กะทือพิลาส
กะทือพิลาส ชื่อสามัญ Beehive ginger, Ginger wort, Malaysian ginger
กะทือพิลาส ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber spectabile Griff. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)[1]
สมุนไพรกะทือพิลาส มีชื่อเรียกอื่นว่า ไพลเหลือง, ดาเงาะ[1],[2] (บางข้อมูลใช้ชื่อว่า กระทือช้าง, กระทือพิลาศ)
ลักษณะของกะทือพิลาส
- ต้นกะทือพิลาส จัดเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าอยู่ใต้ดิน มีความสูงประมาณ 2-3 เมตร เป็นพืชพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเขตการกระจายพันธุ์ในมาเลเซีย ในประเทศไทยพบขึ้นทางภาคใต้ โดยมักขึ้นในป่าดงดิบ ริมลำธาร หรือตามชายป่าที่ระดับความสูงถึง 300 เมตร[1],[2]
- ใบกะทือพิลาส ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหอก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร[1]
- ดอกกะทือพิลาส ออกดอกเป็นช่อสีเหลือง (เมื่อแก่อาจจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดง) ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกแข็ง มีขนาดกว้างประมาณ 6-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ช่อดอกเกิดจากใบประดับเรียงซ้อนอัดกันแน่น กลีบรองดอกเป็นสีครีม ยาวได้ถึง 3.5 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง ดอกย่อยเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ปลายกว้างถึง 1 เซนติเมตร กลีบปากแยกออกเป็น 3 แฉก สีม่วงดำมีจุดสีเหลือง ปลายแฉก ตรงกลางเว้าตื้น อ้าเป็น 2 แฉกเล็ก เกสรเพศผู้มีอันเดียว ก้านสั้น อับเรณูยาวได้ประมาณ 1.2 เซนติเมตร ก้านชูเกสรเพศเมียเป็นสีม่วง รังไข่มีขนขึ้นประปรายสีดำ ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน[1]
- ผลกะทือพิลาส ผลมีลักษณะเป็นรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม[1]
สรรพคุณของกะทือพิลาส
- ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะใช้เป็นพืชสมุนไพร โดยใช้เป็นยารักษาอาการตาแดง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
- ใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ปวดหลัง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
- พืชชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์[6] และมีเอนไซม์ Zerumbone synthase ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่[7]
ประโยชน์ของกะทือพิลาส
- ยอดอ่อนใช้รับประทานได้[2] (ชาวบ้านทางภาคใต้จะนิยมนำยอดอ่อนมาต้มกินเป็นผักแกล้ม)
- นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป[3]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “กะทือพิลาส”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [24 ส.ค. 2015].
- Christophe Wiart. (2012). “Medicinal Plants of China, Korea, and Japan: Bioresources for Tomorrow’s Drugs and Cosmetics”. CRC Press, pp. 70-71.
- FORSYTH, Holly Kerr. (2007). “The Constant Gardener: A Botanical Bible”. Melbourne, Miegunyah Press, p. 100.
- E. A. Weiss. (2002). “Spice Crops”. CABI, p. 338.
- Beng Jin Chee. (September 2010). “The spectacular ginger : Zingiber spectabile Griffith”. Malaysian Naturalist, pp. 12-13.
- N K Dubey. (2011). “Natural Products in Plant Pest Management”. CABI, p. 69.
- Sadhu SK, Khatun A, Ohtsuki T, Ishibashi M.. (2007). “First isolation of sesquiterpenes and flavonoids from Zingiber spectabile and identification of zerumbone as the major cell growth inhibitory component.”. Natural Product Research, 21 (14): 1242–1247.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by BEARTOMCAT (Bear), Ahmad Fuad Morad, reboloteando-por-ahí, Deisy Rueda, alloe.)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)