กลีเซอรีนบอแรกซ์ (Glycerine Borax) สรรพคุณ วิธีใช้ ข้อควรระวัง ฯลฯ

กลีเซอรีนบอแรกซ์ (Glycerine Borax) สรรพคุณ วิธีใช้ ข้อควรระวัง ฯลฯ

กลีเซอรีนบอแรกซ์

กลีเซอรีนบอแรกซ์ / กลีเซอรีนโบแรกซ์ / กลีเซอรอล-บอแรกซ์ / บอแรกซ์กลีเซอรีน (Glycerine borax หรือ Glycerine of Borax หรือ Borax glycerine) เป็นยาทารักษาแผลในปากที่มีส่วนผสมของสารสำคัญ 2 ตัว คือ บอแรกซ์ (Borax) และกลีเซอรีน (Glycerine)

  • บอแรกซ์ (Borax) หรือโซเดียมบอเรต (Sodium borate) ซึ่งเป็นเกลือของกรดบอริก (Boric acid) ในอุตสาหกรรมจะนำไปใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและน้ำยาซักผ้า เป็นต้น
  • กลีเซอรีน (Glycerine) หรือกลีเซอริน (Glycerin) หรือกลีเซอรอล (Glycerol) เป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างของน้ำตาลและแอลกอฮอล์ผสมกัน (Sugar Alcohol compound) โดยจะมีลักษณะเป็นของเหลวข้นใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่เป็นพิษ มีรสหวาน และละลายน้ำได้ ในอุตสาหกรรมยาจะนำกลีเซอรีนไปใช้เป็นส่วนผสมในสูตรตำรับของยาน้ำและยาเม็ดอมเพื่อเพิ่มรสชาติ เช่น ยาแก้ไอขับเสมหะ และยังนำมาเป็นยาเหน็บทวารเพื่อช่วยแก้อาการท้องผูก ใช้เป็นยาป้ายแผลในปาก ใช้เป็นส่วนผสมในสูตรตำรับยาล้างตาและยาหยอดหู หรือใช้เป็นยารับประทานหรือยาหยอดตาเพื่อรักษาอาการต้อหิน เป็นต้น ส่วนประโยชน์ของกลีเซอรีนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางก็จะมีการนำกลีเซอรีนไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณ เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ใช้ทำตัวหล่อลื่นผิวพรรณ ใช้ผลิตยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ครีมโกนหนวด สบู่ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและแต่งผม เป็นต้น

สำหรับสูตรตำรับของยากลีเซอรีนบอแรกซ์จะเป็นการนำเอาบอแรกซ์และกลีเซอรีนมาผสมกันตามมาตรฐานของสูตรตำรับของแต่ละบริษัท คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยากลีเซอรีนบอแรกซ์อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้รักษาแผลในปาก ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้ให้การรักษาหรือจากเภสัชกรที่ร้านขายยาใกล้บ้าน

ตัวอย่างกลีเซอรีนบอแรกซ์

ยากลีเซอรีนบอแรกซ์ มีชื่อทางการค้า เช่น กลีเซอรีนบอแรกซ์วิทยาศรม (ขวดเล็ก 15 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 13-20 บาท, ขวดใหญ่ 450 มิลลิลิตร ราคาประมาณ 200-250 บาท), กลีเซอรีน ออฟ บอแรกซ์ ศรีจันทร์ (Glycerin of Borax Srichand), บอแรกซ์กลีเซอรีน 10% (Borax glycerine 10%), บอแรกซ์กลีเซอรีน ไอพี (Borax Glycerin IP) ฯลฯ

รูปแบบกลีเซอรีนบอแรกซ์

กลีเซอรีนบอแรกซ์เป็นยาสารละลาย (ยาน้ำใส ๆ) ชนิดป้ายปากและทาผิวภายนอก ส่วนขนาดความเข้มข้นของบอแรกซ์และกลีเซอรีนนั้นจะขึ้นอยู่กับสูตรยาของแต่ละบริษัท เช่น กลีเซอรีนบอแรกซ์ของวิทยาศรมจะประกอบด้วยบอแรกซ์ 12 กรัม และกลีเซอรีน 88 กรัม เป็นต้น

กลีเซอรอล-บอแรกซ์
IMAGE SOURCE : www.instagram.com (@species_shop, @sweetysweetshop)

กลีเซอรีนบอแรกซ์
IMAGE SOURCE : www.kaidee.com (by Disapon)

สรรพคุณของกลีเซอรีนบอแรกซ์

  1. ใช้รักษาการอักเสบของแผลในปาก[2]
  2. ใช้ทาแก้ปากเปื่อย/ลิ้นเปื่อยเป็นแผล (แผลร้อนใน) ลิ้นแตก[1],[3]
  3. ใช้ทาแก้ลิ้นเป็นฝ้าขาวหรือคราบขาว[3]
  1. ใช้สำหรับทำหัตถการทางทันตกรรมเพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อโรค[2]
  2. ใช้รักษาการอักเสบภายในหู[2]
  3. ใช้หยอดหูในรายที่มีแมลงหรือมดเข้าหู[1]
  4. อาจใช้เป็นยาละลายขี้หูในกรณีขี้หูอุดตัน เพราะราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับตัวยาอื่น ๆ (แต่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยว่ายานี้สามารถช่วยละลายขี้หูได้หรือไม่ เพียงแต่กลไกในการออกฤทธิ์ของกลีเซอรีนบอแรกซ์ซึ่งมีคุณสมบัติให้ความชุ่มชื้น ช่วยหล่อลื่น สามารถช่วยทำให้ขี้หูที่แข็งและอัดแน่นอ่อนนิ่มลงได้ จึงช่วยทำให้สามารถกำจัดขี้หูออกได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ตัวยากลีเซอรีนยังมีคุณสมบัติเป็นกรด จึงช่วยทำให้เชื้อแบคทีเรียไม่เจริญเติบโต เนื่องจากเชื้อก่อโรคในช่องหูมักจะเจริญได้ดีในสภาวะแวดล้อมที่เป็นด่าง)[4]
  5. ประโยชน์ของกลีเซอรีนบอแรกซ์อีกอย่างหนึ่งก็คือ การนำมาใช้ทำสไลม์ (Slime) ซึ่งเป็นของเล่นเด็กหลากสีชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นวุ้นยืดหยุ่นหรือเจลลี่หนืดและมีอยู่ด้วยกันหลากหลายสูตร ซึ่งบางสูตรมีการนำกลีเซอรีนบอแรกซ์ไปใช้เป็นส่วนผสมด้วย (แต่ส่วนประกอบหลัก คือ กาวลาเท็กซ์) นอกจากใช้เป็นของเล่นแล้วยังอาจนำไปประยุกต์ใช้ทำความสะอาด (ช่วยจับฝุ่น) เช่น คีย์บอร์ด และใช้บริหารกล้ามเนื้อมือได้อีกด้วย

กลีเซอรีนบอแรกซ์ใช้ทำอะไร
IMAGE SOURCE : www.prachachat.net

กลไกการออกฤทธิ์ของกลีเซอรีนบอแรกซ์

ยากลีเซอรีนบอแรกซ์จะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยการไปทำลายและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในบริเวณที่เป็นแผลอักเสบทั้งในปากและในหู กลีเซอรีนบอแรกซ์จึงช่วยให้อาการของแผลอักเสบดีขึ้น

ก่อนใช้กลีเซอรีนบอแรกซ์

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยากลีเซอรีนบอแรกซ์ สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยากลีเซอรีนบอแรกซ์ (Glycerine borax) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายหรือที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยากลีเซอรีนบอแรกซ์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ (แต่เนื่องจากยากลีเซอรีนบอแรกซ์เป็นยาใช้ภายนอก โดยทั่วไปจึงไม่ค่อยพบเห็นปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานใด ๆ)
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้กลีเซอรีนบอแรกซ์

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยากลีเซอรีนบอแรกซ์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้และห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ควรระวังอย่าให้ยานี้กระเด็นเข้าตา
  • การใช้ยานี้กับเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ว่าเหมาะสมหรือไม่

วิธีใช้กลีเซอรีนบอแรกซ์

  • ให้ใช้คอตตอนบัด (Cotton bud) หรือสำลีที่สะอาดพันปลายไม้แต้มด้วยยากลีเซอรีนบอแรกซ์พอประมาณ แล้วป้ายยาในบริเวณที่เป็นในปากวันละ 2-3 ครั้ง (ในระหว่างป้ายยาในปาก ไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร หรือใช้ยาอื่นป้ายตามลงไปทันที แต่ควรรอก่อนอย่างน้อย 20-30 นาที เพื่อให้ตัวยาคงอยู่ในแผลได้นานพอ)[1],[2],[3]
  • การใช้รักษาการอักเสบภายในหู ให้ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณี ๆ ไป[2]
  • เมื่อมีแมลงหรือมดเข้าหู ให้ใช้กลีเซอรีนบอแรกซ์หยอดหู (ตัวแมลงมักจะตาย และอาจลอยขึ้นมาได้เอง)[1]
  • การใช้เป็นยาละลายขี้หูในกรณีขี้หูอุดตัน อันดับแรกให้ทำความสะอาดช่องหูชั้นนอกให้สะอาดเสียก่อนโดยการใช้ไม้พันสำลีเช็ดออก จากนั้นให้ผู้ป่วยนอนตะแคงเอาหูด้านที่จะหยอดยาขึ้นบน แล้วหยอดยานี้ลงไปในช่องหูชั้นนอกให้ท่วมประมาณ 8-10 หยด (ควรมีคนหยอดให้ โดยเฉพาะในเด็ก) และนอนตะแคงอยู่ในท่าเดิมประมาณ 5-10 นาที (อาจนวดบริเวณติ่งหน้าใบหูเพื่อช่วยดันยาให้เข้าไปในช่องหูชั้นนอกส่วนลึก) ก่อนจะลุกขึ้นหรือหยอดหูอีกข้าง ควรนำสำลีมาอุดที่ช่องหูชั้นนอกข้างที่หยอดยาแล้วก่อน เพื่อให้ยาค้างและสัมผัสอยู่ในช่องหูให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ และสามารถนำสำลีนี้ออกได้หลังจากนั้นประมาณ 20-30 นาที และให้ยาในช่องหูไหลออกมาเอง แล้วจึงเช็ดทำความสะอาดบริเวณรอบ ๆ หู[4]

หมายเหตุ : แม้ยานี้จะมีส่วนผสมของบอแรกซ์ แต่การนำมาใช้เป็นยาป้ายปากก็ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด เพราะเป็นการใช้ยาเพียงครั้งคราวและใช้ในขนาดที่ต่ำมาก ๆ คือ 12% ซึ่งการใช้ยาครั้งหนึ่งจะใช้เพียงไม่กี่มิลลิลิตร ดังนั้น ถ้าใช้ยาในขนาด 1 มิลลิลิตร ร่างกายจะได้รับบอแรกซ์เพียง 0.12 กรัม ส่วนขนาดที่เป็นอันตรายของการได้รับบอแรกซ์ คือ 1-2 กรัม/น้ำหนักตัวผู้ใช้ 1 กิโลกรัม แต่ในขนาดที่นำไปใช้รักษาแต่ละครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 20-30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และที่สำคัญ ยากลีเซอรีนบอแรกซ์เป็นยาใช้ภายนอก เมื่อมีการหลุดเข้าไปในทางเดินอาหารจะมีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อย เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องกังวลในการใช้ยานี้ครับ

คำแนะนำในการใช้กลีเซอรีนบอแรกซ์

  • การใช้ยานี้ป้ายปากต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม แล้วป้ายยาตรงบริเวณที่มีการติดเชื้อเท่านั้น และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้มากเกินความจำเป็น
  • ยานี้เป็นยาใช้ภายนอก ห้ามนำมารับประทาน
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้แทนคำสั่งการใช้ยาของแพทย์ได้ ซึ่งการใช้ยานี้อย่างเหมาะสมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
  • หากพบอาการบวมแดงร้อนในบริเวณที่ใช้ยา ให้หยุดใช้ยาในทันที

การเก็บรักษากลีเซอรีนบอแรกซ์

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดฝาให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น)
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

เมื่อลืมใช้กลีเซอรีนบอแรกซ์

โดยทั่วไปเมื่อลืมใช้ยากลีเซอรีนบอแรกซ์ ให้ใช้ยาในทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับการใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามไปใช้ยาครั้งต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของกลีเซอรีนบอแรกซ์

ยากลีเซอรีนบอแรกซ์เป็นยาใช้ภายนอกจึงไม่พบผลข้างเคียงต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายเท่าใดนัก แต่หากหลังจากใช้แล้วเกิดอาการระคายเคือง มีผื่นคัน หายใจไม่ออกหรือหายใจลำบาก ให้หยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “กลีเซอรีนโบแรกซ์ (Glycerine borax)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 309.
  2. หาหมอดอทคอม.  “กลีเซอรีน บอแรกซ์ (Glycerine borax)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [21 ต.ค. 2016].
  3. ThaiRx.  “Glycerin of Borax [กลีเซอรีนบอแรกซ์]”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : thairx.com.  [21 ต.ค. 2016].
  4. เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ.  “Glycerine of Borax”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : drug.pharmacy.psu.ac.th.  [20 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด