กระโดน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระโดน 26 ข้อ ! (กระโดนบก)

กระโดน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระโดน 26 ข้อ ! (กระโดนบก)

กระโดน

กระโดน ชื่อสามัญ Tummy-wood, Patana oak[4]

กระโดน ชื่อวิทยาศาสตร์ Careya arborea Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Careya sphaerica Roxb. ) จัดอยู่ในวงศ์จิก (LECYTHIDACEAE หรือ BARRINGTONIACEAE)[1],[3],[9]

สมุนไพรกระโดน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หูกวาง (จันทบุรี), ขุย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), แซงจิแหน่ เส่เจ๊ออะบะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), พุย (ละว้า-เชียงใหม่), ปุยขาว ผักฮาด ผ้าฮาด (ภาคเหนือ), กระโดนโคก กระโดนบก ปุย (ภาคเหนือ, ภาคใต้), ต้นจิก (ภาคกลาง), ปุยกระโดน (ภาคใต้), เก๊าปุย (คนเมือง), ละหมุด (ขมุ), กะนอน (เขมร), กระโดนโป้ เป็นต้น[1],[2],[3],[5],[7]

ลักษณะของกระโดน

  • ต้นกระโดน จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีลักษณะของเรือนยอดเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-20 เมตร เปลือกต้นหนาเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลดำ แตกล่อนเป็นแผ่น ต้นมีกิ่งก้านสาขามาก ส่วนเนื้อไม้เป็นสีแดงเข้มถึงสีน้ำตาลแกมแดง พบได้ตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าหญ้า และป่าแดง[3],[4] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดในช่วงฤดูฝนและวิธีการตอนกิ่ง[6]

ต้นกระโดนรูปต้นกระโดน
กระโดนบก
  • ใบกระโดน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมนและมีติ่งแหลมยื่น โคนใบสอบเรียว ส่วนขอบใบเป็นหยักเล็กน้อยตลอดทั้งขอบใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 15-25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-35 เซนติเมตร ผิวใบทั้งสองด้านมีลักษณะเกลี้ยง เนื้อใบหนาและค่อนข้างนิ่ม มีเส้นแขนงใบอยู่ประมาณข้างละ 8-15 เส้น เส้นใบย่อยเป็นแบบร่างแห เห็นได้ชัดเจนทางด้านล่าง ก้านใบอวบเกลี้ยงและมีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ในหน้าแล้งใบแก่ท้องใบจะเป็นสีแดง และจะทิ้งใบเมื่อออกใบอ่อน ยอดอ่อนของใบเป็นสีน้ำตาลแดง ใบก่อนร่วงเป็นสีแดง[3]

ใบกระโดน

  • ดอกกระโดน ดอกมีขนาดใหญ่ ออกดอกเป็นช่อแบบกระจะตามปลายกิ่งที่ไม่มีใบ สั้นมาก ในแต่ละช่อมีดอกประมาณ 2-6 ดอก ลักษณะของดอกคล้ายเป็นดอกเดี่ยว มีกลีบดอก 5 กลีบ แต่ละกลีบดอกยาวประมาณ 1-5 นิ้ว ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปขอบขนาน แยกกัน ขอบกลีบและปลายกลีบเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนโคนกลีบเป็นสีชมพู โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ร่วงได้ง่าย โดยดอกจะบานในเวลากลางคืน และมักจะร่วงในช่วงเช้า ดอกมีเกสรเพศผู้สีขาวจำนวนมากยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ก้านเกสรยาวเรียงตัวกันแน่นเป็นพู่ โคนก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นวงสีแดงอ่อน ๆ โดยเกสรที่สมบูรณ์จะอยู่ข้างใน ฐานดอกมีลักษณะเป็นรูปวงแหวน ขอบนูนขึ้น ส่วนเกสรเพศเมียมีรังไข่ใต้วงกลีบ ลักษณะเป็นรูปกระสวยกลีบ มี 4 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุลจำนวนมาก โดยเกสรเพศเมียจะติดคงทน และก้านเกสรเพศเมียจะยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ดอกมีใบประดับลักษณะกลมหรือรี 3 ใบ มีกลีบเลี้ยงดอก 4 กลีบแยกจากกัน ยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร เป็นสีเขียวอ่อน หนาและค่อนข้างมน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน[3]

ดอกกระโดน

รูปดอกกระโดน

  • ผลกระโดน ผลมีลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่ อวบน้ำ มีเนื้อสีเขียว ค่อนข้างแข็ง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6.5 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ เปลือกหนา ที่ปลายผลจะมีกลีบเลี้ยงที่ติดทนอยู่ และมีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ที่ปลายผลด้วย ผลสดเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมากและมีเยื่อหุ้ม เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อน ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่และแบน มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร โดยจะออกผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน[3],[4]

ผลกระโดน

ลูกกระโดน

สรรพคุณของกระโดน

  1. ดอกมีรสสุขุม ช่วยบำรุงร่างกาย (ดอก)[2]
  2. ดอกใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกายหลังการคลอดบุตรของสตรี (ดอก)[1],[3],[4],[7],[9]
  3. ผลมีรสจืดเย็น ช่วยบำรุงหลังการคลอดบุตรของสตรี ส่วนดอกและน้ำจากเปลือกสด หากนำมาผสมกับน้ำผึ้งก็เป็นยาบำรุงหลังคลอดได้เช่นกัน (ผล, ดอก, น้ำจากเปลือกสด)[3]
  4. ดอกช่วยแก้อาการหวัด หรือจะใช้ดอกและน้ำจากเปลือกสดผสมกับน้ำผึ้งกินเป็นยาแก้หวัดก็ได้ (ดอก)[2],[3]
  5. ดอกช่วยแก้อาการไอ ช่วยทำให้ชุ่มคอ หรือจะใช้ดอกและน้ำจากเปลือกสดผสมกับน้ำผึ้งกินเป็นยาแก้ไอก็ได้ (ดอก)[2],[3]
  6. ผลมีรสจืดเย็น ช่วยในการย่อยอาหาร (ผล)[1],[2],[3],[9]
  7. เปลือกต้นนำมาแช่กับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้อง ท้องเสีย (เปลือกต้น)[3]
  8. ช่วยแก้โรคกระเพาะอาหาร (เปลือกต้น)[3]
  9. เปลือกต้นใช้เป็นยาสมานแผลภายใน (เปลือกต้น)[3]
  10. กระโดนจัดอยู่ในตำรับยาแก้โรคริดสีดวงทวาร ซึ่งในตำรับยาประกอบไปด้วยกระโดนโคก 1 ส่วน, ต้นกล้วยน้อย 1 ส่วน, ขันทองพยาบาท (ดูกใส) 1 ส่วน, ต้นซองแมว 1 ส่วน, ต้นค้อแลน 1 ส่วน, เงี่ยงดุกน้อย 1 ส่วน, กำแพงเจ็ดชั้น 1 ส่วน, ต้นมอนแก้ว 1 ส่วน, มอยแม่หม้าย 1 ส่วน, เล็บแมวแดง 1 ส่วน, ตากวาง 1 ส่วน โดยนำทั้งหมดมาต้มเป็นยากิน (ตำหรับยานี้พบในบ้านเชียงเหียน ต.เขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม)[7]
  11. แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาสำหรับสตรีที่อยู่ไฟ (แก่น)[7]
  12. ต้นใช้ผสมกับเถายาน่องและดินประสิว นำมาเคี่ยวให้งวดและตากให้แห้ง ใช้สำหรับปิดแผลมีพิษและปิดหัวฝี (ต้น)[3]
  13. ใบใช้รักษาแผลสด ด้วยการนำมานึ่งให้สุกแล้วใช้ปิดแผล (ใบ)[3],[4]
  14. ใบมีรสฝาด ใช้ใส่แผล หรือจะใช้ปรุงกับน้ำมันเป็นยาสมานแผล ส่วนเปลือกต้นก็ใช้เป็นสมานแผลได้เช่นกัน (ใบ, เปลือกต้น)[1],[2],[3],[9]
  15. เปลือกต้นช่วยแก้อาการอักเสบจากการถูกงูไม่มีพิษกัด แต่ในกรณีที่เป็นงูมีพิษกัดยังไม่ควรนำมาใช้ และบ้างก็ว่าใช้แก้พิษงูได้ (เปลือกต้น)[1],[2],[3],[9]
  16. เมล็ดมีรสฝาดเมาและมีความเป็นพิษ[3] และมีข้อมูลระบุว่าใช้เป็นยาแก้พิษต่าง ๆ ได้ด้วย (เมล็ด)[2]
  17. เปลือกต้นช่วยแก้น้ำกัดเท้า (เปลือกต้น)[3]
  18. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย เคล็ดเมื่อย เคล็ดขัดยอก (เปลือกต้น)[1],[2],[3],[9]

ประโยชน์ของกระโดน

  1. ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกอ่อนมีรสฝาดอมมัน ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก แจ่ว ลาบ ก้อย ส้มตำ ตำมะม่วง ผักประกอบเมี่ยงมดแดง (ชาวอีสานนิยมใช้กระโดนน้ำมากกว่ากระโดนบก เนื่องจากมีรสฝาดน้อยกว่าและมีรสชาติที่อร่อยกว่า) แต่ใบและยอดอ่อนจะมีกรดออกซาลิก (Oxalic acid) ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง การรับประทานมาก ๆ อาจเป็นสาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้เกิดโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ (ใบกระโดนสด 100 กรัม จะมีปริมาณของออกซาเลต 59 มิลลิกรัม ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าผักชะพลู 12 เท่า และน้อยกว่าผักโขม 16 เท่า)[3],[4],[5],[6],[8]
  2. ใบอ่อนเมื่อนำไปต้มแล้วนำไปใช้ห่อเกลือกินแบบเมี่ยงได้ (ขมุ)[5]
  3. เปลือกต้นใช้ต้มทำสีย้อมผ้า โดยจะให้สีน้ำตาลแดง[3] หรือจะต้มรวมกับฝ้ายใช้ย้อมผ้า จะให้สีเหลืองอ่อน[5]
  4. เส้นใยที่ได้จากเปลือกต้นสามารถนำมาใช้ทำเชือก ทำกระดาษสีน้ำตาล เนื่องจากเปลือกลอกได้ง่าย[3],[7]
  5. เปลือกต้นนำมาทุบใช้ทำเป็นเบาะปูรองนั่งหลังช้าง หรือใช้รองของไว้บนหลังช้าง ส่วนคนอีสานนิยมลอกออกมาทุบให้นิ่มใช้ทำเป็นที่นอน และยังสามารถนำมาใช้ทำคบไฟ หรือนำมาจุดไฟใช้ควันไล่แมลง ไร ริ้น หรือยุงก็ได้[3],[5],[7]
  6. เนื้อไม้กระโดนใช้สำหรับงานก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้ดี เพราะมอดไม่กิน เนื่องจากเนื้อไม้มีรสฝาด และยังใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ทำครกสาก ทำเรือและพาย เกวียนและเพลา หรือใช้ทำเป็นหมอนรองรางรถไฟ ฯลฯ[5],[6]
  7. เมล็ด ราก และใบมีพิษ ใช้เป็นยาเบื่อปลา[3],[5]
  8. ต้นกระโดนสามารถนำมาใช้ปลูกตามสวนสาธารณะได้ โดยลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มกลมทึบ มีใบใหญ่ มองเห็นทรงพุ่มได้เด่นชัด แต่ไม่ควรนำมาปลูกใกล้ลานจอดรถ เนื่องจากต้นกระโดนเป็นไม้ผลัดใบและมีผลขนาดใหญ่[4]

คุณค่าทางโภชนาการของดอกอ่อนและยอดอ่อนกระโดน ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 83 กิโลแคลอรี
  • เส้นใยอาหาร 1.9 กรัม
  • วิตามินเอ 3,958 หน่วยสากล
  • วิตามินบี 1 0.10 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.88 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 1.8 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 126 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 13 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 18 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1.7 มิลลิกรัม

แหล่งที่มา : ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม. (กองโภชนาการ กรมอนามัย)[6],[8]

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “กระโดน (Kradon)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 24.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “กระโดน”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 84.
  3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กระโดน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [31 ม.ค. 2014].
  4. ไม้ป่ายืนต้นของไทย ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “กระโดน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [31 ม.ค. 2014].
  5. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย.  “กระโดน”.  (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).
  6. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “กระโดน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [31 ม.ค. 2014].
  7. มูลนิธิสุขภาพไทย.  “กระโดนโคก เป็นยาและอาหาร”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org.  [31 ม.ค. 2014].
  8. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “กระโดนบก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [31 ม.ค. 2014].
  9. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “กระโดน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [31 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by geetaarun, vijayasankar, yakovlev.alexey, Ahmad Fuad Morad, dinesh_valke)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด