู่ในขณะนี้) มักมีอาการปวดหัว เจ็บคอ มีน้ำมูก ไม่ค่อยพบการสูญเสียการรับรส อาการคล้ายเป็นหวัดธรรมดา ดังนั้น หากรู้สึกไม่สบายคล้ายเป็นหวัด ควรสังเกตตัวเอง หากมีอาการน่าสงสัยควรรีบไปพบแพทย์
- อาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 มักเป็นอาการที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อยาหรือวัคซีนมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ และอาการแพ้ที่สำคัญ คือ การแพ้ที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันปล่อยสารฮิสตามีนทำให้เกิดอาการในระบบต่าง ๆ ของร่างกายแบบเฉียบพลัน
- เมื่อฉีดวัคซีน AstraZeneca มักเป็นปกติของร่างกายที่จะเริ่มสร้างภูมิ แล้วทำให้อาจมีไข้อ่อน ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ อยู่ประมาณ 2 วัน และหลังจากนี้มักจะหายไปเองเป็นปกติ ซึ่งการกินยาพาราเซตามอลสามารถช่วยบรรเทาอาการได้
- ผู้ป่วยเบาหวานควรเตรียมยาให้เพียงพอ หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ดูแลเรื่องอาหาร และออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการอยู่บ้านในช่วงโควิด อาจทำให้มีกิจกรรมทางกายน้อยลง กินมากขึ้น ส่งผลให้มีน้ำหนักตัวมากขึ้น และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี
- หากเป็นไปได้ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วย โดยให้เว้นระยะห่างจากการฉีดวัคซีนโควิด 1 เดือน เพราะหากติดโควิดร่วมกับไข้หวัดใหญ่ จะเสี่ยงป่วยรุนแรงมากขึ้น (หากฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน ต้องรออย่างน้อย 1 เดือน จึงจะสามารถฉีดวัคซีนโควิดได้)
- ผู้สูงอายุควรได้รับการฉีดวัคซีน AstraZeneca เพราะปัจจุบันมีผลการศึกษาของวัคซีนชนิดนี้ในผู้สูงอายุแล้ว และองค์การอนามัยโลกและไทยก็รับรองให้ใช้ได้ในผู้สูงอายุ ส่วนวัคซีน SINOVAC นั้นยังไม่มีการศึกษาในผู้สูงอายุที่มากเพียงพอ จึงยังไม่ควรฉีดให้กับผู้สูงอายุ
- ผู้ฉีดวัคซีน SINOVAC ครบ 2 เข็มแล้ว ควรได้รับการฉีดเข็ม 3 เพิ่มเติมเป็นวัคซีนชนิด mRNA เช่น Pfizer, Moderna หรืออื่น ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์
เอกสารอ้างอิง
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “คู่มือเภสัชกร: เพื่อให้คำแนะนำเรื่องวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชน”. (จัดทำโดย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พฤษภาคม พ.ศ. 2564). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phar.ubu.ac.th. [05 ก.ค. 2021].
- สำนักข่าวไทย. “ชัวร์ก่อนแชร์ : แนะกิน Fish Oil,ยาพารา,กล้วย, ฯลฯก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19จริงหรือ?”. (นพ.พรศักดิ์ อยู่เจริญ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : tna.mcot.net. [06 ก.ค. 2021].
- ศูนย์บริการสุขภาพคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. “ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วจำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกันไหม? ฟังคำอธิบายชัดๆ จากสหเวชศาสตร์ ธรรมศาสตร์”. (ผศ.ดร.จีระพงษ์ ทะนงศักดิ์ศรีกุล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : tu.ac.th. [07 ก.ค. 2021].
- พบแพทย์. “น้ำมันปลา กับประโยชน์ต่อสุขภาพที่ควรรู้, โรคหลอดเลือดหัวใจกับน้ำมันปลา, ปลาแซลมอน อาหารจานโปรดกับประโยชน์ต่อสุขภาพ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : pobpad.com. [08 ก.ค. 2021].
- โรงพยาบาลรามคำแหง. “วิตามินดีมีความสำคัญในการลดความรุนแรงของ COVID-19”. (พญ.ศรีกร จินะดิษฐ์ อายุรแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.ram-hosp.co.th. [16 ก.ค. 2021].
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. “อาหารเสริมภูมิคุ้มกัน ในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19”. (ดร.วนพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rama.mahidol.ac.th. [17 ก.ค. 2021].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)