กางขี้มอด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกางขี้มอด 13 ข้อ !

กางขี้มอด

กางขี้มอด ชื่อสามัญ Black Siris, Ceylon Rose Wood, Crofton weed[3]

กางขี้มอด ชื่อวิทยาศาสตร์ Albizia odoratissima (L.f.) Benth. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Acacia odoratissima (L.f.) Willd., Mimosa odoratissima L.f.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[1],[2]

สมุนไพรกางขี้มอด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กางแดง คางแดง (แพร่), จันทน์ (ตาก), มะขามป่า (น่าน), ตุ๊ดเครน (ขมุ) เป็นต้น[1],[3]

ลักษณะของกางขี้มอด

  • ต้นกางขี้มอด จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้น มีความสูงได้ประมาณ 10-30 เมตร กิ่งก้านลู่ลง ปลายยอดและกิ่งอ่อนมีรอยแผล มีรูอากาศตามลำต้นและกิ่ง เปลือกต้นเป็นสีเทาอมเหลืองหรือสีน้ำตาลอ่อน ค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด เปลือกชั้นในเป็นสีแดง มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดียจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าดิบเขาและป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูงถึง 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล[1],[2]

ต้นกางขี้มอด

  • ใบกางขี้มอด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ ออกเรียงสลับแบบตรงข้าม ยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 10-25 คู่ แผ่นใบเรียบบาง ใบย่อยมีขนาดเล็ก ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานหรือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบมนหรือสอบ โคนใบเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.6-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-3.5 เซนติเมตร ผิวใบทั้งสองด้านเกลี้ยง[1],[2]

ใบกางขี้มอด

  • ดอกกางขี้มอด ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นที่ปลายยอด ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ช่อดอกย่อยประกอบด้วยดอกย่อยหลายดอกรวมกันเป็นกลุ่ม ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาวนวล กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด มีขน ปลายแยกออกเป็น 6 แฉก ส่วนกลีบดอกเป็นรูปกรวย ผิวมีขน ยาวประมาณ 6.5-9 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉก ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นสีขาวจำนวนมาก ยาวเท่าหลอดกลีบดอก โคนก้านเกสรเพศผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ออกดอกในช่วงประมาณมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2]

ดอกกางขี้มอด

  • ผลกางขี้มอด ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 17-22 เซนติเมตร ผิวเรียบ ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ฝักแห้งและแตกออกด้านข้าง ภายในมีเมล็ดประมาณ 8-12 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปรีกว้าง[1],[2]

ผลกางขี้มอด

ฝักกางขี้มอด

เมล็ดกางขี้มอด

สรรพคุณของกางขี้มอด

  1. ดอกและเปลือกใช้เป็นยาบำรุงธาตุ (ดอก, เปลือก)[1]
  2. ใบมีรสฝาดเฝื่อน ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ใบ)[1]
  3. ดอกมีรสหวานใช้เป็นยาแก้ตาอักเสบ (ดอก)[1]
  4. เปลือกต้นใช้ต้มเอาน้ำแล้วอมไว้ในปาก แก้อาการปวดฟัน (เปลือกต้น)[3]
  5. เปลือกมีรสฝาดเฝื่อน ใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง แก้ลำไส้พิการ (เปลือก)[1]
  6. เปลือกใช้เป็นยาแก้พยาธิ (เปลือก)[1]
  7. ใช้เป็นยาแก้ตกโลหิต (เปลือก)[1]
  8. เปลือกใช้ฝนรักษาแผลโรคเรื้อน แผลเปื่อยเรื้อรังและทาฝี (เปลือก)[1]
  9. เปลือกใช้เป็นยาแก้ฝี แก้บวม (เปลือก)[1]
  10. ดอกใช้เป็นยาแก้คุดทะราด (ดอก)[1]
  11. ดอกใช้เป็นยาแก้ปวดบาดแผล แก้พิษฟกบวม (ดอก)[1]

ประโยชน์ของกางขี้มอด

  • เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ในการสร้างบ้าน ก่อสร้างภายในที่ไม่รับน้ำหนักมาก ทำไม้อัด เป็นเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ[2]
  • ชาวไทใหญ่จะใช้ยอดอ่อนในพิธีสร้างบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  “คางแดง”.  หน้า 100.
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “กางขี้มอด”.  อ้างอิงใน : หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [20 ม.ค. 2015].
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “กางขี้มอด กางแดง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [20 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Soundarapandian S., Dinesh Valke, poornikannan), www.fca16mr.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด