กระพี้เครือ
กระพี้เครือ ชื่อสามัญ Dalbergia Tree
กระพี้เครือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Dalbergia rimosa var. foliacea (Benth.) Thoth. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dalbergia foliacea Benth.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2],[3]
สมุนไพรกระพี้เครือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ประดู่แล้ง (เลย), สะพี้เครือ (เพชรบูรณ์), ถ่อนเครือ (นครราชสีมา), หางไหลเถา (ราชบุรี), กระพี้เครือ (กาญจนบุรี, ภาคเหนือ) เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของกระพี้เครือ
- ต้นกระพี้เครือ จัดเป็นพรรณไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ พาดพันตามต้นไม้ใหญ่ไปได้ไกล ลำต้นเป็นสีเทาหรือสีขาว ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนเล็กน้อย ส่วนกิ่งแก่จะเกลี้ยง มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย พม่า ลาว และเวียดนาม ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ โดยพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ บนพื้นที่เป็นภูเขาจนถึงระดับสูงประมาณ 150-750 เมตร[1],[2],[3]
- ใบกระพี้เครือ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับ ยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร ใบย่อยมี 5-9 ใบ เรียงสลับ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมนหรือเว้าตรงกลางเล็กน้อยหรือมีติ่งแหลมสั้น ๆ โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3.5-6.5 เซนติเมตร แผ่นใบหนาคล้ายหนังและเกลี้ยง แต่ใบอ่อนมีขนขึ้นประปรายทางด้านล่าง ก้านใบย่อยยาวได้ประมาณ 3-6 มิลลิเมตร[1],[2]
- ดอกกระพี้เครือ ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงสั้น ๆ ที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาว มีจำนวนมาก ลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาว โคนกลีบเรียวลงเป็นก้านกลีบดอก กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ด้านนอกมีขนเล็กน้อย ดอกมีเกสรเพศผู้ 9 อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่น รังไข่มีขนขึ้นประปราย มีออวุล 2 เม็ด[1],[2]
- ผลกระพี้เครือ ออกผลเป็นฝักแบน ลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนาน ปลายฝักแหลมหรือมน มีลายเส้นร่างแหบริเวณเมล็ดชัดเจน ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.4-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3.5-7 เซนติเมตร ฝักเมื่อแห้งจะไม่แตก ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาล ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต แบน มีขนาดกว้างประมาณ 1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9 มิลลิเมตร[1]
สรรพคุณของกระพี้เครือ
- ลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ผิดสำแดง (ลำต้น)[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “กระพี้เครือ”. หน้า 87.
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระพี้เครือ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [26 มิ.ย. 2015].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “กระพี้เครือ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [26 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : biodiversity.forest.go.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)