กะเม็งตัวเมีย
กะเม็ง ชื่อสามัญ False daisy, White head, Yerbadetajo herb มีชื่อเครื่องยาว่า Herba Ecliptae
กะเม็ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Eclipta prostrata (L.) L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE) เช่นเดียวกับกะเม็งตัวผู้[1],[2],[8]
สมุนไพรกะเม็ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะเม็งตัวเมีย กาเม็ง คัดเม็ง (ภาคกลาง), หญ้าสับ ฮ่อมเกี่ยว ห้อมเกี้ยว (ภาคเหนือ), บังกีเช้า (จีน), ฮั่นเหลียนเฉ่า (จีนกลาง), บักอั่งเน้ย, อั่วโหน่ยเช่า, เฮ็กบักเช่า (จีน-แต่จิ๋ว) เป็นต้น[1],[2],[8],[11]
กะเม็ง มีทั้ง “กะเม็งตัวผู้” และ “กะเม็งตัวเมีย” จำกันง่าย ๆ ก็คือ กะเม็งตัวผู้ดอกมีสีเหลืองใหญ่ ส่วนกะเม็งตัวเมียดอกมีสีขาวและมีขนาดเล็ก และในบทความนี้เราจะพูดถึงเฉพาะกะเม็งตัวเมียครับ
ลักษณะของกะเม็ง
- ต้นกะเม็ง จัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กที่ทอดไปตามพื้นตั้ง มีความสูงประมาณ 10-60 เซนติเมตร ลำต้นมีสีเขียวหรือสีน้ำตาลแดงและมีขนละเอียด บางต้นค่อนข้างเกลี้ยง และจะแตกกิ่งก้านที่โคนต้น[1],[2],[4],[5]
- ใบกะเม็ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปหอกเรียวยาว ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบเป็นรอยเว้าเข้าเล็กน้อยทั้งสองด้าน ขอบใบเรียบหรือเป็นจักห่าง ๆ ประมาณ 2-3 จักช่วงปลายใบ ขอบใบทั้งสองด้านมีขนสั้น ๆ สีขาว ใบกว้างประมาณ 0.8-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร ก้านใบไม่มี (ถ้าเกิดในที่แห้งแล้งใบจะมีขนาดเล็ก แต่ถ้าเกิดในที่ชุ่มชื้นมีน้ำมากใบจะใหญ่) [1],[2],[5]
- ดอกกะเม็ง ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่น ออกดอกเป็นช่อเดี่ยวที่บริเวณยอด หรือ 1-3 ช่อบริเวณง่ามใบ ดอกวงนอกรูปลิ้น เป็นดอกเพศเมีย มีประมาณ 3-5 ดอก กลีบดอกมีสีขาว ส่วนดอกวงในกลีบดอกติดกันเป็นหลอด ที่ปลายแยกเป็นกลีบ 4 กลีบ มีสีขาวและเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ส่วนก้านดอกเรียวยาว มีความยาวประมาณ 2-4.5 เซนติเมตร[1],[5]
- ผลกะเม็ง ผลมีลักษณะเป็นรูปลูกข่าง มีสีเหลืองปนดำ เมื่อนำมาขยี้ดูจะมีน้ำสีดำออกมา ส่วนผลแก่แห้งมีสีดำไม่แตก ปลายผลมีรยางค์เป็นเกล็ดยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ขนาดของผลยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตรและกว้างประมาณ 1.5 มิลลิเมตร[1],[2],[5]
สรรพคุณของกะเม็ง
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ โดยใช้เข้ายาอายุวัฒนะได้หลายตำรับ มีทั้งใช้เดี่ยวและใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ด้วยการทำเป็นผงหรือปั้นเป็นยาลูกกลอน ทำเป็นยาชงดื่มแทนชา หรือใช้ผสมกับน้ำผึ้งกินทุกวันเดือนดับ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นต้น)[12]
- ต้นกะเม็งใช้เป็นยาบำรุงเลือด (ต้น[1],[3], ราก[4])
- รากใช้ต้มเอาแต่น้ำกิน ช่วยแก้โรคโลหิตจาง (ราก)[5]
- ใช้เป็นยาบำรุงร่างกายให้แข็งแรง แก้อาการปวดเมื่อย โดยใช้ต้นผสมกับพริกไทยและน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นลูกเล็ก ๆ (ต้น)[5]
- ช่วยแก้โรคกระษัย ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาคั้นเอาแต่น้ำ กรองด้วยผ้าขาวบางผสมกับน้ำร้อนครึ่งแก้ว ผสมกับน้ำผึ้งแท้ 1 ใน 3 ส่วนของน้ำร้อนแล้วนำมารับประทานจะช่วยแก้กษัยได้ สูตรนี้ยังช่วยขับปัสสาวะและเป็นยาอายุวัฒนะอีกด้วย (ทั้งต้น)[13]
- ทั้งต้นมีสรรพคุณช่วยแก้มะเร็ง (อาการเป็นแผลเรื้อรัง เน่าลุกลาม และรักษายาก) (ต้น[5], ทั้งต้น[4])
- มีการใช้กะเม็งในการรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการนำต้นกะเม็งมาตากแดดให้แห้งแล้วนำไปคั่วให้พอหอม นำมาชงกับน้ำร้อนใช้ดื่มเป็นชา (ต้น)[12],[13]
- น้ำคั้นจากต้นช่วยรักษาอาการดีซ่าน (ทั้งต้น)[4]
- ช่วยรักษาอาการทางประสาท เป็นลมวิงเวียน มีอาการชักเกร็ง มือเกร็งและเกี่ยวกัน (อาการคล้ายกับโรค Hyperventilation) โดยใช้กะเม็งเป็นตัวยาหลักนำมาตำคั้นเอาน้ำผสมกับสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมอื่น ๆ เช่น ว่านหอมเปราะ ขิง เป็นต้น แล้วนำน้ำคั้นมาจิบกิน และใช้ผ้าชุบน้ำผสมน้ำคั้นดังกล่าวนำมาเช็ดหน้าและคลุมหัวไว้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นต้น)[12],[13]
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะข้างเดียว (ลมตะกัง) ด้วยการใช้น้ำคั้นจากต้นนำมาหยอดที่จมูกเวลามีอาการปวด (ต้น)[2],[13]
- ใช้แก้อาการมึนศีรษะ ตาลาย (ต้น)[8]
- ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับตา (ราก)[5] ช่วยแก้อาการเจ็บตา แก้ตาแดง ด้วยการใช้ทั้งต้นประมาณ 1 กำมือนำมาต้มใส่น้ำตาลพอหวานเล็กน้อย ต้มให้เดือดประมาณ 15 นาทีแล้วนำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง (ต้น, ทั้งต้น)[11],[13]
- ช่วยแก้อาการหูอื้อ (ต้น)[8]
- ช่วยแก้หืด (ทั้งต้น)[4] หอบหืด (ราก)[5]
- ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ (ทั้งต้น[4], ราก[5])
- ใช้ต้นนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำหอม ใช้สูดดมช่วยแก้ไข้หวัดและโรคดีซ่าน (ต้น)[5]
- ช่วยลดไข้ในเด็กได้ ด้วยการใช้รับประทานหรือนำมาต้มน้ำอาบ (ต้น)[9],[10]
- ช่วยแก้หวัด อาการน้ำมูกไหลของทารก (ใบ)[5]
- แก้อาการไอเป็นเลือด ก้อนเลือด ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 20-60 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำอุ่นกิน (ต้น)[2],[5],[13]
- ช่วยแก้อาการไอกรน (ต้น)[11]
- ช่วยแก้อาการเลือดกำเดาไหล ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 1 กำมือ ล้างให้สะอาดแล้วนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำผสมกับเหล้าต้มกินหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง และในขณะที่มีเลือดกำเดาไหลที่จมูกก็ให้ตำคั้นเอาน้ำชุบสำลีอุดจมูกไว้ จะช่วยห้ามเลือดได้ดี (ต้น)[2],[13]
- ช่วยทำให้อาเจียน (ใบ, ราก)[1],[4]
- ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 120 กรัม นำมาตำชงกับปัสสาวะเด็กกิน (ต้น)[2],[5],[13]
- หากปากและเหงือกเป็นแผล ให้ใช้ต้นนำมาอมแล้วบ้วนจะช่วยรักษาแผลได้ (ต้น)[12]
- ช่วยแก้เด็กปากเปื่อย ปากเจ็บเนื่องจากเชื้อรา ด้วยการใช้น้ำคั้นจากใบของต้น 2 หยดผสมกับน้ำผึ้ง 8 หยด แล้วนำมาใช้ทาแผลเปื่อยเป็นประจำ (ใบ)[2],[12]
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้ต้นสดนำมาผิงไฟให้แห้งแล้วบดเป็นผง นำมาใช้ทาบริเวณเหงือกจะช่วยแก้อาการปวดฟันได้ (ต้น)[2],[12] หรือใช้ดอกและใบนำมาต้มแล้วทาบริเวณเหงือก หรือนำดอกและใบมาต้มน้ำให้งวด แล้วนำมาใช้อม (ดอก, ใบ)[5],[13]
- ช่วยแก้คอตีบ ขับเสลด โดยใช้ต้น 60-90 กรัม นำมาบดใส่เกลือเล็กน้อยใช้ชงกับน้ำกิน จะช่วยขับเสลดออกมา (ต้น)[2],[5]
- ช่วยแก้อาการเจ็บคอ (ต้น)[11]
- ช่วยแก้อาการแน่นหน้าอก (ราก)[5]
- ช่วยแก้ลมให้กระจาย แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง (ต้น)[11]
- รากกะเม็งใช้เป็นยาขับลม แก้อาการท้องเฟ้อ (ราก)[1],[4]
- ช่วยแก้อาการจุกเสียด (ทั้งต้น)[4]
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ราก)[5]
- ใบและรากใช้เป็นยาถ่าย (ใบ, ราก)[4]
- ช่วยแก้บิดถ่ายเป็นเลือด ด้วยการใช้ต้นแห้งประมาณ 30 กรัม ถ้าต้นสดให้ใช้ประมาณ 120 กรัม นำมาต้มน้ำกินติดต่อกัน 3-4 วัน (ต้น)[2],[3],[13] ส่วนรากก็ช่วยแก้โรคบิดเช่นกัน (ราก)[5]
- ช่วยแก้เลือดออกในลำไส้และในปอด หรือมีแผลภายในมีเลือดออก ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 10 กรัม ผสมน้ำตาลกรวดต้มกิน หรือจะการใช้เมล็ดนำมาผิงไฟให้แห้งแล้วบดให้เป็นผงผสมกับน้ำข้าว ใช้กินวันละ 2 กรัม (ต้น, เมล็ด)[2],[13]
- ช่วยรักษาลำไส้อักเสบ (ต้น)[2],[5]
- ต้นช่วยแก้อุจจาระเป็นเลือด (ต้น)[5]
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ต้น)[11]
- ช่วยบำรุงอวัยวะเพศ (ต้น)[5] ช่วยบำบัดอาการบกพร่องของอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง ช่วยเสริมพลังทางเพศ ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ทั้งต้น)[13]
- ช่วยรักษาหนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด ด้วยการใช้ใบสดและใบผักกาดน้ำสด ๆ อย่างละเท่า ๆ กันประมาณ 60 กรัม นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำกินวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (ใบ)[2],[13] ส่วนต้นก็ช่วยรักษาอาการปัสสาวะเป็นเลือดเช่นกัน (ต้น)[5]
- ช่วยแก้อาการฝันเปียกอันเนื่องมาจากภาวะหยินของตับและไตพร่อง (ต้น)[8]
- ช่วยแก้อาการตกขาวมากของสตรี ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ด้วยการใช้ต้นประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกินกับหมูหรือเป็ดก็ได้ (ต้น)[2],[5],[13]
- ช่วยรักษาตับอักเสบเรื้อรัง ด้วยการใช้ต้นประมาณ 3-4 ต้น นำมาต้มให้เดือด เติมน้ำตาลเล็กน้อยพอหวาน ใช้ดื่มไม่เกิน 2 วัน จะช่วยแก้ตับอักเสบ บวมช้ำ และช่วยป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษต่าง ๆ ป้องกันไม่ให้เซลล์ตับถูกทำลายจากไวรัส และช่วยฟื้นฟูตับ (ต้น)[2],[13]
- ช่วยบำรุงไต (ต้น)[2],[5] อั่วโหน่ยเช่ามีรสเปรี้ยวอมหวานและเย็น มีฤทธิ์ช่วยบำรุงตับและไต (ต้น)[8]
- หากเริ่มเป็นโรคไต ถ้าเป็นได้ไม่นานก็ให้ใช้ทั้งต้นแห้ง 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำจนเดือด ใช้ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน และเย็น หรือจะใช้ต้มดื่มแทนน้ำทั้งวันก็ได้ โดยจะช่วยล้างสารพิษที่ตกค้างในไตจนหมด ทำให้ไตสมบูรณ์ ร่างกายแข็งแรง และไม่มีอาการปวดเมื่อย นอกจากนี้ยังช่วยในการชะลอวัย ทำให้ผิวพรรณดูสดใส ไม่ตกกระอีกด้วย หรืออีกสูตรให้เอาต้นมะเก็ง ต้นงวงช้าง น้ำนมราชสีห์อย่างละเท่ากัน นำมาตำให้ละเอียดผสมน้ำ คั้นเอาแต่น้ำรับประทานทุกวัน (ทั้งต้น)[13]
- ช่วยบำรุงตับและม้าม แก้ตับอักเสบ (ราก)[4],[5]
- ช่วยแก้ช่องคลอดเป็นผื่นคัน ด้วยการใช้ต้นประมาณ 120 กรัม นำมาต้มเอาน้ำผสมสารส้มใช้ชะล้าง (ต้น)[2],[13]
- ใบกะเม็งนำมาโขลกเพื่อใช้พอกแผลสดเพื่อห้ามเลือด (ใบ)[1], เป็นยาฝาดสมาน (ต้น[5], ทั้งต้น[4]), ต้นมีฤทธิ์ในการห้ามเลือด ทำให้เลือดเย็น ช่วยแก้อาการเลือดออกเพราะภาวะหยินพร่องที่ทำให้เลือดร้อน เช่น อาการตกเลือดในสตรี ถ่ายหรือปัสสาวะเป็นเลือด ไอเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล เป็นต้น (ต้น)[8] และยังช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อีกด้วย[12]
- ใช้เป็นยาห้ามเลือด ช่วยแก้บาดแผลมีเลือดออก รักษาแผลตกเลือด โดยใช้ต้นสดนำมาตำแล้วพอกแผล ถ้าเป็นต้นแห้งให้นำมาบดเป็นผงแล้วใช้โรยที่แผล (ต้น)[2],[3],[11],[13] หรือใช้ใบนำมาตำแล้วพอกแผลก็ช่วยห้ามเลือดได้ (ใบ)[5]
- ช่วยแก้อาการอักเสบ บวมช้ำ ด้วยการใช้ต้นสด 3-4 ต้น นำมาล้างให้สะอาดแล้วนำไปต้มน้ำให้เดือดประมาณ 10 นาที แล้วผสมน้ำตาลทรายลงไปพอให้มีรสหวาน แล้วนำมาใช้ดื่มไม่เกิน 2 วัน อาการจะดีขึ้น (ต้น)[12]
- ช่วยแก้อาการอักเสบเนื่องจากถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการใช้ต้นสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่ถูกกัด (ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นต้น)[12]
- ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก มีอาการฟกช้ำ อาการแพ้ได้เป็นอย่างดี ด้วยการใช้ต้นนำมาบดตำแล้วพอกที่แผล จะช่วยลดอาการอักเสบ อาการปวดแสบปวดร้อนได้ โดยให้พอกไปเรื่อย ๆ และเปลี่ยนยาบ่อย ๆ อาการอักเสบจะดีขึ้นเอง (ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นต้น)[12],[13]
- น้ำคั้นจากต้นใช้ทาแก้ขี้กลาก (ต้น)[1] ช่วยแก้กลาก เกลื้อน (ทั้งต้น)[4] รักษาโรคผิวหนังเป็นกลากเกลื้อนเนื่องจากเชื้อรา (ใบ)[5]
- ต้นใช้ทาพอกแก้ผื่นคัน แก้ฝีพุพอง (ต้น)[11]
- ช่วยรักษาโรคผิวหนังผื่นคันจากการทำนา โรคผิวหนังเรื้อรัง ช่วยรักษาอาการน้ำกัดเท้า เนื่องจากการศึกษาวิจัยพบว่ากะเม็งนั้นมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ส่วนวิธีการใช้ ก็ให้ใช้น้ำคั้นจากใบสดนำมาทาบริเวณมือและเท้า แล้วปล่อยให้แห้งก่อนหรือหลังการลงไปทำนาจะช่วยป้องกันมือเท้าเปื่อยได้ แต่ถ้ามือเท้าเปื่อยอยู่แล้วก็ให้ใช้น้ำคั้นจากใบนำมาทารักษาวันละ 2 ครั้ง จนกว่าจะหาย (ใบ)[2],[3],[12]
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยบริเวณเอวและหัวเข่า (ต้น)[8]
- รากกะเม็ง ช่วยแก้อาการเป็นลมหน้ามืดหลังการคลอดบุตร (ราก)[4]
คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรกะเม็ง
- ต้นกะเม็งตัวเมียที่นำมาใช้ทำยา ควรนำมาทำยาตอนสด ๆ เพราะถ้าเก็บไว้นานประสิทธิภาพจะเสื่อมไป[2]
- การเก็บกะเม็งเพื่อใช้เป็นยานั้น ควรเก็บมาทั้งต้นในขณะที่ต้นเจริญเต็มที่และกำลังออกดอก เมื่อเก็บมาแล้วก็ล้างเศษดินออกให้สะอาด แล้วนำมาหั่นเป็นท่อน ๆ หรือเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำมาตากหรือผึ่งให้แห้ง แล้วเก็บไว้ที่แห้งและเย็น และยากะเม็งแห้งที่ดีควรมีสีเขียว ไม่มีเชื้อราหรือไม่มีสิ่งอื่นมาเจือปน[3]
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการม้ามพร่อง ไตหยินพร่อง มีอาการปัสสาวะบ่อย ๆ ไม่หยุด หรือถ่ายเป็นน้ำมาก[8]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นกะเม็ง
- กะเม็งมีฤทธิ์ในการเพิ่ม T-lymphocyte และยังมีการศึกษาในตำรับยาจีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า AFE ซึ่งมีกะเม็งเป็นส่วนประกอบ โดยสูตรยาดังกล่าวจะช่วยเพิ่มระดับของ Lymphocyte และ IgG ซึ่งเป็นสารที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน และสมุนไพรชนิดนี้ยังช่วยทำให้เยื่อหุ้มเซลล์เม็ดเลือดแดงแข็งแรงขึ้น จึงมีการนำมาใช้เป็นยาอายุวัฒนะ และอาจมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเอดส์โดยการใช้เป็นยาเสริมภูมิคุ้มกัน และยังมีฤทธิ์ในการลดการกดภูมิคุ้มกันซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้รักษาความปกติของร่างกายในขณะได้รับเคมีบำบัด[12]
- การนำสารสกัดเมทานอลของกะเม็งแห้งทั้งต้นมาสกัดแยกส่วนตามคุณสมบัติการละลายด้วยไดคลอโรมีเทน, บิวทานอล และเอทิลอะซิเตต แล้วนำสารสกัดแต่ละส่วนมาตรวจหากลุ่มสารเบื้องต้น จะพบสารกลุ่มคูมาริน, ไตรเทอร์พีนอยด์, ฟีโนลิก, วงแลกโทน และสเตียรอยด์ เมื่อนำสารสกัดในส่วนของเอทิลอะซิเตตมาแยกจะพบสารสำคัญคือ Wedelolactone และตรวจสอบด้วยเทคนิค TLC, HPLC, HRMS และ NMR หลังจากนั้นก็นำสารสกัดหยาบ, สารสกัดจากไดคลอโรมีเทน, บิวทานอล, เอทิลอะซิเตต และ Wedelolactone มาทดสอบฤทธิ์การยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH พบว่าสารเหล่านี้แสดงการยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี[14]
- การใช้แก้คอตีบ ให้ใช้ทั้งต้นล้างสะอาด นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำผึ้งอย่างละเท่ากัน ให้เด็กกินวันละ 100 cc. โดยแบ่งให้กินวันละ 4 ครั้ง และควรแบ่งให้เหมาะกับสุขภาพของคนไข้ด้วย เช่น ถ้าหากคนไข้มีโรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับโรคหัวใจก็ให้พักผ่อนมาก ๆ ฉีดกลูโคสและวิตามินบำรุงด้วย ถ้าคนไข้มีโรคแทรกซ้อนเป็นปอดบวมหรือหลอดลมอักเสบ ก็ให้เพิ่มยารักษาอาการแทรกซ้อนนั้นด้วย และถ้าคนไข้มีอาการถึงขั้นหายใจไม่ออกแล้ว ก็ต้องเจาะคอช่วยด้วย เป็นต้น ซึ่งผลจากการรักษาคนไข้จำนวน 92 ราย พบว่า หาย 84 ราย เสียชีวิต 8 ราย และยังได้ทดสอบเพิ่มอีก 37 ราย พบว่าหาย 35 ราย และเสียชีวิต 2 ราย โดยครึ่งหนึ่งอาการไข้จะลดลงเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง นอกนั้นต้องใช้เวลา 48-72 ชั่วโมง ยกเว้นเพียง 18 รายที่ต้องเจาะคอช่วย นอกนั้นจะหายใจได้คล่องภายใน 2-3 วัน ส่วนพวกเยื่อหุ้มจมูกและต่อมทอนซินอักเสบ ปกติแล้วรักษาด้วยวิธีนี้จะหายภายใน 3-4 วัน จำนวนเม็ดเลือดขาวจะกลับสู่ระดับปกติตามอุณหภูมิของร่างกาย[2]
- การแก้วัณโรคปอดและอาการไอเป็นเลือด ให้ใช้ทั้งต้นร่วมกับรากหญ้าคาทำเป็นยาฉีด ใช้เป็นยาฉีด 1 cc. (ต้น 0.5 กรัม, รากหญ้าคา 0.5 กรัม) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งละ 4 cc. วันละ 2-3 ครั้ง สำหรับพวกที่มีอาการอาเจียนเป็นเลือดออกมาก ๆ ให้ใช้ยานี้ 4 cc. เพิ่มกลูโคส 50% และผสมกับยาระงับประสาท 20 cc. ใช้ฉีดวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกัน 4-5 วัน โดยอาการข้างเคียงที่อาจพบได้คือ อาการสั่น แต่เมื่อเหงื่อออกก็หาย ซึ่งเกิดจากการเตรียมยาที่ไม่ดีพอ[2]
- มีงานศึกษาวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่ากะเม็งสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษ รวมทั้งจากแอลกอฮอล์ ช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ตับถูกทำลายจากไวรัส และยังช่วยในการฟื้นตัวของตับที่ถูกทำลายอีกด้วย[12]
- มีรายงานว่าสมุนไพรกะเม็งสามารถช่วยแก้ความเป็นพิษที่ตับ ที่เกิดจากการทำให้เซลล์ตับเป็นพิษด้วยสารพิษบางชนิด พบว่าได้ผลดี ทั้งยังพบว่ามีฤทธิ์แก้ไข้และช่วยแก้แพ้ในหนูขาวและหนูถีบจักรได้ ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่า กะเม็งนั้นสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคตับอักเสบ โรคผิวหนังเป็นผื่นคันได้[3]
- สารสกัดน้ำและสารสกัดบิวทานอลมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Staphylococcus aureus และ Escherichia coli ในหลอดทดลอง และสารสกัดมีฤทธิ์ช่วยปกป้องตับจากสารพิษ Carbontetrachloride ในหนูตะเภาเพศเมียได้ผลดี[9]
- ต้นกะเม็งมีฤทธิ์ในการห้ามเลือดสุนัขเมื่อใช้ภายนอกได้เป็นอย่างดี และยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงหัวใจของหนูตะเภาได้ดีขึ้น[9]
- กะเม็งมีฤทธิ์คลายเครียด ช่วยทำให้นอนหลับ โดยสมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ในการเพิ่มระดับของ Melatonin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะหลั่งออกมาในตอนกลางคืน ซึ่งสารนี้จะช่วยในการปรับสภาพร่างกายให้เหมาะแก่การนอนหลับ จึงช่วยในเรื่องการนอนหลับได้[12]
- จากการศึกษาพิษเฉียบพลันด้วยการใช้ผงยาทางปากกับหนูถีบจักร พบว่า LD มีค่าเท่า 163.4 กรัม/กิโลกรัม[9]
- เมื่อผู้ป่วยโรคหัวใจได้รับประทานสารสกัดจากต้นกะเม็งในขนาด 15 กรัมต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง ต่อติดกันเป็นเวลา 1 เดือน พบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ อาการเค้นอก หายใจติดขัด มีอาการแน่นหน้าอก และอาการปวดหลังได้ผลเป็นอย่างดี[9],[10]
- จากการนำกะเม็งมาทำเป็นสารสกัดหยาบแล้วนำไปทดสอบฤทธิ์ พบว่าสามารถช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ HIV ในหลอดทดลองได้ โดยสารออโรบอล (Orobol) และสารเวเดโลแลคโตน (Wedelolactone) ที่แยกได้จากใบของต้นกะเม็ง มีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อินทีเกรส (HIV-1 integrase) ซึ่งมีหน้าที่เชื่อมสาย DNA ของเชื้อไวรัสเข้ากับ DNA ของคน จึงช่วยทำให้เชื้อไวรัส HIV ไม่สามารถแพร่กระจายไปสู่เซลล์อื่น ๆ ได้อีก แต่ผลการทดลองดังกล่าวยังอยู่ในระดับหลอดทดลองเท่านั้น เพราะการจะพัฒนาเป็นยาต้านไวรัสจากสารสกัดบริสุทธิ์คงต้องใช้เวลาศึกษาวิจัยอีกหลายขั้นตอนและใช้เวลาอีกนาน รวมไปถึงการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลองด้วย (ข่าวเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2553) (รศ.ดร.สุภิญญา ติ๋วตระกูล นักวิจัยและอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)[6]
ประโยชน์ของต้นกะเม็ง
- ทั้งต้นใช้ผสมกับลูกมะเกลือดิบ นำมาโขลกใช้ย้อมสีผ้าให้ดำได้[1]
- น้ำคั้นจากต้นใช้ย้อมสีผมให้ดำ ทำให้คิ้วหนวดดกดำ[1],[2]
- ช่วยแก้ผมหงอกก่อนวัย ด้วยการใช้น้ำคั้นจากต้นเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันงา ใช้ทาให้ทั่วศีรษะจะช่วยทำให้ผมดกดำขึ้น และช่วยแก้ปัญหาผมหงอกก่อนวัย[3],[5]
- ในประเทศอินเดียมีการใช้น้ำคั้นจากต้นสดมาใช้สัก เพื่อให้รอยสักเป็นสีเขียวคราม[1]
- มีผลงานการทดลองของโรงเรียนนิยมศิลป์อนุสรณ์ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ได้ทดลองการทำหมึกโรเนียวจากต้นกะเม็ง โดยผลการทดลองพบว่าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับหมึกโรเนียวในท้องตลาด จะได้ตัวอักษรที่ชัดเจนและแห้งเร็ว[7]
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กะเม็ง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [7 ธ.ค. 2013].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 7 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. “กะเม็งตัวเมีย“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [7 ธ.ค. 2013].
- ศูนย์สมุนไพรทักษิณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “กะเม็ง สมุนไพรที่ไม่ควรมองข้าม“. (รศ.ดร.สนั่น ศุภธีรสกุล ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: herbal.pharmacy.psu.ac.th. [7 ธ.ค. 2013].
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “กะเม็ง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [7 ธ.ค. 2013].
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
- ผู้จัดการออนไลน์. “วิจัย กะเม็ง-กระชาย มีฤทธิ์ต้านไวรัส HIV“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th. [7 ธ.ค. 2013].
- ฐานข้อมูลโครงงานวิทยาศาสตร์ ห้องสมุด สสวท.. โรงเรียนนิยมศิลป์อนุสรณ์ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์. “การทำหมึกโรเนียวจากกะเม็ง“. (มัธยมต้น ชนะเลิศประกวดรางวัลที่ 1 สาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ภาคเหนือตอนล่าง ปี 2545). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: elib.ipst.ac.th. [7 ธ.ค. 2013].
- สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. “อั่วโหน่ยเช่า“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: tcm.dtam.moph.go.th. [7 ธ.ค. 2013].
- Zhang Y, Lin ZB. Herba Ecliptae: mo han lian In: Wang BX, Ma JK, Zheng WL, Qu SY, Li R, Li YK (eds.). Modern study of pharmacology in traditional Chinese medicine. 2nd ed. Tianjin: Tianjin Science & Technology Press, 1999.
- Institute of Medicinal Plant Development and Institute of Materia Medica, Chinese Academy of Medicinal Sciences. Chinese Materia Medica. Vol. IV. 2nd ed. Beijing: Renmin Weisheng Publishing House, 1988.
- ภูมิปัญญาอภิวัฒน์. “กะเม็งสมุนไพรดูแลตับไตหัวใจ ห้ามเลือด แก้บิด ผมหงอกเร็ว“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.budmgt.com. [7 ธ.ค. 2013].
- ฟาร์มเกษตร. “สมุนไพรกะเม็ง“. อ้างอิงใน: thrai.sci.ku.ac.th/node/936. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.farmkaset.org. [7 ธ.ค. 2013].
- “กะเม็งตัวเมีย ยอดยาดีหมอพื้นบ้าน“. (จำรัส เซ็นนิล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net. [7 ธ.ค. 2013].
- ฐานข้อมูลการประชุมวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “พฤกษเคมี และการยับยั้งการเกิดออกซิเดชันในเบื้องต้นของกะเม็ง“. (พจมาน พิศเพียงจันทร์, สรัญญา วัชโรทัย, อุไรวรรณ ดิลกคุณานันท์, อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: kucon.lib.ku.ac.th. [7 ธ.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by aspidoscelis, Kevin Thiele, corey.raimond, mingiweng, Russell Cumming, Teo Siyang, Uday Tadphale, Μichael, sagalliant)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)