กะเม็งตัวผู้
กะเม็งตัวผู้ ชื่อสามัญ Chinese wedelia[2]
กะเม็งตัวผู้ ชื่อวิทยาศาสตร์ Sphagneticola calendulacea (L.) Pruski (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Wedelia chinensis (Osbeck) Merr.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE) เช่นเดียวกับกะเม็งตัวเมีย
สมุนไพรกะเม็งตัวผู้ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ฮ่อมเกี่ยวคำ (เชียงใหม่), กะเม็งดอกเหลือง (คนไทย), อึ้งปั้วกีเชา (จีน)[1],[3]
ลักษณะของกะเม็งตัวผู้
- ต้นกะเม็งตัวผู้ จัดเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นเลื้อยและชูขึ้น ลำต้นมีความสูงประมาณ 4-20 นิ้ว เป็นพรรณไม้ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ชื้นแฉะ และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[1]
- ใบกะเม็งตัวผู้ ลักษณะของใบเป็นรูปหอกแกมรูปขอบขนาน โคนใบสอบแคบ ส่วนปลายใบเรียวแหลม หลังใบและท้องใบมีขนขึ้นประปราย ส่วนขอบใบเป็นหยักตื้น ๆ ใบมีความยาวประมาณ 0.5-3 นิ้วและกว้างประมาณ 0.5-1 นิ้ว มีก้านใบสั้น[1]
- ดอกกะเม็งตัวผู้ ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวที่บริเวณยอด ลักษณะของดอกมีขนาดเล็ก เมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกวงนอกมีลักษณะเป็นรูปรางน้ำ ปลายกลีบดอกเป็นหยัก 3 หยัก โดยกลีบดอกมีความยาวประมาณ 8-11 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกวงในลักษณะเป็นรูปท่อ ที่ปลายของกลีบดอกหยักเป็นแฉก 5 แฉก โดยกลีบดอกมีความยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ที่กลางดอกมีเกสรตัวผู้โผล่พ้นมาจากกลีบดอก และมีเกสรตัวเมียที่แยกออกเป็นแฉกโค้ง[1]
- ผลกะเม็งตัวผู้ ลักษณะเป็นรูปสอบแคบ ผิวผลขรุขระไม่เรียบ ผลมีรยางค์เป็นรูปถ้วย มีขนาดเล็กประมาณ 4-5 มิลลิเมตร[1]
สรรพคุณของกะเม็งตัวผู้
- ใบกะเม็งตัวผู้ใช้เป็นยาบำรุง (ใบ)[1]
- ช่วยบำรุงโลหิต ด้วยการใช้ทั้งต้นสดหรือแห้งนำมาต้มหรือทำเป็นผงใช้กิน (ทั้งต้น)[3]
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[1]
- ใบกะเม็งตัวผู้ช่วยแก้อาการไอ (ใบ)[1] หรือจะใช้ทั้งต้นสดหรือแห้งนำมาต้มหรือทำเป็นผงใช้กินก็ได้ (ทั้งต้น)[3]
- ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด โดยนำลำต้นมาตากแห้งใช้ชงเป็นยาดื่ม หรือจะใช้ทั้งต้นสดหรือแห้งนำมาต้มหรือทำเป็นผงใช้กินก็ได้ (ลำต้น, ทั้งต้น)[1],[3]
- ช่วยรักษาโรคกระเพาะครากหรือโรคกระเพาะอักเสบ ด้วยการใช้ลำต้นตากแห้งชงเป็นยาดื่ม (ลำต้น)[1]
- ช่วยล้างพิษหรือสารตกค้างจากไต ทำให้ไตสมบูรณ์ ส่งผลทำให้ร่างกายแข็งแรง ไม่มีอาการปวดเมื่อย ช่วยชะลอความแก่ ทำให้ผิวพรรณสดใส ไม่ตกกระ ด้วยการใช้ทั้งต้นแห้งประมาณ 1 กำมือนำมาต้มกับน้ำจนเดือด ใช้ดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวัน และเย็น หรือใช้ต้มดื่มแทนน้ำทั้งวันก็ได้เช่นกัน (ทั้งต้น)[3]
- ช่วยแก้โรคผิวหนัง (ใบ)[1]
- ลำต้นนำมาตำให้ละเอียดผสมกับข้าว ใช้พอกแก้อาการปวดบวม (ลำต้น)[1]
ประโยชน์ของกะเม็รงตัวผู้
- ลำต้นช่วยทำให้น้ำสะอาด[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “Wedelia chinensis“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org/wiki/Wedelia_chinensis. [8 ธ.ค. 2013].
- ไทยรัฐออนไลน์. “กะเม็ง ล้างพิษตกค้างจากไต“. (นายเกษตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thairath.co.th. [8 ธ.ค. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by mingiweng, 阿橋花譜 KHQ Flowers, Hai Le)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)