สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกลาย (กล้วยค่าง)

ต้นกลาย

กลาย ชื่อวิทยาศาสตร์ Mitrephora keithii Ridl. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1],[2],[3]

ต้นกลาย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มหาพรม (ประจวบคีรีขันธ์), กล้วยค่าง, ลำดวนเหลือง เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของต้นกลาย

  • ต้นกลาย เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย (คาบสมุทรอินโดจีน) มีเขตการกระจายพันธุ์ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ (ต่างประเทศพบได้ที่ประเทศพม่า) จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือเป็นไม้พุ่มโปร่งขนาดเล็ก ที่มีความสูงของต้นประมาณ 2-4 เมตรและสูงได้ประมาณ 5 เมตร ต้นแตกกิ่งแขนงเป็นพุ่มโปร่ง เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมสีดำ แตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามแนวยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนและการเพาะเมล็ด โดยเป็นพันธุ์ไม้หอมขนาดเล็กที่เจริญเติบโตช้า สามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่ที่มีแสงแดดปานกลางและแสงแดดจัด แต่ส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตในพื้นที่ที่มีความชื้นสูงและแสงแดดไม่มากนัก และมักจะขึ้นในป่าดิบแล้งที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 30-700 เมตร[1],[2],[3],[4]

กล้วยค่างต้นกลาย
  • ใบกลาย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน โคนใบแหลมหรือมน ปลายใบแหลมหรือแหลมยาว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นมันวาวทั้งสองด้าน หลังใบและท้องใบเรียบ และมีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 7-9 เส้น มีก้านใบยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร[1],[4]

ใบกลาย

  • ดอกกลาย ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว โดยออกตรงข้ามกับใบที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นสีเหลืองนวลหรือเข้ม มีกลิ่นหอม เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมี 6 กลีบ วางเป็นชั้น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นนอกหนา มีลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ปลายกลีบแหลม ส่วนกลีบดอกชั้นในมีลักษณะเป็นรูปไข่กลีบ โคนเรียวเป็นก้านกลีบ สั้นกว่ากลีบวงนอกเล็กน้อย ปลายเรียงจรดกันคล้ายกับกระเช้า ส่วนขอบและเส้นกลางกลีบเป็นสันนูนและมีลายเส้นสีม่วงแดงบนกลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ที่ปลายมีรยางค์สั้น ๆ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม[1],[3],[4]

ดอกกลาย

มหาพรม

ดอกกล้วยค่าง

  • ผลกลาย ออกผลเป็นกลุ่ม มีผลย่อยประมาณ 4-7 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอก จะคอดตื้น ๆ ตามแนวเมล็ด ปลายผลเป็นจุก ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อนออกขาวหรือนวล เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มหรือแดงอมส้ม โดยจะออกผลในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม[1],[3],[4]

ผลกลาย

ผลกล้วยค่าง

สรรพคุณของกลาย

  • เปลือกเนื้อไม้ใช้เป็นยาขับมุตกิดระดูขาวของสตรี (เปลือกเนื้อไม้)[1]
  • ใช้เป็นยาขับเลือดร้ายในเรือนไฟของสตรีหลังคลอดบุตร (เปลือกเนื้อไม้)[1]

ประโยชน์ของกลาย

  • ต้นกลายสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนได้ อีกทั้งยังเป็นพันธุ์ไม้หอมที่หายากอีกชนิดหนึ่ง จึงใช้ปลูกเพื่อการสะสมอีกได้ โดยต้นกลายเป็นพันธุ์ไม้หอมขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมจริงและหอมแรงตลอดทั้งวัน มีราคาไม่สูงมากนัก เหมาะสำหรับการปลูกในพื้นที่แคบ ๆ ประมาณ 1 ตรม. และมีรายงานระบุว่า ต้นกลายหรือกล้วยค่างนั้นจะมีดอกหอมเพียงบางต้นเท่านั้น ฉะนั้นการเลือกซื้อพันธุ์ไม้หอมชนิดนี้ต้องซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “กลาย (Klai)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 38.
  2. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “กลาย”.  (นพพล เกตุประสาท).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [02 ก.พ. 2014].
  3. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กลาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [02 ก.พ. 2014].
  4. สำนักงานหอพรรณไม้, สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “กลาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/botany/.  [02 ก.พ. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Kukiat Tanteeratarm), www.bloggang.com (Mitrephora keithii)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด